หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เผื่อเพื่อนๆในนี้ใครสนใจข่าว ตอนนี้จีนกำลังฟื้นผมเลยเอามาให้

โพสต์แล้ว: อังคาร เม.ย. 21, 2009 10:11 pm
โดย matee
วิกฤตเศรษฐกิจเปิดโอกาสทองแก่เซี่ยงไฮ้
ก่อนหน้าผู้คนที่หวังสร้างอนาคตความมั่งคั่ง ต่างดิ้นรนไขว่คว้า ฝันอเมริกัน และ วอลสตรีท ศูนย์กลางการเงินชั้นนำของโลก ก็เป็นแหล่งขุดทองที่เย้ายวนที่สุดสำหรับกลุ่มผู้มีความรู้ความสามารถทั่วโลก เหล่ายอดฝีมือหัวกระทิจำนวนไม่น้อยของจีน ต่างก็หลั่งไหลเข้ามาสร้าง ฝันอเมริกัน กันที่นี่เช่นกัน
     
      ขณะที่ศูนย์กลางการเงินในมหานครเซี่ยงไฮ้ พยายามดึงดูดบุคลากรมีฝีมือ เข้ามาช่วยผลักดันภาคการเงินการธนาคารและตลาดให้เจริญก้าวหน้า โดยมีรัฐบาลกลางช่วยออกมาตรการกวักเรียกมันสมองจีนกลับบ้านมาหลายปี แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจนัก
     
      แล้วโอกาสในการดึงมันสมองจีนกลับบ้านก็มาถึง ในต้นปี 2007 เมื่อวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกา เริ่มสำแดงเดช จากนั้นปฏิกิริยาโดมิโน ก็ผลักบรรษัทข้ามชาติรายใหญ่ ทยอยซวนเซและล้มครืน ปลดพนักงานกันเป็นเบือ โดยขณะนี้ ร้อยละ 20 ของพนักงานในวอลสตรีท ต้องตกงาน และยังมีแนวโน้มว่ากลุ่มที่กินตำแหน่งใหญ่อีก 40,000 คน จะถูกเลิกจ้าง และถ้าบวกกับพนักงานในภาคบริการของโครงสร้างการเงินในวอลสตรีทด้วยแล้ว ตัวเลขผู้ตกงานในวอลสตรีท อาจมากถึง 120,000 คน
     
      สืบเนื่องกฎหมายแดนอินทรีนั้น ให้การคุ้มครองสิทธิการทำงานหลักประกันชั้นหนึ่งแก่พลเมืองอเมริกันและกลุ่มผู้อาศัยถาวร ดังนั้น กลุ่มพนักงานที่จะถูกโละเป็นอันดับต้นๆได้แก่ กลุ่มชาวต่างแดน ที่ถือ วีซ่า HIB(วีซ่าทำงานระยะสั้น) พวกที่รอการอนุมัติกรีนการ์ด และชาวต่างชาติอื่นๆ
     
      TedHong ผู้อำนวยการบริษัท Beyondbond ชาวจีนโพ้นทะเล ที่ทำงานและประสบความสำเร็จในวอลสตรีทมานานถึง 20 ปี เล่าว่ากลุ่มผู้จัดการชาวจีนเป็นเป้าหมายปลดออกจากงานอันดับแรกๆ ชาวจีนที่สามารถไต่ขึ้นมาถึงระดับผู้จัดการได้นั้น น้อยอยู่แล้ว เมื่อเกิดวิกฤตสั่นคลอนการเงินขึ้น กลุ่มผู้จัดการชาวจีนจะพากันหนาวๆร้อนๆ เนื่องจากความแตกต่างด้านวัฒนธรรม และภูมิหลังของประเทศบ้านเกิด ที่เข้ากับฝรั่งไม่ค่อยได้
     
      โจว หมิง ชาวจีนโพ้นทะเล ที่คร่ำหวอดในวอลสตรีทมา 8 ปี ประสบความสำเร็จเป็นที่อิจฉาของเพื่อนๆ รายรับต่อปีสูงถึง 3 แสนเหรียญสหรัฐฯ ในตำแหน่งที่ปรึกษาระดับสูงของ 1 ใน 5 ยักษ์ใหญ่ธนาคารเพื่อการลงทุน แบร์ สเทิร์น เมื่อแบร์ สเทิร์น ล้ม มันเหมือนกับฝันร้าย แม้จะย้ายมาอยู่ที่ JP Morgan Chase ได้นั่งในตำแหน่งเดียวกับบรรษัทเดิม แต่ผมก็ยังอิจฉาเพื่อนๆที่กลับบ้านเกิดในปีสองปีที่ผ่านมา
     
      ในเมื่อรู้ว่าเรือใกล้จะจมอยู่แล้ว ทำไม่ไม่เปลี่ยนเรือเสียล่ะ? ใน 2-3 ปี ข้างหน้าจีดีพีของอเมริกาก็ยังคงอยู่ในแดนลบ โจวหมิงกล่าวด้วยใบหน้าที่เต็มไปด้วยความวิตกกังวล
     
      เวลานี้ จีน ดูจะเป็นที่กำบังหลบพายุของกลุ่มหัวกระทิจากวอลสตรีท เนื่องจากสถานการณ์ด้านมหภาคที่ยังดูมีเสถียรภาพมากกว่า CEO เหรินเหรินกงหว่าง (仁人成功网 Rr-success.com ) นาย หลิว อู่ ชี้กระแสความเชื่อทั่วไปว่า จีนมีความสามารถพอที่จะฝ่าพายุร้ายครั้งนี้ กระทั่งกลุ่มสื่อต่างแดนหลายรายต่างก็เห็นพ้องกันในจุดหนึ่งว่า จีนจะเป็นฝ่ายได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากวิกฤตครั้งนี้
     
      เกจิการเงิน จิม โรเจอร์ ปลุกกระแสเซี่ยงไฮ้
     
      ทุกครั้งที่โลกทุนนิยมเผชิญวิกฤต เซี่ยงไฮ้มักเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ เกจิด้านการเงินแห่งอังกฤษ จิม โรเจอร์ กล่าว
     
      ปัญหาขาดแคลนบุคลากรเสมือนหนอนบ่อนไชรากฐานความเจริญก้าวหน้าในภาคการเงินมหานครเซี่ยงไฮ้มาตลอด ขณะที่กลุ่มผู้บริหารสูงสุดของเซี่ยงไฮ้พยายามมานานในการดึงดูดผู้มีฝีมือความสามารถแต่ก็ได้ผลไม่มากนัก
     
      เมื่อวิกฤตการเงินเปิดฉากขึ้น เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลท้องถิ่นเซี่ยงไฮ้ได้หวนนึกถึงประวัติศาสตร์วิกฤตเศรษฐกิจโลกและการพัฒนาก้าวหน้าของเซี่ยงไฮ้ และคำพูดของ นาย จิม โรเจอร์ ทุกครั้งที่โลกทุนนิยมเผชิญวิกฤต เซี่ยงไฮ้มักเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์
     
      ระหว่างเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก (Great Depression) ระหว่างปี ค.ศ. 1929-1933 ทุนก้อนใหญ่ก็ได้ไหลเข้ามายังเซี่ยงไฮ้ นักผจญภัยต่างแดนก็เริ่มทะลักเข้ามายังเซี่ยงไฮ้ ตึกไหว้ทัน ตึกเหอผิง และตึกจิ่นเจียง ต่างก็ได้ผุดขึ้นในเวลานั้น
     
      ต่อมาในปี ค.ศ.1980-1982 เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลก เซี่ยงไฮ้ก็ได้ตะลุยบุกเบิกโครงการใหม่ๆ ทุนต่างชาติหลั่งไหลเข้าสู่มหานครแห่งเซี่ยงไฮ้ไม่หยุดหย่อนในช่วงนั้น
     
      ปีค.ศ. 1997 ขณะที่ภูมิภาคเอเชียเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ จีนสามารถรักษาเสถียรภาพเงินเหรินเหมินปี้ไว้ได้ เวลานั้น ทุนต่างชาติยิ่งทบทวี และได้สร้างจุดเปลี่ยนการพัฒนาผู่ตง สถานภาพเขตการเงินลู่เจียจุ่ยได้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง ก็ในช่วงนี้
     
      มาถึงวิกฤตการเงินเที่ยวนี้ กลุ่มผู้บริหารจัดการจำนวนมากที่กำลังแสวงหา มันสมองนอก ก็ได้ปลุกผู้ปกครองมหานครเซี่ยงไฮ้ ขณะนี้ ตะวันตกกำลังเผชิญวิกฤต ธนาคารปิดกิจการ แต่เงินในมือของเอกชนยังมีอยู่มาก และควรจะดึงออกมาใช้ ทุกสายตาได้มองมาที่ตะวันออก และหลักประกันที่จะพึ่งได้มากที่สุดก็คือจีน ในปีค.ศ. 2010 เซี่ยงไฮ้จะเป็นเจ้าภาพจัดเวิรล์ด เอ็กซ์โป ผมคะเนว่า ตอนนี้ตะวันตกกำลังช่วงชิงเข้ามาหาโอกาสในเซี่ยงไฮ้ นี่คือโอกาสที่ดีที่สุดอีกครั้งสำหรับเซี่ยงไฮ้ที่จะได้แสดงศักยภาพของตัวเอง
     
      ทว่า โอกาสได้มาถึงแล้วจริงหรือ? กลุ่มผู้จัดการในเมืองชี้ว่าโอกาสที่ว่านี้ มิใช่เพียงทุนเท่านั้น คือความสามารถคนด้วย
     
      จากนั้น กลุ่มผู้บริหารมหานครและเขตผู่ตงใหม่ก็เริ่มเดินไปตรวจสอบสถานการณ์ในลอนดอน นิวยอร์ก ดูการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มภาคการเงิน และเตรียมการสำหรับแผน ช้อปปิ้งความสามารถคน
     
      เดินสายช้อปปิ้งบุคลากร
     
      เมื่อรัฐบาลท้องถิ่นเซี่ยงไฮ้ประกาศจัดตั้งทีมเดินสายรับสมัครงาน ไม่นาน กลุ่มสถาบันองค์กรในภาคการเงินของมหานครเซี่ยงไฮ้ 27 ราย ก็ตอบรับอย่างรวดเร็ว ก่อนออกเดินทาง พวกเขาได้หน่วยรับสมัครตำแหน่งงาน 170 หน่วย ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและจัดการความเสี่ยง การจัดการสินทรัพย์ และตำแหน่งงานเฉพาะด้านของผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆอีก 15 ประเภท โดยแบ่งกลุ่มไปยังมหานครลอนดอน ชิคาโก และมหานครนิวยอร์ก ระหว่างวันที่ 5-14 ธันวาคม 2008
     
      ในสนามรับสมัครงานก็เต็มไปด้วยผู้คนเกือบ 2,000 คน ผู้ที่มาสมัครงาน ไม่เพียงแต่ชาวจีน ยังมีกลุ่มชาวต่างชาติที่ที่รู้ภาษาจีนมากรอกใบสมัครมากอย่างเกินความคาดหมาย
     
      หลี่ว์ หง ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ประจำChina Union Pay ได้เล่าถึงความประทับใจเมื่อครั้งที่ออกบู๊ทรับสมัครงานที่นิวยอร์ก วันนั้น เป็นวันที่หนาวมากที่สุดวันหนึ่ง จุดที่รับสมัครงานก็ไกลจากใจกลางเมือง พวกเราคิดว่าบู๊ทรับสมัครงานจะเงียบเหงา แต่ในวันที่สองกลับมีผู้คนถึง 1,000 คน เข้าแถวยาว หลายคนต้องขับรถ 2-3 ชั่วโมงมายังที่นี่


 
ภาพมุมสูง เซี่ยงไฮ้ เวิร์ลด์ ไฟแนนเชียล เซ็นเตอร์(SWFC) ท่ามกลางนครผู่ตง เซี่ยงไฮ้ทุ่มทุน 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนรมิตอาคารสูง 101 ชั้นที่สูงที่สุดในจีนขึ้นมา และเพิ่งเปิดใช้เมื่อปีที่แล้ว อาคารสถาปัตยกรรมล้ำสมัยแห่งนี้ เป็นสัญลักษณ์ประกาศศักดาความรุ่งโรจน์แห่งยุคศตวรรษที่ 21 ของจีน ที่มีมหานครเซี่ยงไฮ้เป็นหัวใจภาคการเงิน -ภาพเอเอฟพี
 

      "ฝันจีน ...ใกล้เข้ามา
     
      ขณะนี้ เซี่ยงไฮ้กำลังพลิกวิกฤตเป็นโอกาส สร้างธุรกิจแห่งนวัตกรรม และกองทุนระดับสากล โดยสิ่งที่จะต้องบรรลุอันดับแรกคือ ดึงบุคลากรจีนกลับมายังจีน
     
      ไม่เพียงประเทศจีน ขณะนี้ ทั้งญี่ปุ่น และอินเดีย ต่างก็จ้องแสวงหามือดีจากวอลสตรีท แต่การค้นพบบุคคลากรที่มีความสามารถสูงไม่ใช่เรื่องง่าย
     
      เรื่องค่าตอบแทนไม่ใช่อุปสรรคใหญ่ ผู้ที่มีสมัครงานส่วนใหญ่ ไม่พูดถึงค่าตอบแทน พวกเขาหวังระดับเงินเดือนตามมาตรฐานประเทศจีน
     
      ซือไห่หนิงผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานดูแลภาคการเงินเขตผู้ตงใหม่นครเซี่ยงไฮ้ ชี้ว่า ความต้องการบุคลากรระดับสูง หรือระดับล่างนั้น ไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่นคนทำงานระดับทั่วไป คุณสามารถไปอเมริกา หางานเงินเดือน 3,000 เหรียญสหรัฐฯ ปีหนึ่งๆสามารถส่งเงินกลับบ้าน 2 แสนหยวน แต่สำหรับบุคลากรระดับสูง หากคุณอยู่ในอเมริกา ก็สามารถเป็นได้อย่างมากที่สุดก็ตำแหน่งนักวิเคราะห์ทั่วไป หรือไม่ก็ผู้บริหารระดับกลาง และต่ำลงมา แต่เมื่อกลับบ้าน ปรับตัวทำงานได้ดี ก็สามารถไต่ขึ้นมาเป็นผู้จัดการองค์กร อย่างน้อยก็สามารถเป็นผู้จัดการกองทุน เงื่อนไขก็ไม่ด้อยไปกว่าในอเมริกา คุณจะเลือกอะไร?
     
      ความหนาวเหน็บ ในวอลสตรีทยังคงอยู่อีกนาน ช่วงที่หฤโหดที่สุดยังมาไม่ถึง
     
      ก่อนหน้า วิกฤตสินเชื่อจำกัดอยู่เพียงภายในระบบธนาคาร ไม่ลามมาถึงบริษัท ราวเดือนกรกฎาคม สิงหาคม เมื่อปีที่แล้ว กองทุนเพื่อการลงทุนโลกจำนวนหนึ่ง ได้หยุดเคลื่อนไหว ? แต่โดยทั่วไป ระยะพักตัวของพวกเขาจะอยู่ที่ 1 ปี ไม่มีทางเกินกว่า 2 ปี ดังนั้น มีความเป็นไปได้ว่าทุนเพื่อการลงทุนจากต่างแดนจะขยายตัวในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2009 นี้ นี่คือโอกาสแรกของจีน ซือ ไห่หนิงชี้
     
      เมื่อเงื่อนไขแรกเกิดขึ้นแล้ว โอกาสที่สองก็จะปรากฏ ระหว่างทัศนศึกษาในสหรัฐฯ ซือไห่หนิงพบว่า องค์กรแห่งนวัตกรรมหลายแห่งที่นั่น เมื่อเกิดความเสี่ยงในการลงทุนระยะแรกแล้ว ก็จะไม่ได้รับทุนในระยะที่สอง แต่สำหรับจีน องค์กรแห่งนวัตกรรมใหม่ในจีน เมื่อพัฒนาไปแล้ว ก็จะไม่หยุด นอกจากนี้ เนื่องจากกองทุนระหว่างประเทศอาจไหลเข้าจีน ดังนั้น องค์กรนวัตกรรมในต่างแดนที่ล้มละลาย ก็จะมาตามทิศทางลม เข้ามายังจีนด้วย
     
      ส่วนโอกาสประการที่สาม คือการดึงดูดบุคลากรด้านการเงิน จากที่ได้ไปเห็นสภาพการณ์สมัครงานที่นิวยอร์ก ลอนดอน และชิคาโก อย่างเช่น ที่วอลสตรีท มีบุคลากรกลุ่มใหญ่ ที่ก่อนหน้ายังไม่มั่นใจที่จะกลับมายังจีน อยากจะรอดูก่อน แต่ตอนนี้ คนจำนวนมากอยากกลับบ้าน แน่นอนการดึงดูดความสามารถคน และบรรลุเป้าหมายนั้น เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ ต้องอาศัยเวลานาน แต่ใน 3 ถึง 5 ปี ก็จะเห็นผลชัดเจน ซือ ไห่หนิงกล่าว.
     
      แปลเรียบเรียงจากหนันฟางเดลี่

เผื่อเพื่อนๆในนี้ใครสนใจข่าว ตอนนี้จีนกำลังฟื้นผมเลยเอามาให้

โพสต์แล้ว: อังคาร เม.ย. 21, 2009 10:17 pm
โดย matee
ฉางอัน ออโต ทุ่ม 2หมื่นล้านหยวนสร้างฐานเครื่องยนต์
เอเจนซี-ฉงชิ่ง ฉางอัน ออโต ซึ่งเป็นคู่หุ้นส่วนกับ ฟอร์ด มอเตอร์ เผยแผนการลงทุน 20,000 ล้านหยวน สำหรับสร้างฐานการผลิตและการพัฒนาเครื่องยนต์ ภายในปี พ.ศ. 2555
     
      ในแถลงการณ์ของฉางอัน มอเตอร์ที่เผยในวันอาทิตย์(19 เม.ษ.) ระบุว่าฐานดังกล่าว จะประกอบด้วยโครงการพัฒนาเครื่องยนต์สำหรับพาหนะระบบไฮบริดด้วย และจะเริ่มขายพาหนะไฮบริดให้แก่ผู้ซื้อปลีก อีกทั้งมีแผนที่จะขายพาหนะไฮบริด มากกว่า 10,000 คัน ในสองปีข้างหน้า
     
      อย่างไรก็ตามในแถลงการณ์แผนการลงทุนฯ มิได้ระบุถึงสถานที่ที่ก่อสร้างฐานเครื่องยนต์นี้
     
      ทั้งนี้ ฉางอัน ออโต หรือ ยักษ์ใหญ่รถยนต์จีน ก่อตั้งบริษัทที่นครเซี่ยงไฮ้ และมีสำนักงานใหญ่อยู่ในนครฉงชิ่ง เป็นเจ้าของแบรนด์รถยนต์ CHANA จับมือร่วมทุนกับค่ายรถยนต์ชั้นนำของโลกหลายราย อาทิ ซูซูกิ มอเตอร์, ฟอร์ด มอเตอร์ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้บุกเบิกโครงการผลิตรถยนต์พลังงานลูกผสม หรือรถยนต์ระบบไฮบริด มาตั้งปี 2545
     
      ฉางอัน มอเตอร์ เผยยอดขายรถไตรมาสแรก เท่ากับ 306,500 คัน เพิ่มร้อยละ 13 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า.

เผื่อเพื่อนๆในนี้ใครสนใจข่าว ตอนนี้จีนกำลังฟื้นผมเลยเอามาให้

โพสต์แล้ว: อังคาร เม.ย. 21, 2009 10:18 pm
โดย matee
จีนคืบหน้าดูดหัวกระทิจากต่างแดน

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 20 เมษายน 2552 14:27 น.


 
ไฟล์ภาพ นักเรียนมัธยมในกรุงปักกิ่ง ขณะที่ทางการจีนได้ลงนามว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติกว่า 120 คน เพื่อช่วยผลักดันภาคนวัตกรรม - เอเอฟพี


      เอเอฟพี หนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี่รายงาน รัฐบาลจีนลงนามสัญญาว่าจ้างมันสมองชั้นนำจากต่างแดนกว่า 120 คน เพื่อช่วยผลักดันภาคนวัตกรรม ซึ่งรัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณถึง 1,000 ล้านหยวน ในโครงการแสวงหาบุคคลาชั้นหัวกระทิจากต่างแดน
     
      โดยผู้เชี่ยวชาญกลุ่มแรก ได้แก่ นักวิทยาศาสตร์ 96 คน และกลุ่มผู้ประกอบการ 26 คน ซึ่งในจำนวนนี้ 80 คน ถือพาสปอร์ตต่างชาติ โดยเกือบทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ มีชาวจีนเพียง 4 คน เท่านั้น
     
      เมี่ยว หง เจ้าหน้าที่สรรหาบุคลากรภาครัฐ ประจำสถาบันวิทยาศาสตร์ปักกิ่ง กล่าวว่าขณะนี้เป็นโอกาสในการดึงดูดบุคลากรชั้นนำของโลกจากต่างแดนเข้ามายังจีน เนื่องจากประเทศชั้นนำในตะวันตกกำลังตัดลดโครงการวิจัยต่างๆลงมาก เนื่องจากวิกฤตการเงิน
     
      ผู้คนเคยปฏิเสธเดินทางมายังจีน แต่เดี๋ยวนี้แนวโน้มกำลังเปลี่ยนขณะนี้ จีนตั้งเป้าดึงดูดผู้เชี่ยวชาญที่มีฝีมือยอดเยี่ยมระดับ 5 อันดับแรก หรือ 10 อันดับแรกของโลก เมี่ยว เพิ่มเติมเหตุผลสำคัญในการดึงมันสมองต่างแดนกลับเข้าประเทศ
     
      แต่ แถลงการณ์ไม่ระบุรายละเอียดของประเทศที่จีนรับสมัครผู้เชี่ยวชาญ
     
      โครงการรับสมัครบุคลากรชั้นนำมาช่วยผลักดันการพัฒนาภาคนวัตกรรมใหม่ของจีน เริ่มขึ้นในเดือนธันวาคมปี 2551 โดยมีเป้าหมายรับสมัครผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติราว 2,000 คน ระหว่างเวลา 5- 10 ปี
     
      จีนตั้งงบสำหรับสนับสนุนการโยกย้ายสถานที่ทำงานของบุคลากรเหล่านี้ ราว 1 พันล้านหยวน อีกทั้งงบประมาณค่าตอบแทน และเงินทุนสนับสนุนจากสถาบันที่ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จะเข้าร่วมงานด้วย
     
      ติง หง วัย 40 ปี กล่าวว่า เพื่อร่วมงานของเขาถึงกับตะลึงเมื่อรู้ว่าติง หง ลาออกจากตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยบอสตัน เพื่อเข้าร่วมโครงการของทางการจีน หลังจากใช้ชีวิตในสหรัฐฯนานถึง 18 ปี
     
      คนมักจะคิดว่าการใช้ชีวิตในสหรัฐฯ ดีต่อหน้าที่การงานของผม แต่วันนี้คงจะดีกว่าหากผมกลับไปที่จีนเพื่อวิจัยด้านฟิสิกส์ ...เพราะสองชาติมีความแตกต่างกัน ขณะที่จีนเป็นชาติที่กำลังเร่งพัฒนา ด้านสหรัฐฯได้ชะลอการพัฒนาด้านนี้แล้ว ติง ซึ่งปัจจุบันทำงานในสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน เล่า
     
      ไชน่าเดลี่ ระบุ นักวิทยาศาสตร์ในจีนมีมากกว่า 38 ล้านคน แต่มีเพียง 10,000 คน ที่อยู่ในระดับผู้เชี่ยวชาญมือดี
     
      ทั้งนี้โครงการรับสมัครผู้เชี่ยวชาญระดับหัวกระทิจากต่างแดน ยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนลดการพึ่งพาภาคการผลิต และหันมาสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการสร้างสรรค์ และนวัตกรรมใหม่ แทน
     
      คลิกอ่าน วิกฤตเศรษฐกิจเปิดโอกาสทองแก่เซี่ยงไฮ้

เผื่อเพื่อนๆในนี้ใครสนใจข่าว ตอนนี้จีนกำลังฟื้นผมเลยเอามาให้

โพสต์แล้ว: อังคาร เม.ย. 21, 2009 10:19 pm
โดย matee
จีน-รัสเซียได้ข้อสรุปดีลท่อส่งน้ำมัน  

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 21 เมษายน 2552 18:41 น.


 
คนงานกำลังนำถังน้ำมันที่ว่างเปล่าไปวางซ้อนกันไว้ที่ลานเก็บของในเมืองถังซาน มณฑลเหอเป่ย โดยเมื่อวานอังคารที่ผ่านมา (21 เม.ย.) จีนและรัสเซียได้บรรลุข้อตกลงในการซื้อขายน้ำมันมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้มีการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันและการส่งน้ำมันดิบจากรัสเซียไปยังจีน


      เอเอฟพี จีน-รัสเซียได้บรรลุข้อตกลงในการซื้อขายน้ำมันมูลค่าหลายพันล้านเหรียญ ข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้มีการสร้างท่อส่งน้ำมัน เพื่อที่รัสเซียจะได้ส่งน้ำมันไปป้อนตลาดในจีนได้
     
      วิทยุแห่งชาติจีนที่ตีพิมพ์รายงานข่าวนี้ไว้ในเว็บไซต์ ยังระบุอีกว่า ข้อตกลงดังกล่าวได้ลงนามโดย นายหวัง ฉีซัน รองนายกรัฐมนตรีของจีน และนายอิกอร์ เชชิ่น รองนายกรัฐมนตรีของรัสเซีย เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (21 เม.ย.)
     
      การลงนามในสัญญาฉบับนี้ จะทำให้มีข้อตกลงอื่นๆ ตามมา ทั้งการก่อสร้างท่อส่งน้ำมัน การค้าน้ำมันดิบ เงินกู้ และโครงการอื่นๆ ที่จะมีผลในทันทีทันใด นี่คือปรากฎการณ์ใหม่อันยิ่งใหญ่ในความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างสองประเทศ นั่นคือคำพูดของนายหวังที่อ้างโดยวิทยุแห่งชาติจีน แต่ไม่มีรายงานเกี่ยวกับรายละเอียดทางด้านการเงิน
     
      อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวอินเตอร์แฟกซ์ของรัสเซียได้รายงานว่า ข้อตกลงของทั้งสองชาติมีระยะเวลา 23 ปี โดยรัสเซียจะส่งน้ำมันไปป้อนประเทศจีนเพื่อแลกกับเงินกู้มูลค่า 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่รัฐบาลจีนจะปล่อยกู้ให้แก่บริษัทน้ำมันของรัฐบาลรัสเซีย เพื่อนำไปใช้ก่อสร้างท่อส่งน้ำมัน โดยตลอดระยะเวลาของสัญญานั้น รัสเซียจะส่งน้ำมันดิบให้แก่จีนจำนวน 15 ล้านตัน
     
      ในช่วงต้นของการเจรจาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทรานส์เนฟท์ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของรัสเซีย เคยออกมาระบุว่า ข้อตกลงที่รัสเซียจะส่งน้ำมันให้แก่จีนนั้นมีระยะเวลา 20 ปี และยังไม่มีใครออกมาอธิบายว่าเพราะเหตุใดระยะเวลาของสัญญาจึงได้ขยายออกไปอีก 3 ปี
     
      การก่อสร้างท่อส่งน้ำมันจากฝั่งตะวันออกของรัสเซียไปยังโรงกลั่นน้ำมันที่อยู่ทางภาคตะวันออกฉียงเหนือของจีนนั้น จะเริ่มขึ้นในสิ้นเดือนเมษายนนี้และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2553
     
      โดยท่อส่งน้ำมันดังกล่าวจะแยกมาจากท่อส่งน้ำมันจากฝั่งตะวันออกของไซบีเรียไปยังมหาสมุทรแปซิฟิคที่กำลังก่อสร้างอยู่ และท่อนี้จะขนส่งน้ำมันดิบจากไซบีเรียไปยังสถานีน้ำมันทางชายฝั่งตะวันออกของรัสเซีย
     
      เราหวังว่าการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานจะแล้วเสร็จภายในเวลาอันรวดเร็ว เพื่อที่จะได้ส่งน้ำมันไปยังประเทศจีนได้อย่างสม่ำเสมอ นายเชชิ่นกล่าวไว้ภายหลังการเซ็นสัญญาและอ้างไว้ในวิทยุสากลของจีน

เผื่อเพื่อนๆในนี้ใครสนใจข่าว ตอนนี้จีนกำลังฟื้นผมเลยเอามาให้

โพสต์แล้ว: อังคาร เม.ย. 21, 2009 10:20 pm
โดย matee
จีนลุยยึดแหล่งน้ำมันทั่วโลก ใช้เงินกู้แลกน้ำมัน  

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 21 เมษายน 2552 08:45 น.


 
โครงการน้ำมันในอิรัก อีกแหล่งพลังงานหนึ่งที่จีนรุกเข้าไปทำสัญญาด้วยในปีนี้
 

      เอเชียน วอล สตรีท เจอร์นัล จีนเดินหน้ายึดแหล่งน้ำมันทั่วโลก ด้วยการเสนอเงินกู้ให้แก่รัฐบาลชาติต่างๆพัฒนาและผลิตน้ำมันเพื่อแลกเปลี่ยนกับโครงการสำรวจน้ำมันและการส่งน้ำมันป้อนจีน ล่าสุด จีนได้ทำสัญญาปล่อยกู้ให้แก่รัฐบาลคาซัคสถานนับหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อแลกผลประโยชน์น้ำมัน
     
      ในปีนี้รัฐบาลจีนได้ทำสัญญาทำนองเดียวกันกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่นๆ อย่างเช่น รัสเซีย บราซิล และเวเนซูเอลา โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ขยายวงเงินกู้มูลค่า 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้แก่บริษัท OAO Rosneft รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย และ OAO Transneft ผู้ประกอบการท่อส่งน้ำมัน โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือรัสเซียจะต้องส่งน้ำมันให้แก่จีนวันละ 3 แสนบาร์เรล
     
      โดยการขยายวงเงินกู้ของจีนในครั้งนี้ จะช่วยให้บริษัทน้ำมันของรัสเซียสามารถแข่งขันกับคู่แข่งรายสำคัญจากชาติตะวันตก ทั้งเอ็กซอน โมบิล, เชฟรอน และบีพี ได้
     
      แหล่งข่าวซึ่งเป็นนายธนาคารที่เคยทำงานกับบริษัทน้ำมันของจีน เปิดเผยว่า ความจริงแล้ว รัฐบาลจีนต้องการที่จะลงทุนเพื่อให้บริษัทน้ำมันจากจีนได้เป็นเจ้าของโดยตรงเหนือแหล่งทรัพยากรนั้น แต่เมื่อทำเช่นนั้นไม่ได้ จึงหันมาขยายสินเชื่อแก่บริษัทน้ำมันแห่งชาติในต่างประเทศ เพื่อที่บริษัทน้ำมันจากจีนจะได้สิทธิพิเศษในโครงการสำรวจน้ำมันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อเป็นการประกันว่าจีนจะมีแหล่งป้อนน้ำมันในยามที่ต้องการ
     
      สัญญาระหว่างจีนและคาซัคสถานที่เพิ่งเปิดเผยออกมาเมื่อวันศุกร์ (17 เม.ย.) ระบุว่า การปิโตรเลียมแห่งชาติจีน (China National Petroleum Corp-CNPC) และรัฐวิสหากิจผู้ผลิตน้ำมันของคาซัคสถาน KazMunaiGas จะร่วมกันซื้อหุ้นของบริษัทน้ำมันคาซัคสถาน MangistauMunaiGas ที่อยู่ในมือของบริษัทเซ็นทรัล เอเชีย ปิโตรเลียม ของอินโดนีเซีย
     
      อีกส่วนหนึ่งของสัญญายังระบุว่า การปิโตรเลียมแห่งชาติจีน จะได้รับสิทธิพิเศษในโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อแลกกับการขยายวงเงินกู้จำนวน 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่การปิโตรเลียมของจีนปล่อยให้แก่ KazMunaiGas นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีนยังจะปล่อยกู้ให้แก่ธนาคารพัฒนาของคาซัคสถานอีก 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อใช้ลงทุนในระบบสาธารณูปโภค
     
      แต่ก็ใช่ว่าความพยายามครอบครองบริษัทผลิตน้ำมันของจีนจะสัมฤทธิ์ผลเสมอไป โดยในปี 2548 บริษัท Cnooc จากจีนต้องประสบความล้มเหลวในการประมูลซื้อบริษัทยูโนแคลในแคลิฟอร์เนีย เมื่อสภาสูงแห่งสหรัฐฯ แสดงความวิตกกังวลต่อสัญญาทางธุรกิจ ทำให้ประธานบริษัท Cnooc นายฝู เฉิงอี้ว์ ได้ออกมาระบุว่าทางบริษัทต้องระมัดระวังอย่างมากในการเข้าไปถือสิทธิ์เหนือบริษัทน้ำมันในต่างประเทศ เพราะจะมีปัญหาการกีดกันทางการค้า
     
      การที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของทั้งธนาคารและบริษัทน้ำมัน ทำให้จีนสามารถใช้เงินเพื่อแลกเปลี่ยนกับความมั่นคงด้านทรัพยากรพลังงานได้ โดยการสนับสนุนด้านการเงินแก่ชาติที่มีแหล่งพลังงาน โดยมีธนาคารนโยบาย 2 แห่งคือ ธนาคารเพื่อการพัฒนาของจีน และธนาคารเพื่อการส่งออกและน้ำเข้าของจีน เป็นเสาหลักปล่อยกู้
     
      โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการพัฒนาของจีน (China Development Bank) นั้นถือเป็นศูนย์รวมของสัญญาหลายๆ ฉบับ เพราะนอกจากจะปล่อยเงินกู้ให้แก่รัฐวิสหากิจน้ำมันของรัสเซียจำนวน 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้ว ยังมีการปล่อยเงินกู้จำนวน 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้แก่ Petrobras บริษัทผลิตน้ำมันของบราซิล เพื่อใช้ในแผนการลงทุนที่ Petrobras คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 174,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
     
      โดยแผนการปล่อยกู้ให้แก่บราซิลนั้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงที่ประธานาธิบดีลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา เดินทางมาเยือนจีนในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้

เผื่อเพื่อนๆในนี้ใครสนใจข่าว ตอนนี้จีนกำลังฟื้นผมเลยเอามาให้

โพสต์แล้ว: อังคาร เม.ย. 21, 2009 10:20 pm
โดย matee
เศรษฐกิจแดนมังกรฟื้นแน่ ! ยอดจับจ่ายผู้บริโภคพุ่ง

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 21 เมษายน 2552 08:45 น.


 
ผู้คนรุมล้อม หาซื้อสินค้า ที่หญิงผู้หนึ่งเปิดท้ายรถขายกันในเมืองอู่ฮั่น, มณฑลเหอเป่ยเมื่อวันที่ 15 เม.ย.


      เอเชียน วอลล์สตรีต เจอร์นัล มาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศของจีนออกฤทธิ์แล้ว ชาวบ้านเชื่อมือรัฐบาล ออกมาจับจ่ายมากขึ้น ฉุดยอดจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคกระเตื้องทันตาเห็น ขณะที่คนในชนบทพากันออกรถใหม่ ไม่ยั่นเศรษฐกิจซบเซา ทำให้ยอดขายรถยนต์พลิกฟื้นเกินคาด
     
      ตัวเลขการจับจ่ายของผู้บริโภคแดนมังกรดีดตัวขึ้น แตกต่างจากสหรัฐฯ และยุโรปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งอาจช่วยให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินโลกได้เร็วขึ้น โดยเศรษฐกิจจีนชะลอการเติบโตมาอยู่ที่ร้อยละ 6.1 ในไตรมาสแรกปีนี้ แต่ยอดการขายปลีกในช่วงเดียวกันกลับพุ่งถึงร้อยละ15.9 แม้ลดลงจากร้อยละ 17.7 ในไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้ว แต่ก็เป็นตัวเลขที่น่าพอใจ หากดูจากการว่างงาน ที่พุ่งขึ้นต่อเนื่องในประเทศ
     
      นายกรัฐมนตรี เวิน เจียเป่า ระบุว่า การบริโภคขยายตัวรวดเร็ว โดยเฉพาะในภาคกลางและตะวันตก ซึ่งมีความเจริญน้อยกว่าภาคอื่น พร้อมกับย้ำว่า ความมั่นใจมีความสำคัญยิ่งกว่าเงินทอง และการจับจ่ายของผู้บริโภคในระดับนี้แสดงว่าความพยายามของรัฐบาลในการปลุกขวัญประชาชนกำลังทำงานได้ผล


 
เควิน เวล ประธานจีเอ็ม ไชน่า กรุ๊ปให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวด้านหน้ารถบูอิกในงานมอเตอร์โชว์ที่เซี่ยงไฮ้วันที่ 19 เม.ย.


      ทั้งนี้ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เป็นกลุ่ม ที่ได้รับประโยชน์มากเป็นพิเศษจากแนวโน้มที่สดใสดังกล่าว โดยยอดขายรถในจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 แตะสถิติใหม่ 1,110,000 คันในเดือนมีนาคม หลังจากตกฮวบฮาบช่วงฤดูใบไม้ผลิปีที่แล้ว
     
      ส่วนยอดขายของผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติได้แก่รถเมอร์ซีเดส-เบนซ์ของบริษัทเดมเลอร์, บริษัทออดี้ และเจเนอรัล มอร์เตอร์ ซึ่งลงทุนร่วมกับผู้ผลิตท้องถิ่นของจีน ผลิตรถบูอิก, เชอวี และคาดิลแล็ก ต่างพุ่งสูงสุดในเดือนมีนาคม
     
      ผู้คนในจีน ยังมีเงินซื้อรถเมอร์ซีเดสกันอยู่ นายอัลริช วอล์กเกอร์ ประธานและซีอีโอของเดมเลอร์ในฝ่ายปฏิบัติการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือระบุ โดยทางบริษัทคาดการณ์แนวโน้มตลาดแดนมังกรจะเติบโตต่อไป
     
      ขณะเดียวกัน รถมินิแวนขนาดเล็ก หรือไมโครมินิแวน ซึ่งผลิตในจีน กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในท้องถิ่นชนบท อันเป็นผลมาจากรัฐบาลออกมาตรการให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรในการซื้อรถคันใหม่ ทำให้รถอู่หลิง รถไมโครมินิแวน ซึ่งผลิตโดยบริษัทสาขาของเจเนอรัล มอเตอร์ ซึ่งปกติมีราคาถูกอยู่แล้ว คือคันละประมาณ 30,000-40,000 หยวน (4,400-5,500 ดอลลาร์) ยิ่งน่าสนใจ
     
      บริษัทให้บริการและจำหน่ายรถยนต์หลิงทง ชิงซัน สามารถขายรถ
      อู่หลิงในเมืองต้าโจว, มณฑลเสฉวน ได้ถึง 318 คันในไตรมาสแรกปีนี้ จากยอดขายปีที่แล้วตลอดทั้งปีจำนวน 347 คัน
     
      จีนยังเป็นตลาดที่สดใส แม้แต่กับบริษัท ที่ยังไม่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคก็ตาม โดยพร็อกเตอร์ แอนด์ แกมเบิล ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่ระบุว่า ยอดขายของบริษัทในจีนยังเติบโต ทว่าด้วยอัตราชะลอตัวมากที่สุดในรอบ 6 ปี อย่างไรก็ตาม ยอดขายในตลาดอื่น ๆ นั้น มีแต่หดลง ด้านหลุยส์
      วิตตองกล่าวว่า ยอดขายยังคงทรงตัวสม่ำเสมอในปีที่แล้ว เทียบกับรายได้จากการขาย ที่ตกลงร้อยละ 4 และร้อยละ 5 ในสหรัฐฯ และญี่ปุ่นตามลำดับ ขณะที่เมโทร เอจี ผู้ค้าปลีกรายใหญ่อันดับ 2 ของยุโรป รายงานยอดขยายสินค้าในจีน พุ่งขึ้นร้อยละ 15 แตะ 1,100 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว
     
      จากผลการศึกษา โดยบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป ชี้ว่า ผู้บริโภคในจีนถึง 3 ใน 4 มีแผนคงระดับการใช้จ่าย หรือเพิ่มการใช้จ่ายมากขึ้นในปีหน้า อันเป็นจำนวนผู้บริโภค ที่สูงกว่าในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเกือบ 2 เท่า
     
      นอกจากนั้น ผู้บริโภคแดนมังกรยังวิตกกังวลเรื่องการเงินของตนน้อยกว่าอีกด้วย โดยมีเพียงร้อยละ 23 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะย่ำแย่ลงอีกในปีนี้ เทียบกับร้อยละ 32 ในสหรัฐฯ , ร้อยละ 49 ในยุโรป และร้อยละ57 ในญี่ปุ่น ทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลมากขี้น และเศรษฐกิจจีนที่เติบโตมาตลอด 3 ทศวรรษ ทำให้คนรุ่นใหม่ในประเทศ ไม่มีความทรงจำที่เลวร้ายอยู่ในหัวเลย

มองอีกด้านของจีน

โพสต์แล้ว: ศุกร์ พ.ค. 01, 2009 1:54 am
โดย ซากคน
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เมษายน 2552

เศรษฐกิจจีนตกแรงเกินคาด

การส่งออกของจีนกำลังตกต่ำและการว่างงานกำลังน่าวิตก จีนต้องเร่งหาวิธีฟื้นเศรษฐกิจ แต่นั่นอาจต้องใช้เวลานานเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด

Li Zhong-he เดินไปที่หน้าประตูโรงงานที่เขาเคยทำงาน เพื่อไปตรวจหาชื่อของตัวเองในเอกสารที่ติดอยู่หน้าโรงงาน หมายศาลที่สั่งให้โรงงานจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างจำนวนเล็กน้อยให้แก่คนงานอย่าง Li และอีกหลายร้อยคนที่ต้องตกงาน หลังจากที่โรงงานผลิตของเล่นแห่งนั้นปิดกิจการ

เกือบ 10 ปีมาแล้วที่ Li อพยพจากชนบทไปยัง Dongguan เมืองอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งเจริญรุ่งเรือง เกือบตลอดทศวรรษที่ผ่านมา Li มีเงินเดือนงามพอดู ประมาณเดือนละ 250 ดอลลาร์ และยังก้าวหน้าในการทำงานจนได้เป็นหัวหน้ากะ Li ทำในสิ่งที่แตกต่างจากแรงงานอพยพที่มีประมาณ 115 ล้านคนทั่วประเทศจีน เขาได้อพยพภรรยาและลูกชายเล็กๆ เข้ามาอยู่ในเมืองกับเขาด้วย เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิต "ปกติ" อย่างชนชั้นกลาง

แต่ตอนนี้ Li กล่าวเสียงเบา เมื่อหันหน้ากลับมาจากเอกสารด้วยความผิดหวัง ที่หาชื่อของตัวเองไม่พบ "ผมไม่รู้ว่าจะทำยังไงต่อไปดี"

เกือบตลอดทศวรรษนี้ที่จีนใช้ชีวิตอย่างเชื่อมั่น ใครๆ ต่าง ก็พร่ำพูดไม่หยุดว่า ศตวรรษนี้คือศตวรรษของจีน ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกนี้จะกลายเป็นมหาอำนาจที่มั่งคั่งและทรงอำนาจมากที่สุด จีนเติบโตด้วยตัวเลข 2 หลักหรือใกล้เคียงมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถเปลี่ยนชีวิตของคนจำนวนมาก อย่าง Li จากชาวนายากจนให้กลายเป็นสมาชิกกลุ่มชนชั้นกลาง คนที่มีชีวิต "ปกติ" ที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว

เมื่อจีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในปี 2001 ก็คล้ายกับมีใครบางคนยิงปืนขึ้นฟ้าเป็นสัญญาณให้นักวิ่ง บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติทั่วโลกต่างพากันวิ่งแข่งเข้าไปยังจีน เพื่อจะใช้เป็นฐานส่งออกพร้อมกับเจาะเข้าตลาดจีนที่มีขนาดใหญ่และเติบโตอย่างรวดเร็ว กระแสของจีนแรงมากจนเมื่อ 1 ปีก่อน นักเศรษฐศาสตร์บางคนถึงกับพูดถึงการ decoupling ซึ่งหมายถึงว่า แม้หากสหรัฐฯ ต้องประสบวิกฤติเศรษฐกิจซึ่งมีชนวนมาจากปัญหาวิกฤติในตลาดบ้านของตนเอง แต่จีนก็จะยังคงเติบโตต่อไปได้ และบางทีอาจสามารถ ช่วยพิทักษ์โลกให้ปลอดภัย โดยไม่ต้องประสบวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำตามสหรัฐฯ ได้

หนีไม่พ้น
แต่จีนเติบโตอย่างรวดเร็วมานานเกินไป ทำให้แทบทุกภาคส่วนของจีนมองโลกในแง่ดีมากเกินไป จนยากที่จะยอมรับความเป็นจริงอันโหดร้ายทางเศรษฐกิจบางอย่างของตัวเองทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้ แต่อาจถึงเวลาแล้วที่จีนจะต้องกัดฟันทนก้มหน้า สู้ความจริง ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่า จีนเองก็ไม่มีภูมิต้านทานพอที่จะหลีกหนีการตกต่ำทางเศรษฐกิจของโลกได้ นักเศรษฐศาสตร์บางคนยืนยันด้วยซ้ำไปว่า ความจริงแล้วเศรษฐกิจของจีนในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วน่าจะติดลบด้วยซ้ำไป ยิ่งกว่านั้นการ ชะลอตัวของจีนครั้งนี้อาจจะรุนแรงและยาวนานเกินกว่าที่ใครๆ จะคาดคิด ภาคการส่งออกของจีนตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด โดยลดลง 17% ในไตรมาสที่ 4 และจะยังคงเป็นอย่างนั้นต่อไปจน กว่าสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของจีนจะเริ่มฟื้นตัว

ตัวขับเคลื่อนการเติบโตหลักอีกตัวของจีน คือการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (fixed-asset) ก็อ่อนแอลงเช่นกันและจะยิ่งอ่อนแอลงเรื่อยๆ บริษัททั้งที่เป็นของจีนเองและบริษัทต่างชาติในจีน ได้ทุ่มลงทุนสร้างเสริมสร้างศักยภาพด้านอุตสาหกรรมให้แก่จีนนับตั้งแต่ช่วงต้นของทศวรรษนี้เป็นต้นมา ในปี 2000 มีบริษัทต่างชาติในจีนจำนวน 364,000 แห่ง มาถึงสิ้นปีที่แล้วจำนวนบริษัทต่างชาติในจีนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 661,000 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม

การลงทุนสร้างโรงงานใหม่และการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ทั้งหมดในจีนเมื่อปีที่แล้ว มีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 40% ของ GDP หรือประมาณ 1.76 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่นักเศรษฐ-ศาสตร์จากสถาบันวิจัย Lombard Street Research ในลอนดอน ระบุว่า "ไม่น่าเชื่อ" โดยสิ้นเชิง

และเนื่องจากตัวเลขที่อาจจะปรุงแต่งจนสูงเกินจริงเช่นนี้ ก็จะยิ่งทำให้จีนต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะสามารถฟื้นตัวจนถึงระดับการลงทุนที่เคยสูงขนาดนั้นได้ ในขณะที่บริษัทที่บอกว่าเพิ่ง จะทุ่มลงทุนนับล้านล้านดอลลาร์ไปกับการสร้างโรงงานใหม่กลับกำลังลอยแพคนงาน

ความอ่อนแอของตลาดแรงงาน ซึ่งเริ่มจากการเลิกจ้างคนงานในโรงงานผลิตของเล่นและสิ่งทอที่ใช้เทคโนโลยีต่ำ ได้เริ่มลามเข้าสู่โรงงานที่ใช้เทคโนโลยีสูงแล้วเช่นกัน TMSC ผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์รายใหญ่ที่สุดในโลกของจีน ซึ่งมีโรงงานอยู่ชานนคร เซี่ยงไฮ้และเปิดมาตั้งแต่ปี 2003 ได้เริ่มให้คนงานที่มีอยู่ทั้งหมด 1,500 คน "ลาหยุดอย่างสมัครใจโดยไม่ได้รับค่าจ้าง" เดือนละ 2-3 วันมาตั้งแต่เดือนที่แล้ว

เมื่อการว่างงานมากขึ้นย่อมกระทบความต้องการซื้อของผู้บริโภค แต่นักเศรษฐศาสตร์บางคนก็ยังคงไม่เลิกฝากความหวังไว้ที่จีน ว่าจะเป็นประเทศสุดท้ายที่จะยังคงเติบโต แม้ว่าจะช้าลงกว่าเดิมก็ตาม และยังคงหวังว่าจีนจะเป็น "หัวรถจักรของโลก" ที่จะสามารถช่วยฉุดลากสหรัฐฯ รวมทั้งประเทศอื่นๆ ให้รอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจได้

"แต่นั่นจะไม่เกิดขึ้น" Andy Xie นักเศรษฐศาสตร์ในเซี่ยงไฮ้ชี้ผลสำรวจโดยหอการค้าอเมริกันในเซี่ยงไฮ้ล่าสุดชี้ว่า ในจำนวนบริษัทต่างชาติ 108 แห่งที่ได้รับการสำรวจในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มี 40% ที่รายงานว่า ยอดขายในจีนลดลง 10% หรือมากกว่าเมื่อเทียบกับ 1 ปีก่อน จริงอยู่ที่การสำรวจดังกล่าวทำขึ้นในขณะที่ทั่วโลกกำลังตื่นตระหนกกับข่าวร้ายทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้การซื้อชะงักงันไปทั่วทุกหนแห่ง และขณะนี้ความต้องการซื้อในจีนก็เพิ่มขึ้นมากกว่านั้นแล้วก็ตาม แต่คำถามที่เกิดขึ้นในตอนนี้หาใช่คำถามที่ว่า เศรษฐกิจจีนจะตกต่ำอย่างรุนแรงหรือไม่เสียแล้ว หากแต่กลายเป็นว่าเศรษฐกิจจีนจะตกต่ำ อย่างรุนแรง "เพียงใด" ต่างหาก

คนที่ยังคงเชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะตกต่ำเพียงไม่นานและไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ ในโลก เป็นเพราะเชื่อมั่นในรัฐบาลจีน เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เมื่อชัดเจนแล้วว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกต่ำอย่างรุนแรง จีนได้สร้างความประหลาดใจด้วยการประกาศ มาตรการกระตุ้นด้านการคลังวงเงินสูงถึง 5 แสน 6 หมื่น 5 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 8% ของ GDP (ในขณะที่แผนกระตุ้นของสหรัฐฯ ใช้งบเท่ากับ 5.6% ของ GDP เท่านั้น) นักเศรษฐศาสตร์พากันหัวปั่นตั้งแต่นั้น เพราะพยายามจะแยกให้ออกว่า ตัวเลขงบกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่ดูมากมายมหาศาลนั้น มีส่วนไหนบ้างที่เป็นงบใหม่ที่เพิ่มเติมขึ้นมาจริงๆ และส่วนไหนที่เป็นงบเก่าที่ใช้อยู่แล้ว แต่ผ่านมาหลายเดือนจนถึงบัดนี้ ก็ยังคงหาความชัดเจนในเรื่องนี้ไม่ได้ ในขณะที่รัฐบาลจีนเริ่มพูดถึงการจะออกแผนกระตุ้นครั้งใหม่แล้ว

ข่าวดีอย่างหนึ่งทั้งสำหรับจีนเองและโลกคือ รัฐบาลจีนมีเงินพอที่จะทุ่มให้กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่อย่างแน่นอน จีนย่างเข้าสู่ปีใหม่ปีนี้ด้วยงบประมาณเกินดุล และการเพิ่มงบใช้จ่ายในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่างๆ ก็จะช่วยหนุนเสริมผู้ผลิตเหล็กกล้าและสินค้าอุตสาหกรรมพื้นฐานทั้งหลายของจีน ที่กำลังต้องการแรงหนุนอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ยังสามารถจะช่วยสร้างงานใหม่จำนวนหนึ่ง ให้แก่แรงงานอพยพจากชนบทที่กำลังตกงานอยู่ถึง 20 ล้านคน เพราะสิ่งที่ทำให้ประธานาธิบดีหู จิ่นเทาของจีนต้องนอนฝันร้ายทุกคืนในขณะนี้ก็คือความกลัวว่าจะเกิดความไม่สงบทางสังคม เนื่องจากการที่มี คนตกงานจำนวนมหาศาล

จีนอาจจะมีทรัพยากรมากพอที่จะรองรับเศรษฐกิจขาลงไม่ให้ตกกระแทกพื้นอย่างรุนแรงนัก และอาจสามารถหลีกเลี่ยงความไม่สงบที่จะเกิดขึ้นได้ Jun Ma หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Deutsche Bank Securities ในฮ่องกงชี้ว่า การใช้จ่ายของรัฐบาลจีนคือปัจจัยหลักที่ทำให้จีนเติบโตถึง 7% ในไตรมาสแรกของปีนี้ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนจะอ่อนแอลงอีกครั้งในช่วงต่อไปปีนี้ และตัวเลขการเติบโตดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างงานใหม่เพื่อรองรับชาวจีนที่ตกงานได้ทั้งหมด

จุดอ่อนเศรษฐกิจจีน
ปัญหาที่แท้จริงของผู้นำจีนมิใช่เพียงการรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ดูเหมือนจะเชื่อว่า ทันทีที่วิกฤติเศรษฐกิจโลกยุติลง จีนจะกลับไปเติบโตแบบร้อนแรงได้เหมือนเดิมคือ 10% เป็นอย่างน้อย และทำให้ชาวจีนหลายล้านคนก้าวพ้นจากความยากจน เข้าสู่สถานภาพที่คล้ายกับชนชั้นกลาง แต่นั่นอาจเป็นเพียงเรื่องเพ้อฝันที่ไม่มีวันเกิดขึ้น ต่อให้ไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่มีชนวนจากสหรัฐฯ เกิดขึ้นในครั้งนี้ก็ตาม แต่ผู้นำจีนก็ตระหนักดีว่า ความได้เปรียบที่พวกเขาได้อัดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจของตน เพื่อสร้างการเติบโตที่รวดเร็วนั้น ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่มีการศึกษาดีแต่มีค่าแรงต่ำจำนวนมหาศาล การสร้างทัศนคติที่ดีต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการส่งออก ส่งออกและส่งออกให้มากยิ่งขึ้น ได้วิ่งไปจนเกือบจะสุดทางของมันแล้ว ดุลบัญชีเดินสะพัดของจีนขณะนี้พุ่งสูงลิ่วจนทำลายสถิติที่ 8% ของ GDP ไปเมื่อปีที่แล้ว หากจีนยังขืนปล่อยให้ตัวเองเกินดุลมาก ไปกว่านี้ ก็อาจจะต้องเจอกับปฏิกิริยาตอบโต้ที่รุนแรงจากประเทศ คู่ค้าก็เป็นได้ เกมของจีนจบลงแล้ว

อย่างไรก็ตาม วิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ได้ฉายแสงให้มองเห็นจุดอ่อนทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งถูกกลบจนมิดในช่วงที่เศรษฐกิจจีนยังรุ่งเรืองดี และใครๆ ต่างพากันกล่าวขวัญถึงศตวรรษของจีน นักวิเคราะห์ด้านจีนแห่ง Rhodium Group ในนิวยอร์กชี้ว่า เส้นทางข้างหน้าจะเป็นสิ่งที่ผู้นำจีนไม่เคยเดินมาก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็จะชัดเจนขึ้นเองว่า จีนจำเป็นจะต้องเดินหน้าไปในทิศทางใด ในขณะที่สหรัฐฯ จะต้องประหยัดมากขึ้น และใช้จ่ายน้อยลง แต่จีนจะต้องทำตรงกันข้าม อัตราการออมของจีน สูงกว่า 20% แต่ในขณะที่ GDP ของจีนเติบโตขึ้นตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รายได้ประชาชาติต่อหัวของจีนกลับไม่เติบโตเลย Huang Yasheng ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์การเมืองแห่ง Sloan School ของ MIT ชี้ว่า การทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้จีนเติบโตทางเศรษฐกิจในขั้นต่อไป แต่จะทำได้อย่างไรนั้น เป็นสิ่งที่จีนกำลังพยายามจัดการอยู่ แต่ก็มาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นเสียก่อน และเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะจัดการได้อย่างง่ายดายหรือรวดเร็วได้ นักเศรษฐศาสตร์ชี้ด้วยว่า หนึ่งในกุญแจสำคัญในการปรับสมดุลการเติบโตของจีนคือการเดินหน้าปฏิรูปภาคการเงินต่อไป จีนได้ทุ่มเงินมหาศาลกว่าจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างทุกวันนี้ได้ แต่ผู้ออมเงินของจีนกลับถูกลงโทษ ด้วยดอกเบี้ยเงินฝากที่แสนต่ำในการฝากเงินกับธนาคารของรัฐ และธนาคารเหล่านี้ยังนำเงินทุนที่ได้มาจากเงินออมของประชาชนไปใช้ ด้วยเหตุผลที่สะท้อนการเมืองมากกว่าการใช้วิจารณญาณที่ดีทางเศรษฐกิจ รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของจีนยังคงได้เงินทุนสนับสนุนจากธนาคารของรัฐเป็นรายแรกๆ

วิกฤติเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันซึ่งมีชนวนมาจากพฤติกรรม ของนักการเงินตะวันตก ทำให้ดูเหมือนจะกลายเป็นแฟชั่นทั้งในและนอกจีน ที่จะต้องแสดงความเสียใจต่อระบบการเงินการธนาคารแบบตะวันตก พร้อมไปกับชื่นชมระบบของจีนที่มีสุขภาพดีกว่า แม้ว่าจะเป็นความจริงอยู่บ้างแต่ก็เป็นการมองด้วยสายตาที่คับแคบ และหากการชื่นชมนี้ไปขัดขวางการเดินหน้าปฏิรูปภาคการเงินของจีน ก็จะส่งผลกระทบต่อการที่จีนกำลังพยายามจะปรับเปลี่ยนตัวเองไปสู่การมีเศรษฐกิจที่มีความสมดุลมากขึ้น อดีตเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางของจีน (People's Bank of China) เปิดเผยว่า จีนกำลังจะปฏิรูประบบการเงินในขั้นต่อไปอยู่แล้ว เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ออมและนักลงทุน และทำให้ระบบการเงินของจีนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่โชคไม่ดีที่มาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้เสียก่อน ทำให้การปฏิรูประบบการเงินของจีนอาจต้องล่าช้าออกไปและเปิดช่องให้ฝ่ายคัดค้านที่อยู่ภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้โอกาสเยาะเย้ยฝ่ายที่พยายามปฏิรูปว่า เห็นหรือไม่ว่าแม้แต่ชาติตะวันตกเองยังกำลังยึดธนาคารกลับไปเป็นของรัฐ

นอกจากจีนจะต้องปฏิรูประบบการเงินเพื่อก้าวขึ้นสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในขั้นต่อไปแล้ว จีนยังมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพัฒนาในด้านเทคโนโลยี สร้างงานใหม่และทำให้รายได้ต่อหัวเติบโต โดยทั้งหมดนี้ต้องอาศัยนวัตกรรม ในบรรดาบริษัทไฮเทคทั้งหมดที่อยู่ภายในสวนอุตสาหกรรมหลายแห่งทั่วประเทศจีนนั้น ส่วนใหญ่ยังคงเป็นบริษัทของต่างชาติแทบทั้งสิ้น จีนจึงจำเป็นต้องคุ้มครองนักสร้างสรรค์นวัตกรรมทั้งที่เป็นชาวจีนเองและชาวต่างชาติ ด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งมีการ ละเมิดอย่างแพร่หลายในจีน อย่างไรก็ตาม Liu Fenming ผู้บริหาร ระดับสูงของไมโครซอฟท์กล่าวว่า จีนมีความคืบหน้าในเรื่องนี้ในเดือนมกราคม ทางการจีนได้ทลายเครือข่ายละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาครั้งใหญ่ ซึ่งละเมิดซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์แถมยัง ส่งออกซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ไปยังประเทศอื่นๆ แม้กระทั่งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศแม่ของไมโครซอฟท์เอง

งานหินของผู้นำจีน
ปัญหาของผู้นำระดับสูงของจีนคือ การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเติบโตขั้นต่อไปของจีน ล้วนแต่ต้องใช้เวลาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครอง ทรัพย์สินทางปัญญา การปฏิรูประบบการเงิน และการปรับปรุงระบบสวัสดิการบำนาญและการรักษาพยาบาล เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องยาก หาใช่นโยบายประเภทที่รัฐบาลจีนสามารถจะสั่งเปลี่ยน แปลงได้ในชั่วข้ามคืน ในขณะที่ทุกๆ คนในจีนขณะนี้ เหมือนกับคนที่กำลังวิ่งวุ่นไปทั่ว เพื่อพยายามดับไฟที่กำลังเผาไหม้ ไม่มีใครในจีนที่คาดคิดมาก่อนว่า จีนจะได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงจากวิกฤติการเงินโลกครั้งนี้ ทุกคนจึงยังรู้สึกตกตะลึงอย่างมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น

นอกจากตกตะลึงแล้ว จีนยังรู้สึกโมโหอีกด้วย จีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในขณะนี้ เมื่อไม่นานมานี้ Luo Ping เจ้าหน้าที่คณะกรรมาธิการกฎระเบียบธนาคารของจีนให้สัมภาษณ์สื่อตะวันตกว่า "จีนรู้สึกโกรธ แต่ก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้" นอกจากจะยังคงซื้อพันธบัตรคลังของสหรัฐฯ ต่อไป เพราะหากเงินตราต่างประเทศของจีน ที่ได้รับมาจากการเกินดุลการค้ามหาศาลไหลกลับเข้าไปยังจีน ก็มีแต่จะทำให้ค่าเงินหยวนหรือเงิน renminbi ของจีนแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะทำให้สินค้าส่งออกของจีนแพงขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา

จีนคงจะใช้วิธีกระจายการถือครองเงินตราต่างประเทศต่อไป โดยหันไปซื้อทองคำและเงินยูโรให้มากขึ้น แต่ยังไม่มีสัญญาณว่า จีนจะเลิกสนใจพันธบัตรคลังของสหรัฐฯ และหลายคนในจีนก็ไม่รังเกียจที่อิทธิพลทางการเมืองของจีนที่มีต่อสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น ในฐานะที่จีนเป็นประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่ ไม่มีใครในรัฐบาลจีนที่รู้สึกไม่พอใจที่ฮิลลารี คลินตันลดระดับการแสดงความเป็นห่วงเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีนลง ในระหว่างที่เธอเดินทางเยือนจีนในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นครั้งแรกและสำหรับสหรัฐฯ แล้ว การที่จีนยังคงกระหายในพันธบัตรของตน ดูเหมือนจะเป็นข่าวดีทางเศรษฐกิจเล็กๆ เพียงอย่างเดียวที่ออกมาจากจีนในทุกวันนี้

แต่สำหรับชาวจีนธรรมดาทั่วไป การมองเห็นเงินไหลออกไปยังต่างประเทศในขณะที่ประเทศตัวเองกำลังเจอวิกฤติเศรษฐกิจ นี้เป็นเรื่องที่น่าโมโห พวกเขาไม่เคยคาดคิดว่าจะต้องมาตกอยู่ในสภาพนี้ และคิดว่านี่ไม่ใช่ความผิดของพวกเขา นี่เป็นยุคที่จีนจะผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจมิใช่หรือ นี่เป็นศตวรรษของจีนมิใช่หรือ แต่ตอนนี้ทุกอย่างกลับตาลปัตรไปหมด แม้แต่จีนเองก็ยังต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนไม่ต่างอะไรกับชาติอื่นๆ ทั่วโลก เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องจมลงไปในวิกฤติเศรษฐกิจ ยุคที่จีนจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน คงจะยังมาไม่ถึงในเร็วๆ นี้

ในช่วงเวลานี้ แรงงานจีนอพยพจากชนบทนับล้านๆ คนอย่างเช่น Li Zhong-he ซึ่งต้องตกงานเพราะถูกเลิกจ้างอย่างไม่รู้ตัว ต่างก็ต้องบ่ายหน้ากลับไปยังบ้านเกิดของตัวเอง Li ยังโชคดี ที่สุดท้ายเขาก็ได้รับเงินชดเชยการถูกเลิกจ้างจากทางการ Dongguan แต่ยังมีอีกหลายล้านคนที่ไม่โชคดีเท่าเขา นี่อาจเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจจีนกำลังจะตกกระแทกพื้นอย่างแรง และยังไม่รู้ว่าความรุนแรงครั้งนี้จะสิ้นสุดลง ณ ที่ใด

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ฟอร์จูน 16 มีนาคม 2552

เผื่อเพื่อนๆในนี้ใครสนใจข่าว ตอนนี้จีนกำลังฟื้นผมเลยเอามาให้

โพสต์แล้ว: ศุกร์ พ.ค. 01, 2009 1:25 pm
โดย siebelize
:lol:  :lol:  :lol:  :lol:  :lol:  :lol:  :lol:  :lol:
สรุปแล้ว ข่าวดี สี่ข่าว  ข้ายไม่ใครดี หนึ่งข่าว
ครึ่งแรก ข่าวดี นำไป 4:1

แต่ว่า เริ่มยกสองมา ดูจากแหล่งข่าวแล้ว เป็น ASTVผู้จัดการออนไลน์  ไปซะสาม กะ นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา  
อันนี้ กรรมการ ตัดไป สามคะแนน

สรุปผลออกมา 4:4
ต้องนับหมัดหาว่าใครต่อยเยอะกว่ากัน

ผมวิเคราะห์แบบนี้ ถูกมั้ยอะครับ   :lol:  :lol:  :lol:  :lol:  :lol:



วิกฤตเศรษฐกิจเปิดโอกาสทองแก่เซี่ยงไฮ้  +1
แปลเรียบเรียงจากหนันฟางเดลี่    

ความเห็นส่วนตัวในการลงทุนระยะกลาง-ยาวในกองทุนหุ้นต่างประเทศ

โพสต์แล้ว: ศุกร์ พ.ค. 01, 2009 3:08 pm
โดย ซากคน
หากจะเล่น country fund แบบรายประเทศแบบนี้  ผมว่าจะให้ดี ต้องรู้จุดเด่น-จุดด้อยทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆให้มากๆ    เพราะแม้ว่าจะเป็นภูมิภาคเอเชียเหมือนกัน  แต่ก็ไม่ได้ดีเด่นในเรื่องการส่งออกไปเสียหมด  และถึงแม้ประเทศนั้นๆจะไม่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกโดยตรง  แต่การฟื้นฟูสภาพจำเป็นต้องมีทุนสำรองเยอะมากพอ และควรจะมีดุลการค้าสะสมเป็น +  

   มาวิกฤติรอบนี้  ส่วนตัวผมคิดว่า ไม่มีประเทศไหนปิดช่องโหว่ตัวเองได้หมด  

ยกตัวอย่างประเทศที่มีสัดส่วนการส่งออกน้อย (export to GDP ratio) เมื่อเทียบประเทศไทย และประเทศเอเชียอื่นๆส่วนใหญ่  

เช่น

ประเทศที่มีทุนสำรองอันดับหนึ่งของโลก อย่างจีน  กับดุลการค้าสะสม+มหาศาล  มีขนาดเศรษฐกิจที่ผูกพันกับการส่งออกไปอเมริกา ค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับ 3 ประเทศที่เหลืออย่าง บราซิล รัสเซีย และ อินเดีย  (BRIC)  ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เช่นกัน

ส่วนอินเดีย ที่มีสัดส่วนการส่งออกค่อนข้างน้อยก็จริง  แต่ส่งออกของเขาก็ผูกติดกับอุตสาหกรรม IT มากเกินไป  ทำให้คนชนชั้นกลางที่เป็น demand สำคัญในประเทศ ได้รับผลกระทบไปไม่น้อย
ประกอบกับนำเข้าน้ำมันมาก  ดุลการค้าสะสมติดลบ  การเมืองไม่แน่นอน  พลอยทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานล่าช้า และไม่มากพอ  
 

ผมคิดว่าการลงทุนในหุ้นต่างประเทศที่มีอัตราเติบโต GDP สูงๆๆ  น่าจะมีตัวเลือกอื่นนอกจากจีน  ผสมอยู่ในพอร์ตด้วย  เพื่อให้จุดเด่นของแต่ละประเทศเข้ามาเสริมซึ่งกันและกัน  เวลาเศรษฐกิจของประเทศนึงได้รับผลกระทบจังๆ  จะยังคงเหลืออีกประเทศที่ยังค้ำพอร์ตเราอยู่  กระจายสัก 2-4 ประเทศ น่าจะยังวิเคราะห์ไหว  แต่ทั้งนี้ไม่ควรกระจายมากเกินไปจนเราจับไม่ได้ว่า  แก่นหลักของพอร์ตเราอยู่ที่ไหน  ส่วนตัวพอร์ตกองทุนต่างประเทศ ผมมีเพียง จีน+อินเดีย อย่างละครึ่งครับ  

ส่วนเรื่องประชากรศาสตร์ของแต่ละประเทศ  หากรู้ได้ก็ยิ่งดีครับว่า  สัดส่วนอายุคนทำงานมีอยูกี่ % , แนวโน้มจำนวนประชากรรวมของแต่ละประเทศอีก 10-20 ปี จะเป็นยังไงต่อไป  

หากมีโอกาสได้เห็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเขาแล้ว  ก็อาจนำมาพิจารณาร่วมกับเรื่องอื่นๆได้ครับ ว่าแนวโน้มที่คาดว่าจะเป็น  สมเหตุสมผลไหม    

มากกว่า 4 ประเทศนี้ ผมทำการบ้านไม่ไหวครับ  ^^

เผื่อเพื่อนๆในนี้ใครสนใจข่าว ตอนนี้จีนกำลังฟื้นผมเลยเอามาให้

โพสต์แล้ว: จันทร์ พ.ค. 04, 2009 3:43 pm
โดย 121
ขอบคุณ ครับ     :lol:

save ไว้ก่อน    :P

อ่านที่หลัง :roll: