VALUEWAY: บทเรียนกูรูหุ้นะดับโลก-บัฟเฟต

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
PERFECT LUCKY
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 795
ผู้ติดตาม: 0

VALUEWAY: บทเรียนกูรูหุ้นะดับโลก-บัฟเฟต

โพสต์ที่ 1

โพสต์

VALUE WAY ฉบับวันที่ 11 กรกฏาคม 2554
โดย วิบูลย์ พึงประเสริฐ

บทเรียนกูรูหุ้นระดับโลก – บัฟเฟต
(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

ถาม: เราเรียนรู้อะไรจากวอร์เรน บัฟเฟต

ผู้เขียน: บัฟเฟตเป็นตำนานการลงทุนแบบเน้นคุณค่า แต่เขาบอกเสมอว่าไมได้เป็นคนคิดแนวทางการลงทุนแบบวีไอ แต่เป็นเบนจามิน เกรแฮมที่เป็นต้นแบบ เราต่างอาศัยร่มไม้ที่เกรแฮมปลูกไว้ ประวัติย่อๆของบัฟเฟตคือ จบปริญญาตรีไปทำงานกับพ่อที่เป็นนายหน้าค้าหุ้น แรกๆก็ซื้อๆขายๆ แต่เขาคิดว่าไม่น่าใช่วิธีลงทุนที่ถูกต้อง จนไปอ่านเจอหนังสือของเกรแฮมเรื่อง”นักลงทุนที่ชาญฉลาด” (Intelligent investor) แล้วถึงรู้ว่านี่เป็นวิธีการลงทุนที่ถูกต้อง จากนั้นจึงไปเรียนปริญญาโทกับเกรแฮม จนได้ 100 คะแนนเต็มคนแรกจากเกรแฮม จบแล้วก็ยังไมได้ทำงานกับเกรมแฮม จนผ่านไป 2 ปีตำแหน่งว่างจึงได้ทำงานกับเกรแฮมเป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ให้กองทุนที่เกรแฮมบริหาร

หลักการลงทุนของบัฟเฟตมักบอกว่า 70% เป็นแบบเกรแฮม 30% เป็นแบบฟิชเชอร์ แต่ถ้าไปดูตอนนี้จะพบว่าเริ่มเป็นวิธีของฟิชเชอร์มากขึ้น การลงทุนของเขาในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาจะทบต้นประมาณ 20%ต่อปี จากหุ้น 20เหรียญกลายเป็น 2แสนเหรียญในปัจจุบันหรือเพิ่มขึ้นกว่าหมื่นเท่า

ดร.กุศยา ลีฬหาวงศ์: หลักของบัฟเฟตคือรู้ในสิ่งที่ตนเองไปลงทุนจริงๆ ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจจะไม่เข้าไปลงทุน อย่างบัฟเฟตไม่รู้เทคโนโลยีไม่เข้าใจก็ไม่ลงทุน แต่จะลงทุนในบริษัทที่เป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่คาดการได้ หัวใจสำคัญคือการอ่านๆๆ แล้วจะรู้ว่ากำไร รายได้มาจากไหน ผู้บริหารซื่อสัตย์หรือไม่ เวลาซื้อหุ้นเขาคิดว่าเป็นการซื้อธุรกิจ ถือไปได้ตลอด บัฟเฟตมีกฎ 2 ข้อคือ หนึ่ง ต้องไม่ขาดทุน และสอง ต้องไม่ลืมกฎข้อที่หนึ่ง

พรชัย รัตนนนทชัยสุข: ตอนแรกบัฟเฟตเงินยังน้อยก็เป็นแบบเกรแฮม พอเงินเยอะก็เปลี่ยนมาลงทุนแบบฟิชเชอร์เพราะพอร์ตการลงทุนใหญ่ขยับยากเลยต้องมองหากิจการที่เข้าใจแล้วลงทุนยาว มองให้ออกว่าอนาคตเป็นอย่างไร อย่างโนเกีย กับไมโครซอฟท์ เมื่อก่อนเคยแข็งแกร่งแต่ตอนนี้ก็อ่อนด้อยลงไปมาก ถ้าเข้าใจไม่ได้ว่าอนาคตจะเติบโตไปอย่างไรก็จะไม่ลงทุน บางตัวซื้อแล้วบัฟเฟตก็ขายออกไปบ้างเพราะต้องการเอาไปลงทุนอย่างอื่น แต่ราคาที่เขาซื้อถ้าถือก็สามารถถือได้ตลอดไป

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร: วิธีการแบบบัฟเฟตบางทีก็เลียนแบบไม่ได้ บางทีเขาก็สามารถสั่งบริษัทได้อย่างที่เขาต้องการเพราะถือหุ้นจำนวนมาก อย่างเรื่องปันผลหรือซื้อหุ้นคืนเป็นต้น แต่ไม่ก้าวก่ายในการบริหารบริษัท หลักอีกข้อคือบัฟเฟตทำกำไรจากการไม่เปลี่ยนแปลง เขาไม่ชอบอะไรที่เปลี่ยนแปลงบ่อยๆ เช่น 10 ปีเคยทำธุรกิจอะไรก็ทำแบบเดิม ขายน้ำอัดลมแบบเดิม ช๊อคโกแลตแบบเดิม หนังสือพิมพ์ก็เหมือนเดิม รถไฟก็ขนส่งแบบเดิมๆ ถ้ามันโตก็สบายๆ และบัฟเฟตไม่เคยลงทุนในปีไหนได้กำไรเกิน 100% แต่เน้นโต 20%ไปเรื่อยๆ
Miracle Happens Everyday !
"ปาฎิหารย์คือการเดินบนผืนดินและมีความสุขในทุกย่างก้าว" :)
โพสต์โพสต์