ความรู้สำหรับหุ้นเดินเรือครับ
โพสต์แล้ว: ศุกร์ ก.ค. 16, 2010 1:59 pm
พอดีว่ากำลังหาความรู้เรื่องเรือ
แล้วไปเจอข้อมูลดีๆ
ก็เลยเอามาฝาก สำหรับคนที่กำลังศึกษาหุ้น RCL TTA PSL ครับ
ถ้าอยากอ่านเต็ม ตามนี้เลย
http://www.md.go.th/marine_knowledge/e-harbour.php
แล้วไปเจอข้อมูลดีๆ
ก็เลยเอามาฝาก สำหรับคนที่กำลังศึกษาหุ้น RCL TTA PSL ครับ
ถ้าอยากอ่านเต็ม ตามนี้เลย
http://www.md.go.th/marine_knowledge/e-harbour.php
ความรู้เรื่องท่าเรือและเรือ
ประเภทของเรือ
ในเศรษฐกิจของการขนส่งทางทะเลสิ่งที่สำคัญก็คือความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทและขนาดของเรือ เรือเหล่านี้จะบรรทุกสินค้าซึ่งอาจบรรจุอยู่ในคอนเทนเนอร์จากท่าเรือแห่งหนึ่งไปสู่อีกแห่งหนึ่งตั้งแต่ปริมาณน้อยถึงปริมาณมาก ปัจจุบันมีเรือเดินสมุทร (Ocean - going ships) จำนวนมากที่สามารถบรรทุกสินค้าได้ถึง 100,000 - 500,000 deadweight (tons dwt) จึงทำให้เรือต้องมีขนาดใหญ่ขึ้น และสร้างปัญหากับท่าเรือและอู่ต่อเรือ เช่น เรือบรรทุกสินค้าน้ำมัน
ขนาดใหญ่อาจส่งผลให้ต้องทำการขนถ่ายสินค้านอกฝั่ง หรืออาจจำเป็นต้องมีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกในการขนถ่ายสินค้าที่ทันสมัยเหมาะสมกับเรือบรรทุกสินค้าบรรจุคอนเทนเนอร์ เป็นต้น
ลักษณะพื้นฐานของเรือ
โดยทั่วไปโครงสร้างของเรือประกอบด้วย 2 ส่วนที่สำคัญคือ ส่วนที่เป็นตัวเรือหรือลำเรือ (Hull) จะประกอบด้วย Holds และ Tanks และส่วนที่เป็นเครื่องจักร (Machinery) ซึ่งจะรวมถึงเครื่องยนต์และอุปกรณ์ต่าง ๆ ลักษณะพื้นฐานของเรือแบ่งออกเป็น 3 จำพวกคือ
Single Deck Vessels เป็นเรือที่มีดาดฟ้าชั้นเดียว เหมาะสมกับการบรรทุกสินค้าเทกอง (bulk cargoes) เช่น ถ่านหิน เมล็ดธัญญพืชต่าง ๆ (รูปที่ 1.7)
Tween Deck Vessels เป็นเรือที่มีดาดฟ้าเพิ่มขึ้นอีกหลายชั้นที่ด้านล่างของดาดฟ้าเรืออันบนสุด (main deck) เหมาะสมกับการบรรทุกสินค้าทั่วไป ซึ่งดาดฟ้าเรือแต่ละชั้นจะช่วยป้องกันความเสียหายของสินค้าได้ (รูปที่ 1.8)
Shelter Deck Vessels เป็นเรือที่มีดาดฟ้าเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งชั้นเหนือดาดฟ้าเรืออันบนสุด จึงเรียกว่า Shelter Deck (รูปที่ 1.9 ) ซึ่งมี 2 ประเภทคือเป็นแบบปิดหรือเปิด เรือประเภทนี้เหมาะสมกับการบรรทุกสินค้าหลายประเภท ได้แก่ เรือบรรทุกแก๊ส (Gas Carriers) เรือบรรทุกไม้ (Wood Carriers) เรือห้องเย็น (Refrigerated Ships) เรือบรรทุกน้ำมัน (Oil tankers) เรือคอนเทนเนอร์หรือเรือบรรทุกสินค้าบรรจุตู้ (Container Ships) และเรือโร-โร (Roll-on/Roll off Ships)
ประเภทของเรือสินค้า
Nettle (1988) ได้กล่าวถึงประเภทของเรือต่าง ๆ ที่ใช้ในการขนส่งทางทะเล ซึ่งแต่ละรูปแบบจะมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างกันออกไป สำหรับในที่นี้ได้รวบรวมเฉพาะประเภทของเรือสินค้าที่สำคัญในการเดินเรือ ดังนี้
Cargo Ships เป็นเรือสินค้าซึ่งศัพท์ภาษาอังกฤษอาจใช้คำว่า Liner (เรือประจำ) หรือ Tramp (เรือจร) สำหรับบรรทุกสินค้าทั่วไปไม่จำเป็นต้องมีเฉพาะสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจบรรทุกสินค้าเก่าที่เป็นหีบห่อและไม่เป็นหีบห่อ ปกติเรือสินค้าทั่วไป
จะเรียกว่า Breakbulk ship ซึ่งมีลักษณะคล้ายเรือบรรทุกถ่านหินแต่จะบรรทุกสินค้าผสมหลายอย่าง เรือบางลำจะมี Gantry cranes อยู่ประจำเรือด้วย
Bulk Carriers เป็นเรือที่มีดาดฟ้าชั้นเดียวขนาดใหญ่ สำหรับบรรทุกสินค้าเทกอง (แบบไม่หีบห่อ) อาจเป็นเรือสินค้าเทกองแห้ง (Dry bulk carriers) ได้แก่ ธัญญพืช แร่ ถ่านหิน ปุ๋ย น้ำตาล เยื่อไม้ ฯลฯ โดยสินค้าจะถูกวางหรือเทกองในห้องระวางสินค้าจนเต็ม หรืออาจเป็นเรือสินค้าเทกองเหลว (Liquid bulk carriers) จำพวกน้ำมัน เช่น เรือบรรทุกน้ำมัน (Oil tankers) ซึ่งจะสูบผ่านลงในระวางเรือหรือถังเก็บและสูบถ่ายระหว่างเรือกับฝั่งโดยทางท่อ เรือประเภทนี้จะมีขนาดระวางบรรทุกสินค้าประมาณ 20,000 deadweight (tons dwt)
OBO Ships (Oil/Bulk/Ore ships) เป็นเรือบรรทุกสินค้าเทกองได้ 2 ประเภทขึ้นไป เรือเหล่านี้มักมีขนาดใหญ่มากและสามารถบรรทุกได้ทั้งสินค้าเทกองแห้งและสินค้าเทกองเหลว อาจเป็น B/O (Bulk/Ore) , O/O (Ore/Oil), O/B/O (Ore/Bulk/Oil) หรือ O/S/O (Ore/Slurry/Oil)
Gas Carriers เป็นเรือบรรทุกแก๊สที่ต้องการความปลอดภัยสูงมีการออกแบบเป็นลักษณะพิเศษทั้งด้านการปฏิบัติงานและการขนถ่ายแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
LNG (Liquified Natural Gas) ได้แก่เรือที่บรรทุกแก๊สธรรมชาติจำพวก Methane ภายใต้การลดอุณหภูมิถึง 160๐ C โดยจะผ่านขบวนการถูกเปลี่ยนเป็น Methy Alcohol และถูกเก็บใน Conventional tankers
LPG (Liquified Petroleum Gas) ได้แก่เรือที่บรรทุกแก๊สปิโตรเลียมต่าง ๆ เช่น Butane หรือแก๊สหุงต้ม โดยจะถูกทำให้เป็นของเหลวภายใต้อุณหภูมิที่สูงกว่า LNG หรือโดยการควบคุมทั้งอุณหภูมิและความดัน และเก็บแก๊สในรูปของเหลวในถังเก็บทรงกลม (Spherical shape)
Tankers เป็นเรือบรรทุกสินค้าเทกองที่ออกแบบพิเศษสำหรับสินค้าจำพวกน้ำมัน สารเคมี หรือใช้บรรทุกแก๊ส จึงเป็นเรือที่ค่อนข้างอันตรายและต้องการการควบคุมดูแลความปลอดภัยในการขนส่งและสูบถ่ายสูงเช่นเดียวกับ Gas carriers เรือประเภทนี้จะมี
ถังเก็บบนเรือเป็นชุด (Series) แยกออกจากส่วนอื่น ถ้าเป็นเรือบรรทุกน้ำมันดิบในปริมาณมากจะถูกบรรจุในถังเก็บขนาดใหญ่ (มากกว่า 200,000 tons dwt) ซึ่งเรียกว่า Very Large Crude Carriers หรือ VLCCs และหากถูกบรรจุเก็บในถังขนาดมากกว่า 350,000 tons dwt เรียกว่า Ultra Large Crude Carriers หรือ ULCCs โดยทั่วไปถ้าเป็นเรือบรรทุกน้ำมันดิบ มักจะมีถังเก็บประมาณ 5-6 ถัง ส่วนเรือที่บรรทุกน้ำมันที่กลั่นแล้วจะมีประมาณ 8 ถัง เพื่อแยกเกรดหรือประเภทของน้ำมันที่กลั่นแล้ว ปกติเรือประเภทนี้จะขนถ่ายหรือสูบถ่ายผ่านทางท่อโดย Shore pump หรือ Shipborne pumping gear
Container Ships เป็นเรือคอนเทนเนอร์ สำหรับบรรทุกสินค้าที่ถูกบรรจุเป็นตู้ หรือที่เรียกว่าสินค้าบรรจุตู้ ปัจจุบันเรือประเภทนี้อาจบรรทุกตู้สินค้าได้ถึง 3,000 - 3,500 TEUs ซึ่งจะเป็นเรือขนาดใหญ่ มีการพัฒนาออกแบบให้เหมาะสมกับระบบการขนส่งประเภทต่าง ๆ และต้องมีท่าเรือที่รองรับอย่างเหมาะสมในด้านเทคโนโลยีของอุปกรณ์ขนถ่าย หรือการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการขนยกสินค้า การขนส่งสินค้าด้วยเรือคอนเทนเนอร์มีข้อดีคือสะดวก รวดเร็ว สินค้าได้รับความเสียหายน้อย แต่เรือประเภทนี้มีการลงทุนก่อสร้างค่อนข้างสูงเพราะต้องมีอุปกรณ์ต่าง ๆ ประจำเรือ และต้องมีการดูแลรักษาอุปกรณ์อย่างต่อเนื่องด้วย สินค้าที่บรรจุในตู้อาจเป็นสินค้าแห้ง สินค้าเหลว สินค้าประเภทอาหาร เช่น ผลไม้ ผักสด ปลา เนื้อสัตว์ สารเคมี ปุ๋ย สุรา เครื่องจักร เป็นต้น หมายเหตุ TEU (Twenty Foot Equivalent Unit) หมายถึงหน่วยนับจำนวนตู้สินค้า หรือ Container หรือ ตู้เหล็กขนาด มาตรฐานกว้าง 8 ฟุต สูง 8 ฟุต และยาว 20 ฟุต
LASH Ships หมายถึง Lighter aboard ship เป็นเรือกึ่งคอนเทนเนอร์ประเภทหนึ่ง เรือประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องใช้บริการท่าเรือใด ๆ เลย กล่าวคือเรือแต่ละลำจะบรรทุกตู้สินค้าและเรือลำเลียง (ซึ่งบรรทุกสินค้าจนเต็มประมาณ 400 ตัน ) 70-80 ลำ และเรือเหล่านี้จะถูกยกขึ้นลงน้ำด้านท้ายเรือโดยใช้ Gantry crane จากนั้นเรือลากจูงจะทำการลากเรือลำเลียงเหล่านี้ต่อไปจนถึงจุดหมายปลายทาง เรือประเภทนี้เป็นที่นิยมของเจ้าของเรือเนื่องจากประหยัดค่าบริการท่าเรือ
Roll-on/Roll-off Ships เป็นเรือคู่แข่งที่สำคัญของเรือคอนเทนเนอร์ ปัจจุบันนิยมแพร่หลายมากขึ้นเนื่องจากมีลักษณะเฉพาะเหมาะสำหรับการขนส่งสินค้าหลายประเภท และวิธีการขนถ่ายสินค้าสะดวก มีความคล่องตัวสูง ต้องการอุปกรณ์ยกขนสินค้าจาก
ท่าเรือน้อยมาก ลักษณะเรือจะมีสะพานทอดด้านท้ายเรือและหัวเรือหรือมีเพียงด้านเดียวสำหรับให้สินค้าผ่านเข้าออกโดยสะดวก สินค้าที่ขนถ่ายโดยเรือประเภทนี้ได้แก่ สินค้าบรรจุตู้ สินค้าทั่วไป สินค้าประเภทรถยนต์ หรือสินค้าที่สามารถวางบนล้อเลื่อนได้ เป็นต้น โดยทั่วไปจะมีทั้งเรือที่บริการในระยะใกล้และเรือเดินสมุทรที่ขนส่งระยะไกล
Passenger Ships หรือ Cruise Liners เป็นเรือโดยสารที่มี
คุณลักษณะเฉพาะตัว มีสิ่งอำนวยความสะดวกในตัวเรือมาก จึงมีค่าใช้จ่ายในการดูแลและรักษาสูง โดยทั่วไปจะมีขนาดใหญ่กว่าเรือประเภทอื่น ภายในเรือจะมี ห้องอาหาร ห้องพักผู้โดยสาร ห้องดูภาพยนต์ ห้องโถงสำหรับเต้นรำ สระว่ายน้ำ ที่ออกกำลังกาย และสิ่งบันเทิงต่าง ๆ เรือประเภทนี้ถ้าแบ่งตามลักษณะการใช้งานอาจแบ่งเป็น เรือโดยสารที่วิ่งระยะใกล้ เช่น เรือเฟอรี่ และเรือโดยสารที่วิ่งระยะไกล เช่น เรือเดินสมุทร เรือสตาร์ครูส เป็นต้น
นอกจากที่กล่าวมาแล้วนี้ ยังมีเรือประเภทอื่นที่พบในธุรกิจของการขนส่งทางทะเล ได้แก่ เรือลากจูง (Tug boats) เรือตู้สินค้า (Feeder vessels) เรือสินค้าทั่วไปที่บรรจุตู้สินค้ามาด้วยหรือที่เรียกว่าเรือกึ่งคอนเทนเนอร์ (Semi container vessels) เรือบรรทุกสินค้าทั่วไป ( Conventional vessels) เรือลำเลียง (Barges) เป็นต้น ลักษณะของเรือเดินสมุทรและเรือบริการที่สำคัญแสดงในรูปที่ 10