กสิกรไทยคาดความต้องการใช้เหล็กปีนี้โต26-31%ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ "บริโภคเหล็กขยายตัว...ผลักดันการลงทุนอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศเพิ่มขึ้น"ระบุว่า อุตสาหกรรมเหล็กเป็นหนึ่งอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศของไทย โดยมีความสำคัญในแง่ของการเป็นวัตถุดิบที่ขาดไม่ได้ในการผลิตสินค้าในหลายอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องจักร อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหาร เป็นต้น ซึ่งภายหลังจากภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้กลับมาขยายตัวและยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้า แม้อาจเป็นอัตราที่ชะลอลงจากที่ฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดดในปี 2553 ก็ตาม
ประกอบกับการผลักดันโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐจะเป็นปัจจัยผลักดันให้ความต้องการใช้เหล็กในประเทศมีทิศทางที่จะเพิ่มสูงขึ้น ยิ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากทิศทางการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศของไทยที่เริ่มมีการเดินหน้ามากขึ้นในหลายโครงการ หลังจากเกิดกรณีศาลปกครองมีคำสั่งระงับโครงการลงทุนในมาบตาพุด และเกิดความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับประเภทกิจการรุนแรง รวมทั้งหลักเกณฑ์ในการยื่นขออนุญาตดำเนินการสำหรับประเภทกิจการดังกล่าว
แต่หลังจากที่ภาครัฐได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ต่างๆที่สอดคล้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ทำให้แนวปฏิบัติต่างๆมีความชัดเจนขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในการลงทุนมากขึ้น ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงความต้องการบริโภคเหล็กในประเทศของไทยปี 2553 นี้ และประเด็นเรื่องการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศของไทย ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
อุตสาหกรรมต่อเนื่องขยายตัวสูงส่งผลให้ความต้องการบริโภคเหล็กปี 53 พุ่งถึงกว่า 1.4 ล้านตัน
เหล็ก เป็นโลหะสำคัญที่มีปริมาณการใช้มากที่สุดในโลก โดยเข้าไปเป็นส่วนประกอบหนึ่งในสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ด้วยคุณสมบัติที่สำคัญต่างๆ เช่น การเป็นตัวนำไฟฟ้าและความร้อนที่ดี มีความแข็งแรงและความเหนียว จุดหลอมเหลวค่อนข้างสูง มีความคงทนถาวรและผิวขัดเป็นมันวาวได้ เป็นต้น ซึ่งจากคุณสมบัติต่างๆเหล่านี้ทำให้เหล็กถูกจัดเข้าไปอยู่ในกลุ่มโลหะที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งมีการใช้เหล็กในปริมาณสูงที่สุด ตามด้วยอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องจักร อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ตามลำดับ ดังแสดงในแผนภูมิวงกลมต่อไปนี้
อย่างไรก็ตาม หลังจากเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย จนทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2552 หดตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ11 ปี และในส่วนของอุตสาหกรรมต่างๆก็พบว่าส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับภาวะการผลิตที่หดตัวลงจากปีก่อนเช่นเดียวกัน ทว่าภายหลังจากเศรษฐกิจโลกเริ่มมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2553 นี้ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2553 อาจขยายตัวที่ระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี ที่ประมาณร้อยละ 7.0 ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวในระดับสูงในอุตสาหกรรมต่างๆในปี 2553 นี้ ที่ปรับตัวดีขึ้นหลังสภาพเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศขยายตัว ซึ่งอัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่มีการใช้เหล็กสูงของไทย แสดงในตารางต่อไปนี้
การขยายตัวสูงขึ้นอย่างมากของอุตสาหกรรมต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2552 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลโดยตรงต่อความต้องการบริโภคเหล็กในประเทศของไทย ซึ่งขยายตัวในระดับตัวเลขอย่างน้อย 2 หลัก ติดต่อกันมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 หลังจากที่การบริโภคเหล็กในประเทศหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่ไทยเริ่มได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ ดังนั้นการกลับมาขยายตัวสูงของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในปี 2553 นี้ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการบริโภคเหล็กในประเทศของไทยปีนี้มีโอกาสที่จะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 26 ถึง 31 หรือคิดเป็นจำนวน 13.6 ถึง 14.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้วที่หดตัวร้อยละ 20.8 คิดเป็นจำนวนประมาณ 10.8 ล้านตัน
ทว่า จากทิศทางการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นมากในอุตสาหกรรมต่อเนื่องในระยะต่อจากนี้ไป ทั้งการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น การก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสาย ซึ่งตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 12 สาย ระยะทางรวม 495 กิโลเมตร มีแผนที่จะก่อสร้างตั้งแต่ปี 2553 ถึง ปี 2562 รวมระยะเวลากว่า 10 ปี รวมถึงโครงการสร้างรถไฟฟ้ารางคู่ และรถไฟความเร็วสูง เหล่านี้เป็นต้น ประกอบกับทิศทางการขยายการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นมากในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะทำให้การผลิตรถยนต์ในประเทศสามารถขยับขึ้นไปสู่ระดับ 2 ล้านคันได้ภายใน 2 ปี ข้างหน้า และทิศทางการขยายการลงทุนที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ข้ามชาติ เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกนี้ และเป้าหมายการเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์สูง 1 ใน 10 ประเทศแรกของไทย ย่อมทำให้การผลิตรถยนต์มีโอกาสขยายตัวไปมากกว่าระดับที่เป็นอยู่อีกมากในอนาคต
การขยายตัวในระดับสูงของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 2 อุตสาหกรรมที่มีปริมาณความต้องการใช้เหล็กสูงดังกล่าวนี้ ทำให้ยิ่งเห็นถึงความจำเป็นของการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการช่วยลดต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ และช่วยลดการนำเข้าเหล็ก เนื่องจากปัจจุบันเหล็กที่ผลิตในประเทศยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้อยู่มาก อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเหล็ก โดยเฉพาะการผลิตเหล็กต้นน้ำ เป็นหนึ่งในประเภทอุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวต่อการยอมรับของชุมชนในพื้นที่ การลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กจึงเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ รวมถึงมีขั้นตอนเตรียมการลงทุนและเงินลงทุนที่สูงมาก เพื่อที่จะพัฒนาโครงการให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น
การลงทุนอุตสาหกรรมเหล็กในไทยมีทิศทางเพิ่มสูงขึ้น
ปัจจุบันประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กสุทธิในปริมาณที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศใกล้เคียงที่มีการผลิตเหล็กดิบโดยเฉลี่ยอยู่ในปริมาณที่สูงกว่า 50 ล้านตันต่อปี ขณะที่ไทยมีการผลิตเหล็กดิบโดยเฉลี่ยประมาณ 5 ล้านตันเท่านั้น และการนำเข้าเหล็กของไทยจะมาในรูปของเหล็กแผ่นจากญี่ปุ่นเป็นมูลค่าสูงที่สุด
ท่ามกลางการขยายตัวของการผลิตอุตสาหกรรมต่างๆในประเทศ บ่งชี้ถึงความต้องการในอนาคตของเหล็กซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในปริมาณสูง ดังนั้นในแง่ของการช่วยลดการสูญเสียรายได้จากการนำเข้าที่นับวันจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ลดการขาดแคลนวัตถุดิบ ลดต้นทุนอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกิดจากการต้องนำเข้าเหล็กมาจากต่างประเทศ รวมถึงเพื่อการสร้างงานและรายได้ให้กับประชากรในประเทศ การพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นมากขึ้นทุกขณะ
ทำให้ แม้จะเกิดปัญหาการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กในไทยลดลง โดยจากสถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอในหมวดเหมืองแร่ เซรามิกส์และโลหะขั้นมูลฐาน ซึ่งมีเหล็กเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญในหมวดนี้พบว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดปัญหาโครงการมาบตาพุดในเดือนกันยายนปี 2552 จนถึงเดือนสิงหาคมปี 2553 มีโครงการที่ได้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในหมวดนี้เพิ่มขึ้นมาถึง 29 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 58.5 พันล้านบาท และเป็นมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในหมวดนี้ที่สูงที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยในช่วงที่ผ่านมาความสนใจลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมเหล็กจะไปอยู่ที่ การผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน-เหล็กแผ่นไร้สนิมรีดเย็น การผลิตเหล็กทรงยาว การผลิตเหล็กลวด และการผลิตท่อเหล็กไม่มีตะเข็บ เป็นต้น ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรม เช่น ก่อสร้าง และยานยนต์ เป็นต้น โดยบริษัทที่ลงทุนมาจากทั้งทวีปยุโรป เช่น สเปน และจากภูมิภาคเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เป็นต้น รวมถึงบริษัทของไทย
อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้แสดงให้เห็นว่าชุมชนและสังคมเริ่มมีการให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสุขอนามัยของคนในชุมชนมากขึ้น ซึ่งผลจากปัญหาโครงการมาบตาพุดดังกล่าว ทำให้ตั้งแต่นี้ต่อไปโครงการลงทุนที่เข้าข่ายกิจการรุนแรง 11 กิจการ ซึ่งสำหรับอุตสาหกรรมเหล็กที่เข้าข่ายโดยตรง คือ โรงงานถลุงเหล็ก ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่ลงทุนในพื้นที่มาบตาพุด หรือโครงการลงทุนใหม่ๆในพื้นที่อื่นๆ จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 บัญญัติไว้ คือ จะต้องจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และมีความเห็นขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประกอบ ก่อนที่จะดำเนินการขออนุญาตต่อไปตามขั้นตอนปกติ
โดยสรุป ความต้องการเหล็กในประเทศของไทยปี 2553 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ามีโอกาสที่จะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 26 ถึง 31 หรือคิดเป็นจำนวน 13.6 ถึง 14.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้วที่หดตัวร้อยละ 20.8 คิดเป็นจำนวนประมาณ 10.8 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศที่ขยายตัวสูงขึ้นมากในปีนี้ และจากทิศทางความต้องการใช้เหล็กที่แนวโน้มจะสูงยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ ส่งผลให้มีความต้องการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาไทยจะประสบกับปัญหาการลงทุนในโครงการมาบตาพุดก็ตาม ซึ่งการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในชุมชนที่เพิ่มมากขึ้นจากกรณีมาบตาพุดนี้ นอกจากจะส่งผลให้มีการประกาศประเภทกิจการรุนแรง 11 กิจการ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล็กบางส่วนก็ได้รับผลกระทบตรงจุดนี้ แต่ในอีกแง่ก็เป็นการกระตุ้นให้อุตสาหกรรมเริ่มเห็นความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ซึ่งแม้จะทำให้กระบวนการดำเนินการก่อนการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กมีความลำบากมากยิ่งขึ้น แต่ก็จะเป็นประโยชน์ในระยาวต่อทั้งกิจการ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล็กสามารถเติบโตไปได้พร้อมกับชุมชน เช่นเดียวกับในประเทศอื่นๆที่มีการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กและประสบความสำเร็จ เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้น
ทั้งนี้ ตัวอย่างโครงการเหล็กที่ประสบความสำเร็จในการอยู่ร่วมกับชุมชน ดังเช่นในประเทศญี่ปุ่น โรงถลุงเหล็กมีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการจัดการและควบคุมมลพิษ อาทิ การมีมาตรการเข้มงวดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฝุ่นในโรงงานฟุ้งกระจายไปภายนอก ด้วยการติดตั้งตาข่ายป้องกันฝุ่นและมีระบบดักฝุ่นภายในโรงงาน การรีไซเคิลนำขยะพลาสติกมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งได้มีการติดตั้งเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการวิเคราะห์ปริมาณก๊าซที่ปล่อยในอากาศ และวิเคราะห์น้ำเสียที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงงาน เป็นต้น ทำให้ระดับของมลพิษที่ออกจากโรงงานต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดอยู่มาก ซึ่งโครงการเหล็กที่จะลงทุนในไทย หากมีการเตรียมความพร้อม รวมถึงทำให้ประชาชนในชุมชนเข้าใจมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เหล่านี้ และมีการนำมาปฏิบัติจริง คาดว่าจะช่วยลดปัญหาระหว่างโครงการเหล็กและชุมชนลดลง
http://www.thannews.th.com/