คุณ machao
จะเริ่มลงทุนและมองหุ้นแบบ VI ให้ เริ่มด้วยอะไรบ้างครับ
ความเห็นผมเริ่มดังนี้ครับ
1. เข้าใจธุรกิจที่เราลงทุนก่อน หาความรู้ในเรื่องประเภทธุรกิจต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจรูปแบบของการสร้างกระแสเงินสดที่จะได้รับในอนาคตของธุรกิจที่เราลงทุน หรือที่หลายคนพูดถึงคือ Business Model นั้นเอง
ตัวอย่าง ลงทุนในพันธบัตร กระแสเงินสดที่ผู้ลงทุนได้รับ คือ ดอกเบี้ยจากพันธบัตรที่ลงทุนตามช่วงเวลาที่ลงทุนเช่น 10 ปี 15 ปี ซึ่งเป็นกระแสเงินสดที่คงที่ มีทั้งที่จ่ายดอกเบี้ยให้ก่อน แล้วเงินต้นจ่ายคืนทีหลัง มีทั้งจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยและจ่ายคืนเงินต้นทีหลัง หรือมีทั้งทะยอยจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยคืนในแต่ละปี
ลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ กระแสเงินสดที่ได้รับคือ ค่าเช่าของทรัพย์สินที่ให้เช่าในแต่ละปี เป็นต้น
ลงทุนในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กระแสเงินสดที่ได้รับคือ การขายที่ดินและทรัพย์สินที่พัฒนา
เราศึกษา Model ธุรกิจต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าอยู่ในขอบเขตที่เราเข้าใจได้ ซึ่งปกติ จะมีธุรกิจที่เราเข้าใจได้ง่าย เข้าใจได้ยาก หรือยากแก่ความเข้าใจ ซึ่งจุดเริ่มต้น เราควรเลือกธุรกิจที่เราเข้าใจได้มากที่สุด หรือที่เราเรียกว่าเราต้องดูความสามารถการวิเคราะห์ธุรกิจที่อยู่ในขอบเขตความสามารถของเรา Circle of Competency
การจะตอบได้ว่าเราเข้าใจธุรกิจนั้นดีพอหรือไม่ อาจทดสอบด้วยตนเอง เช่น ลองหลับตา แล้วนึกภาพที่เราจะลงทุนในธุรกิจนั้น อธิบายหรือตอบคำถามที่กะชับ ประมวลความรู้ในธุรกิจต่าง ๆ ที่เราสนใจแล้วเราตอบคำถามที่สำคัญที่เกี่ยวกับการประเมินมูลค่าหุ้นได้หรือไม่ว่า ธุรกิจนั้น คืออะไร ทำอะไร ที่มาของรายได้เป็นอย่างไร ค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นได้อย่างไร คู่แข่งขันเป็นใคร ใครบริหารธุรกิจนั้น เป็นต้น ถ้านึกไม่ออก แสดงว่าเรายังไม่เข้าใจธุรกิจของเขาอย่างดีพอ ก็ยังไม่ควรลงทุน หรือควรหาความรู้ก่อนครับ
2. เมื่อเข้าใจธุรกิจแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ เราต้องมีความรู้เกี่ยวกับการประเมินมูลค่าของธุรกิจที่ลงทุน เพื่อคำนวณหาผลตอบแทนที่เราต้องการก่อน แล้ว Discount กระแสเงินสดนั้น เพื่อหา มูลค่าหุ้นที่แท้จริง หรือจะใช้วิธีการประเมินมูลค่าแบบเชิงสัมพันธ์กับราคา เช่น PE เป็นต้น หรือประเมินมูลค่าด้วยวิธีอื่น ๆ แต่ทุกวิธีมีจุดอ่อนของการวิเคราะห์ จึงต้อบทำความเข้าใจด้วยว่าวิธีประเมินแต่ละวิธีเหมาะกับธุรกิจอะไร เพราะอะไรด้วย
เพราะมูลค่าที่ธุรกิจนั้นเกิดจาก การลงทุนในวันนี้เพื่อรอรับกระแสเงินสดที่เกิดขึ้นในอนาคต ยิ่งรับได้จำนวนมาก เติบโตสูงขึ้น และสร้างกระแสเงินสดรับได้มากปี แบบนี้ก็มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น
แต่บางครั้งหากเข้าใจผิดว่าเป็นมูลค่าหรือเป็นทรัพย์สินของผู้ลงทุน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าอาจเป็น หนี้สินก็ได้ กล่าวคือ ยิ่งลง่ทุนในธุรกิจนั้น แทนที่จะเป็นทรัพย์สินที่ช่วยสร้างกระแสเงินสดสุทธิรับในระยะยาวให้กับผู้ลงทุน แต่กลับสร้างกระแสเงินสดติดลบตลอดเวลา ธุรกิจขาดทุนต่อเนื่อง ยากแก่การฟื้นตัว แบบนี้ ไม่ใช่การสร้างมูลค่าหุ้นให้กับผู้ลงทุน แต่เป็นการสร้างหนี้สินให้กับผู้ลงทุน ทำให้ต้องเพิ่มทุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง หรือเพื่อทำให้ธุรกิจอยู่รอด แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถอยู่รอด กลายเป็นกิจการที่ล้มละลาย เป็นต้น
3. เมื่อประเมินมูลค่าได้แล้ว จึงค่อยนำมาเทียบกับราคาหุ้นซึ่งเป็นธุรกิจที่เราลงทุน เพื่อดูว่ามูลค่าธุรกิจที่เราจะใช้เงินลงทุนปัจจุบัน เพื่อเก็บเกี่ยวกระแสเงินสดที่ได้ในอนาคต มูลค่าที่แปลงมาเป็นมูลค่าปัจจุบันนั้น เทียบกับ ที่เราซื้อวันนี้ มีส่วนต่างของความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด หรือที่เราเรียกว่า Margin of Safety นั้นเอง
ดังนั้น หากพบธุรกิจที่ดีในราคามีส่วนลดมากเมื่อเทียบกับมูลค่าหุ้นที่แท้จริงจากการประเมินมูลค่าหุ้น จะทำให้เรามีโอกาสได้ลงทุนในธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนในระยะยาวที่สูงขึ้น การลงทุนที่ดีส่วนใหญ่จึงมักเกิดจากช่วงที่ราคาตกต่ำ และต่ำกว่ามุลค่าหุ้นที่แท้จริงมากกว่า ช่วงที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นมาก เพราะเราพยายามใช้เงินลงทุนน้อย เพื่อรับผลตอบแทนที่สูงในอนาคต
ซึ่งต่างจากการเก็งกำไรที่มักจะชอบให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
แต่ปัจจุบัน นักเก็งกำไรเริ่มมีเทคนิคที่สามารถทำกำไรทั้งขาขึ้น และขาลงได้ ผ่าน ตลาดอนุพันธ์ ซึ่งก็จะมีความเสี่ยงได้ทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง อยู่ที่คาดการณ์ราคาถูกตามแนวโน้มหรือไม่
แต่นักลงทุน มองที่ผลประกอบการของธุรกิจที่เราลงทุน ยิ่งได้ราคาต่ำเท่าใด ต้นทุนการลงทุนของเราก็ยิ่งต่ำ ยิ่งต่ำจึงยิ่งดี
4. เมื่อประเมินมูลค่าหุ้นที่น่าสนใจได้แล้ว ก็ต้องวิเคราะห์ต่อว่า ธุรกิจที่เราลงทุนมีความเสี่ยงที่จะทำให้กระแสเงินสดไม่เป็นไปตามที่เราคาดการณ์หรือประมาณการไว้อย่างไร นั้นคือเราต้องทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เพื่อปรับการคาดการณ์ของเราให้ครอบคลุมความเสี่ยงในแต่ละระดับที่เกิดขึ้น เช่น อาจจำลองสถานการณ์จาก ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ปริมาณที่ขายสินค้าได้ ราคาที่ขายได้ ต้นทุนที่ปรับเปลี่ยนไป เป็นต้น เพื่อให้เราได้ช่วงของมูลค่าหุ้นที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งในแง่ปกติ แง่ที่ดี และแง่ที่เลวร้ายสุด เป็นต้น เพื่อให้แน่ใจว่า ความเสี่ยงดังกล่าวอยู่ในจุดที่เรายอมรับได้มากน้อยเพียงใด
5. จุดสำคัญก่อนการซื้อจะต้องมีการวิเคราะห์คุณภาพของกิจการที่เราลงทุนว่า เป็นกิจการทั่วไป ใคร ๆ ก็ทำได้ หรือเป็นกิจการที่แตกต่างจากธุรกิจอื่น ๆ มีความได้เปรียบการแข่งขัน ตลอดจนมีผู้บริหารที่ดี เพื่อให้แน่ใจว่า ธุรกิจที่ลงทุนจะเติบโตต่อเนื่อง ภายใต้ผู้บริหารที่มีระบบการบริหารกิจการแบบ Good Governance ระมัดระวังการลงทุนของผู้ถือหุ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกิจการเป็นอย่างดี
หวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาเพิ่มเติมครับ