เจเทปป้านิติกรรมอำพราง [ ฉบับที่ 853 ประจำวันที่ 12-12-2007 ถึง 14-12-2007]
> หมกเม็ดดัดหลังเกษตรกร
นายกสมาคมผลไม้โอด เจเทปป้า หมก เม็ดฆ่าชาวสวนไทย ตั้งเงื่อนไข มหาโหดยากที่จะทำได้ไม่คุ้มค่า กับการลงทุนเหตุผลหลักเพราะ ญี่ปุ่นต้องการบล็อกตลาดให้ฟิลิปปินส์ แถมเปิดช่องโควตาส่งออกให้กลุ่มบริษัทยุ่นที่เข้ามาตั้งรกรากในไทย
เมืองไทยก่อน ด้านผอ.สถาบันอาหารจี้ผู้ประกอบการเร่งปรับตัวชิงความได้เปรียบ ตีกันก่อนประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเอเชียร่วมแชร์ตลาด ยอมรับถ้าไทยไม่เซ็นเอฟทีเอกับญี่ปุ่นจะยิ่งเสียเปรียบ ขณะที่อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศยังฝันค้างสุดท้ายผลประโยชน์จะตกกับเกษตรกรไทย
นายไพบูลย์ วงศ์โชติสถิต นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย เปิดเผย สยามธุรกิจ ว่าความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น (JAPAN-THAILAND ECONOMIC PARTNERSHIP AGREEMENT : JTEPA) เพิ่มมูลค่าทางการค้าด้วยการลดภาษีระหว่างกัน หรือ เจเทปป้า นั้นในทางปฏิบัติถือว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะในกลุ่มผลไม้ ซึ่งเป็นสินค้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นเสนอลดภาษีให้ทันทีหรือทยอยลดกระทั่งเป็นศูนย์ภายในระยะเวลา 5 ปี แต่กลับพบว่ามีเงื่อนไขที่ซ่อนเร้นหมกเม็ดจนไม่สามารถส่งไปจำหน่ายได้
ยกตัวอย่างเช่นสับปะรด ข้อตกลงคือส่งออกไปได้แต่ให้โควตานิดเดียว และมีเงื่อนไขว่าสับปะรดแต่ละลูกต้องมีขั้วติดและชั่งน้ำหนักไม่เกิน 900 กรัม ซึ่งสับปะรดเมืองไทยมีน้ำหนักอย่างต่ำคือ 1.2 กิโลกรัม เพราะฉะนั้นต่อให้ลดภาษีเหลือ 0 % ก็ส่งไปขายไม่ได้ และเท่าที่สืบทราบมาการที่เขากำหนดเช่นนั้นเพราะต้องการบล็อกตลาดผลไม้ประเภทนี้ให้กับประเทศฟิลิปปินส์ รวมถึงกล้วยหอมซึ่งเพิ่มโควตาจากเดิม 400 ตันเป็น 500 ตัน เพิ่มแค่ 100 ตัน ในขณะที่ฟิลิปปินส์ส่งออกไปขายได้มากถึง 2 แสนตันต่อปี แต่ให้โควตาไทยแค่ 500 ตันถามว่าคุ้มหรือเปล่ากับการที่จะต้องเสียเวลาพัฒนาสายพันธุ์ พัฒนาดิน พัฒนาแวร์เฮ้าส์ ผิดกับการส่งออกไปขายที่ประเทศจีนหรือฮ่องกงซึ่งมีปริมาณมากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ ขนาดบริษัทของผมรายเดียวยังส่งไปขายใน 2 ประเทศดังกล่าวสัปดาห์ละ 70 ตัน ปีหนึ่ง 3.5 พันตัน มากกว่าทุกบริษัทรวมกันส่งไปขายที่ญี่ปุ่นเสียอีก นายไพบูลย์ กล่าว
นายไพบูลย์ยังกล่าวอีกว่านอกจากจะให้โควตาน้อยแล้ว ในเงื่อนไขยังมีการกำหนดอีกว่า 90 % ของโควตาที่ให้จะให้สิทธิกับบริษัทเก่าที่เคยได้โควตาอยู่แล้ว อีก 10 % เป็นของรายใหม่ ซึ่งบริษัทรายเก่านั้นส่วนใหญ่เป็นของชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งบริษัทอยู่ในเมืองไทย ซึ่งสามารถไปกดราคาในการรับซื้อจากชาวสวนในราคาถูกได้ ในขณะที่บริษัทใหม่ที่ได้ส่วนแบ่ง 10 % นั้นก็ต้องเจอกับระบบตรวจสอบการนำเข้าที่เข้มข้นจนไม่คุ้มค่ากับการเสี่ยง จำเป็นต้องขายผ่านให้กับบริษัทญี่ปุ่นเพื่อนำไปส่งออกแทน หรือไม่ก็หาตลาดอื่นที่ผ่อนคลายกว่าส่งออกไปแทน
การเซ็นเอฟทีเอดังกล่าวถือว่าไทยไม่ได้รับความจริงใจจากญี่ปุ่น ใครก็ตามที่จะส่งออกต้องมีชาวญี่ปุ่นมาตวจสอบก่อนว่าดีหรือไม่ดี ทั้งที่ความเป็นจริงเมื่อเปิดเสรีแล้วเราควรส่งไปขายได้อย่างเสรีโดยไม่มีเงื่อนไขซ่อนเร้น ผมจึงคิดว่าการเซ็นสัญญาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเราต้องการเอาเกษตรไปแลกเปลี่ยนกับอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่า อย่างมะม่วงน้ำดอกไม้กว่าจะส่งออกได้ก็ต้องผ่านการอบไอน้ำ ผ่านการตรวจสาร และรายละเอียดอื่นๆอีกจิปาถะ ทำให้ส่งไปขายได้น้อนยมาก ชาวสวนไม่อยากเสี่ยง เพราะไม่คุ้ม จึงพยายามหาตลาดอื่นส่งไปขายแทน เช่นส่งไปขายที่ประเทศไต้หวันเป็นต้น ผมเคยทำหนังสือไปยังคณะกรรมาธิการที่รับผิดชอบก็เงียบหาย อาจเป็นเพราะรัฐบาลอยู่ในช่วงสุญญากาศเลยไม่มีใครมาดูแลเรื่องเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอันใกล้ผมยังหวังให้มีการเจรจาปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเหล่านี้ เพื่อให้การส่งออกไปญี่ปุ่นเป็นไปอย่างเสรีจริงๆ แต่ถ้าไม่มีการเจรจาเปลี่ยนแปลงก็เท่ากับว่าเราจะตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบและปล่อยให้ญี่ปุ่นเข้ามาควบคุมสถานการณ์เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเจเทปป้าเท่านั้นที่เราเสียเปรียบ เอฟทีเอกับหลายประเทศก็มีสภาพไม่ต่างกัน
นายไพบูลย์ยังกล่าวถึงผลไม้ 6 ชนิด อาทิ มะม่วง ทุเรียน ที่ได้รับไฟเขียวให้นำเข้าไปจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกาว่าไม่ได้ช่วยเพิ่มมูลค่าหรือส่วนแบ่งทางการตลาดแต่อย่างใด เพราะระยะทางค่อนข้างไกล ถ้านำส่งทางเรือกว่าจะไปถึงผลไม้ก็เน่าเสียก่อนวางจำหน่าย ในขณะที่การขนส่งทางอากาศแม้จะควบคุมเวลาได้แต่ค่าขนส่งแพง เมื่อขายในราคาแพงก็สู้ผลไม้ที่ส่งจากประเทศใกล้ ๆ อย่างเม็กซิโกไม่ได้ ในขณะที่ผลไม้จากสหรัฐฯเช่นแอปเปิลเป็นผลไม้เมืองหนาว เก็บได้นาน 2 - 3 เดือน จึงสามารถขนส่งทางเรือมาขายในเมืองไทยได้อย่างสบายๆ
นายไพบูลย์ยังกล่าวถึงสถานการณ์การส่งออกที่รัฐบาลโชว์ตัวเลขสวยหรูโตเกินเป้าหมายว่า ไม่ทราบว่าการส่งออกโดยรวมเป็นอย่างไร แต่ในกลุ่มผลไม้ไม่โตกว่าเดิม เพราะปัญหาธรรมชาติในปีที่ผ่านมาทำให้ผลผลิตเสียหายจำนวนมาก
ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JAPAN-THAILAND ECONOMIC PARTNERSHIP AGREEMENT : JTEPA) ซึ่งได้มีการลงนามไปเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา มีเนื้อหาครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งด้านการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี ซึ่งในส่วนของความตกลงเขตการค้าเสรีนั้นถ้ามองในเรื่องของภาษีไทยจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เนื่องจากเดิมอัตราภาษีนำเข้าของไทยสูงกว่าญี่ปุ่น แต่เมื่อมีการเปิดเสรีรัฐบาลของทั้งสองฝ่ายต้องยกเลิกหรือลดภาษีให้แก่กัน
อย่างไรก็ตาม ไทยจะได้ประโยชน์จากความร่วมมืออื่นๆ ที่เพิ่มเข้ามา ในส่วนของความตกลงเขตการค้าเสรีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตรอาหารนั้นสินค้าที่ฝ่ายไทยคาดว่าจะได้รับประโยชน์ คือ กลุ่มประมง โดยเฉพาะกุ้ง และกลุ่มผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อนสด แช่เย็น แช่แข็ง เช่น ทุเรียน มะละกอ มะม่วง มังคุด มะพร้าว รวมทั้งน้ำผลไม้ เนื่องจากสินค้าในกลุ่มนี้เป็นสินค้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นลดภาษีให้ทันทีหรือทยอยลดกระทั่งเป็นศูนย์ภายใน 5 ปี นอกจากนี้ยังมีไก่ปรุงสุกซึ่งแม้จะไม่มีการยกเลิกภาษีแต่ญี่ปุ่นได้เปิดให้ลดภาษีจากร้อยละ 6 เป็นร้อยละ 3 ภายใน 5 ปี และกล้วยสด สับปะรดผลสด เนื้อหมูและแฮมแปรรูปที่ญี่ปุ่นได้จัดสรรให้ในรูปของโควตาภาษีสินค้าเกษตร ส่วนผู้ประกอบการในกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเกษตรกร ซึ่งคาดว่าจะเป็นเกษตรกรผู้ปลูกแตงโมและแตงชนิดอื่นๆ ซึ่งไทยทยอยลดภาษีจาก 40% เป็น 0% ภายใน 2 ปี มันฝรั่งสด ทยอยลดจาก 35% เป็น 0% ภายใน 8 ปี หอมแดงและกระเทียมสด ที่ไทยยกเลิกภาษีในโควตาภายใต้ WTO ในทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้
ขณะเดียวกันในส่วนของความร่วมมืออื่นๆ ที่เพิ่มเข้ามาที่สำคัญ คือ การส่งเสริมการค้าและการลงทุน ประกอบด้วยโครงการความร่วมมือ 7 โครงการ โดยโครงการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร คือ โครงการส่งเสริมการค้าและการลงทุนครัวไทยสู่ครัวโลก ที่จะเป็นโอกาสสำหรับการพัฒนาช่องทางใหม่ๆ ทางการตลาดสำหรับอาหารไทย ซึ่งทางสถาบันอาหารได้ร่วมมือกับองค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO Bangkok) และกรมส่งเสริมการส่งออก เพื่อเตรียมการใช้ประโยชน์จากความร่วมมือสนับสนุนโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก โดยโครงการที่เกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์จะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมส่งเสริมการส่งออก ในขณะที่สถาบันอาหารรับผิดชอบในส่วนของโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการตรวจ Positive Lists ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก JETRO
ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นประเทศคู่ค้าหลักของประเทศไทย มูลค่าการค้าระหว่างกันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีประมาณ 1.5 ล้านล้านบาทต่อปี ในหมวดสินค้าเกษตร อาหาร มูลค่าการค้าระหว่างกันเฉลี่ยในช่วงปี 2545-2549 มีประมาณ 95,000 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่น มีแนวโน้มชะลอตัวลง มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรอาหารของไทยไปญี่ปุ่นในปี 2549 มีประมาณ 92,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงร้อยละ 4.16 จาก 96,000 ล้านบาทในปี 2545 ในขณะที่มูลค่านำเข้ามีประมาณ 6,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.82 จาก 4,500 ล้านบาท ในปี 2545 สินค้าส่งออกหลักของไทย ได้แก่ ไก่ กุ้ง มันสำปะหลัง ข้าว อาหารทะเล และน้ำตาลทราย ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่นที่สำคัญ คือ ปลาทะเล ประเภท ปลาสคิปแจ็ก ปลาแอลบาคอร์ ปลาแมคเคอเรล
ขณะนี้ญี่ปุ่นกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจาเซ็นเอฟทีเอกับเวียดนามที่เน้นเปิดตลาดผลไม้แปรรูป น้ำผลไม้ เครื่องเทศและเครื่องปรุงรส และอินโดนีเซียที่เน้นเปิดตลาดสินค้าประมงและอาหารสัตว์ ซึ่งการเจรจาระหว่างญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียนั้นเน้นเปิดตลาดในสินค้าที่ไม่แตกต่างจากสินค้าไทย แต่หากมองในมุมกลับแม้ไทยจะไม่ได้ประโยชน์มากนักจากการเปิดเสรีการค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่น แต่ผู้ประกอบการไทยจะสูญเสียมากกว่าหากไทยไม่ลงนามในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น เพราะผู้ประกอบการไทยอาจสูญเสียความได้เปรียบในด้านการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง คาดว่าอุตสาหกรรมเกษตรอาหารของไทยจะมีโอกาสชิงความได้เปรียบจากการได้รับสิทธิพิเศษในการยกเลิกและการลดภาษี เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดญี่ปุ่นเพียงระยะสั้นๆ เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าไม่เกินหนึ่งปีนับจากนี้ไปประเทศคู่แข่งของไทยอย่างเวียดนาม จะสามารถบรรลุข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับญี่ปุ่นได้เช่นกัน นายยุทธศักดิ์ กล่าว
ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตรอาหารของไทยควรเร่งเจาะตลาดญี่ปุ่นให้ได้ก่อนที่เวียดนามจะเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีกับญี่ปุ่นได้สำเร็จ โดยผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมด้วยการศึกษาข้อมูลก่อนการส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่น เตรียมข้อมูลด้านแหล่งกำเนิดสินค้าให้พร้อมเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในขั้นตอนการขอใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า รวมทั้งต้องเตรียมขอหนังสือรับรองการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษี จึงจะสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นได้ สำหรับการแข่งขันในระยะยาวนั้นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกษตรอาหารของไทยต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับกับการแข่งขันที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้ามคือ ต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และต้องเน้นในเรื่องของคุณภาพสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญมาก รวมถึงเรื่องการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ ความต่อเนื่องและความสม่ำเสมอของสินค้าที่จะต้องผลิตให้สามารถส่งออกได้ตลอดเวล
ขณะที่นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้กำหนดให้การทำเขตการค้าเสรีเอฟทีเอกับประเทศต่าง ๆ เป็นนโยบายเชิงรุกที่จะใช้เป็นประตูการค้าไปสู่ประเทศต่าง ๆ รักษาตลาดดั้งเดิมและขยายการค้ากับประเทศคู่ค้าใหม่ที่มีศักยภาพ ซึ่งไทยได้ทำความตกลงเอฟทีเอที่มีผลบังคับใช้แล้วหลายประเทศ เช่น อาเซียน-จีน ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-นิวซีแลนด์ และ เจเทปป้า จึงเป็นอีกความตกลงหนึ่งที่ประเทศไทยทำกับประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างพันธมิตรทางการค้า และเพิ่มโอกาสในการขยายการลงทุนไปยังประเทศญี่ปุ่นและภูมิภาคใกล้เคียง
ไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางการทูตมาเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย และเป็นชาติที่ลงทุนในประเทศไทยเป็นอันดับ 1 เป็นประเทศที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารมากกว่าร้อยละ 60 ของความต้องการบริโภค ดังนั้นการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับญี่ปุ่น จึงน่าจะเป็นการขยายโอกาสให้แก่เกษตรกรไทยโดยตรง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าว
http://www.siamturakij.com/home/news/di ... ws_id=9633