หน้า 1 จากทั้งหมด 1

วิกฤตกรีซ เป็นบทเรียนสำคัญของนโยบายประชานิยม

โพสต์แล้ว: พุธ ก.ค. 13, 2011 1:14 pm
โดย ayethebing
บทเรียนจากวิกฤตหนี้สาธารณะของกรีซ: นางสาวมันทนา เลิศชัยทวี, เศรษฐกร, ธนาคารแห่งประเทศไทย
วิกฤตหนี้สาธารณะของหลายประเทศในยุโรป นับเป็นบทเรียนที่สำคัญแก่ประเทศที่มีแนวนโยบายรัฐสวัสดิการซึ่งทำให้เกิดรายจ่ายผูกพันในระยาวเป็นจำนวนมาก ในขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจและการจัดหารายได้ไม่เพียงพอทำให้ปัญหาสะสมและถึงจุดระเบิดในที่สุด

ในช่วงสองสัปดาห์ก่อนได้เกิดเหตุจลาจลรุนแรงขึ้นที่กรีซ จากความไม่พอใจของประชาชน หลังจากที่รัฐบาลประกาศแผนลดรายจ่ายภาครัฐและปรับขึ้นภาษีเพิ่มเติมเพื่อพยุงฐานะการคลังของประเทศที่อ่อนแอลงมากจากการขาดดุลงบประมาณและหนี้ภาครัฐที่สูงเป็นประวัติการณ์หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุด ซึ่งหลายประเทศในยุโรปเผชิญปัญหาในลักษณะเดียวกัน หลังจากการใช้งบประมาณภาครัฐจำนวนมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงภาวะถดถอย
ในกรณีของกรีซ ปัญหาหนี้ของรัฐบาลไม่ใช่ผลพวงโดยตรงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก เนื่องจากเศรษฐกิจของกรีซถูกกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งล่าสุดน้อยกว่าประเทศอื่นๆในยุโรปหลายประเทศ หากแต่วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ทำให้ปัญหาหนี้สาธารณะและการขาดดุลการคลังที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของกรีซตั้งแต่ก่อนวิกฤตทวีความรุนแรงมากขึ้นจนไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเองในปัจจุบัน และต้องขอรับช่วยเหลือจากทั้งกลุ่มประเทศยูโรและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลกรีซขาดดุลงบประมาณในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง (เฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปีระหว่างปี 2001-2008) แม้ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจเติบโตได้ดีก็ตาม ส่งผลให้หนี้สาธารณะขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 115 ของ GDP ในปี 2009

ต้นเหตุของการขาดดุลการคลังต่อเนื่องประการแรกคือ นโยบายสวัสดิการแบบประชานิยมที่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เช่น นโยบายเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด (early-retire) สำหรับผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และการจ่ายโบนัสแก่ข้าราชการปีละ 3 ครั้ง เป็นต้น ส่งผลให้รัฐมีรายจ่ายผูกพันสูงมากโดยเฉพาะรายจ่ายที่เกี่ยวกับค่าจ้าง บำนาญ การดูแลผู้สูงอายุและคนตกงาน แม้ว่ารัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้ต่างๆคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงประมาณร้อยละ 37 ของ GDP แต่เกือบร้อยละ 90 ของรายได้ ใช้ไปเพื่อเป็นค่าจ้างและรายจ่ายสวัสดิการสังคม (social benefits) เหลือเงินเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยสำหรับการลงทุน ทั้งนี้ยังไม่นับรวมจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มพูนขึ้นต่อเนื่องอีก นอกจากนี้ การที่กรีซสามารถระดมทุนได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่า

ความเป็นจริงจากการเข้าร่วมกลุ่มยูโรก็มีส่วนให้การขาดดุลยิ่งทำได้ง่ายขึ้น ประการที่สอง คือประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของกรีซลดลงมากภายหลังการเข้าร่วมใช้เงินยูโรจากค่าเงินที่แข็งขึ้น ประกอบกับค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับสูง ส่งผลเสียต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ประการสุดท้าย ดัชนีวัดการทุจริต (Corruption index) ที่ได้คะแนนต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศยุโรป ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้งบประมาณว่าได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่

ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่เริ่มจะกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมและมีนโยบายที่มุ่งจะดูแลสวัสดิการมากขึ้น ต้องดำเนินนโยบายดังกล่าวด้วยความระมัดระวังมากขึ้น ในกรณีของประเทศไทย สัดส่วนรายได้ภาครัฐต่อ GDP ของไทยมีเพียงร้อยละ 16 หากภาครัฐจะเพิ่มรายจ่ายในส่วนนี้ซึ่งมีแนวโน้มเป็นรายจ่ายที่ผูกผันในระยะยาวคงต้องมาพร้อมกับการปรับโครงสร้างด้านรายได้ต่างๆไม่ว่าจะเป็นการขยายฐานภาษี การจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ๆที่ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

บทเรียนสำคัญประการสุดท้าย คือ การดำเนินนโยบายที่เน้นรายจ่ายที่ไม่ช่วยให้ประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นเป็นหลัก จะส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ดังนั้น ภาครัฐของประเทศเกิดใหม่จึงควรระมัดระวังกับการดำเนินนโยบายที่มีลักษณะรัฐสวัสดิการ และทบทวนความคุ้มค่าของนโยบายดังกล่าวต่างๆในระยะยาวอย่างถี่ถ้วน ในด้านการคลังควรบริหารงบประมาณให้เป็นไปอย่างโปร่งใส รวมถึงการรักษาวินัยการคลังอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยต้องเดินซ้ำรอยกับกรีซในวันนี้

Re: วิกฤตกรีซ เป็นบทเรียนสำคัญของนโยบายประชานิยม

โพสต์แล้ว: พุธ ก.ค. 13, 2011 1:16 pm
โดย ayethebing
วิกฤตกรีซ เกิดจาก นโยบายประชานิยมต่างๆ บวกกับลดภาษี เรียกว่า รายได้ลด รายจ่ายเพิ่ม พรรคที่หาเสียงแข่งกันลดแลกแจกแถม เพื่อให้ชนะเลือกตั้ง จนทำให้เกิดวิกฤตทางการเงินและการคลังขึ้น

หรือไทยจะเจริญรอยตามกรีซ????

Re: วิกฤตกรีซ เป็นบทเรียนสำคัญของนโยบายประชานิยม

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ก.ค. 14, 2011 10:41 pm
โดย thalucoz
ขอบคุณครับพี่ ayethebing :D

อีกหน่อยคงต้องพึ่งตัวเองมากขึ้น เพราะไม่รู้ว่าสวัสดิการที่ว่าจะให้จะดำรงอยู่ไปได้ถึงเมื่อไหร่ครับ

โชคดีที่เรา ๆ มีโอกาสรู้ก่อน จะได้เตรียมตัวทันครับ

Re: วิกฤตกรีซ เป็นบทเรียนสำคัญของนโยบายประชานิยม

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ก.ค. 15, 2011 7:50 am
โดย nlyn
แต่บ่อยครั้งรัฐบาลที่ถูกตำหนิว่าใช้นโยบายประชานิยมกลับสามารถใช้นโยบายเกินดุลได้
ส่วนรัฐบาลที่ค่อนข้างจะเป็นอนุรักษ์นิยมกลับจำเป็นต้องใช้งบประมาณขาดดุล และก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น

Re: วิกฤตกรีซ เป็นบทเรียนสำคัญของนโยบายประชานิยม

โพสต์แล้ว: อังคาร ก.ค. 19, 2011 12:11 am
โดย ayethebing
ต้องดูครับว่าขาดดุลแล้ว ขาดดุลต่อเนื่อง เงินที่รัฐเสียไป ใช้ไปกับโครงการที่สร้างคุณค่าให้กับการสร้างรายได้ในอนาคตหรือเปล่า

วัดกันง่ายๆ ว่าเกิด twin deficit (Current account deficit คือ ส่งออกน้อยกว่านำเข้า และ government deficit คืองบประมาณขาดดุล) หรือเปล่า ถ้าเกิดละก็ตัวใครตัวมันแน่ๆ ตอนนี้ current account เป็นบวกเยอะเป็นประวัติการณ์ครับ ส่วนหนี้สาธารณะก็กำลังลดลงแล้ว ถือว่าแนวโน้มดีครับถึงแม้ว่ายังขาดดุลงบประมาณอยู่

แต่อนาคตไม่รู้ ต้องจับตาดูกันครับ

Re: วิกฤตกรีซ เป็นบทเรียนสำคัญของนโยบายประชานิยม

โพสต์แล้ว: อังคาร ก.ค. 19, 2011 12:17 am
โดย ayethebing
ว่าแต่ว่าช่วงไหนหรือครับที่ประเทศเรางบเกินดุลโดยมีประชานิยมขนาดนั้น ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยครับ จำไม่ได้เลยว่ามี

Re: วิกฤตกรีซ เป็นบทเรียนสำคัญของนโยบายประชานิยม

โพสต์แล้ว: อังคาร ก.ค. 19, 2011 11:28 pm
โดย ayethebing
ลองดูหนี้สาธารณะและการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ของกรีซครับ
2001 118%---3.8%
2002 117%---4.2%
2003 112%---4.3%
2004 114%---4.5%
2005 114%---7.8%
2006 104%---5.2%
2007 105%---5.9%
2008 105%---6.1%
2009 119%---9.5%
2010 139%---15.5%

อ่านจากกราฟ นะครับ คงไม่ต้องสาธยายอะไรมาก หนี้ก็เยอะแถมจ่ายสุรุ่ยสุร่ายไม่ล้มละลายยังไงไหว

Re: วิกฤตกรีซ เป็นบทเรียนสำคัญของนโยบายประชานิยม

โพสต์แล้ว: พุธ ก.ค. 20, 2011 12:09 am
โดย leaderinshadow
นโยบายประชานิยม หรือ พวกรัฐสวัสดิการทั้งหลาย มักจะก่อปัญหาในระยะยาว
เพราะของแบบนี้ เป็นแบบจ่ายทิ้ง เป็นภาระให้คนรุ่นหลัง

ขาดดุลเพราะสาเหตุนี้น่ากลัวครับ

แต่ถ้าขาดดุลเพราะงบลงทุน ความน่ากลัวก็จะน้อยลง
เพราะสิ่งเหล่านี้จะสร้างรายได้ทั้งทางตรง และทางอ้อมกลับมาในอนาคต

ส่วนตอนนี้ คงดูลำบาก
เพราะต้นตอของปัญหาจริงๆ คือการขาดดุลงบประมาณสะสม
อันเนื่องมาจาก รายจ่าย มากกว่า รายรับ

ความสามารถในการหารายได้ของรัฐ ก็เป็นอีกประเด็นที่น่าจับตามอง

ถ้ารัฐทำงบประมาณเกินดุล หรือ สมดุลได้ (แบบบางช่วงในอดีต) คงไม่น่าวิตกอะไร
เพราะถ้ารายจ่ายบวมขึ้นมา แต่ถ้ารัฐสามารถหารายได้มาชดเชยได้
ตรงนี้ ก็ไม่เกิดปัญหา

ทีนี้ก็ต้องมาดูความสามารถของรัฐ ว่าจะหารายได้จากไหน


ตอนนี้ คงต้องรอดูก่อนครับ
Good or Bad it hard to say.

Re: วิกฤตกรีซ เป็นบทเรียนสำคัญของนโยบายประชานิยม

โพสต์แล้ว: พุธ ก.ค. 20, 2011 12:28 am
โดย nACrophiles_117
นโยบายประชานิยมมัันคือการเสพติดประชาชนอย่างรุนแรงและชั้นเลวนะครับผมว่า

คนที่เคยได้ของฟรีๆ เงินฟรีๆ อะไรฟรีๆ อยู่มาวันดีคืนดีจะไปเอาของที่เค้าคิดว่าเป็นของตัวเอง (ซึ่งจริงๆไม่ใช่) มาตลอดออกไป ใครมันจะไปยอมครับ ประเทศที่จะพัฒนา ต้องสอนให้คนมีการศึกษาสิครับ ไม่ใช่งอมืองอเท้าเป็นง่อย เหลือแต่ปากที่ยังอ้าได้ รอคนโยนเศษอาหารมาให้่

แล้วนักการเมืองคนไหนจะหวังดีต่อประเทศชาติ กล้าทำครับ ใครทำมีหวังคอขาด อย่าได้ผุดได้เกิดในสภาอีกต่อไป ... ที่ผ่านๆมา กี่ปีกี่ชาติก็เห็นแต่นักการเมืองเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวทั้งนั้นหรือเปล่าครับ?

อยากได้เข้ามาอีกสมัย ก็โหมประชานิยมสิครับ ดูจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีพรรคใหญ่ๆพรรคไหนไม่มีนโยบายนี้บ้าง แล้วแต่ละนโยบาย มีอันไหนบ้างที่ไม่ทำให้ประเทศชาติบอบช้ำ

Re: วิกฤตกรีซ เป็นบทเรียนสำคัญของนโยบายประชานิยม

โพสต์แล้ว: พุธ ก.ค. 20, 2011 1:50 am
โดย cookclick
ถ้าคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเงินเฟ้อคืออะไร ประชานิยมคงจะขายไม่ออกแน่เลย 5555+ :B

Re: วิกฤตกรีซ เป็นบทเรียนสำคัญของนโยบายประชานิยม

โพสต์แล้ว: พุธ ก.ค. 20, 2011 3:27 am
โดย san
กัญชา ตอนที่ดูดนั้นมีความสุขดีครับ ถึงจะรู้ว่าไม่ดี แต่หลายคนก็ดูดครับ

ความแตกต่างทางชนชั้นมีมากเกินไปครับ

คนที่สบายไปแล้ว ก็เพลินกับความสบาย ลืมนึกถึงการยื่นมือมาช่วยคนที่ยังไม่สบาย

คนบ้านนอกนั้น คนทุกข์ยังมีมากมาย มากสุดลูกหูลูกตาเลยหล่ะครับ เงินไม่กี่พันมีค่ามากมาย ค่ารักษาที่ไม่ต้องออกมีค่ามากมาย

รัฐบาลบางช่วง ตั้งงบพัฒนา 25 ลุ่มน้ำ ชาวบ้านบอกมีน้ำ เขามีแรงที่จะทำอะไรได้เยอะแยะ ดีกว่าไม่มีน้ำ จริงแฮ่ะ
รัฐบาลบางช่วง ไม่ยอมพัฒนาลุ่มน้ำ เอาเงินมาทุ่มใส่แต่ในเมืองหลวง
ก็ดี ทำให้ผมมีงานทำสายตัวแทบขาด

แต่ว่า เกลี่ยหน่อยก็ดี

ต่างกันมากไป มันจะไปไม่รอดหรอกนา

Re: วิกฤตกรีซ เป็นบทเรียนสำคัญของนโยบายประชานิยม

โพสต์แล้ว: พุธ ก.ค. 20, 2011 7:54 am
โดย nACrophiles_117
เห็นด้วยกับเรื่องความยากจนของคนชนบทครับ เคยมีโอกาสได้ไปสัมผัสมา แม้จะไม่ได้เข้าไปถึงแบบลึกซึ้ง แต่การไปอยู่ ตจว ที่ไม่เจริญเอามากๆเลย มา 1 ปี ก็ทำให้รู้อะไรได้เยอะมากครับ

หลายๆนโยบายอย่างเช่นที่พี่ san ยกมามันมีประโยชน์มากครับ ถ้า concept การให้ประชาชนมันเป็นแบบนั้นคงไม่มีใครคัดค้าน แต่นโยบายหลายอันที่เกือบทุกพรรคต่างประเคนกันมาตอนหาเสียงนี่สิครับ ผมว่า...

Re: วิกฤตกรีซ เป็นบทเรียนสำคัญของนโยบายประชานิยม

โพสต์แล้ว: พุธ ก.ค. 20, 2011 9:06 am
โดย lekmak333
คุณ ayethebing มีข้อมูลรายปี หนี้สาธารณะ / GDP ของอเมริกา บ้างไหมครับ

ดูแล้วชาตากรรมคล้ายๆกัน แต่พี่กันแกมี ทองสำรองไว้เยอะมากๆ

Re: วิกฤตกรีซ เป็นบทเรียนสำคัญของนโยบายประชานิยม

โพสต์แล้ว: พุธ ก.ค. 20, 2011 10:21 am
โดย ayethebing
ลองดู web นี้ครับ มีหลายประเทศเลยแถมมีหลาย indicator ให้ดูด้วย

http://www.tradingeconomics.com/

Re: วิกฤตกรีซ เป็นบทเรียนสำคัญของนโยบายประชานิยม

โพสต์แล้ว: พุธ ก.ค. 20, 2011 10:38 am
โดย teetotal
thalucoz เขียน:ขอบคุณครับพี่ ayethebing :D

อีกหน่อยคงต้องพึ่งตัวเองมากขึ้น เพราะไม่รู้ว่าสวัสดิการที่ว่าจะให้จะดำรงอยู่ไปได้ถึงเมื่อไหร่ครับ

โชคดีที่เรา ๆ มีโอกาสรู้ก่อน จะได้เตรียมตัวทันครับ
เห็นด้วยครับ
ตอนนี้ ผมหัดปลูกข้าว จนออกรวงแล้ว
อีกหน่อย คงซื้อ จักรยานสีข้าว มาใช้
ส่วนผัก ปลูกเป็นนานแล้ว
ไก่ ก็เคยเลี้ยง โดยให้มันกินเศษข้าวที่เหลือ จนออกไข่ กินได้แบบไม่ต้องซื้อตลาด

Re: วิกฤตกรีซ เป็นบทเรียนสำคัญของนโยบายประชานิยม

โพสต์แล้ว: พุธ ก.ค. 20, 2011 10:40 am
โดย ayethebing
เห็นด้วยเรื่องความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท

วิถีทางแก้ปัญหา ไม่สามารถเกิดจากภาคประชาชนได้ครับ ต้องมาจากภาครัฐเท่านั้น ซึ่งผมเห็นอยู่ทางเดียวคือการกระจายอำนาจการบริหารไปสู่ชนบทและการพัฒนาการศึกษาครับ (อย่างหลังสำคัญกว่า ต้องทำก่อน) การเอาเงินไปให้บริหารกันเองในแต่ละหมู่บ้านไม่ใช่การกระจายอำนาจครับ

Re: วิกฤตกรีซ เป็นบทเรียนสำคัญของนโยบายประชานิยม

โพสต์แล้ว: พุธ ก.ค. 20, 2011 10:51 am
โดย naijan
วิกฤติกรีซ ยุโรป หรือสหรัฐ หนี้ท่วมกันทั้งนั้น วิกฤติหนี้คราวนี้ไม่ได้เป็นบทเรียนเรื่องประชานิยมอย่างเดียวครับ แต่เป็นบทเรียนสำคัญเรื่องการเงินส่วนบุคคลด้วยครับ
ไม่ว่าจะเป็นประเทศหรือส่วนบุคคล หากใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายมากกว่ารายได้ ไม่เก็บออม อีกหน่อยจะตกอยู่ในสภาวะหนี้ท่วมหัว
------------------------------------------------------------------------------------------
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางเกี่ยวกับการสร้างความมั่งคั่งและการลงทุน วิธีการสอนลูกให้มั่งคั่ง
เชิญได้ที่... http://wealththailand.blogspot.com/

Re: วิกฤตกรีซ เป็นบทเรียนสำคัญของนโยบายประชานิยม

โพสต์แล้ว: พุธ ก.ค. 20, 2011 6:46 pm
โดย ayethebing
ก็เห็นด้วยนะครับ คุณ naijan แต่ถ้าเป็นประเทศ มันจะโดนกันทั้งหมด ทั้งคนที่อดออม ประหยัด หรือคนที่สุรุ่ยสุ่ร่าย สุดท้ายคือเดือดร้อนเหมือนกันนะครับ