หน้า 1 จากทั้งหมด 1

ผลตอบแทน VS ความเสี่ยง /โลกในมุมมองของ Value Investor

โพสต์แล้ว: จันทร์ ก.ย. 15, 2008 8:40 am
โดย oatty
16 ก.ย.51
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


นักลงทุนผู้มุ่งมั่นนั้น   จำเป็นที่จะต้องประเมินผลงานการลงทุนของตนเองอยู่ตลอดเวลา   เหตุผลก็คือ  ข้อแรก  จะได้รู้ว่าผลตอบแทนที่ทำได้นั้นดีและน่าพอใจแค่ไหน   ข้อสอง  รู้ว่าเรามีความเสี่ยงหรือได้เข้าไปรับความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน  และข้อสาม  เพื่อให้รู้ว่าผลตอบแทนที่ได้นั้น  เกิดจากฝีมือหรือความบังเอิญและมันคุ้มค่าไหมที่จะรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

การประเมินเรื่องผลตอบแทนการลงทุนนั้นดูเหมือนจะง่ายที่สุดเพราะเราก็เพียงแต่คำนวณว่าเราได้กำไรเท่าไรรวมถึงเงินปันผลแล้วก็นำมาตั้งหารด้วยเงินลงทุนตอนต้นงวดหรือต้นปีก็จะได้ว่าเราได้กำไรกี่เปอร์เซ็นต์ต่องวดหรือต่อปี    แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ   ถ้าเราลงทุนระยะยาวหลาย ๆ ปี อย่างที่เราทำอยู่   การคิดผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีนั้น   ต้องคิดผลตอบแทนทบต้นไม่ใช่ผลตอบแทนเฉลี่ยธรรมดา  ซึ่งจะทำให้ตัวเลขของผลตอบแทนนั้นลดลง   เช่น  ถ้าผลตอบแทนเฉลี่ยธรรมดาอาจจะได้  15%  ผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นอาจจะได้เพียง  12% ต่อปีเท่านั้น

ผลตอบแทนการลงทุนที่เราได้มาแต่ละปีนั้น  จะบอกว่าดีหรือไม่จะต้องดูข้อมูลอย่างน้อยสองตัวนั่นก็คือ  ผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์ซึ่งก็สามารถคำนวณได้โดยการนำดัชนีตลาดตอนปลายปีลบด้วยดัชนีตอนต้นปีแล้วหารด้วยดัชนีตอนต้นปีก็จะได้กำไรจากการที่ดัชนีปรับตัวขึ้นไปคิดเป็นเปอร์เซ็นต์   เสร็จแล้วก็จะต้องบวกด้วยผลตอบแทนจากปันผลหรือ  Dividend Yield ของตลาดหลักทรัพย์ซึ่งปัจจุบันน่าจะอยู่ที่ประมาณ  3- 4 %  ก็จะได้ผลตอบแทนรวมของตลาดต่อปี    การที่จะบอกว่าผลตอบแทนของเราดีหรือไม่นั้น   ก็ดูว่าผลตอบแทนของเราดีกว่าหรือแย่กว่าตลาด   วอเร็น บัฟเฟตต์  ในช่วงที่เริ่มลงทุนใหม่ ๆ  นั้น  เขาตั้งเป้าว่าผลตอบแทนของเขาควรจะดีกว่าตลาดประมาณ  10%  ต่อปี ซึ่งปรากฏว่าเขาทำได้ในช่วงเกือบ  50 ปีที่ผ่านมาและน่าจะเป็นสถิติที่ดีที่สุดในโลกคนหนึ่ง

การที่ผลตอบแทนดีกว่าตลาดนั้น   ในความเห็นของผมก็ยังไม่พอจะต้องมีข้อสอง   นั่นก็คือ   เราจะต้องไม่ขาดทุน   การที่ผลงานการลงทุนของเราดีกว่าตลาดแต่ขาดทุนนั้น  ถ้าดูแล้วก็ไม่มีประโยชน์และความมั่งคั่งของเราจะลดลง   อย่าลืมว่า  ตลาดหุ้นนั้นโดยเฉลี่ย  10 ปี จะขาดทุนประมาณ  4  ปี  และกำไร 6 ปี  ถ้าตลาดขาดทุนแล้วเราทำได้ดีกว่าตลาดแต่ก็ขาดทุนเหมือนกัน  แบบนี้โอกาสที่พอร์ตของเราจะได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวก็น้อยลงไปมาก   วอเร็น บัฟเฟตต์  ที่มีความโดดเด่นมากนั้นส่วนสำคัญที่คนอาจจะลืมไปก็คือ  ในช่วง  เกือบ  50 ปีที่ลงทุนเขาน่าจะเคยขาดทุนไม่เกิน 3-4 ปี ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นผลงานที่ยิ่งกว่าเรื่องของผลตอบแทนที่เขาทำได้

เรื่องของความเสี่ยงในการลงทุนนั้น   มองโดยภาพรวมจะบอกว่าเรารับความเสี่ยงสูงหรือไม่นั้นสามารถมองได้สองเรื่อง    เรื่องแรกก็คือ  เรากู้เงินหรือใช้มาร์จินในการซื้อขายหุ้นหรือไม่  ถ้าใช่และใช้มากด้วย   นี่ก็เป็นการบอกว่าเราเสี่ยงสูง   ถ้าไม่ใช้เลยแปลว่าความเสี่ยงเราต่ำหรือเราไม่เสี่ยง    อีกจุดหนึ่งที่พอจะมองได้ก็คือ   ผลตอบแทนของพอร์ตของเราในอดีตที่ผ่านมา    ถ้าผลตอบแทนที่ได้ปีต่อปีของเรานั้น  มีการผันผวนสูงและเคยมีการ  “ขาดทุนร้ายแรง”  เป็นครั้งคราว  แบบนี้อาจจะมองได้ว่าที่เราทำมานั้น   เรามีความเสี่ยงสูงถึงแม้ว่าโดยรวมเรายังมีผลตอบแทนที่ดี    แต่ความเสี่ยงนั้นแปลว่าอาจจะมีวันในอนาคตที่เราจะประสบกับความเสียหายหนักหรือหายนะที่อันตรายได้  วอเร็น บัฟเฟตต์  นั้นใช้เงินกู้น้อยมาก   แต่นั่นก็อาจจะเป็นเพราะเขามีเงินที่  “ไม่มีดอกเบี้ย” จากเบี้ยประกันของบริษัทประกันภัยของเขามาใช้ลงทุนมากมาย

มองความเสี่ยงในภาพเล็กลงมาเราก็อาจจะมองจากจำนวนและขนาดของหุ้นแต่ละตัวที่เราถือหรือเคยถืออยู่    ถ้าเรามักถือหุ้นจำนวนน้อยมากเช่น  ถือเพียงตัวเดียวหรือสองตัว  หรือถือหลายตัวแต่ตัวที่ถือหนัก ๆ  นั้นมีเพียงตัวเดียวหรือสองตัว  แบบนี้ก็ต้องบอกว่าเรารับความเสี่ยงมากกว่าการที่จะถือหุ้นถึง 4-5 ตัวกระจายกันไปโดยไม่มีตัวที่มากขนาดเป็น  50%  ของพอร์ต
   
บางคนอาจจะบอกว่าตนเอง  “ไม่เสี่ยง”   เพราะได้พิจารณาและวิเคราะห์เป็นอย่างดี   ความเสี่ยงสำหรับเขาก็คือ  “ความไม่รู้   ถ้ารู้ก็ไม่เสี่ยง”   นี่อาจจะเป็นเรื่องของความมั่นใจในความสามารถของตนเอง   แต่คนเรานั้นย่อมไม่สามารถรู้อะไรทั้งหมด   และหุ้นนั้นเป็นอะไรที่จะถูกผลกระทบจากปัจจัยภายนอกได้มากมาย   ดังนั้น   สำหรับผมแล้ว   การถือหุ้นน้อยตัวเกินไปหรือหนักเกินไปในบางตัวนั้น   เป็นความเสี่ยงเสมอ   เช่นเดียวกับการถือหุ้นมากตัวเกินไปที่มีความเสี่ยงที่เกิดจากการที่เรา  “ไม่รู้”  เพราะศึกษาไม่ดีพอ   บัฟเฟตต์  เองนั้น  แม้ว่าจะเป็นคนที่ถือหุ้นน้อยตัว   แต่แทบไม่เคยที่เขาจะลงทุนในหุ้นตัวเดียวถึง  50% ของพอร์ต  ยกเว้นในช่วงสั้น ๆ  ที่เขาเคยถือหุ้นอเมริกันเอ็กซเพรสที่กำลังเกิดปัญหารุนแรงและราคาหุ้นถูกอย่างเหลือเชื่อ

ความเสี่ยงนั้น  บางทีก็ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าอย่างที่พูดว่า  “ถ้าไม่เข้าถ้ำเสือจะได้ลูกเสืออย่างไร”  ดังนั้น   Value Investor หลาย ๆ  คนจึงยอมเสี่ยงมากกว่าปกติ  เช่น ใช้มาร์จินซื้อขายหุ้น   ซื้อหุ้นลงทุนในแต่ละช่วงเพียงตัวเดียวหรือสองตัว   หลายคนมีผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนขึ้น  ๆ  ลง ๆ  ไม่ต่างกับนักเก็งกำไร  ผลที่ออกมาหลายคนอาจจะน่าประทับใจมากจนกลายเป็น  Role Model  หรือตัวอย่างให้คนทำตาม   แต่หลายคนก็อาจจะขาดทุนผิดหวังและเก็บตัวเงียบอยู่คนเดียวอย่างที่เรียกว่า   “คนตายไม่ได้พูด”

ถ้าเช่นนั้น   ในฐานะของ  Value Investor  เราควรรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหรือไม่   พูดอีกอย่าง  มันคุ้มไหมที่เสี่ยงเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น   คำตอบของผมก็คือ  มันขึ้นอยู่กับแต่ละคน  ถ้าเงินที่เราลงทุนในหุ้นเป็นเงินจำนวนไม่มากในแง่ของเรา   หรือมันอาจจะมากแต่เรายังมีทางหามาใหม่ได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดถ้าหากว่ามันหมดหรือลดลงไปมาก   ในลักษณะแบบนี้   เราก็สามารถที่จะเสี่ยงได้มาก    แต่ถ้าเม็ดเงินที่มีอยู่มีจำนวนมากและเราพอใจที่จะมีความมั่งคั่งในระดับนั้นมากอยู่แล้ว   การเสี่ยงเพื่อให้พอร์ตโตเร็วขึ้นอีกก็อาจจะไม่คุ้ม

เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  เราต้องรู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นมีความเสี่ยงแค่ไหนและโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนเพิ่มจะมีมากน้อยแค่ไหน   บ่อยครั้งที่เราลงทุน  เราอาจจะคิดว่าความเสี่ยงมีน้อยทั้งที่มันอาจจะมาก   การที่เราเคยทำแล้วประสบความสำเร็จนั้นไม่ได้หมายความว่าความเสี่ยงต่ำ  เพียงแต่ว่าผลร้ายมันยังไม่เกิด  ความสำเร็จที่เกิดขึ้นหลาย ๆ  ครั้งอาจทำให้เราชะล่าใจคิดว่าเราเก่งเราเข้าใจดี   แต่อาจจะมีวันที่เราทุ่มลงทุนอย่างหนักด้วยความมั่นใจสูงแต่ผลอาจจะเป็นทางตรงกันข้ามและนั่นอาจจะหมายถึงหายนะ    พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงกรณีของบริษัทเงินทุน  Fin One ของนายปิ่น จักกะพาก  ซึ่งครั้งหนึ่งประสบความสำเร็จสูงมากจากการเติบโตอย่างรวดเร็ว  ในตอนนั้นคุณปิ่นเคยให้สัมภาษณ์ว่า  Fin One ทำงานอย่างอนุรักษ์นิยมมากและเน้นความปลอดภัยสูงสุด  Fin One ไม่  “Take Risk” หรือรับความเสี่ยงสูง  แต่แล้วก็อย่างที่ทราบกัน  Fin One ล่มสลายในยามที่มันโตสุดขีด    บทเรียนเรื่องนี้สอนให้ผมตระหนักว่า  หายนะอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา   และมันมักจะเกิดตอนที่เรามั่นใจสุดขีด

ผลตอบแทน VS ความเสี่ยง /โลกในมุมมองของ Value Investor

โพสต์แล้ว: จันทร์ ก.ย. 15, 2008 9:27 am
โดย mario
เห็นด้วยอย่างยิ่งกับบทความนี้ครับ

Investing is not about big returns ,it's about safety of principal and satisfactory returns.

Re: ผลตอบแทน VS ความเสี่ยง /โลกในมุมมองของ Value Investor

โพสต์แล้ว: จันทร์ ก.ย. 15, 2008 6:23 pm
โดย Sittipan.tvi
[quote="oatty"]

ผลตอบแทน VS ความเสี่ยง /โลกในมุมมองของ Value Investor

โพสต์แล้ว: จันทร์ ก.ย. 15, 2008 10:10 pm
โดย i_sarut
สุดยอดครับ  :bow:  :bow:  :bow:

Re: ผลตอบแทน VS ความเสี่ยง /โลกในมุมมองของ Value Investor

โพสต์แล้ว: อังคาร ก.ย. 16, 2008 1:14 pm
โดย สวนหย่อม
oatty เขียน:
ความเสี่ยงนั้น  บางทีก็ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าอย่างที่พูดว่า  “ถ้าไม่เข้าถ้ำเสือจะได้ลูกเสืออย่างไร”  ดังนั้น   Value Investor หลาย ๆ  คนจึงยอมเสี่ยงมากกว่าปกติ  เช่น ใช้มาร์จินซื้อขายหุ้น   ซื้อหุ้นลงทุนในแต่ละช่วงเพียงตัวเดียวหรือสองตัว   หลายคนมีผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนขึ้น  ๆ  ลง ๆ  ไม่ต่างกับนักเก็งกำไร  ผลที่ออกมาหลายคนอาจจะน่าประทับใจมากจนกลายเป็น  Role Model  หรือตัวอย่างให้คนทำตาม   แต่หลายคนก็อาจจะขาดทุนผิดหวังและเก็บตัวเงียบอยู่คนเดียวอย่างที่เรียกว่า   “คนตายไม่ได้พูด”

ผลตอบแทน VS ความเสี่ยง /โลกในมุมมองของ Value Investor

โพสต์แล้ว: อังคาร ก.ย. 16, 2008 2:08 pm
โดย Linzhi
ขอบคุณดร.มาก ๆ อ่านบทความท่านทุกอาทิตย์เหมือนเข้าวัดเข้าโบสถ์
เตือนใจตัวเองตลอดเวลา  :bow:  :bow:

ผลตอบแทน VS ความเสี่ยง /โลกในมุมมองของ Value Investor

โพสต์แล้ว: พุธ ก.ย. 17, 2008 1:26 am
โดย ภูมิ
สุดยอดครับ ทุกบทความเตือนสติได้ดีจริงๆครับ ท่าน อ.