หน้า 1 จากทั้งหมด 1

Asset Allocation:ValueWay มนตรี นิพิฐวิทยา

โพสต์แล้ว: ศุกร์ พ.ย. 12, 2010 1:00 pm
โดย PERFECT LUCKY
Value Way
มนตรี นิพิฐวิทยา : [email protected]
Asset Allocation: กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเซียแปซิฟิก

ตามที่สัญญาเอาไว้ครับ คราวนี้ผมจะชวนคุยเรื่องการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆในต่างประเทศ ซึ่งเราสามารถนำเงินลงทุนไปลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศได้ง่ายๆ ไม่ซับซ้อนและเหมาะสำหรับนักลงทุนทุกคน หรือแม้แต่นักลงทุนที่มีประสบการณ์และค่อนข้างชำนาญในการลงทุนในบ้านเรา แต่เนื่องจากการเข้าถึงรายละเอียดในระดับกิจการนั้นมีค่อนข้างจำกัดจึงจำเป็นต้องใช้บริการกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศดังกล่าว

ผมขอเริ่มที่การลงทุนใกล้ๆบ้านเราก่อน นั่นคือกลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิกไม่รวมญี่ปุ่น กลุ่มประเทศนี้รวมประเทศไทยเอาไว้ด้วย และยังจัดเป็นกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ แต่ถึงแม้จะจัดเป็นกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่แต่ก็ยังคงรวมตลาดของประเทศนิวซีแลนด์และออสเตรเลียเอาไว้ด้วย

ในรอบเวลา5ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะช่วงหลังปี2008เป็นต้นมา หลายคนคงได้ยินข่าวสารกันมาตลอดว่ากลุ่มประเทศเกิดใหม่ในเอเชียจะเป็นกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตสูงที่สุดในโลก นำโดยประเทศจีนซึ่งมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับ7-10%มาร่วม10ปี และนำพาเอาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มเอเชียและละตินอเมริกาเติบโตไปด้วยจากปริมาณการค้าขายระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ด้วยกันเอง

ประเทศไทยของเราก็ได้รับประโยชน์นี้ไปด้วยปริมาณการค้าขายกับจีนและกลุ่มประเทศเกิดใหม่ด้วยกันเองเข้ามาทดแทนการส่งออกไปยุโรปและอเมริกา นอกจากนี้กลุ่มประเทศเกิดใหม่นี้ไม่ได้รับการพัฒนามานานมากโดยเฉพาะอย่างหลังวิกฤติการเงินในช่วงปี 1997หรือปีพศ.2540 ที่เริ่มต้นจากประเทศไทย กลุ่มประเทศเกิดใหม่หลายต่อหลายประเทศต้องเจ็บปวดกับปัญหาวิกฤติการเงินมาหลายปี ทั้งประชาชน บริษัทห้างร้าน และรัฐบาลต่างต้องมีมาตรการรัดเข็มขัด ประชาชนตกงาน บริษัทหลายบริษัทต้องปิดกิจการ หลายบริษัทต้องขายกิจการให้ต่างชาติ หรือหาผู้ร่วมทุนต่างชาติเพื่อให้อยู่รอด ธนาคารต่างๆถูกกำหนดให้ตั้งสำรอง ลดการปล่อยกู้ที่มีความเสี่ยงสูง บริษัทต่างๆลดการก่อหนี้และเริ่มสะสมเงินสดไว้เป็นจำนวนมาก ประชาชนเองก็ลดการก่อหนี้และมีการออมที่สูงมาก ภาครัฐฯเองก็สะสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเอาไว้สูงมากจนเสถียรภาพทางการเงินระหว่างประเทศแข็งแกร่งกว่ากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเห็นได้ชัดจากวิกฤติการเงินครั้งล่าสุดเมื่อปี 2008 ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศนี้ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและเข้มแข็งมาก

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่กลุ่มประเทศเกิดใหม่ยังคงมีอยู่คือความเสี่ยงในเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งเราคนไทยเข้าใจเรื่องนี้ดีมากเป็นพิเศษ ความเสี่ยงอีกประการหนึ่งของกลุ่มประเทศเกิดใหม่คือการไหลเข้าออกมาเงินทุนจากต่างประเทศที่เป็นเงินที่มาลงทุนหากำไรในระยะสั้นๆจากกลุ่มกองทุนประกันความเสี่ยงจากต่างประเทศที่มักเข้าออกเร็ว สร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเกิดใหม่อยู่ตลอดเวลาแม้ในเวลานี้

หลังจากวิกฤติการเงินในปี2008ที่เริ่มจากประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มยุโรป ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่รายประเทศเริ่มมีเสถียรภาพทางการเมืองดีขึ้น เช่นประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปิน ศรีลังกา รวมถึงประเทศไทยของเราที่ถึงแม้จะมีปัญหาความวุ่นวายใกล้จราจลแต่ก็เศรษฐกิจของเราแข็งแกร่งมากจนเหตุการต่างๆไม่ระคายผิวเลยก็ว่าได้

จากการที่มีเสถียรภาพมากขึ้น รัฐบาลประเทศต่างๆเริ่มการพัฒนาประเทศ การค้าการลงทุนต่างๆเริ่มก่อตัวขึ้นอีกครั้ง ประชาชนที่เคยเก็บออมเงินเอาไว้ในบัญชีเงินฝากในจำนวนที่สูงมากเริ่มนำเงินออมเหล่านั้นออกมาลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าการฝากเงินที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมาหลายปี เมื่อการค้าการลงทุนที่ดีขึ้นมากจากการขับเคลื่อนจากการแกนหลักจากประเทศจีน ประชาชนในประเทศต่างๆเริ่มมีรายได้สูงขึ้น คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สินค้าต่างๆก็เริ่มขายได้ ธนาคารมีการปล่อยกู้สูงขึ้นและมีกำไรมากขึ้น บริษัทต่างมีกำไรมากขึ้น การจ้างงานสูงขึ้น การบริโภคทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาโดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง แม้ว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่เคยเป็นลูกค้าหลักยังคงย่ำแย่และมีการบริโภคลดลงแต่ไม่ระคายผิวกลุ่มประเทศเกิดใหม่เลย

ดังที่กล่าวมาแล้วว่ารัฐบาลประเทศต่างๆเริ่มมีนโยบายในการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานมากขึ้น กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดเห็นจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งกลุ่มโลหะพื้นฐาน สินค้าเกษตรและอาหาร รวมไปถึงกลุ่มปิโตรเคมีบางส่วนที่เป็นบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมโลหะพื้นฐานนี้น่าสนใจมาก เพราะเหมืองแร่ต่างๆไม่ได้รับการพัฒนาแหล่งใหม่ๆมานานมากจากผลของราคาโละพื้นฐานต่างอยู่ในระดับต่ำมานานร่วมสองทศวรรษ เมื่อความต้องการสูงขึ้นแต่แหล่งผลิตมีน้อยจึงทำให้ราคาโลหะต่างๆปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ประเทศที่ได้ประโยชน์จากการนี้คือ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย บราซิล ชิลี และจีนที่มีแหล่งสินแร่เหล่านี้อยู่มากมาย ส่วนกลุ่มอาหารเห็นจะมาที่ประเทศไทย และกลุ่มปิโตรเคมีก็มีแหล่งผลิตอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ส่วนในประเทศอินเดีย ได้รับประโยชน์จากกระแสสินค้าไอทีรูปแบบใหม่ๆ อุตสาหกรรมยา และการบริโภคภายในที่ปรับตัวสูงจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้น รวมไปถึงประเทศศรีลังกาที่มีการสู้รบกันภายในประเทศต่อเนื่องยาวนานนั้นได้จบสิ้นลง ทำให้ปีนี้ 2010ศรีลังกาเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนเกิน 100%เลยทีเดียว

กลุ่มประเทศเกิดใหม่ในเอเชียนี้เป็นแหล่งที่น่าลงทุนต่อไปได้อีกนานกว่า 10ปี จากการประมาณการของGoldman sach หรือแม้กระทั้งจาก Pacific Investment Corp. หรือ PIMCO แน่นอนว่าอัตราการเติบโตที่สูงและยังมีแรงส่งให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่การปรับฐานของตลาดก็จะยังคงมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นธรรมชาติของการลงทุนที่จะต้องมีความผันผวนเข้ามาเกี่ยวข้อง

ในฐานะนักลงทุนที่เน้นมูลค่า การเลือกลงทุนในกิจการที่ดี มีความสามารถในการแข่งขันในระดับสูงจะช่วยให้เราสามารถหาประโยชน์จากความผันผวนที่เกิดขึ้นตลอดเวลาได้ สามารถลดความเสี่ยงในระยะสั้นจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ ซึ่งหากเราเลือกลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในบริษัทดังกล่าวได้ เราเพียงแต่คอยติดตามผลดำเนินงานของกองทุนและบริษัทที่กองทุนลงทุนอยู่อย่างต่อเนื่อง และมีการปรับสมดุลเงินลงทุนอยู่ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราบริหารการลงทุนและความเสี่ยงในต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

Asset Allocation:ValueWay มนตรี นิพิฐวิทยา

โพสต์แล้ว: เสาร์ พ.ย. 13, 2010 1:29 pm
โดย Tibular
ขอบคุณพี่มนมากครับที่เขียนบทความดีๆ
ได้เรียนรู้จากพี่มากมายมาตลอด
พี่มนเป็นคนที่เรียนรู้ตลอดเวลาจริงๆ
ถึงไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว
แต่ก็รับรู้ได้ว่าเป็นตัวจริงอีกคน