โค้ด: เลือกทั้งหมด
บทความ Value Way ฉบับวันที่ 2 กรกฎาคม 2555
โดย ประภาคาร ภราดรภิบาล
หุ้นตก – จิตตก
“หุ้นร่วงหนัก หวั่นวิกฤติลามทั่วโลก นักลงทุนแห่ทิ้งหุ้น” แน่นอน พาดหัวข่าวเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าพิสมัยสำหรับนักเล่นหุ้นส่วนใหญ่ เพราะไม่มีใครอยากเห็นหุ้นแดงทั้งกระดาน ให้รันทดจิตใจ ไม่มีใครอยากให้ “กำไร” ที่เคยได้ กลับกลายเป็น “ขาดทุน” ไปต่อตา และคำถามยอดฮิตที่ตามมาในภาวะที่หุ้นตกก็คือ “หุ้นตกอย่างนี้ ควรทำอย่างไร?” ในสายตาของเซียนหุ้นบันลือโลกอย่าง “ปีเตอร์ ลินซ์” มองว่า หุ้นตกเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการลงทุนในตลาดหุ้น “การตกต่ำของตลาดหุ้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ไม่ต่างไปจากการเกิดพายุหิมะในเดือนมกราคมที่รัฐโคโลราโด ถ้าคุณมีการเตรียมตัว มันจะไม่สามารถทำร้ายคุณได้” และยังเตือนสตินักลงทุนที่กำลัง “จิตตก” ว่า ถ้ากลัวหุ้นตกก็อย่าเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น “หากคุณมีแนวโน้มที่จะขายทุกสิ่งทุกอย่างออกไปในภาวะตื่นตระหนก คุณควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้น รวมทั้งการลงทุนในกองทุนหุ้นด้วย” “ปีเตอร์ ลินซ์” ถือว่า “หุ้นตก” เป็น “โอกาส” เขาบอกว่า “การตกลงของตลาดหุ้นจะเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ของการเข้าไปซื้อหุ้นในราคาถูก ซึ่งนักลงทุนที่ตื่นตระหนกเทขายออกมา”
“ลินซ์” เคยเล่าไว้ในหนังสือ “One Up on Wall Street” ว่า ตอนที่เขาได้รับหน้าที่บริหารกองทุนฟิเดลลิตี้แม็คเจ็ลลันในปี 1977 ดัชนีตลาดหุ้นร่วงจาก 899 จุด ลงมา เหลือ 801 จุด ร่วงลงมาเกือบ 100 จุด ตอนนั้นเจ้านายของเขาแนะนำว่า ควรลดจำนวนหุ้นในพอร์ตของกองทุน จาก 40 ตัว ให้เหลือแค่ 25 ตัวก็พอ แทนที่ “ลินซ์” จะทำตามที่เจ้านายบอก เขากลับทำตรงกันข้าม ออกไปซื้อหุ้นเข้ากองทุนเพิ่มเป็น 60 ตัว เท่านั้นยังไม่พอ ! อีก 6 เดือนต่อมาซื้อเพิ่มเป็น 100 ตัว และหลังจากนั้นก็ซื้อเพิ่มอีกเป็น 150 ตัว ทำตัวเหมือนกับเป็นลูกน้องหัวดื้อ ไม่เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา แต่ “ลินซ์” มีเหตุผล เขาบอกว่า ที่กล้าตัดสินใจซื้อหุ้นสวนทางกับคำแนะนำของเจ้านายก็เพราะ ช่วงเวลานั้นมีหุ้นดีๆราคาถูกเต็มไปหมด จนเขาอดใจไม่ไหวที่จะซื้อมาไว้ในพอร์ต
โชคดีของ “ลินซ์” ที่มีเจ้านายใจกว้าง และเคารพการตัดสินใจของเขา จึงทำให้ “ลินซ์” สามารถสร้างผลงานการลงทุนที่ยอดเยี่ยม จากกองทุนที่มีทรัพย์สิน 20 ล้านเหรียญ เติบโตขึ้นเป็นกองทุนขนาดใหญ่มีมูลค่าทรัพย์สินถึง 9,000 ล้านเหรียญ และต่อมาเมื่อเขาตัดสินใจเกษียณจากการบริหารกองทุนในปี 1990 มูลค่ากองทุนได้เพิ่มขึ้นเป็น 14,000 ล้านเหรียญ อย่างที่ไม่เคยมีผู้จัดการกองทุนคนไหนทำได้มาก่อน ส่วนเซียนหุ้นผู้ยิ่งใหญ่อย่าง “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เคยกล่าวถึงกรณี “หุ้นตก” เอาไว้ว่า “ถ้าคุณไม่สามารถดูหุ้นที่คุณถืออยู่ตกลงไป 50% ได้ โดยไม่รู้สึกขวัญผวา คุณก็ไม่ควรอยู่ในตลาดหุ้น" ได้ยินอย่างนี้หลายคนคงแย้งว่า ไม่ต้องให้หุ้นตกถึง 50% หรอก แค่ตกลงมา 10-15% ก็เผ่นพันลี้ ขายหุ้นทิ้งแทบไม่ทันแล้ว เพื่อให้เป็นกรณีศึกษา “บัฟเฟตต์” ได้หยิบยก “โคคา-โคล่า” หุ้นโปรดของเขาที่เคยติดลบ 50% มาบอกเล่าเป็นตัวอย่าง
“โคคา-โคล่าเข้าสู่ตลาดหุ้นในปี 1919 ราคาอยู่ที่ 40 เหรียญต่อหุ้น ในปีต่อมามันลดลงเหลือ 19 เหรียญ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ราคาน้ำตาลได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก คุณคงจะเสียเงินไปมากกว่าครึ่งหากคุณซื้อหุ้นตอนที่มันเพิ่งเข้าสู่ตลาด แต่ถ้าคุณยังถือหุ้นอยู่จนถึงทุกวันนี้ และนำเงินปันผลที่ได้รับกลับไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง มันจะมีค่าประมาณ 1.8 ล้านเหรียญ
เราเจอสภาพเศรษฐกิจตกต่ำหลายครั้ง ภาวะสงครามหลายหน ราคาน้ำตาลขึ้นๆลงๆ มีเรื่องต่างๆเป็นล้านๆเรื่องเกิดขึ้น การพิจารณาว่าสินค้าตัวนั้นดีจริงหรือไม่ และสถานะทางการเงินของกิจการนั้นจะเอาตัวรอดได้หรือไม่ จะเป็นประโยชน์กับเรามากกว่าการที่เรามัวแต่จะคิดว่า เราจะกระโจนเข้าหรือจะกระโจนออกจากหุ้นตัวนั้น” ถ้าราคาหุ้นตกต่ำโดยที่พื้นฐานของกิจการไม่ได้แย่ลง “บัฟเฟตต์” ถือว่า นั่นคือ “โอกาส” ไม่ใช่ “วิกฤติ” “ตราบเท่าที่คุณยังรู้สึกดีเกี่ยวกับธุรกิจที่คุณเป็นเจ้าของ คุณควรยินดีกับราคาหุ้นที่ต่ำลง ในแง่ที่คุณจะสามารถซื้อหุ้นเพื่อทำกำไรเพิ่มขึ้น” ดังนั้นในช่วงที่เกิดวิกฤติใหญ่ๆ เราจะได้ข่าวว่า “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ออกมาซื้อ “ของดี ราคาถูก” อยู่เสมอ เพราะหุ้นตกหนักๆแต่ละครั้ง มันก็เหมือนกับเทศกาล “แกรนด์เซลล์” สำหรับบรรดาเซียนหุ้นนั่นเอง