หน้า 1 จากทั้งหมด 1

จาก 1144 เดือนสิงหา สู่916.21 กันยา

โพสต์แล้ว: เสาร์ ต.ค. 01, 2011 10:37 am
โดย imerlot
จาก 1144 เดือนสิงหา สู่916.21 กันยา
ลงมา -19.9% ใน 2 เดือน

ของนอก
http://www.cnbc.com/id/44734780
Friday, 30 Sep 2011
Q3-Q4 Market Volatility—What's Causing It
We're waiting for the locusts to arrive. As we end the worst quarter for the S&P 500 since Q4 2008, everyone keeps asking: what is causing all the volatility?
ของไทยคำถาม
คือ
we end the worst quarter ... since Q4 2008 เหมือนเขาไหม?
อะไรเป็นสาเหตุ?

Re: จาก 1144 เดือนสิงหา สู่916.21 กันยา

โพสต์แล้ว: เสาร์ ต.ค. 01, 2011 11:27 am
โดย Jeng
ตอนนี้บอร์ดเงียบเหงา

ถ้าลงอีก บอร์ดก็เงียบเหงาอีก

ก็จะได้เวลา ซื้ออย่างบ้าคลั่ง

ตื่นมาในฮาเร็ม

วีไอแปลงร่างเป็น : นินจาวีไอ

ไปก่อนนะช่วงนี้ เก็บเนื้อเก็บตัว เก็บเงินไว้

Re: จาก 1144 เดือนสิงหา สู่916.21 กันยา

โพสต์แล้ว: เสาร์ ต.ค. 01, 2011 11:39 am
โดย koon007
ผมรอที่ต่ำกว่า500ไม่รู้ลงถึงไหม

Re: จาก 1144 เดือนสิงหา สู่916.21 กันยา

โพสต์แล้ว: เสาร์ ต.ค. 01, 2011 12:51 pm
โดย beaeaebe
ผมรอให้พวกเห่อๆ ซื้อหนังสือเล่นหุ้นตาม facebook internet เลิกเห่อ เจ๊งติดดอย จนไม่มีคนพูดถึงเรื่องหุ้นใน social network และ ตามการสนทนาในหมู่เพื่อนฝูงที่ไม่ได้สนใจลงทุนอย่างจริงจังก่อนครับ ถึงจะพิจารณาซื้อ

ในบอร์ดนี่ยังยกเว้นได้บ้าง เพราะยิ่งตกผมว่าบางทีใจมันยิ่งคึกคักครับ

Re: จาก 1144 เดือนสิงหา สู่916.21 กันยา

โพสต์แล้ว: เสาร์ ต.ค. 01, 2011 4:58 pm
โดย kugaman
ช่วงนี้หุ้นหลาย ๆ ตัวราคาน่าซื้อมากนะครับ
บางตัวขายกันทุกราคาเลย
ผมว่าการที่หุ้นตกมากขนาดนี้ นอกจากกองทุนและต่างชาติแล้ว
น่าจะมาจากรายย่อยที่ดูกราฟนะครับ
เห็นหลุดแนวรักลายเป็นขาลง ก็รีบขายกันเลย
โดยไม่ดูว่าพื้นฐานบริษัทเลย ขาดทุนเท่าไหร่ก็ยอมขาย
กะพวกที่เล่น SBL นี่ผมว่านี่เป็นพวกทุบตลาดเลย
ยิ่งลงยิ่งชอบ จะได้ซื้อหุ้นมาคืนได้ในราคาถูก ๆ
ถ้ามีพวกที่เล่น SBL มาก ๆ รายใหญ่ ๆ ผมว่า set คงไม่ไปไหนหรอกครับ

Re: จาก 1144 เดือนสิงหา สู่916.21 กันยา

โพสต์แล้ว: เสาร์ ต.ค. 01, 2011 7:40 pm
โดย bank115
beaeaebe เขียน:ผมรอให้พวกเห่อๆ ซื้อหนังสือเล่นหุ้นตาม facebook internet เลิกเห่อ เจ๊งติดดอย จนไม่มีคนพูดถึงเรื่องหุ้นใน social network และ ตามการสนทนาในหมู่เพื่อนฝูงที่ไม่ได้สนใจลงทุนอย่างจริงจังก่อนครับ ถึงจะพิจารณาซื้อ

ในบอร์ดนี่ยังยกเว้นได้บ้าง เพราะยิ่งตกผมว่าบางทีใจมันยิ่งคึกคักครับ
ขอถามว่าช่วง Subprime นี่ ตามแผงหนังสือ แทบจะไม่มีหนังสือหุ้นเลยหรือป่าวครับ

จำไม่ได้แล้วอะครับ

Re: จาก 1144 เดือนสิงหา สู่916.21 กันยา

โพสต์แล้ว: เสาร์ ต.ค. 01, 2011 7:44 pm
โดย beaeaebe
bank115 เขียน:
beaeaebe เขียน:ผมรอให้พวกเห่อๆ ซื้อหนังสือเล่นหุ้นตาม facebook internet เลิกเห่อ เจ๊งติดดอย จนไม่มีคนพูดถึงเรื่องหุ้นใน social network และ ตามการสนทนาในหมู่เพื่อนฝูงที่ไม่ได้สนใจลงทุนอย่างจริงจังก่อนครับ ถึงจะพิจารณาซื้อ

ในบอร์ดนี่ยังยกเว้นได้บ้าง เพราะยิ่งตกผมว่าบางทีใจมันยิ่งคึกคักครับ
ขอถามว่าช่วง Subprime นี่ ตามแผงหนังสือ แทบจะไม่มีหนังสือหุ้นเลยหรือป่าวครับ

จำไม่ได้แล้วอะครับ
ช่วงนั้นหนังสือเล่นหุ้นใหม่ๆ น้อยมาก แล้วไม่ติดเบสเซลเลอร์ ที่เห็นวางๆก้อทีของอาจารย์ ดร.นิเวศน์ครับ ถ้าจำไม่ผิด และแทบไม่มีการคุยเรื่องเล่นหุ้นกันในหมุ่เพื่อนฝุงผมเลย ตามsocial network blog อะไรก้อเงียบเหงาครับ มาบูมแค่ปลายปีก่ิน ต้นปีนี้น่ะครับที่หนักๆ

Re: จาก 1144 เดือนสิงหา สู่916.21 กันยา

โพสต์แล้ว: เสาร์ ต.ค. 01, 2011 8:57 pm
โดย tum_H
ต.ค. SET ยังเสี่ยง

โบรกฯ ฟันธงหนี้ยุโรป ยังกดดันหุ้นไทยเดือน ต.ค.ผันผวนสูง คาดดัชนีฯแกว่งตัวในกรอบ 870 – 990 จุด แนะเก็งกำไรดักงบQ3 ด้านกิมเอ็ง ปรับลดน้ำหนักลงทุน ลงสู่ "Neutral-to-Negative" จาก NEUTRAL ส่วนเคจีไอ ยังลุ้นแรงซื้อต่างชาติไหลเข้า ชี้ หากดัชนีฯ ยืนเหนือ 970 จุดไม่ได้ มีแววได้เห็นที่ 845 จุด

หลังผลของรัฐสภาเยอรมันมีมติเมื่อวันที่ 29ก.ย.ที่ผ่านมา ให้ความเห็นชอบขยายเงินทุนและประสิทธิภาพของกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) ด้วยคะแนนเสียง 523-85 ขณะที่ 3 รายงดออกเสียง ทั้งนี้กองทุน EFSF มีมูลค่า 4.40 แสนล้านยูโร (5.99 แสนล้านดอลลาร์) ซึ่งผู้นำของยุโรปได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในการประชุมสุดยอดเมื่อเดือนก.ค.54 ที่ผ่านมา และกฎหมายใหม่นี้จะทำให้วงเงินรับประกันของเยอรมนีเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.23 แสนล้านยูโร เป็น 2.11 แสนล้านยูโร ถือเป็นจำนวนสูงที่สุดในบรรดาประเทศยูโรโซน และจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับการดำเนินงานของกองทุน EFSF ดูเหมือนตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงไทยจะตอบรับในเชิงบวก แต่จะยังไว้ใจได้หรือไม่ และภาวะตลาดหุ้นไทยในเดือน ต.ค. นี้ จะเป็นอย่างไร

* โนมูระพัฒนสิน ชี้ ปัญหาหนี้ยุโรปยังกดดัน หุ้นไทยเดือน ต.ค.ผันผวนสูง เหตุปัญหาหนี้ยุโรปยังต้องใช้เวลาปรับโครงสร้าง

บทวิเคราะห์ บล.โนมูระพัฒนสิน ระบุว่า มีมุมมองด้านลบต่อตลาดหุ้นระยะกลาง และมองโอกาส50% อาจเกิดวิกฤตยุโรป นำไปสู่ปัญหาแบงก์ล้มและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความเสี่ยงขาลงดัชนีฯอาจลงไปถึง 634-905 จุด อิง PER7-9 เท่า เหมือน Hamburger Case สำหรับทางเทคนิคระยะ 3-6 เดือน ดัชนีฯฟอร์มเป็นรูปแบบขาลง แนวรับหลัก 871.848 จุด แนวต้าน 950-972 จุด
แนวโน้มเดือน ต.ค. คาดดัชนีฯผันผวนสูงตามข่าวแนวทางแก้ปัญหาหนี้ยุโรป ซึ่งระยะกลาง-ยาว คาดว่าตลาดฯยังมีความเสี่ยง เพราะปัญหาหนี้ยุโรปยังต้องใช้เวลาในการปรับโครงสร้าง ผ่านการเพิ่มทุนของแบงก์ที่ถือตราสารหนี้ยุโรปจากการขาดทุนเงินลงทุนตราสารหนี้ยุโรป ดังนั้น ข่าวดีต่อมาตรการแก้ปัญหาหนี้ยุโรปในเดือนนี้ คาดเป็นเพียงปัจจัยหนุนการรีบาวน์ของดัชนีฯระยะสั้น กลยุทธ์รายเดือน แนะนำ Short term tarding โดยเน้นหุ้นที่มี Earning cushion ปันผลสูง

* กูรู คาดช่วงต้นเดือน ต.ค.แรงขายกดดัน SET ร่วงแต่ไม่มากเท่าเดือนก่อน แนะลงทุนช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนดักงบQ3/54

นายชัย จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้อำนวยฝ่ายกลยุทธ์ลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ตลาดหุ้นไทยในเดือนต.ค.54 คาดว่าจะอยู่ในลักษณะ Downside เนื่องจากปริมาณการซื้อขาย 50% ในตลาดหุ้นไทยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาในประเทศแถบยุโรปที่ในช่วงกลางเดือน ต.ค.ประเทศกรีซจะครบนัดชำระหนี้ ดังนั้นต้องติดตามต่อไปว่าจะชำระหนี้ได้ตามกำหนดหรือไม่ ในเบื้องต้นเชื่อว่าในช่วงต้นเดือนจะมีแรงขายทำกำไรออกมาก่อนเพื่อลดความเสี่ยง ขณะเดียวกัน ยังมีสัญญาณของปัจจัยลบจากการเตรียมปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจลงอีกในเดือนหน้า หลังจากเดือนนี้หน่วยงานต่างๆยังไม่ได้นำปัจจัยลบจากปัญหาน้ำท่วมและความเชื่อมั่นนักลงทุนเข้าไปร่วมประเมินด้วย ซึ่งคงจะออกมาในทิศทางเชิงลบ อย่างไรก็ดี ในช่วงกลางเดือน ต.ค.นี้ก็จะมีการทยอยประกาศผลประกอบการในไตรมาส3/54ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดฯ ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยสนับสนุนได้ในหุ้นรายตัว
ทั้งนี้ หากประเมินจากช่วงก่อนตลาดฯจะปรับตัวลดลงในเดือนก่อนหน้านี้ดัชนีฯอยู่ที่ 1,070 จุด จากปัจจุบันดัชนีฯอยู่ประมาณ 916 จุด โดยติดลบประมาณ 150 จุด แต่ในเดือนหน้าคาดว่าตลาดฯคงจะลงแต่ไม่มากเท่ากับเดือนก่อนหน้านี้ แต่ก็มีโอกาสที่จะลงไปแตะที่แนวรับ 850-836 จุดได้ในช่วงการซื้อภายในเดือนต.ค.นี้
สำหรับด้านกลยุทธ์การลงทุนนักลงทุนควรไปพิจารณาลงทุนในช่วงสัปดาห์ที่2และ3ของเดือนต.ค.54 เพราะต้องรอให้ผลการชำระหนี้ของประเทศกรีซผ่านพ้นไปก่อนเพื่อจับตาภาวะตลาดฯ โดยเชื่อว่าหากข้อสรุปในประเทศยุโรปออกมาเป็นที่น่าพอใจนักลงทุนจะเป็นส่วนสนับสนุนให้ดัชนีฯขึ้นไปแตะแนวต้านที่ 950-990 จุดได้เช่นกัน ทั้งนี้ ควรต้องพิจารณาลงทุนในหุ้นจากการประกาศผลประกอบการไตรมาส3/54เป็นหลักด้วย

*ทิสโก้ คาด SET ต.ค. แกว่งตัวในกรอบ 870 – 990 จุด แนะเก็งกำไรผลประกอบการไตรมาส 3

บทวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ ระบุว่า แนวโน้มเดือน ต.ค. คาด SET แกว่งตัว 120 จุด (Sideways) กรอบ 870 – 990 จุด SET เปิด GAP ขาลงกว้าง 17 จุด ที่ 972 – 990 จุด กลายเป็นแนวต้านที่ 990 จุด เดือน ต.ค. 54 แนะเก็งกำไรผลประกอบการไตรมาส 3 บวก SET ลงแรงมา 2 เดือนแล้ว
แนวโน้มสัปดาห์นี้ คาด SET แกว่งตัว ( Sideways ) กรอบ 910 – 950 จุด รอ Break Out หาก SET ขึ้นทะลุ 955 จุด จะเกิด Buy Signal ไป 990 จุด ( ขึ้นปิด GAP แล้วลง ) ในกรณีแย่กว่าคาด หาก SET ลงต่ำกว่า 900 จุด จะเป็นสัญญาณลบ SET จะซึมลงทดสอบแนวรับ 870 จุด

* กิมเอ็ง ปรับลดน้ำหนักการลงทุนหุ้นไทย ในเดือน ต.ค.นี้ สู่ "Neutral-to-Negative" จาก NEUTRAL เหตุปัจจัยนอกเสี่ยงสุดๆ

บทวิเคราะห์ บล.กิงเอ็ง ระบุว่า การลงทุนตลอดเดือนก.ย.ที่ผ่านมา เต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศโดยเฉพาะฐานะการคลังในกรีซ หลังการประชุมระหว่าง กรีซ – IMF – EU วันที่ 2 ก.ย. เลื่อนออกไปจนถึงวันที่ 3 ต.ค. ระหว่างนั้น สภาพคล่องทางการเงินของระบบสถาบันการเงินในอียูเริ่มตึงตัว การรายงานจาก ECB พบว่าเงินฝากในสถาบันการเงินของยุโรปเริ่มลดลง ECB ต้องขอรับความช่วยเหลือจากธนาคารกลาง 4 ประเทศในการรับสินเชื่อสกุลเงินดอลลาร์ เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อให้แก่ธนาคารในยุโรปอีกทอดหนึ่ง รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดการประชุมเฟดออกมาส่งสัญญาณเตือนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอย่างมีนัยยะสำคัญ IMF ออกมาปรับลดเศรษฐกิจโลกปีนี้และปีหน้าลง กลายเป็นเหตุให้เกิด Unwind US Dollar Carry Trade ทั่วโลก กดดันให้ SET INDEX หลุด 1,000 จุด วันที่ 22 ก.ย. มาปิด ณ วันที่ 23 ก.ย.ที่ 958.16 จุด ลดลง 111.89 จุด จาก ณ สิ้นเดือนส.ค.
มุมมองต่อการลงทุนในเดือนต.ค. KimEng ลดน้ำหนักการลงทุนเป็นเดือนที่ 3 สู่ "Neutral-to-Negative" จาก NEUTRAL เดือนก.ย. ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญต่อการกำหนด Downside Risk ของตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยคงหนีไม่พ้น
1. กรีซจะได้รับเงินช่วยเหลือรอบที่ 6 หรือไม่ : ตามตารางเวลาจะมีการประชุมระดับผู้นำของกรีซ - IMF -EU วันที่ 3 ต.ค. คาดว่าจะพิจารณาอนุมัติเงินช่วยเหลือ 6 พันล้านยูโรในกลางเดือนต.ค. แต่ประเด็น ที่ตามมาคือ เงื่อนไขเพิ่มเติมในการรับเงินช่วยเหลือรอบที่ 2 แต่หากไม่ผ่านภายในสิ้นเดือนต.ค. อาจทำให้รัฐบาลกรีซไม่มีเงินมาชำระหนี้และค่าใช้จ่ายได้
2. การครบกำหนดของพันธบัตรอิตาลี และสเปน : วงเงิน 1.35 หมื่นล้านยูโรของอิตาลี ณ สิ้นเดือนก.ย. และ 1.41 หมื่นล้านยูโรของสเปน ณ สิ้นเดือนต.ค.
3. การขยายวงเงิน EFSF : ตลาดเชื่อว่าสภาฯ เยอรมันจะอนุมัติผ่านร่างดังกล่าวและจะทำให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ในกลุ่มอียู อนุมัติตามมา ทำให้เงินกองทุนดังกล่าวจะถูกขยายได้เต็มจำนวนที่ 4.4 แสนล้านยูโร ภายในกลางเดือน ต.ค. แต่ประเด็นอยู่ที่ วงเงินดังกล่าวอาจไม่เพียงพอต่อการรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินในกลุ่มยุโรปได้เช่นกัน ณ ปัจจุบันมีการคาดไว้สูงถึง 9.0-10.0 แสนล้านยูโร
4. ความคืบหน้าของแผนกระตุ้นการจ้างงานและภาษีของสหรัฐฯ : คาดว่าตลอดเดือน ต.ค. จะมีการหารือ และการโต้แย้งจากพรรคฝ่ายค้าน Republican อย่างแน่นอน อาจกลายเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ระยะกลางถึงยาว
5. งบ 3Q54 ธนาคารในสหรัฐฯ : อาจเริ่มส่งสัญญาณเสี่ยงต่อการตัดเงินลงทุน/ตั้งสำรองจากพันธบัตรรัฐบาลกรีซ / อิตาลี ที่ราคาปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในเดือนก.ย. นี้ แม้ว่าจะไม่มาก แต่กลายเป็นจุดเสี่ยง
ด้านปัจจัยในประเทศ ดูเหมือนว่ากลุ่มธนาคารจะเสี่ยงมากขึ้น ทั้งในแง่ของสินเชื่อเดือนก.ย. ที่น่าจะออกมาแย่กว่าคาด เพราะปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัด รวมถึงโอกาสเห็นความผิดหวังจากผลการดำเนินงาน 3Q54 ของกลุ่มธนาคารมีมากขึ้น เพราะหากย้อนกลับไปในช่วงที่งบ 2Q54 ของกลุ่มนี้ออกมาดีกว่าคาด กลายเป็นจุดที่ตลาดปรับประมาณการปีนี้และปีหน้าขึ้นอย่างโดดเด่นนั้นย่อมเท่ากับว่าตลาดมีมุมมองเชิงบวกต่อผลการดำเนินงานใน 2H54 และปีหน้าไปมากแล้ว โอกาสเกิด Positive Surprise เหมือนกับ 2Q54 เป็นไปได้ยาก แต่ในทางตรงกันข้าม หากออกมาแย่กว่าคาด บวกกับภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่เสี่ยงต่อการเติบโตในระดับต่ำ กลายเป็นจุดที่จะมีการปรับประมาณการลงได้เช่นกัน
เมื่อภาพการลงทุนในเดือนต.ค. เต็มไปด้วยประเด็นเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศ เงินทุนต่างชาติที่คาดว่าจะชะลอตัวลงต่อเนื่องจากเดือนก.ย. KimEng ปรับช่วงด้านล่างและด้านบนลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันสู่ (820) 850-950 (980) จุด จากเดือนก่อนหน้า (1,000) 1,020-1,080 (1,100) จุด
ภาวการณ์ลงทุนในเดือนต.ค.ผ่านมุมมองของ KimEng มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากปัจจัยภายนอก ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงาน 3Q54 ของกลุ่มธนาคารอาจไม่โดดเด่น กลายเป็น Downside Risk ที่เปิดมากขึ้น ดังนั้นการเลือกหุ้นในเดือนต.ค. จึงควรเป็นหุ้นกึ่ง Defensive พร้อมปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งอย่าง HMPRO , PYLON , RATCH และ TCAP
กระแสเงินเงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นเอเชียหนาแน่นในเดือนก.ย. นำโดยตลาดหุ้นไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ (ยกเว้นตลาดอินเดียที่กลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อย US$232.5 ล้าน) คิดเป็นมูลค่าขายสุทธิรวม US$5.5 พันล้าน จากความกังวลต่อปัญหาหนี้สินยุโรปทวีความรุนแรงมากขึ้นและอาจกระทบต่อระบบสถาบันการเงินของยุโรป กอปรกับความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง หลังแถลงการณ์ของประธานเฟดระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้กระแสเงินทุนไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกอย่างหนักเพื่อลดความเสี่ยง หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีกระลอก
สำหรับภาพรวม SET INDEX เดือนก.ย. ปรับฐานลงแรงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากแรงกดดันประเด็นภายนอกประเทศ เป็นหลักจากความกังวลต่อปัญหาหนี้สินยุโรป และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ กดดันให้ SET INDEX ปรับฐานลงแรง 10.5% MTD แต่ยัง Outperform ดัชนี MSCI Asia Pacific ex Japan ที่ปรับตัวลงถึง 15.2% MTD ทำให้ล่าสุดผลตอบแทน YTD ของ SET INDEX อยู่ที่ -7.2% เทียบกับ MSCI Asia Pacific ex Japan ที่ -22.4% YTD คิดเป็น Premium สูงถึง 15.1% เพิ่มขึ้นจาก 11.9% ในเดือน ส.ค. (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ก.ย.)

*เคจีไอ หวังแรงซื้อต่างชาติกลับเข้าตลาดฯในเดือน ต.ค.นี้ ชี้ หากดัชนีฯ ยืนเหนือ 970 จุดไม่ได้ มีแววได้เห็นที่ 845 จุด

บทวิเคราะห์ บล.เคจีไอ ระบุว่า ณ ดัชนี SET ที่ 904.06 จุด จะคิดเป็นค่าพีอีปัจจุบันคาดการณ์ได้ที่ 11.12 เท่า (904.06/81.25) เรามองว่าดัชนี SET ในเดือนตุลาคม 2554 มีความเสี่ยงทางลงที่ 10.40 เท่าพีอี จะมองความเสี่ยงทางลง SET ได้ที่845.00 (10.40x81.25) และมองว่ามีความเสี่ยงทางขึ้นได้ที่ 12.40 เท่าค่าพีอี หรือจักมีความเสี่ยงทางขึ้นได้ที่ 1,007.50 จุด (12.40x81.25)
เชิงประเมินเส้นกราฟเดือนตุลาคม 2554 นั้น หากดัชนี SET สามารถดีดขึ้นยืนเหนือแนวต้านค่าเฉลี่ยสิบแปดเดือนที่ 970 จุดได้ จะสิ้นสุดแรงกดทางลง และสะสมกำลังผลักทางขึ้นเพื่อทดสอบแนวต้านค่าเฉลี่ยเก้าและสี่เดือนที่ระดับ 1,040 จุด นัยคือหากดัชนี SET ในเดือนตุลาคม 2554 นี้ไม่สามารถดีดตัวเองขึ้นยืนเหนือค่าเฉลี่ยสิบแปดเดือน 970 จุดได้ จะคงอยู่ในกรอบค่าเฉลี่ยสิบแปดและสามสิบเดือนที่ 970-845 จุด จะแสดงกำลังกดของดัชนี SET ว่าอาจยังคงรักษากำลังกดทางลงเพื่อทดสอบแนวรับค่าเฉลี่ยสามสิบเดือนที่ 845 จุด กลยุทธ์การลงทุนในเดือนตุลาคม 2554 นี้: แนะนำซื้อ
ณ วันที่ 26 กันยายน 2554 มูลค่าตลาดรวมของ SET อยู่ที่ 7.40 ล้านล้านบาทปรับลดลงจากปี 2553 ที่ 8.33 ล้านล้านบาทอยู่ -11.1% หรือคิดเป็น 0.43 เท่าของสินทรัพย์รวมที่ 17.17 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ในปี 2553 นั้นตลาดรวม SET มีผลกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 6.26 แสนล้านบาท คิดเป็นอัตราผลกำไรสุทธิของตลาดรวมที่ 8.0% และคิดเป็นผลตอบแทนต่อส่วนทุนที่ 13.7%ประเมินแรงซื้อขายต่างชาติ
ในกันยายน 2554 นั้น ต่างชาติมีการขายสุทธิที่ -1.89 หมื่นล้านบาท เป็นการขายสุทธิติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง หากดูข้อมูลตั้งแต่ต้นปี พบว่าต่างชาติขายสุทธิต่อกันสองเดือนแล้ว จะกลับมาซื้อสุทธิ หากสถิตินี้เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2554 นี้ ก็อาจคาดหวังแรงซื้อสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติได้
ปัจจัยและแนวโน้มดัชนี SET เดือนตุลาคม 2554ประเมิน 3 ปัจจัยในเดือนตุลาคม 2554 ที่มีผลต่อดัชนี SET
1.แรงขายหุ้นทุน: แรงขายต่างชาติหากยังคงมีออกมาต่อเนื่องในเดือนตุลาคม2554 นี้ อาจกดดันให้ดัชนี SET ปรับลดลงสู่ระดับจุดต่ำสุดปีนี้ที่ 867.86 จุดหรืออาจลดลงสู่แนวรับ845 จุด แต่หากต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิตามสถิติในปีนี้ อาจเห็นดัชนี SET ดีดขึ้นเหนือ 1,015 จุดได้
2.ปัจจัยจากภายนอก: ปัจจัยความกลัวปัญหาหนี้ในเขตยุโรป ยังจะเป็นประเด็นที่ต้องจับตาว่าด้วยวิธีการแก้ไขหนี้ และจะเกิดมีประเทศมีปัญหาหนี้ตามมาอีกหรือไม่ หรือจะมีบทสรุปว่าด้วยวิธีการแก้ไขปัญหา ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกที่สำคัญต่อจิตวิทยาการซื้อหุ้น และการขายหุ้นออกมา
3.ผู้ลงทุน: หากอิงอัตราเติบโตผลกำไรต่อหุ้นของดัชนี SET ประเมินปี 2555 ที่+12.2% เราประเมินว่าระดับค่าพีอีที่ต่ำกว่า 11.20 เท่า หรือระดับดัชนี SET ที่ต่ำกว่า 928 จุด (11.20x82.94) จะคาดหวังผู้ลงทุนเข้าซื้อ ป้องกันทางลงได้
รายงานเศรษฐกิจเดือนตุลาคม 2554 ว่าด้วยความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีความกังวลเพิ่มขึ้นมากว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และของยุโรปจะชะลอตัวในปี 2555 และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในเอเชียได้ เนื่องจากสหรัฐฯ และยุโรป มีขนาดเศรษฐกิจถึงประมาณ 25% และ 15% ของเศรษฐกิจโลก ตามลำดับ ดังนั้นหากทั้งสองประเทศดังกล่าวชะลอตัวหรือเข้าสู่ภาวะถดถอย ย่อมส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียเช่นกัน
จากการพิจารณาตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจโลกล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ณ เดือนกันยายน รวมทั้งการพิจารณาถึงความแข็งแกร่งของปัจจัยเศรษฐกิจภายในประเทศ ฝ่ายวิจัยมองว่าความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวต่อไทยยังไม่มากนัก เนื่องจากระดับการชะลอตัวที่อาจเกิดขึ้นไม่ได้รุนแรง และเศรษฐกิจของประเทศแถบเอเชียด้วยกัน ยังคงเติบโตได้ดี นอกจากนี้รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ได้ทยอยประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจดังที่ได้หาเสียงไว้ ซึ่งน่าจะส่งผลให้ความมั่นใจของเศรษฐกิจในประเทศดี และลดทอนผลกระทบจากภายนอกได้ไม่มากก็น้อยดังนั้น แม้ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงเช่นตลาดหุ้นและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ได้รับผลกระทบรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาก
ฝ่ายวิจัยมองว่าภาพของเศรษฐกิจโลกในปี 2555นั้น ที่จริงแล้วยังคงมีการเติบโตปานกลางและไม่ได้มีแนวโน้มจะถดถอยแต่อย่างใด และหากเราอ้างอิงถึงความสัมพันธ์ในอดีตของเศรษฐกิจโลก และอัตราการเติบโตของการส่งออกของไทยนั้น ก็จะพบว่าการส่งออกของไทยทั้งในปี 2554 และ 2555 น่าจะเติบโตได้ดี และหากการส่งออกของไทยยังคงเติบโตได้เช่นนั้น เชื่อได้ว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยจะยังประคองตัวไปได้ในปีหน้า
ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ต้องจับตามองในเดือน ต.ค. 2554ประเทศไทย:
3 ต.ค. กระทรวงพาณิชย์รายงานเงินเฟ้อเดือน ก.ย. 2554
13 ต.ค. ม. หอการค้ารายงานดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย. 2554
19 ต.ค. ธปท. ประชุมนโยบายการเงินครั้งที่ 7/2554
20 ต.ค. (กำหนดการเบื้องต้น) ตัวเลขส่งออก/นำเข้าเดือน ก.ย. 2554
31 ต.ค. ธปท. รายงานข้อมูลเศรษฐกิจเดือน ก.ย. 2554

สหรัฐอเมริกา:
3 ต.ค. ดัชนีภาคการผลิต (ISM Manufacturing) เดือน ก.ย. 2554
5 ต.ค. ดัชนีภาคบริการ (ISM Services) เดือน ก.ย. 2554
7 ต.ค. ข้อมูลตลาดแรงงานและการว่างงาน เดือน ก.ย. 2554
19 ต.ค. ข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.ย. 2554
19 ต.ค. ยอดการขอเริ่มสร้างบ้าน เดือน ก.ย. 2554
20 ต.ค. ยอดขายบ้านมือสอง เดือน ก.ย. 2554
26 ต.ค. ยอดขายบ้านใหม่ เดือน ก.ย. 2554
27 ต.ค. จีดีพีไตรมาส 3/2554 รายงานครั้งแรก (Advance GDP)
31 ต.ค. ดัชนีสำรวจฝ่ายจัดซื้อ (Chicago PMI) เดือน ต.ค. 2554
กลุ่มประเทศยุโรป:
6 ต.ค. ธ. กลางยุโรป (ECB) ประชุมนโยบายการเงิน ครั้งที่ 10/2554
ญี่ปุ่น:
27 ต.ค. ธ. กลางญี่ปุ่น (BoJ) ประชุมนโยบายการเงิน ครั้งที่ 10/2554

Re: จาก 1144 เดือนสิงหา สู่916.21 กันยา

โพสต์แล้ว: เสาร์ ต.ค. 01, 2011 9:01 pm
โดย tum_H
น้ำท่วมศก.พังยับ5หมื่นล้าน จี้รัฐอัดฉีด3แสนล้านดึงจีดีพี

น้ำท่วมทั่วไทยส่งผลกระทบเศรษฐกิจหนัก หอการค้าฯประเมินความเสียหายรอบนี้ 5 หมื่นล้านบาท ตัวเลขจีดีพีหดตัว 0.5% ชี้ 2 ปี ภัยธรรมชาติสร้างความเสียหายไปแล้วแสนล้านบาท แนะรัฐเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ 3 แสนล้านบาท เพื่อเยียวยาไร่นา อุตสาหกรรม และแหล่งท่องเที่ยว ส่วนระยะยาวต้องเดินหน้าแผนเพิ่มรายได้นโยบายประกัน อัดฉีดกองทุนหมู่บ้านและพัฒนา 25 ลุ่มน้ำให้เร็วที่สุด


สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศยังคงวิกฤตและไม่มีวี่แววจะคลี่คลาย ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดน้ำท่วมฉับพลันในอีกหลายจังหวัด ซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายยิ่งขึ้น เมื่อกรมชลประทานประกาศแจ้งเตือนการเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ที่ปัจจุบันมีปริมาตรน้ำถึง 267 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 102 ของความจุอ่างทั้งหมด

จากนั้นเพียงไม่ถึง 6 ช.ม. ระดับน้ำในแม่น้ำปิงได้ล้นตลิ่งเข้าท่วมตัวเมืองเชียงใหม่ทันที โดยระดับน้ำที่สถานี P.1 สะพานนวรัฐวัดได้ 4.74 เมตร หรือสูงกว่าตลิ่ง 1.04 เมตร เกิดน้ำท่วมในเขตเทศบาลทันที และน้ำจำนวนนี้กำลังไหลบ่าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำปิงในเขตจังหวัดลำพูน ก่อนจะไปเพิ่มปริมาตรน้ำให้กับเขื่อนภูมิพลที่จะต้องเร่งระบายน้ำลงสู่พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำท่วมยังคงส่งผลกระทบหนักต่อเนื่องไปถึง "ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" จากการเฝ้าระวังพายุไต้ฝุ่นเนสาต (NESAT) ที่เคลื่อนเข้าสู่ชายฝั่งประเทศเวียดนาม ด้านกรุงฮานอย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากเป็นบริเวณกว้างในภาคอีสาน จากปัจจุบันได้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ที่ติดกับแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลอยู่แล้ว ยิ่งพายุเข้ามาอีกจะเป็นการซ้ำเติมและเพิ่มปริมาณน้ำให้สูงขึ้นอีก

18 อ่างเก็บน้ำวิกฤตหนัก

รายงานข่าวระบุว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ล้วนมีปริมาตรน้ำเกินกว่า 100% ของความจุอ่างแล้ว อาทิ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล, แม่กวงอุดมธารา, น้ำอูน, น้ำพุง, จุฬาภรณ์, อุบลรัตน์, ลำปาว, ป่าสักชลสิทธิ์, คลองสียัด, หนองปลาไหล และประแสร์

ส่วนอ่างเก็บน้ำที่มีระดับน้ำเกินกว่าร้อยละ 90 ของความจุ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ซึ่งสัปดาห์นี้จะมีปริมาตรน้ำก้อนใหม่ไหลทบลงมาจากเชียงใหม่อีก, สิริกิติ์, กิ่วคอหมา, แควน้อยบำรุงแดน, ลำตะคอง, ลำพระเพลิง, มูลบน, ลำแซะและสิรินธร

หอการค้าชี้เสียหาย 5 หมื่นล้าน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากอุทกภัยที่มีความรุนแรงครั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าความเสียหายจะมีมูลค่ามากถึง 40,000-50,000 ล้านบาท กระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ราว 0.5% เป็นมูลค่าที่มากกว่าผลสำรวจครั้งที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม-22 กันยายน 2554 ที่พบความเสียหาย 32,419.30 ล้านบาท โดยความเสียหายครอบคลุมทั้งพื้นที่เกษตรกรรม ท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมในจังหวัดต่าง ๆ

"ช่วง 1-2 ปีนี้ภัยธรรมชาติสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่าราว 100,000 ล้านบาท กระทบต่อจีดีพี 1% ทำให้ไม่ถึง 4% ตามเป้าหมาย ซ้ำยังมีผลต่อการตั้งเป้าการเติบโตของจีดีพีในปีหน้าอีก ยิ่งรวมกับภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก ความเสียหายในไทยจะเพิ่มเป็น 2 เท่า เพราะไทยพึ่งการส่งออกกว่า 50% ของจีดีพี หากเศรษฐกิจโลกทรุด ประเทศไทยจะยิ่งแย่ จีดีพีปีหน้าอาจเหลือเพียง 2-3%" นายธนวรรธน์กล่าว

จากผลประเมินครั้งแรกพบความเสียหาย 32,419.30 ล้านบาท แบ่งเป็นความเสียหายต่อพืช 16,037.70 ล้านบาท รองลงมาเป็นสิ่งของสาธารณะ 5,872.20 ล้านบาท, ภาคการค้า 4,716.10 ล้านบาท, บ้านเรือน 1,820.30 ล้านบาท, ประมง 1,455.10 ล้านบาท, ปศุสัตว์ 1,153.90 ล้านบาท, ท่องเที่ยว 648 ล้านบาท, อุตสาหกรรม 391.8 ล้านบาท และอื่น ๆ อีก 324.1 ล้านบาท เมื่อรวมพื้นที่ภาคใต้ช่วงกลางปี 2554 ที่มีมูลค่าความเสียหายราว 26,075.3 ล้านบาทนั้น เท่ากับว่าผลกระทบใน 2 ปีนี้มีทั้งหมด 58,494.6 ล้านบาท หรือทำให้จีดีพีลดลง 0.5-0.7%

"รัฐต้องเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 300,000 ล้านบาท เพื่อ เยียวยาพื้นที่ไร่นา อุตสาหกรรมและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ หากชดเชยเร็วจะทำให้เม็ดเงินไหลกลับสู่ระบบเร็วขึ้น ถ้าช้าจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชน"

ส่วนมาตรการระยะยาว รัฐต้องเดินหน้าแผนเพิ่มรายได้เงินเดือน 15,000 บาท ค่าแรง 300 บาท และนโยบายประกันรายได้ให้เร็วที่สุด เพื่อเสริมกำลังซื้อในประเทศ และต้องให้หน่วยงานท้องถิ่น เช่น อบจ. อบต.เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ เร่งเดินหน้าโครงการกองทุนหมู่บ้านและพัฒนา 25 ลุ่มน้ำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

3 นิคมอยุธยาเตรียมรับมือ

นายนราพจน์ ทิวถนอม รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า นิคมที่เป็นจุดเสี่ยงจะอยู่ในพื้นที่พระนครศรีอยุธยา 3 นิคม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร, นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) รวมแล้วมีโรงงานอยู่ 250 แห่ง แต่ขณะนี้น้ำยังไม่ท่วม เนื่องจากนิคมใช้ถนนรอบนิคมเป็นแนวกันน้ำและก่อคันดินสูงกว่า 1 เมตร โดยมี 2 ประตูน้ำช่วยป้องกันไว้คือ ประตูระบายน้ำคลองเปรมและคลองจิก

"เราติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมปฏิบัติการป้องกันน้ำที่จะเข้าสู่นิคมได้ทันที"

ศก.เชียงใหม่สูญ 5 พันล้าน


สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงใหม่นั้น แม้ปริมาณน้ำจะเริ่มลดระดับลงแล้ว แต่หลายพื้นที่ยังคงมีน้ำท่วมขังสูง 1-2 เมตร ซึ่งจังหวัดกำลังเตรียมการฟื้นฟู เพื่อรับฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่นที่จะเริ่มในเดือนตุลาคมนี้

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ความเสียหายประเมินเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 240 ล้านบาท แต่ในเขตเมืองและเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ จะต้องสรุปอีกครั้ง

นายณรงค์ คองประเสริฐ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า หอการค้าประเมินร่วมกับทางจังหวัดคาดว่าความเสียหายด้านเศรษฐกิจมีไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท เพราะน้ำท่วมรุนแรงกว่าปี 2548 ในส่วนโรงแรมและบริการก็ถูกยกเลิกการจองไปกว่า 10-15% ส่วนโรงแรมระดับ 3-5 ดาวบนถนนช้างคลาน และถนนเจริญประเทศ ที่รับลูกค้ากลุ่มสัมมนาก็ถูกยกเลิกเช่นกัน

นายวิศว วิศวชัยวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก ประเมินว่า น้ำท่วมปีนี้ส่งผลกระทบมาก เนื่องจากน้ำท่วมนาข้าวที่ใกล้เก็บเกี่ยวกว่า 1 แสนไร่ คิดเป็นเม็ดเงินที่หายไป 800-1,000 ล้านบาท

นายสาธิต เหล่าสุวรรณ ประธานหอการค้าจังหวัดชัยนาท ระบุว่า ความเสียหายยังไม่สามารถประเมินได้ แต่รายได้ของชัยนาทกว่า 80-90% มาจากการเกษตรและนาข้าว เมื่อภาคการผลิตเสียหาย เศรษฐกิจจะยิ่งชะลอตัว

"น้ำท่วม" ดันเงินเฟ้อพุ่ง

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ประเมินผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วมยังไม่สิ้นสุด ซึ่งจะส่งผลต่อราคาสินค้าและเงินเฟ้อในระยะสั้นเท่านั้น โดยเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ส.ค.อยู่ที่ 4.29% และ 2.85% ซึ่งยังต้องติดตามว่าจะยังสูงต่อเนื่องหรือไม่ ผลสำรวจผู้ประกอบการพบว่า มีการคาดการณ์เงินเฟ้อใน 12 เดือนข้างหน้าที่อ่อนตัวลงมาอยู่ที่ 3.8% เทียบกับ 4% ในเดือนก่อนหน้า

"สถานการณ์น้ำท่วมคงกระทบต่อการบริโภคในระยะต่อไปบ้าง แต่ยังมีปัจจัยที่สนับสนุนการบริโภค ทั้งรายได้การเกษตร การจ้างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง และยังมีมาตรการภาครัฐที่ยังอยู่ในโหมดกระตุ้นเศรษฐกิจ"

นายเมธีกล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจเดือน ส.ค.มีการขยายตัวดี ภาคการผลิตและภาคเกษตรกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทั้งการลงทุนและบริโภคยังขยายตัวดีที่ 5.4% และ 8.3% ตามลำดับ

ทุบตลาดไอที Q3 วูบ 30%

นายถกล นิยมไทย ผู้จัดการประจำประเทศไทยฝ่ายธุรกิจเทคโนโลยี บริษัท โตชิบาไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า น้ำท่วมส่งผลต่อกำลังซื้อคอมพิวเตอร์ในตลาดคอนซูเมอร์เช่นกัน ประเมินว่า ช่วง 1-2 เดือนนี้ ยอดขายจะลดลง 10-30% ซึ่งดีลเลอร์ต่างจังหวัดชะลอการสั่งซื้อแล้ว ขณะที่บางรายขอยืดเครดิต 15-30 วัน

ทั้งคาดการณ์ว่า ปลายเดือนกันยายนเป็นต้นไป การแข่งขันด้านราคาจะยิ่งรุนแรง เพราะทุกค่ายจำเป็นต้องเคลียร์สต๊อก บวกกับปลายปีเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ทำให้ทุก แบรนด์ต้องจัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย

นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กล่าวว่า น่ากังวลสำหรับการทำตลาดในไตรมาส 3 เพราะฐานลูกค้าเอไอเอสมีลูกค้าต่างจังหวัดในภาคเกษตรค่อนข้างมาก ทำให้มีผลกระทบต่อการเติบโตของตลาด ซึ่งบริษัทกำลังประชุมเพื่อติดตามสถาน การณ์และรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น

Re: จาก 1144 เดือนสิงหา สู่916.21 กันยา

โพสต์แล้ว: เสาร์ ต.ค. 01, 2011 9:06 pm
โดย tum_H
รถเต็นท์หนีตายซบตลาดประมูล


มาตรการรถคันแรกพ่นพิษ เต็นท์รถมือสองดิ้นหนีตาย ล่าสุดผู้ประกอบการกว่า 2 หมื่นรายทั่วประเทศระส่ำหนัก ขายรถไม่ออกเตรียมรวมตัวกดดันรัฐทบทวนใหม่ เสนอดึงรถมือสอง เข้ามาอยู่ในระบบรถคันแรกด้วย ด้านบริษัทประมูลรถแห่ขยายช่องดึงรถมือสอง จากเต็นท์ระบายออกก่อนถูกกดราคาต่ำลงอีก บิ๊ก"สหการประมูล"เสือปืนไวต.ค.นี้เปิดพื้นที่ประมูลรถจากเต็นท์ในต่างจังหวัด จากเดิมประมูลรถที่ถูกไฟแนนซ์ยึดอย่างเดียว เชื่อจะมีรถจากเต็นท์เข้ามาเพิ่มขึ้น 20-30% ด้านคลังดึง"รถคันแรก"ทบทวนใหม่
ผลสืบเนื่องจากมาตรการรัฐกับนโยบายรถคันแรก ของรัฐบาลที่หวังจะช่วยเติมฝันคนอยากมีรถให้สมหวัง ด้วยมาตรการส่วนลดทางภาษี 100,000 บาท สำหรับผู้ที่ซื้อรถยนต์คันแรก ทำท่าจะปั่นป่วนขึ้นทุกที เมื่อรัฐบาลจะขยายความจุกระบอกสูบโดยไม่จำกัดซีซี โดยราคารถป้ายแดงจะต้องไม่เกิน 1 ล้านบาท/คันนั้นยิ่งเป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการเต็นท์รถมือสองระส่ำหนัก เพราะรถใหม่กับรถมือสองมีเพดานราคาที่แตกต่างกันไม่มาก

- เต็นท์รถดิ้นหนีตาย
นายวิทยา อนุชาชาญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิทอินเตอร์เทรด จำกัด เจ้าของเต็นท์รถรายใหญ่ย่านคลองตัน เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการเต็นท์รถมือสองทั่วประเทศที่มีมากกว่า 20,000 ราย มีรถมือสองอยู่ในระบบมากกว่า 1 ล้านคัน กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังจากรัฐบาลมีมาตรการ"รถคันแรก"ประกาศออกมาก็ทำให้ตลาดเต็นท์รถเงียบเหงาผิดหูผิดตา ไม่มีลูกค้าเดินเข้ามาที่เต็นท์อย่างคึกคักเหมือนเดิม จากที่ปกติจะมีลูกค้าเดินเข้ามาในเต็นท์รถจำนวนมากในช่วงวันศุกร์ วันเสาร์และวันอาทิตย์ จากปัญหานี้ทำให้ผู้ประกอบการเต็นท์รถมือสองทั่วประเทศ วิตกว่านับจากนี้ไปธุรกิจเต็นท์รถหลายรายจะหายไปจากระบบ จึงพร้อมใจกันรวมตัว เพื่อเปิดแถลงข่าวในโรงแรมย่านศรีนครินทร์ขึ้น ในเร็วๆนี้ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมาตรการรถคันแรกใหม่ เนื่องจากเวลานี้เต็นท์รถเกือบทั้งหมดมียอดขายรถยนต์มือสองหายไปแล้วตั้งแต่ 50-70%

- เสนอดึงรถมือสองเข้าระบบ
ทั้งนี้นอกจากจะให้รัฐบาลทบทวนมาตรการดังกล่าวแล้ว ผู้ประกอบการเต็นท์รถมือสอง จะรวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาข้อเสนอของผู้ที่ได้รับผลกระทบดังนี้ 1. หากนโยบายรถคันแรกยังเดินหน้าต่อไปก็ต้องการให้รัฐบาลนำรถมือสองเข้ามาอยู่ในระบบของการลดภาษีรถยนต์คันแรกด้วย เพื่อจะได้เกิดความเป็นธรรมต่อโครงสร้างตลาดรถยนต์ทั้งป้ายแดงและรถมือสอง ขณะที่ภาครัฐบาลก็จะได้เดินตามนโยบายประชานิยมได้อย่างทั่วถึง 2.ถ้ารัฐบาลทำตามข้อแรกไม่ได้ก็ขอให้รัฐบาลชดเชยรถยนต์ที่เต็นท์มีค้างอยู่ในสต๊อก โดยให้ปฏิบัติแบบเดียวกับที่รัฐเข้าไปชดเชยให้กับธุรกิจปั๊มน้ำมัน ที่รัฐเคยเข้าไปลดภาษีน้ำมันมาแล้วหลายครั้ง ไม่เช่นนั้นก็จะเข้าข่ายรัฐเลือกปฏิบัติ
3.ถ้ารัฐไม่สามารถทำได้ทั้งข้อ1และข้อ2 รัฐก็ควรจะลดภาษีสรรพสามิตเฉพาะรถอีโคคาร์หรือรถที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1500 ซีซี เท่านั้น ส่วนรถปิกอัพแค็บก็ให้ลดภาษีสรรพสามิตตามที่ประกาศไว้ ส่วนรถปิกอัพ2ตอนไม่เห็นด้วยที่รัฐจะใช้มาตรการรถคันแรกเพราะเป็นรถที่มีซีซีสูง และไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการจะมีรถคันแรก

- หวั่นสูญเงินเกินแสนล.
อย่างไรก็ตามขอให้รัฐบาลรีบตัดสินใจในความชัดเจนของนโยบายรถคันแรกให้เร็วที่สุด หลังจากในระหว่างนี้ยังเกิดความสับสน และไม่ชัดเจนอยู่ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่รัฐบาลยังตอบคำถามไม่ได้ว่าจะป้องกันการสวมสิทธิ์อย่างไร และจะป้องกันการโอนลอยอย่างไร นอกจากนี้นโยบายรัฐครั้งแรกระบุรถที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1500 ซีซี ต่อมารัฐให้ออกมาให้ข่าวอีกว่าจะพิจารณา 1600 ซีซีด้วย แต่จะต้องเป็นรถที่มีราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท/คัน หากเป็นเช่นนี้ก็แปลว่ารัฐบาลฟังแต่เสียงค่ายรถป้ายแดงโดยที่ไม่ยอมฟังเสียงจากผู้ประกอบการรถมือสองด้วย ทั้งที่มีปริมาณรถมือสองที่อยู่ในเต็นท์รถทั่วประเทศ และเป็นรถที่ไฟแนนซ์ยึดไว้รวมถึงรถที่ซื้อมาและขายไปที่ไม่ได้อยู่ในรูปของเต็นท์รถรวมกันแล้วมีมากกว่า 1 ล้านคัน
สำหรับทางออกของบริษัท วิทอินเตอร์เทรด จำกัด ในช่วงที่ได้รับผลกระทบในระยะสั้นนี้จะใช้กลยุทธ์ดาวน์ต่ำ ขายรถถูกลงตั้งแต่ 40,000-50,000 บาท/คัน สำหรับรุ่นที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1500 ซีซี และถ้าเป็นเครื่อง1600 ซีซี ก็จะลดลงตั้งแต่ 50,000-60,000 บาท/คัน และจะให้ดาวน์ต่ำ 0% จากเดิมรถมือสองจะให้ดาวน์ตั้งแต่ 5-10%
"น่าเป็นห่วงนโยบายรถคันแรกของรัฐบาล เพราะรัฐบอกว่าใช้งบประมาณในวงเงินไม่เกิน30,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลไม่ได้มองว่าเงินที่เชื่อมโยงกับไฟแนนซ์ กับเต็นท์รถ และกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่าง กลุ่มอู่เคาะ พ่นสีรถ อุปกรณ์รถ ตรงนี้รวมกันแล้วเสียหายมากกว่าโดยในระยะ 1 ปีที่มีมาตรการรถคันแรกคาดว่าจะสูญเสียเม็ดเงินไปเกิน 100,000 ล้านบาท"

- บริษัทประมูลเด้งรับรถเต็นท์
ด้านนายเอกพิทยา เอี่ยมคงเอก กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทสหการประมูล จำกัด กล่าวว่าในช่วงที่รัฐบาลเดินมาตรการรถคันแรกยอมรับว่าผู้ประกอบการเต็นท์รถต่างได้รับผลกระทบทำให้สหการประมูลสนใจที่จะช่วยเต็นท์รถระบายรถในสต๊อกออกมาโดยผ่านการประมูลโดยบริษัทสหการประมูลฯจะได้หัวคิวหรือค่าธรรมเนียมและค่าดำเนินการประมูลคันละ 7,000 บาท/คัน และเต็นท์รถจะได้กำไรลดลงจากที่เคยขายเองได้กำไรประมาณ 20% ก็จะลงมาเหลือประมาณ 10% ซึ่งจะได้กำไรลดลงแต่ก็ยังดีกว่ารถแช่อยู่ในเต็นท์และราคาต่ำลงไปเรื่อยๆ โดยสหการประมูลจะเปิดให้เต็นท์รถเอารถมาขายผ่านในลักษณะประมูลรถ และสหการประมูลจะมีสินเชื่อให้คนที่มาซื้อรถด้วย
อย่างไรก็ตามบริษัทสหการประมูลฯมีโครงการจะเปิดประมูลทั่วประเทศในเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป โดยพื้นที่สหการประมูลในต่างจังหวัดจะเปิดให้รถจากเต็นท์รถมือสองเข้ามาประมูลด้วย จากเดิมในพื้นที่ต่างจังหวัดจะประมูลรถที่ถูกไฟแนนซ์ยึดมาเท่านั้น ส่วนในพื้นที่การประมูลที่สำนักงานใหญ่เหน่งจ๋ายและที่สหการประมูล รังสิตคลอง8 2 แห่งนี้จะเป็นรถที่มาจากเต็นท์รถมือสองเพียง 10% และ80-90% เป็นรถที่ไฟแนนซ์ยึดมา ,รถผู้บริหารและรถเช่าเข้ามาประมูล และเชื่อว่าในระยะ 1 ปีที่มีนโยบายรถคันแรกออกมาจะทำให้เต็นท์รถแห่เข้ามาโดยผ่านการประมูลเพิ่มขึ้นจาก10% เป็น 20-30% "

- ระบายสต๊อกก่อนราคาร่วง
นายเอกพิทยากล่าวอีกว่าขณะนี้รถมือสองจะมีราคาถูกลงตั้งแต่ 5-10% โดยส่วนหนึ่งมาจากที่ทุกไตรมาสสี่ของแต่ละปีจะมีการปรับราคารถลงมาเพื่อที่ว่าเตรียมตีราคารถมือสองในปีถัดไป แต่ปีนี้มีเหตุผลอื่นประกอบเพิ่มเข้ามาอีก เช่น กรณีปัญหาน้ำท่วม ทำให้เจ้าของรถบางรายต้องการขายรถทิ้ง ขณะที่รัฐบาลก็เดินมาตรการรถคันแรกทำให้รถมือสองถูกลงกว่าเดิม โดยลดราคาลงมาแข่งขันกับรถป้ายแดง รวมถึงจะมีรถโมเดลใหม่เข้ามา เต็นท์รถมือสองจึงรีบระบายรถเก่าออกมาก่อน ซึ่งปัจจุบันจะมีรถเก่าหรือรถมือสองที่อยู่ในระบบรวมทั้งสิ้นประมาณ 1.8 ล้านคัน จำนวน 1ใน3 หรือ 1ใน4 จะอยู่ในเต็นท์รถ ขณะที่ยอดขายรถใหม่ป้ายแดงของไทยมีปริมาณปีละ 700,000-800,000 คัน หรือคิดเป็น 30% ของปริมาณรถมือสอง โดยในปีที่ผ่านมา มีรถมือสองผ่านสหการประมูล 40,000 คัน สหการประมูล มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด ประมาณ 65% อันดับสอง แอพเพิล จากญี่ปุ่น ส่วนแบ่งตลาด 20% อันดับสาม แมนไฮมม์ จากอเมริกา ส่วนแบ่ง 10% อันดับสี่จะเป็นแบรนด์อื่นๆ ประมาณ 5%

- แอพเพิลจ่ออัดแคมเปญแรง
นายเชาวลิต กาญจนนท์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ประมูลรถยนต์ กล่าวถึงการปรับตัวของแอพเพิล ได้มีการเตรียมกลยุทธ์เพื่อรองรับกับนโยบาย ด้วยการจับมือกับสถาบันการเงิน-ไฟแนนซ์ต่างๆ เพื่อจัดทำแคมเปญและข้อเสนอทางการเงิน อาทิ ลดต้นลดดอก โดยคาดว่าจะได้เห็นแคมเปญดังกล่าวในช่วงเดือนตุลาคมนี้ นอกจากนั้นแล้วก็จะมีการนำรถออกไปประมูลนอกสถานที่มากขึ้น มีการตกแต่งรถให้มีสภาพดี ลดราคาลงมา และทำแคมเปญแรงๆเพื่อดึงดูดผู้บริโภค และคาดว่าในอนาคตลูกค้าจะได้เห็นข้อเสนอทางการเงินอาทิ ดอกเบี้ย 0% จากเดิมที่ดอกเบี้ยรถมือสองจะอยู่ที่ประมาณ 4.6% และมีการแจกกิฟต์เวาเชอร์เพื่อกระตุ้นทั้งลูกค้าที่มาร่วมประมูลรถ รวมไปถึงลูกค้าที่นำรถเข้ามาจำหน่ายกับแอพเพิลก็จะได้รับสิทธิเช่นเดียวกัน โดยปัจจุบันแอพเพิลมีช่องทางในการนำรถเข้ามาประมูล 4 รูปแบบคือ 1.จากสถาบันการเงิน คิดเป็น 60% 2.บริษัทรถเช่า 20% 3.เต็นท์รถทั่วไป มากกว่า 10% 4.ลูกค้าทั่วไป 9-10%

- นำรถเต็นท์ประมูลไม่คุ้ม
ด้านนายประเสริฐ ไตรมณีพงศ์ ผู้จัดการเต็นท์รถพีเอ็มคาร์เซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวว่า มีประสบการณ์ในธุรกิจขายรถมือสองมา 16 ปี ที่ผ่านมาขายรถได้ต่อเดือน 17-18 คัน พอนโยบายรถคันแรกออกมาขายรถได้ไม่ถึง10 คัน ส่วนที่มีบริษัทประมูลรถออกมาเสนอตัวเปิดช่องให้มีการนำรถเต็นท์ไปผ่านการประมูลนั้น
ผู้ประกอบการเต็นท์รถส่วนใหญ่ไม่หวังกับการขายผ่านการประมูลมากเพราะจะขาดทุนค่าดอกเบี้ย ขาดทุนกำไร ซึ่งอาจจะไม่คุ้มเพราะมีค่าโอน ค่าขนย้าย แต่ผู้ประกอบการเต็นท์รถบางรายที่มีสายป่านสั้นก็อาจจะสนใจเนื่องจากไม่ต้องการให้เงินมาจมอยู่นาน จึงยอมได้กำไรเล็กน้อยดีกว่าขาดทุนจึงนำรถจากเต็นท์ไปขายผ่านระบบการประมูล
"มาตรการรถคันแรกกำลังจะกลายเป็นปัญหาสังคม ยิ่งถ้าให้มีการดาวน์ถูก ก็ยิ่งทำให้เกิดปริมาณรถที่ถูกยึดมากขึ้น เพราะจะมีเด็กที่เพิ่งเรียนจบใหม่ต้องการถอยรถใหม่ สุดท้ายก็แบกภาระไม่ไหวก็กลายเป็นภาระของรัฐบาล เป็นเงินภาษีของประชาชนที่ถูกนำไปละเลง"

-ดึง"รถคันแรก"ทบทวนใหม่
อย่างไรก็ตามจากปัญหาดังกล่าว ล่าสุดนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งถอนวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อทบทวนเรื่องมาตรการคืนเงินรถคันแรกที่ให้กรมสรรพสามิตได้กลับไปทบทวนมาตรการดังกล่าวใหม่
ทั้งนี้ ที่ต้องถอนวาระกลับมาพิจารณาใหม่ เนื่องจากไม่ต้องการให้สิทธิกับรถประกอบในต่างประเทศ และมี 2-3 เรื่องที่จะแก้ไขเพิ่มเติม ทั้งเรื่องรถยนต์นำเข้า รุ่น ขนาด การผ่อนไฟแนนซ์ รวมถึงเรื่องเงินบางส่วน และไม่ควรจำกัดทางเลือก เรื่องรุ่นแหล่งที่มาและขนาด
"เนื่องจากไม่ต้องการที่จะให้สิทธิกับรถยนต์ที่ประกอบในต่างประเทศ เพราะต้องการสนับสนุนผู้ผลิตรถยนต์ที่มีการตั้งโรงงานผลิตและประกอบในประเทศมากกว่าที่จะเปิดทางให้รถประกอบนอกเข้ามาให้ได้รับการสนับสนุนด้วย"
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เหตุผลที่กระทรวงการคลัง ยังไม่มีการนำเสนอรายละเอียดและเงื่อนไขเพิ่มเติมตามโครงการรถยนต์คันแรกเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวานนี้ เป็นเพราะเอกสารและข้อมูลยังไม่ครบถ้วนเพียงพอที่จะให้ครม. สามารถสรุปรายระเอียดที่ชัดเจนได้ในขณะนี้ จึงต้องกลับไปทบทวนใหม่ แต่คาดว่าน่าจะนำเสนอเข้า ครม.ในสัปดาห์หน้า


จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,674
29 กันยายน - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554

Re: จาก 1144 เดือนสิงหา สู่916.21 กันยา

โพสต์แล้ว: เสาร์ ต.ค. 01, 2011 9:10 pm
โดย tum_H
ผนึกกู้วิกฤติ'หุ้น' เสนอรัฐ7ข้อสร้าง'ภูมิคุ้มกัน'


เหตุการณ์"จันทร์ทมิฬ"หรือตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2554 โดยดัชนีลงไปลึกหลุด 900 จุด ไปอยู่ที่ 867.86 จุด ลดลงถึง 90.3 จุด หรือ 9.42%
ท่ามกลางฝุ่นตลบในวันดังกล่าวได้เห็นความพร้อมเพรียงของหน่วยงานในตลาดทุนกับการกู้วิกฤติ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียน หรือสมาคมบจ. ส่วนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)นั้น ยังมีข้อกังขากันอยู่กับกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET)ปิดการซื้อขายไป 3-4 นาที หลังดัชนีปรับตัวลง 9.42 % ยังไม่ถึงจุดที่จะต้องใช้มาตรการปิดการซื้อขายชั่วคราว เป็นเวลา 30 นาที หรือ เซอร์กิตเบรกเกอร์ กรณีที่ดัชนีปรับตัวลง 10 %
และที่ต้องปรบมือให้แรง ๆ คือ การแสดงบทบาทของสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ที่มี "ไพบูลย์ นิลินทรางกูร"กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ทิสโก้ จำกัด ที่ในวันดังกล่าวได้บุกห้องผู้สื่อข่าวตลาดหลักทรัพย์ฯเพื่อแถลงข่าว สำทับด้วยการออกแถลงการณ์ของสภา
เช่นเดียวกับ"ชนินท์ ว่องกุศลกิจ"นายกสมาคมบจ. ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรปในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนในไทยไม่มาก และน้อยกว่าวิกฤติเศรษฐกิจ ต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 เนื่องจากผู้บริหารแต่ละบริษัทได้มีการเตรียมตัวรับมืออยู่แล้ว รวมทั้งหนี้สินจากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนของไทยอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เฉลี่ยอยู่ที่ 1 เท่า และตลาดส่งออกของไทยได้เปลี่ยนมาตลาดเอเชียมากขึ้น จากตัวเลขส่งออกในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาก็ยังมีการเติบโตกว่า 30%

สำหรับแถลงการณ์ของสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ระบุว่าตลาดทุนโลกมีแนวโน้มที่จะยังคงเผชิญกับภาวะความผันผวนที่รุนแรงไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากนักลงทุนยังคงขาดความเชื่อมั่นในมาตรการแก้ปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะในกลุ่มยูโรโซน ซึ่งที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหามักจะอยู่ในรูปแบบของการซื้อเวลา หรือ การแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้ามากกว่าที่จะเป็นการออกมาตรการแบบเบ็ดเสร็จ ที่จะสามารถทำให้วิกฤติจบลงได้ การที่วิกฤติยังคงลุกลามไปยังสเปนและอิตาลี สองประเทศที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจแข็งแกร่งกว่า กรีซ โปรตุเกส และไอร์แลนด์ รวมไปถึงวิกฤติศรัทธา (Crisis of Confidence) ที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดทุนโลก เป็นการตอกย้ำถึงความล้มเหลวของมาตรการในช่วงที่ผ่านมา
สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือโอกาสที่วิกฤติหนี้สาธารณะในกลุ่มยูโรโซนจะบานปลายจนกลายเป็นวิกฤติการเงินโลกรอบสองเริ่มมีสูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าองค์กรที่มีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหา ยังคงเลือกที่จะดำเนินนโยบายการแก้ปัญหาในลักษณะเดิมๆ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ตลาดทุนโลกรวมถึงไทยก็คงหลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องเผชิญกับแรงขายที่รุนแรงต่อไปอีก
วิธีเดียวที่จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นจากตลาดทุนให้กลับคืน และป้องกันไม่ให้วิกฤติรอบนี้ขยายวงออกไป คือ จะต้องมีการร่วมมือกันของนานาประเทศ ไม่เพียงเฉพาะแต่ 3 องค์กรหลักของยุโรปหรือประเทศขนาดใหญ่ในยุโรปเช่น เยอรมนี หรือ ฝรั่งเศส แต่จะต้องรวมไปถึงสหรัฐฯ และประเทศที่สำคัญในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ที่ยังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดี เช่น บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน (กลุ่มบริค)คล้ายๆกับที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2008 ที่หลายๆประเทศได้ร่วมมืออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดเงินพร้อมๆกัน รวมไปถึงการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มทุนให้กับธนาคารพาณิชย์ที่อ่อนแอ

แต่ยังนับเป็นข่าวดีที่เริ่มมีข่าวออกมาว่าทางกลุ่มยูโรโซนจะมีการออกมาตรการแบบเบ็ดเสร็จในรอบนี้ โดยสิ่งแรกที่จะทำ คือ การแยกประเทศที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง เช่น สเปนและอิตาลี ออกจากประเทศที่อยู่ในสถานะล้มละลาย เช่น กรีซ ให้ชัดเจน และประกาศให้การสนับสนุนด้านสภาพคล่องอย่างเต็มที่กับทุกประเทศในกลุ่มแรก
ทางสหรัฐอเมริกาเองก็ต้องเร่งผ่านมาตรการลดการว่างงานที่เสนอโดยประธานาธิบดีโอบามาให้เร็วที่สุด เพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯกลับเข้าสู่ขาขึ้นให้ได้ ส่วนประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างกลุ่มบริค ก็ต้องหันกลับมาเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจแทนการชะลอความร้อนแรง เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจโลกไม่ให้ชะลอตัวลงมากจนเกินไป และสำหรับประเทศที่มีเงินกองทุนความมั่งคั่งของประเทศ (Sovereign Wealth Funds) ในปริมาณที่สูงก็ควรต้องสนับสนุนการเพิ่มทุนให้กับธนาคารในกลุ่มยูโรโซนที่มีระดับเงินกองทุนที่ต่ำ

ถ้าสถานการณ์พัฒนาไปในรูปแบบข้างต้นนี้ โอกาสที่จะได้เห็นตลาดทุนโลกกลับสู่ขาขึ้นอีกครั้งก็มีอยู่สูง แต่ไม่ว่าวิธีการแก้ไขปัญหาจะออกมาในรูปแบบไหน สิ่งที่ชัดเจนก็คือ เศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯและในกลุ่มยูโรโซน ก็มีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยรอบสอง เนื่องจากประเทศเหล่านี้ไม่สามารถที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็มที่เหมือนเมื่อปี 2008
ด้วยภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงขาลงครั้งใหญ่ และภาวะตลาดทุนโลกที่เต็มไปด้วยความผันผวนและแรงเทขาย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย มีความเป็นห่วงต่อผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย จึงขอเสนอ 7 ข้อต่อรัฐบาลไทย เพื่อช่วยเร่งสร้างภูมิคุ้มกัน และสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยและตลาดทุนไทย สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ ดังนี้

1. เสนอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายต่างๆที่ได้ประกาศไปช่วงก่อนการเลือกตั้งและให้มีการปรับปรุงและเรียงลำดับความสำคัญใหม่ เพื่อให้รองรับกับผลกระทบจากการชะลอของเศรษฐกิจโลกที่อาจกระทบมาถึงประเทศไทยโดยรัฐบาลอาจจำเป็นต้องเก็บงบประมาณบางส่วน เพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากเกิดวิกฤติรอบ 2
2. รัฐบาลอาจต้องทบทวนนโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต เช่น นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ เพราะการขึ้นค่าแรงในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวอาจทำให้ผู้ประกอบการเลือกลดต้นทุนการผลิตด้วยการปลดคนงาน จึงเสนอให้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป
3. เสนอให้รัฐบาลเร่งรัดการดำเนินนโยบายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากเอกชนด้วย
4. สภาสนับสนุนนโยบายลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เป็น 20% จึงขอเสนอให้รัฐบาลประกาศยืนยันนโยบายนี้อีกครั้งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจ
5. เนื่องจากมีแรงเทขายในตลาดหุ้นอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯปรับลดลงต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานมาก จึงเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนในลักษณะเดียวกันกับกองทุนวายุภักษ์ เพื่อเข้าลงทุนในบริษัทที่มีพื้นฐานดี
6. ขอเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ทบทวนนโยบายการเงิน และหากสามารถชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไปก่อน ก็จะช่วยลดความผันผวนในตลาดทุนได้
7. เสนอให้รัฐบาลรักษาวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้การขาดดุลทางการคลังและหนี้สาธารณะเพิ่มมากหรือเร็วจนเกินไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะดำเนินนโยบายต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,674
29 กันยายน - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554

Re: จาก 1144 เดือนสิงหา สู่916.21 กันยา

โพสต์แล้ว: เสาร์ ต.ค. 01, 2011 9:15 pm
โดย tum_H
งัดกลยุทธ์รับมือวิกฤติโลกธุรกิจไทยตื่นเร่งกำเงินสด

เช้าวันอังคาร (27 ก.ย.) หุ้นตลาดเอเชียเริ่มดีดกลับขึ้นมาหลังจากร่วงกราวรูดในวันจันทร์ เมื่อเจ้าหน้าที่ของอียูได้ออกมาแสดงท่าทีที่จะเร่งมือแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะ ในภาพเป็นดัชนีหุ้นนิกเกอิ 255 ของญี่ปุ่นที่ขยับขึ้น 235.82 จุดมาปิดที่ 8,609.95 จุดในช่วงกลางวัน (ภาพข่าวเอพี)คลื่นวิกฤติเศรษฐกิจโลกยังกระหน่ำไทย "ธีระชัย"ยันมาตรการการเงิน-การคลังพร้อมรับมือ ธปท.ย้ำเข้มมุ่งรักษาเสถียรภาพ ธุรกิจไทยงัดทุกกลยุทธ์รับมือ "บางจาก" ลดจ่ายเงินปันผลกอดเงินสดไว้รับมือความผันผวน"เอสวีไอ"ชะลอแผนซื้อกิจการยุโรป "ซีแวลู-ไทยฮั้ว"เลื่อนเข้าตลาดไปปีหน้า ขณะเศรษฐีเงินเย็นรอซื้อของถูกอเมริกา-ยุโรปปอีกรอบ
ภาวะปั่นป่วนจากความวิตกเศรษฐกิจโลกถดถอย ยังคงกระเพื่อมข้ามจากปลายสัปดาห์ก่อน ทั้งการดิ่งลงอย่างหนักของตลาดหุ้น ทองคำ ตลอดจนตลาดโภคภัณฑ์หลัก รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่ดัชนีตลาดปรับลดลงอย่างหนักต่อเนื่องในวันแรกของสัปดาห์นี้ ก่อนปรับตัวเป็นบวกขึ้นเล็กน้อยในวันถัดมา สะท้อนชัดถึง"วิกฤติศรัทธา"ที่นักลงทุนทั่วโลกมีต่อการแก้ปัญหาของซีกโลกตะวันตก ทั้งปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และวิกฤติหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศยุโรป ทั้งแวดวงรัฐบาลและภาคเอกชนไทยต่างปรับฝุ่น เตรียมแผนรับมือความไม่แน่นอนนี้กันถ้วนหน้านั้น

***คลังโอ่ถูกทางกระตุ้นภายใน
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้ว่า รัฐบาลเล็งเห็นปัญหาและความยากลำบากในการแก้ปัญหาของสหรัฐอเมริกาและยุโรปอยู่แล้ว จึงวางนโยบายขับเคลื่อนไทยด้วยเศรษฐกิจภายในมากขึ้น ตามที่ได้แถลงต่อสภา รัฐบาลจะเดินหน้ามาตรการเร่งด่วน 16 เรื่องต่อไปตามกำหนดการเดิม ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศ โดยติดตามการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศอย่างใกล้ชิด ประชาชนจึงไม่ควรตื่นตระหนกเกินไป
สำหรับกระสุนสำรองมีพร้อมใช้แก้ปัญหา ส่วนแรกคือ นโยบายการเงิน อัตราดอกเบี้ยได้ขึ้นมาอยู่ในระดับกลางแล้ว ฉะนั้นถ้าหากเกิดความจำเป็นยิ่งยวด ก็สามารถนำนโยบายการเงินมามาใช้รับมือได้ ส่วนที่สองคือ นโยบายการคลัง ขณะนี้มีการขับเคลื่อนการเพิ่มกำลังซื้อ เพิ่มการอุปโภคและบริโภค ส่วนการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนยังต้องหามาตรการเพิ่มเติม

***ธปท.ย้ำนโยบายการเงินดูแลเสถียรภาพ
ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. ต้องดำเนินนโยบายเพื่อป้องกันผลกระทบจากภายนอก ต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของไทยอย่างเต็มที่ โดยนโยบายการเงินยังคงต้องเป็นแกนสำคัญ สำหรับดูแลเสถียรภาพด้านราคา และในขณะเดียวกันก็ควรคำนึงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเงินด้วย ขณะที่ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับปกติมาพอสมควรแล้ว ทั้งนี้ ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ต้องเตรียมพร้อมนโยบาย เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคต
ปัจจัยที่ ธปท. ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในระยะต่อไป ประกอบไปด้วยคือ 1. ภาวะเศรษฐกิจและการเงินโลกมีความผันผวนมากขึ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีแนวโน้มเป็นปัจจัยเสี่ยง ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น 2.การดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว ว่าจะมีการใช้จ่ายงบประมาณในด้านใดและเมื่อใด และจะมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้ออย่างไร และ 3.ยังมีแรงส่งจากอุปสงค์ภายในประเทศที่จะกดดันอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นหรือไม่

***ลุ้นระทึกแผนกู้ยุโรป
ขณะที่ภาคเอกชนต่างงัดแผนเตรียมตัวเองรับภาวะผันผวนของเศรษฐกิจโลกโดยวิธีการต่าง ๆ กันแล้ว นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ชี้ว่า วิกฤติยุโรปครั้งนี้รุนแรงกว่าและแก้ยากกว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะปัญหาในยุโรปกำลังจะลามไปหลายประเทศ จึงต้องจับตาแผนฟื้นฟูที่ประเทศในกลุ่มยุโรปจะรวมตัวช่วยเหลือกันอย่างไร โดยเฉพาะการอนุมัติเงินกองทุน 4 แสนล้านยูโรจากสภา ซึ่งคาดว่าอีก 5-6 สัปดาห์นับจากนี้ไปจะเห็นความช่วยเหลือทั้งหมดที่ชัดเจน

***เตือนเกาะติด"ออร์เดอร์"
นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า วิกฤติในยุโรปครั้งนี้ผู้ประกอบการไทยเลี่ยงไม่พ้น เพราะหากพิจารณากันตามรายบริษัทแล้วพบว่า มีผู้ประกอบการที่พึ่งพาตลาดยุโรปเป็นหลักในบางสินค้า กลุ่มนี้จำเป็นต้องติดตามออร์เดอร์ของตัวเองอย่างใกล้ชิด และจากนี้ไปอาจจะต้องเผชิญกับการลดปริมาณออร์เดอร์ลง เพื่อลดความเสี่ยง
สำหรับในระยะสั้นนี้ผู้ประกอบการจะต้องใกล้ชิดกับลูกค้า เพื่อติดตามกำลังซื้อและการส่งมอบสินค้า รวมถึงติดตามตรวจสอบสต๊อกของลูกค้าอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันผู้ประกอบการจะต้องประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น

***บจ.ไทยมีหนี้ตปท.น้อย
แต่ก็มีมุมมองด้านบวก โดยนายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด(มหาชน)(บมจ.) กล่าวในฐานะนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) คาดว่า วิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรปในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนไทยไม่มาก และน้อยกว่าวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 เนื่องจากผู้บริหารแต่ละบริษัท ได้มีการเตรียมตัวรับมืออยู่แล้ว
รวมทั้งหนี้สินจากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนของไทยอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เฉลี่ยอยู่ที่ 1 เท่า และตลาดส่งออกของไทยได้เปลี่ยนมาสู่ตลาดเอเชียมากขึ้น จากตัวเลขส่งออกในเดือนสิงหาคม 2554 ก็ยังมีการเติบโตกว่า 30%
อย่างไรก็ตามนายกสมาคมบจ. คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คงมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน้อยลงแล้ว ในภาวะเศรษฐกิจโลกเกิดปัญหาเช่นนี้ เชื่อว่าภาวะเงินเฟ้อคงจะชะลอตัว

***บางจากเร่งสำรองเงินสด
อย่างไรก็ตามผู้บริหารก็เตรียมแผนรับมือแล้ว โดยนายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากปิโตรเลียม ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า บริษัทได้เปลี่ยนนโยบายจ่ายเงินปันผล จาก 50 % ของกำไรสุทธิของงบการเงินรวม เป็นไม่น้อยกว่า 30 % ของกำไรสุทธิของงบการเงินรวม จากเดิมที่จ่ายในอัตรา 50 % ของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและโครงการประกอบธุรกิจของบริษัทในอนาคต
สาเหตุที่บริษัทลดอัตราเงินปันผลจ่าย เพื่อต้องการสำรองเงินสดไว้บางส่วน เพื่อให้เพียงพอสำหรับการลงทุนและรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันและความผันผวนของราคาน้ำมัน บริษัทต้องขยายธุรกิจ โดยการปรับเปลี่ยนการลงทุนไปในธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนมั่นคงมากขึ้น ซึ่งธุรกิจใหม่ที่บริษัทได้มีแผนลงทุนนั้น จะช่วยเพิ่ม EBITDA (กำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ยจ่าย และค่าเสื่อม) ของบริษัท อีกทั้งยังเพิ่มมูลค่าที่แท้จริงให้กับหุ้นของบริษัทอย่างยั่งยืนต่อไป
อนึ่ง บมจ.บางจากได้ลงทุนทำธุรกิจโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และธุรกิจผลิตเอทานอล

***"เดลต้า"รับยอดขายหด
นายอนุสรณ์ มุทราอิศ กรรมการบริหาร บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ผู้ผลิตสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า เมื่อ 3-4 ปีก่อน บริษัทลดการส่งออกไปอเมริกา และเข้าไปลงทุนในยุโรป โดยนำชิ้นส่วนจากไทยไปผลิตสินค้าในกลุ่มเทเลคอม-การสื่อสาร ซึ่งถูกทางแล้ว เพราะขณะนี้ยุโรปเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ กำลังซื้อส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นสินค้าที่ผลิตในประเทศยุโรปก่อน
"เดลต้าต้องปรับฐานการส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลีย และอาเซียนมากขึ้น ยอมรับว่าขณะนี้ยังมองทิศทางตลาดโลกไม่ออก เพราะทำธุรกิจในยุโรป มีเงินก็ไม่รู้ว่าจะไปเก็บไว้ที่ไหน สถาบันการเงินก็ร่อแร่ ต้องไปหาวิธีนำเงินไปทำกำไรในรูปแบบอื่นแทน คาดว่าในปี 2554 ยอดขายรวมของเดลต้า อาจจะขยายตัวเพียง 15% ถือว่าเติบโตขึ้นแต่ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 20 % เล็กน้อย จากปี 2553 ยอดขายรวมยืนอยู่ที่ประมาณ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ"

***ชะลอซื้อกิจการยุโรป
ส่วนนายพงษ์ศักดิ์ โล่ห์ทองคำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอสวีไอ ผู้ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า บริษัทจะชะลอแผนการซื้อกิจการในยุโรป ออกไปอีก 3-6 เดือน หลังจากที่กลุ่มประเทศยุโรปประสบวิกฤติหนี้สาธารณะ เพื่อรอดูสถานการณ์ก่อน เกรงว่าหากเข้าไปซื้อกิจการในช่วงนี้ อาจได้ราคาแพง เนื่องจากราคาที่จะเข้าซื้อจะต้องประเมินงบการเงินย้อนหลัง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่สะท้อนถึงมูลค่าของกิจการที่แท้จริงในสถานการณ์ปัจจุบัน
"ขอรอดูสถานการณ์ให้นิ่งก่อน ส่วนกิจการที่เอสวีไอจะซื้อ มีขนาดประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 9,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะใช้เงินเพื่อซื้อกิจการในครั้งนี้ 100-150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3,000-4,500 ล้านบาท"
ด้านนายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.หลักทรัพย์(บล.)ภัทร กล่าวว่า ลูกค้าของบริษัทที่สนใจซื้อกิจการต่างประเทศ คงยังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบาย แต่กลับมองเป็นโอกาสในการมองหาธุรกิจที่ดี แต่มีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน
ทั้งนี้ เอกชนในประเทศไทยมีศักยภาพมาก แต่ยังมีเพียงบางกลุ่มที่กล้าเดินหน้าขยายธุรกิจในต่างประเทศ อาทิ พลังงาน ปิโตรเคมี และกลุ่มอาหาร เป็นต้น ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากเอกชนไทย ยังเน้นการเติบโตแบบพอเพียง หรือเติบโตในประเทศเท่านั้น ไม่กล้าเริ่มขยายตลาดต่างประเทศ

**เศรษฐีไทยรอราคาลงอีกรอบ
เช่นเดียวกัน แหล่งข่าวจากที่ปรึกษาการลงทุนกล่าวว่า รอบนี้เศรษฐีไทยยังสนใจลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ในยุโรป-อเมริกา แต่ขอรอถึงช่วงปลายปีนี้เพื่อดูความชัดเจนในการช่วยเหลือกลุ่มประเทศยุโรป อาทิ ในเดือนตุลาคมนี้ประเทศกรีซ จะสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ ส่วนราคาสินทรัพย์ที่น่าลงทุน มีทั้ง หุ้น อสังหาริมทรัพย์ และตราสารหนี้ ซึ่งราคาอาจปรับลงอีกรอบ
โดยอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอพาร์ตเมนต์ ในอังกฤษ ราคาที่น่าสนใจอยู่ที่ระดับ 40 ล้านบาทต่อยูนิต ขึ้นไป ส่วนในสหรัฐฯย่านเศรษฐกิจอย่าง นิวยอร์ก ลอสแองเจลีส หรือแอลเอ ก็มีเศรษฐีไทยเริ่มสนใจหาอสังหาริมทรัพย์เช่นกัน
อย่างไรก็ตามกลุ่มเศรษฐีที่สนใจลงทุนในต่างประเทศยังรอดูทั้งค่าเงินในประเทศที่ลงทุน เช่น ประเทศอังกฤษ ค่าเงินปอนด์ก็มีแนวโน้มปรับลงอย่างต่อเนื่องจากต้นปี ที่ปรับลงมาแล้วจาก 50 บาทต่อปอนด์เป็น 47 บาทต่อปอนด์ เป็นต้น

***ส่งออกชะลอแผนเข้าตลาดหุ้น
ด้านความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจส่งออกพบว่า ได้ชะลอแผนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว หลังตลาดหุ้นผันผวนแรง โดยนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการบริหาร
บมจ.ซีแวลู ผู้ผลิตและส่งออกทูน่ากระป๋องรายใหญ่ กล่าวว่า ผลกระทบจะลามมาถึงญี่ปุ่นด้วย ค่าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้นและส่งออกได้น้อยลง ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวช้าลง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นผู้ลงทุนและให้เงินกู้ยืมรายใหญ่แก่ยุโรปตามได้ด้วย ที่จะกระทบต่อประเทศไทยคือ การส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้จะชะลอตัวลง นักท่องเที่ยวจากยุโรปจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวน้อยลง เนื่องจากประชาชนและข้าราชการ จะถูกตัดทอนเงินสวัสดิการ และบำนาญต่าง ๆ ลง
ในส่วนของบริษัท แผนการนำซีแวลูเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องเลื่อนออกไปเป็นปีหน้า จากเดิมที่คาดว่าเป็นปีนี้ รวมถึงกำลังซื้อในตลาดต่างประเทศที่ลดลง สวนทางกับราคาวัตถุดิบปลาทูน่า ที่ปรับสูงขึ้นมากในเวลานี้ "เราคงต้องปรับลดไซซ์ ลดขนาดสินค้าเพื่อตรึงราคาเอาไว้"
เช่นเดียวกับนายหลักชัย กิตติพล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยฮั้วยางพารา กล่าวว่า บริษัทได้ชะลอแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกไปเป็นปีหน้า จากเดิมที่คาดว่าจะเข้าซื้อขายในปีนี้ อย่างไรก็ดีจะรอดูสถานการณ์อีกครั้ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,674
29 กันยายน - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554

Re: จาก 1144 เดือนสิงหา สู่916.21 กันยา

โพสต์แล้ว: เสาร์ ต.ค. 01, 2011 9:18 pm
โดย tum_H
รูปภาพ





:idea:

Re: จาก 1144 เดือนสิงหา สู่916.21 กันยา

โพสต์แล้ว: จันทร์ ต.ค. 03, 2011 12:36 am
โดย sci
tum_H เขียน:รูปภาพ





:idea:

ไม่เข้าใจครับ หมายถึงอะไร

Re: จาก 1144 เดือนสิงหา สู่916.21 กันยา

โพสต์แล้ว: จันทร์ ต.ค. 03, 2011 1:16 am
โดย CheNz
sci เขียน:
tum_H เขียน:รูปภาพ





:idea:

ไม่เข้าใจครับ หมายถึงอะไร
กราฟกระจกเงาแสดงภาพสะท้อนความจริงครับ :mrgreen:

รายยุ่ยกับต่างชาติ เหมือนเทวากับซาตาน

รายยุ่ยซื้อฝรั่งขาย รายยุ่ยขายฝรั่งซื้อ