สตีฟ จ๊อป

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
humdrum
Verified User
โพสต์: 1961
ผู้ติดตาม: 0

สตีฟ จ๊อป

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ผมขอไว้อาลัยให้สตีฟ จ๊อปครับ
หยุดเขียน 1 นาทีครับ



...................................


ผมอ่านไทยรัฐวันนี้เห็นประโยคที่จ๊อป บอกว่า" ชีวิตนี้สั้นนัก อย่าใช้ชีวิตของคนอื่น"

ผมก็สงสัยว่าจะเขียนบทความเกี่ยวข้องกับประโยคนีในมุมมองของนักลงทุนสายโซรอสได้หรือไม่

ผมจะลองดูครับ เผื่อว่ามีมุมมองที่ต่างออกไปบ้างครับ

ผมก็สงสัยอยู่ดีว่าผมจะสามารถเขียนประโยคนี้ในแบบกว้างๆ ได้หรือไม่ครับ ผมเห็นด้วยครับกับประโยคที่จ๊อปพูดว่าอย่าใช้ชีวิตตามคนอื่นครับ เนื่องจาก "สิ่งที่เราคิดว่าควรเป็น" ของแต่ละคนนั้นจะแตกต่างกันไป แล้วในแต่ละชั่วโมง ในแต่ละวัน ในคนคนเดียวกัน "สิ่งที่ควรเป็น" ในใจของแต่ละบุคคลมันยังเปลี่ยนแปลงได้ตลอกเวลาอีกด้วย

ผมคิดว่าผมเข้าใจมุมมองของสตีฟจ๊อปบ้างเล็กน้อย สิ่งที่จ๊อปพยายามบอก คือ ชีวิตของสตีฟจ๊อปไม่ใช่ชีวิตโดยทั่วๆ ไปที่คนอื่นจะเอาไปเป็นแบบอย่างได้เลยทีเดียวแบบสำเร็จรูปเหมือนม่าม่า ถึงเอาไปเป็นแบบอย่างได้นะครับ อย่างคำพูดดังๆ ของเขา เช่น "stay hungry stay foolish" ก็ต้องปรับมาใช้ให้สมเหตุและผลตามลักษณะเฉพาะของชีวิตคนคนหนึ่งและที่สำคัญตามช่วงเวลาในขณะหนึ่งที่คนคนนั้นประสบพบเจออีกด้วย


การมองแบบกว้างๆ แบบนี้ เหมือนน้องท่านหนึ่งที่ถามทางอีเมลว่า "หลักการข้อไหนของโซรอสที่เยี่ยมยอดที่สุด"

ผมตอบว่า "ไม่มี" หลักการลงทนแบบโซรอสที่ดีที่สุดไม่มีครับ ยกเว้นการลงทุนที่ดีที่สุดในสถานการณ์เฉพาะอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงเวลาขณะหนึ่งเท่านั้น และต้องถามว่า บุคคลิกภาพพิเศษของ "ตลาด" ในวันนั้นเป็นอย่างไรอีกด้วย

นักลงทุนหรือไม่นักลงทุน ผมว่าก็ไม่ควรแสวงหา "สิ่งที่ควรเป็น" ในเชิงนามธรรมที่ได้จากคำพูดของคนที่ประสบความสำเร็จโดยไม่ปรับใช้กับตนเอง

ทุกท่านมี "สิ่งที่ควรเป็น" จำเพาะบางอย่างในชีวิตเพื่อดำเนินให้ชีวิตของท่านลุล่วงตามเป้าหมายที่วางไว้ ใครๆ ก็ไม่สามารถแทนที่คนคนนั้นได้ ไม่มีทางที่ชีวิตใครจะซ้ำรอยชีวิตของคนคนหนึ่ีงได้

การตั้งปุจฉาตัวเองถึง "สิ่งที่ควรเป็น"น่าจะกลับกันคนละมุมมองมากกว่า ต้องถามว่า.....


ถ่้าไม่ได้ตั้งความคาดหวังถึง "สิ่งที่ควรเป็น" แล้ว ท่านจะตัดสินใจอย่างไรที่แตกต่างไปจากเดิมบ้าง

ถามตัวเองว่า....

"ถ้าท่านไม่กลัวการทำผิดแล้ว ท่านจะตัดสินใจแตกต่างไปจากนี้อย่างไรบ้าง"


ซึ่งท่านจะตอบได้ก็โดยการใช้ความกล้าหาญในเผชิญกับ "ความจริง" ทุกวินาทีในชีวิตตอบคำถามตัวเองนั้นได้เท่านั้นครับ

สตีฟจ๊อปจากไปแล้วครับ ผมจะคิดถึงเขามาก สิ่งที่เขาทิ้งไว้สั้นๆ stay hungrry stay foolish ไม่ได้สำคัญที่สุดสำหรับผม แต่อยู๋ที่การประจักษ์ในการเอาชนะ "สิ่งที่ควรเป็น" ในตัวเขาเอง และกล้ายอมรับ "ความจริง" ที่เขากำลังได้รับ และ ไม่น่าเชื่อว่าเขายังให้ความหมายความทุกข์ทรมานใจที่เขาได้รับจากโรคร้ายและเปลี่ยนมันเป็นทัศคติไปในทางสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่

คนทั้งโลกจะไม่มีวันผู้ชายคนนี้ครับ

สวัสดีครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
Ii'8N
Verified User
โพสต์: 3682
ผู้ติดตาม: 0

Re: สตีฟ จ๊อป

โพสต์ที่ 2

โพสต์

+1 กับบทความครับ



จ๊อบรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งตั้งแต่ก่อนสุนทรพจน์นี้ (stay hungry stay foolish)
ตอนนั้น ยังทำให้ไม่ลุกลามได้
จาก youtube stanford คนดู 8 ล้าน
ภาพประจำตัวสมาชิก
Ii'8N
Verified User
โพสต์: 3682
ผู้ติดตาม: 0

Re: สตีฟ จ๊อป

โพสต์ที่ 3

โพสต์

มีคนแปลไทยให้

http://www.yimtamphan.com/?p=426

สุนทรพจน์ของสตีฟ จ็อปส์ (Steve Jobs) “คุณต้องค้นหาสิ่งที่คุณรักให้พบ” (You’ve got to find what you love)



สวัสดีครับ วันนี้ได้มีโอกาสอ่านหนังสือชื่อว่า “วิชาสุดท้าย ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน” เป็นหนังสือที่รวบรวมสุนทรพจน์ที่บุคคลชั้นแนวหน้าของอเมริกากล่าวแด่นักศึกษามหาวิทยาในวันรับปริญญา บทความแรกเป็นสุทรพจน์ของสตีฟ จอปส์ พอได้อ่านผมก็นึกถึงบทความบทความ ๆ หนึ่งซึ่งได้อ่านเมื่อนานมาแล้ว วันนี้จึงตั้งใจนำมาฝากกัน (หรือเรียกสั้น ๆ ว่าก็อปนั่นเอง ^^)



“คุณต้องค้นหาสิ่งที่คุณรักให้พบ”

นี่เป็นสุนทรพจน์ที่กล่าวในงานรับปริญญาโดยสตีฟ จ็อปส์ CEO ของ Apple Computer และ Pixar Animation Studios เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2005 ที่ผ่านมา

ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้มาร่วมงานกับทุกคนวันนี้ในงานรับ ปริญญาของมหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดในโลก ผมไม่เคยเรียนจบสูงขนาดนี้ มันเป็นความสัตย์จริง นี่เป็นระดับสูงที่สุดที่ผมสำเร็จจากสถาบันอุดมศึกษา วันนี้ผมอยากจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของผมให้ฟังสัก 3 เรื่อง ไม่มีอะไรมาก แค่เรื่อง 3 เรื่อง

เรื่องแรกเป็นเรื่องของการเชื่อมต่อเรื่องราวต่างๆ

ผมตัดสินใจหยุดเรียนชั่วคราวหลังจากเข้าเรียนที่ Reed College ได้ประมาณ 6 เดือน แต่ก็ยังไปเรียนอยู่ประมาณ 18 เดือนก่อนที่จะลาออกจริงๆ ทำไมผมถึงเลือกที่จะหยุดเรียนชั่วคราวหล่ะ?

เรื่องมันเริ่มตั้งแต่ผมเพิ่งลืมตามาดูโลกนี้ แม่บังเกิดเกล้าของผมขณะนั้นอายุยังน้อย ยังไม่ได้แต่งงาน และยังเรียนหนังสือระดับอุดมศึกษาอยู่ ท่านก็ตัดสินใจที่จะพาผมไปฝากเลี้ยงไว้สักที่หนึ่ง ท่านมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าว่าต้องหาคนที่เรียนจบอุดมศึกษามาเลี้ยงดูผม ท่านจึงทำทุกอย่างให้ผมได้อยู่กับทนายความท่านหนึ่งกับภรรยาของเขาตั้งแต่ผม เกิด แต่ปรากฏว่าท่านทั้งสองต้องการลูกสาวมากกว่า จึงต้องเปลี่ยนไปเลือกครอบครัวอื่นที่อยู่ในรายชื่อ กลางดึกคืนนั้นแม่ของผมโทรไปหาและถามว่า “เรามีเด็กชายแรกเกิด คุณต้องการเลี้ยงเขาไหม?” ปลายทางตอบตกลง แต่แม่บังเกิดเกล้ามาพบทีหลังว่าแม่ใหม่ของผมไม่ได้จบระดับอุดมศึกษา แถมพ่อใหม่ของผมก็ไม่ได้จบมัธยมด้วยซ้ำ ท่านจึงไม่ยอมลงนามในเอกสารส่งตัวผม จนหลายเดือนต่อมาท่านจึงยอมเมื่อพ่อและแม่ใหม่ของผมสัญญาว่าจะส่งเสียให้ผม ได้เรียนจนถึงระดับอุดมศึกษา

17 ปีผ่านไป ผมได้เข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาจริงๆ แต่ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผม ผมเลือกที่จะเรียนในที่ที่ค่าเล่าเรียนแพงพอๆ กับ Stanford เงินเก็บของผู้ปกครองของผมที่สะสมมาต้องนำมาจ่ายเป็นค่าเล่าเรียน เมื่อผ่านไป 6 เดือน ผมไม่เห็นว่ามันจะได้อะไร ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผมต้องการอะไรในชีวิต ไม่รู้เลยว่าสถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้จะช่วยให้ผมรู้อะไรมากขึ้น และผมก็กำลังใช้เงินที่ผู้ปกครองของผมเก็บสะสมมาตลอดทั้งชีวิตของท่าน ผมจึงตัดสินใจที่จะหยุดเรียนชั่วคราว และเชื่อมั่นว่านั่นเป็นการดี ผมรู้สึกกลัวเหมือนกันขณะนั้น แต่เมื่อมองถอยกลับไป นั่นเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของผม เมื่อผมเลือกที่จะหยุดเรียนจากหลักสูตรปกติ ผมสามารถเลือกที่จะไม่เรียนวิชาที่ผมไม่สนใจ แล้วเริ่มเสาะหาที่เรียนเฉพาะวิชาที่ผมสนใจเท่านั้นพอ

มันไม่ง่ายอย่างที่คิด ผมไม่มีแม้หอพัก ผมต้องนอนที่พื้นห้องของเพื่อน ผมต้องหาขวดน้ำอัดลมเปล่าไปแลกเงิน 5 เซนต์เพื่อซื้ออาหาร ทุกคืนวันอาทิตย์ผมต้องเดินข้ามเมืองเป็นระยะทางกว่า 7 ไมล์เพื่อไปรับประทานอาหารดีๆ ที่โบถส์ Hare Krishna ผมชอบมาก และเมื่อผมได้เดินตามความอยากรู้อยากเห็นและความคิดชอบแล้ว มันเป็นประสบการณ์ที่สูงค่ายิ่งนักในเวลาต่อมา ผมจะยกตัวอย่างให้ฟังสักเรื่อง

ที่ Reed College ขณะนั้นมีหลักสูตรการออกแบบตัวอักษร (Calligraphy) ที่ดีที่สุดในประเทศ ตัวหนังสือที่พบเห็นได้อยู่ทั่วไปในที่นั่น ไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์ หรือป้ายหน้าลิ้นชัก จะเป็นตัวหนังสือสวยๆ ที่ประดิบประดอยด้วมมือ และขณะนั้นผมยังพักการเรียนอยู่ ผมไม่ต้องเข้าเรียนตามปกติ ผมจึงเลือกที่จะไปเรียนเรื่องการออกแบบตัวอักษร ผมต้องเรียนตัวอักษรทั้งแบบเซอรี (serif) และ ซอง เซอรี (san serif) การเลื่อนไหลของแบบตัวหนังสือ และการทำให้ตัวอักษรนั้นดูดีที่สุด มันสวยงาม มันน่าประทับใจ มันเป็นศิลปะในแบบที่อธิบายไม่ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ และผมตกหลุมรักมันเข้าแล้ว

นี่ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผมไฝ่ฝันว่าจะนำมาใช้ในชีวิตผม แต่สิบปีให้หลัง เมื่อครั้งที่ผมและทีมงานกำลังออกแบบเครื่อง Macintosh เครื่องแรกอยู่นั้น มันก็ผุดขึ้นในหัวของผมอีกครั้ง ผมและทีมงานจึงบรรจุมันไว้ในเครื่อง Mac ด้วย มันเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่ใช้ตัวหนังสือที่สวยงาม ถ้าผมไม่ได้เลือกเรียนวิชานั้น เครื่อง Mac ก็จะไม่มีตัวหนังสือหลายๆ รูปแบบ แถมยังมีช่องไฟที่เปลี่ยนไปตามแบบตัวอักษร (proportionally spaced fonts) ขณะที่ Windows เองก็ทำได้เพียงเลียนแบบ Mac ก็จะไม่มีคอมพิวเตอร์เครื่องไหนมีแบบนี้เลย และถ้าผมไม่ได้พักการเรียนชั่วคราว ผมก็คงจะไม่ได้เข้าเรียนวิชานั้น และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลบนโลกนี้ก็จะไม่มีตัวหนังสือสวยๆ ให้ใช้ แน่นอนว่ามันไม่อาจจะเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ ได้เลย ถ้าผมยังเรียนหนังสือแบบเดิม มันชัดเจนมากเมื่อมองย้อนกลับไปสัก 10 ปี

และเช่นกันคุณจะไม่สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวไปในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าได้เลย คุณทำได้แค่เพียงมองย้อยกลับไปในอดีต ดังนั้นคุณต้องเชื่อมั่นว่าเรื่องราวมันจะเชื่อมโยงไปถึงอนาคต คุณต้องเชื่อในบางสิ่งบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกึ๋นของคุณเอง พรหมลิขิต หรือแม้แต่กรรมของคุณ แนวคิดนี้ไม่เคยทำให้ผมท้อถอย มีแต่จะทำให้สิ่งต่างๆ มากมายเกิดขึ้นในชีวิตของผม

เรื่องที่สองเรื่องของความรักและการสูญเสีย

ผมโชคดีครับ ผมได้พบสิ่งที่ผมรักที่จะทำแต่เนิ่นๆ Woz (Steve Wozniak – ผู้แปล) และผมก่อตั้ง Apple ขึ้นในโรงรถที่บ้านของผม เมื่อครั้งผมอายุประมาณ 20 เราทำงานกันอย่างหนัก ภายในเวลา 10 ปี Apple เติบโตขึ้นจากเราแค่ 2 คนในโรงรถ เป็นบริษัทที่มีมูลค่าถึง 2 พันล้านเหรียญ กับพนักงานถึง 4000 คน เราได้เปิดตัวนวัตกรรมที่ดีที่สุด นั่นคือ Macintosh ก่อนที่ผมจะอายุเต็ม 30 ด้วยซ้ำ จากนั้นผมก็ถูกกดดันให้ลาออก ผมจะถูกไล่ออกจากบริษัทที่ผมสร้างขึ้นมาได้อย่างไร? ครั้งนั้น Apple เติบโตขึ้น เราต้องจ้างใครบางคนที่โดดเด่นพอมาบริหารบริษัทคู่กับผม ในช่วงปีแรก ทุกอย่างไปได้สวย แต่วิสัยทัศน์ของเราก็เริ่มขัดแย้งกัน และเราก็เริ่มตกต่ำ เมื่อเราเริ่มเดินหน้า คณะผู้บริหาร (Board of Directors) เห็นด้วยกับเขา ผมจึงต้องจากไป เมื่อผมอายุแค่ 30 เท่านั้น ต้องจากไปจากสังคมนี้ สิ่งที่ผมตั้งใจจะทำสำหรับชีวิตวัยทำงานของผมหายไปหมด มันแย่สุดๆ เลย

ผมไม่รู้จะทำอะไรต่อในช่วงสองสามเดือนแรก ผมรู้สึกว่าผมได้ทำให้นักธุรกิจรุ่นก่อนหน้าผมผิดหวังว่าเมื่อเขาอุตสาห์ส่ง ไม้ต่อให้แล้ว ผมดันทำมันหลุดมือไป ผมได้พบกับ David Packard และ Bob Noyce และพยายามขอโทษในสิ่งที่ผมทำพลาดไป ผมทำให้อะไรๆ มันแย่ไปหมด แต่ก็ยังมีบางสิ่งบางอย่างเริ่มทำให้ผมมีความหวัง ผมยังรักในสิ่งที่ผมได้ทำไป มันเป็นโอกาสที่ Apple ไม่เคยจะเหลียวมอง ผมถูกปฏิเสธ แต่ผมยังรักมันอยู่ ผมจึงคิดที่จะเริ่มมันใหม่อีกครั้ง

ผมยังไม่เข้าใจอะไร แต่เหมือนกับว่าการที่ผมต้องออกจาก Apple นั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นกับผม ความรู้สึกหนักใจที่จะต้องประสบความสำเร็จกลับกลายเป็นความสบายใจที่จะเป็น ผู้เริ่มต้นทำอะไรใหม่อีกครั้ง ไม่มั่นใจอะไรมากเกินไป มันทำให้ผมเข้าสู่ช่วงที่ผมได้สร้างสรรสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต

ในช่วง 5 ปีต่อมา ผมเริ่มก่อตั้งบริษัท NeXT และ Pixar แถมยังได้ตกหลุมรักผู้หญิงคนหนึ่งที่ในที่สุดก็ได้อยู่กินด้วยกัน Pixar ได้สร้าง Toy Story ภาพยนต์เรื่องแรกที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ และเป็นบริษัทในวงการที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก และในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ Apple ก็ซื้อกิจการ NeXT ผมก็กลับมาทำงานที่ Apple โดยมีเทคโนโลยีที่เราพัฒนาขึ้นที่ NeXT เป็นหัวใจสำคัญของ Apple ยุคใหม่ ส่วน Laurene และผมก็มีชีวิตครอบครัวที่วิเศษมาก

ผมค่อนข้างมั่นใจว่า ถ้าผมไม่ได้ออกจาก Apple ขณะนั้น เรื่องราวเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น มันเป็นเหมือนยาขม แต่ผมว่าคนไข้ก็ต้องการมัน บางครั้งคุณก็ถูกเขกหัวด้วยก้อนอิฐอย่างจัง อย่าเพิ่งหมดศรัทธา ผมอยากบอกว่าสิ่งเดียวที่ทำให้ผมยังเดินหน้าต่อไปก็คือผมรักในสิ่งที่ทำ คุณ ต้องค้นหาสิ่งที่คุณรักให้พบ มันสำคัญอย่างมากถ้างานของคุณเป็นไปเพื่อคนที่คุณรัก งานของคุณต้องเข้าไปเป็นส่วนสำคัญส่วนใหญ่ๆ ส่วนหนึ่งของชีวิต และทางเดียวที่จะสร้างงานที่ยิ่งใหญ่ได้คือรักในสิ่งที่คุณทำ ถ้าคุณยังหาไม่เจอ จงหาต่อไป อย่าหยุดยั้ง ด้วยแรงใจทั้งหมด คุณจะรู้เองเมื่อพบมัน มันเหมือนเรารู้จักใครสักคน มันจะดีขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อกาลเวลาผ่านไป ดังนั้นคุณต้องหาจนกว่าจะพบ อย่าหยุดยั้ง

เรื่องที่สามเป็นเรื่องเกี่ยวกับความตาย

เมื่อผมอายุราว 17 ผมได้อ่านประโยคเด็ดในทำนองว่า “ถ้าคุณใช้ชีวิต ราวกับว่าแต่ละวันนั้นเป็นวันสุดท้ายของชีวิต วันหนึ่งคุณจะสมหวัง” ผมประทับใจมาตลอด 33 ปี ทุกเช้าผมจะมองกระจกและถามตัวองว่า “ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้าย ผมอยากทำอะไร และวันนี้ผมจะทำอะไร ?” และเมื่อใดที่คำตอบกลับมาว่า ไม่อยากทำอะไร หลายๆ วันเข้า คุณต้องรู้แล้วว่าคุณต้องเปลี่ยนแปลงบางอย่างในชีวิตแล้ว

การใช้มรณานุสติเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ผมตัดสินใจเรื่อง ใหญ่ของชีวิต เพราะสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังจากผู้คนทั้งหลาย เกียรติยศชื่อเสียงทั้งปวง ความกลัวที่จะเสียหน้าหรือกลัวที่จะล้มเหลว มันก็จะหายไปเมื่อเราตาย เหลือไว้เพียงเรื่องที่สำคัญจริงๆ มรณานุสตินี่เองที่จะช่วยให้คุณหลบหลีกกับดักทางความคิดที่ว่าคุณไม่อยากจะ สูญเสียอะไร จริงแล้วคุณไม่มีอะไรติดตัวเลย จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่คุณจะไม่ทำอะไรตามที่ใจคุณต้องการ

เมื่อปีที่แล้วผมตรวจสุขภาพพบว่าเป็นมะเร็ง ผมเข้ารับการตรวจประมาณ 7 โมงครึ่ง และผลออกมาชัดเจนว่ามีเนื้อร้ายที่ตับอ่อนของผม ผมไม่รู้แม้กระทั่งว่าตับอ่อนคืออะไร คุณหมอบอกกับผมว่ามะเร็งชนิดนี้รักษาไม่หาย และผมจะอยู่ได้ไม่เกินสามถึงหกเดือน คุณหมอแนะนำว่าให้กลับบ้านแล้วสะสางเรื่องส่วนตัวให้เรียบร้อย เหมือนเป็นสัญญาณให้ผมเตรียมตัวตาย มันดูเหมือนจะให้ผมเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่ผมคิดไว้สำหรับ 10 ปีจากนี้ไปให้เด็กๆ ฟังให้หมดภายในสองสามเดือน มันเหมือนว่าให้เตรียมทุกอย่างให้พร้อมสำหรับครอบครัวของคุณ มันเหมือนให้เตรียมที่จะลาจากไป

ผมครุ่นคิดแต่เรื่องผลการตรวจตลอดทั้งวัน ในช่วงเย็นวันนั้น ผมต้องตัดชึ้นเนื้อไปตรวจ โดยการสอดกล้องเข้าทางปาก ผ่านคอไปยังกระเพาะและลำไส้ จากนั้นก็ใช้เข็มเจาะเข้าที่ตับอ่อนเพื่อเอาตัวอย่างเนื้อเยื่อจากเนื้อร้าย นั้น ผมรู้สึกสงบนิ่ง แต่ภรรยาของผมที่อยู่ด้วยเล่าให้ฟังว่าเมื่อคุณหมอส่องกล้องตรวจดูเนื้อ เยื่อนั้นแล้วก็เริ่มวิตกกังวล เพราะมันเป็นมะเร็งตับอ่อนที่ไม่แน่ใจว่าจะรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ในที่สุดผมก็เข้ารับการผ่าตัด และตอนนี้ผมก็สบายดี

มันเป็นช่วงเวลาที่ผมเข้าใกล้ความตายที่สุด และผมก็หวังว่าจะไม่ใกล้ไปกว่านี้อีกสำหรับอีกสิบยี่สิบปีข้างหน้า เมื่อผ่านช่วงนั้นมาได้ ผมก็นำมาเล่าให้คุณฟังได้เต็มปาก มันไม่เพียงเป็นประโยชน์ มันเป็นเรื่องของหลักคิดดีๆ อีกด้วยว่า

ไม่มีใครอยากตาย แม้กระทั่งคนที่อยากไปสวรรค์ก็ยังไม่อยากตายเพื่อจะไปที่นั่น อย่างไรก็ดี ความตายเป็นจุดหมายปลายทางที่เรามีร่วมกัน ไม่มีใครหลีกเลี่ยงไปได้ มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ เพราะความตายนั้นเรียกได้ว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่วิเศษสุดของชีวิต มันเป็นเหมือนเครื่องมือเปลี่ยนชีวิต มันสะสางคนรุ่นเก่าเพื่อเปิดทางให้คนรุ่นใหม่ ขณะนี้พวกคุณนั่นเองคือคนรุ่นใหม่ แต่วันหนึ่งไม่นานจากนี้ไป คุณก็จะค่อยๆ กลายเป็นคนรุ่นเก่าที่จะต้องถูกสะสาง ขออภัยถ้ามันดูเหมือนหนังชีวิตไปหน่อย แต่มันก็เป็นเรื่องจริง

คุณมีเวลาจำกัด ดังนั้นอย่าเสียเวลาไปกับการใช้ชีวิตแบบคนอื่น อย่าตกหลุมลัทธิความเชื่อที่ว่าต้องใช้ชีวิตอย่างที่ผู้คนเขาคิดกันว่าควรจะ เป็น อย่าปล่อยให้ความคิดของคนอื่นเข้ามารบกวนเสียงจากใจของคุณ (inner voice) และที่สำคัญที่สุด คุณต้องมีความกล้าที่จะทำตามหัวใจและการหยั่งรู้ (intuition) ของคุณ ที่จะช่วยให้คุณบรรลุสิ่งที่คุณต้องการจะเป็นจริงๆ แล้วก็ปล่อยให้เรื่องอื่นๆ นั้นเป็นเรื่องรองไป

เมื่อครั้งที่ผมยังเด็กอยู่ มันหนังสืออยู่เล่มหนึ่งชื่อ The Whole Earth Catalog มันวิเศษมาก มันเป็นเหมือนคัมภีร์สำหรับคนรุ่นผมเลยก็ว่าได้ เขียนโดย Stewart Brand ผู้อยู่แถวๆ Menlo Park นี่เอง เขาสร้างมันขึ้นอย่างมีศิลปะ เวลานั้นราวๆ ช่วงปลายของทศวรรษ 1960 ก่อนจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และระบบการพิมพ์ตั้งโต๊ะ (desktop publishing) เขาใช้การพิมพ์ด้วยพิมพ์ดีดธรรมดา กรรไกร และกล้องโพราลอยด์ มันดูเหมือน Google ในแบบที่เป็นหน้ากระดาษ หลังจากนั้น 35 ปี Google ก็เกิดขึ้น มันเป็นเหมือนอุดมคติ สร้างขึ้นด้วยเครื่องมืออันปราณีตและ ความคิดอันยิ่งใหญ่

Stewart และทีมงานผลิต The Whole Earth Catalog อยู่หลายฉบับ และเมื่อครบถ้วนแล้ว พวกเขาก็ออกฉบับสุดท้าย เวลานั้นก็ราวๆ ช่วงกลางทศวรรษ 1970 แล้ว ที่ปกหลังของฉบับสุดท้ายมีรูปถ่ายของถนนในชนบทตอนรุ่งเช้า แบบที่คุณคงเคยโบกรถไปเที่ยว ถ้าคุณชอบผจญภัย ใต้รูปนั้นมีคำพูดว่า อย่าทิ้งความกระหาย อย่าคลายความเชื่อ (Stay Hungry. Stay Foolish.) มันเป็นคำบอกลาของพวกเขา และผมก็หวังที่จะเป็นอย่างนั้น และขณะนี้พวกคุณเพิ่งสำเร็จการศึกษา กำลังเป็นคนรุ่นใหม่ ผมก็หวังว่าคุณจะเป็นเช่นกัน

อย่าทิ้งความกระหาย อย่าคลายความเชื่อ
Stay Hungry. Stay Foolish.

ขอบคุณทุก ๆ คนครับ

ขอบคุณ: http://www.9digits.com, http://news-service.stanford.edu
โพสต์โพสต์