หน้า 1 จากทั้งหมด 1

ปี 50 รัฐปรับโครงสร้างหนี้ 2 แสนล. เร่งคืนเงินตปท. - รีไฟแนน

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ต.ค. 18, 2007 9:02 am
โดย path2544
คลังเผยผลการบริหารหนี้ปีงบประมาณ 50 มีการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งในและต่างประเทศกว่า 2 แสนล้านบาท โดยในส่วนของหนี้ต่างประเทศได้เร่งคืนหนี้ก่อนกำหนดทำให้ลดยอดหนี้คงค้างได้ 28,890 ล้านบาท ทำให้ลดภาระดอกเบี้ยรวม 2,702 ล้านบาท ขณะที่การปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐวิสาหกิจช่วยลดภาระดอกเบี้ยได้ 348 ล้านบาท ด้านยอดหนี้สาธารณะสิ้นเดือนสิงหาคมมีจำนวน 3,181,180 ล้านบาท คิดเป็น 37.88%ของจีดีพี
     
      นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)เปิดเผยถึงผลการดำเนินการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐประจำเดือนกันยายน 2550 และปีงบประมาณ 2550 ว่า ในเดือนกันยายนได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ภาครัฐในส่วนของหนี้ต่างประเทศ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้จากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) วงเงิน 10,730 ล้านเยน โดยการออกพันธบัตรเงินบาท 3,200 ล้านบาท ซึ่งทำให้สามารถลดภาระดอกเบี้ยได้ 349 ล้านบาท
     
      ส่วนหนี้ในประเทศกระทรวงการคลังได้ปรับโครงสร้างหนี้โดยการแปลงตั๋วเงินคลังเป็นพันธบัตรวงเงิน 9,370 ล้านบาท การแปลงตั๋วเงินคลังเป็นพันธบัตรระยะยาวนี้ นอกจากช่วยลดความไม่สอดคล้องกัน (Mismatch) ระหว่างการกู้เงินระยะสั้น (Short-term Borrowing) และการกู้เงินระยะยาว (Long-term Financing) เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณแล้ว ยังเป็นความพยายามของภาครัฐอย่างต่อเนื่องในการสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Benchmark Bond Yield Curve) ตามแผนพัฒนาตลาดตราสารหนี้ฉบับที่ 2 ด้วย
     
      นอกจากนี้ ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรเพื่อชดใช้ความเสียหายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF1) จำนวน 2,540 ล้านบาท และดำเนินการไถ่ถอนพันบัตรช่วยเพิ่มเงินกองทุนชั้นที่ 1 และ 2 ก่อนครบกำหนด 26 ล้านบาท ผลจากการดำเนินการดังกล่าว ทำให้สามารถลดยอดหนี้สาธารณะได้ 26 ล้านบาท และประหยัดภาระดอกเบี้ยจ่ายจนครบอายุพันธบัตรได้ 3 ล้านบาท สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้รัฐวิสาหกิจนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยและการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ทำการ Roll Over หนี้เดิม รวม 3,227 ล้านบาท
     
      ส่วนปีงบประมาณ 2550 มีการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งสิ้น 236,974 ล้านบาท โดยหนี้ต่างประเทศกระทรวงการคลังได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ต่างประเทศโดยการชำระคืนก่อนครบกำหนด 28,890 ล้านบาท และ Refinance เงินกู้ต่างประเทศด้วยเงินบาท 17,200 ล้านบาท รวมยอดหนี้ประโครงสร้าง 46,090 ล้านบาท ผลจากการดำเนินการดังกล่าว ทำให้สามารถลดยอดหนี้คงค้างได้รวม 28,890 ล้านบาท และลดภาระดอกเบี้ยได้รวม 2,702 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้บริหารความเสี่ยงหนี้เงินกู้ Floating Rate Notes (FRNs) และหนี้เงินกู้ Samurai Bond โดยการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าวงเงิน 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 48,000 ล้านเยน ตามลำดับ สำหรับในส่วนของรัฐวิสาหกิจได้มีการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ต่างประเทศ วงเงินรวม 18,120 ล้านบาท ทำให้สามารถลดภาระดอกเบี้ยได้ 349 ล้านบาท
     
      สำหรับหนี้ในประเทศกระทรวงการคลังได้ปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศโดยการแปลงตั๋วเงินคลังที่ออกเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 102,370 ล้านบาท เป็นพันธบัตรระยะยาว และดำเนินการออกพันธบัตรและตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้กองทุนฟื้นฟูในส่วนของ FIDF1 วงเงิน 47,540 ล้านบาท รวมทั้งไถ่ถอนพันธบัตรช่วยเพิ่มเงินกองทุนชั้นที่ 1 และ 2 ก่อนครบกำหนด 26 ล้านบาทรวมยอดปรับโครงสร้างหนี้ของภาครัฐ 149,936 ล้านบาท ส่วนรัฐวิสาหกิจได้มีการ Roll over หนี้เดิมรวม 22,828 ล้านบาท
     
      ด้านการกู้เงินของภาครัฐในเดือนกันยายน 2550 กระทรวงการคลังได้กู้เงินในประเทศโดยการออกพันธบัตรออมทรัพย์อายุ 3 ปี วงเงิน 500 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนร้อยละ 3.75 ต่อปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชดใช้ความเสียหายให้กองทุนฟื้นฟูในส่วนของ FIDF3 ขณะที่รัฐวิสาหกิจ ได้มีการกู้เงินในประเทศรวม 33,134 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการกู้เงินบาทสมทบ 3,100 ล้านบาท กู้ทดแทนเงินกู้ต่างประเทศ 900 ล้านบาท กู้เพื่อลงทุน 23,234 ล้านบาท และกู้เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน 5,900 ล้านบาท ตามลำดับ
     
      ส่วนปีงบประมาณ 2550 ภาครัฐได้กู้เงินในประเทศรวม 238,868 ล้านบาท โดยเป็นการกู้ของกระทรวงการคลัง 163,660 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ 75,208 ล้านบาท นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจได้กู้เงินจากต่างประเทศ 31,803 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้นอกแผนการก่อหนี้ต่างประเทศ
     
      สำหรับการชำระหนี้ของภาครัฐเดือนกันยายน 2550 กระทรวงการคลังได้ดำเนินการชำระหนี้จากงบประมาณ 10,571 ล้านบาท เป็นการชำระคืนเงินต้น 328 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรวม 7,829 ล้านบาท และการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า 2,414 ล้านบาท โดยปีงบประมาณ 2550 กระทรวงการคลังได้ชำระคืนต้นเงินกู้ ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าจากงบประมาณรวม 157,243 ล้านบาท
     
      รายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2550
     
      ส่วนยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2550 มีจำนวน 3,181,180 ล้านบาท หรือร้อยละ 37.88 ของ GDP เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2,050,590 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 907,220.73 ล้านบาท หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 187,776 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 35,593 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 14,283 ล้านบาท โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้น 15,533 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น 6,368 ล้านบาท และหนี้กองทุนฟื้นฟู และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐลดลง 2,773 ล้านบาท และ 4,844 ล้านบาท ตามลำดับ
     
      โดยการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านั้น ที่สำคัญเนื่องจากกระทรวงการคลังได้ดำเนินการออกพันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 28,000 ล้านบาท และชำระคืนเงินกู้ระยะสั้น 12,036 ล้านบาท สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นเนื่องจากการกู้เงินโดยการออกพันธบัตรของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 1,500 ล้านบาท การเบิกจ่ายเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น 260 ล้านบาท และผลจากอัตราแลกเปลี่ยนทำให้ยอดหนี้สาธารณะคงค้างในรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 167.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเทียบเท่า 5,738 ล้านบาท

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 18 ตุลาคม 2550 07:25 น.
http://www.manager.co.th/StockMarket/Vi ... 0000123331