โดนส่วนตัว ค่า PSR นี่ผมไม่เคยดูเลยครับ ด้วยเหตุผลก็อย่างที่ อาจารย์PSR
โลกในมุมมองของ Value Investor
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร 25 มี.ค.2551
ตัวเลขที่บ่งบอกถึงความ ถูก-แพง ของราคาหุ้นซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะบอกว่าหุ้นตัวนั้นเป็นหุ้นคุณค่าหรือไม่นั้น ที่สำคัญมีประมาณ 4 ตัวด้วยกัน ตัวแรกและโดดเด่นที่สุด แน่นอนก็คือ PER หรือค่า PE หรือราคาต่อกำไรต่อหุ้นที่เราพูดถึงกันตลอด นี่คือตัวที่ตรงและเข้าใจง่ายที่สุด มันบอกว่าราคาเป็นเท่าไร ต่ำหรือสูง เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรที่บริษัททำได้ ตัวต่อมาก็คือ ค่า PB หรือราคาต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชี ตัวนี้บอกว่าราคาเป็นเท่าไร ต่ำหรือสูง เมื่อเปรียบเทียบกับสินทรัพย์สุทธิของบริษัท นี่เป็นแนวที่มองถึงทรัพย์สินมากกว่าการทำกำไร ตัวที่สามก็คือ Dividend Yield หรือค่า ปันผลต่อราคาหุ้น ซึ่งมองว่าถ้าปันผลสูงเมื่อเทียบกับราคาหุ้นก็แปลว่าหุ้นถูก และตัวสุดท้ายก็คือ PSR หรือ Price Per Sale Ratio หรือราคาหุ้นต่อยอดขายต่อหุ้นของบริษัท นี่เป็นอัตราส่วนที่ Value Investor ในตลาดหุ้นไทยยังไม่ค่อยใช้กัน บางคนก็ยังไม่รู้ว่านี่เป็นตัวเลขที่สำคัญ ว่าที่จริง อาจจะสำคัญกว่าค่า PE ด้วยซ้ำ
จากการศึกษาในตลาดหุ้นสหรัฐซึ่งมีการทำกันมากมาย ต่างกรรมต่างวาระ ทั้งในหุ้นตัวใหญ่และตัวเล็ก สิ่งที่พอจะพูดได้หยาบ ๆ ในความเห็นของผมก็คือ ตัวเลขที่บ่งบอกถึงความเป็น Value หรือหุ้นที่มีคุณค่าและทำให้คนที่ลงทุนได้กำไรสูงที่สุดนั้น ตัวที่มีประสิทธิภาพน้อยที่สุดก็คือ Dividend Yield หรือผลตอบแทนจากปันผล ตัวเลขตัวนี้ ถ้าเราจะใช้ในการเลือกลงทุนที่จะได้ผลดีก็คือ การลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงสูงเป็นหลัก การซื้อหุ้นทั่ว ๆ ไปโดยอาศัยจากการดูปันผลจ่ายนั้น ไม่ใคร่จะได้ผล ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าบริษัทแต่ละแห่งมีนโยบายต่างกันในเรื่องการจ่ายปันผล
ตัวเลขที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันก็คือ ค่า PE กับค่า PB โดยที่ค่า PB อาจจะได้เปรียบกว่าเล็กน้อยในหุ้นบางกลุ่ม และนี่ก็เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างเป็นมาตรฐานของ Value Investor ที่นักวิชาการนำมาใช้ในการทดสอบดูว่าเป็นหุ้นที่สามารถเอาชนะตลาดได้จริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม Value Investor ในภาคปฏิบัติส่วนใหญ่ก็มักจะอิงกับค่า PE ในการเลือกลงทุนในหุ้นมากกว่าค่า PB มาก เหตุผลก็คงเป็นว่า การใช้ค่า PB นั้น นักลงทุนอาจจะต้อง รอ ว่าเมื่อไรจะมีคนมาเห็นทรัพย์สมบัติที่อาจจะไม่สร้างรายได้ของบริษัท และมาซื้อหุ้นทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไปได้ ในขณะที่การใช้ค่า PE นั้น ทุก ๆ ไตรมาศที่มีการประกาศงบกำไรขาดทุน ราคาหุ้นก็มีโอกาสวิ่งขึ้นไปได้ง่าย ๆ
ตัวเลขที่ดูเหมือนว่าจะมีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการที่จะทำกำไรจากการลงทุนก็คือ ค่า PSR นี่คือตัวเลขที่ไม่มีการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวัน แต่การที่จะหาค่า PSR ก็ทำได้ไม่ยาก วิธีก็คือ เปิดดูยอดขายรวมของบริษัทในงบการเงินปีที่ผ่านมา หารตัวเลขยอดขายด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัทก็จะได้ยอดขายต่อหุ้น เอาตัวเลขนี้ไปหารราคาหุ้นในปัจจุบันก็จะได้ค่า PSR จากการศึกษาข้อมูลในระยะเวลาประมาณ 50 ปีในตลาดหุ้นสหรัฐปรากฏว่า การลงทุนในหุ้นที่มีค่า PSR ต่ำที่สุดนั้น โดยเฉลี่ยแล้ว ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในหุ้น PE หรือ PB ต่ำที่สุด
ปัญหาของ PSR ก็คือ มันเป็นตัวเลขที่เข้าใจยากและการหาข้อมูลก็ยุ่งยากกว่า รวมทั้งมันยังไม่มีตัวเลขตัวเดียวที่จะบอกได้อย่างคร่าว ๆ ว่ามันถูกหรือแพงที่ใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรมเหมือนกับตัวเลข PE หรือ PB ในเรื่องของ PE เราอาจจะเปรียบเทียบกับ PE ของตลาดได้หรือบางคนอาจจะตั้งไว้เลยว่า ค่า PE ที่เกิน 10 เท่าแปลว่าหุ้นแพง หรือค่า PB ที่เกิน 2 เท่าเป็นหุ้นแพง แต่ในเรื่องของ PSR นั้น อุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น ชุปเปอร์มาร์เก็ต อาจจะมียอดขายมากแต่มีมาร์จินหรือกำไรต่อยอดขายต่ำ ดังนั้น ค่า PSR อาจจะต่ำกว่าอุตสาหกรรมที่ให้เช่าสำนักงานหรืออสังหาริมทรัพย์ที่มีรายได้ต่ำแต่มีมาร์จินสูง แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าหุ้นซุปเปอร์มาร์เก็ตดีกว่าหุ้นให้เช่าสำนักงาน
ข้อดีของ PSR ที่เหนือกว่าค่า PE ก็คือ มันเป็นตัวเลขที่มีความอ่อนไหวน้อย เนื่องจากยอดขายมักจะมีความมั่นคงและสม่ำเสมอกว่ากำไรมาก ดังนั้น ค่า PSR มักจะเปลี่ยนแปลงช้าถ้าราคาหุ้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ในขณะที่ถ้าเราใช้ค่า PE พอปีต่อไป ตัวเลขกำไรของบริษัทเปลี่ยนแปลงไป ก็ทำให้ค่า PE เปลี่ยนแปลงไปได้มากจนอาจจะไม่เหลือสภาพของหุ้น PE ต่ำทั้งที่ราคาหุ้นไม่เพิ่มขึ้นเลย
บางคนอาจจะบอกว่าค่า PSR นั้น ไม่ได้สะท้อนพื้นฐานที่สำคัญนั่นคือ กำไรของบริษัท เขาอาจจะบอกว่ายอดขายนั้นไม่มีประโยชน์ถ้าขายมากแต่ไม่มีกำไร ดังนั้น ค่า PSR ไม่น่าจะเป็นตัวที่ดูคุณค่าของบริษัทได้ ข้อนี้ผมกลับคิดว่า ค่า PSR อาจจะดีกว่าค่า PE ในแง่ที่ว่า มันน่าจะสะท้อนกำไรของบริษัทในระยะยาวได้ดีกว่า เหตุผลก็คือ กำไรที่จะยั่งยืนนั้นจะต้องมาจากยอดขาย ในหลาย ๆ บริษัทนั้น เขาถึงกับยอมกำไรน้อยหรือขาดทุนเพื่อเพิ่มยอดขายเพื่อยึดส่วนแบ่งทางการตลาด เพื่อที่ว่าในอนาคตเขาจะได้เปรียบคู่แข่งและทำกำไรมากขึ้นในภายหลัง ส่วนบริษัทที่กำไรดีในวันนี้แต่ยอดขายต่ำ เขาอาจจะประสบกับอุปสรรคหรือสภาวะทางการตลาดเปลี่ยนแปลงทำให้กำไรในปีต่อ ๆ ไปตกต่ำลง
ข้อดีข้อเสียของ PSR เทียบกับ PE หรือ PB ยังมีอีกหลายข้อ การถกเถียงคงไม่จบลงง่ายและคงไม่มีใครถูกหรือใครผิด ประเด็นก็คือ เรารู้ว่าจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละตัวอยู่ที่ไหนและใช้มันประกอบกัน ส่วนตัวผมเองนั้น ทุกครั้งที่พิจารณาเลือกหุ้นลงทุน แน่นอน PE เป็นตัวเลขที่สำคัญมาก แต่ PSR ก็สำคัญพอ ๆ กัน แต่ผมจะใช้เป็นตัว ตรวจสอบ นั่นก็คือ เมื่อดูแล้วว่าหุ้นน่าสนใจดูจากค่า PE ก่อนจะตัดสินใจสุดท้าย ผมจะดูว่าค่า PSR เป็นเท่าไร ถ้าค่า PSR สูง เช่นเกิน 1 เท่า ผมก็จะต้องระวังหรือถ้า PSR สูงถึง 2 เท่า ผมอาจจะต้องถอยถ้ากิจการไม่โดดเด่นจริง ๆ เป็นต้น และก็เช่นเดียวกัน การใช้ตัวเลข คุณค่า เหล่านี้เป็นเรื่องของศิลปะอยู่ไม่น้อย ดังนั้น ความคิดและวิธีการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผู้ชนะก็คือคนที่สามารถใช้มันได้ดีกว่า
กล่าวไว้ว่า ยอดขายไม่ได้สะท้อนกำไรของบริษัท
อยากให้ พี่ริวกะ หรือท่านอื่น ๆวิจัยจังครับ ว่า
หากลงทุนใน หุ้นที่ PSR ต่ำ ๆ ในปีก่อน ๆ
ผลตอบแทนจะดีแค่ไหน
แล้วเซียน ๆ ท่านอื่น ดูค่านี้หรือไม่ครับ
ผมว่าเป็นบทความที่ น่าสนใจมาก ของอาจารย์ น่าเอามาศึกษาต่อยอด