หน้า 1 จากทั้งหมด 1

กูรูนิเวศน์แนะอดทน..ทยอยเก็บหุ้นเพิ่ม

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ พ.ย. 09, 2008 8:37 am
โดย tum_H
กูรูนิเวศน์แนะอดทน..ทยอยเก็บหุ้นเพิ่ม

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร:

“ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนในหุ้นแบบเน้นคุณค่า (Value Investor) ยอมรับว่า การที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงทั่วโลกรวมทั้งไทยอย่างรุนแรงและรวดเร็วทำให้ความมั่งคั่งของพอร์ตการลงทุนในหุ้นของนักลงทุนหายไปมากพอสมควร

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ :  อย่างไรก็ตาม ด้วยสไตล์การลงทุนแบบเน้นคุณค่าเรามองคุณค่าของตัวธุรกิจในระยะยาวเป็นกุญแจสำคัญในการลงทุน ไม่ได้ไปเก็งภาวะตลาดว่าจะขึ้นหรือลงเพราะภาวะตลาดที่มีความผันผวนเป็นปกติธรรมดาไม่มีใครรู้ว่าจุดต่ำสุดหรือสูงสุดอยู่ตรงไหน

"เราจะไม่ไปปรับเปลี่ยนการลงทุนตามภาวะตลาดภาพใหญ่ที่เปลี่ยนไปแต่จะเน้นมองคุณค่าของหุ้นที่เข้าไปลงทุนเป็นสำคัญ"

การลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะไม่พยายามไปเก็งหรือคาดการณ์ในสิ่งที่คาดการณ์ได้ยาก เช่น ตลาดหุ้นจะฟื้นเมื่อไร จะลงไปต่ำสุดที่ไหน ตลาดจะขึ้นหรือลง เพราะมีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่รู้

 “ ถ้าเราพยายามไปคาดการณ์หรือกำหนดหรือเก็งในอะไรที่เราไม่มีความสามารถจะไปคาดการณ์ ไม่มีความรู้จริง ก็อย่าไปทำ จะทำให้การลงทุนเพี้ยนไปหมด แต่เราจะมองว่ากิจการที่เราลงทุนอยู่นั้นยังดีอยู่หรือเปล่า ซึ่งหุ้นในพอร์ตที่ตัวเองลงทุนอยู่เดิมแม้จะได้รับความเสียหายจากราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลง

แต่โดยพื้นฐานของหุ้นแล้วไม่ได้เปลี่ยนไป จึงไม่ได้ขายหุ้นออกแต่ประการใด เมื่อมีเม็ดเงินใหม่ก็จะทยอยซื้อลงทุนเพิ่มเพื่อเฉลี่ยต้นทุนไปในตัวด้วย เพราะพื้นฐานของหุ้นแม้จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวไปบ้าง แต่ราคากลับปรับตัวลงมามากกว่าพื้นฐานของหุ้นที่เปลี่ยนแปลงไป จึงถือเป็นโอกาสที่ดีในการทยอยเข้าสะสมหุ้นเพิ่ม ”

ดร.นิเวศน์ ยังบอกอีกว่า ด้วยสไตล์การลงทุนแบบเน้นคุณค่าทำให้พอร์ตการลงทุนได้รับความเสียหายไปบ้างพอสมควร เพราะเรามองการลงทุนระยะยาวซึ่งในที่สุดราคาหุ้นต้องกลับมาสะท้อนพื้นฐานที่แท้จริงของหุ้น แต่ราคาที่ปรับตัวลงนี้เป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น จากการที่ต่างชาติเทขายหุ้นโดยไม่ได้คำนึงถึงพื้นฐานของหุ้นเลย หลายคนมองว่าราคาหุ้นถูกแล้วยังมีที่ถูกกว่าอีกเกิดขึ้นเสมอ

อย่างไรก็ตาม การที่ราคาปรับตัวลงมาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานเช่นนี้ก็ไม่ใช่เวลาหรือจังหวะในการขายหุ้นแล้ว ด้วยสไตล์การลงทุนแบบเน้นคุณค่ายิ่งราคาปรับตัวลงมาต่ำกว่าพื้นฐานที่ควรจะเป็นของหุ้นมาก ยิ่งเป็นโอกาสและจังหวะในการเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มมากกว่า เพราะมีส่วนต่างหรือโอกาสในการทำกำไรที่กว้างมากขึ้น ถ้าไปขายหุ้นตอนนี้ก็จะดูขัดกับสไตล์การลงทุนแบบเน้นคุณค่าของตัวเองไป

“ ในขณะที่นักลงทุนบางคนอาจจะมองว่าราคาหุ้นจะปรับตัวลงไปอีก ขายตอนนี้ แล้วค่อยไปซื้อกลับใหม่ที่ต่ำกว่าแบบนั้นถ้าทำได้ก็เป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่วิธีการลงทุนที่ผิดอะไร แต่ส่วนตัวเน้นการลงทุนแบบเน้นคุณค่าการที่มองว่าราคาหุ้นต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานก็ไม่ควรขายแล้ว

ถ้ามองว่าราคาจะลงต่อ แล้วค่อยไปซื้อกลับก็เหมือนกับการเข้าไปเก็งตลาดซึ่งจะผิดหลักการของการลงทุนแบบเน้นคุณค่าไป เพราะเราต้องดูที่คุณค่าของกิจการในระยะยาวเป็นสำคัญ ไม่ได้ไปเก็งกำไรกระแสเงินทุนไหลเข้าออกของนักลงทุนต่างชาติ เราไม่ได้ลงทุนในหุ้นแบบเก็งกำไรแต่เน้นการลงทุนระยะยาวจริงๆ ”

 ดร.นิเวศน์ กล่าวเสริมว่า การลงทุนแบบเน้นคุณค่าเป็นสไตล์การลงทุนระยะยาวในตัวกิจการของบริษัทที่เข้าไปลงทุนจริงๆ ดังนั้นถ้าพื้นฐานธุรกิจยังดีอยู่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปขายหุ้นทิ้ง และราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงก็จะเป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น ถ้าเราสามารถที่จะทนดูราคาหุ้นที่เราลงทุนมีราคาตกต่ำได้บ้าง ความจำเป็นในการที่จะต้องไปใช้ Futures เพื่อป้องกันความเสี่ยงก็จะน้อยลงไปด้วย

เพราะการเข้าไปใช้ Futures ก็เป็นการเก็งภาวะตลาดเช่นเดียวกัน เก็งว่าจะขึ้นหรือลง ซึ่งไม่ใช่แนวทางการลงทุนแบบเน้นคุณค่าอีกทั้งยังมีต้นทุนของการเข้าไปใช้อีกด้วย

หากเรามองการลงทุนในระยะยาวซึ่งมุมมองการลงทุนจะเปลี่ยนแปลงไปกับสิ่งที่เราวิเคราะห์ตัวกิจการที่เข้าไปลงทุนมากกว่าซึ่งเป็นผลกระทบในระยะยาว

 “ ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมามาก ทำให้ราคาต่ำกว่าพื้นฐาน มาร์จินยิ่งมาก ราคาหุ้นยิ่งถูกลง ถ้ามีเงินใหม่ก็จะนำเข้าไปซื้อลงทุนเพิ่ม ดังนั้นการเป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าเรื่องของจิตใจเป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าวิธีการลงทุนเลย ”

ในภาวะที่ตลาดหุ้นยังอยู่ในแนวโน้มขาลงเช่นนี้ เชื่อว่ากลยุทธ์เหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ลงทุนอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

กูรูนิเวศน์แนะอดทน..ทยอยเก็บหุ้นเพิ่ม

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ พ.ย. 09, 2008 8:57 am
โดย tum_H
วิกฤตการเงินฟาดหางซีอีโอ, เซียนหุ้น 10 เดือน บัฟเฟตต์สูญ 1.36 หมื่นล้านดอลล์


แม้ตลาดหุ้นนิวยอร์กจะปิดซื้อขายเมื่อ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ด้วยตัวเลขบวกเพิ่ม 144.32 จุด ของดัชนีดาวโจนส์ ซึ่งส่งผลให้บรรยากาศทั่วไปในตลาดการเงินอยู่ในภาวะผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น แต่สถานการณ์ดังกล่าวก็ไม่สามารถปิดบังภาพความเป็นจริงของตลาดหุ้นตลอดเดือนนี้ได้

นับถึง 31 ตุลาคม พบว่าดัชนีดาวโจนส์ตลอดทั้งเดือนดิ่งลง 14% หรือปรับตัวลง 1,526 จุด ทำสถิติเป็นเดือนที่ผันผวนมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้น

ขณะที่ดัชนีเอส แอนด์ พี 500 ปิดตลาดวันศุกร์ ขยับขึ้น 14.66 จุด หรือ 1.54% แต่ตลอดทั้งเดือน เอส แอนด์ พี 500 ดิ่งแรงถึง 198 จุด หรือ 16.9%

ส่งผลให้ตลอดเดือนตุลาคมเป็น Red October ด้วยสถิติดัชนีตลาดหุ้นทรุดตัวเลวร้ายที่สุดในรอบ 21 ปี

ที่น่าสนใจคือ นับจากต้นปี ถึง 31 ตุลาคม 2551 ดัชนี เอส แอนด์ พี 500 ดิ่งลงไปแล้วประมาณ 36% โดยแยกพิจารณารายเซ็กเตอร์ ภาพรวมหุ้นแต่ละกลุ่ม ทรุดตัวลงประมาณ 20% หรือมากกว่า

ในภาพใหญ่ ตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ในสถานการณ์ไม่แตกต่างกัน ทำสถิติตกต่ำมากที่สุดในเดือนเดียวเกือบ 20%

ภาวะผันผวนดังกล่าว ส่งผลให้มูลค่าพอร์ตการลงทุนในกองทุน จนถึงมูลค่าหุ้นของบริษัทต่างๆ ทรุดตัวถ้วนหน้า โดยสำนักข่าวเอพีได้ประมวลความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแหล่งข้อมูลที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

ศูนย์วิจัยโครงการเพื่อการเกษียณของบอสตัน คอลเลจ ประเมินว่า มูลค่าหุ้นในบัญชีกองทุนเพื่อการเกษียณส่วนบุคคลและของรัฐบาลลดวูบลงราว 2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าการถือครอง ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา และพบ ด้วยว่า การขาดทุนในลักษณะเดียวกัน เกิดขึ้นกับพอร์ตการลงทุนของกองทุนบำนาญ ทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมกันประมาณ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ เช่นกัน

ไม่เพียงเท่านั้น เอพียังพบว่าการดำดิ่งอย่างต่อเนื่องในรอบปีนี้ ได้ส่งผลให้มูลค่าหุ้นในมือของบรรดาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ บริษัทต่างๆ ลดลงโดยถ้วนหน้า

โดยจากการวิจัยข้อมูลของบริษัท ที่ปรึกษาด้านผลตอบแทน และเงินเดือน "สตีเฟน ฮอลล์ แอนด์ พาร์ตเนอร์ส" พบว่ามูลค่าหุ้นที่ซีอีโอถือครองในบริษัทของพวกเขาเอง ซึ่งเป็นบริษัทอเมริกันขนาดใหญ่ 175 แห่ง ลดลงเฉลี่ย 49%

ในจำนวนนี้ พบว่ามูลค่าหุ้นในการถือครองของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ซีอีโอของ บริษัทเบิร์กไชร์ แฮทอะเวย์ ลดลง 22% หรือคิดเป็นตัวเงินราว 1.36 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งผลให้มูลค่าหุ้นที่นักการเงินมือหนึ่งของโลก ถืออยู่ในบริษัทนี้ ลดลงเหลือ 4.81 หมื่นล้านดอลลาร์

ขณะที่มูลค่าหุ้นในมือของ ลาร์ รีเอลลิสัน ซีอีโอ และผู้ก่อตั้งบริษัท ออราเคิล นับถึงขณะนี้ ลดลง 6.2 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 22% ส่งผลให้มูลค่าที่เขาถือครองในบริษัทนี้ลดลงเหลือ 2.01 หมื่นล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ยังมี สตีฟ บอลเมอร์ แห่งไมโครซอฟท์ เจฟฟ์ เบซอส ของค่าย อะเมซอนดอตคอม และ รูเพิร์ต เมอร์ด็อก ที่มูลค่าหุ้นลดลง 5.1 พันล้านดอลลาร์ 3.6 พันล้านดอลลาร์ และ 4 พันล้านดอลลาร์ ตามลำดับ

ทั้งนี้ข้อมูลจากสตีเฟน ฮอลล์ แอนด์ พาร์ตเนอร์ส นำมาใช้คำนวณเป็นข้อมูล ที่เก็บตั้งแต่ต้นปี 2551 จนถึง 29 ตุลาคม ที่ผ่านมา

สตีฟ ฮอลล์ ผู้ก่อตั้ง และกรรมการ ผู้จัดการ บริษัทที่ปรึกษารายนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะที่ทุกคนต้องการเห็น ผู้บริหารระดับสูงได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ด้วย ซึ่งหากพิจารณาผลสรุปของการวิจัย ซีอีโอเหล่านั้นถือว่าได้รับผลกระทบแล้ว แต่ในที่สุดแล้วผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ของบริษัทก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

โดยยกตัวอย่างกรณีบริษัททราซินดา ของ เคิร์ก เคอร์คอเรียน มหาเศรษฐี พันล้านคนหนึ่งของสหรัฐ ซึ่งได้เข้าซื้อหุ้นฟอร์ด มอเตอร์ส ในช่วงต้นปี ที่ราคาเฉลี่ย 7.10 ดอลลาร์ต่อหุ้น เป็นจำนวน 141 ล้านหุ้น หรือ 6.49% ของหุ้นทั้งหมดในบริษัทฟอร์ด กระทั่งค่ายรถยนต์รายนี้มีปัญหาด้านการเงิน อันเป็นผลมาจากยอดขายตกต่ำ และตลาดสินเชื่อตึงตัวมาก

ส่งผลให้ทราซินดาต้องประกาศขายหุ้นในมือบางส่วนออกมาถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก 7.3 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.43 ดอลลาร์ต่อหุ้น และอีกครั้งที่ราคา 2.01 ดอลลาร์หุ้น เป็นจำนวน 26.4 ล้านหุ้น หรือเท่ากับ 25% ของหุ้นที่ทราซินดาถือในฟอร์ด

เช่นเดียวกับ คาร์ล ไอคาห์น ซึ่งประสบปัญหาลักษณะเดียวกันจากการลงทุนถือหุ้นในยาฮู หลังจากซื้อหุ้นมา 69 ล้านหุ้น หรือเกือบ 5% ของหุ้นยาฮูทั้งหมด ซึ่งนับถึง 30 มิถุนายน มูลค่าหุ้นของยาฮูอยู่ที่ 20.60 ดอลลาร์ต่อหุ้น แต่หลังจากนั้นราคาหุ้นของยาฮูก็ตกลง จนกระทั่งเหลือประมาณ 13 ดอลลาร์ต่อหุ้น ส่งผลให้มูลค่าหุ้นในมือไอคาห์นลดลงมากกว่า 500 ล้านดอลลาร์
http://www.matichon.co.th/prachachat/p ... ionid=0205

กูรูนิเวศน์แนะอดทน..ทยอยเก็บหุ้นเพิ่ม

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ พ.ย. 09, 2008 9:23 am
โดย ส.สลึง
หลักการย่อมเป็นไปตามหลักการเสมอครับ :cool:  :cool:  :cool:

ปล.
ดีใจเมื่อหุ้นลง และมีความสุขเมื่อหุ้นขึ้นครับ :cheers:  :cheers:  :cheers:

ปฬ.
เมื่อก่อนผมมีเงินสิบบาท เมื่อวานผมมีเงินหนึ่งร้อยบาท มาวันนี้เหลือเงิน 50 บาท
จะเหมาว่าผมสูญเงิน 50 บาทได้ไง..? (มีฟามสุขจะตาย !!!)

กูรูนิเวศน์แนะอดทน..ทยอยเก็บหุ้นเพิ่ม

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ พ.ย. 09, 2008 11:31 am
โดย tum_H
ปีหน้าจะไม่เกิด Great Depression

   ช่วงนี้คนชอบถามว่าเศรษฐกิจโลกจะเกิด Great Depression หรือไม่
       ผมขอฟันธงว่า จะไม่เกิด Great Depression แน่นอน
       ทำไมจึงมั่นใจเช่นนั้น
       คำตอบคือ ปัญหาครั้งที่แล้วเกิดจาก "หมอรักษาโรคผิด เพราะไม่เข้าใจว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่" ซึ่งช่วง 80 ปีที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์ได้มีเข้าใจเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจ และวิกฤติการเงินเพิ่มขึ้นมาก และประเด็นต่างๆ ที่เข้าใจมากขึ้นนี้ จะช่วยขจัดห่วงโซ่ที่จะนำเศรษฐกิจโลกไปสู่การเกิด Great Depression เหมือนเมื่อปี ค.ศ. 1929 จนกระทั่งมีคนตกงานสูงถึง 25% ของกำลังแรงงานเป็นเวลายาวนานหลายปี
       นักเศรษฐศาสตร์และนายธนาคารกลางประเทศต่างๆ เข้าใจอะไร
       1. เข้าใจว่า ไม่สามารถที่จะปล่อยให้ธนาคารล้มทั้งระบบได้ (ถ้าจะล้ม 1-2 แห่งไม่เป็นไร) แต่ถ้าเริ่มล้มทั้งระบบ และคนเริ่มแห่ถอนเงินจากทุกธนาคาร ทางออกก็คือการประกาศค้ำประกันเงินฝากเต็มจำนวน ที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงวิกฤติครั้งดังกล่าว หลังจากประชาชนแตกตื่น แห่กันไปถอนเงิน มีธนาคารล้ม 744 แห่งในสหรัฐฯ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 1930 และในช่วง 10 ปีต่อมามีธนาคารล้มทั้งหมดกว่า 9,000 แห่ง
       การปล่อยให้แบงก์ล้มโดยไม่เข้าไปช่วยเหลือนี้ ส่งผลให้เกิดการล้มลงแบบ Dominoes ท้ายสุดระบบการเงินที่เป็นเครื่องจักรสำคัญในการสูบฉีดเงินไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจก็ต้องหยุดชะงักลง ประเด็นนี้จึงเป็นสาเหตุหลักที่ประเทศต่างๆ ได้จัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากในช่วงเวลาถัดมา และภาครัฐจะเลือกที่จะเข้าไปค้ำประกันเงินฝากทั้งระบบเวลาเกิดวิกฤติ เช่นในเดือนที่แล้ว เพื่อกำจัดวัฏจักรอันตรายนี้
       2. เข้าใจว่า ระหว่างที่เกิดวิกฤติสถาบันการเงิน ธนาคารกลางต้องระมัดระวังไม่ให้ปริมาณเงินในระบบลดลงไป เช่นกับช่วงวิกฤติดังกล่าว ที่ปริมาณเงินลดลงไปถึง 1 ใน 3 ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณเงินในระบบขึ้นอยู่กับ (1) นโยบายการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ถ้าธนาคารพาณิชย์พยายามป้องกันตนเอง เก็บเงินสดไว้กับตนเองให้มาก ปล่อยกู้ให้น้อย รวมทั้งถูกกฎเกณฑ์ของภาครัฐที่กำหนดไว้เกี่ยวกับการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (ซึ่งในครั้งนั้น คือทองคำ) ทำให้แบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ ปริมาณเงินก็ลดลง นอกจากนี้ (2) การที่มีธนาคารพาณิชย์ล้ม ก็ทำให้ปริมาณเงินลดลงเช่นกัน
       ครั้งนั้น ธนาคารกลางไม่ทันเฉลียวใจเรื่องปริมาณเงินในระบบที่ลดลง แต่มุ่งดูแลให้ธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคง รับการถอนเงินได้ ท้ายที่สุด ปริมาณเงินในระบบจึงปรับตัวลดลงมาก และทำให้เศรษฐกิจเกิดภาวะเงินฝืด และซ้ำเติมวิกฤติ ในครั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวก็คงไม่เกิด เพราะเท่าที่เห็น ธนาคารต่างๆ ทั่วโลก กำลัง pump เงินเข้าระบบเป็นจำนวนมาก อย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแลปริมาณเงินในระบบให้เพียงพอ ปัญหาเรื่องนี้ก็น่าจะบรรเทาเบาบางไป
       3. หลังเกิดวิกฤติปี 1929 ประเทศต่างๆ เริ่มหันมาสู่การปกป้องการค้าของตนเองมากขึ้น เพราะประเทศที่เกิดปัญหา จะนำเข้าน้อย และจะเกินดุลการค้า ทำให้ประเทศอื่นๆ ก็จะออกมาตรการมาเพื่อลดปัญหาการขาดดุลการค้าที่มากขึ้น ปัญหาจึงวนเป็นวงกลม นำไปสู่วงจรของการปรับเพิ่มกำแพงการค้าของประเทศต่างๆ
       ทั้งหมดนี้ ทำให้ปริมาณการค้าระหว่างประเทศที่ลดลง และการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ ทำให้ยอดขายของทุกคนลดลง ต้องลดคนงาน ปิดกิจการ และทำให้วิกฤติลุกลามขึ้นไปอีก ในครั้งนี้ ใต้วิกฤติที่เรากำลังเผชิญอยู่ ก็ยากที่ประเทศต่างๆ จะปรับเพิ่มกำแพงการค้าให้มากขึ้นเพราะอยู่ใต้กฎของ WTO ด้วยเหตุนี้ โอกาสที่จะมีอาการแทรกซ้อนจากนโยบายการค้าที่ผิดก็จะหมดไป
       4. ที่สำคัญที่สุด เมื่อ 80 ปีที่แล้ว เรายังไม่มีความรู้เรื่อง Keynesian Economics ทุกคนยังเชื่อใน Neoclassical Economics ที่บอกว่าในระยะยาวตลาดจะดูแลตนเอง ซึ่งครั้งนั้น ตลาดใช้เวลานานมากในการดูแลตนเอง แม้กระทั่งรัฐบาลในช่วงดังกล่าวก็เลือกที่จะไม่ทำอะไร จนกระทั่ง Keynes ต้องพูดหมิ่นว่า In the long run, we are all dead. และเสนอแนวคิดการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อการออกจากภาวการณ์ถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งแนวคิดนี้เป็นแนวคิดเบื้องต้นของการบริหารเศรษฐศาสตร์มหภาคที่ทุกประเทศนำมาใช้ในช่วงที่ผ่านมา
       จะเห็นได้ว่า ตอนนี้ ทุกประเทศกำลังประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้แล้ว ทั้งๆ ปัญหาเศรษฐกิจยังไม่สุกงอมเต็มที่ ซึ่งถ้าทุกประเทศช่วยกันกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นนี้ ทั้งผ่านนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง โอกาสที่โลกจะพ้นจากวิกฤติก็มีมาก และคงยากที่จะเกิดปัญหาคนตกงานถึง 25% เหมือนช่วงดังกล่าว
       ถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะไม่มีปัญหาอะไรที่ต้องกังวลใจ ใช่หรือไม่
       ความจริง ประเด็นที่น่ากังวลใจไม่ใช่การเกิด Great Depression แต่กลับเป็นเรื่องของการที่เศรษฐกิจจะซึมลึก ลากยาวหลายปี หรือเรียกว่าเศรษฐกิจซอมบี้ ไม่ขยายตัว แต่ไม่ถดถอย เหมือนที่ญี่ปุ่นต้องประสบอยู่เป็นเวลานานในปี 1990-2000 ซึ่งประเด็นนี้ จะเกิดจากการที่รัฐบาลไม่เอาจริงเรื่องการล้างหนี้เสียในสถาบันการเงิน หรือปิดสถาบันการเงินที่มีปัญหา ซึ่งถ้าอเมริกาเลือกที่จะประวิงปัญหา ไม่ดูแลแต่เนิ่นๆ ไม่เอาจริง เศรษฐกิจอเมริกาก็อาจจะจบลงเช่นญี่ปุ่น ซึ่งจะใช้เวลานานนับ 5-10 ปีกว่าจะหายดีก็ได้
       แต่จากที่ดู เรื่องนี้นักเศรษฐศาสตร์อเมริกาก็เข้าใจดี คิดว่าคงจะเลือกเข้าไปแทรกแซงแก้ไขอย่างเต็มที่ ซึ่งน่าจะทำให้วิกฤติการเงินคลี่คลายได้เร็ว แต่ถ้าทำเช่นนี้ จะมีปัญหาอีกด้านก็คือ ภาระที่ตกกับภาครัฐจะเกิดขึ้นมาก และอาจจะต้องกลับมาแก้วิกฤติฐานะการคลังในช่วงหลังแทน
       ก็น่าติดตามครับ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็คงต้องเลือกเอาว่าจะจบแบบไหน แต่เท่าที่ดู ไม่น่าจะเป็น Great Depression แน่นอน
http://www.thannews.th.com/detialnews. ... issue=2372

กูรูนิเวศน์แนะอดทน..ทยอยเก็บหุ้นเพิ่ม

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ พ.ย. 09, 2008 2:49 pm
โดย tum_H
บล.ภัทรชี้จุดต่ำสุดวิกฤติการเงินผ่านไปแล้ว ส่วนบลจ.เอสซีบี ควอนท์แนะถือเงินสด รอจังหวะซื้อหุ้น

Posted on Friday, November 07, 2008
นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล บล.ภัทร ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Hard Topic ทาง Money Channel ว่า วิกฤติการเงินที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ มีสาเหตุมาจากปัญหา Subprime ในสหรัฐฯ ทำให้กระทบต่อสถาบันการเงินจนกลายเป็นวิกฤติการเงิน (Financial Crisis) ในที่สุด แต่ขณะนี้ปัญหาก็เริ่มบรรเทาลงแล้ว หลังจากที่ประเทศต่าง ๆ ได้ร่วมมือกันออกมาตรการแก้ไขวิกฤติครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม วิกฤติการเงินครั้งนี้ก็ได้ส่งผลกระทบไปถึงประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก เนื่องจากประเทศเหล่านี้ได้กู้เงินมาพัฒนาประเทศเป็นจำนวนมาก เมื่อเจ้าของเงินกู้มีปัญหาจนต้องเรียกเงินกู้คืน ก็ทำให้ประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบตามไปด้วย และมีบางประเทศได้รับผลกระทบหนักจนต้องขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งในที่สุดแล้ว ปัญหาทั้งหมดนี้ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย

นายจิรวัฒน์เชื่อว่า จุดเลวร้ายที่สุดของวิกฤติการเงินครั้งนี้ได้ผ่านพ้นไปแล้ว โดยขั้นตอนจากนี้ไปก็จะเป็นกระบวนการบังคับคดี การปิดกิจการ และการขายทรัพย์สินต่าง ๆ เพื่อชำระหนี้ ซึ่งถ้าสหรัฐฯ สามารถแก้ไขได้เร็ว ระบบการเงินก็จะกลับมาทำงานได้ตามปกติ ส่วนผลที่จะตามมาหลังจากนี้คือ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

สำหรับประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากวิกฤติการเงินครั้งนี้เช่นกัน เนื่องจากไทยมีการค้าขายกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม พื้นฐานเศรษฐกิจไทยก็ถือว่ายังมีความแข็งแกร่ง สังเกตได้จากไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัด มีทุนสำรองระหว่างประเทศสูง และธนาคารพาณิชย์ไทยมีการปล่อยสินเชื่อในช่วง 2 3 ปีที่ผ่านมาไม่มากนัก

ทั้งนี้ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากวิกฤติครั้งนี้ ได้แก่ ธุรกิจที่ค้าขายกับต่างประเทศ เช่น กลุ่มส่งออก กลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ส่วนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย ได้แก่ ธุรกิจที่อาศัยการบริโภคภายในประเทศ ได้แก่ กลุ่มธนาคาร กลุ่มสื่อสาร และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมองว่าไทยได้รับความเสียหายจากวิกฤติครั้งนี้ไม่มาก ดังนั้น คนไทยจึงน่าจะยังคงมีการบริโภคอย่างต่อเนื่อง

นายจิรวัฒน์แนะนำการลงทุนในช่วงนี้ด้วยว่า ถ้าต้องการลงทุนในหุ้น ก็ควรที่จะทยอยซื้อ เพราะไม่ทราบว่าดัชนีตลาดหุ้นจะถึงจุดต่ำสุดเมื่อใด นอกจากนี้ก็ควรเลือกหลักทรัพย์ที่พิจารณาแล้วว่าราคาจะปรับเพิ่มขึ้นได้อีก แต่ผู้ลงทุนก็ควรที่จะรองรับความผันผวนของราคาในช่วง 18 24 เดือนนับจากนี้ได้ด้วย ส่วนผู้ที่มีหุ้นอยู่ในพอร์ตและมีผลขาดทุนอยู่ในขณะนี้ ก็ให้เปลี่ยนไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ไม่มากแทน

ส่วนการลงทุนในทองคำก็น่าสนใจ เพราะเป็นสินทรัพย์ที่มีราคาสวนทางกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถ้าสหรัฐฯ อัดฉีดเงินเข้าระบบ เพื่อแก้วิกฤติการเงินครั้งนี้เป็นจำนวนมาก เงินดอลลาร์สหรัฐก็จะอ่อนค่าลง ราคาทองคำก็จะปรับเพิ่มขึ้นได้อีก

ขณะที่กองทุนอสังหาริมทรัพย์ก็น่าสนใจเช่นกัน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาราคาได้ลดลงมามาก โดยเฉพาะกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ CPN รีเทล โกรท (CPNRF) โดยถ้าลงทุน ณ ระดับราคาในวันนี้ ผู้ลงทุนก็มีโอกาสที่จะได้รับเงินปันผลสูงถึง 13% ต่อปี

นายอรุณศักดิ์ จรูญวงศ์นิรมล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารการลงทุน บลจ.เอสซีบี ควอนท์ บอกว่า วิกฤติการเงินครั้งนี้มีลักษณะคล้ายกับวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 กล่าวคือ มีสาเหตุมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ทำให้นักลงทุนตื่นตระหนกและเทขายหุ้นในตลาดหุ้นทั่วโลก เพื่อดึงเงินกลับไปช่วยบริษัทแม่

นายอรุณศักดิ์บอกว่า แม้ในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติได้เทขายหุ้นไทยออกมาเป็นจำนวนมาก แต่สถานะทางการเงินของไทยยังถือว่าอยู่ในระดับดี เห็นได้จากสัดส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (Foreign Exchage Reserve) ต่อเงินกู้ระยะสั้น (Short Term Loan) ในไตรมาสที่ 2/2551 อยู่ที่ 4 เท่า แสดงว่า ถึงแม้ต่างชาติจะเรียกคืนเงินกู้ระยะสั้นจากไทยทั้งหมด แต่ไทยก็ยังมีเงินสำรองมากเพียงพอที่จะชำระคืนได้

นายอรุณศักดิ์แนะนำวิธีการลงทุนในช่วงนี้ด้วยว่า เนื่องจากวงจรเศรษฐกิจของโลกและของไทยเป็นช่วงขาลง แต่ยังไม่ถึงจุดต่ำสุด ดังนั้น สินทรัพย์ที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ การถือเงินสด หรือตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี เนื่องจากจะมีความปลอดภัยสูง และรอจังหวะเข้าลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ ได้ แต่ถ้าหากเศรษฐกิจเข้าสู่จุดต่ำสุดและกำลังจะปรับตัวดีขึ้นการลงทุนในตราสารทุนจะให้ผลตอบแทนดีที่สุด ดังนั้น นักลงทุนก็ควรที่จะจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ในช่วงนี้ เนื่องจาก FIF ส่วนใหญ่ไปลงทุนในยุโรปและสหรัฐฯ เมื่อประเทศในกลุ่มนี้ยังมีความผันผวนจากวิกฤติการเงิน ก็ทำให้มีโอกาสที่นักลงทุนจะเทขายสินทรัพย์ออกจากภูมิภาคนี้ได้อย่างต่อเนื่อง

http://www.moneychannel.co.th/Menu6/Har ... fault.aspx

กูรูนิเวศน์แนะอดทน..ทยอยเก็บหุ้นเพิ่ม

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ พ.ย. 09, 2008 4:14 pm
โดย tum_H
หุ้นพักฐาน แต่ยังน่าลุ้น

AYS TALK : หลังจาก SET ปรับลดลงแรงตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา กว่า 50% เราเริ่มเห็นการ REBOUND อย่างเป็นรูปธรรมบ้างแล้ว

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา SET ปรับสูงขึ้นแรง 11.3% ปิดที่ 463.81 จุด และถึงแม้ SET อาจมีการพักฐานระยะสั้นๆ บ้างในช่วงปลายสัปดาห์ก่อน - ต้นสัปดาห์นี้ เรายังคงลุ้นการ REBOUND ของ SET ในระยะสัปดาห์ต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายการปรับสูงขึ้นไปที่ 480 - 510 จุด โดยได้รับปัจจัยบวกจาก :

1. SET ปรับลดลงแรง กว่าพื้นฐานที่เปลี่ยนไปค่อนข้างมาก เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติจำเป็นต้องขายเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และเมื่อสภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินเริ่มกลับสู่ภาวะปกติตั้งแต่ กลาง - ปลายเดือนต.ค. ที่ส่วนต่างระหว่าง LIBOR 3 เดือน กับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มขายหุ้นน้อยลง (SELLING EXHAUSTION) หรืออาจกลับมาซื้อหุ้นอีกครั้ง (SHORT COVERING) ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นการเข้าซื้อหุ้นกลับของนักลงทุนต่างชาติบ้างแล้ว

2. แม้ว่าการการที่นายบารัก โอบามา จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ด้วยคะแนนท่วมท้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าเดิม อย่างไรก็ตามเราคาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ ชุดที่ 2 น่าจะถูกนำมาใช้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นทั่วโลก

3. เราคาดว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อลดลง ล่าสุด BANK OF ENGLAND และ EUROPEAN CENTRAL BANK ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1.50% และ 0.50% ตามลำดับอยู่ที่ 3.00% และ 3.25% และจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลงต่อเนื่อง ล่าสุดเงินเฟ้อทั่วไปเดือนต.ค. ลดลงอยู่ที่ 3.9% จากเดือนก.ย. ที่ 6.0% ทำให้เราคาดว่ามีโอกาสที่ ธปท.จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยในการประชุม กนง.วันที่ 3 ธ.ค. ที่จะถึงนี้

ทั้งนี้กลุ่มหุ้นที่น่าสนใจเข้า เก็งกำไร ช่วงตลาด REBOUND ได้แก่กลุ่มหุ้นขนาดใหญ่พื้นฐานดี อย่างกลุ่มธนาคาร (BBL, KBANK, SCB) พลังงาน (PTTEP, BANPU, PTT) สื่อสาร (ADVANC, DTAC) และอสังหาริมทรัพย์ (LH, QH, AP) อย่างไรก็ตามนักลงทุนจำเป็นต้องพึงระวังไว้ว่าการปรับสูงขึ้นรอบนี้เป็นเพียงการ REBOUND หรือ MAJOR REBOUND เท่านั้น ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแนวโน้มจากตลาด “ขาลง” เป็นตลาด “ขาขึ้น” ทำให้จำเป็นต้องจำกัดการเข้าซื้อ และต้องติดตามตลาดใกล้ชิด

วิเคราะห์ทางเทคนิค

สัปดาห์นี้ดัชนี SET มีแนวรับ 460, 440 จุด แนวต้าน 480, 500 จุด

ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 51 ดัชนี SET ขึ้นไปทำจุดสูงสุดไว้ที่ 886.57 จุด ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นแนวโน้มขาลงอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อใช้เส้นค่าเฉลี่ยระยะกลาง 50 วัน (WEIGHTED MOVING AVERAGE) เป็นเครื่องมือประกอบการวิเคราะห์พบว่า

ดัชนี SET ได้เปลี่ยนเป็นแนวโน้มขาลงด้วยการหลุดต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน บริเวณ 845 จุดเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 51  หลังจากนั้นมีความพยายามอยู่บ้างที่จะพลิกกลับมาเป็นขาขึ้นในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ส.ค. 51  ดัชนีขึ้นมาทดสอบเส้นค่าเฉลี่ยดังกล่าวที่บริเวณ 710 จุด แต่ก็ไม่สามารถทะลุขึ้นไปได้ ก่อนที่จะร่วงลงเป็นตลาดแนวโน้มลงต่อเนื่อง  และดัชนี SET ลงไปต่ำสุดเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทำจุดต่ำสุดไว้ที่ระดับ 383.63 จุด

อย่างไรก็ดีเมื่อสัปดาห์ก่อน ดัชนี SET ซึ่งขึ้นมาทำจุดสูงสุดไว้ที่ระดับ 478.68 จุด หรือฟื้นตัวขึ้นมาจากจุดต่ำสุด 383.63 จุด เท่ากับเป็นการฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว 95 จุด ซึ่งเป็นร่องรอยที่พอจะชี้ให้เห็นว่าตลาดมีโอกาสที่จะฟื้นตัวขึ้นได้ โดยพบว่าดัชนี SET เริ่มเคลื่อนตัวขึ้นมาใกล้ชนเส้นค่าเฉลี่ย 50 วันอีกครั้งหนึ่งที่บริเวณ 500 จุด (หรือถ้าดูจากเส้นค่าเฉลี่ย 50 วันของดัชนี SET50 อยู่ที่ระดับ 349 จุด)

ซึ่งถ้ามองตลาดว่ายังคงอยู่ในแนวโน้มขาลงเช่นเดิม จะมีแรงขายที่บริเวณดังกล่าวและทำให้ไม่สามารถทะลุผ่าน 500 จุดได้ จังหวะดังกล่าว MACD ก็จะไม่สามารถทะลุแนวสมดุลที่ระดับศูนย์ได้ด้วยเช่นกัน และเป็นจังหวะขายหุ้นออกอีกครั้ง

แต่เมื่อใดก็ตามถ้าดัชนี SET สามารถทะลุ 500 จุดได้ ด้วยปริมาณซื้อขายที่สูงกว่า 2 หมื่นล้านบาทขึ้นไป จะทำให้ตลาดมีโอกาสจบแนวโน้มขาลงระยะ 6 เดือน และเริ่มต้นกลับมาเป็นสัญญาณซื้อหุ้นกันอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายขึ้นไปที่บริเวณ 550-570 จุด

http://www.bangkokbiznews.com/2008/11/0 ... 309965.php