โครงการฝากหุ้นไว้กับมาร์เก็ตติง?
โพสต์ทูเดย SECTION B 05/12/2006 09:25:39
เผลอแผล็บเดียวก็ย่างเข้าเดือนที่ 12 แล้วนะครับ เดือนนี้หลายคนอาจลาหยุดพักผ่อนไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ใครมีงานอะไรที่หยุดรอได้ก็อาจหยุดไว้ก่อนเดี๋ยวค่อยกลับมาทำใหม่ แต่คนที่เทรดหุ้นเป็นประจำนี่สิครับ ทำยังไงดี เพราะตอนที่เราหยุดเทรดไปเที่ยว ตลาดหุ้นอาจจะไม่ได้หยุดไปด้วยกับเรา บางคนจึงขอฝากหุ้นในพอร์ตให้มาร์เก็ตติง เป็นผู้ดูแล เรียกได้ว่า เข้าโครงการฝากหุ้นไว้กับมาร์เก็ตติง (เหมือนกับที่เขามีโครงการฝากบ้านไว้กับตำรวจ)
ซึ่งการฝากให้มาร์เก็ตติงคอยดูแลเรื่องราคานี้ก็คงไม่แปลก เพราะมาร์เก็ตติงที่เราสนิทคงรู้จักพอร์ตของเราดี หากเห็นว่าราคาขึ้นลงจำนวนมากก็จะได้โทร.บอกได้ทันที แต่ไม่ใช่แค่นั้นนะครับ บางรายไม่ใช่แค่ฝากให้ดูเรื่องราคาให้ แต่กลับฝากมาร์เก็ตติงให้เทรดหุ้นในพอร์ตนั้นแทนเลย เรียกว่าไว้ใจกันเต็มที่ ซึ่งการทำอย่างนี้ไม่ถูกต้องนะครับ ทั้งคนฝากและคนรับฝาก
ด้านมาร์เก็ตติงเองต้องซื้อขายหุ้นตามคำสั่งของลูกค้า โดยลูกค้าต้องระบุทั้งชื่อหุ้น จำนวนและราคา บางทีลูกค้าอาจมีการขอคำแนะนำ มาร์เก็ตติงก็สามารถให้คำแนะนำได้ตามความรู้หรือนำบทวิเคราะห์หุ้นของโบรกเกอร์ตนเองมาอ้างอิง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องให้ลูกค้าเป็นผู้ตัดสินใจคนสุดท้าย เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญนะครับ การที่มาร์เก็ตติงไปตัดสินใจซื้อขายแทนลูกค้าจึงเป็นเรื่องที่ผิดกฎเกณฑ์โดยตรง จะอ้างว่าลูกค้าให้ความยินยอมก็ไม่ได้ ช่วงที่ผ่านมามีมาร์เก็ตติงที่ทำแบบนี้ถูก ก.ล.ต. ลงโทษไปหลายรายแล้ว
ด้านลูกค้าเองก็ทำไม่ถูก ไม่ควรไปมอบอำนาจการซื้อขายให้แก่มาร์เก็ตติง ไม่ว่าจะเชื่อในฝีไม้ลายมือแค่ไหน อย่าลืมว่าหุ้นมันมีขึ้นมีลงได้นะครับ ถ้าเกิดขาดทุนแล้วจะทำอย่างไร บางครั้งพอเกิดขาดทุนแล้วมาร์เก็ตติงกับลูกค้าก็ไปตกลงหาทางออกกันเองโดยไม่ได้แจ้งให้ใครทราบ อย่างนี้ก็ยิ่งยุ่งไปใหญ่เพราะหากมาร์เก็ตติงไม่ทำตามที่ตกลงไว้แล้วใครจะรับผิดชอบต่อ ส่วนใหญ่ที่เรื่องแดงขึ้นมาก็เพราะอย่างนี้ละครับ แบบว่าสุดๆ แล้วค่อยมาร้องเรียนที่ ก.ล.ต. การตรวจสอบกรณีอย่างนี้ก็ทำค่อนข้างยาก เพราะต่างฝ่ายต่างอ้างเหตุผลกันไปมา (บางทีฝ่ายหนึ่งอาจหายตัวไปแล้วก็ได้) มิหนำซ้ำยิ่งถ้าตอนส่งคำสั่งใช้โทรศัพท์มือถือด้วยก็เท่ากับขาดหลักฐานชิ้นสำคัญเข้าไปอีกเพราะจะไม่มีการบันทึกเทปไว้
เรื่องทำนองนี้พอเป็นข่าวขึ้นมา คนในวงการมาร์เก็ตติงทั้งหมดก็ต้องพลอยเดือดร้อนไปด้วย ไม่ดีเลยนะครับ
ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสียหาย ลูกค้าของโบรกเกอร์จึงต้องไม่มอบอำนาจการตัดสินใจซื้อขายหุ้นให้เป็นของมาร์เก็ตติง แต่ทำแค่นั้นก็ยังไม่พอ ลูกค้าต้องไม่ลืมที่จะหมั่นตรวจสอบหุ้นในพอร์ตโดยดูเอกสารที่โบรกเกอร์ส่งให้เป็นระยะเพื่อให้แน่ใจว่าหุ้นอยู่ครบ เพราะถ้าไม่ดูแล้วเกิดมีปัญหาในภายหลัง โบรกเกอร์จะยกขึ้นได้ว่าลูกค้าอยู่ในสถานะที่ควรรู้ข้อมูลอยู่แล้ว
ส่วนลูกค้ารายใหม่หรือผู้สนใจอยากจะเริ่มเทรดหุ้น ก็ต้องไม่ลืมที่จะศึกษารายละเอียด และที่ขอเน้นคือต้องอ่านเนื้อหาของสัญญาแต่งตั้งตัวแทนนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ให้ดี โดยเฉพาะเงื่อนไขต่างๆ ก่อนจะเซ็นชื่อต้องดูให้ดีก่อน เรื่องการไม่อ่านเงื่อนไขในสัญญานี้มีตัวอย่างเกิดขึ้นนะครับ เพราะมีลูกค้าที่เทรดหุ้นมานานแต่ไม่รู้จักเงื่อนไขของการบังคับขายหรือที่เรียกว่า force sell มาก่อน (ซึ่งก็คือการที่โบรกเกอร์สามารถขายหุ้นในพอร์ตลูกค้าได้เมื่อเข้าเงื่อนไขในสัญญา เช่น ถ้าเป็นลูกค้าบัญชีเงินสดแล้วไม่ชำระราคาค่าซื้อหุ้น หรือลูกค้าบัญชีมาร์จินที่ราคาหลักประกันลดต่ำลงกว่าที่กำหนดแล้วไม่นำหลักประกันมาเพิ่ม เป็นต้น)
ทั้งๆ ที่เงื่อนไขเรื่องนี้มีเขียนไว้ในสัญญาแล้วแต่ไม่ได้อ่าน พอมาเจอเข้ากับตัวเองจึงตกใจเพราะไม่รู้มาก่อนว่าโบรกเกอร์ทำอย่างนั้นได้ กรณีอย่างนี้จึงจะไปโทษ มาร์เก็ตติงกับโบรกเกอร์นั้นฝ่ายเดียวก็คงไม่ถูกครับ
แต่ในทางกลับกันหากลูกค้าทำการบ้านอย่างที่ผมเล่ามาอย่างครบถ้วนแล้ว แต่ยังได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากมาร์เก็ตติง หรือจากโบรกเกอร์ ก็สามารถแจ้งให้ ก.ล.ต. ทราบได้ ทางเว็บไซต์ www.sec.or.th (คลิกตรงคำว่า ร้องเรียน) หรือจะโทร.มาแจ้งที่ Help Center ของ ก.ล.ต. ที่เบอร์ 02-263-6000 ก็ได้นะครับ เพื่อที่เจ้าหน้าที่ของ ก.ล.ต. จะได้เข้าไปตรวจสอบในรายละเอียดต่อไป