หน้า 1 จากทั้งหมด 1

"หรรสา สุสายัณห์" ลงทุนต้องเข้าใจตัวเองแล้วจะมีควา

โพสต์แล้ว: เสาร์ ก.ค. 31, 2010 9:13 am
โดย vichit
วันที่ 18 กรกฎาคม 2553 06:58

"หรรสา สุสายัณห์" ลงทุนต้องเข้าใจตัวเองแล้วจะมีความสุข

โดย : สรวิศ อิ่มบำรุง

จากสถิติในอดีตที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยแม้จะผันผวนแต่ถ้าลงทุนระยะยาวอัตราผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อแน่นอน


ก็เป็นหลักคิดง่ายๆ ไม่ต้องลงทุนในหุ้นแบบบู๊มากเอาปีละ 30% ในลักษณะนั้น แต่ขอระยะยาว 7 ปี 10 ปี ได้ปีละ 7-8% ก็แฮปปี้แล้วนะ

หรรสา สุสายัณห์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนส่วนบุคคล บลจ.บัวหลวง ถือเป็นบุคคลที่มากประสบการณ์และคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงตลาดเงินตลาดทุนโดยเฉพาะในธุรกิจกองทุนรวมมาอย่างยาวนานอีกคนหนึ่งเลยทีเดียว เมื่อ บมจ. ธนาคารกรุงเทพ โอนย้ายธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่แบงก์เคยดูแลมาไว้ที่บริษัทลูกแห่งนี้ เขาก็ได้รับความไว้วางใจให้ตามมาสานงานต่อ...ก่องานใหม่ด้วยเช่นกัน เมื่อต้องบริหารเงินของตัวเองเขามีมุมมองในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

หรรสา บอกว่า ปกติไม่ได้มีการกำหนดหรือวางแผนเป็นทางการเท่าไร วิธีการกำหนดมาจากการทำงานจริงในชีวิตประจำวัน แต่ก็เหมือนคนทั่วไปหลังจากที่มีปัจจัย 4 ครบแล้ว มีเงินเหลือเพียงพอที่จะคิดถึงการออม โดยจะแบ่งการออมเป็น 2 ด้าน คือ 1) เงินออมไว้ใช้หลังเกษียณ และ 2) เงินออมที่เป็นสภาพคล่องเพื่อรองรับการครองชีพและดูแลครอบครัวตามปกติ ดังนั้นเม็ดเงินออมจึงไม่ได้มุ่งหวังในเรื่องอัตราผลตอบแทนสูงมากนัก แต่เน้นการออมแบบต่อเนื่องเป็นสำคัญ โดยปัจจุบันเงินออมประมาณ 50% จะออมผ่านกองทุนประหยัดภาษีทั้งกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) อีก 25% จะลงทุนในส่วนที่เป็นกองทุนอสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นการลงทุนที่สามารถเพิ่มค่าได้ในระยะยาวและต่อสู้กับเงินเฟ้อได้เป็นอย่างดี และที่เหลืออีก 25% นั้นจะมองหาการลงทุนทางเลือกอื่นๆ ที่มีมากขึ้นในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นกองทุนทองคำหรือกองทุนน้ำมัน เป็นต้น เรียกได้ว่าปัจจุบันยังใช้ กองทุนรวม เป็นเครื่องมือหลักที่สำคัญในการลงทุน

การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันก็เลือกที่จะลงทุนผ่านกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เพราะสามารถคาดการณ์ผลตอบแทนได้มีประวัติการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเห็นชัดอยู่แล้ว ปัจจุบันให้อัตราเงินปันผลเฉลี่ย 6 - 7% ดีกว่าเงินฝากและสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ 4% แต่ในอนาคตหากมีโอกาสก็อาจจะขยับไปผ่อนคอนโดถ้ามีตัวเลือกดีๆ แต่ในตอนนี้ก็ยังเลือกที่จะลงทุนผ่านกองทุนไปก่อน

หรรสา ยังบอกอีกว่า ตัวเองไม่ใช่คนที่ชอบความเสี่ยง แต่กองทุนประหยัดภาษีที่เลือกลงทุนอยู่ทั้งหมดมีนโยบาย ลงทุนในหุ้น เพราะประเทศไทยคงไม่มีโอกาสจะเห็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในระดับ 2 หลักเหมือนช่วงก่อนวิกฤติอีกแล้ว ตลาดพันธบัตรทุกวันนี้ก็เห็นอยู่คงไม่มีอายุ 5 ปี ผลตอบแทน 7-8% ให้เห็นแล้ว โลกของดอกเบี้ยคงไม่แพงเหมือนในอดีตที่เคยเป็นมาอีกแล้วนอกจากเป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ต้นๆ ซึ่งประเทศไทยได้ผ่านตรงนั้นมาแล้ว มองไปข้างหน้าผลตอบแทนของกองทุนตราสารหนี้ไม่มีทางเป็น 2 หลัก แล้วยิ่งออมไประยะยาวแต่ละปีก็จะถูกเงินเฟ้อกินไปเรื่อยๆ ดังนั้นเวลาจัดสรรเงินไปลงทุนในกองทุน RMF เมื่อมีความเข้าใจถึงระดับหนึ่งนักลงทุนจะย้ายไปหุ้น ซึ่งการที่เลือกกองทุน RMF หุ้นของตัวเองนี้ไม่ได้เกี่ยวกับว่าตัวเองชอบความเสี่ยงเพราะหุ้นมีความเสี่ยงและความผันผวนแน่นอน แต่ถ้าเรามองเป้าหมายการลงทุนเพื่อเกษียณในระยะยาว โดยสถิติ 5 - 7 ปี ขึ้นไป การลงทุนในตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 7 - 8% ต่อปี อัตราผลตอบแทนระดับนี้น่าจะเหมาะกว่าที่จะไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้

แม้ว่าในแง่ของประโยชน์ทางภาษีจะลงทุนในกองทุน RMF ตราสารหนี้หรือหุ้นก็ไม่ต่างกัน ได้ประโยชน์ตามฐานภาษีเหมือนกันอยู่แล้ว เพราะอัตราภาษีเท่ากัน แต่เงินต้น 2 ก้อน ถ้ามีทางเลือกเดียวก็ต้องเลือกลงหุ้นมากกว่าตราสารหนี้ เพราะประโยชน์ทางภาษีเท่ากันตามฐานภาษีก็จริง แต่โอกาสในการได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นจากระยะเวลาการลงทุนเฉลี่ยที่ยาวกว่ามันสูงกว่า

จากสถิติในอดีตที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยแม้จะผันผวนแต่ถ้าลงทุนระยะยาวอัตราผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อแน่นอน ก็เป็นหลักคิดง่ายๆ ไม่ต้องลงทุนในหุ้นแบบบู๊มากเอาปีละ 30% ในลักษณะนั้น แต่ขอระยะยาว 7 ปี 10 ปี ได้ปีละ 7-8% ก็แฮปปี้แล้วนะ ส่วนจะแบ่งไปลงทุนในหุ้นเท่าไรดีนั้นตรงนี้คงอยู่ที่หัวใจและปอดของแต่ละคนแล้วว่าเป็นเช่นไร เพราะแต่ละคนมีความสามารถในการรับความเสี่ยงได้แตกต่างกันนั่นเอง

ส่วนกลยุทธ์การลงทุนของหรรสา นั้น จะไม่เน้นการจับจังหวะตลาดในการลงทุน แต่จะเลือกลงทุนเฉลี่ยทุกเดือนไม่ได้สนใจว่าตัวเองจะต้องซื้อที่ต้นทุนเท่าไร หรือรอให้ดัชนีลงมาเท่านั้นเท่านี้ก่อนจึงค่อยซื้อ เพราะมั่นใจว่าลงทุนไปยังไงก็ได้อัตราผลตอบแทนจากอัตราฐานภาษีที่ได้อยู่แล้ว การลงไปทุกๆ เดือนอย่างสม่ำเสมอเป็นการเฉลี่ยต้นทุนการซื้อแล้วเป็นการสร้างวินัยในการลงทุนให้กับตัวเองพร้อมกับช่วยลดการตื่นตระหนกของตัวเองลงไปได้ด้วย และมีสถิติพิสูจน์ได้ว่าอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยดีกว่าจริงๆ ดีกว่าการไปสุ่มลงเดือนที่ 3 หรือเดือนที่ 6 หรือไปลงช่วงปลายปี ก็เลยมีหลักสูตรการลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน (DOLLAR COST AVERAGE : DCA) ขึ้นมา เมื่อทดลองทำดูด้วยตัวเองผลลัพธ์ก็ออกมาเป็นที่น่าพอใจเช่นกัน

หรรสา ฝากว่า แม้กองทุน RMF หุ้นจะเป็นการลงทุนระยะยาว แต่ถ้ามานั่งดูหุ้นทุกวันมันก็ไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นเวลาลงทุนต้องเข้าใจตัวเองด้วย เวลาเรามองการลงทุนระยะยาว ก็ไม่ควรจะไปนั่งมองตลาดหุ้นทุกวัน เพราะอาจจะทำให้เป็นทุกข์ได้เช่นกัน



http://www.bangkokbiznews.com/home/deta ... ามสุข.html