'เตือน'ปะทะ'ทะเลจีนใต้'อาจลาม กลายเป็น'สงครามใหญ่'ใน'เอเชีย'
โพสต์แล้ว: พุธ มิ.ย. 29, 2011 1:07 am
'เตือน'ปะทะ'ทะเลจีนใต้'อาจลาม กลายเป็น'สงครามใหญ่'ใน'เอเชีย'
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 28 มิถุนายน 2554 22:33 น.
เอเจนซี/ เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการ - สถาบันวิเคราะห์วิจัยชั้นนำของออสเตรเลีย นำเสนอรายงานเตือนว่า เหตุกระทบกระทั่งที่เกิดขึ้นถี่ยิบในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออกในช่วงระยะหลัง โดยเฉพาะที่มีจีนเป็นตัวแปรสำคัญนี้ มีแนวโน้มสูงที่จะพัฒนาบานปลายถึงขั้นเกิดการเผชิญหน้าทำสงครามกันไม่เพียงเฉพาะระหว่างประเทศคู่กรณีเท่านั้น แต่ยังจะดึงเอาประเทศที่สามอย่างสหรัฐฯ และมหาอำนาจอื่นๆ เข้ามาผสมโรงด้วย
รอรี เมดคาล์ฟและราอูล ไฮน์ริชส์ สองนักวิเคราะห์ด้านนโยบายการต่างประเทศแห่งสถาบันโลวี (Lowy Institute) ของออสเตรเลีย กล่าวในรายงานการศึกษาว่าด้วยประเทศมหาอำนาจกับความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในส่วนของเอเชีย ซึ่งนำออกเผยแพร่เมื่อวันอังคาร (28) เตือนว่า ปัจจัยทั้งในด้านพฤติการณ์อันสุ่มเสี่ยงของกองทัพจีน, ความกระหายในทรัพยากร ตลอดจนพฤติกรรมเชิงยั่วยุที่เข้มข้นมากขึ้นในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออกในช่วงระยะหลัง ได้เพิ่มความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การเปิดศึกกันทางทหารซึ่งท้ายที่สุดจะลากเอาสหรัฐอเมริกาและมหาอำนาจรายอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ทั้งนี้อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific)เป็นคำใหม่ที่นิยมใช้กันในออสเตรเลีย โดยหมายความถึงพื้นที่เอเชียแปซิฟิก บวกด้วยเอเชียใต้และมหาสมุทรอินเดีย ขณะที่ อินโด-แปซิฟิกในส่วนของเอเชีย (Indo-Pacific Asia) คือส่วนที่เป็นชาติเอเชียในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
“น่านน้ำในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในส่วนเฉพาะของเอเชียนั้น แน่นขนัดไปด้วยเรือมากขึ้น มีการแข่งขันกันมากขึ้น และเสี่ยงที่จะนำไปสู่การใช้กำลังห้ำหั่นกันมากขึ้น ขณะที่กองทัพเรือและอากาศของแต่ละฝ่ายต่างก็มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งกันอย่างกระวีกระวาด ท่ามกลางดุลแสนยานุภาพทางเศรษฐกิจเชิงยุทธศาสตร์ที่กำลังเปลี่ยนแปลง” รายงานฉบับนี้ว่าไว้
“ความระหองระแหงกันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น และอินเดียยังน่าที่จะดำเนินต่อเนื่องไปและทวีความรุนแรงมากขึ้น ขณะที่เหตุกระทบกระทั่งก็เพิ่มจำนวนครั้งและความถี่มากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ความขัดแย้งจะยกระดับขึ้นไปสู่การเผชิญหน้าทางการทหาร ตลอดจนวิกฤตด้านการทูต”
เมดคาล์ฟกับไฮน์ริชส์ ยังระบุด้วยว่า การเพิ่มขึ้นของปฏิบัติการลาดตระเวนในทะเล และการตรวจการณ์โดยรุกล้ำเข้าน่านน้ำประเทศอื่น ประกอบกับกระแสชาตินิยมและการแย่งชิงทรัพยากร เหล่านี้ล้วนทำให้การแก้ไขปัญหากรณีการกล่าวอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือน่านน้ำพิพาทประสบความยุ่งยากมากขึ้น
“ปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้เอเชียกลายเป็นโซนล่อแหลมต่อการเกิดเหตุปะทะกันในทะเล โดยเฉพาะการเผชิญหน้าตอบโต้กันในระยะประชิดด้วยเรือและเครื่องบินในเขตพื้นที่ละเอียดอ่อนหรือที่แข่งขันแย่งชิงกัน ระหว่างประเทศคู่พิพาท”
รายงานยังระบุว่า ปักกิ่งได้สร้างความวิตกกังวลมากขึ้นให้แก่พวกประเทศเอเชียอาคเนย์ นับตั้งแต่ที่จีนประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า ทะเลจีนใต้เป็นผลประโยชน์แกนกลาง (core interest) ของตน ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่าจีนถือทะเลจีนใต้มีสถานะเทียบเท่าไต้หวันและทิเบต นอกจากนี้การขยายแสนยานุภาพทางทหารอย่างไม่หยุดยั้ง ตลอดจนการพัฒนาความทันสมัยของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (พีแอลเอ) ยังทำให้ออสเตรเลียเกิดความหวาดระแวงเกี่ยวกับแนวโน้มพฤติการณ์ของกองทัพจีนในการปกปักษ์รักษาผลประโยชน์ของตนอีกด้วย
ทั้งนี้รายงานฉบับดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในช่วงเวลาที่จีนเตรียมจะเปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกในสัปดาห์นี้ โดยคาดหมายกันว่าน่าจะเป็นวันที่ 1 กรกฎาคมซึ่งตรงกับวันครบรอบ 90 ปีของการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ความเคลื่อนไหวในการส่งเรือรบซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ออกทดลองแล่นคราวนี้สร้างความหวาดวิตกในภูมิภาคแห่งนี้มากขึ้นไปอีก
ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน จีนได้ส่งเรือตรวจการณ์พลเรือนขนาดใหญ่ที่สุดของตนชื่อ “ไห่สวิน” เข้าไปแล่นในทะเลจีนใต้ ก็ได้สร้างความไม่พอใจแก่ฟิลิปปินส์ซึ่งกล่าวหาว่าเรือจีนได้รุกล้ำน่านน้ำของตน
รายงานฉบับนี้ยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ซึ่งระอุสุดขีดในช่วงเดือนเมษายน ปี 2010 จากเหตุที่กองทัพเรือจีนทำการซ้อมรบใกล้กับหมู่เกาะโอกินาวา ทางใต้ของญี่ปุ่น เพื่อตอบโต้ต่อกรณีที่กองกำลังรักษาชายฝั่งของแดนอาทิตย์อุทัยคุมขังกัปตันเรือชาวจีน ผู้ถูกกล่าวหาว่าขับเรือพุ่งชนเรือตรวจการณ์ของญี่ปุ่น 2 ลำในน่านน้ำทะเลจีนตะวันออกซึ่งสองฝ่ายพิพาทกันอยู่
อย่างไรก็ตาม แม้ต้นปีที่ผ่านมาจะบังเกิดสัญญาณความเป็นมิตรบนความสัมพันธ์ทวิภาคีคู่นี้บ้างจากเหตุการณ์ที่รัฐบาลปักกิ่งส่งเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือ รวมถึงส่งสาล์นแสดงความเสียใจไปยังญี่ปุ่นที่ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิ ตลอดจนวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทว่าบนความสัมพันธ์ในระดับกลาโหมนั้นยังคงคุกรุ่นไม่จางหาย โดยเฉพาะเมื่อไม่นานมานี้โตเกียวได้ส่งฝูงบินขับไล่ขึ้นไปเผชิญหน้ากับเครื่องบินตรวจการณ์ลำหนึ่งของจีนซึ่งบินเข้าน่านฟ้าเหนือหมู่เกาะพิพาท
สำหรับสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ล่าสุดปรากฏว่ายังคงตึงเครียดอยู่ เมื่อกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้เปิดฉากซ้อมรบร่วมกับฟิลิปปินส์ในทะเลซูลู ใกล้กับทะเลจีนใต้อย่างเป็นทางการวันอังคาร (28) ถึงแม้รัฐบาลวอชิงตันจะประกาศย้ำว่า ปฏิบัติการซ้อมรบดังกล่าวเป็นไปตามกำหนดการเดิมที่วางไว้ก่อนหน้านี้ และไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่มะนิลาพิพาทกับปักกิ่งแต่อย่างใด
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 28 มิถุนายน 2554 22:33 น.
เอเจนซี/ เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการ - สถาบันวิเคราะห์วิจัยชั้นนำของออสเตรเลีย นำเสนอรายงานเตือนว่า เหตุกระทบกระทั่งที่เกิดขึ้นถี่ยิบในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออกในช่วงระยะหลัง โดยเฉพาะที่มีจีนเป็นตัวแปรสำคัญนี้ มีแนวโน้มสูงที่จะพัฒนาบานปลายถึงขั้นเกิดการเผชิญหน้าทำสงครามกันไม่เพียงเฉพาะระหว่างประเทศคู่กรณีเท่านั้น แต่ยังจะดึงเอาประเทศที่สามอย่างสหรัฐฯ และมหาอำนาจอื่นๆ เข้ามาผสมโรงด้วย
รอรี เมดคาล์ฟและราอูล ไฮน์ริชส์ สองนักวิเคราะห์ด้านนโยบายการต่างประเทศแห่งสถาบันโลวี (Lowy Institute) ของออสเตรเลีย กล่าวในรายงานการศึกษาว่าด้วยประเทศมหาอำนาจกับความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในส่วนของเอเชีย ซึ่งนำออกเผยแพร่เมื่อวันอังคาร (28) เตือนว่า ปัจจัยทั้งในด้านพฤติการณ์อันสุ่มเสี่ยงของกองทัพจีน, ความกระหายในทรัพยากร ตลอดจนพฤติกรรมเชิงยั่วยุที่เข้มข้นมากขึ้นในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออกในช่วงระยะหลัง ได้เพิ่มความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การเปิดศึกกันทางทหารซึ่งท้ายที่สุดจะลากเอาสหรัฐอเมริกาและมหาอำนาจรายอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ทั้งนี้อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific)เป็นคำใหม่ที่นิยมใช้กันในออสเตรเลีย โดยหมายความถึงพื้นที่เอเชียแปซิฟิก บวกด้วยเอเชียใต้และมหาสมุทรอินเดีย ขณะที่ อินโด-แปซิฟิกในส่วนของเอเชีย (Indo-Pacific Asia) คือส่วนที่เป็นชาติเอเชียในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
“น่านน้ำในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในส่วนเฉพาะของเอเชียนั้น แน่นขนัดไปด้วยเรือมากขึ้น มีการแข่งขันกันมากขึ้น และเสี่ยงที่จะนำไปสู่การใช้กำลังห้ำหั่นกันมากขึ้น ขณะที่กองทัพเรือและอากาศของแต่ละฝ่ายต่างก็มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งกันอย่างกระวีกระวาด ท่ามกลางดุลแสนยานุภาพทางเศรษฐกิจเชิงยุทธศาสตร์ที่กำลังเปลี่ยนแปลง” รายงานฉบับนี้ว่าไว้
“ความระหองระแหงกันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น และอินเดียยังน่าที่จะดำเนินต่อเนื่องไปและทวีความรุนแรงมากขึ้น ขณะที่เหตุกระทบกระทั่งก็เพิ่มจำนวนครั้งและความถี่มากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ความขัดแย้งจะยกระดับขึ้นไปสู่การเผชิญหน้าทางการทหาร ตลอดจนวิกฤตด้านการทูต”
เมดคาล์ฟกับไฮน์ริชส์ ยังระบุด้วยว่า การเพิ่มขึ้นของปฏิบัติการลาดตระเวนในทะเล และการตรวจการณ์โดยรุกล้ำเข้าน่านน้ำประเทศอื่น ประกอบกับกระแสชาตินิยมและการแย่งชิงทรัพยากร เหล่านี้ล้วนทำให้การแก้ไขปัญหากรณีการกล่าวอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือน่านน้ำพิพาทประสบความยุ่งยากมากขึ้น
“ปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้เอเชียกลายเป็นโซนล่อแหลมต่อการเกิดเหตุปะทะกันในทะเล โดยเฉพาะการเผชิญหน้าตอบโต้กันในระยะประชิดด้วยเรือและเครื่องบินในเขตพื้นที่ละเอียดอ่อนหรือที่แข่งขันแย่งชิงกัน ระหว่างประเทศคู่พิพาท”
รายงานยังระบุว่า ปักกิ่งได้สร้างความวิตกกังวลมากขึ้นให้แก่พวกประเทศเอเชียอาคเนย์ นับตั้งแต่ที่จีนประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า ทะเลจีนใต้เป็นผลประโยชน์แกนกลาง (core interest) ของตน ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่าจีนถือทะเลจีนใต้มีสถานะเทียบเท่าไต้หวันและทิเบต นอกจากนี้การขยายแสนยานุภาพทางทหารอย่างไม่หยุดยั้ง ตลอดจนการพัฒนาความทันสมัยของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (พีแอลเอ) ยังทำให้ออสเตรเลียเกิดความหวาดระแวงเกี่ยวกับแนวโน้มพฤติการณ์ของกองทัพจีนในการปกปักษ์รักษาผลประโยชน์ของตนอีกด้วย
ทั้งนี้รายงานฉบับดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในช่วงเวลาที่จีนเตรียมจะเปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกในสัปดาห์นี้ โดยคาดหมายกันว่าน่าจะเป็นวันที่ 1 กรกฎาคมซึ่งตรงกับวันครบรอบ 90 ปีของการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ความเคลื่อนไหวในการส่งเรือรบซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ออกทดลองแล่นคราวนี้สร้างความหวาดวิตกในภูมิภาคแห่งนี้มากขึ้นไปอีก
ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน จีนได้ส่งเรือตรวจการณ์พลเรือนขนาดใหญ่ที่สุดของตนชื่อ “ไห่สวิน” เข้าไปแล่นในทะเลจีนใต้ ก็ได้สร้างความไม่พอใจแก่ฟิลิปปินส์ซึ่งกล่าวหาว่าเรือจีนได้รุกล้ำน่านน้ำของตน
รายงานฉบับนี้ยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ซึ่งระอุสุดขีดในช่วงเดือนเมษายน ปี 2010 จากเหตุที่กองทัพเรือจีนทำการซ้อมรบใกล้กับหมู่เกาะโอกินาวา ทางใต้ของญี่ปุ่น เพื่อตอบโต้ต่อกรณีที่กองกำลังรักษาชายฝั่งของแดนอาทิตย์อุทัยคุมขังกัปตันเรือชาวจีน ผู้ถูกกล่าวหาว่าขับเรือพุ่งชนเรือตรวจการณ์ของญี่ปุ่น 2 ลำในน่านน้ำทะเลจีนตะวันออกซึ่งสองฝ่ายพิพาทกันอยู่
อย่างไรก็ตาม แม้ต้นปีที่ผ่านมาจะบังเกิดสัญญาณความเป็นมิตรบนความสัมพันธ์ทวิภาคีคู่นี้บ้างจากเหตุการณ์ที่รัฐบาลปักกิ่งส่งเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือ รวมถึงส่งสาล์นแสดงความเสียใจไปยังญี่ปุ่นที่ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิ ตลอดจนวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทว่าบนความสัมพันธ์ในระดับกลาโหมนั้นยังคงคุกรุ่นไม่จางหาย โดยเฉพาะเมื่อไม่นานมานี้โตเกียวได้ส่งฝูงบินขับไล่ขึ้นไปเผชิญหน้ากับเครื่องบินตรวจการณ์ลำหนึ่งของจีนซึ่งบินเข้าน่านฟ้าเหนือหมู่เกาะพิพาท
สำหรับสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ล่าสุดปรากฏว่ายังคงตึงเครียดอยู่ เมื่อกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้เปิดฉากซ้อมรบร่วมกับฟิลิปปินส์ในทะเลซูลู ใกล้กับทะเลจีนใต้อย่างเป็นทางการวันอังคาร (28) ถึงแม้รัฐบาลวอชิงตันจะประกาศย้ำว่า ปฏิบัติการซ้อมรบดังกล่าวเป็นไปตามกำหนดการเดิมที่วางไว้ก่อนหน้านี้ และไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่มะนิลาพิพาทกับปักกิ่งแต่อย่างใด