วัฏจักรหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลไทย
โพสต์แล้ว: จันทร์ พ.ย. 20, 2006 10:16 am
ชอบโรงพยาบาลนะครับ แต่อยากถามความเห็นเพื่อนๆว่าอ่านบทความนี้แล้วคิดอย่างไรกันบ้างครับ เพราะในมุมมองหนึ่ง ไม่สบายแล้ว อย่างไรก็ต้องไปหาหมอ คงรอไปหาปีหน้าไม่ได้ครับ ไม่เหมือนซื้อบ้านซื้อรถ แต่อีกด้านหนึ่งก็คิดว่า ถ้าเศรษฐกิจเกิดแย่ลง แล้วจะไปโรงพยาบาลแพงๆใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลถูกๆที่ไกลอีกหน่อยดี
วัฏจักรหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลไทย โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2546)http://gotomanager.com/news/details.aspx?id=8259
โดยธรรมชาติของตลาดหุ้นทั่วโลก หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลจะถูกจัดอยู่ในประเภท ของหุ้นที่เรียกว่า Defensive Stock ซึ่งหุ้นในกลุ่มนี้มักจะไม่ได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น ขาขึ้นหรือขาลง
ในทางเดียวกัน หุ้นประเภทนี้ก็ไม่เหมาะสมที่จะเป็นหุ้นสำหรับการเก็งกำไร
แต่สำหรับธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศไทย จะมีลักษณะที่ผิดเพี้ยนจากธรรมชาติดังกล่าวอยู่พอสมควร
หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลในประเทศไทย เคยถูกเก็งกำไรอย่างหนักในช่วงปี 2534-2535 ด้วยเหตุผลที่นักลงทุนมองว่าเป็นช่วงของเศรษฐกิจขาขึ้น
"เมื่อคนมีรายได้ดีขึ้น ก็เริ่มคำนึงถึงเรื่องของสุขภาพ โอกาสที่คนจะเปลี่ยนพฤติกรรมจากที่เคยเข้าใช้บริการของโรงพยาบาลรัฐ มาเป็นโรงพยาบาลเอกชนจึงมีสูง ดังนั้น รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน จึงมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น" เป็นเหตุผลที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ส่วนใหญ่ใช้ในการแนะนำ ให้นักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลในช่วงนั้น
หลังจากภาวะตลาดหุ้นได้ตกต่ำลงอย่างหนัก จากแรงขายของนักลงทุนต่างประเทศ ตั้งแต่ต้นปี 2537 หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลจึงถูกผลกระทบไปด้วย ราคาหุ้นกลุ่มนี้ดิ่งลงอย่างรุนแรง และต่อเนื่อง
เมื่อฟองสบู่เศรษฐกิจของไทย เริ่มโป่งพองในช่วงปี 2538-2539 โรงพยาบาลหลายแห่งมีแผนขยายงานขนาดใหญ่ และอีกหลายแห่งเริ่มปรับแนวทางธุรกิจไปในรูปที่เป็นการผสมผสานกัน ระหว่างธุรกิจโรงพยาบาลและธุรกิจพัฒนอสังหาริมทรัพย์
การเข้ามาร่วมทุนในโรงพยาบาลศิครินทร์ของกลุ่มจุลดิศ ตลอดจนแผนการสร้างอาคารใหม่ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเดิม ถึง 3 เท่าของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ การขยายสาขาออกไปสร้างเชนในต่างจังหวัดของโรงพยาบาลรามคำแหง ฯลฯ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด
การขยายงานในลักษณะดังกล่าว ทำให้ทุกโรงพยาบาลมีการก่อหนี้จำนวนมหาศาล 80-90% ของหนี้ที่กลุ่มโรงพยาบาลสร้างขึ้นในช่วงนี้ เป็นหนี้เงินกู้จากต่างประเทศ
ดังนั้น เมื่อประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในปี 2540 โรงพยาบาลเกือบทุกแห่งจึงต้องประสบกับปัญหาฐานะทางการเงิน จากตัวเลขหนี้สินที่เพิ่มขึ้นสูงลิ่ว
โรงพยาบาลที่มีผลประกอบการดีอย่างบำรุงราษฎร์ หรือโรงพยาบาลที่กำลังอยู่ในช่วงของการขยายงานอย่างศิครินทร์ และโรงพยาบาลพญาไท ต้องถูกย้ายเข้าไปอยู่ในหมวดหุ้นกลุ่มฟื้นฟูกิจการ หุ้นหลายตัวในกลุ่มนี้ถูกสั่งห้ามการซื้อขาย ส่วนตัวไหนที่ตลาดหลักทรัพย์ยังคงเปิดให้ซื้อขายต่อไปได้ ก็ซื้อขายกันด้วยบรรยากาศที่เงียบเหงาและราคาลดลงมาเหลือเพียงไม่ถึง 10% จากจุดที่เคยขึ้นไปสูงสุด
หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลเพิ่งเริ่มจะกลับมีความคึกคักกันอีกครั้งเมื่อต้นปีนี้ ด้วยความมั่นใจของนักลงทุนที่มองเห็นสัญญาณชัดเจนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดัชนีราคาหุ้นกลุ่มนี้กำลังอยู่ระหว่างการสร้างฐานการปรับตัวเพิ่มขึ้นในรอบใหม่
รวมระยะเวลาที่หุ้นกลุ่มนี้ต้องอยู่ในภาวะตกต่ำถึง 9 ปีเต็ม