หน้า 1 จากทั้งหมด 1

อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. เม.ย. 21, 2011 1:13 pm
โดย cntclub
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานการรวบรวมตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศต่างๆดังนี้
จีน อัตราเงินเฟ้อ 4.90% ดอกเบี้ยนโยบาย 6.31%
อินเดีย อัตราเงินเฟ้อ 8.80% ดอกเบี้ยนโยบาย 6.75%
อินโดนีเซีย อัตราเงินเฟ้อ 6.65% ดอกเบี้ยนโยบาย 6.75%
มาเลเซีย อัตราเงินเฟ้อ 2.90% ดอกเบี้ยนโยบาย 2.75%
เกาหลีใต้ อัตราเงินเฟ้อ 4.70% ดอกเบี้ยนโยบาย 6.31%
เวียดนาม อัตราเงินเฟ้อ 13.89% ดอกเบี้ยนโยบาย 9.00%
ยูโรโซน อัตราเงินเฟ้อ 2.40% ดอกเบี้ยนโยบาย 1.25%
ไทย อัตราเงินเฟ้อ 3.14% ดอกเบี้ยนโยบาย 2.50%

อยากให้ผู้รู้มาช่วยอธิบายหน่อนครับว่าแต่ล่ะประเทศมันหมายถึงอะไร แบบว่า งงงงงง
ถ้าอัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ย เท่ากันมันหมายถึงอะไรครับ

Re: อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

โพสต์แล้ว: เสาร์ เม.ย. 23, 2011 12:04 pm
โดย navapon
เงินเฟ้อและการดำเนินนโยบายการเงิน
by Dr.KOB
on Friday, April 22, 2011 at 7:11am

ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เงินเฟ้อจะเป็นปัญหาที่ประเทศต่างๆ ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ โดยจากข้อมูลล่าสุด เงินเฟ้อได้กระจายวงกว้างไปในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่จำกัดอยู่ที่เพียงในเอเชียหรือกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่มีการขยายตัวทาง เศรษฐกิจในระดับที่สูง เช่นที่ จีน อินเดีย รัสเซีย ซึ่งเงินเฟ้ออยู่ที่ 4.9% 8.8% 9.5% ตามลำดับ เท่านั้น แม้แต่สหรัฐ ยุโรป และอังกฤษเอง ก็มีแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเงินเฟ้อล่าสุดอยู่ที่ 2.1% 2.6% 4.4% ตามลำดับ นำมาซึ่งความจำเป็นของทางการ ในการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อดูแลปัญหาดังกล่าว

ที่มาและปัญหาเงินเฟ้อในระยะต่อไป
เงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นครั้งนี้ จะมากัน 2 รอบ

คลื่นเงินเฟ้อรอบแรก เป็นเงินเฟ้อที่เราเรียกกันว่า cost-push inflation เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ อาหาร วัตถุดิบ เหล็ก ทองแดง โดยเฉพาะ ช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้วตั้งแต่สหรัฐออกมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติม (QE2) ที่ช่วยให้ดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งวัดโดย S&P GSCI soft commodities index ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 80% และระดับดัชนีราคาอาหารโลกเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ช่วงแรก ราคาสินค้าในหมวดอาหาร ได้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในหมวดที่ธุรกิจใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ก็ได้ทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิตถีบตัวสูงขึ้นเช่นกัน เป็นแรงกดดันให้ธุรกิจพยายามปรับขึ้นราคาสินค้า แต่ล่าสุด สิ่งที่ทำให้คลื่นเงินเฟ้อรอบแรกมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ก็คือ ปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลางที่ทำให้ราคาน้ำมันโลกเพิ่มขึ้นเป็น 108 ดอลลาร์/บาเรล จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมทางการของประเทศต่างๆ กำลังจับตามองปัญหาเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดมากขึ้น

คลื่นเงินเฟ้อรอบสอง ซึ่งจะมาให้เห็นกันอย่างเต็มตัวในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ส่วน นี้เป็นเงินเฟ้อที่เราเรียกกันว่า demand pull inflation สำหรับประเทศในเอเชียและกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ปัญหาเรื่องนี้จะมีความสำคัญยิ่ง โดยเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดี-ดีมาก จะนำไปสู่การใช้กำลังการผลิตในระดับที่สูง การตึงตัวของตลาดแรงงาน การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงาน (wage inflation) และการปรับขึ้นราคาสินค้ารอบใหม่

ทั้งนี้ การที่เอเชียกำลังจะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางทางการค้าและเศรษฐกิจแห่งใหม่ของ โลก ขณะที่สหรัฐและยุโรปกำลังวนเวียนกับการแก้ไขปัญหาของตนจากวิกฤตครั้งล่าสุด หมายความว่า ภูมิภาคเอเชียจะเป็นที่สนใจของทุกคน ดึงดูดให้เงินทุนไหลเข้ามาในรูปแบบต่างๆ นับแต่การย้ายฐานการผลิตเข้ามาในภูมิภาค การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ตลาดพันธบัตร และสินทรัพย์ต่างๆ อันจะส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจดีกว่าคาด นำมาซึ่งระดับการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น และตลาดแรงงานที่ตึงตัวยิ่งกว่าเดิม

ทั้งหมด จะทำให้ปัญหาเงินเฟ้อที่กำลังก่อตัวอยู่แล้ว ทวีความรุนแรง กลายเป็นปัญหาท้าทายให้กับทางการ ว่าจะดูแลรักษาให้การขยายตัวรอบใหม่นี้ เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ต่อเนื่องได้อย่างไร

การดำเนินนโยบายที่เหมาะสมเพื่อดูแลปัญหาเงินเฟ้อ

ในการกำหนดกรอบนโยบายที่เหมาะสมเพื่อดูแลปัญหาเงินเฟ้อรอบนี้นั้น หัวใจสำคัญอยู่ที่ ความสัมพันธ์ระหว่างคลื่นเงินเฟ้อรอบแรกกับรอบที่สอง

ปกติแล้ว เงินเฟ้อที่มาจากราคาอาหาร หรือราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น จะเป็นปัญหาชั่วคราว กินเวลาไม่นานนัก เพราะราคาอาหารเมื่อขึ้นไปแล้ว (จากปัญหาดินฟ้าอากาศ) ก็มักจะปรับลดลงในช่วงปีถัดๆ มา ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าธนาคารกลางไม่มีนโยบายอะไร เงินเฟ้อก็จะกลับเข้าสู่ปกติด้วยตนเองอยู่แล้ว

แต่ครั้งนี้ ราคาอาหาร วัตถุดิบต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นมานั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการสินค้าที่มากขึ้นจากเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ เกิดใหม่ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งน่าจะขยายตัวต่อเนื่องไปในระดับนี้อีกระยะเวลาหนึ่ง ไม่น่าแปลกใจว่า ธนาคารกลางบางแห่ง เช่น ธนาคารกลางของสหภาพยุโรปเริ่มมองว่า cost push inflation หรือปัญหาเงินเฟ้อจากต้นทุนครั้งนี้ อาจต่อเนื่องหลายปี ซึ่งถ้าต่อเนื่องกันหลายปี ก็จะมีความเสี่ยงว่า คนจะเคยชินกับการที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูง และเริ่มคาดต่อไปว่า “เงินเฟ้อช่วงต่อไปก็จะสูงเช่นกัน” และทำให้ปัญหาเงินเฟ้อฝังรากลึกลงไปได้

ยิ่งปัญหาการประท้วงในตะวันออกกลางเริ่มลุกลาม และไม่จบลงง่าย ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นแล้วมาที่ 108 ดอลลาร์/บาเรล ก็ยังอาจเพิ่มขึ้นได้อีก คลื่นเงินเฟ้อรอบแรกก็ยิ่งจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ส่งผลกระทบต่อ “การคาดการณ์เงินเฟ้อในระบบ” ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซ้ำเติมผสมโรงกับคลื่นเงินเฟ้อรอบที่สองกำลังจะมาในช่วง 1-2 ปีให้หลัง และทำให้การบริหารจัดการเงินเฟ้อยากขึ้นไปอีก

และที่ท้าทายที่สุดก็คือ ดอกเบี้ยนโยบายของหลายประเทศในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติมาก เพื่อเอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัญหาเงินเฟ้อที่กำลังวิ่งเข้ามานั้น หมายความว่า นโยบายการเงินในปัจจุบันยังไม่พร้อมที่จะจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อที่กำลัง เกิดขึ้น

ด้วยเหตุนี้ แนวนโยบายการเงินที่เหมาะสมของประเทศต่างๆ ในช่วงต่อไป จึงหมายถึง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จากระดับดอกเบี้ยที่ต่ำเตี้ยติดดินในปัจจุบัน ให้ไปสู่ระดับที่เป็นปกติมากขึ้น และพร้อมที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยไปสูงกว่านั้น สู่ระดับที่สูงพอที่จะชะลอเศรษฐกิจเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่มาจากความร้อน แรงทางเศรษฐกิจในช่วง 1-2 ปีให้หลัง

ดังนั้น เมื่อเรามองปัญหาทะลุไปถึงอนาคต และเห็นคลื่นเงินเฟ้อลูกที่สองที่กำลังวิ่งเข้ามา แม้คลื่นเงินเฟ้อช่วงแรกจะมาจาก supply shock จากน้ำมัน ธนาคารกลางก็มีความจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยเตรียมการเอาไว้ ไม่เช่นนั้นแล้ว หากมัวแต่รอให้เงินเฟ้อจากการที่เศรษฐกิจร้อนแรงเกิดขึ้นเต็มที่แล้วค่อยมา ปรับขึ้นดอกเบี้ย ก็จะไม่ทันการณ์ ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยในตอนนั้นก็จะต้องขึ้นเร็วกว่าที่ควร เศรษฐกิจก็จะได้รับผลกระทบจากการเหยียบเบรกอย่างกระทันหันของทางการได้

สำหรับกรณีประเทศไทย เรามีประเด็นท้าทายเพิ่มเติมจากประเทศอื่นอีก 1 เรื่อง คือ มาตรการตรึงราคาสินค้าที่รัฐบาลพยายามดำเนินอยู่ มาตรการลักษณะนี้ อาจจะช่วยประวิงเวลาการปรับขึ้นของค่าครองชีพไปได้ในช่วงต้น แต่ท้ายที่สุด (1) เมื่อภาคเอกชนพยายามหาช่องโหว่เพื่อปรับขึ้นราคาของตน โดยการปรับเปลี่ยนซองบรรจุผลิตภัณฑ์ รวมถึงการเก็บตุนสินค้าจนสินค้าขาดตลาด เป็นต้น และ (2) เมื่อรัฐบาลต้องปล่อยมือ เช่นเรื่องการตรึงราคาน้ำมันดีเซล เป็นต้น เพราะรับภาระไม่ไหว ปัญหาเงินเฟ้อที่สะสมไว้ก็จะประเดประดังเข้ามาในรอบเดียว กลายเป็นปัญหาที่ลุกลามมากขึ้นกว่าเดิม

ทางที่ดีที่สุด ก็คือการปล่อยให้ตลาดทำงาน ให้กลไกตลาดทยอยปรับตัวตามที่ควรจะเป็น พร้อมกับสนับสนุนให้ธนาคารกลางดำเนินมาตรการที่เหมาะสม ทยอยขึ้นดอกเบี้ย เตรียมการไว้สำหรับปัญหาเงินเฟ้อที่จะมาในอนาคตตั้งแต่วันนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นรอบนี้ ก็จะเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน ก็ขอเอาใจช่วยครับ

Re: อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. เม.ย. 28, 2011 1:13 pm
โดย cntclub
ขอบคุณมากครับคุณnavapon
อีกอย่างครับทำไมบางประเทศมีอัตราเงินเฟ้อสูง แต่ให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำกว่า
บางประเทศอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
บางประเทศอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายเกือบเท่ากันเลย
คือแบบว่ามันมีอะไรเป็นเกณครับในการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายครับ

Re: อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. เม.ย. 28, 2011 5:38 pm
โดย navapon
ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ไม่ได้เรียนทางสายการเงินมาเลย
แต่ดูจากข่าวเอา แต่ตอนนี้ที่อยากรู้ก็คือ อเมริกาอัดฉีดเงินเข้าระบบจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมาทำไมถึงรักษาเงินเฟ้อในระดับตำมาได้ตั้งนาน
ถึงเฟดจะคงดอกเบี้ยระดับตำ แต่มันน่าจะมีปัจจัยอื่นอีก เงินเฟ้อของอเมริกาถึงไม่ขึ้น
เพิ่งจะมาขึ้นหน่อยๆเพราะ นำมันแพงนี่แหละ
ผมมองว่าอเมริกาเก่งใช่ย่อย ที่รักษาระดับเงินเฟ้อให้ตำๆเพื่อกระตุ้นเศษรฐกิจได้นานถึงขนาดนี้

Re: อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. เม.ย. 28, 2011 6:28 pm
โดย navapon
ผมลองมองง่ายๆ ในมุมมองผมเองครับ

เงินเฟ้อ น่าจะหมายถึง เงินมีมากในระบบ ทุกคนต่างมีเงิน (แต่ไม่มีใครทำงาน 555 เกี่ยวหรือเปล่านี่ ประโยคนี้ไม่เกี่ยวอย่าสนใจ) ข้าวของก็จะแพงขึ้น ไม่ว่าเงินจะมากขึ้นผ่านช่องทางวิธีไหนก็ตาม เช่น ขึ้นเงินเดือน (ทางอ้อม) หรือ รัฐบาลพิมพ์แบงค์แจกตรงๆ
ก็ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มเหมือนกัน

เท่าที่เห็น มาตรการที่จะลดเงินออกจากระบบก็คือ จูงใจให้คนฝากเงินให้มากขึ้นโดยขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก (ดอกเบี้ยเงินกู้ก็สูงตามด้วย ประโยคนี้ก็ไม่เกี่ยวอย่าสนใจ) เงินในระบบจะได้ลดลง ถ้าทุกคนไม่ค่อยอยากใช้จ่ายซื้อของอะไรเลย ราคาสินค้าก็จะลดลงเอง ตามหลัก อุปสงค์-อุปทาน