หน้า 1 จากทั้งหมด 1

น้ำท่วมกดดัน บริษัท หรือ sector ไหนบ้าง

โพสต์แล้ว: อังคาร ต.ค. 11, 2011 12:48 pm
โดย multipleceilings
สินค้าของใช้ฟุ่มเฟีอย
สินค้า IT (ผมมองว่าหลังจากน้ำลดต้องมีการทดแทนแต่จากเท่าที่เห็นนายตลาดคิดต่างอยู่)
อสังหา
นิคมอุตสาหกรรม
บริษัทที่มีอาคารหรือโรงงานในพื้นที่โดนหรือเสี่ยงโดนน้ำท่วม
บริษัทที่ทำการค้าขายหรือเกี่ยวข้องบริษัทที่มีอาคารหรือโรงงานในพื้นที่โดนน้ำท่วม
บริษัทที่กลุ่มเป้าหมายและกำลังซื้อขึ้นอยู่กับรากหญ้าหรือคนส่วนใหญ่ที่โดนน้ำท่วม
ประกันภัย
ขนส่ง
ท่องเที่ยว

มีอะไรอีกเอ่ย :?:

Re: น้ำท่วมกดดัน บริษัท หรือ sector ไหนบ้าง

โพสต์แล้ว: อังคาร ต.ค. 11, 2011 8:30 pm
โดย kloysri
อสังหาริมทรัพย์
วันที่ 11 ตุลาคม 2554 09:00'อสังหาฯ'เสี่ยงวิกฤติลูกโซ่หวั่นน้ำท่วมฉุดเศรษฐกิจ
โดย : โต๊ะข่าวธุรกิจการตลาด

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดภาคกลางขณะนี้ สร้างความกังวลต่อเนื่องในหลายมิติ

ขณะที่ทุกฝ่ายต่างมุ่งช่วยเหลือทางมนุษยธรรม แก่ชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม ในอีกมุมหนึ่ง ก็มีเสียงเรียกร้องว่า รัฐควรมีการวางแผนป้องกันภาคธุรกิจเอกชน ที่เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติไม่เช่นนั้น ปัญหาเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงอาจเกิดตามมา
นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียล เอสเตท แอฟแฟร์ส กล่าวว่า น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างรุนแรงใกล้เคียงกับ พ.ศ. 2540 เลยทีเดียว โดยเฉพาะความเสียหายที่เกิดกับ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ที่มีโรงงาน 44 แห่ง และ สวนอุตสาหกรรมโรจนะมีโรงงานอีก 150 แห่ง ได้รับผลกระทบ หากทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ได้รับความเสียหาย ตัดสินใจย้ายฐานการผลิต หรือฐานสำนักงานสาขาไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม มาเลเซีย ฯลฯ จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจของไทยทรุดลง
เนื่องจากเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับการส่งออกเป็นหลัก ส่วนกรณีที่บางท่านให้ข้อสังเกตว่า หลังน้ำท่วมใหญ่ กิจการก่อสร้าง ซ่อมแซมสาธารณูปโภคจะเติบโตแต่กิจการเหล่านี้ก็มีการหน้าที่เพียงเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอไปเท่านั้น ไม่ได้มีบทบาทในการเพิ่มความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศได้
ที่น่ากลัวคือผลกระทบน้ำท่วมครั้งนี้ อาจส่งผลให้เศรษฐกิจทรุดทันที มีคนตกงานจำนวนมาก ความสามารถในการส่งออกลดลง ทำเลที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมอาจเปลี่ยนไป เป็นภาคตะวันออก หรือบริเวณอื่นที่ไม่ใช่ที่ราบลุ่ม ทำให้ทำเลซื้อที่อยู่อาศัยอาจเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ที่ดินบริเวณที่ต่อไปอาจเป็นพื้นที่น้ำท่วม ‘ซ้ำซาก’ อาจมีราคาลดลง
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่เหล่านี้ จึงอาจได้รับผลกระทบเชิงลบโดยตรง ที่สำคัญ หากเศรษฐกิจตกต่ำลง การผิดนัดสัญญาโอนบ้าน การผิดนัดสัญญาผ่อนส่งบ้านจะเกิดขึ้น สถาบันการเงินที่ต่างแข่งขันกันอำนวยสินเชื่อกันอย่างประมาท ที่วงเงิน 100% ของมูลค่าตลาดในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ อาจได้รับความเสียหายไปด้วย หากบริษัทผู้ประกอบการประสบปัญหาในการขายบ้านและปิดกิจการลง สถาบันการเงิน ก็อาจสะดุดหยุดลงเช่นกัน
นายโสภณ กล่าวว่า จากประสบการณ์ใน พ.ศ. 2540 ช่วงที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจ ผู้ผ่อนบ้านหลายรายยินดีที่จะทิ้งการผ่อนส่งบ้าน แต่ไม่ทิ้งการผ่อนส่งรถเพื่อเก็บไว้เป็นเครื่องมือการผลิต ซึ่งสถานการณ์นี้ ผู้ซื้อบ้านที่ดีที่จองซื้อบ้านกับโครงการต่างๆ โดยไม่ได้รับมาตรการการคุ้มครองผู้ซื้อเพราะไม่มีการนำพระราชบัญญัติคุ้มครองคู่สัญญา (Escrow Account) มาใช้ ก็อาจจะได้รับความเดือดร้อนไปด้วย อาจซ้ำรอยเมื่อ พ.ศ. 2540 ที่เกิดกรณีซื้อบ้านแล้วได้แต่กระดาษ (สัญญาซื้อบ้าน) หรือได้แต่เสาบ้าน (สร้างบ้านไม่เสร็จตามสัญญา)
ธุรกิจที่อยู่อาศัยที่กำลังได้รับความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอย่างสูงจากผู้ประกอบการในขณะนี้ อาจพังทลายลงตามภาวะเศรษฐกิจที่สะดุดลงกะทันหันด้วยวิกฤติน้ำท่วมรุนแรงและต่อเนื่องยาวนานเกินคาด ดังนั้นวิกฤติตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่ เอเจนซี่ ฟอร์ เรียล เอสเตทฯ เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2556 อาจเกิดขึ้นเร็วกว่ากำหนด 1 ปี
"สถานการณ์ขณะนี้ ผู้ประกอบการอสังหาฯ จึงควรทบทวนแผนกลยุทธ์ของตนเองใหม่ เพราะโอกาสที่จะเพิ่มการผลิตปีละ 20-30% อาจมีความเป็นไปได้น้อยลง เรียนรู้จากวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 เมื่อคาดเดาถึงวิกฤติได้ล่วงหน้า ควรหยุดผลิตเพิ่ม หันมาเร่งขายสินค้าในมือ ใช้หนี้ให้หมดโดยเร็ว จะเป็นทางออกที่ดีเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต"

http://bit.ly/pzWyLS

Re: น้ำท่วมกดดัน บริษัท หรือ sector ไหนบ้าง

โพสต์แล้ว: อังคาร ต.ค. 11, 2011 8:55 pm
โดย Pathfinder
ภาคเกษตร-นิคมอุตฯ เสียหาย 6-8 หมื่นล้าน หรือ 0.6-0.8% ของ GDP

จาก http://www.thairath.co.th/content/eco/208187

Re: น้ำท่วมกดดัน บริษัท หรือ sector ไหนบ้าง

โพสต์แล้ว: อังคาร ต.ค. 11, 2011 9:08 pm
โดย kloysri
AREA ระบุ น้ำท่วมเป็นตัวเร่งวิกฤตตลาดอสังหาริมทรัพย์เร็วขึ้น 1 ปีในปี 2555 ที่จะถึงนี้Share






ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) ระบุว่า น้ำท่วมใหญ่ในปีนี้อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างรุนแรงจนใกล้เคียงกับ ปี พ.ศ.2540 ทุกฝ่ายควรมีแผนตั้งรับ



ความเสียหายของนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครที่มีโรงงาน 44 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมโรจนะที่มีโรงงานอีก 150 แห่ง เป็นลางร้ายสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงแผนการป้องกันน้ำท่วมที่อ่อนแอ ที่ทุกฝ่ายมุ่งเน้นช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม จนอาจหลงลืมการวางแผนป้องกันภาคธุรกิจเอกชน ที่เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติ ปล่อยให้ภาคเอกชนดำเนินการตามอัตภาพเอง การป้องกันน้ำท่วมให้กับนิคมอุตสาหกรรมของภาคเอกชน ไม่ใช่หมายถึงการช่วยเหลือ ‘นายทุน’ แต่หมายถึงการปกป้องกลไกเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ



บางท่านอาจคิดเห็นว่าควรให้น้ำท่วมกรุงเทพมหานครเพื่อ ‘เฉลี่ยทุกข์’ ซึ่งอาจเป็นการคิดตามอำเภอใจหรือเป็นไปตามอารมณ์ความรู้สึกในห้วงน้ำท่วม แต่หากในเร็ววันนี้เกิดน้ำท่วมใหญ่เข้าสู่เขตชั้นในของกรุงเทพมหานคร เมื่อนั้นก็จะทำให้โครงสร้างพื้นฐานของมหานครแห่งนี้ที่สร้างสมมาเป็นมูลค่านับล้านล้านบาท เสียหายลงได้ ซึ่งเป็นการทำลายสมองหรือศูนย์รวมประสาทของประเทศ ทำให้การทำการหน้าที่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหยุดชะงักลง ก่อความเสียหายให้กับประเทศชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้



หากนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมย้ายฐานการผลิต หรือฐานสำนักงานสาขาไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม มาเลเซีย หรืออื่น ๆ ก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจของไทยเสื่อมทรุดลง ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจของไทยขึ้นอยู่กับการส่งออก ไม่ใช่การใช้สอยกันภายในประเทศแบบ ‘อัฐยายซื้อขนมยาย’ ตามคำโฆษณาชวนเชื่อ

ดังนั้นที่บางท่านอาจให้ข้อสังเกตว่าหลังน้ำท่วมใหญ่ กิจการก่อสร้าง ซ่อมแซมสาธารณูปโภคจะเติบโตขนานใหญ่ แต่กิจการเหล่านี้ก็มีการหน้าที่เพียงเพื่อ ‘ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ’ ไปเท่านั้น ไม่ได้มีบทบาทในการเพิ่มความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด



ผลกระทบของน้ำท่วมครั้งนี้ อาจส่งผลให้เศรษฐกิจเสื่อมทรุดลงทันที โดยทั้งนี้คนทำงานในกรุงเทพมหานครและคนงานโรงงานต่าง ๆ อาจตกงานหรือได้ค่าจ้างลดลงจากความสามารถในการส่งออกที่ลดลงไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง รายได้หลักของครัวเรือนในชนบทมักได้จากการผลิตภาคการเกษตรเพียงส่วนน้อย แต่ส่วนมากได้จากการส่งเงินจากลูกหลานผู้ทำงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลไปยังชนบท รวมทั้งเงินตราจากการทำงานในต่างประเทศอีกส่วนหนึ่ง หากมีคนตกงานหรือมีรายได้ลดลงนับแสน ๆ คน ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้



ยิ่งกว่านั้นทำเลที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมอาจเปลี่ยนไปเป็นภาคตะวันออกหรือบริเวณอื่นที่ไม่ใช่ที่ราบลุ่ม ทำให้ทำเลซื้อที่อยู่อาศัยอาจเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน ที่ดินบริเวณที่ต่อไปอาจเป็นพื้นที่น้ำท่วม ‘ซ้ำซาก’ อาจมีราคาลดลงได้ ดังนั้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่เหล่านี้จึงอาจได้รับผลกระทบเชิงลบได้โดยตรง ที่สำคัญที่สุดก็คือ หากเศรษฐกิจตกต่ำลง การผิดนัดสัญญาโอนบ้าน การผิดนัดสัญญาผ่อนส่งบ้าน ก็จะเกิดขึ้น สถาบันการเงินที่ต่างแข่งขันกันอำนวยสินเชื่อกันอย่างประมาท ณ ระดับ 100% ของมูลค่าตลาดในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ ก็อาจได้รับความเสียหายไปด้วย



หากบริษัทผู้ประกอบการประสบปัญหาในการขายบ้านและปิดกิจการลง สถาบันการเงินก็อาจสะดุดหยุดลงเช่นกัน จากประสบการณ์ใน พ.ศ.2540 ปรากฏว่า ผู้ผ่อนบ้านหลายรายยินดีที่จะทิ้งการผ่อนส่งบ้าน แต่ไม่ทิ้งการผ่อนส่งรถเพื่อเก็บไว้เป็นเครื่องมือการผลิต เช่น การ ‘เปิดท้ายขายของ’ เป็นต้น

ในสถานการณ์นี้ ผู้ซื้อบ้านที่ดีที่จองซื้อบ้านกับโครงการต่าง ๆ โดยไม่ได้รับมาตรการการคุ้มครองผู้ซื้อเพราะไม่มีการนำพระราชบัญญัติคุ้มครองคู่สัญญา (Escrow Account) มาใช้ ก็อาจจะได้รับความเดือดร้อนไปด้วย อาจซ้ำรอยเมื่อ พ.ศ.2540 ที่เกิดกรณีซื้อบ้านแล้วได้แต่กระดาษ (สัญญาซื้อบ้าน) หรือได้แต่เสาบ้าน (สร้างบ้านไม่เสร็จตามสัญญา)



ดังนั้นจึงอาจเกิดข้อกังวลว่า ธุรกิจที่อยู่อาศัยที่กำลังได้รับความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอย่างสูงจากบรรดาผู้ประกอบการในขณะนี้ อาจพังทลายลงตามภาวะเศรษฐกิจที่สะดุดลงอย่างกะทันหันด้วยวิกฤติน้ำท่วมที่รุนแรงและทอดระยะเวลายาวนานเกินความคาดหมาย ดังนั้นวิกฤตตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ทาง AREA คาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้นใน พ.ศ.2556 อาจเกิดขึ้นเร็วกว่ากำหนด 1 ปี



ในสถานการณ์ขณะนี้ ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จึงควรทบทวนแผนกลยุทธ์ของบริษัทของตนเองเสียใหม่ โอกาสที่จะเพิ่มการผลิตปีละ 20-30% อาจมีความเป็นไปได้น้อยลง วิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 ได้ให้ข้อสรุปแก่ผู้ประกอบการว่า หากสามารถคาดเดาถึงวิกฤติได้ล่วงหน้า การหยุดการผลิตเพิ่ม การเร่งขายสินค้าที่ยังมีอยู่ในมือ การใช้หนี้ให้หมดโดยเร็ว อาจเป็นทางออกสำคัญในการป้องกันปัญหาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

ดร.โสภณกล่าวด้วยว่า หวังว่าตนเองจะคาดการณ์สถานการณ์นี้ผิด เพื่อให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังเติบโตต่อเนื่องตามที่ควรจะเป็น

http://www.prachachat.net/news_detail.p ... &subcatid=

Re: น้ำท่วมกดดัน บริษัท หรือ sector ไหนบ้าง

โพสต์แล้ว: อังคาร ต.ค. 11, 2011 9:23 pm
โดย kloysri
Home การตลาด การตลาด Marketing เครื่องใช้ไฟฟ้ากะอักพิษน้ำท่วม
Air conditioners
เครื่องใช้ไฟฟ้ากะอักพิษน้ำท่วม
วันศุกร์ที่ 07 ตุลาคม 2011 เวลา 10:04 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ การตลาด Marketing - การตลาด Marketing
User Rating: / 0
แย่ดีที่สุด
ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า กร่อย น้ำท่วม ส่งผลยอดขายสะดุด พานาโซนิค พ้อเจอ 3 เด้ง สึนามิ อากาศแปรปรวน น้ำท่วม แต่ยังฮึด มั่นใจดันยอดโตตามเป้า 10% โซนี่-แอลจี รอประเมินความเสียหายเตรียมให้ความช่วยเหลือ ซ่อมฟรีค่าบริการ และจัดสินค้าราคาพิเศษ สำหรับลูกค้าที่ต้องการสินค้าทดแทน
นายธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" โดย เชื่อว่าผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมจะไม่ใช่ปัญหาระยะยาว แต่ตอนนี้ผู้บริโภคเริ่มชะลอกำลังซื้อ เนื่องจากได้รับความลำบากจากปัญหาน้ำท่วม ขณะเดียวกันร้านค้า หรือตัวแทนจำหน่าย ก็ไม่ซื้อสินค้าเพิ่ม ทำให้เกิดการชะลอตัวทั้ง 2 ส่วน ซึ่งยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ เนื่องจากเหตุการณ์ยังไม่คลี่คลาย คงต้องอีกสักระยะ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แอลจีได้เตรียมมาตรการให้ความช่วยเหลือทั้งกับดีลเลอร์ และผู้บริโภค ที่ประสบปัญหา เช่น การฟรีค่าซ่อมแซ่ม และลดค่าอุปกรณ์ที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งโดยภาพรวมแล้ว จะไม่ส่งผลกระทบกับงบประมาณ เพราะเป็นงบส่วนหนึ่งของการทำตลาดอยู่แล้ว ส่วนแผนกระตุ้นการขายไตรมาสสุดท้าย ไม่มีการปรับเพิ่มแต่อย่างใด เพราะช่วงปลายปี บริษัทมีกิจกรรมส่งเสริมการขายอยู่แล้ว และคาดว่าจะสามารถผลักดันให้ยอดขายเติบโตได้ตามเป้าแน่นอน
นายฮิโรทากะ มุราคามิ ซีอีโอของกลุ่มบริษัทพานาโซนิคฯในประเทศไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ยังอยู่ระหว่างประเมินผล จากยอดตัวแทนจำหน่ายหรือดีลเลอร์รายใหญ่ของพานาโซนิคกว่า 300 ราย แบ่งเป็นตัวแทนในพื้นที่ต่างจังหวัดประมาณ 70% ซึ่งขณะนี้มีกว่า 50 จังหวัดที่เจอปัญหาน้ำท่วม และมีหลายจุดที่หยุดส่งของ
ดีลเลอร์ที่ได้รับผลกระทบมีมาก แต่ละพื้นที่มีความรุนแรงต่างกัน ซึ่งยังบอกจำนวนชัดเจนยาก เพราะความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยยังขยายไปเรื่อยๆ ตอนนี้ต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบคือ ไม่สามารถส่งสินค้าได้ สิ่งที่พานาโซนิคเตรียมการตอนนี้คือ การเร่งให้ความช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ส่วนพื้นที่ที่ไม่เดือดร้อนก็เร่งแผนส่งเสริมการขาย เพื่อสร้างยอดทดแทน
"พานาโซนิค ปีนี้เจอวิกฤติถึง 3 ครั้ง ทั้งเรื่องของสึนามิที่ญี่ปุ่น ปัญหาอากาศแปรปรวน อากาศไม่ร้อนในประเทศไทย ทำให้ยอดขายเครื่องปรับอากาศตก แล้วยังเจอภาวะน้ำท่วม แต่บริษัท ไม่ได้ปรับลดเป้าหมายการขาย" นายมุราคามิ กล่าวและว่า บริษัทตั้งเป้ายอดขายครึ่งปีแรกในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านไว้ที่ 10% ขณะนี้เติบโตไปแล้ว 5% ส่วนกลุ่มเอวี หรือกลุ่มเครื่องเสียงและภาพ ตั้งเป้าโต 10% ขณะนี้เติบโตประมาณ 11% อย่างไรก็ตาม ถึงสิ้นปีบัญชีนี้ (มีนาคม 2555) มั่นใจว่าจะสร้างยอดขายเติบโตตามเป้า 10% โดยมียอดรายได้รวมประมาณ 22,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเอวีประมาณ 11,600 ล้านบาท และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (เอชเอ) 10,400 ล้านบาท
สำหรับปีนี้ ซึ่งเป็นปีฉลองครบ 50 ปีของพานาโซนิคในประเทศไทย บริษัทมีแคมเปญการตลาดต่อเนื่อง จากที่ผ่านมามีทั้งแคมเปญ เครื่องปรับอากาศ และตู้เย็น ล่าสุดเปิดตัวเครื่องทำน้ำอุ่นรุ่นใหม่ "พานาโซนิค เมจิค เฮลท์" ด้วยเทคโนโลยี e-CYCLE ระบบควบคุมการจ่ายน้ำร้อนสลับน้ำเย็น ระดับราคาต่ำสุดอยู่ที่ 2,990 บาท สูงสุดที่ 6,990 บาท โดยใช้งบการตลาด 10% ของยอดขายเพื่อทำโฆษณาและกิจกรรมการตลาด ตั้งเป้าสิ้นปีมีส่วนแบ่งการตลาดเครื่องทำน้ำอุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 46-47% ของตลาดรวมเครื่องทำน้ำอุ่นในปีนี้ 5 แสนเครื่อง เติบโตประมาณ 10-11% และสำหรับปลายปี จะมีแคมเปญใหญ่ ของกล้องลูมิค และทีวี อย่างต่อเนื่อง
ด้าน นายโทรุ ชิมิซึ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซนี่ ไทย จำกัด กล่าวว่า ภาวะน้ำท่วมจะส่งผลกระทบกับยอดขายรวมแน่นอน ซึ่งจะมีสินค้าทั้งกลุ่มกล้องดิจิตอล และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ อาทิ ทีวี โดยผู้ได้รับผลกระทบจะมีทั้งลูกค้า และตัวแทนจำหน่าย ตอนนี้กำลังเตรียมการว่าจะให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนอย่างไรบ้าง ซึ่งแน่นอนจะมีเรื่องของการซ่อมแซ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสียหาย ที่จะให้บริการฟรีค่าซ่อม และลดค่าอะไหล่ และยังมีการจัดสินค้าราคาพิเศษ สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าของผู้บริโภคที่เสียหายซ่อมแซมไม่ได้ ซึ่งขณะนี้บริษัทกำลังประเมินความเสียหายอยู่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,677 9 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554

Re: น้ำท่วมกดดัน บริษัท หรือ sector ไหนบ้าง

โพสต์แล้ว: อังคาร ต.ค. 11, 2011 9:26 pm
โดย kloysri
Home ข่าวหน้า1 Big Stories รง.ล่มภาคผลิตเจ๊งยับ กระทบออร์เดอร์เลื่อนส่งออกช้ากว่ากำหนด
Air conditioners
รง.ล่มภาคผลิตเจ๊งยับ กระทบออร์เดอร์เลื่อนส่งออกช้ากว่ากำหนด
วันอาทิตย์ที่ 09 ตุลาคม 2011 เวลา 08:50 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ ข่าวหน้า1 - Big Stories
User Rating: / 0
แย่ดีที่สุด
วิกฤติน้ำท่วมเกิดโดมิโนเอฟเฟกต์กระทบภาคการผลิตทั้งระบบ 2 ยักษ์อิเล็กทรอนิกส์โลก "มินีแบ-เวสเทิร์นดิจิตอล" ลุ้นระทึกรายวัน วิ่งปรับแผนจ้าละหวั่น ชี้กระทบแค่2ค่ายจะสูญเงินมหาศาล ร่อนหนังสือ แจ้งลูกค้าทั่วโลกกว่า 1,000 ราย ส่งมอบสินค้าล่าช้ากว่ากำหนด นิคมฯสหรัตนนครปิดไม่มีกำหนด วิริยะอ่วมรถยนต์จมบาดาลอื้อ "คลัง"ตั้งงบ อีก 1.5 พันล้านรับวิกฤติภัยน้ำท่วม-ภัยหนาว ใน 3 เดือน
สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศยังคงวิกฤติและไม่มีวี่แววจะคลี่คลาย ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดน้ำท่วมฉับพลันในอีกหลายจังหวัด ซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายยิ่งขึ้นสร้างความเสียหาย ส่งผลกระทบเศรษฐกิจหนักโดยมูลค่าความเสียหายครอบคลุมทั้งพื้นที่เกษตรกรรม ท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรมและการผลิตเชื่อมโยงในจังหวัดต่างๆ รวมแล้วหลายแสนล้านบาท
++มินีแบชี้แจงลูกค้าทั่วโลก
นายวุฒิชัย อุดมกาญจนนันท์ กรรมการบริษัทเอ็นเอ็มบี มินีแบ ไทย จำกัด หรือ"มินีแบ"ทุนรายใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติญี่ปุ่น เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าขณะนี้โรงงานผลิตชิ้นส่วนตลับลูกปืน และตลับลูกปืน(แบริ่ง)สำหรับเครื่องบินซึ่งตั้งอยู่ที่อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา และโรงงานมินีแบที่ลพบุรีที่ผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมทั้งหมดแล้ว โดยเฉพาะที่ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ที่เครื่องจักรตั้งอยู่ในพื้นที่ชั้นล่างทั้งหมด มีการผลิตแบริ่งจำนวน 50 ล้านชิ้น/เดือน ใช้แรงงานในสายการผลิตทั้งสิ้นประมาณ 10,000 คน
ทั้งนี้หากโรงงานทั้ง 2 ส่วนนี้กระทบจากน้ำท่วมก็จะทำให้มินีแบเสียหายเป็นเงินมากกว่า 20,000 ล้านบาท โดยผลกระทบนี้ยังไม่รวมถึงโรงงานที่อยู่ในพื้นที่อ.บางปะอินและโรงงานที่ตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ล่าสุดทั้ง 2 แห่งนี้ก็ยกระดับเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมไปแล้ว โดยโรงงานทั้งหมดใช้แรงงานทั้งสิ้น 32,000 คน และบริษัทเตรียมรับมือโดยการกั้นคันดินและตุนกระสอบทรายไว้รอบโรงงานและเตรียมแผนอพยพหาที่อยู่ให้พนักงานบางส่วนแล้ว
อย่างไรก็ตามผลที่เกิดขึ้นในขณะนี้แม้โรงงานจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทันทีในช่วงนี้แต่ก็รับผลกระทบในทางอ้อมไปแล้ว เนื่องจากแผนการผลิตเกิดการสะดุดเนื่องจากพนักงานที่อยู่ในจ.พระนครศรีอยุธยาบ้านอยู่อาศัยถูกน้ำท่วม ทำให้พนักงานมาทำงานไม่เต็มจำนวน เริ่มลดจำนวนลงเรื่อยๆ ประกอบกับเข้าทำงานล่าช้าไป 2-3 ชั่วโมง เนื่องจากเส้นทางถูกน้ำท่วม และการจราจรติดขัด
"ฝ่ายขายของมินีแบเตรียมชี้แจงลูกค้าทั่วโลกมากกว่า 1,000 ราย ผ่านทางโทรศัพท์และเป็นลายลักษณ์อักษรกรณีอาจจะมีการส่งมอบสินค้าล่าช้า ก็อาจทำให้มินีแบเสียโอกาสทางการค้าได้เนื่องจากลูกค้าบางรายรอไม่ได้เพราะต้องเดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง" ++บิ๊กWDเสี่ยงทั้ง2โรงงาน
แหล่งข่าวจากบริษัท เวสเทิร์นดิจิตอล (ประเทศไทย)จำกัด หรือ WD ทุนสัญชาติอเมริกัน ตั้งโรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ซึ่งทั้ง 2 แห่งนี้มีขนาดกำลังการผลิตมากกว่า 30% ของตลาดโลกที่มีความต้องการใช้ฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์/ปีประมาณ 650 ล้านชิ้น มีการใช้แรงงานทั้งสิ้น38,000 คน ผลิตเพื่อการส่งออกไปทั่วโลก 100% ที่มีการคาดการณ์ว่าถ้าไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้โรงงานจะได้รับผลกระทบเป็นมูลค่าความเสียหายที่เป็นตัวเลขหลักหมื่นล้านบาทขึ้นไป
ล่าสุดWDยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม แต่นับจากนี้ไปยังต้องเฝ้าระวังและเตรียมมาตรการรับมือน้ำท่วมอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง เพื่อให้พ้นจากวิกฤติ โดยติดตามปริมาณน้ำต่อวัน มีการกันแนวเขื่อนดินและกระสอบทรายเสริมให้สูงขึ้นเกือบเมตร และเสริมความสูงของถนนอีก 50 เซนติเมตรให้สูงขึ้นจากแนวปกติ"
"ฐานเศรษฐกิจ"ได้ต่อสายตรงไปยังดร.สัมพันธ์ ศิลปะนาฎ รองประธานบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งติดภารกิจอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับการชี้แจงว่า ขณะนี้โรงงานเป็นพื้นที่เสี่ยงทั้ง 2 แห่ง แต่โชคดีที่พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินเป็นพื้นที่สูง แต่ก็ต้องเฝ้าระวัง โดยบริหารความเสี่ยงทุกขณะเพื่อไม่ให้กระทบต่อการผลิตฮาร์ดดิสก์ ไดรฟ์ บริษัทจึงจำเป็นต้องวางแผนรับมือตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้กระทบถึงลูกค้าทั่วโลก
++ฮอนด้าขนรถหนี4-5พันคัน
นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร รองประธานอาวุโส บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า การเตรียมความพร้อมของโรงงานประกอบรถยนต์ของฮอนด้า ในเขตนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา ในขณะนี้ได้ร่วมมือกันทุกภาคส่วนเพื่อเพิ่มคันดินให้สูงขึ้นเพื่อกันไม่ให้น้ำเข้า ขณะเดียวกันได้สั่งให้พนักงานหยุดงานตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ป้อนให้กับโรงงานฮอนด้าถูกน้ำท่วมและไม่สามารถส่งชิ้นส่วนมาประกอบได้
"เบื้องต้นเราได้เคลื่อนย้ายรถยนต์ที่เตรียมส่งมอบให้กับลูกค้าทั้งหมดออกจากบริเวณโรงงาน โดยได้รับความช่วยเหลือให้ไปจอดที่ ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยฮอนด้าได้เคลื่อนย้ายที่รอส่งมอบให้กับลูกค้าจำนวน 4,000-5,000 คัน ไปจอดที่บริเวณอาคารคลังสินค้า 2 ที่สนามบินดอนเมืองแล้ว "
++เคอรี่ปรับแผนหลังลูกค้าจมน้ำ
นายดุสิต บุญกาวิน ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจอาวุโส บริษัท เคอรี่ โลจิสติคส์(ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์กล่าวว่า มีลูกค้าอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครกว่า 30 รายที่กระทบ และหนึ่งในนั้นก็มีลูกค้ารายใหญ่จากทุนญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งโรงงานมากถึง 8 โรงงาน ที่ขณะนี้ยังจมอยู่ในน้ำทั้งหมด โดยบริษัทดังกล่าวผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ให้กับค่ายฮอนด้า ที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และรถค่ายอื่นที่มีฐานการผลิตอยู่ที่ระยองด้วย
จากผลกระทบนี้ทำให้เคอรี่ โลจิสติคส์ ต้องปรับแผนรับมือจากขนส่งสินค้าและวัตถุดิบจากโรงงานไปท่าเรือหรือจากท่าเรือไปโรงงานก็ปรับเป็นให้บริการช่วยเหลือลูกค้าขนของหนีน้ำแทนโดยเคอรี่ โลจิสติคส์ จะมีคลังสินค้าขนาดใหญ่รองรับอยู่ 4 จุด ที่บางนา ศรีราชา แหลมฉบัง ระยอง โดยคาดว่าปีนี้จะมีลูกค้าใหม่ 50-60 ราย จากที่บริษัทมีลูกค้าทั่วประเทศมากกว่า 500 ราย ที่ให้บริการขนส่งทางบก
++สหรัตนนครเสียหาย3หมื่นล.
ด้านนางมณฑา ประณุทนรพาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ปริมาณน้ำในปีนี้ค่อนข้างมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยวิกฤติน้ำท่วมเฉียบพลันในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ตั้งแต่ 4 ตุลาคม 2554 มีโรงงานได้รับผลกระทบ 43 โรงงาน รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้ต้องปิดโรงงานเป็นระยะเวลา 5 วัน หรือจนกว่าปริมาณน้ำจะลดลง ทั้งนี้ คาดว่านิคมฯสหรัตนนครใช้งบประมาณป้องกันน้ำท่วมไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท และมีโครงการยกคันดินถาวรเพิ่มความสูงเป็น 7 เมตร ลงทุนเพิ่มเติมประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มดำเนินการให้ทันภายในปี 2555
++นิคมไฮเทคปิดชั่วคราว5วัน
ส่วนนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) ที่สถานการณ์น่าเป็นห่วงมาก ขณะนี้กนอ. ได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการหยุดประกอบกิจการเป็นการชั่วคราว 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 7-11 ตุลาคม 2554 เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดความเสียหายจากน้ำท่วมที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเหนือไหลหลากและมีฝนตกต่อเนื่องส่งผลให้ระดับน้ำมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นลำดับ พร้อมกันนี้ กนอ. ได้ตั้งศูนย์บัญชาการน้ำท่วมที่สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนอุดมสรยุทธ ตำบลคลองจิก อำเภอบางปะอินแล้ว
บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมาว่าจากสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยที่บริษัทฮานา เซมิคอนดักเตอร์ (อยุธยา) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท มีโรงงานตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม ไฮเทค อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดังนั้นเพื่อลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดจากเหตุการณ์น้ำท่วม บริษัทฮานา เซมิคอนดักเตอร์(อยุธยา)ฯ ได้ปิดทำการผลิตชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2554 ไปจนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลาย ทั้งนี้ลูกค้าทั้งหมดได้รับแจ้งถึงเหตุจำเป็นของวิกฤตการณ์ในครั้งนี้รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในการส่งมอบสินค้า
++กนอ.ขอซอฟต์โลนฟื้นรง.
นายนราพจน์ ทิวถนอม รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ออกมาระบุ ว่า หลังปัญหาน้ำท่วมคลี่คลาย ทาง กนอ.เตรียมจะเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟต์โลนแก่ผู้ประกอบการ-โรงงานที่เดือดร้อนผ่านทางธนาคารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี แบงก์)โดยเฉพาะโรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครที่เสียหาย รวมถึงโรงงานในนิคมฯ อื่นๆ ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมต้องรอหลังน้ำลด สำหรับปัญหาโรงงานหยุด 3-5 เดือน จุดนี้ได้รับการยืนยันว่าจะไม่มีการเลิกจ้างหรือเอาคนออกแน่นอน และระหว่างที่หยุดงานก็จะมีการจ่ายเงินชดเชยตามความเหมาะสม
++ผู้พัฒนานิคมไฮเทคฉะกนอ.
นายทวิช เตชะนาวากุล เลขาธิการสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทย และกรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยอินดัสเตรียล เอสเตท จำกัด ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า(ไฮเทค) กล่าวว่า นิคมแห่งนี้เป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม และมั่นใจว่าในขณะนี้น้ำจะยังไม่ท่วมโรงงาน และยังอยู่ในสถานการณ์ที่รับมือได้ จึงไม่เข้าใจว่าทำไมกนอ.จึงออกมาขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า(ไฮเทค)หยุดประกอบกิจการ โดยที่ไม่ปรึกษาผู้พัฒนานิคมฯก่อน ทั้งที่มาตรการต่างๆยังรับมือได้ และช่วงที่น่าจะเป็นห่วงก็ควรจะเป็นช่วงระหว่างวันที่ 13-18 ตุลาคมมากกว่า ขณะนี้บางโรงงานก็ยืนยันที่จะผลิตต่อไป
"เวลานี้มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคกลางทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรมมี 4,000-5,000 โรงงาน ถ้ากระทบทั้งหมดก็จะเสียหายเป็นเงิน 300,000-400,000 ล้านบาท และจะไม่กระทบทั้งหมดเพราะส่วนใหญ่จะมีโรงงานขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ส่วนใหญ่จะดูแลความเสี่ยงไว้แล้วยกเว้นนิคมอุตสาหกรรมที่มีพื้นที่ต่ำมากอย่างนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร
ทั้งนี้ข้อมูลจากอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แจ้งว่า เฉพาะที่อยุธยามีโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการทั้งหมดจำนวน 2,131 โรงงาน(รวมทั้งในและนอกนิคมฯ) เป็นเงินทุนรวม 330,845.25 ล้านบาท มีการจ้างงาน 246,849 คน (ดูตาราง)
++สภาท่องเที่ยวชี้สูญพันล้าน
นายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานฝ่ายนโยบาย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ สทท. กล่าวว่าเบื้องต้นประเมินค่าเสียโอกาสจากการท่องเที่ยวในประเทศราว 1,000 ล้านบาท (ประเมินความเสียหาย 20 วันที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน) เนื่องจากในปีหนึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางราว 95 ล้านคนต่อครั้ง ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยราว 4,000 บาทต่อคนต่อทริป ส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่มีการยกเลิกเดินทาง แต่ สทท. ยังหวังช่วง 2 เดือนสุดท้ายว่านักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยจะถึง 19 ล้านคน มีความเป็นไปได้
นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาเยียวยาในเรื่องการให้การสนับสนุนสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทำให้ขาดกระแสเงินสดหมุนเวียน แต่ไม่ใช่ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแต่ให้เข้ามาช่วยเหลือเรื่องการจ้างแรงงาน
++ยันไม่ย้ายจัดเวิลด์เอ็กซ์โป
ส่วนกรณีการเสนอใช้ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นสถานที่จัดงานมหกรรมโลก เวิลด์เอ็กซ์โปปี 2020 นายอรรถพล สรสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือสสปน. กล่าวว่า จะไม่ย้ายสถานที่จัดงาน เพราะบางไทร น้ำท่วมน้อยที่สุด อีกทั้งการจัดงานได้เสนอระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงที่ระดับน้ำต่ำมาก สำหรับตลาดไมซ์ผลกระทบจากน้ำท่วมที่น่าเป็นห่วงคงเป็นเรื่องการจัดโปรแกรมพรี-โพสทัวร์หรือท่องเที่ยวก่อนและหลังจากจัดงาน เนื่องจากเส้นทางท่องเที่ยวหลายแห่งได้รับผลกระทบ
++วิริยะอ่วมรถจมบาดาลอื้อ
นายพันธ์เทพ ชัยปริญญา ผู้จัดการฝ่ายสินไหมทดแทน บริษัทวิริยะประกันภัยฯ กล่าวว่า 2 เดือนที่เกิดน้ำท่วมส่งผลให้เกิดความเสียหาย มีรถยนต์ที่ทำประกันทั้งระบบเสียหายไปแล้วกว่า 1,000 คัน ในส่วนนี้เป็นรถที่ทำประกันกับทางบริษัท วิริยะฯ 600-700 คัน คาดว่าจะมีการจ่ายสินไหมรวม 70-80 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีรถยนต์ที่ไม่ได้ทำประกันอีกกว่า 100 คัน ซึ่งจะไม่ได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้หากน้ำยังท่วมต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจะสูงกว่านี้หลายเท่า
++คลังตั้งงบเพิ่มรับวิกฤติน้ำท่วม
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ทางกรมบัญชีกลางได้ประมาณการสถานการณ์ อุทกภัย ในช่วง 3 เดือนหลังจากนี้ถึงสิ้นปี 2554 นั้น ยังมีพื้นที่เสี่ยงที่จะประสบภัยพิบัติอุทกภัยโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ และช่วงปลายปียังมีภัยหนาวต่อเนื่องด้วย โดยได้ประมาณการใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2554 ไว้ทั้งสิ้นจำนวน 1,534 ล้านบาท เป็นเหตุการณ์อุทกภัย 1,500 ล้านบาท และเหตุการณ์ภัยหนาว 34 ล้าน(พ.ย.10 ล้านบาทและธ.ค. 24 ล้านบาท) ล่าสุดการเบิกจ่ายเงินทดรองจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 3-7 ตุลาคม 2554 เป็นเงินจำนวน 359,245,007 ล้านบาท
สำหรับผลการเบิกจ่ายเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉินเหตุอุทกภัย ในปีงบประมาณ 2554(11ต.ค.53-31ก.ย.54) พบว่า มีวงเงินสูงถึง 17,834.15 ล้านบาท แบ่งเป็น 3อันดับคือ ภัยแล้ง วงเงิน 1,787.17 ล้านบาท สัดส่วน 10.02% โรคระบาดด้านพืช วงเงิน 3,322.92ล้านบาท คิดเป็น 18.63% ส่วนใหญ่เป็นเหตุอุทกภัยมียอดสูง 10,367.42 ล้านบาท คิดเป็น 58.13%ของงบที่เบิกจ่ายทั้งหมดและเพิ่มขึ้นจากปี 2553 มากถึง 144.63%ซึ่งเบิกจ่ายจำนวน 4,239.99 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2552 มีวงเงินเบิกจ่าย 4,846.31 ล้านบาท
"จังหวัดใดคาดการณ์ได้ว่าจะใช้เงินเกินกว่าวงเงิน 50 ล้านบาท ก็สามารถขอตกลงมาก่อนได้ ผ่านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยอำนาจของกรมบัญชีกลาง สามารถอนุมัติเพิ่มเติมได้อีกจังหวัดละไม่เกิน 200 ล้านบาท แต่หากจังหวัดใดใช้เงินเกินกว่า 200 ล้านบาท จะเป็นอำนาจอนุมัติของปลัดกระทรวงการคลัง"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,677 9 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554

Re: น้ำท่วมกดดัน บริษัท หรือ sector ไหนบ้าง

โพสต์แล้ว: อังคาร ต.ค. 11, 2011 9:30 pm
โดย kloysri
Home ลงทุน-อุตฯ การค้า-ส่งออก ส่งออกเครียดน้ำท่วม-หนี้ยุโรป
Air conditioners
ส่งออกเครียดน้ำท่วม-หนี้ยุโรป
วันอาทิตย์ที่ 09 ตุลาคม 2011 เวลา 09:47 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ การค้า-ส่งออก - การค้า-ส่งออก
User Rating: / 0
ผู้ส่งออกเครียด 2 ปัจจัยเสี่ยงกระทบโค้งสุดท้ายต่อเนื่องปีหน้า น้ำท่วมใหญ่ทำฟาร์มไก่ภาคเหนือ-กลางจมน้ำ ผลผลิตรวมหายกว่า 30% โรงงานอาหารจมน้ำ วัตถุดิบเสียหาย ขนส่งมีปัญหา ข้าวจมบาดาล 4 ล้านตัน วิกฤติหนี้ยุโรป คู่ค้าแห่ต่อราคา ไก่แปรรูปขอลด 200 ดอลล์ต่อตัน จำนำข้าวราคาสูงพ่นพิษ โมเดิร์นเทรดหันซื้อข้าวหอมญวน-เขมร
นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทในเครือฉวีวรรณ ผู้ส่งออกไก่แปรรูปรายใหญ่ไปสหภาพยุโรป(อียู) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากน้ำท่วมครั้งใหญ่ในหลายจังหวัดพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลางของไทยในเวลานี้ มีผลให้ฟาร์มไก่เนื้อรวมถึงไก่ไข่ในเขตจังหวัด พิษณุโลก นครสวรรค์ ลพบุรี อยุธยา ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมขัง รวมถึงไก่จมหายไปกับกระแสน้ำคิดเป็นสัดส่วน 20-30% ของผลผลิตรวมในแต่ละพื้นที่
อย่างไรก็ดีผลผลิตที่หายไปดังกล่าวยังไม่ถึงกับทำให้โรงงานผลิตไก่แปรรูปเพื่อส่งออกขาดแคลนวัตถุดิบ ทั้งนี้สืบเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ที่ส่งผลทำให้ผลผลิตไก่เนื้อ และไก่ไข่ของไทยในช่วงปลายปี 2553 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2554 ได้รับความเสียหายประมาณ 30% ของการผลิตในภาพรวม แต่ภายหลังสถานการณ์ดีขึ้น และจากราคาไก่เนื้อและไก่ไข่ปรับตัวสูงขึ้นจูงใจเกษตรกรเลี้ยงเพิ่ม ทำให้ผลผลิตไก่ในภาพรวมของประเทศเพิ่มขึ้น ดังนั้นปริมาณไก่ที่ได้รับความเสียหายในครั้งนี้จึงไม่ส่งผลกระทบรุนแรง แต่หากจากนี้ไปสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงขึ้นกว่าที่คาดคิดอาจส่งผลกระทบวัตถุดิบไม่เพียงพอได้เช่นกัน
"สิ่งที่ผู้ส่งออกไก่มีความเป็นกังวลมากกว่าน้ำท่วมคือ ปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นในยุโรปมีผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ทำให้คู่ค้าได้ขอต่อรองราคาสินค้าสำหรับออร์เดอร์ปีหน้าที่ลดลงอย่างมาก เช่น จากราคา 5,200 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เหลือเพียง 5,000 ดอลลาร์ต่อตัน แต่เราก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้และขอประวิงเรื่องข้อตกลงราคาเอาไว้ เพราะที่ผ่านมา และจากนี้ไปแนวโน้มต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น ทั้งจากนโยบายค่าจ้าง 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ที่จะเริ่มในปีหน้า และผลจากน้ำท่วมทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งข้าวโพด ปลายข้าว รำข้าว และน้ำมันที่ใช้เป็นส่วนผสมปรับตัวสูงขึ้น แต่สำหรับออร์เดอร์ไก่ไปอียูในปีนี้ไม่กระทบมาก เพราะส่วนใหญ่ได้ตกลงออร์เดอร์กันไปแล้ว ส่วนใหญ่เวลานี้อยู่ระหว่างการผลิตส่งมอบ ราคายังเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้"
ขณะที่นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า จากน้ำท่วมใหญ่ในครั้งนี้ ข้อมูลของทางการระบุนาข้าวได้รับความเสียหาย 6-7 ล้านไร่ ผลผลิตข้าวเปลือกหายไป 3-4 ล้านตัน จะทำให้โครงการรับจำนำข้าวเปลือกราคาสูงของรัฐบาลที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมศกนี้ในช่วงแรกๆ คงมีข้าวเข้าร่วมโครงการไม่มาก แต่ระยะต่อไปรวมถึงปีหน้าจะมีข้าวเข้าโครงการจำนวนมากอย่างแน่นอน เพราะราคาจูงใจ เกษตรกรจะแห่ปลูกเพิ่ม
แต่สิ่งที่น่าห่วงมากกว่าในขณะนี้คือสถานการณ์ส่งออกข้าวของไทยในตลาดโลกได้หยุดชะงักลงแทบไม่มีคำสั่งซื้อใหม่ๆ เข้ามา มีปัจจัยสำคัญจากอินเดียได้กลับมาส่งออกข้าวอีกครั้ง ปากีสถานปีนี้ก็มีผลผลิตข้าวที่ดี ขณะที่ราคาข้าวหอมของเวียดนาม และกัมพูชา ราคาถูกกว่าไทย ทำให้คู่ค้าหันไปซื้อข้าวจากประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งข้าวที่วางขายตามโมเดิร์นเทรดที่ส่วนใหญ่เป็นข้าวเกรดพรีเมียม และวางแผนซื้อระยะยาวเป็นปี ในอนาคตหากราคาข้าวไทยสูงขึ้นไปอีกจากนโยบายรับจำนำราคาสูง ไทยอาจสูญเสียตลาดส่วนนี้ไปอย่างถาวร ซึ่งน่าเสียดาย ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปที่ถดถอย ราคาข้าวที่สูงของไทยจะทำให้ลูกค้าทั้งสองตลาดไปซื้อข้าวจากประเทศอื่นเพิ่มขึ้น เพราะสู้ราคาข้าวไทยไม่ไหว
ด้านนายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลกระทบน้ำท่วมครั้งนี้ทราบว่า มีผลทำให้โรงงานอุตสาหกรรมการผลิตอาหารหลายโรงได้รับผลกระทบเช่นกัน ทั้งในแง่น้ำท่วมตัวโรงงาน วัตถุดิบป้อนโรงงานได้รับความเสียหาย การขนส่งต่างๆ เกิดการติดขัด ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลความเสียหาย ส่วนผลกระทบจากเศรษฐกิจอียู ในส่วนสินค้าอาหารก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยการส่งออกไปยังประเทศกรีซมีแนวโน้มชะลอตัว แต่ในภาพรวมตลาดอียูยังไปได้เพราะอาหารเป็นสินค้าจำเป็น คาดในภาพรวมปีนี้การส่งออกสินค้าอาหารของไทยไปทุกตลาดทั่วโลกจะสามารถส่งออกได้มูลค่ากว่า 9 แสนล้านบาทตามเป้าหมายที่วางไว้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,677 9 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554

Re: น้ำท่วมกดดัน บริษัท หรือ sector ไหนบ้าง

โพสต์แล้ว: อังคาร ต.ค. 11, 2011 9:36 pm
โดย SamuelYeD
กลุ่มยานยนต์

ขาด Part ต่างๆ ที่ใช้ประกอบรถยนต์และวิกฤตครั้งนี้หนักกว่าสึนามิเมื่อต้นปี

เพราะ Spare Part ที่ผลิตในประเทศ ไม่สามารถผลิต/ส่งได้ ซึ่งผู้ผลิตยานยนต์ส่วนใหญ่ใช้ระบบ Just in time จึงไม่มีการทำสต็อคไว้เยอะ

ต่างจากตอนสึนามิที่มีการทำสต็อคไว้บาง

สึนามิแค่ลดกำลังการผลิต แต่ครั้งนี้ผูผลิตรถยนต์ถึงกับ Shutdown Plant

กลุ่มยานยนต์มีปัญหา จะชิ่งไปกระทบกลุ่มอื่นๆที่ Supply ให้กลุ่มนี้อีก