วิกฤติซับไพร์ม-Carry Trade ขย้ำหุ้นไทยดิ่งยาว

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
metro
Verified User
โพสต์: 861
ผู้ติดตาม: 0

วิกฤติซับไพร์ม-Carry Trade ขย้ำหุ้นไทยดิ่งยาว

โพสต์ที่ 1

โพสต์

วิกฤติซับไพร์ม-Carry Trade ขย้ำหุ้นไทยดิ่งยาว
 
                ตลาดหุ้นทั่วโลกกอดคอดิ่ง หวั่นวิกฤติตลาดซับไพร์มในสหรัฐฯ และกังวลกรณีเกิด Unwinding YEN Carry Trade หลังเงินเยนแข็งค่าต่อเนื่อง และบีโอเจเตรีบมขึ้นดบ. ระหว่างการประชุมวันที่ 22-23 ส.ค. นี้ ฉุดหุ้นไทยรับผลกระทบจิตวิทยาการลงทุนด้วยวันเดียวหุ้นร่วงกว่า 26 จุด 3 วันทำการร่วงแล้ว 5.73% ขณะที่ต่างชาติยังขายต่อเนื่อง 3 วันทำการขายสุทธิกว่า 9 พันลบ. ด้านวงการ ประสานเสียง หุ้นไทยยังอยู่ในช่วงพักฐานอีกยาวจากความกังวลใน 2 ปัจจัยหลัก จนกว่าผลตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยของบีโอเจจะสรุปผล ส่วน"ดร.ก้องเกียรติ" เตือนอย่าตื่นตระหนก เชื่อปัจจัยถ่วงภายนอกจะกดดันตลาดระยะสั้นเท่านั้น แนวโน้มระยะยาวยังดูดี

                หลังจากปรับตัวขึ้นตั้งแต่ต้นปี ดูเหมือนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในขณะนี้จะเริ่มเข้าสู่การปรับฐานอย่างจริงจังเสียแล้ว หลังจากก่อนหน้าก็มีการพักฐานมาเป็นระยะๆ แล้วเหมือนกัน เพียงแต่การปรับลดลงนั้นอาจไม่มากเหมือนในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมานี้ โดยเฉพาะเมื่อวานนี้ (1 ส.ค.) ดัชนีฯ ปรับลดลงไป .... ส่งผลให้ตั้งวันที่ 27 ก.ค. - 1ส.ค. หรือในช่วง 3 วันทำการดัชนีปรับตัวลดลงไปแล้ว โดยตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2550 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 863.58 จุด และปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 833.47จุด ในการซื้อขายวันที่ 1 สิงหาคม 2550 คิดเป็นลดลงต่อเนื่อง 50.69 จุด หรือลดลง 5.73%
                อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตั้งแต่ต้นปี ดัชนีตลาดฯ หรือ SET Index ปรับเพิ่มขึ้นมาต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2550 จากดัชนีฯ ที่ปิดการซื้อขายสิ้นปี 2549 ที่ระดับ 679.84 จุด จนถึงปิดการซื้อขายเมื่อวานนี้ (1 ส.ค.) ดัชนีฯเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึง 153 จุด หรือ เพิ่มขึ้น 22.60% ส่วนความเคลื่อนไหวดัชนีฯ รอบเดือนกรกฎาคม 2550 าดัชนีฯก็ยังไต่ระดับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยดัชนีฯปรับขึ้นไปสูงสุดในรอบเดือนที่ระดับ 884.16 จุด ซึ่งเป็นดัชนีฯปิดการซื้อขายในวันที่ 26 กรกฎาคม 2550
                ทั้งนี้ดัชนีฯที่ปิดการซื้อขายเดือนมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 776.79 จุด และมีการปรับขึ้นจนปิดที่ระดับ 859.76 จุด ในการซื้อขายวันที่ 31 กรกฎาคม 2550 คิดเป็นเพิ่มขึ้น 82.97 จุด หรือเพิ่มขึ้น 10.70% เพราะฉนั้นจึงอาจไม่ใช่เรื่องแปลกหรือน่าตกใจที่ดัชนีฯ จะปรับตัวลดลงไปบ้างจากการขายทำกำไรของนักลงทุน เพียงแต่ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวที่น่าหวั่นวิตกมากกว่าการขายทำกำไรของนักลงทุน ก็คือประเด็นปัญหาของตลาดซับไพร์ม (การปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง) ในสหรัฐอเมริกา และสดๆร้อนกับธุรกรรม Unwinding YEN Carry Trade หรือการถอนเงินลงทุนเพื่อนำใช้เงินกู้สกุลเยนในญี่ปุ่น หลังจากมีคาดการณ์ว่าในวันที่ 22-23 สิงหาคมนี้ ธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่น หรือ บีโอเจ จะปรับขึ้นดอกเบี้ยมาตรฐาน ภายหลังค่าเงินเยนแข็งค่าต่อเนื่อง จนส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกเทขายหุ้นออกมาอย่างหนักในช่วง 1-2 วันนี้ โดยจะเห็นได้จากดัชนีตลาดต่างประเทศสำคัญๆ ที่ปรับตัวลดลงจากผลกระทบดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นดาวโจนส์ นิกเกอิ ฮั่งเส็ง รวมไปถึงตลาดหุ้นจีน และลามมายังตลาดหุ้นในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งก็รวมไปถึงดัชนีฯ ของไทยด้วย
                โดยหากจะอธิบายถึงปัญหาตลาดซับไพร์ม ที่หลายฝ่ายกำลังกังวลว่าจะลุกลามและกระทบเศรษฐกิจของอเมริกาทั้งระบบนั้นก็คือ ตลาดการปล่อยกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยหรือกู้จำนองที่ปล่อยให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง หรือกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้ ซึ่งอาจจะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลในที่สุดได้ จนกระทบต่อสถานะเจ้าหนี้ได้ และยิ่งหากบางบริษัทที่ปล่อยกู้มีการทำซิเคียวริไทเซชั่น (แปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์) โดยการนำหนี้ก้อนนี้มาแปลงเป็นหลักทรัพย์ขายให้สถาบันการเงินอื่นอีกต่อหนึ่ง ก็เท่ากับเป็นการกระจายความเสี่ยงไปอีกขั้นหนึ่ง ดังนั้นหากหนี้ที่ปล่อยไปตั้งแต่ต้นตอกลายเป็นหนี้เสียขึ้นมา ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกลายเป็นเอ็นพีแอล ดังนั้นเมื่อมีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมา จึงทำให้ความกังวลเรื่องนี้ส่งผลต่อจิตวิทยาการลงทุนในตลาดหุ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้ นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จะยืนยันว่าตลาดซับไพร์มมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับตลาดเงินกู้ทั้งหมด และการชะลอตัวของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยบางส่วนได้รับการทดแทนโดยการขยายตัวของการก่อสร้างในส่วนที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ความกังวลเรื่องดังกล่าวลดลง
                ขณะนี้อีกกรณีคือธุรกรรม Unwinding Carry Trade หรือจะเรียกว่า Unwinding YEN Carry Trade ซึ่งเกิดจากกรณีที่นักลงทุน หรือบรรดานักเก็งกำไร รวมไปถึงบรรดาเฮดจ์ฟันด์ ที่ได้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำจากญี่ปุ่นก่อนหน้านี้เพื่อไปลงทุนหวังส่วนต่างหรือกำไรในประเทศที่มีดอกเบี้ยสูงกว่า และรวมไปถึงเงินลงทุนในหุ้นส่วนหนึ่งด้วยนั้น แต่เมื่อถึงจังหวะที่บีโอเจตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากถูกกดดันจากค่าเงินเยนที่แข็งค่าต่อเนื่อง ก็จะทำให้เม็ดเงินเหล่านี้ต้องรีบถอนเงินลงทุนจากประเทศอื่น เพื่อนำเงินกลับมาคืนเงินกู้ในญี่ปุ่น ก่อนที่จะปรับดอกเบี้ยขึ้น ซึ่งเท่ากับว่าหากมีการถอนเงินลงทุนออกไปจริงก็จะเกิดเงินไหลย้อนกลับ หรือเงินไหลออกอย่างรุนแรงกลับไปที่ญี่ปุ่นทันที ดังนั้นภาวะนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างหนัก และกดดันให้ดัชนีฯปรับตัวลดลงอย่างไม่น่าสงสัย
                ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าในสภาพการณ์ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด ตามกระแสโลกาภิวัฒน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาตลาดซับไพร์ม ที่แม้ตอนนี้อาจจะไม่ใช่วิกฤติอย่างที่คาดหมายกัน หรือกรณี Carry Trade จึงเป็นเรื่องที่ตลาดหุ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป ภูมิภาคเอเซีย และอาเซียน จึงได้รับผลพวงไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งมูลค่าการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยช่วง 3 วันทำการนี้ก็เป็นตัวสะท้อนได้ดี โดยวันที่ 27 ก.ค. ขายสุทธิ 4,184.9 ล้านบาท วันที่ 31 ก.ค. ขายสุทธิ 566.29 ล้านบาท และเมื่อวานนี้ขายสุทธิ 4,259.94 ล้านบาท รวม 3 วันขายสุทธิ 9,011.13 ล้านบาท
                 วานนี้ตลาดหุ้นไทย ปิดที่ระดับ 833.47 จุด ลดลงถึง 26.29 จุด หรือ 3.06% มีมูลค่าการซื้อขาย 25,939.13 ล้านบาท ขณะที่ดัชนีฮั่งเส็ง ของฮ่องกง ปิดที่ 22,455.36 จุด ลดลง 729.58 จุด หรือ 3.15% ดัชนีนิกเกอิ ญี่ปุ่น ปิดที่ 16,870.98 จุด ลดลง 377.91 จุด หรือ 2.2% ดัชนีคอมโพสิต เกาหลีใต้ ปิดที่ 1,856.45 จุด ลดลง 76.82 จุด หรือ 3.97% ดัชนีตลาดฯ จีน ปิดที่ 4,300.56 จุด ลดลง 163.42 จุด หรือ 3.8% ดัชนีเวทเต็ด ไต้หวัน 8,891.88 จุด ลดลง 395.37 จุด หรือ 4.26%


* ก้องเกียรติ เผยSETร่วงตามตลาดหุ้นทั่วโลก กังวลตลาดซับไพร์ม-การขึ้นดบ.ของญี่ปุ่น
                  นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด(มหาชน) (ASP) และนายกสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยกับ eFinanceThai.com ว่า เวลานี้นักลงทุนทั่วโลกตื่นตระหนกเกี่ยวกับปัญหาในตลาดสินเชื่อ (ซับไพร์ม) อีกครั้งหลังจากบริษัทอเมริกัน โฮม มอร์ทเกจ อินเวสท์เมนท์ คอร์ป แถลงว่าบริษัทอาจจำเป็นต้องขายทอดกิจการหลังประสบความเสียหายอย่างมากจากการปล่อยกู้จำนอง รวมทั้งกังวลการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ BOJ อาจส่งผลให้เงินทุนไหลกลับเข้าญี่ปุ่น ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยวันนี้ปรับตัวลดลงแรง ซึ่งเชื่อว่าการปรับตวลดลงของดัชนีตลาดหุ้นไทยจะเกิดขึ้นอีกซักระยะ แต่คาดว่าครั้งนี้เงินจะไหลออกจากตลาดหุ้นไทยไม่มาก เพราะที่ผ่านมาถือว่าเงินไหลเข้ามาเยอะมาก
                 'เวลานี้นักลงทุนต่างประเทศมีการปรับพอร์ตการลงทุน หุ้นที่ปรับตัวลดลงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะตลาดหุ้นไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก เหตุการณื้ถือว่าเป็นการปรับตัวตามปกติ เอาฟองสบู่ออกจากอเมริกา'นายก้องเกียรติกล่าว
                  ด้านแหล่งข่าวจากโบรกเกอร์รายหนึ่ง เปิดเผยว่า การที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงแรงในบ่ายนี้ เกิดจากความกังวลเรื่องตลาดซับไพร์ม เพราะมีประเด็นล่าสุดเรื่องบริษัทอเมริกัน โฮม มอร์ทเกจ อินเวสท์เมนท์ คอร์ป แถลงว่าบริษัทอาจจำเป็นต้องขายทอดกิจการหลังประสบความเสียหายอย่างมากจากการปล่อยกู้จำนอง (ซับไพร์ม) เนื่องจากบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่ปล่อยกู้ให้ลูกค้าชั้นดี จึงทำให้หวั่นว่าระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังจะเกิดฟองสบู่ ประกอบกับความกังวลเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) เพราะหากเกิดขึ้นอาจทำให้นักลงทุนกู้ยืมเงินจาก BOJ โยกเงินกลับไปคืนหนี้
                 'เวลานี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าเม็ดเงินจะไหลออกจากตลาดหุ้นมากแค่ไหน เพราะเรายังไม่ทราบว่านอกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้แล้วจะมีเหตุการณ์อื่นแทรกเข้ามาอีกหรือไม่ และเงินที่เข้ามาตลาดหุ้นไทยมันมีเยอะมากจนไม่ทราบว่ามาจากแหล่งไหนบ้าง จึงยังประเมินไม่ได้เช่นกันว่าหุ้นไทยจะลงไปอีกเท่าไหร่'แหล่งข่าวกล่าว
                 สำหรับกลยุทธ์การลงทุน แนะนำให้ขายทำกำไรออกไปก่อน รอจนกว่าสถานการณืภายนอกประเทศจะนิ่งจึงกลับเข้ามาซื้อ โดยให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีฯไว้ที่ 820-830 จุด


*ไซรัส ชี้ ตลาดยังปรับฐานต่อจนกว่าจะรู้ผลบีโอเจ ปรับดบ.หรือไม่
                นางสิริณัฏฐา เตชะศิริวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไซรัส กล่าวว่า ไซรัสจะยังไม่มีการปรับประมาณดัชนีฯ ใหม่ แม้ว่าขณะนี้หลายฝ่ายจะกังวลกรณีปัญหาตลาดซับไพร์มในสหรัฐฯ และการเกิด Carry Trade จะกระทบต่อดัชนีฯ และการซื้อขายในตลาดฯ โดยจะรอจนกว่าจะมีการประชุมบีโอเจในวันที่ 22-23 สิงหาคม ผ่านพ้นไปแล้ว เพราะฉะนั้นตอนนี้จะยังคงเป้าหมายดัชนีฯ ปีนี้ไว้ที่ 875 จุด ส่วนปีหน้าอยู่ที่ 960 จุด
               " ช่วงนี้ตลาดฯ จะยังคงมีแรงขายทำกำไร และดัชนีฯจะยังคงปรับฐานต่อไป จากความกังวลใน 2 ปัจจัยดังกล่าว โดยนักลงทุนต่างชาติจะชะลอการลงทุนไปก่อน จนกว่าจะรู้ผลการประชุมของบีโอเจในวันที่ 22 -23 เดือนนี้ หากไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเม็ดเงินก็น่าจะยังไม่ไหลออกจากตลาดฯ" นางสิริณัฏฐา กล่าว
                 ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนจึงควรแนะขายทำกำไรไปก่อน รอจนกว่าสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายและนิ่งกว่านี้


* บล.กรุงศรีฯ ชี้ Market Roundup and Trend ยังอยู่ในช่วงพักฐาน
                  ด้านวิเคราะห์หลักทรัพย์จาก บล.กรุงศรีอยุธยา ระบุว่า SET จะยังอยู่ในแนวโน้มการพักฐานต่อเนื่อง เนื่องจาก 1.ความกังวลต่อตลาดสินเชื่อในสหรัฐฯ และ 2.ธุรกรรม Unwinding YEN Carry Trade ล่าสุดค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 118 เยน/ดอลลาร์ฯ
                  อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น US$1.31/บาร์เรล จะเป็นแรงหนุนหุ้น กลุ่มพลังงานอย่าง PTT, PTTEP ไม่ให้ SET พักฐานลึกมากนักสำหรับตัวเลขเศรษฐกิจเดือน มิ.ย. ภาคการส่งออกยังคงขยายตัวได้ดีถึง 18.1% YoY มีผลทำให้ดุลการค้า และดุลบัญชีเดิน สะพัดเกินดุลถึง US$1,099 ล้าน และ US$1,200 ล้านตามลำดับ สำหรับการลงทุนเอกชนยัง คงหดตัวลงต่อเนื่อง -2.7% YoY ในขณะที่เริ่มเห็นการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน +0.7% YoY สำหรับตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ก.ค. ที่จะประกาศวันนี้คาดว่ายังอยู่ในระดับต่ำ 2.0 % เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น


* ชี้ หุ้นพักฐาน แต่หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนฯ -พาณิชย์-ขนส่ง แข็งแกร่ง
                 เนื่องจากมองว่า SET ยังคงอยู่ในช่วงการพักฐานต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายการพักฐานแรกอยู่ที่ 850 860 จุด (ถึงแล้ว แนะนำให้ซื้อคืน 50%) และเป้าหมายถัดไปที่ 820 830 จุด (อาจปรับลดลงไม่ถึงระดับนี้ก็ได้ ถ้าถึง ซื้อหุ้นคืนอีก 50%)....ทั้งนี้หุ้นที่มีแนวโน้มแข็งกว่าตลาดช่วงนี้ ได้แก่หุ้นในกลุ่ม Power, Media, Commerce, Electronic, Transportations
                 โดยมีหุ้นเด่นในกลุ่มได้แก่ EGCO, ROJANA, BEC, MAJOR, GRAMMY, SVI, CCET, BIGC (การบริโภคเอกชนที่ดีขึ้นจะเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้น Modern Trade), และ BECL


* ยังมองหุ้นไทยแข็งแกร่งสุด แม้เจอ Unwinding YEN Carry Trade
                 ค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นเร็ว คาดว่าจะมาจากการ Unwinding YEN Carry Trade ก่อน BoJ ปรับขึ้นดอกเบี้ยเดือนหน้า (Quoted on 27 ก.ค. 50) เรามองว่านอกจากธุรกิจอสังหาฯ ในสหรัฐฯ ที่กดดันตลาดวานนี้ การทำธุรกรรม Unwinding YEN Carry Trade ก็มีส่วนทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลงด้วยเช่นกัน ซึ่งสามารถดูได้จากค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นเดือน จาก 124 เยน/ดอลลาร์ฯ มาที่ระดับ 118 เยน/ดอลลาร์ฯ ในปัจจุบัน ซึ่งการทำ Unwinding YEN Carry Trade ครั้งที่แล้วเกิดขึ้นหลัง BoJ ปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่
เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่มีมุมมองไปในทางเดียวกันว่า BoJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแน่ๆ 0.25% ในการประชุมเดือน ส.ค. นี้ จึงเริ่ม Unwinding YEN Carry Trade ก่อนหน้าเลย ซึ่ง
การทำ Unwinding ครั้งก่อนมีผลทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกพักฐานเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ และปรับลดลง 2 10% โดย SET ถือว่าเป็นตลาดที่แข็งแกร่งที่สุดจากการ Unwinding YEN
Carry Trade ครั้งก่อน
                 ธปท ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2550 ขึ้นเป็น 4.0 5.0%ตามคาด (Quoted on 31 ก.ค. 50) ธปท. ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2550 สูงขึ้นเป็น 4.0 5.0% จากเดิมที่ 3.8 4.8% ตามที่เราได้คาดไว้ในรายงานเดือน ก.ค. (รายงานทิศหุ้น) โดยประเด็นที่ทำให้ ธปท. ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจคือ                  1.ภาคการส่งออกที่ดีกว่าที่คาดไว้เดิม จนมีผลทำให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเกินดุลมากกว่าที่คาดไว้เดิม โดยคาดว่าดุลการค้าจะเกินดุล US$5.5 7.5 พันล้าน และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล US$7.0 9.0 พันล้าน ในขณะที่ภาคการลงทุนคาดว่าจะขยายตัวลดลงจากประมาณการเดิม โดยคาดว่าจะขยายตัวเพียง 1.5 2.5%
                นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมากังวลเรื่องซับไพร์มอีกครั้ง ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลดลง โดยดัชนีดาวโจนส์ปิดลดลง 1.10% และดัชนี S&P 500 ปิดลดลง 1.26%ทั้งนี้เป็นผลจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาในตลาดสินเชื่อ (ซับไพร์ม) อีกครั้งหลังจากบริษัทอเมริกัน โฮม มอร์ทเกจ อินเวสท์เมนท์ คอร์ป แถลงว่าบริษัทอาจจำเป็นต้องขายทอดกิจการหลังประสบความเสียหายอย่างมากจากการปล่อยกู้จำนอง ซึ่งเป็นผลให้ราคาหุ้นของบริษัทลดลงกว่า 90%
                ราคาน้ำมันดิบ NYMEX ทำจุดสูงสุด ราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือน ก.ย.พุ่งขึ้น 1.38 เหรียญสหรัฐ มาปิดที่ 78.21 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็นผลจากการคาดการณ์ว่า
EIA อาจรายงานตัวเลขสต๊อกน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลง 700,000 บาร์เรล ขณะที่อัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 0.5% ทั้งนี้จะมีการรายงานตัวเลขดังกล่าวในวันนี้
เงินเยนแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ เงินเยนแข็งค่าขึ้นจาก 119.04 เยน/เหรียญสหรัฐ เป็น 118.48 เยน/เหรียญสหรัฐ ขณะที่ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะถดถอยในตลาดซับไพร์มเริ่มกลับมาอีกครั้ง รวมถึงกังวลว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้งภายในสิ้นปีนี้ และอีกครั้งภายในกลางปีหน้า
               ดัชนีค่าระวางเรือเทกองเพิ่มขึ้น 31 จุด ปิดที่ 6,967 จุด ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการปรับตัวเพิ่มขึ้นของค่าระวางเรือในขณะนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการเรือขนาดกลาง-เล็ก จาก US Gulf อเมริกาใต้ และอัฟริกาฝั่งตะวันตก เพื่อขนส่งสินค้าประเภทซีเมนต์สำหรับการก่อสร้าง รวมทั้งสินค้าแห้งเทกองอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีการคาดการณ์กันว่า ความต้องการถ่านหินเพื่อผลิตพลังงงานไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้น (ซึ่งหมายถึงระวางเรือเทกองจะมีความต้องการมากขึ้น) จากสาเหตุที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น ต้องหยุดดำ เนินการชั่วคราวหลังเหตุแผ่นดินไหวเมื่อ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา


* ฟินันซ่า พบ 5 โบรกฯฝรั่ง กระหน่ำขายกดหุ้นรูดหนัก
                บล.ฟินันซ่า ออกบทวิเคราะห์ระบุว่า ดัชนีช่วงเช้าวานนี้ ปรับตัวลดลงไปทำจุดต่ำสุดของวันที่ 839.71 (-2.33%) โดยแรงขายหลักจาก ENERG และ BANK ขณะที่แทบทุกกลุ่มปรับตัวลดลงกันทั่วหน้า 2-3%
                 ทั้งนี้แรงขายในกลุ่ม ENERG (-2.62%) เกิดขึ้นหลังจาก Asia GRM ปรับตัวลงต่ำกว่า 7 USD/BBL อย่างไรก็ดีเราเห็นว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเหนือ 77 USD/BBL จะเป็นตัวสนับสนุนราคาหุ้นกลุ่มนี้อยู่ และเราคาดว่าราคาน้ำมันยังคงได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในญี่ปุ่น และจีนที่เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นการที่ราคาหุ้นปรับตัวลงมา
ยังเป็นจังหวะซื้อ PTTขณะที่หุ้นกลุ่มอื่นๆ นำโดย BANK (-2.92%) ปรับตัวลงหนักจาก
                1) แรงขายทำกำไรหลังจากค่าเงิน JPY แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 117.62 JPY/USD หรือแข็งค่าขึ้น 2.3% จากพุธที่แล้วกดดันการลงทุนทั่วภูมิภาคที่ใช้เงินทุนจาก JPY Carry Trade จึงส่งผลให้ตลาดปรับตัวลงราว 3-4% จะเห็นว่าไทยมี Outperform ที่สุดเอเชีย โดยที่แรงขายลดลงเหลือ 1.25 หมื่นล้านบาท
                2) ปัญหาสินเชื่อที่ด้อยคุณภาพของ DJIA ที่ส่งผลทางจิตวิทยามายังเอเชีย
                3) ผลประกอบการแทบทุกกลุ่มก็ประกาศออกมาเกือบหมดแล้วจึงขาดปัจจัยบวกในระยะสั้น
                4) ความผันผวนของค่าเงินบาทที่หนักไปทางอ่อนค่ากระตุ้นแรงขายอีกทาง
                ทั้งนี้พบว่า Foreign Fund Flows ครึ่งเช้ารวบรวมจาก บล.ต่างชาติ 5 แห่ง ในเบื้องต้นขายสุทธิ 2.8 พันล้านบาท
                อย่างไรก็ตาม คาดว่าดัชนีจะรีบาวน์ในช่วงบ่ายโดยมองจุดต่ำสุดของเมื่อวานนี้ ในกรณีที่เลวร้ายไว้ที่ 837 จุด แต่มีความเชื่อว่าดัชนีจะสามารถกลับขึ้นมายืนเหนือเหนือ 843 จุดได้อีกครั้งในช่วงปลายตลาด
                กลยุทธ์การลงทุน หากดัชนีฯ ลงมา 837-840 จุด สะสม PTT, ADVANC ส่วน S-M Cap แนะนำ STA และ IRP


* เคจีไอ ระบุ ตลาดฯ ยังรับปัจจัยถ่วงจากจิตวิทยาของนลท.ต่างชาติที่ยังไม่ดี
                บทวิเคราะห์หลักทรัพย์จาก บล.เคจีไอ ระบุว่า SET จะแกว่งตัวกรอบแคบตามการชะลอตัวช่วงสั้นของทุนต่างชาติ ในระยะสั้นๆ ตลาดยังรับปัจจัยถ่วงจากจิตวิทยาของนักลงทุนต่างประเทศที่ไม่ดีนัก จากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสภาพคล่องในตลาดบ้านเครดิตต่ำของสหรัฐฯ ที่ปะทุขึ้นอีกครั้ง และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีดาวโจนส์เมื่อคืนพลิกจากเปิดบวกไปเกือบ 100 จุด มาปิดลบเกือบ 150 จุด หลังมีบริษัทปล่อยกู้อสังหาริมทรัพย์ประสบปัญหาเพิ่มอีกรายหนึ่ง คือ American Home Mortgage Investment Corp
                อย่างไรก็ตามความเสี่ยงขาลง (Downside) ของดัชนี SET จะจำกัด เนื่องจากหุ้นไทยด้อยกว่าตลาดเพื่อนบ้านไปแล้วเมื่อวานนี้ เราจึงไม่คิดว่าวันนี้จะมีแรงเทขายหุ้นออกมามากนัก อีกทั้งจะได้แรงพยุงจากหุ้นพลังงานที่น่าจะมีแรงซื้อกลับหลังราคาน้ำมันพุ่งเกือบ 2% มายืนเหนือ 78 เหรียญฯ/บาร์เรลล์ ซึ่งเป็นจุดสูงสุดตลอดกาลครั้งใหม่
กลยุทธ์: เชื่อว่าปัจจัยถ่วงจากภายนอกจะกดดันตลาดเพียงระยะสั้นเท่านั้น แนวโน้มระยะยาวยังดูดีตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ นักลงทุนควรเน้นสะสมต่อในหุ้นขนาดใหญ่อย่าง SCB, KBANK, BBL, LH, PS, QH, BEC และ STANLY


*MFC มองหุ้นไทยรูดหนัก เพราะตปท.ขายทำกำไร เชื่อปีนี้ยังมีโอกาสเกิน 900 จุด
                ดร.พิชิต อัคราทิตย์ กรรมการจัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด(มหาชน) (MFC) กล่าวว่า การที่ระยะนี้ตลาดหุ้นไทยปรับลดลง โดยมีแรงขายมาจากนักลงทุนต่างชาตินั้น ประเมินว่าเป็นเพียงแค่การเทขายทำกำไรตามปกติ เพราะที่ผ่านมามีการปรับขึ้นต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว ส่วนปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างประเทศขายทำกำไรคือ ข่าวเรื่องฟองสบู่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ แตก ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ก็เป็นน้ำหนักให้เกิดการตัดสินใจในการลงทุนในระยะนี้ได้
                "จริงๆ อสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ ก็มีข่าวว่าเกิดฟองสบู่มานานแล้ว การเทขายทำกำไรน่าจะใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างมากกว่า และยังเชื่อว่าต่อไปค่า P/E ตลาดหุ้นไทยจะใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหมายความว่าตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสปรับขึ้นได้ในอีกไม่นานนัก" ดร.พิชิต กล่าว
                 เขากล่าวว่า ในระยะกลางตลาดหุ้นไทยยังมีแนวโน้มที่ดี เพราะยังมีประเด็นให้ลงทุนในเรื่องของการเลือกตั้งซึ่งขณะนี้มีความชัดเจนแล้ว
                 "มองระยะกลางตลาดหุ้นไทยถือว่าดี การขึ้นและลงของดัชนีช่วงนี้ทำให้ฐานของดัชนีจะมีความแข็งแรงมากขึ้น ซึ่งคนส่วนใหญ่มองกันว่าในปีนี้มีโอกาสเกิน 900 จุด และสิ้นปีหน้าน่าจะเกิน 1,000 จุด ซึ่งก็คิดว่ามีความเป็นไปได้" ดร.พิชิต กล่าว
                 ดร.พิชิต ยังกล่าวถึง การที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ เกิดภาวะที่เรียกว่าฟองสบู่แตกนั้น จะไม่กระทบในวงกว้างเพราะมั่นใจถึงประสิทธิภาพการบริหารเศรษฐกิจของภาครัฐบาลสหรัฐฯ ว่าจะสามารถควบคุมผลกระทบได้ในที่สุด แต่ในทางกลับกันถ้าหากไม่สามารถควบคุมได้ก็ย่อมจะมีปัญหากระทบกับเศรษฐกิจทั่วโลกซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
                  "มีโอกาสที่ฟองสบู่อสังหาฯ จะกระทบมาถึงประเทศไทย แต่คิดว่ามีโอกาสน้อยมาก เพราะเชื่อในศักยภาพการบริหารเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลสหรัฐฯ แต่ผลกระทบในระยะนี้จะเป็นเรื่องของความผันผวนของดัชนีดาวโจนส์ที่จะมีมากขึ้น เพราะเมื่อก่อนดัชนีจะปรับขึ้นหรือลงเฉลี่ยแค่ 1% เท่านั้น แต่ระยะหลังนี้วิ่งขึ้นหรือลงประมาณ 2% เพราะกระแสเม็ดเงินทั่วโลกมีสภาพคล่องมากเกินไป" ดร.พิชิต กล่าว


* ผู้ว่าธปท. แนะติดตามดบ.-ค่าเงิน ญี่ปุ่น-จีนใกล้ชิด
                นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึง แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกกับปัจจัยเสี่ยงข้างหน้าที่จะมีผลกระทบต่อค่าเงินบาทว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ไทยยังต้องเผชิญคือ ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกซึ่งเกิดจากการที่สหรัฐฯ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 5.7% ของจีดีพีในไตรมาสแรก จะสร้างแรงกดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่า ซึ่งหมายความว่าจะมีเงินไหลเข้าภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง
                 นอกจากนี้ ในเรื่องของ Carry Trade หรือการที่นักลงทุนกู้ยืมเงินในประเทศที่มีดอกเบี้ยต่ำมาก เช่น ญี่ปุ่น และนำเงินไปลงทุนในประเทศที่ให้ดอกเบี้ยสูง เช่น นิวซีแลนด์ ซึ่งเมื่อถึงจังหวะหนึ่งที่แครี่เทรดกลับด้าน อาจจะส่งผลให้เงินที่นักลงทุนกู้จากญี่ปุ่นและมากระจายการลงทุนในประเทศภูมิภาคเอเชียจะไหลกลับออกไปอย่างรุนแรง หากญี่ปุ่นปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือที่เรียกว่าแครี่เทรดกลับด้าน ขณะเดียวกันประเทศจีนก็ยังถูกกดดันจากนานาประเทศให้ปรับขึ้นค่าเงินหยวนคือปล่อยให้แข็งค่าเร็วกว่านี้ ซึ่งหากจีนยอมให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นก็จะช่วยลดความกังวลของไทยว่า สินค้าที่ส่งออกจะสามารถแข่งขันกับจีนได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด สำหรับอัตราดอกเบี้ยและค่าเงินของประเทศญี่ปุ่นและจีน
adi
Verified User
โพสต์: 1155
ผู้ติดตาม: 0

วิกฤติซับไพร์ม-Carry Trade ขย้ำหุ้นไทยดิ่งยาว

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ตกลง interest rate parity มีจริงรึเปล่าครับ
A Cynic Knows the Price of Everything and the Value of Nothing
-Oscar Wilde, Lady Windemeres Fan
โพสต์โพสต์