หน้า 1 จากทั้งหมด 1

บริษัทไทยไร้ความเสี่ยงสภาพคล่องแต่ต้องพิจารณารายอุตสาหกรรม

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ เม.ย. 19, 2009 10:55 pm
โดย i_sarut
http://www.moneychannel.co.th/Menu6/Cli ... fault.aspx

บล.เอเซียพลัสชี้บริษัทจดทะเบียนไทยไร้ความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่อง แต่ยังต้องพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรม

Posted on Wednesday, April 08, 2009
บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ยังไร้ปัญหาสภาพคล่อง


นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส กล่าวผ่านรายการ Stock in Focus ว่า บล. เอเซียพลัสได้ทำบทวิเคราะห์บริษัทจดทะเบียนไว้ 148 บริษัท คิดเป็น 84-85% ของมูลค่าตลาดรวม พบว่า บริษัทจดทะเบียนในไทยมีเงินสดรวมประมาณ 4.08 แสนล้านบาท มีหนี้ระยะสั้น ณ สิ้นปี 2551 ที่ 5.14 แสนล้านบาท และคาดว่าจะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (CFO) ปี 2552 ที่ 4.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเรียกได้ว่าไม่มีปัญหาในการชำระหนี้ระยะสั้น จากที่ได้เริ่มเก็บเงินสดและขอวงเงินกู้ไว้ล่วงหน้าก่อนสภาพคล่องตึงตัว ทำให้บริษัทจดทะเบียนของไทยแทบจะไม่มีปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งหากเป็นหุ้นที่มีกระแสเงินสดดี และจ่ายปันผลได้ 5-6% ก็ยังน่าสนใจลงทุน เพราะน่าจะปลอดภัยในภาวะเศรษฐกิจขาลง


กลุ่มเดินเรือครองแชมป์การเงินแกร่งสุด

บล. เอเซียพลัสมองว่า กลุ่มเดินเรือมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งที่สุด โดย บมจ. โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) และบมจ. พรีเชียส ชิพปิ้ง (PSL) มีเงินสดสูงกว่าหนี้ระยะสั้นหลายเท่า รองลงมาเป็น กลุ่มค้าปลีก บันเทิง กลุ่มการแพทย์ และกลุ่มพลังงาน ซึ่งมักจะเป็นธุรกิจบริการ เนื่องจากแทบจะไม่ต้องลงทุนจำนวนมาก และต้นทุนส่วนใหญ่จะเป็นค่าเสื่อมราคา จึงมีกระแสเงินสดที่ดี

ทั้งนี้ กลุ่มเดินเรือ มีเงินสดในมือประมาณ 1.83 หมื่นล้านบาท มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน 9.5 พันล้านบาท และมีหนี้สินระยะสั้น 2.9 พันล้านบาท โดย TTA มีเงินสด 1.15 หมื่นล้านบาท และ PSL มี 3.3 พันล้านบาท ซึ่งแทบจะไม่มีหนี้เลย จึงยังสามารถอยู่รอดในธุรกิจได้แม้ว่าธุรกิจอยู่ในช่วงขาลงจากค่าระวางเรือที่ร่วงลง

ส่วนหุ้นบมจ. การบินไทย (THAI) มีเงินสด 7.5 พันล้านบาท มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (CFO) 1.5 หมื่นล้านบาท และหนี้ระยะสั้นสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท จึงต้องเจรจากับเจ้าหนี้และหาเงินทุนเพิ่มเติม ส่วนบมจ. รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) ยังมีสถานะทางการเงินไม่ดีนัก โดยมีเงินสด 79 ล้านบาท CFO ติดลบ 600 ล้านบาท และมีหนี้ระยะสั้น 15 ล้านบาท


กลุ่มค้าปลีกยังไม่น่ากังวล

สำหรับกลุ่มค้าปลีก มีเงินสดรวม ณ สิ้นปี 2551 ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะมี CFO ในปี 2552 ที่ 2.05 หมื่นล้านบาท และมีหนี้ระยะสั้นเพียง 5.7 พันล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีสถานะทางการเงินที่ไม่น่ากังวล เพราะมีเงินสดสูงกว่าหนี้มาก เพราะธุรกิจค้าปลีกจะได้รับเงินเป็นเงินสด แต่สามารถยืดระยะเวลาการชำระเงิน (Credit Term) จากผู้ผลิตสินค้า โดยหุ้นที่มีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งที่สุดในกลุ่ม คือ บมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) แม้ว่าจะเปิดสาขาใหม่ปีละ 450 สาขา แต่มีเงินสดในมือ 1.2 หมื่นล้านบาท มี CFO 7.6 พันล้านบาท และมีหนี้เพียง 168 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นบริษัทที่มีสภาพคล่องสูงมาก ทำให้ราคาหุ้นไม่ปรับลดลง และการที่ได้ขายโลตัสที่เซี่ยงไฮ้ออกไปในปลายปี 2551 ก็จะทำให้ผลประกอบการเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ส่วนบมจ. บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) มีเงินสด 1.38 พันล้านบาท มี CFO 6.6 พันล้านบาท และมีหนี้ระยะสั้น เพียง 3 พันล้านบาท จึงมองว่ากลุ่มค้าปลีกไม่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง และยังสามารถจ่ายปันผลได้ต่อเนื่อง


ฐานะการเงินกลุ่มบันเทิงยังแจ๋ว แต่ RS อ่อนแอสุด

สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มบันเทิง มีเงินสดในมือรวม 5.5 พันล้านบาท มี CFO 7.3 พันล้านบาท และมีหนี้ระยะสั้นเพียง 2.9 พันล้านบาทเท่านั้น โดยหุ้นที่มีสถานะทางการเงินแข็งแรงที่สุด คือ บมจ. บีอีซี เวิลด์ (BEC) มีเงินสด 3.3 พันล้านบาท มี CFO 4.3 พันล้านบาท มีหนี้ระยะสั้นเพียง 3 ล้านบาท ซึ่งการที่มีเงินสดเหลือมาก ทำให้จ่ายปันผลได้ 90% ของกำไรสุทธิ และราคาหุ้นก็ไม่ได้ปรับลดลงมากเช่นกัน นอกจากนี้ กำไรของ BEC ก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากการปรับผังและขึ้นค่าโฆษณาด้วย ส่วน บมจ. อาร์เอส (RS) มีสถานะทางการเงินที่อาจอ่อนแอกว่ารายอื่น

สำหรับกลุ่มโรงพยาบาล มีสถานะทางการเงินที่แข็งแรงเช่นกัน โดยมีเงินสดรวม 2.1 พันล้านบาท มี CFO ที่ 7.2 พันล้านบาท และมีหนี้สินระยะสั้น 2.3 พันล้านบาท ซึ่งหุ้นที่โดดเด่นสุดในกลุ่ม คือ

- บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) มีเงินสด 1.24 พันล้านบาท มี CFO 4.1 พันล้านบาท มีหนี้ระยะสั้นเพียง 1 พันล้านบาท แต่กำไรอาจปรับลดลงบ้างเนื่องจากมีรายได้จากต่างชาติ 30%

- บมจ. บางกอก เชน ฮอสปิทอล (KH) โดย KH มีเงินสด 386 ล้านบาท มีหนี้ระยะสั้น 390 ล้านบาท และคาดว่าในปีนี้จะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ 1 พันล้านบาท ซึ่งกำไรยังเพิ่มขึ้นได้ เพราะเน้นกลุ่มคนไข้ระดับกลาง ลูกค้าประกันสุขภาพและประกันสังคม ซึ่งปรับค่ารักษาพยาบาลต่อหัวเพิ่มขึ้นทุกปี


สภาพคล่องของกลุ่มโรงไฟฟ้ายังดี แต่ต้องระวังฐานกำไรแกว่ง

สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้ายังมีเงินสด 2.4 หมื่นล้านบาท หนี้ระยะสั้น 1 หมื่นล้านบาท ส่วน CFO จะอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท ทำให้ยังจ่ายปันผลคิดเป็นอัตราผลตอบแทนได้ที่ 6-7% จึงยังลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้เพื่อรับปันผลได้

- บมจ. โกลว์ พลังงาน (GLOW) มีสถานะทางการเงินดีที่สุด คือ มีเงินสด 7.4 พันล้านบาท มี CFO 5.7 พันล้านบาท มีหนี้สินระยะสั้น ที่ 3 พันล้านบาท แต่เนื่องจาก GLOW ได้ขายไฟฟ้าให้กับภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก จึงต้องระมัดระวังในการรักษาฐานกำไรด้วย
- บมจ. ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ที่มีโรงไฟฟ้าขนอมและระยอง ซึ่งอยู่ในช่วงปลายของสัญญาการซื้อไฟฟ้า ก็อาจเห็นกำไรชะลอตัวลงได้ แต่สถานะทางการเงินก็ไม่น่าห่วง เพราะมีเงินสด 6.2 พันล้านบาท CFO 4.2 พันล้านบาท หนี้ระยะสั้นเพียง 4.5 พันล้านบาท


เงินทุนกลุ่มพลังงานยังแข็งแรงหลังออกหุ้นกู้

สำหรับกลุ่มพลังงาน ถือเป็นกลุ่มที่มีเงินสดมากที่สุด หรืออยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท โดยแบ่งออกได้เป็น
- บมจ. ปตท. ( PTT) มีเงินสด 9.2 หมื่นล้านบาท และมีหนี้ระยะสั้นเพียง 3.5 หมื่นล้านบาท ทำให้ไม่มีปัญหาด้านความสามารถในการชำระหนี้ และยังได้มีการออกหุ้นกู้ ซึ่งจะช่วยปรับเปลี่ยนหนี้ระยะสั้นให้กลายเป็นหนี้ระยะยาว และทำให้มีสภาพคล่องสูงขึ้นได้อีกด้วย
- บมจ. บ้านปู (BANPU) ที่แม้ว่าจะมีสถานะทางการเงินไม่ดีเท่ากับหุ้นตัวอื่น แต่ก็ยังถือว่าปลอดภัย โดยมีเงินสด 1.28 หมื่นล้านบาท และมีหนี้ระยะสั้นเพียง 1.8 พันล้านบาท


TRUE ย่ำแย่ แต่หากปรับโครงสร้างหนี้แล้วก็ยังพอมีลุ้น

สำหรับกลุ่มโทรคมนาคม มีเงินสด 3 หมื่นล้านบาท มี CFO 5.8 หมื่นล้านบาท และมีหนี้ระยะสั้นที่ 5.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีเงินสดไม่พอกับหนี้ระยะสั้น จึงจำเป็นต้องใช้ CFO มาชำระหนี้บ้าง ทำให้จ่ายปันผลได้น้อยลง แต่บางบริษัทก็ยังมีความสามารถในการจ่ายปันผลได้ดี

- บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) มีโครงสร้างการเงินแข็งแรงที่สุด โดยมีเงินสด 1.63 หมื่นล้านบาท มี CFO 3.6 หมื่นล้านบาท และมีหนี้ระยะสั้นเพียง 7 พันล้านบาทเท่านั้น และยังไม่มีการลงทุนจำนวนมากด้วย

- บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) มีสถานะที่ย่ำแย่ เพราะมีเงินสดประมาณ 4.3 พันล้านบาท CFO 6 พันล้านบาท และมีหนี้ระยะสั้นสูงถึง 1.2 หมื่นล้านบาท ทำให้ต้องเพิ่มทุน และออกหุ้นกู้ ซึ่งหากผ่านช่วงนี้ไปได้ และธุรกิจมีทิศทางที่ดีขึ้น จะทำให้สถานะการเงินฟื้นตัวขึ้นได้


อสังหาฯถูกกดดันจากสต็อกบ้านคงค้าง แต่หากมีสภาพคล่องก็ยังสบายใจได้

สำหรับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ มีเงินสดรวมประมาณ 1 หมื่นล้านบาท มี CFO ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท มีหนี้ระยะสั้น 3.2 หมื่นล้านบาท โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ส่วนใหญ่จะมีสถานะทางการเงินที่มั่นคง เพราะได้ปรับโครงสร้างหนี้ระยะสั้นให้เป็นระยะยาวตั้งแต่ปลายปี 2551 จากการออกหุ้นกู้ และได้เก็บเงินสดไว้ล่วงหน้า แต่ผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อย ที่จะมีสินค้าคงคลังเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับสินทรัพย์รวม ก็จะทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องได้ จึงควรเลือกลงทุนอย่างระมัดระวัง

สำหรับบริษัทที่ยังมีสถานะทางการเงินที่ดี คือ บมจ. เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น (SC) เพราะมีรายได้จากค่าเช่าและบริการเป็นเงินสดปีละ 800 ล้านบาท และยังมีการทยอยโอนโครงการคอนโดมิเนียมอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีกระแสเงินสดที่ดี และวางใจได้

บริษัทไทยไร้ความเสี่ยงสภาพคล่องแต่ต้องพิจารณารายอุตสาหกรรม

โพสต์แล้ว: จันทร์ เม.ย. 20, 2009 12:03 am
โดย miracle
บล. เอเซียพลัสได้ทำบทวิเคราะห์บริษัทจดทะเบียนไว้ 148 บริษัท คิดเป็น 84-85% ของมูลค่าตลาดรวม พบว่า บริษัทจดทะเบียนในไทยมีเงินสดรวมประมาณ 4.08 แสนล้านบาท มีหนี้ระยะสั้น ณ สิ้นปี 2551 ที่ 5.14 แสนล้านบาท และคาดว่าจะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (CFO) ปี 2552 ที่ 4.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเรียกได้ว่าไม่มีปัญหาในการชำระหนี้ระยะสั้น จากที่ได้เริ่มเก็บเงินสดและขอวงเงินกู้ไว้ล่วงหน้าก่อนสภาพคล่องตึงตัว ทำให้บริษัทจดทะเบียนของไทยแทบจะไม่มีปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งหากเป็นหุ้นที่มีกระแสเงินสดดี และจ่ายปันผลได้ 5-6% ก็ยังน่าสนใจลงทุน เพราะน่าจะปลอดภัยในภาวะเศรษฐกิจขาลง
งง สภาพคล่องดีแต่ว่า หนี้มากกว่าทุนต้องขึ้น warning ไม่ใช่หรือ
เพราะอาจจะไม่สามารถชำระได้ ก็ได้

อืมๆๆ แปลกจังเลย ล่ะเนี่ย ชี้จุดว่ากระแสเงินสดดีแต่ไม่ได้ชี้ว่า หนี้สินมากกว่าทุนต้องระวังหน่อย

By the way
Broker ต้องการเอาเงินออกจากกระเป๋านักลงทุนให้ได้มากที่สุด
แตกต่างกับนักลงทุนที่ฉลาดที่ยิงปืนต้องได้นก ยิงได้มากกว่า 1 ตัวยิ่งดี
:)