http://www.bangkokbiznews.com/2007/04/1 ... wsid=64696
ธุรกิจปรับ รับวิกฤติ "โลกร้อน"
19 เมษายน พ.ศ. 2550 17:56:00
ปัญหา Global Warming กำลังส่งสัญญาณ "วิกฤติ" ไปยังอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมประมงจะได้รับผลกระทบในด่านแรก ก่อนจะคืบคลานไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมแปรรูป อุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : จากประเด็นการขาดแคลนวัตถุดิบ ยังตามมาด้วยมาตรการกีดกันทางการค้าต่อผู้ผลิตที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน
ธุรกิจจึงต้องปรับตัว เปลี่ยนแนวคิด ต้นทุนไม่ได้เป็นปัญหาต่อผู้ผลิตอย่างเดียว แต่ "โลกร้อน" กำลังจะเป็นปัญหาใหญ่
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางด้านผลผลิตกำลังเป็นปัญหาใหญ่ต่ออุตสาหกรรมอาหารและจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค เพราะจะขาดแคลนวัตถุดิบและกระทบไปยังกระบวนการผลิตอื่นๆ
"ยุทธศักดิ์ ศุภสร" ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร บอกถึงผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน ซึ่งทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ภัยธรรมชาติมากขึ้นและรุนแรงขึ้น และสัตว์น้ำไร้แหล่งอาหาร
ผลกระทบเหล่านี้ได้ย้อนกลับมาทำร้ายมนุษย์ซึ่งเป็น ต้นตอ ของปัญหาดังกล่าว
ยุทธศักดิ์ ประเมินว่า ภายใน 3-5 ปี นับจากนี้ อุตสาหกรรมประมงจะวิกฤติมากที่สุด จากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ (Supply Change) เพราะอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้ทำลายแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ และเกิดการย้ายถิ่นของสัตว์น้ำ
หากมองมูลค่าส่งออกอาหารไทยย้อนหลังไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในปี 2544 ปริมาณส่งออกอยู่ที่ 488,639 ปี 2545 อยู่ที่ 427,801 ล้านบาท ปี 2546 เพิ่มขึ้นเป็น 470,617 ล้านบาท
ปี 2547 อยู่ที่ 507,013 ล้านบาท ปี 2548 เพิ่มขึ้นเป็น 519,816 ล้านบาท ปี 2549 เพิ่มขึ้นอีกเป็น 563,911 ล้านบาท ส่วนปี 2550 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10%
แม้ว่าอัตราการส่งออกจะเพิ่มขึ้น แต่ส่วนแบ่งตลาดอาหารไทยในตลาดโลกกลับลดลงทุกปี ปี 2544 ส่วนแบ่งการตลาดอาหารไทยอยู่ที่ 2.73% ปี 2545 อยู่ที่ 2.51% ปี 2546 อยู่ที่ 2.44% ปี 2547 อยู่ที่ 2.32% และปี 2548 ลดลงมาอยู่ที่ 2.25%
ในภาพรวมของตัวเลขการส่งออกยังไม่มีปัญหา เพราะปริมาณการส่งออกยังเพิ่มขึ้นแสดงให้เห็นว่าภาวะการขาดแคลนวัตถุดิบในระยะสั้นยังไม่เข้าขั้น "วิกฤติ" แต่ในระยะยาวหลายคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าปัญหาโลกร้อนจะทำให้ปลาหมดทะเลในอีก 40 ปีข้างหน้า
ขณะนี้บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ เจ้าของผลิตภัณฑ์จากทะเล ได้เตรียมออกเดินทางไกล แสวงหาแหล่งวัตถุดิบใหม่โดยมองถึงน่านน้ำสากล อย่างกลางมหาสมุทรอินเดีย และทะเลแดง
ถึงเส้นทางจะไกลขึ้น ต้นทุนสูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำมัน ไม่รวมต้นทุนจากมาตรการความปลอดภัย ก็ต้องทำ เพราะทะเลย่านอินโด อ่าวไทย ไม่ใช่แหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์เสียแล้ว
ขณะที่ "สุวิทย์ วังพัฒนมงคล" ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหาร บอกถึงปัญหาของผู้ประกอบการปลากระป๋องว่า กำลังขาดแคลนปลาซาร์ดีนอันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ผู้ประกอบการหันมานำเข้าปลาแมคเคอรอลแทน
ที่สำคัญการวางแผนธุรกิจ การสต็อกสินค้า เป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะความไม่แน่นอนของปริมาณวัตถุดิบ
สัญญาณร้ายของโลกร้อนในวันนี้ค่อยๆ คืบคลาน และไม่ได้สร้างปัญหาให้กับปลาในทะเลเท่านั้น แต่ทุกอุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับการขาดแคลนวัตถุดิบที่เร็วขึ้นและรุนแรงมากขึ้น
กระทั่งอุตสาหกรรมที่ใช้นมผงเป็นวัตถุดิบในการผลิตก็ปั่นป่วนไม่แพ้กัน เพราะภาวะโลกร้อนทำให้เกิดความแห้งแล้ง เกษตรกรจึงไม่มีหญ้าเลี้ยงแม่โค ปริมาณนมผงจึงกำลังขาดแคลนและแพงขึ้นทั่วโลก
ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการไทยต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในด้านพฤติกรรมการซื้อ (Demand Change) ของผู้บริโภคทั่วโลกมาแล้ว
การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้บริโภคนำมาสู่ความต้องการซื้อที่เปลี่ยนไป เช่น การบริโภคปลาแทนเนื้อสัตว์อื่น การบริโภคอาหารแช่แข็งมากขึ้น เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในด้านดีมานด์ของผู้ซื้อไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะเพียงแค่เอาความต้องการของผู้บริโภคเป็นโจทย์ แล้วปรับวิธีการผลิตเพื่อให้ได้สินค้าที่ตรงตามความต้องการ หรือพิถีพิถันกับการผลิตมากขึ้นก็ได้จะสินค้าใหม่ ภายใต้คอนเซปต์ที่ตรงใจผู้บริโภคอยู่แล้ว
การรับมือกับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปจึงน่ากลัวน้อยกว่าการขาดแคลนวัตถุดิบ ที่หมายถึงไม่มีวัตถุดิบให้ผลิตและธุรกิจก็อยู่ไม่รอด
ปัญหาที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบเท่านั้น แต่ประเด็นดังกล่าวกำลังถูกหยิบยกมาเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non Tariff Barrier)
ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า หลายประเทศในยุโรปและอเมริกา เริ่มส่งสัญญาณด้วยการหามาตรการกีดกันดังกล่าวแล้ว เช่น คาร์บอนเครดิต ที่เป็นนโยบายกำหนดว่าโรงงานหรือแหล่งผลิตใดที่ปล่อยอากาศเสียหรือทำให้มลภาวะอากาศเสียมากจะได้โควตาส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้น้อย
ในทางกลับกันจะได้โควตาส่งออกมากถ้าแหล่งผลิตนั้นๆ ควบคุมในการผลิตไม่สร้างมลพิษให้อากาศหรือทำลายสิ่งแวดล้อม
ภายใน 5-10 ปี ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกจะได้รับการกีดกันจากการเข้มงวดในการดูแลเรื่องปัญหาโลกร้อนจากประเทศฝั่งยุโรปแน่นอน
"มาตรการที่เป็น NTB จะเริ่มมาจากประเทศพัฒนาที่พยายามหามาตรการที่เกี่ยวข้องกับปัญหาโลกร้อนมากีดกันทางการค้า เพื่อลดปัญหาดังกล่าว
สถาบันอาหารในฐานะที่เป็นหน่วยงานให้ความรู้แก่เอกชน จึงเร่งใส่มูลค่าเพิ่ม รับมือกับการส่งออกน้อยลงให้ได้กำไรมากขึ้น ส่งออกน้อย แต่กำไรมากขึ้น เป็นหนทางแก้ปัญหาด้วยการใส่มูลค่าเพิ่มให้อาหารไทยให้กับการส่งออกหนึ่งของอุตสาหกรรมอาหารไทย เมื่อวัตถุดิบมีจำกัด ปริมาณส่งออกน้อยลง ต้องทำให้ได้เม็ดเงินมากขึ้น กำไรเพิ่มขึ้น
ปริมาณการส่งออกมากกว่ามูลค่าที่เป็นตัวเงิน แสดงว่า อุตสาหกรรมอาหารไทยต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้ได้กำไรเพิ่ม
ประเด็น NTB ที่มาพร้อมปัญหาโลกร้อนนั้น สถาบันอาหารยังมีโครงการ Green Productivity ที่ไม่ใช่แค่เน้นการลดต้นทุน แต่ต้องเป็นกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นส่วนหนึ่งของการรับผิดชอบต่อสังคม นำร่องด้วย 30 โรงงาน ในภาคธุรกิจอาหารกระป๋อง อาหารสำเร็จรูป
"ถึงเวลาแล้วที่เราต้องจริงจังกับการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แม้จะต้องค่อยๆ ปรับตัว เปลี่ยนแนวคิด เพราะต้นทุนไม่ได้เป็นปัญหาต่อผู้ผลิตอย่างเดียว แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีให้เห็นอยู่แล้ว และจะเพิ่มมากขึ้นด้วยมาตรการจากภาวะโลกร้อน"