หน้า 1 จากทั้งหมด 1

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย : วิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกของไทย

โพสต์แล้ว: อังคาร ธ.ค. 23, 2008 2:50 pm
โดย lufthansa
ตัวเลขการส่งออกเดือนพ.ย. หดตัวสูงถึง 18.6%... : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
       23 ธ.ค.--ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

       
                                          ปีที่ 14 ฉบับที่ 2385 วันที่ 23 ธันวาคม 2551

ตัวเลขการส่งออกเดือนพ.ย. หดตัวสูงถึง 18.6%... สะท้อนนัยที่การส่งออกปี 2552 อาจจะเผชิญความ
เสี่ยงรุนแรงกว่าที่คาด
(ฉบับส่งสื่อมวลชน)

จากการรายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยล่าสุดโดยกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม
2551 ที่ผ่านมา ตัวเลขเดือนพฤศจิกายนบ่งชี้สถานการณ์การส่งออกที่ประสบปัญหารุนแรงกว่าที่คาด ศูนย์วิจัย
กสิกรไทย ได้วิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกของไทยในระยะเดือนถัดๆ ไป โดยมีประเด็นที่สำคัญดังนี้
       * การส่งออกของไทยในเดือนพฤศจิกายน 2551 หดตัวลงมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดย
มีมูลค่า 11,870.2 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงถึงร้อยละ 18.6 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นอัตราที่ต่ำ
สุดในรอบกว่า 6 ปี จากที่ขยายตัวร้อยละ 5.2 ในเดือนตุลาคม และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ
24.3 ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 13,072.6 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ
2.0 (จากที่ขยายตัวร้อยละ 21.7 ในเดือนตุลาคม) ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนนี้ขาดดุล 1,202.4 ล้าน
ดอลลาร์ฯ เป็นการขาดดุลรายเดือนเป็นเดือนที่ 7 ของปีนี้ ทั้งนี้ ภาพรวมในช่วง 11 เดือนแรก ปี 2551
การส่งออกของไทยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 166,235.4 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 19.7 เทียบกับช่วง
เดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 167,398.4 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 30.9 ส่งผลให้
ดุลการค้าขาดดุล 1,162 ล้านดอลลาร์ฯ
       * ทั้งนี้ การหดตัวของการส่งออกในเดือนพฤศจิกายนดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจาก
เหตุการณ์ปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน จนกระทั่งเริ่มเปิดให้บริการเต็มรูปแบบใน
วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อสินค้าที่ต้องพึ่งพาการขนส่งทางอากาศ โดยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์
ระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในช่วง 5 วันสุดท้ายของเดือนพฤศจิกายนสูญเสียไป
ประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์ฯ จากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ถ้าขจัดผลของเหตุการณ์
ปิดท่าอากาศยานออกไปแล้ว การส่งออกในเดือนพฤศจิกายนก็ยังลดลงประมาณร้อยละ 10 ด้วยเหตุนี้ ปัจจัย
สำคัญที่ทำให้การส่งออกในเดือนนี้ลดลงจึงน่าจะเป็นผลมาจากสภาวการณ์เศรษฐกิจในหลายภูมิภาคทั่วโลกที่
อ่อนแอลง สังเกตได้ว่าสินค้าส่งออกที่ไม่ต้องอาศัยการขนส่งทางอากาศก็ปรับตัวลดลงหลายรายการ โดยใน
กลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก มีสินค้าถึง 8 รายการที่หดตัวลง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์
และส่วนประกอบ (ลดลงร้อยละ 18.3) น้ำมันสำเร็จรูป (ลดลงร้อยละ 37.6) อัญมณีและเครื่องประดับ
(ลดลงร้อยละ 25.9) ยางพารา (ลดลงร้อยละ 33.6) แผงวงจรไฟฟ้า (ลดลงร้อยละ 31.6) ข้าว
(ลดลงร้อยละ 36.2) เม็ดพลาสติก (ลดลงร้อยละ 40.8) และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (ลดลงร้อย
ละ 5.4) ส่วนสินค้า 2 รายการที่ยังขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ขยายตัวร้อยละ
4.2) และผลิตภัณฑ์ยาง (ขยายตัวร้อยละ 10.5) แต่ก็เป็นทิศทางที่ชะลอตัวลงค่อนข้างมาก
       * เมื่อพิจารณาตลาดส่งออกที่สำคัญ ตลาดหลักมีการส่งออกลดลงทุกภูมิภาค โดยตลาดสหรัฐฯ ลด
ลงร้อยละ 14.5 สหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 16.7 ญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 8.4 อาเซียน 5 ประเทศ ลดลงถึง
ร้อยละ 30.6 สำหรับตลาดใหม่ ส่วนใหญ่ลดลงยกเว้นอินเดีย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.2) ยุโรปตะวันออก
(เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6) ตะวันออกกลาง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7) โดยการส่งออกไปจีนลดลงถึงร้อยละ 36.3
และออสเตรเลียลดลงร้อยละ 19.2 เป็นต้น
       * การส่งออกของไทยที่ลดลงนี้นับว่าเป็นทิศทางเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย โดย
จากข้อมูลการส่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2551 ของหลายๆ ประเทศที่ประกาศออกมาในช่วงก่อนหน้านี้ พบ
ว่าการส่งออกของจีนหดตัวลงร้อยละ 2.2 ไต้หวันหดตัวร้อยละ 23.3 เกาหลีใต้หดตัวร้อยละ 19.0 และ
สิงคโปร์ (มูลค่าการส่งออกไม่รวมน้ำมัน) หดตัวร้อยละ 17.5 และญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ 26.7 สะท้อนให้เห็น
ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลงอย่างมากนั้นกำลังส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของภูมิภาคเอเชีย
       * เมื่อประเมินจากสถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งการส่งออกของไทยที่ปรับตัวลดลงมากกว่าที่
คาด ทิศทางการส่งออกของประเทศในภูมิภาคส่วนใหญ่ที่หดตัวลงเช่นเดียวกัน ประกอบกับสาเหตุของการ
หดตัวดังกล่าวนั้นเป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจในภูมิภาคหลักของโลกเริ่มประสบภาวะถดถอยอย่างชัดเจนใน
ช่วงประมาณไตรมาสที่ 3 ถึงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ขณะที่เศรษฐกิจโลกในระยะไตรมาสข้างหน้ายังมี
ความเปราะบาง จากปัญหาวิกฤติในภาคการเงินที่ยังไม่สิ้นสุด ยิ่งไปกว่านั้นผลกระทบที่แผ่ขยายออกไปสู่ภาค
เศรษฐกิจจริง โดยเฉพาะผลต่อภาวะการจ้างงาน จะยิ่งเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจใน
ประเทศต่างๆ คงจะต้องใช้ระยะเวลายาวนานมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณล่วงหน้าจากคำสั่งซื้อที่เข้ามา
ยังผู้ประกอบการส่งออกไทยที่ลดลงอย่างมากในขณะนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้บ่งชี้แนวโน้มที่ตัวเลขการส่งออกของไทย
น่าจะมีทิศทางที่ลดลงต่อไปอีกอย่างน้อยในช่วง 1-2 ไตรมาสข้างหน้า
       * ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกในเดือนธันวาคมน่าจะยังคงหดตัวต่อเนื่อง แต่อาจเป็น
อัตราที่น้อยกว่าในเดือนพฤศจิกายนที่ได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงวันแรกๆ ของการปิดท่าอากาศยาน
การหดตัวของตัวเลขส่งออกในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีจะส่งผลให้การส่งออกตลอดทั้งปี 2551 นี้อาจจะ
ขยายตัวประมาณร้อยละ 15.5 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 17.2 ในปี 2550 ทั้งนี้ สภาวะที่การส่งออกจะ
ขยายตัวในอัตราที่ติดลบนี้น่าจะยังคงต่อเนื่องต่อไปในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 และถ้าคำสั่งซื้อสินค้าล่วง
หน้าสำหรับช่วงฤดูกาลส่งออกในรอบปีหน้าเริ่มกลับเข้ามา ก็น่าจะเป็นผลให้การส่งออกกลับมาขยายตัวได้
ในช่วงครึ่งหลังของปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์อัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยในปี 2552
อยู่ในช่วงระหว่างขยายตัวร้อยละ 0.0 ถึงหดตัวร้อยละ 5.0
       นับจากนี้ แนวโน้มการส่งออกของไทยยังมีโอกาสเผชิญความเสี่ยงในด้านลบจากสภาวะเศรษฐกิจ
โลกที่เปราะบาง ซึ่งยังคงต้องติดตามผลสัมฤทธิ์ของการผ่อนคลายนโยบายการเงินและมาตรการกระตุ้น
เศรษฐกิจที่ประเทศต่างๆ ผลักดันออกมาใช้อย่างเข้มข้น ว่าจะก่อเกิดผลในทางบวกที่จะช่วยดึงให้เศรษฐกิจ
โลกหลุดพ้นจากภาวะถดถอยและกลับมาฟื้นตัวได้รวดเร็วเพียงใด ขณะที่นโยบายของรัฐบาลใหม่ในการดูแล
การส่งออกเชิงรุก ซึ่งรวมถึงการเพิ่มทูตพิเศษพาณิชย์เพื่อผลักดันขยายตลาดสินค้า น่าจะมีส่วนช่วยผู้ประกอบ
การส่งออกในการแสวงหาตลาดใหม่ได้อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ดังที่เห็นสัญญาณแล้วว่าตลาดใหม่ในหลาย
ภูมิภาคก็กำลังประสบปัญหา ดังนั้นการผลักดันการขยายตลาดใหม่อาจไม่สามารถมองเพียงเฉพาะตลาดใหม่
ในเชิงภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่ควรมองตลาดใหม่ในแง่มุมของพฤติกรรมหรือเช็กเมนต์กลุ่มเป้าหมายผู้บริโภค
ที่แตกต่างไปจากเดิม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ
ควบคู่กันไปด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย : วิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกของไทย

โพสต์แล้ว: อังคาร ธ.ค. 23, 2008 3:06 pm
โดย miracle
GDP=C+I+G+(X-M)

X เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาหลายต่อหลายปี
ณ ตอนนี้มันเดี้ยงซักแล้ว

งานนี้ GDP ดูไม่จืดแน่นอน