ข้อผิดพลาดของบัฟเฟต : ValueWay วิบูลย์ พึงประเสริฐ
โพสต์แล้ว: ศุกร์ ก.พ. 26, 2010 11:47 pm
JValue Way ฉบับวันที่ 1 มีนาคม 2553
โดยวิบูลย์ พึงประเสริฐ
ข้อผิดพลาดของบัฟเฟต
วอร์เรน บัฟเฟตถือได้ว่าเป็นนักลงทุนที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ทุกคนอาจคิดว่าเขาเป็นนักลงทุนระดับเทพที่ไม่เคยทำอะไรผิดพลาดเลย แต่ในความเป็นจริงนักลงทุนระดับตำนานอย่างบัฟเฟตเคยลงทุนพลาดหลายครั้งและทุกครั้งเขามักบอกผู้ถือหุ้นของบริษัทเบิร์คไชน์ของเขาเสมอในรายงานประจำปีว่าเขาทำอะไรโง่ๆลงไปบ้าง เรามาดูกันว่าเขาทำอะไรผิดพลาดครั้งใหญ่อะไรบ้าง
อันดับแรก การลงทุนในบริษัทโคโนโค ฟิลลิป (Conoco Phillips) ในปี 2008 บัฟเฟตซื้อหุ้นของบริษัทโคโนโค ฟิลลิปเป็นจำนวนมากเนื่องจากเขาคาดว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้น ในขณะนั้นราคาน้ำมันขึ้นไปสูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่เวลาได้พิสูจน์ว่าบัฟเฟตคิดผิดเพราะในปลายปี 2008 เกิดวิกฤติซัพไพร์ม ราคาน้ำมันลดลงจาก 150 เหรียญเหลือเพียง 30 เหรียญต่อบาร์เรล ราคาหุ้นของบริษัทน้ำมันทั่วโลกลดลงอย่างมาก โคโนโค ฟิลลิปของบัฟเฟตก็เช่นเดียวกันที่ไม่สามารถยืนฝ่ากระแสของวิกฤตคราวนี้ได้ ในช่วงเวลานั้นบัฟเฟตต้องขายหุ้นบริษัทนี้ออกไปเพื่อนำเงินไปลงทุนในทรัพย์สินอื่นเช่นการซื้อหุ้นกู้ของจีอี การลงทุนในโคโนโค ฟิลลิป ครั้งนั้นทำให้เบริ์คไชน์ขาดทุนไปถึง 3 พันล้านเหรียญ (กว่า 1 แสนล้านบาท) เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของบัฟเฟตครั้งนี้ได้ว่าการเห็นราคาหุ้นหรือราคาสินค้าโภคภัณท์เพิ่มสูงขึ้นมากๆอย่างรวดเร็ว อาจทำให้นักลงทุนอดใจไม่ได้ที่ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในมหกรรมนั้นด้วย ไม่งั้นจะกลายเป็นตกรถไป แต่หารู้ไม่ว่ารถคันนั้นอาจถอยหลังกลับมาทับคนที่ตามขึ้นไปทีหลังเมื่อไหร่ก็ได้ นักลงทุนที่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนให้อยู่เหนือฝูงชนจะมีความได้เปรียบในสถานการณ์เช่นนี้
อันดับสอง การลงทุนในสายการบินยูเอสแอร์ (U.S. Air) บัฟเฟตซื้อหุ้นบุริมสิทธิ์ของสายการบินยูเอสแอร์ในปี 1989 เนื่องจากผลตอบแทนของเงินปันผลที่สูงรวมทั้งการเติบโตที่ดีของรายได้และกำไรของสายการบินในช่วงที่ผ่านมา แต่ท้ายที่สุดการลงทุนในยูเอสแอร์ของบัฟเฟตกลายเป็นฝันร้าย เมื่อยูเอสแอร์ไม่สามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้แม้แต่หุ้นบุริมสิทธิ์ที่บัฟเฟตถืออยู่ สุดท้ายถึงแม้บัฟเฟตจะสามารถขายหุ้นที่มีอยู่ออกไปได้หลังจากพยายามขายอยู่หลายปี แต่ก็ทำให้เขาขยาดหุ้นสายการบินไปอีกนาน ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เขารู้ว่าการลงทุนกับบริษัทที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงอย่างสายการบินซึ่งต้องใช้เงินซื้อเครื่องบินใหม่ๆมาเพื่อขยายเส้นทางบิน เมื่อเงินสดไม่พอต้องกู้เงินมาลงทุน สุดท้ายผู้ถือหุ้นจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการขยายตัวของรายได้และกำไรเลย บัฟเฟตถึงกับบอกว่าถ้านักลงทุนในสายการบินอยากทำอะไรสักอย่างหนึ่งนั่นก็คือทำให้ออร์วินและวิลเบอร์ ไรท์ไม่สามารถสร้างเครื่องบินลำแรกขึ้นมาได้ เพราะธุรกิจสายการบินเป็นธุรกิจที่ทำลายความมั่นคั่งของผู้ถือหุ้นได้อย่างแท้จริง
อันดับสาม การลงทุนในบริษัทเดกเตอร์ชูวร์ (Dexter Shoes) ในปี 1993 บัฟเฟตซื้อหุ้นของบริษัทเดกเตอร์ชูวร์ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรองเท้ารายใหญ่ในอเมริกาโดยการแลกหุ้นกับบริษัทเบิร์คไชน์ในเวลานั้น หลังจากเวลาผ่านไปไม่กี่ปี ธุรกิจรองเท้าของบริษัทเดกเตอร์ชูวร์ถูกสินค้าที่ผลิตจากจีนและประเทศอื่นๆเข้ามาแย่งตลาดเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสินค้าของบริษัทไม่มีความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน (Competitive Advantage) ทำให้ถูกแย่งลูกค้าไปได้อย่างง่ายดาย สำหรับการลงทุนในบริษัทนี้ บัฟเฟตประเมินความเสียหายจากราคาหุ้นของเบิร์คไชน์ที่ใช้ในการเข้าซื้อหุ้นของเดกเตอร์ชูวร์ไว้ที่ $3.5 พันล้านเหรียญ (กว่า 1 แสนล้านบาท) สิ่งที่เขาเรียนรู้จากการข้อผิดพลาดครั้งนั้นคือการซื้อธุรกิจที่ไม่มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ถึงแม้บริษัทจะไปได้ดีในระยะสั้น แต่ระยะยาวแล้วธุรกิจจะไม่สามารถรักษาอัตรากำไรที่สูงเช่นเดิมได้ คู่แข่งจะค่อยๆเข้ามาในตลาดเนื่องจากความน่าดึงดูดในการเติบโตของรายได้และกำไรของอุตสาหกรรมนั้นๆ ในช่วงหลังๆบัฟเฟตถึงเลือกซื้อหุ้นในธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นบริษัทโคคาโคลา วอล์มาร์ต หรือยิลเลต เป็นต้น
สำหรับนักลงทุนทั่วไปจะเห็นว่าแม้แต่นักลงทุนระดับเทพอย่างบัฟเฟตยังลงทุนผิดพลาดได้ ดังนั้นไม่มีใครที่ไม่เคยทำพลาดในตลาดหุ้น เพียงแต่ข้อแตกต่างระหว่างนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จกับล้มเหลวอยู่ที่การเรียนรู้จากข้อผิดพลาดนั้นแล้วเริ่มต้นใหม่แทนที่จะถอดใจโทษตัวเองแล้วออกจากตลาดหุ้นไปหรือไม่ก็ทำผิดพลาดเช่นเดิมซ้ำๆอยู่ตลอดเวลา