หน้า 1 จากทั้งหมด 1
หุ้นตกต้องดีใจได้ซื้อเพิ่ม พื้นฐานหุ้นยังไม่เปลี่ยน
โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ม.ค. 06, 2008 12:19 pm
โดย petercorp
หุ้นตกต้องดีใจได้ซื้อเพิ่ม พื้นฐานหุ้นยังไม่เปลี่ยน
ซื้อสะสม รับปันผล ยังไงหุ้นตัวนั้นต้องแสดงมูลค่าที่แท้จริงออกมาอยู่แล้ว
ให้เอาตัวอย่างวาร์เรน บัฟเฟตต์
อย่าตาม market maker
หุ้นตกต้องดีใจได้ซื้อเพิ่ม พื้นฐานหุ้นยังไม่เปลี่ยน
โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ม.ค. 06, 2008 12:22 pm
โดย petercorp
# เล่นหุ้นสไตล์ "พญาอินทรี"
"เฮียประธาน" เขาเป็นเจ้าของคอร์ตแบดมินตัน อยู่แถวถนนบางรัก ฉายาเขา คือ "พญาอินทรี" ถ้าวันไหนที่พวกเรา "เละ" หรือ "เจ๊ง" กันหมด เขาจะบินมาเลย..เขาจะมาซื้อหุ้น"
การเล่นหุ้นให้ประสบความสำเร็จ "นิสัย" และ "พฤติกรรม" ของคนเล่นหุ้น ถือว่ามีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน
"เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ นำประสบการณ์ที่พบมาจริงในตลาดหุ้น ในช่วง 20 ปี มาถ่ายทอดให้ฟัง โดยระบุถึง "นิสัยคน" ที่ประสบความสำเร็จ และล้มเหลว ดังนี้...
คนแรก..คนนี้อายุมากแล้ว แต่ "ไม่ยอมปรับตัว" ประกอบอาชีพประสบความสำเร็จมีเงินหลายสิบล้านบาท สุดท้ายก็มาล้มเหลวในตลาดหุ้น
คนที่สอง..เป็นคนที่มีระเบียบวินัยมาก ศึกษาข้อมูลตลอดเวลา มีความมั่นคง คนนี้เป็นอดีตนักแบดมินตันทีมชาติ เขาก็ประสบความสำเร็จในตลาดหุ้น
คนที่สาม..ไม่เก่งอะไรเลย อ่อนน้อมถ่อมตน บริการคนอื่นตลอดเวลา ทุกคนรัก ไม่เคยเอาเปรียบเพื่อน คนนี้ก็ประสบความสำเร็จได้ เพราะทุกคนเอื้อเฟื้อ(บอกหุ้น)เขา ไม่มีใครไปหลอกเขา
คนที่สี่..ไม่ประสบความสำเร็จ นิสัยตรงกันข้ามคนอื่นตลอดเวลา เพื่อนบอกแบบนี้มันก็เถียงว่าต้องเป็นแบบนั้น เป็นคนไม่คิดอะไรลึกๆ ชอบสวนชาวบ้าน คือ เหรียญมันมี 2 ด้าน พูดเข้าข้างตัวเองยังไงก็ได้ ไม่เคยโทษตัวเอง คนนี้เจ้าของฉายาว่า "รู้อย่างงี้..." มีเงินหลายสิบล้านบาทเข้ามาตลาดหุ้น ตอนนี้ก็เหลือไม่เยอะ
คนที่ห้า..ทำการบ้านตลอดเวลา(แอบ)เช็คพอร์ตคนอื่นตลอดเวลา ชอบคุยกับมาร์เก็ตติ้งของรายใหญ่ เพื่อแอบดูพอร์ตคนอื่น คนนี้ก็ประสบความสำเร็จ แต่เขาตีกอล์ฟคนเดียวไม่มีเพื่อน ขนาดนั่งกินข้าวกับมาร์เก็ตติ้งยังหารค่าอาหารกันเลย นี่เขาก็ประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน
คนที่หก..ย้ำคิดย้ำทำ เสียดายตลอดเวลา คิดแล้วคิดอีก เป็นคนละเอียด ไม่เอาเปรียบเพื่อนฝูง คนนี้ก็ประสบความสำเร็จได้
"นี่ผมเล่าให้ฟังถึงนิสัยของแต่ละคนเพื่อจะบอกว่า คนแต่ละคนนิสัยไม่เหมือนกัน และก็มีช่องทางประสบความสำเร็จของแต่ละคน แล้วแต่เราจะเลือกทางเดินแบบไหน ซึ่งผมเชื่อมั่นว่า ไม่เกินความสามารถของทุกคน"
เสี่ยยักษ์ ยังเล่าถึง ความเหนือชั้นของอดีตเซียนหุ้นคนหนึ่ง ชื่อ "เฮียประธาน" เขาเป็นเจ้าของคอร์ตแบดมินตัน อยู่แถวถนนบางรัก ฉายาเขา คือ "พญาอินทรี" ถ้าวันไหนที่พวกเรา(เสี่ยยักษ์ และเพื่อนๆ ในกลุ่ม) "เละ" หรือ "เจ๊ง" กันหมด เฮียประธาน จะบินมาเลย "เขาจะมาซื้อหุ้น"
"สมัยก่อน ผมยกย่องเขามากว่า นี่คือ สุดยอดของ "เสือ" ตัวจริง คือเขารวยอยู่แล้ว แต่เขาจะไม่มาเล่นหุ้นทุกวัน ถึงแม้จะไม่มาตลาดหุ้น แต่เขาจะติดตามหุ้นอยู่ที่บ้านเป็นประจำ เวลานี้เขาก็ยังเป็นอย่างงั้นจริงๆ เล่นหุ้นอย่างนี้ก็ประสบความสำเร็จได้"
อีกคนหนึ่งที่ เสี่ยยักษ์ ยกตัวอย่างให้ฟังด้วยความชื่นชม เขาชื่อ "สุวิทย์" เป็นอดีตนักแบดมินตันทีมชาติ คนคนนี้ มีระเบียบวินัยมาก เวลาไม่ซื้อ คือไม่ซื้อ ถ้าเขามองเศรษฐกิจไม่ดี เขาจะไม่เล่นหุ้น(เลย) นี่คือ หลักการที่ถูกต้อง
"อย่างสุวิทย์ เขาจะรอให้เกิดวิกฤติก่อน(หุ้นตกเยอะๆ) นานแค่ไหนเขาก็รอได้ วันที่เกิดวิกฤติ เขาจะมาซื้อหุ้น ตอนนี้ ก็น่าจะมีเงินเป็นร้อยล้าน"
เมื่อถามถึงการลงทุนสไตล์ "หมอ ยง" ท.พ.ยรรยง พันธุ์วงศ์กล่อม นักลงทุนรายใหญ่ระดับพันล้านบาท
เสี่ยยักษ์ บอกว่า หมอ ยง จะมีจิตวิทยาการลงทุนสูง ถ้าตลาดหุ้นตกลงมาเยอะๆ เขาซาวด์เสียงว่า ถ้านักลงทุนรายใหญ่ทุกคน "กลัว" กันหมด แสดงว่า พวกคุณเพิ่ง "โดน" (ขาดทุน) มา คุณเพิ่ง Cut Loss มา เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะขายอีกก็มีไม่มาก "เขาจะซื้อ"
"แต่สไตล์การลงทุนของผม กับ หมอ ยง จะต่างกัน หมอ ยง จะเล่นหุ้นเป็นรอบ(เล็กเล่นเร็ว)แต่ของผมจะรอ "รอบใหญ่" ขอทีเดียวหนักๆ ลักษณะใส่เต็มๆ ไปเลย ถ้าทุกคนกลัวกันหมด เครื่องมือเครื่องไม้ทางเทคนิคส่งสัญญาณซื้อ ผมก็เข้า ถ้ายัง..ผมก็รอนิ่งๆ"
เสี่ยยักษ์ บอกว่า อยู่ในวงการนี้มา 20 กว่าปี เห็นพฤติกรรมการเล่นหุ้นของคนเปลี่ยนไม่ค่อยได้ ใครนิสัยมายังไง บุคลิกยังไง วิธีการมันจะเป็นอย่างนั้น ซึ่งคนที่จะประสบความสำเร็จ มันแล้วแต่สไตล์คน แต่คนที่อยู่รอดได้ มีแค่ประเภทเดียว คือ "คนที่ปรับตัว"
นอกจากนี้ คนที่จะ "อยู่รอด" บนเวทีนี้ได้อย่างตลอดรอดฝั่ง เสี่ยยักษ์ ย้ำนักย้ำหนาว่า ข้อสำคัญที่สุด คือ "ถึงเวลาขาดทุน..คุณต้องกล้าขาย" ถ้าคุณทำได้ "คุณจะรอด"
พร้อมทั้งยังเล่าถึง "นักพนัน" ที่อยากมาเอาดีในตลาดหุ้นว่า คนที่ชอบเล่นการพนัน แล้วมาเล่นหุ้น ก็ "เจ๊ง" ได้ง่ายๆ
"ผมเคยเห็นนักเล่นหุ้นที่เป็นนักพนัน เอาทุกอย่าง เห็นมาเยอะ "หมดตัวทุกคน" ไม่เหลือเลย มีคนหนึ่ง เมื่อก่อนเคยมีเงิน 30 กว่าล้านบาท เล่นทุกอย่าง ฟุตบอลก็เล่น หุ้นก็เล่น บ่อนการพนันก็เข้า สุดท้ายแม้แต่ชีวิตครอบครัวเขาก็ล้มเหลว
...ชีวิตเขาพนันทุกอย่าง มีเงิน 20-30 ล้านบาท เคยเป็นเจ้าของร้านเสื้อผ้าในประตูน้ำ ตอนนี้ มาเช่าบ้านอยู่ราคา 2,000 บาท จุดเสีย..ของคนประเภทนี้ คือ เขาจะยืมเงินทุกคน แล้วเขาจะไม่มีโอกาสแก้ตัว ทุกอย่างกลับมาที่เครดิต ถ้าคุณไม่มีเครดิต ก็ไม่มีใครช่วยเหลือคุณ นี่คือ ความจริง" เสี่ยยักษ์ สรุปถึงนิสัยของคนเล่นหุ้นแต่ละประเภทให้ฟัง
หุ้นตกต้องดีใจได้ซื้อเพิ่ม พื้นฐานหุ้นยังไม่เปลี่ยน
โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ม.ค. 06, 2008 12:25 pm
โดย petercorp
#กลยุทธเล่นหุ้น#
"สุดยอดวิชา" วิชัย วชิรพงศ์"
ความเป็น "สุดยอด" ของนักเล่นหุ้นธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่ลงทุนจากเงินทุน 2 ล้านบาท แล้วประสบความสำเร็จจนมีเงินนับ "พันล้านบาท" จาก "ต้นกล้า" ฝ่าแดด...ต้านฝน จนเป็น "ไม้ใหญ่" ขอคารวะด้วยจิตศรัทธาว่า "ไม่ธรรมดา"
ก่อนจากลา "ถนนนักลงทุน" ขอรวบรวมคำพูด และวลีเด็ดๆ จากกูรูหุ้นระดับประเทศท่านนี้ ถ่ายทอดเป็น "ยอดวิชา" หวังให้ไป "ผลิบาน" ในความคิดของนักลงทุน เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ สืบสานสร้างความมั่งคั่งเรื่อยไป
ตั้งแต่ตอนที่ 1 ถึง ตอนที่ 27 มี วลีเด็ดๆ ที่น่าสนใจดังนี้
ตอนที่ 1 เงินนี่มันแปลก เงิน 1 ล้านบาท คุณจะเพิ่มให้เป็น 2 ล้านบาท ช่วงนี้จะยากมาก แต่จาก 2 เพิ่มเป็น 4 เริ่มง่าย จาก 4 เพิ่มเป็น 8 ยิ่งง่ายกว่า...นี่เรื่องจริง ตอนที่ 2 ถ้าในโลกนี้ ใครได้อะไรมาง่ายๆ ก็ยากที่จะรักษาให้มันอยู่กับเราได้อย่างยั่งยืน ตอนที่ 3 หุ้นจะเป็นขาขึ้น "ราคา" และ "ปริมาณ" จะต้องเคลื่อนไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน
ตอนที่ 4 ถ้าเราเลือกหุ้นพี/อี ต่ำ พื้นฐานดี แต่ซื้อแล้วราคาไม่ขึ้น...มีแต่ลง แสดงว่าความคิดของเรา "ผิด" คุณต้องเปลี่ยน "อย่าดันทุรัง" ตอนที่ 5 สมัยที่ยังเล่นหุ้นไม่เก่ง วิธีที่ผมใช้...จะลอกข้อสอบคนเก่ง แต่ระหว่างที่เราลอกข้อสอบเขา เราก็ต้องพัฒนาตัวเองตามให้ทัน ตอนที่ 6 ในการเล่นหุ้นให้ชนะตลาด เราต้องพายเรือตามน้ำ อย่าพายเรือทวนน้ำ เพราะการ "ฝืนกระแส" จะทำให้เรา "เสี่ยงสูง" ที่จะขาดทุน ตอนที่ 7 จากประสบการณ์ 20 ปี จะซื้อหุ้นให้ได้กำไร เราต้องกล้าไปจ่ายตลาด "ตอนประมาณ ตี 5" หรือ อีก 1 ชั่วโมงฟ้าจะสว่าง...ผีไม่มี
ตอนที่ 8 วิธีการเอาตัวรอด ในช่วงที่ต้องเผชิญกับ "วิกฤตการณ์" ทางเดียวที่จะทำให้เรา "รอด" คือ การตัดนิ้ว (Cut Loss) ยอมขาดทุนรักษาชีวิต ตอนที่ 9 ความลับของเงิน จะเติบโตก็เฉพาะกับคนที่รู้จักใช้มัน เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม ตอนที่ 10 การเล่นหุ้นเพื่อหวังกำไร 3-5% เป็นการลงทุนที่มีโอกาส "ร่ำรวย" ได้ยาก!!! เพราะการตัดสินใจซื้อ-ขายบ่อย โอกาสผิดพลาดจะสูง ตอนที่ 11 คำศัพท์ของนักเล่นหุ้น เขาบอกว่า "ลูกยังเล็กอยู่" เราจะพลาดไม่ได้ หมายความว่าหุ้นตัวนี้ "อันตราย" เราต้อง Cut Loss ทิ้ง ตอนที่ 12 ในจังหวะที่หุ้นเป็นขาขึ้น เราต้อง Let the Profit Run ปล่อยให้กำไรวิ่งเต็มสตีม เมื่อไรที่ราคาเริ่มปรับฐานลงมา พร้อมวอลุ่ม เราต้องรีบล้างพอร์ตออกไป
ตอนที่ 13 ท่องเอาไว้เลย "วอลุ่มพีค" คือ "ราคาพีค" และ ถ้าหุ้นปรับฐานแล้ว "รีบาวด์" แต่ไม่ทำ "นิวไฮ" ใหม่..."มันต้องลง" ตอนที่ 14 ถ้าหุ้นเป็น "ขาลง" แล้ว "วอลุ่มหาย" นี่เป็นตามธรรมชาติ แต่ถ้าหุ้นเป็น "ขาขึ้น" แล้ว "วอลุ่มหาย" นี่มันผิดกฎธรรมชาติ ให้สงสัยไว้ก่อนว่า "มันกำลังจะวิ่ง" ตอนที่ 15 นิสัยผมถ้าอะไรที่ไม่แน่ใจเต็มร้อย ผมจะเข้าไปลงทุนด้วยเงินก้อนน้อยๆ ก่อน ยิ่งถ้าเป็นหุ้นเก็งกำไร จะเล่นเป็นรอบ จะไม่ทุ่มสุดตัว และไม่ถือยาว
ตอนที่ 16 คำว่า "ข่าวลือ" คุณต้องแอบพูดในที่ "ลับ" ถ้ามากระจายให้มหาชนรับรู้...มาบอกนักข่าว แสดงว่า "จบรอบ" แล้ว...คุณต้องทิ้ง ตอนที่ 17 ถ้าจะเล่น "หุ้นปั่น" เราต้องซื้อน้อยๆ เกาะตู้เย็น หาค่ากับข้าวได้ แต่อย่าไปเล่นแรง อย่าไปทุ่ม เดี๋ยวเจ้ามือมันจะโยนหุ้นใส่เรา ตอนที่ 18 กรณีที่หุ้นจะปรับตัว "ลงแรง" วอลุ่มมักจะทำ "พีค" ก่อน ให้สังเกตว่า รายย่อยจะแห่เข้าใส่ แบบไม่ลืมหูลืมตา เวลาที่หุ้นปรับตัว มันจะ "ลงลึก"
ตอนที่ 19 ในช่วงของการสะสมหุ้น ถ้าเป็น "หุ้นดี" ให้สังเกตฝั่ง Bid จะน้อย แต่ฝั่ง Offer จะเยอะ ภาวะอย่างนี้ คือ ช่วงที่ดัชนี SET ประมาณ ตี 4 ตี 5 คนยังเล่นหุ้นไม่เต็มตัว เขาจะรอรับ แต่ไม่ไล่ราคา ตอนที่ 20 "เฮียประธาน" เขาเป็นเจ้าของคอร์ทแบดมินตัน อยู่แถวถนนบางรัก ฉายาเขา คือ "พญาอินทรี" ถ้าวันไหนที่พวกเรา "เละ" หรือ "เจ๊ง" กันหมด เขาจะบินมาเลย...เขาจะมาซื้อหุ้น
ตอนที่ 21 การอ่านอารมณ์ตลาด ถ้า "รายย่อย" สงบเสงี่ยมเจียมตัว "ฝรั่ง" ไม่เข้า บอกได้เลยว่า เล่นหุ้นไม่ได้ตังค์ ถ้าจะเล่นหุ้นได้กำไร รายย่อยต้องมีจุดมั่นใจ นักเก็งกำไรแห่กันเข้ามาเล่นตามน้ำ ตลาดแบบนี้ "ได้ตังค์" ตอนที่ 22 ถ้าเราเทรดหุ้นทุกวัน สมองมันไม่มีจุดคิด การตัดสินใจบ่อยมันพลาดได้ง่าย คุณต้องรอจังหวะ รอให้เครื่องมือทางเทคนิคยืนยัน แล้วทุกคนเริ่มกลัวกันหมด ตรงนั้น คือ จุดที่ปลอดภัยที่สุด ซื้อเสร็จก็ใส่ปี๊บเอาไว้
ตอนที่ 23 ถ้าคิดจะ "สร้างราคาหุ้น" แล้วไม่ให้วงแตก มือทำหุ้นที่เป็นมืออาชีพ เขาจะบอกเจ้าของหุ้นว่า คุณต้องโอนหุ้นมาให้ก่อน แล้วต้องเอาเงินมาให้ด้วย...ล้านเปอร์เซ็นต์เลย ถึงจะสำเร็จ !!! ตอนที่ 24 พูดตรงๆ ผมเคยเล่นหุ้นปั่น วันที่ผมขายหมด บางคนไม่ได้ขาย ผมเสียเพื่อนไปก็หลายคน เสียน้องไปก็หลายคน สุดท้ายมันไม่ได้อะไรขึ้นมา มันไม่คุ้มหรอก...เชื่อผมสิ!!!
ตอนที่ 25 วิธีการลงทุนแบบ "แวลู อินเวสเตอร์" ส่วนตัวมองว่า "มันเสี่ยง" บางทีหุ้นลงก็ต้องถือ เพราะคุณคิดว่าพื้นฐานมันไม่เปลี่ยน เดี๋ยวมันก็ต้องกลับมา แต่เมื่อไรล่ะ!! ถ้าคุณไม่ Cut Loss ตอนหุ้นลง มันเสียโอกาส ตอนที่ 26 ลักษณะตลาดหุ้นที่แกว่งตัวออกด้านข้าง และไม่มีข่าวดีอะไรใหม่ๆ เข้ามาในตลาด คนที่เล่นหุ้นแล้วได้ตังค์ ต้อง "เล่นรอบ" คือ เล่นหุ้นแบบ "ปิงปอง" จะได้เปรียบ แต่อย่าไปทุ่มเทอะไรกับมันมาก ตอนที่ 27 วอร์แรนท์ที่ราคาแปลงสภาพ "ต่ำกว่าหุ้นแม่" ยิ่งเหลืออายุน้อย เจ้ามือยิ่งกดรายย่อยให้ปล่อยหุ้นออกมา เพราะเขารู้ว่าไม่มีเงินไปแปลงสภาพแน่ เขาก็บีบซื้อราคาถูกเอาไปแปลงสภาพเอง
นอกจากนี้ "เสี่ยยักษ์" ยังมีเคล็ดไม่ลับ ที่อยากฝากแฟนๆ "ถนนนักลงทุน" อีก 5 ข้อ
"คำพูดที่ผมอยากจะฝากไว้ จำเอาไว้เลยนะ..."
1.อย่าตามหลังมวลชน 2.จุดที่มั่นใจที่สุด คือ จุดที่อันตรายที่สุด 3.จุดที่อันตรายที่สุด คือ จุดที่ปลอดภัยที่สุด นั่นคือ ประมาณ "ตี 5" ถึง "ตี 5 ครึ่ง" (ก่อนฟ้าสาง) 4.อย่าคิดคนเดียว อย่าตอบคำถามคนเดียว อย่าเล่นหุ้นคนเดียว และ 5.คนเล่นหุ้นให้ชนะ ต้องเลิกนิสัย "ถามเอง-ตอบเอง-เออเอง" สุดท้าย "เจ๊งลูกเดียว"
หุ้นตกต้องดีใจได้ซื้อเพิ่ม พื้นฐานหุ้นยังไม่เปลี่ยน
โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ม.ค. 06, 2008 12:27 pm
โดย petercorp
"เล่นหุ้น สไตล์ VI"
วิกรม เกษมวุฒิ 31 ปี รวยหุ้น 'ปูนใหญ่' 140 เท่า
แกะรอยเส้นทางรวยนักลงทุนสถิติ ..."วิกรม เกษมวุฒิ" ที่บอกเล่าประสบการณ์จริงกับการลงทุน "หุ้นปูนใหญ่" เป็นเวลา 31 ปีเพียงตัวเดียวกำไร 140 เท่า บวกเงินปันผลที่ได้รับอีก 4,333% จากเงินเริ่มต้นลงทุนเพียง 100 หุ้น หรือ 16,700 หุ้น เติบโตกว่า 3 ล้านบาทในวันนี้
ประวัติการลงทุนของ "วิกรม เกษมวุฒิ" เจ้าตำรับนักลงทุนที่ใช้สถิติเป็นแนวทางลงทุนในหุ้น เริ่มขึ้นครั้งแรกพร้อมกับตลาดหุ้น ที่จัดตั้งขึ้นในปี 2518 โดยหุ้นที่ซื้อตัวเดียวคือ หุ้นปูนใหญ่ (SCC) หรือ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำนวน 100 หุ้นในราคาหุ้นละ 167 บาท ด้วยทุน 16,700 บาท มาถึงวันนี้กินเวลา 31 ปีเต็ม...
ผลจากการ "แตกพาร์" ของหุ้นปูนใหญ่สองครั้ง ทำให้หุ้นเดิมที่มีอยู่ 100 หุ้นที่ราคาพาร์ 100 บาท กลายเป็น 1,000 หุ้นเมื่อลดพาร์เป็น 10 บาท และเพิ่มเป็น 1 หมื่นหุ้นในราคาพาร์ 1 บาทในวันนี้
ผลตอบแทนจากการลงทุน หรือผลกำไรที่ได้ (ตามบัญชี) ตลอดระยะเวลา 31 ปีถึงวันนี้ยังไม่ได้ขายออกไป เพิ่มขึ้นถึง 140 เท่าตัว !!
มูลค่าเงินลงทุน เพิ่มขึ้นเป็น 2.4 ล้านบาท ณ ราคาหุ้น 234 บาทเมื่อ 24 พฤษภาคม 2550 จากเดิมที่ราคาหุ้น 167 บาท
ไม่เพียงเท่านั้น ผลจากจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น ทำให้ได้รับเงินปันผลเพิ่มตามด้วย
ตลอดระยะเวลา 31 ปี วิกรมได้รับเงินปันผลสะสมเข้ากระเป๋าแล้ว 7.4 แสนบาท หรือคิดเป็นผลตอบแทน 4,333 เปอร์เซ็นต์ !!
"เงินปันผลที่ผมได้เพียง 10 ปี รวม 22,300 บาท เท่ากับคุ้มต้นทุนที่ 16,700 แล้ว ส่วนในปัจจุบันเงินปันผลที่ได้หุ้นละ 15 บาท ถืออยู่ 1 หมื่นหุ้น คิดเป็นเงิน 1.5 แสนบาทต่อปี คิดเป็นรายได้ตกวันละ 410 บาท ตอนนี้จึงอยู่ได้อย่างสบายๆ"
ถือหุ้นปูนใหญ่ จึงทำให้เขาได้กำไรเกินคุ้ม...
วิกรม บอกว่า ถ้าเทียบกับหุ้นอื่นๆ ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น พร้อมกับปูนใหญ่ เมื่อเริ่มตั้งตลาดทั้งหมด 8 บริษัท ปัจจุบันเหลือเพียง 4 บริษัทที่ยังซื้อขายอยู่ คือ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC ) โรงแรมดุสิตธานี (DTC ) และปูนซิเมนต์ไทย (SCC)
ผลตอบแทนย้อนหลังนับตั้งแต่จัดตั้งหรือ 31 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพ ให้ผลตอบแทนเพียง 20 เท่า ส่วนเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ และโรงแรมดุสิตธานี ให้ผลตอบแทนต่ำเพียง 10 เท่า เท่านั้น
ขณะที่ปูนใหญ่ให้ผลตอบแทนสูงถึง 140 เท่าตัวในเวลา 31 ปีเต็ม
ในมุมมองของวิกรม เขาเห็นว่า เงินทอง (หุ้นอื่น) เป็นเพียงมายา แต่สำหรับหุ้นปูนใหญ่ มันคือข้าวปลาของจริง
วิกรม ย้อนให้ฟังว่า เขาซื้อหุ้นปูนใหญ่ก่อนเปิดตลาดหุ้น 4 เดือน ตอนนั้นทำงานเป็นนายธนาคาร ได้ติดตามข่าว และค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับปูนมาตลอด ยิ่งมีสำนักงานทรัพย์สินถือหุ้น ยิ่งทำให้เขามั่นใจอย่างมาก จนถึงขณะนี้ เขาไม่เคยขายออกไปเลย แต่แช่แข็งอยู่ตลอดตั้งแต่ 100 หุ้น จนกลายเป็น 1 หมื่นหุ้นจนขณะนี้
บทพิสูจน์นี้ วิกรมชี้ให้เห็นว่า...ถือหุ้นปูนใหญ่แล้วปลอดภัย และได้กำไรคุ้มค่า ไม่มีคำว่า "สาย" หากใครคิดจะเข้าลงทุนตอนนี้...
ทำไมวิกรมถึงคิดเช่นนั้น...??
เขาให้เหตุผลว่า เพราะความต้องการปูนในการก่อสร้างบ้าน ถนน และอื่นๆ เพิ่มขึ้นตลอด ตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ปูนซีเมนต์จึงขายได้ตลอด สิ่งสำคัญคือวัตถุดิบในการผลิตปูนที่มาจากหินปูนภูเขา ยังใช้ผลิตไปได้อีก 100 ปี เทียบกับก๊าชในอ่าวไทยของปตท.ใช้ได้อีก 40 ปีหมด ฉะนั้น จึงสามารถถือลงทุนในหุ้นตัวนี้ไปได้อีกยาวนาน
"ปัจจุบันเครือซิเมนต์ไทย มีธุรกิจ 5 กลุ่มในหนึ่งธุรกิจเดียวคือ ธุรกิจซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง กระดาษและบรรจุภัณฑ์ ปิโตรเคมีและธุรกิจจัดจำหน่าย มีความมั่นคงแข็งแกร่ง พร้อมเจริญเติบโตไปข้างหน้า ขณะที่มีผลประกอบการที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีความเสี่ยงในธุรกิจน้อย"
แต่...หุ้นปูนใหญ่ ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน...
โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งราคาและอัตรากำไรจะมีขึ้นลงเป็นวัฏจักร มีช่วงเวลาจุดสูงสุดและต่ำสุดห่างกัน ประมาณ 8-9 ปี และความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ จะมีความสัมพันธ์กับการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ
"สิ่งที่ต้องระวังในการลงทุนหุ้นปูนใหญ่ก็คือ ธุรกิจปิโตรจะมีวัฏจักรการขึ้นลง 8-9 ปี ซึ่งช่วงนี้กำลังเป็นวัฏจักรขาลง นักลงทุนต้องระวัง เพราะอาจทำให้กำไรปูนใหญ่ร่วงได้ในปีนี้ (2550) อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าบริษัทยังสามารถจ่ายปันผลได้ในอัตรา 15 บาท/หุ้นได้สม่ำเสมอเช่นช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่ากำไรบริษัทจะไม่ถึง 26 บาทต่อหุ้นก็ตาม"
นอกจากจะใช้หลักสถิติมาประยุกต์เข้ากับการลงทุนแล้ว วิกรมยังใช้แนวทางลงทุนตาม "วอร์เรน บัฟเฟตต์" ในการคัดเลือกหุ้นอีกด้วย
วิกรมบอกว่า ในการเลือกหุ้นจะยึดหลักใหญ่ๆ คล้ายกับแนวทางลงทุนของบัฟเฟตต์ ที่เน้นลงทุนในธุรกิจง่ายๆ เข้าใจได้ไม่ยาก มียอดขายและกำไรที่ดี ขณะที่ด้านการบริหาร จะเน้นตัวผู้บริหารต้องเปิดเผยและโปร่งใสต่อผู้ถือหุ้น และมุ่งเน้นหุ้นที่มี ROE (ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น) มากกว่า 12% ซึ่งของไทยใกล้เคียงอยู่ที่ 11% โดยไม่ได้มองที่กำไรต่อหุ้น
นอกจากนั้น จะซื้อหุ้นดีๆ ลงทุน "น้อยตัว" และถือยาว แต่ซื้อในจำนวนหุ้นมากๆ
"อย่างบัฟเฟตต์ จะมีหุ้นเพียง 5 ตัว แต่เป็นสัดส่วน 73% ของพอร์ต"
หุ้นที่บัฟเฟตต์ถือก็เช่น "หุ้นวอชิงตัน โพสต์" ที่ซื้อมาเพียง 11 ล้านเหรียญ แต่วันนี้มีมูลค่าพุ่งขึ้นเป็น 1,275 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นถึง 115 เท่าในระยะเวลา 35 ปี โดยบัฟเฟตต์ได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผล 9 ล้านเหรียญ (รอบปี 2549) เท่ากับว่า เฉพาะเงินปันผลของหุ้นตัวนี้ปีเดียว ก็คุ้มทุนแล้ว
"ส่วนหุ้นปูนใหญ่ที่ผมถืออยู่ ปัจจุบันมีค่า ROE สูงถึง 42% ให้ผลตอบแทนเงินปันผลถึง 6.36% ต่อปี ถือว่าหุ้นตัวนี้ยอดเยี่ยมมากๆ สำหรับผม"
ลงทุนหุ้นปูนใหญ่ในมุมมองของวิกรม จึงเป็นหุ้นดี ถือมา 31 ปี กำไรคุ้มค่า...
หุ้นตกต้องดีใจได้ซื้อเพิ่ม พื้นฐานหุ้นยังไม่เปลี่ยน
โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ม.ค. 06, 2008 12:32 pm
โดย petercorp
"ATC+RRC = PTTAR + TOP"
PTT ควบรวมกิจการ ATC- RRC ใช้ 1 หุ้น ATC แลก 1.52 หุ้นบ.ใหม่ ส่วน 1 หุ้น RRC ได้ 0.51 หุ้น มาร์เก็ตแคปบริษัทใหม่แตะ 1 แสนลบ. กำลังการกลั่นเพิ่มเป็น 2.8 แสนบาร์เรล/วัน ส่วนกำลังการผลิตอะโรเมติกส์ 2.2 ล้านตัน/ปี ขึ้นแท่นปิโตรเคมีอันดับ 1 ใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดีดลูกคิดผูกสูตรหลากสมการมาเสียนาน และแล้วบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) ควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) (ATC) และ บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน) (RRC) พร้อมสูตรการแลกหุ้นของบริษัทใหม่ ในอัตรา 1 หุ้น ATC จะแลกได้หุ้นของบริษัทใหม่ 1.524428135 หุ้น และ 1 หุ้น RRC จะแลกได้หุ้นของ 0.5167553 หุ้นบริษัทใหม่
สำหรับสูตรการแลกหุ้น ATC และ RRC เป็นบริษัทใหม่นั้น สัดส่วนการแลกหุ้นของ RRC เป็นบริษัทใหม่มีมูลค่าต่ำกว่าการแลกหุ้นของ ATC ที่สำคัญเวลานี้ซื้อหุ้น RRC แบบรอแลกหุ้นบริษัทใหม่ใช้เงินน้อยกว่า ส่วนต้นทุนในบริษัทใหม่นั้น
PTTAR เปิดเทรดวันแรก 2 ม.ค. 51 ด้วยราคาเปิด 49.50 บาท หลังจากนั้นราคาก็ร่วงลงตามภาวะตลาดที่แดงหนัก
แต่แผนการของ PTT ยังไม่ยุติเพียงเท่านี้ เพราะ step ต่อไปผู้บริหาร PTT จะนำบริษัทใหม่ PTTAR ที่เกิดขึ้นภายหลังการควบรวมกิจการระหว่าง ATC และ RRC มาควบกับ บมจ.ไทยออยส์ (TOP) ต้องยอมรับว่า PTT เก่งในการสร้าง Story ให้หุ้นจริงๆ แต่เรื่องฝีมือนั้น คนในวงการไอบียังกังขา เพราะหากแน่จริงคงจับ RRC ควบกับ ATC ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ ATC ยังไม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ดังนั้น กระบวนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จึงเป็นวิธีการตีมูลค่า บริษัททั้งสองแห่ง เพื่อเอาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองมากกว่า สุดท้าย PTT ก็ได้ทั้งขึ้นทั้งร่อง และ Story เรื่องใหม่จึงน่าจะเป็น สิ่งที่จะผลักดันความน่าสนใจ ให้บริษัทแห่งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย เพราะมูลค่าและขนาดของกิจการจะใหญ่โตมากทีเดียว
อย่างไรก็ดี ถ้าจำกันได้วิธีการควบรวมครั้งนี้จะคล้ายกับเมื่อครั้งที่ TOC และ NPC รวมกิจการกันเป็นบริษัทใหม่ บมจ.ปตท.เคมิคอล (PTTCH) และหลังจากรวมกิจการกันเป็น PTTCH ราคาหุ้นของบริษัทใหม่กลับไม่ไปไหน ทั้งที่อนาคตสดใสแน่นอน ดังนั้น นักวิเคราะห์จึงได้ตั้งข้อสังเกตว่า PTTARที่เกิดหลัง ATC และ RRC ควบรวมกันนั้น ในระยะแรกราคาหุ้นอาจไม่หวือหวา แต่เมื่อเวลาผ่านไปมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นจะสะท้อนออกมาเอง หรือรอจนกว่าจะมีการควบรมกับ TOP ในปลายปี กลายเป็น PTTAT