มีขึ้นย่อมมีลง
โพสต์แล้ว: จันทร์ ก.ค. 21, 2008 2:20 pm
เป็นมุมมองอีกด้านครับเรื่องราคาน้ำมันเอามาให้อ่านกันมีขึ้นย่อมมีลง
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2551
มีสัญญาณหลายอย่างที่บ่งบอกว่ากำลังจะเกิดภาวะ demand destruction ขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นชาติผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่สุดในโลก
เหมือนกับที่ปรากฏการณ์เอลนิโญมักจะถูกอ้างถึงเสมอ เวลาที่มีใครอยากจะอธิบายถึงสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน นักวิเคราะห์เศรษฐกิจทุกวันนี้ก็มักจะอธิบายแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้น โดยอ้างถึงแต่ปัจจัย "Chindia" (China+India) แต่นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ความเชื่อมักจะเกินความจริงเสมอ และไม่มีเรื่องไหนที่จะเห็นได้ชัดเจนมากไปกว่าเรื่องน้ำมัน
จริงอยู่ที่จีนมักเป็นผู้นำเสมอเมื่อเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ โดยความ ต้องการบริโภคของจีนมักมีสัดส่วน 25-30% ของความต้องการบริโภคโลหะ พื้นฐานและสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหมด แต่ถ้าเกี่ยวกับน้ำมันแล้ว ความจริงที่คุณอาจยังไม่รู้ก็คือ สหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดในตลาดโลก สหรัฐฯ ใช้น้ำมันเกือบ 25% ของผลผลิตน้ำมันทั้งหมดในโลก ในขณะที่จีน ใช้น้ำมันเพียง 9% เท่านั้น ส่วนอินเดียยิ่งห่างไกลจากการเป็นผู้บริโภครายใหญ่ในตลาดโภคภัณฑ์ เพราะอินเดียมีความต้องการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ ใดๆ ก็ตามเพียงแค่ไม่เกิน 5% ของความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกเท่านั้น และเพียงแค่ 3% ของความต้องการบริโภคน้ำมันทั่วโลก ความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีสาเหตุมาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดเกิดใหม่อย่างเช่นจีน อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ความต้องการที่เคยสูงในสินค้าโภคภัณฑ์หลายอย่างกลับลดลง ซึ่งบ่งชี้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ลดความร้อนแรงลงแม้กระทั่งใน Chindia และเมื่อนำไปพิจารณารวมกับการที่ความต้องการใช้น้ำมันลดต่ำลงในชาติที่พัฒนาแล้ว ก็หมายความว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นในปีนี้ล้วนแต่เป็นการวิ่งอยู่บนความว่างเปล่า
มีสัญญาณหลายอย่างที่บ่งชี้ว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นกำลังนำไปสู่ภาวะที่เรียกว่า demand destruction ในชาติผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดนั่นคือ สหรัฐฯ รายงานต่างๆ ตั้งแต่การที่คนอเมริกันลดการใช้รถลงมากที่สุด และยอดขายรถ SUV ที่ตกลงฮวบฮาบ ไปจนถึงการที่สายการบิน ต่างๆ พากันลดเที่ยวบินลง ล้วนเป็นสัญญาณว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันกำลังตกอยู่ในความเครียดอย่างหนัก ขณะเดียวกัน สัดส่วนการใช้จ่ายด้านน้ำมันต่อเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 7% ซึ่งเป็นระดับที่เคยเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อปลายปี 1979 และสิ่งที่เกิดหลังจากนั้นน่าสนใจมาก คือตั้งแต่ปี 1980-1983 การใช้น้ำมันได้ลดลง 10% และต้องใช้เวลาอีก 7 ปีถัดไป ปริมาณการใช้น้ำมันจึงได้กลับมาเพิ่มสูงเท่ากับระดับสูงสุดในปี 1979 อีกครั้ง ช่วงห่างของระยะเวลาดังกล่าวอาจไม่แน่นอนและไม่จำเป็นต้องเป็น 7 ปี แต่สุดท้ายแล้ว นี่ย่อมแสดงว่า น้ำมันก็เป็นธุรกิจที่มีวัฏจักรขึ้นลงไม่ต่างกับธุรกิจอื่นๆ
เมื่อนำราคาน้ำมันในปัจจุบันไปปรับกับค่าเงินเฟ้อปัจจุบันแล้วพบว่า ราคาน้ำมันได้กลับมาเพิ่มสูงในระดับเดียวกับปี 1979 เมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้เอง โดยราคาน้ำมันกลับมาพุ่งสูงถึง 900% อีกครั้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งกำลังก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ที่อยู่ในสภาพที่ไม่อาจทนทานต่อราคาน้ำมันที่พุ่งสูงลิบลิ่วได้อีกต่อไปแล้ว ประเทศตลาดเกิดใหม่หลายแห่ง ตั้งแต่อินโดนีเซียจนถึงอินเดีย ไม่สามารถจะแบกรับภาระการอุดหนุนราคาน้ำมันที่แพงลิ่วได้อีกต่อไป และไม่มีทางเลือกอื่นใดอีก นอกจากจะต้องผลักภาระราคาน้ำมันที่แพงขึ้นไปสู่ผู้บริโภคในที่สุด ก่อนถึงปลายปี 2007 ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นไม่ได้สร้างปัญหาให้แก่เศรษฐกิจโลกเลย เนื่องจากราคาที่แพงขึ้นนั้น สะท้อนความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในชาติกำลังพัฒนาซึ่งเศรษฐกิจกำลังเจริญรุ่งเรือง และสะท้อนถึงสถานการณ์ที่มั่นคงในสหรัฐฯ แต่ในช่วง 6 เดือนล่าสุดนี้ ราคาน้ำมันกลับทะยานขึ้นในอัตราที่เร็วที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัวลง
เมื่อพิจารณาสาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันลดลงในแต่ละครั้งในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จะพบว่า ล้วนเกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในด้าน ความต้องการใช้น้ำมัน (demand) และไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านปริมาณน้ำมันที่ป้อนตลาด (supply) แต่นักวิเคราะห์บางคนก็ยังคงจงใจจะมองข้ามหลักฐานที่บ่งชี้ถึงการเกิดภาวะ demand destruction และพยายามจะอ้างว่ามีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นกับการผลิตน้ำมันป้อนตลาดด้วยการอ้างถึงทฤษฎีที่เรียกว่า "peak oil" ที่ถูกอ้างกันจนเป็นแฟชั่น ทฤษฎีดังกล่าวระบุว่า โลกจะใช้น้ำมันจนเกือบหมดโลกภายช่วงระยะเวลา 300 ปี แต่ความจริงแล้ว ยังไม่มีหลักฐานใดๆ เลยที่บ่งชี้ว่า การผลิตน้ำมันในโลกทุกวันนี้ได้มาถึงระดับสูงสุดแล้ว และตลาดน้ำมันดิบในขณะนี้ ก็ยังคงมีน้ำมันป้อนตลาดอย่างสม่ำเสมอ ซ้ำยังคาดว่าการผลิตน้ำมันจะเติบโต 1.5-2% ในปีนี้ด้วย
ถ้าเช่นนั้น เหตุใดราคาน้ำมันจึงพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงนี้คำตอบ ก็คือ นี่คืออาการที่เกิดขึ้นในตลาด เมื่อตลาดกำลังจะมาถึงช่วงท้ายๆ ของ การพุ่งสูงสุดของราคาและการพุ่งขึ้นของราคาในช่วงท้ายนี้ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานเลย การที่ราคาพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงเป็นเพราะทุกคนต่างก็ต้องการจะมีส่วนร่วม เงินที่ไหลเข้าสู่กองทุนโภคภัณฑ์ที่นำโดยน้ำมันเพียงแค่ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ก็มากกว่าเงินที่ไหลเข้าสู่กองทุน ดังกล่าวตลอดทั้งปีที่แล้ว ราคาน้ำมันเพิ่งจะพุ่งพรวดขึ้นมากกว่า 2 เท่าของปีที่แล้วในปีนี้เอง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่สม่ำเสมอมาโดยตลอดคือ 35% ในช่วง 5 ปีก่อนหน้านั้น ตลาดหุ้น NASDAQ ก็เคยอยู่ในสภาพที่คล้ายกับตลาดน้ำมันในเวลานี้ คือราคาพุ่ง ขึ้นอย่างรุนแรงในปีก่อนหน้าที่ราคาจะพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงที่สุดในเดือนมีนาคม 2000 นอกจากนี้สัญญาณอีกอย่างคือ ขณะนี้ 6 ใน 10 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดเมื่อวัดจากมูลค่าตลาด คือบริษัทพลังงาน ซึ่งถ้าย้อนกลับไปในเดือนมีนาคม 2000 หุ้นของบริษัทเทคโนโลยีก็เคยยึดครองตำแหน่งบริษัท ที่ใหญ่ที่สุดส่วนใหญ่ใน 10 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาก่อน ช่วงเวลานี้ โลกดูเหมือนจะแบ่งแยกออกเป็นประเทศน้ำมันและประเทศไม่มีน้ำมัน โดยที่เศรษฐกิจของประเทศน้ำมันทุกแห่งเจริญรุ่งเรือง ในขณะที่ประเทศผู้ซื้อน้ำมันกำลังถูกคุกคามด้วยภาวะ stagflation จากน้ำมันแพง ซึ่งหมายถึงการเกิดภาวะที่การเติบโตชะลอตัว แต่เงินเฟ้อกลับกำลังเพิ่มขึ้น ตลอด 3 ปีที่แล้ว ประเทศที่นำเข้าน้ำมันสุทธิได้ถ่ายเท ความมั่งคั่งมากกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ไปยังประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ส่วนราคาน้ำมันในระดับปัจจุบัน การถ่ายเทความมั่งคั่งจากประเทศผู้ซื้อน้ำมันไปยังประเทศผู้ผลิตน้ำมันมีมูลค่าเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี
อย่างไรก็ตาม การถ่ายเทความมั่งคั่งดังกล่าวมีขีดจำกัด เนื่องจากมีสัญญาณบ่งชี้ว่า อาจเกิดภาวะ demand destruction ในชาติผู้ซื้อน้ำมันหลายชาติ ซึ่งจะทำให้การใช้น้ำมันลดลงในเวลาต่อไป และคงอีกไม่นานที่ความหมายของคำว่า "peak oil" จะเปลี่ยนไป โดยหมายถึงการที่ทั้งราคาน้ำมันและความต้องการใช้น้ำมันจะพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุด ก่อนที่จะตกลงมาตามวัฏจักรปกติของธุรกิจ และจะไม่ได้หมายถึง ความกลัวว่าน้ำมันกำลังจะหมดโลกอีกต่อไป
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
นิวสวีค 9 มิถุนายน 2551