เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผู้ผลิตเร่งปรับตัวรับเงินบาทแข็งค่า
27 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 10:34:00
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : การปิดตัวเอง ของบริษัท ไทยศิลป์อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปรายใหญ่ที่มีจำนวนคนงานถึงกว่า 5 พันคนโดยมีผลในวันที่ 7 สิงหาคม 2550 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เคยประกาศปิดโรงงานไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2550 และกลับมาเปิดดำเนินงานอีกครั้งในวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งกรณีดังกล่าวถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนและบ่งชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจนี้กำลังมีปัญหาและอุปสรรคทางด้านความสามารถในการแข่งขันระดับประเทศที่ลดต่ำลง ภายหลังจากต้องประสบกับการแข่งขันกับสินค้าจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าเช่นจีน เวียดนาม อินเดีย และอินโดนีเซีย และยิ่งมาเผชิญกับปัจจัยซ้ำเติมทางด้านเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ศักยภาพการแข่งขันของไทยปรับลดลงอย่างรวดเร็ว
เนื่องจากสินค้าไทยมีราคาเพิ่มสูงขึ้นในสายตาผู้นำเข้า กระทั่งมีการลดคำสั่งซื้อหรือเจรจาให้ผู้ผลิตของไทยปรับลดราคาลง ดังนั้น การเร่งปรับตัวของผู้ประกอบการโดยการเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพการแข่งขัน เพื่อก้าวให้ทันกับคู่แข่งในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็น การลดต้นทุนการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการพัฒนาคุณภาพรวมทั้งตราสินค้าของตนเองเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าไทย รวมทั้งการหาตลาดส่งออกใหม่ๆที่มีศักยภาพ จึงนับเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงปัญหาการปิดกิจการของผู้ประกอบการรายอื่นๆที่จะมีเพิ่มขึ้น
ทิศทางการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยในปี 2550 เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงมากภายหลังจากที่เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 10 ปี ดังจะพิจารณาได้จากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยในช่วง 5 เดือนแรกปี 2550 ซึ่งมีมูลค่าเพียง 1,176.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯลดลง 4.7% โดยเป็นการชะลอตัวลงในตลาดส่งออกหลักของไทยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นตลาดสหรัฐฯซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 50.1% ของมูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมด มูลค่าส่งออกลดลง 6.0% ตลาดสหภาพยุโรปซึ่งมีสัดส่วนส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป 25.8% มูลค่าส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง 4.1% และตลาดญี่ปุ่นซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 5.8% มูลค่าส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง 19.6% ในขณะที่ตลาดกลุ่มอาเซียนมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 4.1% แต่สัดส่วนส่งออกที่มีเพียง 2.4% ทำให้ช่วยหนุนภาพรวมการส่งออกได้ไม่มากนัก
ทั้งนี้ หากเงินบาทยังคงมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่องก็คาดว่ามูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งปี 2550 จะมีประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯปรับตัวลดลงประมาณ 6.4% และปัจจัยจากการแข็งค่าของเงินบาทดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการเสื้อผ้าสำเร็จรูปต้องเผชิญกับภาวการณ์ขาดทุนหรือมีกำไรในรูปเงินบาทลดลง และทำให้บางรายโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กอาจไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้และต้องปิดตัวลงและนำมาซึ่งปัญหาทางด้านแรงงานและสังคมตามมา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ปัจจัยหลักสำคัญที่ส่งผลให้ศักยภาพการแข่งขันสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยปรับลดลง จนนำมาซึ่งการปิดกิจการและการเลิกจ้างแรงงานนั้น มิใช่เป็นผลจากปัญหาเงินบาทของไทยที่แข็งค่าเพียงประการเดียว เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลทำให้ศักยภาพการแข่งขันอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยปรับลดลงมาก่อนหน้านี้ เพียงแต่การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงนี้เป็นปัจจัยที่เข้ามากระตุ้นและซ้ำเติมให้ศักยภาพการแข็งขันเสื่อมถอยลงเร็วยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากสถิติจำนวนโรงงานเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มจากสถาบันสิ่งทอที่ปรับลดลงจากจำนวน 2,672 แห่ง ในปี 2543 ลดลงมาเหลือ 2,648 แห่งในปี 2545 และ 2,588 แห่งในปี 2547 ส่วนในช่วงปี 2549 ที่ผ่านมาจำนวนโรงงานปรับลดลงมาเหลือประมาณ 2,528 แห่ง
ขณะที่จำนวนแรงงานก็มีการปรับลดลงจาก 843,200 คนในปี 2543 มาเป็น 840,850 คนในปี 2545 และ 837,680 คนในปี 2547 ส่วนในปี 2549 ที่ผ่านมาจำนวนคนงานปรับลดลงมาเหลือประมาณ 824,500 คน และเมื่อพิจารณาส่วนแบ่งตลาดในตลาดโลกก็พบว่า ปรับลดลงเป็นลำดับจากส่วนแบ่งตลาด 1.9% ของประเทศผู้ส่งออกเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของโลกปี 2543 ลดลงมาเหลือ 1.8% ในปี 2545 และประมาณ 1.5% ในปี 2548 ในขณะที่คู่แข่งของไทยคือจีนส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 18.3% ในปี 2543 มาเป็น 20.4% ในปี 2545 และประมาณ 26.9% ในปี 2548 ส่วนคู่แข่งที่สำคัญอีกรายคือเวียดนามนั้น ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 0.2% ในปี 2543 มาเป็น 1.3% ในปี 2545 และประมาณ 1.7% ในปี 2548
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลทำให้ศักยภาพการแข่งขันของไทยปรับตัวลดลงนอกเหนือจากปัจจัยด้านค่าเงินบาทมีรายละเอียดดังนี้
1.ปัจจัยด้านต้นทุนการผลิต เนื่องจากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยส่วนใหญ่จะเป็นการรับจ้างผลิตตามรูปแบบ ประเภทวัตถุดิบ และตราสินค้าของผู้สั่งซื้อ(Original Equipment Manufacturing: OEM) ฉะนั้นต้นทุนการผลิตจึงมีผลต่อคำสั่งซื้อเป็นอย่างมาก และเนื่องจากเสื้อผ้าสำเร็จรูปเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานจำนวนมากในการผลิต(labor Intensive) ส่งผลให้ที่ผ่านมา ประเทศที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทยอันได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ปากีสถาน อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน และเวียดนามเข้ามาแย่งตลาดสินค้าไทยด้วยค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่า โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดย่อมของไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายเล็กจะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันมาก
ทั้งนี้อัตราค่าจ้างแรงงานของไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอเสื้อผ้าสำเร็จรูปอยู่ที่ประมาณ 1.29 ดอลลาร์สหรัฐ/ชั่วโมง ในขณะที่คู่แข่งของไทยคือจีนอยู่ที่ 0.48 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ชั่วโมง อินเดียอยู่ที่ 0.67 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ชั่วโมง และเวียดนามอยู่ที่ 0.28 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ชั่วโมง ส่งผลให้ไทยไม่สามารถแข่งขันในตลาดเสื้อผ้าสำเร็จรูประดับล่างที่มุ่งเน้นแข่งขันในด้านราคาได้
2.ปัจจัยจากการยกเลิกโควตาของประเทศผู้นำเข้า แต่เดิมการค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปของโลกสามารถแบ่งออกได้ เป็นตลาดที่ไม่จำกัดโควตาการนำเข้า และตลาดที่มีการกำหนดโควตาและอัตราการขยายตัวในแต่ละปีให้กับประเทศผู้ส่งออก ซึ่งตลาดในกลุ่มนี้จะเป็นประเทศที่มีการนำเข้าสิ่งทอเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีมูลค่าสูง อันได้แก่ประเทศ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป(15ประเทศ) นอร์เวย์และแคนาดา ทั้งนี้ แม้ว่าข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้การขยายตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยไปยังประเทศเหล่านี้มีข้อจำกัด กล่าวคือเติบโตได้ในสัดส่วนที่ไม่เกินจากโควต้าของประเทศผู้นำเข้ากำหนด แต่ในอีกด้านหนึ่ง ข้อตกลงดังกล่าวก็ได้ช่วยควบคุมสินค้าจากประเทศคู่แข่งของไทยที่มีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิต ไม่ให้ขยายตัวในอัตราสูงจนส่งผลกระทบต่อส่วนแบ่งตลาดของไทย ซึ่งก็ถือได้ว่าการควบคุมโควต้าดังกล่าวเป็นการคุ้มครองผู้ประกอบการไทยทางอ้อม
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นมา ประเทศต่างๆได้ยกเลิกการกำหนดโควต้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปตามข้อตกลงองค์การการค้าโลก(WTO)เพื่อให้การค้าเป็นไปอย่างเสรี ส่งผลให้ประเทศจีน อินเดีย เวียดนาม และประเทศผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีต้นทุนการผลิตต่ำจากค่าแรงงานในประเทศ สามารถส่งออกได้เสรีโดยไม่ถูกจำกัดทางด้านโควตาส่งออกอีกต่อไป ทำให้ประเทศเหล่านี้เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยในตลาดต่างประเทศมากขึ้น
3.ปัจจัยจากการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก(WTO)ของจีนและเวียดนาม การสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกของจีนซึ่งมีผลในปี 2544 และเวียดนามที่มีผลในช่วงต้นปี 2550 นับเป็นการเปิดประตูการค้าให้กับประเทศทั้งสองเพราะทำให้ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าเหมือนเช่นประเทศสมาชิกรายอื่นๆ รวมทั้งสามารถส่งออกสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยไม่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขโควตาทางการค้าอีกต่อไป และทำให้ผู้นำเข้าจากประเทศต่างๆสนใจสั่งซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากจีนและเวียดนามมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันการเข้าเป็นสมาชิก WTO จะดึงดูดให้ต่างประเทศสนใจเข้าไปลงทุนทางด้านเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นเพราะจีนและเวียดนามมีแรงงานราคาถูกเป็นจำนวนมากทำให้มีโอกาสพัฒนารูปแบบและคุณภาพสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะยิ่งหนุนให้มูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของจีนและเวียดนามขยายตัวเพิ่มขึ้น และทำให้เสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น
ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ปัจจุบัน มีหลายปัจจัยที่บั่นทอนศักยภาพการแข่งขันทำให้สินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยในตลาดโลกปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ก็ใช่ว่าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยจะหมดโอกาสที่จะมีบทบาทในตลาดโลก เนื่องจากเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยยังมีจุดแข็งทางด้านประสิทธิภาพการผลิตของภาคแรงงาน รวมทั้งคุณภาพฝีมือการตัดเย็บที่โดดเด่นและสามารถแข่งขันได้กับคู่แข่ง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าระดับคุณภาพปานกลางขึ้นไป
ในขณะเดียวกัน คู่แข่งขันของไทยรายสำคัญ ทั้งจีนและเวียดนามเองต่างก็มีจุดอ่อนที่สำคัญคืออัตราการขยายตัวทางด้านการส่งออกอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงส่งผลให้ถูกเพ่งเล็งและนำมาตรการกีดกันทางการค้ามาใช้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะจีนนั้นที่ผ่านมาถูกสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปนำมาตรการป้องกันตัวเอง(SAFEGUARD) มาใช้กีดกันการค้าในส่วนของสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปตั้งแต่ช่วงกลางปี 2548 ที่ผ่านมา เนื่องจากสินค้าที่ผลิตจากจีนได้มีการส่งออกไปยังประเทศทั้งสองเพิ่มขึ้นสูงมาก ภายหลังจากมีการยกเลิกโควตานำเข้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 ตามข้อตกลงองค์การการค้าโลก(WTO)โดยสหภาพยุโรปจะจำกัดปริมาณการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของจีนไปจนถึงปี 2550 และสหรัฐฯจะจำกัดปริมาณการส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากจีนไปจนถึงปี 2551
ดังนั้น จีนและเวียดนามเองก็จำเป็นต้องระมัดระวังการส่งออกเพื่อไม่ให้ประเทศผู้นำเข้าเห็นว่าเป็นการทุ่มตลาดจนส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปของประเทศผู้นำเข้า ในขณะที่การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไทยไปยังประเทศสำคัญ ทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นยังมีมูลค่าไม่สูงมากนัก อีกทั้งบางช่วงมูลค่าส่งออกยังขยายตัวลดลง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวช่วยลดปัญหาการกีดกันเสื้อผ้าสำเร็จรูปไทยลงได้ระดับหนึ่ง
ฉะนั้น
ผู้ประกอบการเสื้อผ้าสำเร็จรูปจำเป็นต้องเร่งปรับตัวรับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงทางด้านต้นทุนการผลิตซึ่งมีปัจจัยทางด้านเงินบาทแข็งค่าเข้ามาเป็นแรงผลักดันให้ศักยภาพการแข่งขันของไทยลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งสรุปได้ดังนี้
1.การประกันความเสี่ยงทางด้านค่าเงิน ผู้ส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยควรหาวิธีลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินบาทโดยการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า รวมทั้งการกระจายตลาดไปยังแหล่งที่ค่าเงินมีแนวโน้มแข็งค่าเช่นตลาดยุโรปให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องพึ่งพาตลาดซึ่งต้องใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯในการแลกเปลี่ยนซื้อสินค้า ผู้ประกอบการก็ควรทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ส่งออกของไทยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
2.การลดต้นทุนการผลิต ผู้ประกอบการควรใช้ช่วงโอกาสที่เงินบาทแข็งค่าอยู่ในขณะนี้ พัฒนาปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตโดยการนำเข้าเครื่องจักรสิ่งทอเสื้อผ้าสำเร็จรูปด้วยต้นทุนที่ลดลง ซึ่งการนำเครื่องจักรเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้จะช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรวมทั้งลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องบริหารสต็อกสินค้าและวัตถุดิบเพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับปริมาณการผลิตและปริมาณความต้องการในแต่ละช่วงเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำสู่การลดต้นทุนทางด้านดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายด้านขนส่งและพลังงานลงได้
3.การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า มาตรการลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งการลดราคาสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปนั้นถือเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น ทั้งนี้เนื่องจากคู่แข่งของไทยก็มีศักยภาพที่จะลดต้นทุน และลดราคาสินค้ามากกว่าไทยเนื่องจากความได้เปรียบด้านค่าจ้างแรงงาน ดังนั้น ทางออกสำหรับผู้ประกอบการเสื้อผ้าสำเร็จรูปในระยะยาว สามารถทำได้ด้วยการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการของไทยพัฒนาการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปให้มีสไตล์และรูปแบบที่ทันสมัยให้ตรงตามความต้องการของผู้ซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า(BRAND NAME) ของตนเอง อันจะเป็นการยกระดับสินค้าให้มีความโดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่ง รวมทั้งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า
ในขณะเดียวกัน จะช่วยทำให้การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยสามารถเกื้อกูลและพึ่งพาวัตถุดิบจากในประเทศได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทอผ้าผืนและทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอทั้งระบบมีความเข้มแข็ง ซึ่งต่างจากการรับจ้างตัดเย็บจากบริษัทต่างชาติ ที่ส่วนใหญ่มักมีข้อกำหนดจากผู้สั่งซื้อที่กำหนดให้ใช้ผ้าผืนนำเข้าจากต่างประเทศเป็นวัตถุดิบการผลิต ทั้งนี้ การสร้างตราสินค้าของตนเองให้เป็นที่รู้จัก ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพทางด้านงบประมาณอาจเลือกที่จะเปิดร้านค้าหรือสำนักงานขายในประเทศที่มีศักยภาพเพื่อแนะนำทำความคุ้นเคยให้ผู้ซื้อรู้จักเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากไทยมากขึ้น
4.มุ่งขยายการส่งออกสินค้าที่ไทยยังมีศักยภาพแข่งขัน จากข้อมูลการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของกรมศุลกากรพบว่า ยังคงมีเสื้อผ้าสำเร็จรูปบางประเภทที่ไทยยังคงมีศักยภาพการแข่งขัน อาทิ เสื้อผ้าเด็กอ่อนซึ่งยังสามารถขยายตัวได้ดีในตลาดสหภาพยุโรปถึงร้อยละ14.4 ในช่วง 5 เดือนแรกปี 2550 และเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ทำจากผ้าไหมซึ่งแม้ว่าจะยังมีมูลค่าไม่สูงมากนักประมาณปีละ 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯแต่อัตราการขยายก็ปรับเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยจากมูลค่าส่งออก 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2547 เพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.9 ส่วนปี 2549 ที่ผ่านมามูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 6.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.ส่วนในช่วง 5 เดือนแรกปี 2550 มีมูลค่าส่งออก 5.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 76.7 ทั้งนี้หากผู้ประกอบการมีการเร่งขยายตลาดมากขึ้นก็มีโอกาสเพิ่มมูลค่าส่งออกให้สูงขึ้นได้ เนื่องจากไทยมีข้อได้เปรียบทางด้านวัตถุดิบที่มีความสวยงามสามารถผลิตขึ้นเองในประเทศ
5.รุกตลาดอื่นๆนอกเหนือจากตลาดส่งออกหลัก การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยนับตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบันยังคงพึ่งพาตลาดส่งออกหลักอย่าง สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นในสัดส่วนรวมกันสูงถึงประมาณร้อยละ 80 ส่งผลให้สินค้าไทยเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากประเทศเหล่านี้ได้หันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำเช่น จีน เวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ อินโดนีเซีย เป็นต้น หรือไม่ก็นำเข้าจากประเทศที่มีการรวมกลุ่มทางการค้าหรือมีการเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนระหว่างกันเช่น สหรัฐฯกับเม็กซิโก สหภาพยุโรปกับประเทศในยุโรปตะวันออก และญี่ปุ่นกับจีนและเวียดนาม
ดังนั้น ผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยควรให้ความสำคัญกับการขยายตลาดไปยังประเทศที่มีการจัดทำข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกัน อาทิ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ซึ่งจะทยอยปรับลดภาษีในส่วนของเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่นำเข้าจากไทยให้เหลือร้อยละ 0 ภายในปี 2008 ปี 2010 และปี 2015 ตามแต่ละประเภทสินค้า ในขณะที่จีนจะทยอยปรับลดภาษีให้เหลือร้อยละ 0 ภายในปี 2010 ส่วนญี่ปุ่นได้ปรับลดภาษีลงมาเป็นร้อยละ 0 ทันที ทำให้ศักยภาพด้านการแข่งขันของสินค้าไทยกับประเทศคู่แข่งมีเพิ่มขึ้น
6.การเร่งจัดทำข้อตกลงเสรีทางการค้ากับประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน และญี่ปุ่น แล้ว ประเทศไทยยังเตรียมที่จะเจรจาทำข้อตกลงกับประเทศต่างๆอีกหลายประเทศ แต่ที่สำคัญคือการทำข้อตกลงกับประเทศสหรัฐฯซึ่งถือเป็นประเทศผู้นำเข้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่อันดับ 1 ของโลกที่มีมูลค่านำเข้าปีละกว่า 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยซึ่งมีมูลคาส่งออกสูงถึงกว่า 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ซึ่งหากไทยประสบผลสำเร็จทางด้านการเจรจาเขตการค้าเสรี จะช่วยสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งที่ไม่ได้สิทธิทางภาษีเป็นอย่างมาก
ที่มา : บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
http://www.bangkokbiznews.com/2007/07/2 ... wsid=86486