ข่าวเก่า แต่เห็นมีเอี่ยวกัน เลยแปะมาให้อ่านครับ
ห้าง IT Connect แนวรบใหม่..สงครามค้าปลีกไอที
คนบ้านพริก
[email protected]
กว่า 20 ปีที่แล้ว สยามสแควร์ เป็นแหล่งชอปปิงสินค้าไอทีของกรุงเทพฯ และของประเทศ เวลานั้นเอง ห้างสรรพสินค้าไอทีแห่งแรกได้ก่อตัวขึ้น ชื่อ ห้างดาต้าเมชั่น (จดทะเบียนในนามบริษัท ซีพีทีเดต้าเมชั่น) โดยมีทำเลที่ตั้งที่ศูนย์การค้าไอทีแห่งแรกของไทย..พันธุ์ทิพย์พลาซ่า แหล่งจำหน่ายปลีก-ส่งพระเครื่องและเสื้อผ้า ซึ่งปัจจุบันได้กลายมาเป็นศูนย์การค้าไอทีไปแล้ว
ดาต้าเมชั่น รุ่งเรืองมาสักระยะหนึ่ง เจ้าของเดิมก็มีปัญหาเรื่องสุขภาพและการเงิน นายวัชระ มงคลสุนทรโชติ บริษัท คอมพิวเทคไมโครซิสเต็ม จึงซื้อกิจการไปพร้อมเหล่าขุนพลดาต้าเมชั่นทั้งหมด ทำให้พอร์ตโฟริโอของนายวัชระในระยะนั้นโดดเด่นกว่าใคร โดยเฉพาะเมื่อบวกกับเครื่องพีซีแบรนด์ดังอย่าง เลเซอร์ และเบลต้า
ดาต้าเมชั่น เปลี่ยนชื่อมาเป็น ดาต้าไอที เครือข่ายห้างนี้ได้เปรียบคู่แข่งต่างๆ ในยุคนั้น เพราะได้ทำเลดีๆ ของศูนย์การค้าต่างๆ ทั่วกรุงและทั่วไทย รวมทั้งได้พื้นที่ขนาดใหญ่ ณ ชั้นลอยของพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า
ดาต้าไอที เป็นห้างที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในยุคนั้น แต่ประมาทคู่แข่งเกินไป จึงวางแผนการโตแบบ คอนเซอร์เวทีฟ อีกทั้งการพลาดเชิงกลยุทธ์ โดยไม่รีบเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน จึงขยายกิจการไม่ทันความต้องการของตลาด
และแล้วจุดเปลี่ยนอย่างรุนแรงของห้างดาต้าไอทีเกิดขึ้นเมื่อปี 2540 ผลกระทบจากเศรษฐกิจและการลดค่าเงินบาท ทำให้ห้างแห่งนี้ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวนมาก เกิดหนี้สินและขาดเงินสดหมุนเวียน อีกทั้งไม่มีนโยบายเรื่องหาพันธมิตรเข้ามาถือหุ้น จึงทำให้ห้างแห่งนี้ทรุดตัวไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ยอดขายต่อปี ก็ไม่ได้เลวร้าย และน่าจะดีกว่านี้ถ้าเครดิตไลน์มีมากกว่านี้ และนายวัชระกล้าตัดใจจากธุรกิจที่ไม่ทำกำไรออกไป
ช่วงปี 2540 นั่นเอง ห้างไอทียุคใหม่ได้เกิดขึ้น ไอทีซิตี้ โดยการนำของนายแจ็ค มินทร์ อิงคเนศ นักธุรกิจเชื้อชาติไต้หวัน เจ้าของเอสวีโอเอ และสื่อไอทีเครือเอ.อาร์.ในปัจจุบัน ได้ก่อตั้งขึ้นมา และรีบเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพียงไม่กี่ปี ห้างไอทีซิตี้ก็มีจำนวนสาขาและพื้นที่จำหน่ายสินค้าที่มากกว่า ครอบคลุมทั่วประเทศ
อีกทั้งมีขุนพลที่เก่งอย่างนายเอกชัย ศิริจิระพัฒนา ทำให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือมาก โดยเฉพาะเรื่องวิสัยทัศน์ ความสามารถในการจัดการสินค้าคงคลังและกระแสเงินสด รวมทั้งความสามารถในการทำกำไร
จุดเด่นของห้างไอทีซิตี้ที่เหนือกว่าดาต้าไอที ก็คือ พื้นที่แสดงสินค้าจำนวน 1,000 ตารางเมตรต่อสาขา (ขณะที่ดาต้าไอทีแต่ละสาขา มีขนาดพื้นที่เล็กกว่า) การตกแต่งห้างที่สว่างไสวน่าเดิน สินค้าที่มากกว่า ความสามารถของทีมขาย ความชำนาญในเรื่องข้อมูลสินค้าไอที และเงินทุนหมุนเวียนที่มากกว่า ทำให้ห้างไอทีซิตี้โดดเด่นมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีรายได้ปี 2548 ที่ผ่านมาสูงถึง 4,421 ล้านบาท ในขณะที่ดาต้าไอที มียอดขายที่ 2,010 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ไม่มีตลาดใดที่ยอมให้มีการผูกขาดได้นาน หลังจากไอทีซิตี้ได้ครองตลาดไอทีโมเดิร์นเทรดอย่างเบ็ดเสร็จจน แทบจะไม่มีคู่แข่ง และแม้ว่าห้างเซ็นทรัล และเทสโก้ โลตัส จะหันมาเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าไอทีมากขึ้น แต่กระนั้นก็ดูเหมือนว่าจะไม่ระคายผิวไอทีซิตี้แต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี หลังจากมาร์จินการขายสินค้าไอทีลดลงทุกปี และมีแนวโน้มจะต่ำกว่า 5% ทำให้บริษัทค้าส่ง (ดิสทริบิวเตอร์) จำนวนมาก จำต้องเปิดธุรกิจค้าปลีกด้วย เพื่อรักษาอำนาจต่อรอง และสัดส่วนกำไรให้มากพอ
ดังนั้น ในระยะปีสองปีที่ผ่านมา จึงพบว่าบริษัทค้าส่งน้อยใหญ่ อย่าง ดีคอม คอมเซเว่น หรือกระทั่ง เอสไอเอส จำต้องกระโดดเข้าสู่ตลาดค้าปลีกด้วยเช่นกัน ทั้งผ่านโมเดลแบบแฟรนไชส์ แบบตกแต่งหน้าร้านของดีลเลอร์ให้เป็นเครือข่าย และแบบดำเนินกิจการสาขา-หน้าร้านด้วยตัวเอง
ยังมีบริษัทค้าส่งอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีหน้าร้านที่พันธุ์ทิพย์พลาซ่าจำนวนมาก และมียอดขายมากกว่าปีละ 6,500 ล้านบาท (มากกว่าธุรกิจในเครือเอสวีโอเอซึ่งมีอยู่ราว 5,500 ล้านบาท) นั่นคือ บริษัท เอแอนด์แอล (อัลลายซ์ แอนด์ ลิงค์) นำโดยนายไซม่อน นักธุรกิจเชื้อชาติสิงคโปร์ ซึ่งมีความชำนาญในเรื่องค้าปลีกพอๆ กับการค้าส่ง
อันที่จริง บริษัท เอแอนด์แอล ได้เข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกมานานแล้ว ผ่านเครือข่ายหน้าร้านของตนเอง ซึ่งมีมากกว่า 100 แห่ง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มเป็น 200 แห่ง ในเร็วๆ นี้ ที่สำคัญ เมื่อเร็วๆ นี้ นายไซม่อนมองเห็นช่องว่างของตลาด โดยคิดจะทำห้างไอทีแนวเอ็กซ์เพรส เฉกเช่นเดียวกับโลตัสเอ็กซ์เพรส โดยเป็นห้างที่ใช้พื้นที่ขนาดประมาณ 400 ตารางเมตร เน้นสินค้าแฟชั่นไอที สินค้าที่มียอดจำหน่ายเร็ว
ขณะเดียวกัน เขาให้เหตุผลว่าสินค้าไอทีปัจจุบันมีขนาดเล็กลง ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่เหมือนก่อน อีกทั้งเป็นการเสี่ยงมากเกินไป หากต้องสต็อกสินค้าเป็นจำนวนมาก
ห้างไอทีที่เขามุ่งหวังว่าจะชนกับไอทีซิตี้ในวันข้างหน้า ก็คือ IT Connect โดยเริ่มเปิดแล้ว 3 สาขา และมีแผนที่จะเปิดตัวมากกว่านี้ ภายหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว โดยจุดแข็งของห้าง IT Connect ก็คือ สินค้าหลากหลายครบถ้วน ราคาไม่แพง ทำเลที่ตั้งโดดเด่น และบริการประทับใจ
อนึ่ง แม้ว่าบริษัท เอแอนด์แอล จะได้เปรียบเรื่องการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าหลายชนิดที่คนอื่นไม่มี ได้เปรียบเรื่องต้นทุนสินค้าที่ถูกกว่า เพราะตัวเองเป็นธุรกิจค้าส่งด้วย แต่กระนั้น ก็ยังดูห่างไกลเมื่อเทียบกับนายแจ็ค แห่ง เอสวีโอเอ ซึ่งมีธุรกิจไอทีครบวงจร ทั้งค้าส่ง ค้าปลีก ประมูลโครงการ และที่สำคัญ มีสื่อไอทีที่เป็นกระบอกเสียงและแหล่งข้อมูลการตลาด ยิ่งไปกว่านั้นยังมีงานไอทีคอมมาร์ต ซึ่งปัจจุบันได้กลายสภาพเป็นระบบค้าปลีกแบบตามวาระ อีก 3 งานต่อปี
สงคราม ค้าปลีก กำลังทำให้สงคราม ค้าส่ง ของไอทีปั่นป่วน ทั้งนี้และทั้งนั้น เนื่องจากมาร์จินสินค้าไอทีลดลงเรื่อยๆ ยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดีด้วยแล้ว (ห้างไอทีซิตี้และดาต้าไอที ยังต้องออกค้าขายนอกห้าง ตามงานไอทีเอ็กซ์โปต่างๆ) ยิ่งทำให้สงครามการค้าไอที ดูเหมือนจะสนุกสนานไม่แพ้สงครามการเมืองในปัจจุบัน