วันบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (Opportunity Day)
Opportunity Day เป็นกิจกรรมที่ทางตลาดหลักทรัพย์จัดขึ้นตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเปิดโอกาสให้ผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนนำเสนอผลประกอบการรายไตรมาสรวมถึงตอบข้อซักถามแก่นักวิเคราะห์และนักลงทุนทั่วไป ปกติจะจัดขึ้นที่ชั้น 11 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหลังช่วงเวลาประกาศงบการเงินได้ไม่นาน เราสามารถติดตามตารางเวลาได้จากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ (
http://www.set.or.th) การจัดกิจกรรมที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จ มีบริษัทจดทะเบียนต่างๆ สนใจเข้าร่วมมากขึ้น อย่างไตรมาส 4 ที่กำลังจะมาถึงนี้ มีบริษัทจดทะเบียนเข้าร่วมเกือบ 100 บริษัทรวมถึงบริษัทใหญ่ๆ อย่างบ้านปูและปตท. จำนวนนักลงทุนเเฝ้าติดตามกิจกรรมนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับรูปแบบของกิจกรรม Opportunity day มีการพัฒนาให้ดีขึ้นมาโดยตลอด จากเดิมที่ต้องเดินทางมาฟังที่ตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น ปัจจุบันมีการถ่ายทอดสดผ่านทางผ่านเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนที่ดูทางอินเตอร์เน็ตสามารถส่งคำถามแบบ real time ได้ สำหรับผู้ที่พลาดการถ่ายทอดสด ยังสามารถฟังคลิปวิดีโอย้อนหลังได้หลายไตรมาส นอกจากดูผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์แล้ว ตอนนี้ยังสามารถดูได้จากอุปกรณ์อื่นๆ อย่างเช่น Smartphone, Tablet ฯลฯ ได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเทคโนโลยีจะมีส่วนช่วยในการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลของนักลงทุน ผมยังให้ความสำคัญในการไปฟังผู้บริหารที่ตลาดหลักทรัพย์ด้วยตัวเอง ประโยชน์ในการไปฟังที่ตลาดหลักทรัพย์ที่เราจะได้รับในมุมมองของผม มีดังต่อไปนี้
■การไปฟังที่ตลาดหลักทรัพย์ ทำให้เรามีสมาธิในการตั้งใจฟัง มากกว่าการนั่งฟังที่บ้าน
■การซักถาม ถึงแม้ว่าเราจะส่งคำถามผ่านทางอินเตอร์เน็ตระหว่างถ่ายทอดสดได้ ส่วนใหญ่ผู้บริหารจะให้ความสำคัญของผู้ฟังที่อยู่ในห้องประชุมเป็นอันดับแรก เวลาในการตอบคำถามทางอินเตอร์เน็ตจะมีน้อย และบางคำถามผู้บริหารอาจจะเลือกที่จะไม่พูดออกอากาศ การถามเกี่ยวกับประเด็นต่อเนื่องจากคำถามเดิมก็ทำได้ยาก เพราะจำนวนคำถามทางอินเตอร์เน็ตค่อนข้างมาก โอกาสที่จะไม่ได้รับคำตอบมีค่อนข้างสูง
■บางบริษัทซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก จะไม่อนุญาตให้มีการบันทึกหรือถ่ายทอดสดในช่วงถาม-ตอบ จะมีเฉพาะคนในห้องเท่านั้นที่รับรู้
■หลังจบการนำเสนอรวมถึงการถ่ายทอดสด ผู้ฟังที่ตลาดหลักทรัพย์สามารถสอบถามประเด็นเพิ่มเติมรวมถึงคำถามที่มีความละเอียดอ่อนกับผู้บริหารนอกห้องประชุมได้
■การไปฟังที่ตลาดหลักทรัพย์ เราสามารถทำความรู้จักกับผู้บริหารและขอนามบัตรเพื่อติดต่อในภายหลังได้
■อีกวิธีที่ผมใช้ในการพูดคุยกับผู้บริหารแบบเป็นกันเอง คือ ถ้าบริษัทไหนผมสนใจลงทุนโดยเฉพาะบริษัทใหม่ๆ ที่ไม่ค่อยมีข้อมูล ผมจะมาถึงตลาดหลักทรัพย์ก่อนเวลาประมาณ 30 นาที เพื่อพบปะพูดคุยกับผู้บริหารระหว่างที่นั่งรอคิว ซึ่งเป็นการคุยแบบตัวต่อตัว ไม่มีนักข่าวหรือนักลงทุนอื่นรุมถามเหมือนตอนจบการนำเสนอ แต่สิ่งที่ต้องเตรียม คือศึกษาข้อมูลมาเป็นอย่างดี และรู้ว่าจะถามอะไรบ้าง ส่วนใหญ่ผู้บริหารยินดีที่จะพูดคุยกับนักลงทุนอยู่แล้ว
■บางบริษัทใช้โอกาสนี้ให้ผู้ที่สนใจลงรายชื่อเพื่อเยี่ยมชมกิจการของบริษัท หรือบริษัทย่อย ซึ่ง Company visit เป็นอีกกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน
■บางบริษัท จะมีการนำสินค้าของบริษัทมาแสดง หรือจำหน่ายในราคาพิเศษ หรือนำตัวอย่างมาแจก จะทำให้เราเข้าใจสินค้าของบริษัทมากขึ้น
■การนั่งฟังที่ตลาดหลักทรัพย์ ผมจะใช้เวลาสังเกตผู้ฟังด้วยว่า กลุ่มคนที่สนใจบริษัทนี้มีใครบ้าง นักวิเคราะห์ นักลงทุน ผู้จัดการกองทุนในประเทศ ผู้จัดการกองทุนต่างประเทศ ฯลฯ โดยจะให้ความสำคัญกับผู้จัดการกองทุนเป็นหลัก ซึ่งเราจะไม่สามารถทราบกลุ่มผู้ฟังได้ ถ้าเรานั่งฟังทางอินเตอร์เน็ต
■การไปฟังที่ตลาดหลักทรัพย์ ทำให้เรารู้จักและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆ นักลงทุนที่สนใจในหุ้นตัวเดียวกัน
■อันนี้ของแถมครับ คือทางตลาดหลักทรัพย์ จัดให้มีชากาแฟ และขนม ช่วงพักเบรคแก่ผู้เข้าฟังในแต่ละช่วงการนำเสนอ =)
วันประชุมสามัญประจำปีของผู้ถือหุ้น (Annual General Shareholder meeting)
บริษัทจดทะเบียนจะจัดประชุมสามัญประจำปีของผู้ถือหุ้นทุกปี เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ผู้ถือหุ้นควรให้ความสนใจ ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสนใจประชุม บางคนไปเพื่อเอาของชำร่วย, รับประทานอาหารหรือพบปะเพื่อนฝูงเท่านั้น ประโยชน์ที่จะได้รับจากการประชุมผู้ถือหุ้นในมุมมองของผม ขอแบ่งเป็นข้อๆ ดังนี้นะครับ
■เราจะได้ทราบข้อมูลสรุปผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา รวมถึงแผนงานสำหรับปีนี้รวมถึงทิศทางของธุรกิจในระยะยาว
■บางบริษัทไม่ได้ร่วมกิจกรรม Opportunity Day เนื่องจากอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่อง Investor Relation ดังนั้นงานประชุมผู้ถือหุ้นจึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้พูดคุยหรือซักถามข้อมูลจากผู้บริหาร
■ปกติ บริษัทระดับกลาง-ใหญ่ จะส่งเจ้าหน้าที่ด้านการเงินหรือเจ้าหน้าที่นักลงทุนสัมพันธ์ไปแถลงผลงานใน Opportunity Day คำถามบางข้ออาจจะไม่ได้รับคำตอบในงาน Opportunity Day เนื่องจากผู้ตอบไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ ดังนั้น งานประชุมผู้ถือหุ้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้พบกับประธานบริษัท ผู้บริหารระดับสูง คณะกรรมการ ผู้ตรวจสอบบัญชี กรรมการตรวจสอบ กรรมการอิสระ ฯลฯ ซึ่งผู้ถือหุ้นสามารถหาคำตอบเท่าที่บริษัทจะสามารถตอบได้ เรียกได้ว่าเป็นวันของผู้ถือหุ้นเลยทีเดียว
■บางบริษัทจัดประชุมผู้ถือหุ้นที่บริษัทหรือโรงงาน ทำให้เรามีโอกาสได้ไปสัมผัสสถานที่ทำงานจริง แม้ว่าจะไม่ได้เยี่ยมชมกระบวนการทำงานก็ตาม นอกจากนี้ยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับทางบริษัทอีกด้วย
■การไปประชุมด้วยตัวเอง เราสามารถเขียนบันทึกสิ่งที่ได้จากการประชุมในมุมมองของตัวเอง แม้ว่าการประชุมผู้ถือหุ้นจะมีบันทึกรายงานการประชุม แต่การบันทึกไม่ได้บันทึกทุกคำพูด เป็นการบันทึกสรุปมากกว่า ซึ่งเป็นไปได้มากที่ข้อมูลสำคัญบางอย่างในมุมมองของเราขาดหายไป
■การประชุมผู้ถือหุ้น นอกจากคำถามของเราเองแล้ว เราได้จะเรียนรู้กับคำถามจากผู้ถือหุ้นท่านอื่น โดยเฉพาะท่านที่ถือหุ้นมานาน หรือท่านที่มีความรู้ความชำนาญในอุตสาหกรรมที่บริษัทอยู่ ทำให้เราเข้าใจธุรกิจของบริษัทรวมถึงความเป็นมาต่างๆ ในอดีตมากขึ้น
■ของชำร่วย เดี๋ยวนี้เหมือนเป็นประเพณี คือประชุมผู้ถือหุ้นต้องมีแจกของชำร่วย ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าของบริษัท หรือไม่ก็ของพรีเมียมเล็กๆ น้อยๆ เป็นสินน้ำใจให้ผู้ถือหุ้นติดมือกลับบ้าน ผู้ถือหุ้นมีทั้งพอใจบ้างไม่พอใจบ้าง ซึ่งผมมองของชำร่วยเป็นสิ่งไม่จำเป็น และก็เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับบริษัท