หน้า 1 จากทั้งหมด 1

ครึ่งปีหลัง 2549 มะกันใกล้ Dangerous Zone !!!!

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. มิ.ย. 15, 2006 8:49 pm
โดย LOSO
เช็กสุขภาพเศรษฐกิจโลก ครึ่งปีหลัง 2549 มะกันใกล้ Dangerous Zone

แม้มิถุนายนจะเป็นเดือนสุดท้ายของครึ่งปีแรกของปี 2549 แต่นักวิเคราะห์หลายสำนักมักจะคอยสังเกต และติดตามสัญญาณเตือนที่ปรากฎขึ้นในเดือนนี้อย่างใกล้ชิด เพราะเชื่อว่าจะเป็นตัว "นำทาง" สภาวการณ์ที่จะเกิดขึ้นในครึ่งปีถัดไป ได้อย่างแม่นยำ

ยกตัวอย่าง รายงานการสำรวจแนวโน้มธุรกิจ ประจำเดือนมิถุนายน 2549 ของ Duke University ร่วมกับนิตยสารดัง CFO magazine เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อมูลที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง จากวงการธุรกิจและนักวิเคราะห์ทั่วโลก เพราะสะท้อนมุมมองของหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ ฝ่ายการเงิน หรือ chief financial officers : CFO ของบริษัทต่างๆ ทั่วโลก ต่อประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ และตัวแปรต่างๆ ที่มีผลต่อเศรษฐกิจ

น่าสนใจว่า ผลสำรวจชิ้นนี้ได้สะท้อนปัจจัย "ร่วม" หลายๆ ตัว ที่อยู่ในความกังวลของพวกเขา อาทิ เศรษฐกิจสหรัฐ โดยซีเอฟโอส่วนใหญ่เริ่มกังวลกับแนวโน้มของเศรษฐกิจสหรัฐ มากกว่าผลสำรวจครั้งก่อน โดยพบว่ามีเพียง 24% ของกลุ่มตัวอย่าง มองเศรษฐกิจสหรัฐในด้านดี ลดลงอย่างฮวบฮาบจาก 42% ในครั้งก่อน ที่น่าสนใจคือ มีซีเอฟโอที่มองแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐในด้านบวกน้อยลง เพิ่มขึ้นเป็น 46% ในการสำรวจครั้งล่าสุดนี้

ทำไม พวกเขาจึงมองเศรษฐกิจสหรัฐในด้านบวกน้อยลง

ประการแรก หากฟังจากคำอธิบายของอาจารย์สายการเงิน จาก Duke University จะพบว่า เป็นเพราะซีเอฟโอส่วนใหญ่เชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าใกล้จุดที่มีความเสี่ยง หรือ dangerous zone มากขึ้นทุกทีแล้ว

เนื่องจากซีเอฟโอ โดยเฉพาะในกลุ่มตัวอย่างที่มาจากบริษัทอเมริกัน ยอมรับว่า พวกเขาอาจจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอีก 3.1% ภายใน 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งหมายความว่าเงินเฟ้อจะต้องขยับตาม ซึ่งหากการขยับราคาสินค้าของสหรัฐ ดันเงินเฟ้อขึ้นไปที่ 3.5% เมื่อใด

ระดับนั้นคือ จุดอันตรายของเศรษฐกิจสหรัฐ เพราะจะเป็นระดับที่ผลกำไรของภาคธุรกิจเอกชนจะถูกกระทบอย่างแรง

จุดอันตรายของเศรษฐกิจสหรัฐจะมาเร็วขึ้น หากราคาน้ำมันดิบโลกขยับขึ้นไปเหนือระดับ 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

บังเอิญเช่นกันว่า ในวันเดียวกับที่เผยแพร่ผลสำรวจนี้ อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ ได้ส่งสัญญาณเตือนว่า โลกเริ่มอยู่ในจุดที่เปราะบางมากยิ่งขึ้นที่จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันแพง ซึ่งผู้ผลิตน้ำมันควรจะเร่งสูบน้ำมันดิบออกมาให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในอนาคต

ที่สำคัญ กรีนสแปนยังส่งคำเตือนโดยตรงมายังผู้บริโภคอเมริกันว่า แม้ว่านับจากทศวรรษ 1940 เป็นต้นมา ชาวอเมริกันจะสามารถแบกรับภาระน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นได้อย่างสบายมือ แต่ "ภูมิคุ้มกัน" ต่อผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงกำลังจะหมดลง

คำเตือนของกรีนสแปน มีขึ้นระหว่างที่เขาเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศประจำวุฒิสภา ซึ่งถือเป็นการแสดงความเห็นครั้งแรก นับจากที่เขาอำลาตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

"การปรับเพิ่มขึ้นไปมากๆ ของราคาน้ำมันดิบโลกจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการหดตัวทางเศรษฐกิจ ครั้งมโหฬาร" กรีนสแปนกล่าว

ทั้งนี้ นับจากต้นปี 2545 จนถึงปัจจุบัน ราคาน้ำมันพุ่งทะยานขึ้นไปแล้วกว่า 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากระดับเมื่อ 4 ปีก่อน เฉพาะปี 2547 ปีเดียว ราคาน้ำมันได้ปรับตัวขึ้นเป็น 2 เท่า

กรีนสแปนวิจารณ์ประเทศผู้ผลิตน้ำมันว่า นอกเหนือจากซาอุดีอาระเบียแล้ว แทบจะไม่มีประเทศผู้ผลิตรายใด มองเห็นอันตรายจากราคาน้ำมันแพง ที่มีต่อเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบ ต่อความสามารถที่จะขายน้ำมันของพวกเขาเอง

ที่น่าสนใจคือ คำเตือนของกรีนสแปนในเรื่อง ภูมิต้านทานของสหรัฐ ไม่ใช่เป็นการกล่าวเกินจริงอะไรนัก เพราะเมื่อไม่นานมานี้ หนังสือพิมพ์ยูเอสเอ ทูเดย์ได้ตีแผ่ผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงลิ่ว ต่อบริษัทต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาน้ำมันเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตผลิตภัณฑ์ ไล่ตั้งแต่กลุ่มปิโตรเคมีภัณฑ์ ยาง พลาสติก เรื่อยมาจนถึงผู้ผลิตลิปสติก ยาระงับกลิ่นตัว ชุดกีฬา และเครื่องนอนต่างๆ ล้วนได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า

น้ำมันแพงได้ทำให้ต้นทุนการผลิตของบริษัทเหล่านี้ถีบตัวสูงขึ้น ทำให้แต่ละบริษัทต่างพยายามหาทางลดผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นการปรับราคาสินค้า ลดปริมาณการผลิต แต่เมื่อราคาน้ำมันดิบยังคงแกว่งตัวในระดับสูงเป็นเวลานาน หลายบริษัทจำเป็นต้องเลือกการแช่แข็งเงินเดือน หรือปรับให้เป็นเปอร์เซ็นต์เล็กน้อย ขณะที่บางรายได้ตัดใจลดจำนวนพนักงาน และปิดสายการผลิตบางส่วน

อาทิ บริษัทคอนติเนนตัล ไทร์ ที่ตัดสินใจปลดพนักงานออก 481 ตำแหน่งเมื่อเดือนที่แล้ว โดยมีผลตั้งแต่ 1 กรกฎาคม ขณะที่ดูปองต์เลือกการขึ้นราคาสินค้าเป็นทางออก โดยประกาศปรับราคาสินค้าในระดับที่แตกต่างกันไป แต่ที่น่าสนใจคือ นี่ไม่ใช่การขึ้นราคาสินค้าครั้งแรกของผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ โดยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2548 และไตรมาสแรกของปีนี้ ดูปองต์ได้ปรับราคา สินค้าไปแล้วเฉลี่ย 5% และ 3% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม จุดอันตรายของเศรษฐกิจสหรัฐ ไม่ได้อยู่ปัจจัยน้ำมันและเงินเฟ้อ แต่การปะทุของสองปัจจัยแรก จะกลายเป็นแรงกดดันสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ ไม่สามารถยุติภาวะขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้ดังที่คาดหวังไว้

นักธุรกิจกังวลกับตัวแปรดอกเบี้ยมากพอๆ กับเงินเฟ้อ เพราะทุกปัจจัยในสหรัฐล้วนแต่สัมพันธ์ และมีผลซึ่งกันและกันทั้งสิ้น ในผลสำรวจของ Duke/CFO ระบุชัดว่า ซีเอฟโอส่วนใหญ่อยากให้เฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ยได้แล้ว เพราะหากดอกเบี้ย ยังขยับจากระดับ 5% ในปัจจุบัน ขึ้นไปถึง 5.5% เมื่อใด จะส่งผลกระทบต่อพวกเขาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งหากดอกเบี้ยยืนอยู่เหนือ 6% จะส่งผล กระทบต่อตัวเลขผลประกอบการของพวกเขา อย่างรุนแรง

ผลเสียหายที่ตามมาเป็นลูกโซ่ ไม่ได้จำกัดแค่ในแวดวงธุรกิจ แม้แต่ในตลาดทุน ก็มักจะเป็นเหยื่อรายแรกๆ หากเฟดส่งสัญญาณชัดว่า แนวโน้มขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐจะยังไม่ยุติลงง่ายๆ

ดังที่ดัชนีดาวโจนส์ของตลาดหุ้นนิวยอร์ก ทรุดตัวต่อเนื่อง 3 วันติดต่อกัน อันเนื่องมาจากการส่งสัญญาณของเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดคนใหม่ที่แสดงความวิตกต่อเงินเฟ้อออกมาอย่างไม่ปิดบัง

เฉพาะการซื้อขายระหว่างวันเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ดาวโจนส์ดิ่งฮวบลงกว่า 100 จุด ก่อนจะขยับขึ้นมาติดลบ 71.24 จุด หรือลดลง 0.65% ต่อเนื่องจากเมื่อวันจันทร์ ที่ดาวโจนส์ ทรุดตัวไปก่อนหน้าแล้วเกือบ 200 จุด

รวม 3 วันทำการ ดาวโจนส์ปรับตัวลงกว่า 316 จุด และส่งผลให้ปรอทวัดอุณหภูมิตลาดหุ้นสหรัฐ ลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 11,000 จุด เป็นครั้งแรก นับจากวันที่ 9 มีนาคม

สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณที่น่าเป็นห่วง และต้องเฝ้าติดตามอย่างระวัง เพราะการแกว่งของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งมีมูลค่ามากถึง 12 ล้านล้านดอลลาร์นั้น หากเกิดขึ้นอย่างรุนแรงเมื่อใด ย่อมหมายถึงเศรษฐกิจทั่วโลก ย่อมจะต้องแกว่งตาม

ครึ่งปีหลัง 2549 มะกันใกล้ Dangerous Zone !!!!

โพสต์แล้ว: ศุกร์ มิ.ย. 16, 2006 11:31 am
โดย wisut
THIS  IS  WHY  BUFFET  BEGAN  INVESTING  ASSETS  OUT  OF  AMERICA