หน้า 1 จากทั้งหมด 1

ทำไมคนไทยชอบพุดอะไรมั่วๆ

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ส.ค. 26, 2010 7:51 am
โดย kongkam1
เมื่อวานก่อนยังบอกว่าเศรษฐกิจทั้งปีโต10% แต่พอมาเมื่อวานหุ้นร่วงแค่5% กว่าๆ บอกว่าปีนี้โตลดลงเหลือ 3.3% ห่างกันแค่วันเดียวมันลดลงขนาดนี้เลยหรอ ลองอ่านดูครับ ว่ามั่วหรือปล่าว    ศก.ไทยชะลอเหลือ 3.3% จาก 10.6% ในครึ่งปีแรก
จากการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2/2553 แม้ต้องเผชิญกับผลกระทบรุนแรงจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง แต่ยังสามารถรักษาความต่อเนื่องของการฟื้นตัวไว้ได้ดีกว่าที่คาด โดยมูลค่าจีดีพีที่ปรับฤดูกาลยังคงเติบโตเป็นบวกร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Seasonal Adjusted Quarter-on-Quarter) ดีกว่าที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัวประมาณร้อยละ 1.3-1.4 ขณะเดียวกัน อัตราการขยายตัวของจีดีพีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนก็ยังคงสูงถึงร้อยละ 9.1 (Year-on-Year) แม้ชะลอลงจากที่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 15 ปีที่อัตราร้อยละ 12.1 ในไตรมาสแรกก็ตาม ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกมีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 10.6 นับเป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงเป็นอันดับสี่ของเอเชีย รองจากสิงคโปร์ (ร้อยละ 18.1) ไต้หวัน (ร้อยละ 13.1) และจีน (ร้อยละ 11.1)
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังหลายด้าน โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่จะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

ปัจจัยเสี่ยงหลัก ... ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก : สัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ปรากฏชัดเจนมากขึ้น ได้สร้างความกังวลถึงผลกระทบที่จะมีต่อภาคการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยตลอดระยะที่ผ่านมา ทั้งนี้ สัญญาณการชะลอตัวของการส่งออกล่าสุดในเดือนกรกฎาคมที่หดตัวแรงกว่าที่คาด โดยมีมูลค่าลดลงถึงร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM ปรับฤดูกาล) นั้น เป็นสิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากหากการส่งออกยังปรับลดลงในเดือนต่อๆ ไป ก็อาจฉุดกิจกรรมการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีสัดส่วนสูงเกือบร้อยละ 40 ของจีดีพีของไทย ให้มีระดับที่ลดลง

ทั้งนี้ เครื่องชี้ล่วงหน้าของภาวะการผลิตในภูมิภาคสำคัญๆ ของโลกชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในภาคการผลิตของสหรัฐฯ ชะลอตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในภาคการผลิตของจีนอ่อนตัวลงเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือน ซึ่งทิศทางการชะลอตัวของหลายประเทศ ส่งผลให้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิตทั่วโลก (Global PMI) ที่จัดทำโดย JP Morgan ชะลอตัวเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี โดยที่ผ่านมาภาคการผลิตและการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

เงินบาทแข็งค่า ... กระทบรายได้เงินตราต่างประเทศที่แปลงกลับมาเป็นรูปเงินบาท : ท่ามกลางสภาวการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทะลุระดับ 31.50 บาท/ดอลลาร์ฯ ลงไปมีระดับปิดที่ 31.49 บาทต่อดอลลาร์ฯ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา คิดเป็นอัตราที่แข็งค่าขึ้นร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2552 นั้น ค่าเงินของไทยที่แข็งค่าขึ้นนี้ จะทำให้รายได้เงินตราต่างประเทศจากการส่งออกมีมูลค่าน้อยลงเมื่อแปลงกลับมาเป็นมูลค่าเงินบาท ขณะที่ค่าเงินที่แข็งค่ากว่าบางประเทศ เช่น จีน และเวียดนาม ก็อาจมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของธุรกิจไทยทั้งภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยว ในตลาดที่ต้องแข่งขันกับประเทศที่มีค่าเงินแข็งค่าน้อยกว่าเงินบาทของไทย

อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น ... อาจมีผลต่อตลาดการบริโภคสินค้าคงทน : ในด้านการบริโภค คาดว่าในช่วงเดือนกรกฎาคมน่าจะยังมีแรงหนุนจากมหกรรมฟุตบอลโลกที่ทำให้มีเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่หลายธุรกิจ ขณะที่สถานการณ์การเมืองที่ลดบรรยากาศความตึงเครียดลงก็นับเป็นปัจจัยที่น่าจะส่งผลดีต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ดังที่เห็นได้จากยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศในเดือนกรกฎาคมยังขยายตัวสูงร้อยละ 52.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) อย่างไรก็ดี วัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในประเทศอาจมีผลต่อยอดขายสินค้าคงทนที่ผูกโยงกับสินเชื่อผู้บริโภค เช่น ที่อยู่อาศัย รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้นับเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันการบริโภคในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา การบริโภคได้รับผลบวกจากการเติบโตในภาคการผลิตและภาคการเกษตรที่สนับสนุนการจ้างงานและการเพิ่มขึ้นของรายได้ของประชาชน ดังนั้น ถ้าหากภาคการผลิตมีการชะลอตัว กำลังซื้อของผู้บริโภคก็อาจได้รับผลกระทบตามไปด้วย

หลายธุรกิจยังขึ้นอยู่กับตัวแปรทางการเมือง : สถานการณ์การเมืองที่คลี่คลายลงเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของธุรกิจในประเทศและภาคการท่องเที่ยว โดยการท่องเที่ยวที่เผชิญมรสุมจากเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในเดือนกรกฎาคมเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 14.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 17 จากเดือนก่อนหน้า (MoM ปรับฤดูกาล) อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนทางการเมืองนับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับเศรษฐกิจไทย ซึ่งหากการเมืองมีเสถียรภาพก็น่าจะเป็นพื้นฐานให้ธุรกิจ เช่น การท่องเที่ยว ค้าปลีก บันเทิง และธุรกิจบริการอื่นๆ มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องต่อไปได้

การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐน่าจะเร่งตัวในช่วงโค้งสุดท้ายของปีงบประมาณ : ซึ่งเม็ดเงินเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล รวมทั้งการผลักดันโครงการไทยเข้มแข็งให้มีความคืบหน้า จะเป็นปัจจัยที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนอุปสงค์ในประเทศ

การลงทุนภาคเอกชนอาจชะลอตัว : การลงทุนของภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องในครึ่งปีแรกอาจมีทิศทางชะลอตัวลง โดยเฉพาะการลงทุนในด้านก่อสร้างในส่วนของการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ซึ่งน่าจะชะลอลงหลังมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์สิ้นสุดลงไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

โดยสรุป เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 สามารถฟื้นตัวขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้อย่างแข็งแกร่งเกินคาด แม้ต้องเผชิญกับมรสุมจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังสามารถบันทึกอัตราการขยายตัวในระดับสูงถึงร้อยละ 10.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) ซึ่งนับเป็นระดับที่สูงเป็นอันดับสี่ของภูมิภาคเอเชีย รองจากสิงคโปร์ ไต้หวัน และจีน โดยในไตรมาสที่ 2/2553 ซึ่งเป็นช่วงที่เหตุการณ์ทางการเมืองมีความรุนแรงสูงสุดนั้น เศรษฐกิจไทยก็ยังขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.1 (YoY) แม้อาจชะลอลงจากร้อยละ 12.1 ในไตรมาสแรกก็ตาม

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบางอาจส่งผลกระทบให้การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลังชะลอตัวลงมาก โดยคาดว่าอาจขยายตัวร้อยละ 8-17 (YoY) จากที่เติบโตสูงถึงร้อยละ 37 ในครึ่งปีแรก ปัจจัยทั้งด้านอุปสงค์ในตลาดโลกที่อ่อนตัวลง และค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้น อาจส่งผลให้มูลค่าจีดีพีของไทยในไตรมาสที่ 3/2553 (ที่ปรับฤดูกาล) มีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 (QoQ, SA) และจากทิศทางดังกล่าวนี้ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 อาจขยายตัวเพียงร้อยละ 3.3 (YoY) หรือต่ำกว่านั้น และอัตราการขยายตัวของทั้งปี 2553 อาจอยู่ที่ประมาณ 6.2-6.8 ในกรณีที่ไม่มีเหตุการณ์การเมืองที่ไม่ปกติเกิดขึ้น

สำหรับปี 2554 คาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 3.0-4.0 เป็นการชะลอตัวจากฐานที่สูง และเป็นทิศทางเดียวกันกับเศรษฐกิจโลกโดยรวม  โดยเศรษฐกิจโลกน่าจะเติบโตในจังหวะที่ค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ไร้มาตรการกระตุ้นพิเศษ หลังจากการสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ และการคุมเข้มนโยบายการเงินในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อีกทั้งประเทศพัฒนาแล้วทั้งยุโรปและญี่ปุ่นเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพทางการคลังมากขึ้น ขณะเดียวกันผลกระตุ้นจากกรอบการค้าเสรีในปีหน้าคงไม่มีกรอบที่ลดภาษีลงอย่างกว้างขวางมากเท่ากับในปีนี้ จึงทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกในปี 2554 อาจขยายตัวเพียงร้อยละ 6.0-10.0 แต่คาดว่าการลงทุนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น หากโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐมีความคืบหน้า รวมทั้งปัญหามาบตาพุบคลี่คลายลงทำให้โครงการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่เดินหน้าได้ โดยคาดว่าการลงทุนอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 7.5-9.3 ในปี 2554 จากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.1-8.8 ในปี 2553 ทั้งนี้ แม้ในปี 2554 เศรษฐกิจอาจจะเติบโตในอัตราที่ชะลอลง แต่เป็นการเติบโตที่น่าจะกระจายไปสู่ภาคเศรษฐกิจหลากหลายกลุ่มอย่างทั่วถึงมากขึ้น จากที่ในระยะที่ผ่านมาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอาศัยภาคการส่งออกเป็นหลัก

ที่มา-ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ทำไมคนไทยชอบพุดอะไรมั่วๆ

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ส.ค. 26, 2010 8:31 am
โดย tradtrae
ไม่เห็นมีอะไรที่บอกว่าการคาดการณ์นี้ คาดการณ์มั่วๆ นี่ครับ

เพราะปีที่แล้วเศรษฐกิจไทยฟุบหนักในช่วง 6 เดือนแรก จึงทำให้ปีนี้ขยายตัวได้ถึง 10.6% ในไตรมาส 2

แต่ช่วงไตรมาส 3-4 ของปีที่แล้วเริ่มฟื้นตัว หากการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเราดีเท่ากับไตรมาส 2/53 การขยายตัวก็ต้องลดลงเป็นเรื่องธรรมดา

ทำไมคนไทยชอบพุดอะไรมั่วๆ

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ส.ค. 27, 2010 11:58 am
โดย kawee019
ไม่มีใครรู้อนาคตจริงๆหรอกครับ
ต้องยึดแนวทางตัวเองไว้ และเกาะไว้แน่นๆ :D

ทำไมคนไทยชอบพุดอะไรมั่วๆ

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ส.ค. 27, 2010 12:08 pm
โดย picklife
นานๆเข้าก็จะชินเองครับ :D