น่าจะเหมาะกับนักลงทุนระยะยาวที่อายุมากหน่อย ประสบการณ์น้อย
ไม่ค่อยเก่ง และอยู่ในสถานะที่จำเป็นต้องลงทุนเพื่อเงินปันผล มาเป็นปัจจัยในการดำรงชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานะการณ์แบบที่ราคาหุ้นส่วนใหญ่มีราคาค่อนข้างแพง หรือ/และ ไม่มี MOS แล้ว
เจ้าแม่เงินปันผล -- เจอรัลดีน ไวซ์ (THE GRANDE DAME OF DIVIDENDS -- GERALDINE WEISS)
หากให้เอ่ยชื่อนักลงทุนชื่อดังในโลกใบนี้ เชื่อว่านักลงทุนทุกคนคงเอ่ยนามได้หลายคนอยู่ แต่เคยสังเกตมั๊ยครับ ว่าทำไมมีแต่ผู้ชายทั้งนั้นเลย?
นักลงทุนที่เป็นผู้หญิงแล้วมีชื่อเสียงด้วยนั้นมีบ้างไหมหนอ?
ผมค้นหาใน Google ซ้ำไปซ้ำมา
เหลือเชื่อครับ ..... เจอแค่คนเดียวเอง.... เธอชื่อ Geraldine Weiss
("ใคร_ะ?" ผมนึกในใจ)
แต่พอได้ลองอ่านประวัติและแนวคิดทางด้านการลงทุนของเธอก็รู้สึกได้ว่ามีความประจวบเหมาะกับเนื้อหาใน Thaidividend พอดิบพอดี เพราะเธอเป็นนักลงทุนที่เน้นหนักไปที่การจ่ายเงินปันผลของบริษัทเป็นอย่างมาก จนผมอดไม่ได้ที่อยากจะเอาแนวคิดดังกล่าวมาบอกต่อให้สมาชิก Thaidividend ทุกคนได้อ่านกันครับ
บทสัมภาษณ์ของ Geraldine Weiss ในนิตยสาร Forbes
ถ้าเช่นนั้น อะไรคือสิ่งที่กำหนดมูลค่า? คนส่วนใหญ่เชื่อว่าตัวเลขผลกำไรคือสิ่งที่กำหนดมูลค่า แต่บริษัทก็สามารถตบแต่งผลกำไรให้ผิดจากความเป็นจริงได้เสมอ ดังตัวอย่างแบบบริษัทเอนรอนเป็นต้น เงินปันผลต่างหากที่เป็นตัวเงินจริงๆ และเป็นจุดเด่นสำคัญของหุ้นขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคง (blue chip stock) หากบริษัทใดไม่จ่ายเงินปันผล ก็เท่ากับเรากำลังเก็งกำไรจากราคาหุ้นเพียงอย่างเดียว ดิฉันเชื่อมั่นในแนวคิดดังกล่าว และศึกษาประวัติของหุ้นหลายตัว จนได้ตระหนักว่าหุ้นแต่ละตัวมีรูปแบบการจ่ายเงินปันผลเฉพาะตัวแตกต่างกันไป บ้างก็จ่ายมาก บ้างก็จ่ายน้อย เห็นได้ชัดว่าในช่วงเวลาที่หุ้นจ่ายเงินปันผลมากๆ นั่นเป็นเวลาที่เหมาะกับการซื้อหุ้น และเมื่อหุ้นจ่ายเงินปันผลน้อยลง นั่นก็ถือเป็นเวลาในการพิจารณาขายหุ้นออกไป
หลังจากที่ได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลในหุ้นอย่างหนัก ดิฉันสังเกตเห็นว่าการจ่ายเงินปันผลมากหรือน้อยของหุ้นแต่ละตัวมักจะเกิดขึ้นติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง หุ้นบางตัวอาจมีราคาต่ำกว่ามูลค่าเมื่ออัตราการจ่ายเงินปันผลอยู่ที่ 4% หรือ 5% หรือ 6% ในขณะที่หุ้นบางตัวอาจมีราคาต่ำกว่ามูลค่าของมันเมื่ออัตราการจ่ายเงินปันผลอยู่ที่ 2% หรือ 3% แต่การจ่ายเงินปันผลสูงๆอย่างต่อเนื่องคือสิ่งที่จะบ่งบอกถึงช่วงราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าของหุ้นนั้นๆ (ซึ่งเป็นเวลาที่เราจะซื้อหุ้น) และการจ่ายเงินปันผลน้อยๆติดต่อกันหลายๆปีก็คือสิ่งบ่งบอกถึงช่วงราคาที่หุ้นมีราคาสูงกว่ามูลค่าของมัน (ซึ่งเป็นเวลาที่เราจะขายหุ้น)
ดูจากหลักการของเธอแล้ว Weiss เป็นนักลงทุนประเภทที่ยึดติดกับเงินปันผลแบบสุดโต่งเลยทีเดียว เธอมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกหุ้นแบบที่เน้นการจ่ายเงินปันผลและความสามารถที่จะจ่ายเงินปันผลเหล่านั้นได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอนเป็นหลัก แบ่งเป็นข้อๆได้ดังนี้ครับ
- มีการจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5 ครั้งในรอบ 12 ปี
- บริษัทถูกจัดให้อยู่ในระดับเกรด A โดยสถาบันจัดอันดับ Standard & Poor
- มีหุ้นอย่างน้อย 5 ล้านหุ้นขึ้นไป เพื่อสภาพคล่องของการซื้อขาย และป้องกันการปั่นหุ้น
- มีผู้ถือหุ้นที่เป็นนักลงทุนสถาบันอย่างน้อย 80 สถาบัน
- มีประวัติจ่ายเงินปันผลติดต่อกันโดยไม่เคยขาดช่วงเลยเป็นเวลาอย่างน้อย 25 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าหุ้นตัวนั้นๆสามารถจ่ายปันผลได้ทุกปีจริงๆ
- บริษัทต้องมีตัวเลขผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 7 ปี จาก 12 ปีล่าสุด เพื่อพิสูจน์ว่าหุ้นนั้นๆสามารถเอาตัวรอดมาได้ในช่วงภาวะวิกฤติ
หลักเกณฑ์ทั้ง 6 ข้อข้างต้น บางข้ออาจไม่สามารถใช้ได้กับบริบทของประเทศไทย แต่ก็ถือเป็นแนวคิดคร่าวๆที่ให้เราได้ศึกษาและนำไปปรับใช้ได้เช่นกัน อย่างเช่นหุ้นที่มีนักลงทุนสถาบันถืออยู่เป็นจำนวนมากพอสมควร แม้ไม่ถึง 80 สถาบัน แต่ถ้ามากพอ แปลว่าหุ้นนั้นๆต้องมีขนาดใหญ่ และในขณะเดียวกันก็เป็นการป้องกันการปั่นหุ้นได้ในระดับหนึ่งอีกด้วย
กรณีตัวอย่างที่ทำให้เราเข้าใจการลงทุนของ Geraldine Weiss ได้ดีขึ้นอีก อยู่ที่บทสัมภาษณ์อีกบทหนึ่งที่ผมแปลมาให้ได้อ่านกันดังนี้ครับ
"ตัวอย่างเช่น ถ้าหากพิจารณาตามประวัติหุ้นแล้วเห็นว่า ทุกๆครั้งในช่วงที่ราคาหุ้นนั้นๆพุ่งขึ้นสูงสุด จนทำให้อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อราคาหุ้นลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 2% แล้วหยุดอยู่แค่ตรงนี้เสมอ ก็ให้ถือช่วงที่เงินปันผลต่อราคาหุ้นอยู่ที่ประมาณ 2% เป็นเวลาในการขายหุ้น และในทุกๆครั้งที่เกิดวิกฤติแล้วทำให้ราคาหุ้นตกต่ำลง จนอัตราการจ่ายเงินปันผลต่อราคาหุ้นเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 5% แล้วหยุดอยู่แค่ตรงนั้นเสมอ ก็ให้ถือช่วงที่เงินปันผลต่อราคาหุ้นอยู่ที่ประมาณ 5% เป็นช่วงเวลาสำหรับการซื้อหุ้น"
ปี 2008 ราคาหุ้นของ SCC ตกลงไปมาก จนเงินปันผลเทียบกับราคาหุ้นคิดเป็นประมาณ 14.5% ซึ่งถือว่าสูงมาก ในตอนนั้นถ้าใครเชื่อ Geraldine Weiss แล้วเข้าซื้อหุ้นในราคานั้น พอมาถึงปี 2010 ราคาหุ้นของ SCC ก็พุ่งจาก ปี 2008 ถึง 3 เท่าตัวเลยทีเดียว และเงินปันผลเทียบกับราคาหุ้นก็ลดลงเหลือเพียงประมาณ 2.4% เท่านั้น และที่ราคานี้อาจเป็นเวลาสำหรับการขายหุ้นแบบที่ Weiss เสนอเอาไว้ นั่นหมายความว่าคนที่เชื่อแนวคิดนี้ก็จะได้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมทีเดียว
ในทางกลับกัน ปี 2008 ราคาหุ้นของ CPF ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่ง แม้จะตกลงไปมาก แต่เงินปันผลเทียบกับราคาหุ้นก็คิดเป็นประมาณ 2.8% เท่านั้น ซึ่งไม่ได้สูงอะไร แต่พอปี 2010 ราคาหุ้นของ CPF กลับก้าวกระโดดไปได้ถึง 8 เท่าตัว และจ่ายเงินปันผลเทียบกับราคาหุ้นที่ประมาณ 2.9% ซึ่งนั่นหมายความว่าหากเรายึดหลักแบบ Weiss มากเกินไป เราก็อาจจะพลาดการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงมากๆก็เป็นได้เช่นกัน
จะเห็นได้ว่าแนวคิดของ Weiss ไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่อย่างไรก็ตามแนวคิดของเธอก็ถือเป็นหลักการที่สำคัญเบื้องต้นของการลงทุนในหุ้นที่เน้นเงินปันผลเป็นหลัก ซึ่งผมอยากจะให้ได้ลองศึกษากันดู
สุดท้ายเธอพูดไว้อย่างน่าสนใจว่า...
"การจะประสบความสำเร็จในการลงทุนไม่ใช่เรื่องใหญ่ถึงขนาดต้องผ่าตัดสมอง แท้ที่จริงแล้วใครๆก็สามารถประสบความสำเร็จในเรื่องการลงทุนได้ทั้งนั้น เคล็ดลับก็คือการไม่มีเคล็ดลับใดๆทั้งสิ้น หลักการง่ายๆเพียงข้อเดียวก็คือการซื้อหุ้นเมื่อราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าของมัน และขายหุ้นเมื่อราคาหุ้นนั้นสูงกว่ามูลค่าของมัน นั่นแหละคือหนทางไปสู่ความสำเร็จในการลงทุน"
จริงมั๊ยครับ?