ที่ settrade.com
หัวข้อ บทความ
กฎบริหารกองทุนของวอเรน บัฟเฟตต์ โดย เกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ
23-Mar-2006
อยากจะให้มองว่าผู้ถือหุ้นไม่ใช่แค่เจ้าของกระดาษแผ่นหนึ่ง (ใบหุ้น) แล้วก็รอดูว่าเมื่อไหร่จะขายกระดาษแผ่นนี้ได้ในราคาที่สูงขึ้น แต่อยากให้มองเหมือนเป็นเจ้าของอะไรร่วมกัน เหมือนๆกับเป็นเจ้าของบ้านร่วมกันกับสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัว เพราะตรงนี้ จะช่วยให้ผู้ลงทุนหรือผู้ถือหุ้นคิดถึงคอนเซปต์การเป็นพาร์เนอร์ร่วมกันในระยะยาว
มี คำประกาศ ไว้ชัดเจนถึงหลักการการจัดการบริษัทและกองทุน เรียกว่า เป็น Owner-related Business Principles ซึ่งเปิดเผยอยู่ในรายงานประจำปี ทั้งหมดมีอยู่ 13 ข้อ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนเข้าใจว่า กฎกติกามารยาท คืออะไร และรวมไปถึงความเกี่ยวโยงระหว่างผู้บริหารกองทุนกับจ้าของด้วย
ถ้าพูดถึงเรื่องการลงทุน และการบริหารจัดการกองทุน รวมไปถึงเรื่องการวิเคราะห์เลือกซื้อหุ้น คงไม่มีใครไม่รู้จัก วอเรน บัฟเฟตต์ เพราะเป็นคนที่โด่งดังมาก ในการเป็นทั้งผู้จัดการกองทุนและเจ้าของกิจการ เขาดังไปถึงขั้นมีการ์ตูนญี่ปุ่น เขียนเกี่ยวกับชีวประวัติของเขา ซึ่งก็ได้มีการแปลเป็นภาษาไทยออกมาเมื่อไม่นานนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า คุณลุงวอเรน นื่ ไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด แต่ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นเด็กต่างจังหวัด ที่มาประสบความสำเร็จอย่างสูงในการบริหารจัดการการลงทุน หรือกองทุนนั่นเอง โดยชื่อเสียงที่ลือลั่น ก็มาจากวิธีการเลือกลงทุน ที่ทำให้ได้รับผลตอบแทนก้อนโต จนมาตอนหลัง เลยโด่งดังมากกับการเขียนหนังสือเล่าถึงเทคนิคการลงทุน และการเลือกวิเคราะห์ซื้อหุ้น
วันก่อน ผมได้ลองเข้าไปดูในเว๊บไซด์ของบริษัท Berkshire Hathaway Inc. ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคุณลุงวอเรนนี่แหละ ก็เลยไปเจอเรื่องที่น่าสนใจ คือ มี คำประกาศ ไว้ชัดเจนถึงหลักการการจัดการบริษัทและกองทุน เรียกว่า เป็น Owner-related Business Principles ซึ่งเปิดเผยอยู่ในรายงานประจำปี ทั้งหมดมีอยู่ 13 ข้อ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนเข้าใจว่า กฎกติกามารยาท คืออะไร และรวมไปถึงความเกี่ยวโยงระหว่างผู้บริหารกองทุนกับจ้าของด้วย เพราะคุณวอเรนเอง นอกจากจะบริหารแล้ว ยังเป็นเจ้าของด้วย จะได้สบายใจ ไม่มีปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในอนาคต (Conflict of Interests) ก็ขอมาเล่าสู่กันฟังครับ
หนึ่ง ถึงแม้ว่าการลงทุนจะอยู่ในรูปแบบของบริษัท แต่ความเป็นจริงแล้ว เรา (หมายถึง คุณวอเรนและหุ้นส่วน คือ คุณชาร์ลี) มุ่งหวังเป็นหุ้นส่วน (partnership) เราคิดถึงผู้ถือหุ้นเป็นเหมือนกับหุ้นส่วนเจ้าของ เราไม่ชอบที่จะมองว่าบริษัทเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่เป็นเพียงตัวเชื่อมให้พวกเราสามารถมาร่วมลงทุนหรือเป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกันได้
คำอธิบายข้อนี้ ก็คือ คุณวอเรนอยากจะให้มองว่าผู้ถือหุ้นไม่ใช่แค่เจ้าของกระดาษแผ่นหนึ่ง (ใบหุ้น) แล้วก็รอดูว่าเมื่อไหร่จะขายกระดาษแผ่นนี้ได้ในราคาที่สูงขึ้น แต่อยากให้มองเหมือนเป็นเจ้าของอะไรร่วมกัน เหมือนๆกับเป็นเจ้าของบ้านร่วมกันกับสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัว เพราะตรงนี้ จะช่วยให้ผู้ลงทุนหรือผู้ถือหุ้นคิดถึงคอนเซปต์การเป็นพาร์เนอร์ร่วมกันในระยะยาว ตรงนี้ มีความสำคัญ เพราะว่า ถ้าผู้ถือหุ้นของบริษัทนี้ มีนิสัยการลงทุนที่มองยาวๆ เหมือนกับนโยบายการลงทุนของบริษัท Berkshire เอง ก็จะทำให้มีความสอดคล้องและไปกันได้ด้วยดี อย่างเช่น ในอดีตที่บริษัทลงทุนในบริษัทโคคา-โคลา หรือมีดโกนยิลเลตต์ ซึ่งบริษัทลงทุนเป็นระยะเวลาหลายๆปี แล้วก็มองถึงผลตอบแทนในระยะยาวแทนที่จะดูการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นเป็นรายเดือน (นี่ ไม่ต้องมาพูดถึงรายวันเลยครับ ข้ามช็อตไปเลย)
สอง สำหรับ Berkshire แล้ว กรรมการบริษัทส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารและดูแลการลงทุน ในขณะเดียวกันก็ถือหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัทด้วย ไม่ใช่แค่คุณวอเรนและคุณชาร์ลี ที่เป็นทั้งเจ้าของและผู้บริหารเท่านั้น ยังมีครอบครัว ญาติโยมของสองเซียนนี้ ถือหุ้นและร่วมลงทุนอยู่เต็มไปหมด
ในข้อนี้ ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ เขาไม่สนใจเรื่องการกระจายความเสี่ยงตามที่เราส่วนใหญ่ได้ยินกันมา ในการเอาเงินไปไว้ที่อื่น หรือบอกให้คนในครอบครัวอย่าเอาเงินมาเสี่ยงรวมกัน ในทางตรงข้าม เขากลับสบายใจและพร้อมที่จะ เอาไข่ทั้งหมดใส่ในตะกร้าใบเดียว โดยไม่กลัวว่า ถ้าเกิดเดินสะดุด แล้วไข่จะแตกหมดในคราวเดียว เพราะเขาเชื่อว่า ตัวบริษัทเองมีขนาดใหญ่พอ และได้เป็นเจ้าของ (ถือหุ้น) ในบริษัทที่ค่อนข้างหลากหลายอยู่แล้ว คุณวอเรน และคุณชาร์ลี อธิบายไว้ได้เก๋มากว่า ไม่สามารถให้สัญญาเรื่องผลกำไรได้ แต่ขอการันตีว่า ผลกำไรของผู้ถือหุ้นคนอื่นจะเป็นอย่างไร ก็ย่อมเป็นไปด้วยกันกับเงินสะสมส่วนใหญ่ของท่านทั้งสอง เข้าทำนอง ไปด้วยกันมาด้วยกัน เลือดสุพรรณเอ๋ย เพราะ ทั้งสองท่านนี้ ไม่มีความสนใจที่จะให้เงินเดือนตัวเองสูงๆ หรือให้สิทธิพิเศษ แต่เชื่อมั่นในเรื่องการเมคมันนี่ จากการลงทุนเหมือนกับผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ
สาม เป้าหมายในระยะยาว คือ ทำยังไงก็ได้ ให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยในมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทที่เพิ่มขี้น (Intrinsic Value) โดยดูผลตอบแทนต่อหุ้นเป็นหลัก เพราะฉะนั้น ก็จะให้ความสำคัญกับขนาดของบริษัทหรือกำไรรวมน้อยกว่า เพราะถึงแม้ว่าบริษัทจะใหญ่ขึ้น แต่ถ้าได้กำไรต่อหุ้นน้อยสู้บริษัทใหญ่ๆไม่ได้ ก็ถือว่า ผู้ถือหุ้นได้ผลประโยชน์ (ต่อหุ้น) น้อยลง
สี่ ความตั้งใจในการลงทุนของบริษัท Berkshire ก็คือ ต้องการจะเป็นเจ้าของธุรกิจโดยตรง หรือถือหุ้นใหญ่ หรือมีอำนาจในการตัดสินใจในหลายๆธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสด และสามารถให้ผลตอบแทนต่อการลงทุน (Returns on capital) ได้สูงกว่าอัตราเฉลี่ยโดยทั่วไป ในขณะที่ความตั้งใจที่รองลงมาคือ ได้เป็นเจ้าของ บางส่วน โดยการไปซื้อหุ้นในตลาดหุ้นผ่านการลงทุนของบริษัทประกันที่ Berkshire เป็นเจ้าของอยู่
ในส่วนนี้ คุณวอเรน ก็ได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจด้วยว่า สิ่งที่ท้าทายสำหรับเขาก็คือ ความพยายามในการหาบริษัทเด็ดที่น่าลงทุน พร้อมๆกับที่จะต้องหาเงินมาซื้อธุรกิจพวกนี้น ซึ่งตรงนี้ การที่ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะที่ไม่ดี กลับเป็นประโยชน์ที่บริษัทประกันของเค๊าจะเข้าไปเป็นเจ้าของกิจการที่น่าสนใจได้ผ่านการซื้อหุ้นในราคาที่ถูก
ห้า ด้วยหลักการบัญชีและวิธีการในการบันทึกบัญชี ทำให้ตัวเลขที่เปิดเผยในงบการเงินเกี่ยวกับการลงทุนต่างๆ ไม่เหมือนกับมูลค่าที่ควรจะเป็น (true economic performance) หมายความว่า ตัวเลขทางบัญชีส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องของความน่าเชื่อถือ ถูกต้อง ตรวจสอบได้ และมองแบบอนุรักษ์นิยม คือ ถ้าเป็นเรื่องดี ก็ลงตัวเลขแบบต่ำๆ ถ้าเป็นเรื่องเสี่ยงก็ลงตัวเลขสูงๆเผื่อไว้ก่อน ซึ่งคุณวอเรนบอกว่า ไม่ค่อยสนใจตัวเลขพวกนี้ แต่เน้นที่การรายงานเพิ่มเติม คือ รายงานการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ Berkshire ไปถือหุ้นใหญ่ ซึ่งตัวเลขพวกนี้จะช่วยให้เห็นภาพเพิ่มเติมอีกด้านหนึ่งของมูลค่าที่แท้จริงได้
เพราะความต้องการสื่อสารให้เห็นข้อมูลในหลายๆด้าน ทำให้ในรายงานประจำปีของ Berkshire จะมีคำอธิบาย ถึงตัวเลขและข้อมูลต่างๆ ที่ผู้บริหารเชื่อว่ามีความสำคัญ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจที่ไปลงทุนกำลังไปได้ดีขนาดไหน และยังจะให้ความเห็นและสรุปถึงสภาวะอุตสาหกรรมและปัจจัยกระทบต่างๆด้วย เช่น ในการลงทุนในธุรกิจประกัน ก็จะมีการช่วยอธิบายให้เข้าใจถึง insurance float ในรายงานประจำปี เพื่อให้เห็นว่าเรื่องนี้มีประโยชน์อย่างไร ซึ่งก็แปลว่า ผู้บริหารพยายามที่จะสอนหรือให้ผู้ถือหุ้นเข้าใจว่า ธุรกิจเป็นอย่างไร จะได้ประเมินผลได้ธุรกิจการลงทุนของ Berkshire เป็นอย่างไร และสามารถประเมินถึงคุณภาพของการบริหารและการเลือกจัดสรรเงินลงทุน ( Capital Allocation) ด้วยว่า เหมาะสมหรือไม่
หก ในการตัดสินใจเลือกลงทุน หรือจัดสรรเงินลงทุนไปซื้อธุรกิจไหน คุณวอเรนและคุณชาร์ลี ให้ความสนใจกับมูลค่าที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว และมูลค่าที่มีอยู่จริง มากกว่าที่จะเป็นตัวเลขทางบัญชี อันนี้ไม่ได้ว่าตัวเลขบัญชีไม่ดี แต่ยินดีมากกว่าที่จะซื้อหุ้นที่มีผลประกอบการดีกว่า แต่ไม่ได้แสดงเป็นตัวเลขอยู่ในรายงานบัญชี เช่นอาจจะมีมูลค่าทรัพย์สินที่ตีมูลค่าไว้ต่ำกว่าที่เป็นจริง หรือตัวเลขพวกค่านิยม (Goodwill) เพราะเชื่อว่าในระยะยาวแล้ว มูลค่าที่แท้จริงพวกนี้ หรือ ตัวเลขที่หลบซ่อนอยู่จะค่อยๆเผยออกมาให้เห็น และทำให้มูลค่าของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลให้เกิดกำไรจากมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้น (Capital Gains) ในที่สุด
แหม! มาได้ครึ่งทาง เนื้อที่ฉบับนี้หมดแล้ว ขอยกยอดไปเล่าต่อในฉบับหน้าครับ
วอร์เรน บัฟเฟตต์ ผู้สร้างชื่อเสียง เงินทอง จากการลงทุน โดย Settrade.com
17-Apr-2006
เมื่อประมาณสัปดาห์ที่แล้วได้มีโอกาสเขียนถึง เบนจามิน เกรแฮม และทฤษฎีที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขาคือ Margin of Safety ซึ่งในบทความวันนั้นได้มีการกล่าวถึง ผู้ยิ่งใหญ่ในวงการการลงทุนในหุ้น ที่มีชื่อเสียงระดับโลกอีกท่านหนึ่งนั่นก็คือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ผู้ซึ่งเป็นศิษย์เอกของเกรแฮม และดูเหมือนจะทำได้ดีกว่าผู้เป็นอาจารย์อยู่ขั้นหนึ่ง ดังนั้นวันนี้ขอใช้พื้นที่ตรงนี้พูดถึงบัฟเฟตต์ และหลักการลงทุนที่ทำให้ตัวเขาประสบความสำเร็จ ขนาดเป็นมหาเศรษฐีลำดับต้นๆ ของโลก
ว่ากันว่าบัฟเฟตต์นั้นมีหัวด้านการลงทุนตั้งแต่ยังเล็ก อย่างเมื่อตอนอายุเพียง 6 ขวบ เขาได้ซื้อโค้กกระป๋องมาขายและทำกำไรในการขายได้ประมาณ 20 % จากยอดรวมทั้งหมด โดยเขาได้เปรียบการลงทุนของตนเองไว้ว่า เหมือน สิงโตที่รอตะครุบเหยื่อในพงหญ้าสูงและจะเข้าจู่โจมเมื่อถึงเวลาที่เหยื่อเข้ามาใกล้ ( A lion in the tall grass ) ซึ่งเขาจะรอจนกว่าราคาหุ้นที่ต้องการเดินทางมาอยู่ในจุดที่น่าสนใจที่สุดเพื่อเข้าครอบครอง และสิ่งสำคัญที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จจากการลงทุนนั้นคือ ไม่ใช้อารมณ์ในการลงทุน แต่ใช้ความรู้และประสบการณ์ในการตัดสินใจแต่ละครั้ง
อารมณ์นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้บัฟเฟต์แตกต่างจากผู้ลงทุนทั่วไปที่มักจะไม่ทำตามเป้าหมายการลงทุนที่วางไว้ และบ่อยครั้งที่มักจะเข้าซื้อขายอย่างหุนหันพลันแล่น เช่นซื้อด้วยแรงกระตุ้น และการรับข่าวสารสั้นๆ และขายหุ้นด้วยความกลัวอย่างไม่มีเหตุผล ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ตามกฎการตัดขาดทุน คือ ขายหุ้นที่ขาดทุน และถือหุ้นที่มีกำไร แต่ผู้ลงทุนส่วนใหญ่มักจะทำตรงกันข้ามคือ ขายหุ้นที่กำไร และถือหุ้นที่ขาดทุนไว้ อาจจะด้วยความกังวลใจที่หุ้นที่ถืออยู่และมีกำไร เริ่มปรับตัวลง จึงตัดสินใจขายหุ้นออกไป และพยายามหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองว่า ขายทำกำไรดีกว่าปล่อยให้ขาดทุน และตรงกันข้ามกับผู้ลงทุนที่ถือหุ้นและขาดทุนอยู่ จึงได้แต่บอกกับตัวเองว่า จะขายถ้าราคาหุ้นกลับขึ้นมาถึงราคาที่เคยซื้อไว้ ซึ่งการลงทุนแบบนี้นั้นมีโอกาสเกิดการขาดทุนสูงเนื่องจากไม่มีใครสามารถคาดเดาจังหวะการขึ้นลงของหุ้นที่แน่นอนได้ ดังนั้นวิธีการหลีกเลี่ยงการซื้อขายผิดจังหวะก็คือ เดินตามรอยของบัฟเฟตต์ที่จะเลือกซื้อหุ้นในจุดที่ราคายังต่ำ และกิจการมีโอกาสเติบโตได้มาก โดยไม่นำพากับสภาวะตลาดผันผวนระหว่างทาง เพราะเขาเชื่อมั่นว่าหุ้นที่ดี จะมีการเดินทางของราคาที่สูงขึ้นในที่สุด
แนวทางหลักอีกอย่างของบัฟเฟตต์ในการซื้อหุ้นก็คือ เขาจะมองว่าการซื้อหุ้นคือการเข้าร่วมเป็นเจ้าของบริษัท ไม่ใช่การซื้อสินค้าที่ต้องซื้อขายเพื่อทำกำไรอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นก่อนจะเข้าลงทุนก็ต้องศึกษาข้อมูลของบริษัทนั้น ๆ ให้ละเอียด รอบคอบ และเมื่อลงทุนแล้วต้องเชื่อมั่นในบริษัท ซึ่งแนวคิดนี้นั้นคล้ายกับ Value Investor มือทองของเมืองไทยท่านหนึ่ง คือ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี และไม่ซื้อขายบ่อย ๆ และท่านก็มองว่านี่คือการทำธุรกิจส่วนตัวที่ไม่ต้องดำเนินธุรกรรมเองทั้งหมด เพียงแต่คัดสรรกิจการที่ดีและร่วมเป็นเจ้าของ โดยเงินปันผลก็เหมือนเงินเดือนที่นำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ โดยไม่ต้องซื้อขายหุ้นเพื่อนำกำไรมาใช้ในระยะสั้น แต่ต้องมีวินัยในการลงทุนนั่นคือเก็บหุ้นไว้ให้มีมูลค่าเติบโตทบต้นทบดอกด้วยตัวมันเอง และไม่หวั่นไหวต่อสถานการณ์ต่าง ๆ
ส่วนหลักการลงทุนของบัฟเฟตต์ ที่ใช้เป็นประจำในการเลือกซื้อหุ้นแต่ละตัวได้แก่
เป็นธุรกิจที่ไม่ซับซ้อน
เป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยม และมีฐานลูกค้าแข็งแกร่ง หรือเป็นธุรกิจที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ยกตัวอย่างหุ้นที่เขาถืออยู่ อาทิ โค้ก และอเมซอน
สามารถคาดเดารายได้ และรายจ่ายได้ไม่ยาก เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ไม่ซับซ้อน ดังนั้นเขาจะสามารถคาดเดาได้อย่างไม่ยากว่าจะมีกำไร หรือขาดทุนในแต่ละปี
ผลตอบแทนต่อทุน ( ROE ) สูง บัฟเฟตต์ ให้ความสำคัญกับตัวเลขนี้ค่อนข้างมาก คือน่าจะต้องมากกว่า 12% สำหรับธุรกิจประเภทผลิตสินค้า แต่หากเป็นธุรกิจสถาบันการเงินแล้ว ค่าตัวเลขนี้ปกติจะสูงมาก บัฟเฟตต์ จึงแนะนำให้ดูที่ตัวเลขของผลตอบแทนรวมของสินทรัพย์ ( ROA ) ประกอบด้วยหากสูงกว่า 10% ก็ถือว่าดี
มีกระแสเงินสดที่ดี เพราะธุรกิจที่ดี ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เงินทุนสูงมากในการดำเนินงานและรักษาสถานภาพในตลาดเพื่อการแข่งขัน เพราะควรจะมีรายได้หล่อเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ
มีผู้บริหารที่ดี เห็นแก่ผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ
ล งทุนในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะไม่เพียงเลือกธุรกิจที่ดี แต่ควรเลือกช่วงเวลาที่ดีและราคาเหมาะสมด้วย
และนี่ก็คือข้อมูลอย่างย่อ ๆ ที่เป็นหลักการของผู้ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ซึ่งถ้าผู้อ่านสนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่
www.buffetsecrets.com หรือหาซื้อหนังสือด้านการลงทุน ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ หรือ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ได้ที่ร้านหนังสือ Settrade.com ด้านหน้าอาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทุกวันไม่มีวันหยุดครับ