อันนี้ก๊อปเค้ามาให้อ่านเผื่อจะเป็นประโยชน์ครับ
http://www.telewizmall.com/board/news/n ... 8/238.html
เจาะยุทธศาสตร์วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ สยายปีกสามารถคอร์ป
หลังมั่นใจว่าปีนี้กลุ่มสามารถจะทำรายได้เกินกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ เปิดยุทธศาสตร์การเติบโตที่ยั่งยืนเริ่มตั้งแต่ปลายปีนี้ต่อต้นปีหน้า ประเดิมปรับแผนธุรกิจรุกบริการเซอร์วิสโพรวายเดอร์ ด้วยการขอไลเซนส์กทช. แตกไลน์ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี พัฒนาบุคลากร ให้ไร้รอยต่อด้านแนวคิดระหว่างระดับบนกับระดับล่าง
ครึ่งปีหลังกลุ่มสามารถ?
หลังจากดูแนวโน้มหลายๆอย่างจะมีการเปลี่ยนแปลง กลยุทธ์ใหม่เพื่อเตรียมสำหรับต้นปีหน้า ครึ่งปีหลังกิจกรรมการตลาดคงไม่เปลี่ยนมาก ถ้าเป็นไอ-โมบายก็เน้นเรื่องโทรศัพท์มือถือที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ จะออกหลายรุ่นช่วงปลายปีนี้ ไตรมาส4จะมีมือถือที่ไม่เหมือนใคร
แต่สิ่งสำคัญที่เตรียมไว้คือจะรุกหนักการเป็นเซอร์วิส โพรวายเดอร์ เพราะกทช.เปิดกว้างมากขึ้นในการเช่าโครงข่าย มี VoIP แล้ว แต่เราจะไม่เข้าไปลงทุนเน็ตเวิร์กใหญ่ๆ คงอาศัยแอปพลิเคชั่น ที่มีอยู่ในเครือมาใช้ประโยชน์ ปลายปีจะเห็นการเปลี่ยนแปลงมากเพื่อเอาไปใช้ต้นปีหน้า ตอนนี้เตรียมแผนสำหรับปีหน้าแล้ว
ส่วนผลประกอบการรวมๆแล้วปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว ถึงแม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะไม่ค่อยซัพพอร์ตเท่าไหร่ แต่จากการที่ไปขยายการลงทุนต่างประเทศซึ่งมีการเติบโตที่ค่อนข้างดีกว่าที่คิด ถ้าแยกพูดแต่ละกลุ่ม โดยที่ไอ-โมบายเน้นมือถือและจะไปขยายตัวสามารถมัลติมีเดียมากขึ้น จะเห็นชัด 1-2เดือน มีเว็บไซต์ใหม่ๆ เป็นการอินทริเกตแอปพลิเคชั่นแล้ว แต่ก่อนขายมือถือก็มีคอนเทนต์ใส่เข้าไป แต่ตอนนี้จะมีแอปพลิเคชั่นใหม่ๆใส่เข้าไป ไม่ใช่แค่มือถือฟังเพลง กระตุ้นให้คนอยากเปลี่ยนมือถือ และต่อไปเน้นบริการที่จะทำให้มีรายได้สม่ำเสมอมากขึ้น
ไอ-โมบาย ขาหนึ่งเป็นมือถือ ขาหนึ่งเป็นคอนเทนต์ อีกขาเป็นการลงทุนต่างประเทศ ต่อไปจะมีขาที่ 4 คือการเป็นเซอร์วิสโพรวายเดอร์ หารายได้ประจำ อย่างไทยโมบายที่มีรายได้เข้ามา ต่อไปจะมีมากขึ้นรูปแบบใกล้ลงตัวแล้ว อยู่ระหว่าง Approach หาพันธมิตร จะชัดเจนในไตรมาสสี่ถือเป็นนโยบายของกลุ่มสามารถที่ต้องหารายได้ลักษณะประจำ ระยะยาวไม่ใช่แค่เทรดดิ้งหรือประมูลงาน เพราะถึงภาวะเศรษฐกิจไม่ดี แต่ผลประกอบการดี ก็ทำให้เราตุนความได้เปรียบตรงนี้เพื่อรอโอกาสสำหรับการก้าวกระโดดอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
เราไม่ได้มองแค่ก้าวกระโดดในประเทศ แต่มองก้าวกระโดดในต่างประเทศ วิชั่นสามารถไม่ได้มองแค่ Domesticอีกต่อไปแล้ว แต่จะมอง Global มากขึ้น มอง Regional มากขึ้น ซึ่งพิสูจน์ว่าเราทำได้ ธุรกิจต่างประเทศกลับฟื้นตัวได้เร็วกว่า อย่างมาเลเซียไปลงทุน 2 ปี ปีแรกขาดทุนแต่ปีสองกำไรแล้วถึงจุดคุ้มทุนแล้ว ตอนนี้มีกำไรทุกเดือน หรืออินโดนีเซียเพิ่งเริ่มมิถุนายน แต่ปีหน้าจะเริ่มมีกำไร หรือแอร์ทราฟิกคอนโทรล ปีแรกก็มีกำไรเลย
ผลประกอบการของไอ-โมบายก็ดี เติบโตเรื่อยๆ แต่เราระมัดระวังในการทำตลาดพอสมควร ควบคุมค่าใช้จ่าย พยายามสร้างแบรนด์ให้เป็นที่นิยมมากขึ้น ปัจจุบันลงทุนอีก 20 กว่าล้านบาทเปิดศูนย์บริการในต่างจังหวัดมากขึ้น ขายเดือนละแสนกว่าเครื่องต้องดูเรื่องบริการให้ดี ตอนนี้ไอ-โมบาย มีช่องทางการจัดจำหน่ายกว่า 359 แห่งทั่วประเทศ i-mobile shop 74 สาขา consignment outlet (ฝากขาย) 137 แห่ง ไอ-โมบาย แฟรนไชส์ ช็อป 46 สาขา ไอ-โมบาย แฟรนไชส์ คิออส 102 จุด
สำหรับ i-mobile shop (74 สาขา) มีศูนย์ซ่อม/บริการลูกค้า (Service center) จำนวน 18 สาขาส่วนสาขาอื่นๆ ลูกค้าสามารถส่งเครื่องซ่อมได้ (Drop-off point) โดยสาขานั้นๆ จะส่งต่อไปยังศูนย์ซ่อม
มือถือไอ-โมบายขายดีมากตอนนี้?
คอนเซ็ปต์ไอ-โมบายช่วงหลัง จากที่เราอยู่กับผู้บริโภค ไม่ใช่เป็นการที่ผู้ผลิตเอาสินค้ามาติดยี่ห้อเราเหมือน OEM แต่จะบอกโรงงานต่างๆว่าเราต้องการอะไร แล้วให้ผลิตตามสเปก อย่างตอนนี้ออกรุ่น 8 ล้านพิกเซล ซึ่งแนวทางนี้ถือว่าประสบความสำเร็จพอควรเหมือนบอกผู้ผลิตว่าอยากได้โทรศัพท์มือถือแต่เท่าเอ็มพี 3 เราใกล้ชิดตลาด ต้องเอาความต้องการผู้บริโภคเป็นตัวนำ ไม่ใช่เอ็นจิเนียร์มานำ ซึ่งปลายปีนี้จะออกอีก 10 กว่ารุ่น จับตลาดแมส ระดับราคา 3 พันบาทมากขึ้นต่อไปจะมองตลาดต่างประเทศพวกตลาดเกิดใหม่ไม่ยึดติดกับแบรนด์ และไม่ใช่ในภูมิภาคนี้อย่างอัฟริกา อินเดีย
สายธุรกิจอื่น มีแผนอย่างไรบ้าง?
แซมเทล ทำด้านไอทีเทเลคอม งานประมูลก็ทำไปเรื่อยๆ ในครึ่งปีหลังก็มีงานประมูลรัฐวิสาหกิจ 2-3 พันล้านบาท แต่ต้องมองหารายได้ที่จะเป็นระยะยาว อีก 1-2 เดือนจะเห็นบริการใหม่ๆส่วนด้านด้านโทรคม จะเข้าไปขอไลเซนส์กทช.หลายอันเหมือนกันอย่าง VoIP กำลังศึกษารูปแบบอยู่เพราะต้องไปอาศัยเครือข่ายกสท ในช่วงต้น แต่รูปแบบบริการต้องฉีกออกไป ต้องประสานงานกับไอ-โมบายที่มีมือถือ มีคอนเทนต์ มีอะไรใหม่ๆ มาใช้ตรงนั้น
ส่วนสามารถคอร์ป ครึ่งปีหลังจะมีงานด้าน Waste Management หรือ Waste to Energy 2-3 โครงการน่าจะเสร็จ โครงการที่สุวรรณภูมิก็ดังไปแล้ว แต่ไม่ได้มีอะไร จริงๆแล้ว เราพูดมาตั้งปีหนึ่งแล้วว่าสามารถจะเข้าสู่ธุรกิจพวกนี้ ไม่ใช่อยู่ดีๆกระโดดจากโทรคมไป อย่างเราทำแอร์ทราฟิกคอนโทรล หรือทำโรงไฟฟ้าที่เขมรก็ทำแล้ว ลงทุนตั้งพันล้าน และการที่เข้าประมูลที่สุวรรณภูมิเราก็ไม่ได้เข้าคนเดียว เป็นคอนซอร์เตี้ยมมีบริษัท โปรเวสต์ มีธรรมสรณ์ ที่ทำธุรกิจนี้อยู่แล้ว ซึ่งมองว่าธุรกิจนี้มีอนาคตแล้วคู่แข่งขันไม่เยอะ ต่อไปบ้านเมืองมันต้องมีพวกนี้เยอะ ไม่ใช่กำจัดขยะอย่างเดียว ต่อไปขยะอิเล็กทรอนิกส์อีก พวกมือถือเละ ๆ จะทำอย่างไร จอมอนิเตอร์จะเอาไปทำอะไร เกิดอะไรกับมลภาวะซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของเราว่าต่อไปจะทำอะไร ไม่ใช่หยุดแค่ตรงนี้ แต่จะเป็นสิ่งที่ให้ทำธุรกิจต่อเนื่องอีกหลายอย่าง หรือแม้กระทั่งโรงไฟฟ้า ไม่ได้มองแค่พลังงานน้ำมันหรือถ่านหิน แต่มองถึงพลังงานทดแทน เช่นพลังงานแสงอาทิตย์แต่ระบบไม่ใช่แบบโซล่าตรอน
อีกอันที่ทำต่อเนื่องคือเรื่องบรอดคาสติ้ง ซึ่งสามารถวิศวกรรมทำจาน ต้องหาทางทำอย่างไรให้ทีวีเมืองไทยมีช่องดูเยอะๆ มีอีกหลายหน่วยงานอยากมีทีวีของตัวเอง ซึ่งจะทำให้จานขายได้ ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของสามารถต้องทำต่อไป แต่ต้องให้มีการเติบโตต่อไป อีกไม่กี่เดือนจะเห็นเป็นรูปเป็นร่าง
สามารถคอร์ปแตกตัวไปมาก?
เป็นนโยบายที่สามารถต้องไปหาธุรกิจใหม่ทำที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี แต่ไอ-โมบาย หรือแซมเทล ต้องเลี้ยงตัวเองได้ หาเงินทุนเอง ต่อไปเมื่อเราจัด Waste กับ Energy พ่วง Utilities ได้แล้ว ก็ต้องไปเลี้ยงตัวเอง ต่อไปธุรกิจอื่นๆอย่างคอลเซ็นเตอร์ ปัจจุบันอยู่ใต้สามารถ 100% ตอนนี้ดีขึ้นมากมีรายได้ปีละ 500 ล้านบาท ต่อไปเป็นพันๆล้าน ทำให้เป็นอันดับหนึ่งได้หรือไม่ ต้องแยกออกไป หาทุนเอง เป็นการกระจายความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนธุรกิจของสามารถ
แต่เราไม่ได้แตกตัวไปโดยไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยี อย่างอุตสาหกรรมอาหารหรือเกษตร แต่ไม่ได้ลิมิตตัวเองเฉพาะโทรคมอีกต่อไป ซึ่งต้องดูว่ามีการใช้เทคโนโลยีเป็นเมนหลักหรือไม่
ทีมบริหารสามารถแข็งแรงขนาดไหน?
ต้องเติมอีกเยอะ บุคลากรเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงคน วัฒนธรรม เพราะแต่ละธุรกิจไม่เหมือนกันเลย โดยเฉพาะการบริหารคน แต่สามารถดีอย่างหนึ่งเพราะมีความคล่องตัวในการเปลี่ยนแปลง พร้อมปรับตัวได้เร็ว ไม่ได้เป็นองค์กรที่เชื่องช้า ผสมผสานองค์กรที่เป็นแบบแฟมิลี่ กับมืออาชีพ ไม่ได้อิงแบบใดแบบหนึ่งเกินไป ข้อดีอีกอย่างคือคนส่วนใหญ่อยู่มานาน รักองค์กร พร้อมที่จะต่อสู้ เพื่อความก้าวหน้า ตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ผมว่าคนยังอยู่มากกว่าครึ่ง ที่อยู่กันมาเป็นสิบๆปี
แต่เราต้องปรับปรุงคุณภาพผู้บริหารเราอีกเยอะเช่นความพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างคุณสมชายที่อยู่เขมร ตอนนี้ต้องไปเรียนรู้เรื่อง Waste เรื่องโรงไฟฟ้า ต้องหูตากว้างไกลพร้อมเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่ได้ยึดติดอยู่ในกรอบ ต้องสร้างความคิดใหม่ๆให้พนักงานและผู้บริหาร
ลงทุนเรื่องเทรนนิ่งเรื่องระบบไปมากแล้ว ซึ่งถือว่าสามารถแข็งแรงขึ้นกว่าเมื่อก่อน อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ก็ยังไม่พอใจน่าจะทำอะไรได้ดีกว่านี้อีกเยอะ เพราะองค์กรเราใหญ่ขึ้นมากมีพนักงาน 4 พันคนแล้ว ต้องทำโมเดลใหม่ ท้าทายผู้บริหารมากขึ้นไม่ได้มีแบบโบนัสปกติ ต้องมี intensive อะไรอีกหลายอย่าง ต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนองค์กรมาก ในการเข้าสู่ธุรกิจอีกหลายแบบ บุคลากรเป็นส่วนที่สำคัญ ตอนนี้เงินทุนเป็นส่วนที่สำคัญรองลงมาแล้ว เพราะสามารถเน้นเรื่องอินโนเวชั่น จะทำอย่างไรให้พนักงานมีความคิดอ่านของตัวเอง สร้างสรรค์อะไรใหม่ๆออกมา ไม่ใช่อยู่แต่เดิมๆรอเจ้านายสั่ง ต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ
ปีหน้าเน้นเรื่อง Synergy แต่ละอันก็มีข้อดี ทำอย่างไรให้มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ได้มากที่สุดทั้งแง่ธุรกิจและภายในองค์กรด้วยกันเอง พยายามไม่ให้นึกว่าเป็นซิม หรือเป็นแซมเทล ทุกคนเป็นพี่น้องกันนามสกุลเดียวกัน
ตอนนี้มีอะไรหนักใจบ้าง?
ทำไม่ทัน เพราะตอนนี้มีช่องห่างระหว่างผู้บริหารระดับสูงกับระดับล่าง ซึ่งต้องเติมในส่วนของผู้บริหารระดับกลางให้มากขึ้น ไม่อย่างนั้นมันจะตามไม่ทัน ในความคิดอ่านผู้บริหาร เพราะต้องทำให้คนระดับกลางเข้าใจทิศทางบริษัท ต้องปรับตัวเองอย่างไร เพราะองค์กรโตเร็ว ต้องให้เวลาพูดคุยกับผู้บริหารมากขึ้น ถึงแม้ผลประกอบการจะดีขนาดเกิน 2.5 หมื่นล้านบาท ที่ต้องถือว่าประสบความสำเร็จอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนตั้งแต่วิกฤตหรือตั้งแต่ก่อตั้ง แต่จะทำอย่างไรให้รักษาได้นานที่สุด ครึ่งปีหลังทุกคนต้องทำงานหนักกว่าครึ่งปีแรก
ในแง่ความสัมพันธ์การเมืองกับงานประมูล?
เราทำงานประมูลมาเป็นสิบๆปี ไม่ว่าจะประมูลจานดาวเทียม ประมูลสนามบิน ถ้าพูดตรงๆก็ด้วยความสามารถ ด้วยราคา แต่ในเมืองไทยก็มีเรื่องพูดกันไปหลายอย่าง แต่เราพยายามทำให้ถูกต้อง เรื่องคอนเน็กชั่นที่พูดกัน ไม่ได้เฉพาะงานประมูล เมืองไทยส่วนใหญ่รู้จักมักคุ้นกัน ใครทำอะไร ไม่ใช่รู้จักแค่นักการเมืองกลุ่มนั้นกลุ่มนี้คนเดียว ความที่อยู่ในงานประมูล ก็จะถูกมองว่ามีคอนเน็กชั่นบ้าง อะไรบ้าง แต่ส่วนใหญ่ เราก็ไม่เคยประมูลแล้วราคาแพงกว่า รัฐก็ได้ประโยชน์ ไม่เคยถูกต่อว่าแพงกว่าเอาเปรียบ ไทยโมบายได้มาแต่ขาดทุนด้วย
ถ้ามีคอนเน็กชั่นดี รู้จักเจ๊โน้น เจ๊นี้ ทำไมผมตกหัวเหว่ย งานซีดีเอ็มเอ ผิดสเปกเลย ตกคนแรกเลย เรายังจะไปฟ้องศาลปกครองขอความยุติธรรม แต่พอเปิดราคามาแล้ว ถูกกว่าที่คิดตั้งเยอะแยะ ก็ไม่จำเป็นต้องไปฟ้อง เพราะรัฐได้ประโยชน์ เราก็ไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้นให้โครงการล่าช้า ถ้าผมเส้นดีจริงๆ งานนั้นก็ต้องได้แล้วตั้ง 7-8 พันล้าน เราก็อยากได้ การต้องรู้จักคนในวงการนี้ต้องมีแน่นอน เพราะให้ความยุติธรรมกับเราได้ แต่ต้องประมูลงานได้ด้วยความสามารถของเราเองด้วย ไม่ใช่ชนะเพราะคอนเน็กชั่นอย่างเดียว