โค้ด: เลือกทั้งหมด
บทความ Value Way กรุงเทพธุรกิจ Bizweek ฉบับวันที่ 30 กรกฎาคม 2555
โดย ประภาคาร ภราดรภิบาล
“อย่าลืมกฎข้อที่ 1”
คนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นนั้น ไม่ได้แค่พก “เงินลงทุน” เข้ามาเพียงอย่างเดียว แต่ยังพกพา “ความคาดหวัง” เข้ามาด้วย และมักจะเป็นความคาดหวังในด้านบวก คือคาดหวัง “กำไร” จากตลาดหุ้น ตั้งแต่กำไรเล็กๆน้อยๆพอได้ค่ากับข้าว ไปจนถึงกำไรเป็นกอบเป็นกำ ร่ำรวยเป็นเศรษฐี และมีอิสรภาพทางการเงิน ซึ่งความคาดหวังดังกล่าวก็ใช่ว่าจะเป็นเพียงความคาดหวังลมๆแล้งๆที่เป็นไปไม่ได้ เพราะหลายต่อหลายปีที่ผ่านมา การลงทุนในตลาดหุ้นสามารถเปลี่ยนสถานะนักลงทุนให้เป็นเศรษฐีกันมานักต่อนัก
แต่ต้องไม่ลืมว่า ตลาดหุ้นไม่ได้ให้เพียงผลตอบแทนที่เป็น “กำไร” อย่างที่คนส่วนใหญ่คาดหวัง เพราะในทางตรงกันข้าม ก็มี “ผู้ผิดหวัง” จากตลาดหุ้นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน อุตส่าห์นำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเพื่อหวัง “กำไร” แต่กลับกลายเป็น “ขาดทุน”
การขาดทุนเพียงเล็กๆน้อยๆอาจจะยังไม่เท่าไหร่ แต่หลายรายขาดทุนมากๆจนพากันเข็ดขยาดและหันหลังให้ตลาดหุ้นไปเลยก็มี และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือบางรายขาดทุนหนักจนถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัว เป็นหนี้เป็นสิน
สำหรับนักลงทุนแล้ว “การขาดทุน” ถือเป็น “สิ่งที่ไม่พึงปรารถนา” อย่าว่าแต่นักลงทุนทั่วๆไปเลยครับ แม้กระทั่งบรรดาเซียนหุ้นก็ยังพยายามที่จะหลีกเลี่ยง
นักลงทุนรุ่นใหญ่ระดับโลกอย่าง “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เคยกล่าวถึง “กฎการลงทุน” ของเขาไว้ว่า
กฎข้อที่ 1 : อย่าขาดทุน
ทำไม “บัฟเฟตต์” ถึงให้ความสำคัญในเรื่องของการขาดทุน จนถึงกับตั้งเป็นกฎข้อแรก
นั่นแสดงให้เห็นว่า เขาลงทุนแบบ “Safety First - ปลอดภัยไว้ก่อน” เน้นการ “ไม่เสียเงิน” มากกว่าการ “ทำเงิน”
แทนที่จะ “เล็งผลเลิศ” เพียงด้านเดียวว่าต้องได้กำไรเท่านั้นเท่านี้ ซึ่งในความเป็นจริงอาจไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าเอาไว้ เพราะสิ่งที่ไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นได้เสมอในตลาดหุ้น “บัฟเฟตต์” ใช้วิธี “เล็งผลร้าย” ไว้ก่อน ด้วยการประเมินว่า ถ้ามีปัจจัยเลวร้ายเกิดขึ้นมา เขาจะเสียหายหรือไม่เพียงใด เพื่อจะได้เผื่อความปลอดภัยในการลงทุนเอาไว้
ครั้งหนึ่ง “บัฟเฟตต์” เคยให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ไว้ว่า “ผมมักมองถึงผลลบหรือ Downside ของการลงทุนก่อนเสมอ หมายความว่าถ้าคุณไม่ขาดทุน คุณก็สามารถทำกำไรได้”
ด้วยมุมมองนี้เองที่ทำให้เขาสามารถยืนหยัดอยู่บนถนนการลงทุนมาได้อย่างยาวนาน
นอกจาก “บัฟเฟตต์” แล้ว เซียนหุ้นชื่อดังท่านอื่นๆก็มีความเห็นในทำนองเดียวกัน
“แอนโทนี่ โบลตัน” ผู้จัดการกองทุนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของประเทศอังกฤษ กล่าวว่า งานของนักลงทุนมืออาชีพ ไม่ใช่แค่การมองหาหุ้นดีๆ แต่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงหายนะด้วย
“วิลเลียม โอนีล” เซียนหุ้นเจ้าของผลงานหนังสือ “How to Make Money in Stocks” กล่าวว่า เคล็ดลับของการประสบความสำเร็จในตลาดหุ้น ไม่ใช่การซื้อหุ้นถูกตัวทุกครั้ง แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่การขาดทุนให้น้อยที่สุดเมื่อคุณคิดผิด
เหตุผลที่ต้องระมัดระวังกับ “การขาดทุน” อีกประการหนึ่งก็คือ การขาดทุนทำให้ “เงินต้น” หดหาย ซึ่งการจะกอบกู้กลับมาได้นั้นทำได้ยากกว่าตอนที่เสียไป ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณนำเงินก้อนหนึ่งไปลงทุน แล้วปรากฏว่าขาดทุนไป 50% เท่ากับเงินลงทุนของคุณเหลือเพียงครึ่งเดียว การที่คุณจะใช้เงินลงทุนที่เหลืออยู่ไปทำกำไรให้ได้เงินกลับมาเท่าเดิมได้ คุณจะต้องทำกำไรให้ได้ถึง 100% หรือกำไร 1 เท่าตัว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
แม้แต่พ่อมดการเงินผู้ยิ่งใหญ่อย่าง “จอร์จ โซรอส” ก็ยังมีกฎว่า จงรักษาเงินต้นไว้ให้ได้เสมอ เขาเปรียบเปรยว่า การขาดทุนไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใด ทำให้เขารู้สึกเหมือนเดินถอยหลังกลับไปสู่จุดต่ำสุดของชีวิตอีกครั้ง
เพราะฉะนั้นในการลงทุนจึงไม่ควรจับจ้องอยู่แต่เพียงผลกำไร จนมองข้ามปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เราขาดทุน
กฎที่ว่า “อย่าขาดทุน” ของ “บัฟเฟตต์” นั้น อีกมุมหนึ่งก็เหมือนเป็นการเตือนสตินักลงทุนว่า การลงทุนแต่ละครั้ง ควรทำด้วยความรอบคอบ ศึกษาข้อมูลให้ดี มีการวิเคราะห์อย่างรอบด้านเพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด
แต่อย่างไรก็ตาม ในยามที่เกิดปัญหาหรือวิกฤติหนักๆ ก็อาจเป็นเรื่องสุดวิสัยที่นักลงทุนจะหลีกเลี่ยงจากสภาวะขาดทุนได้ ซึ่งเรื่องนี้ “บัฟเฟตต์” มองว่า นักลงทุนอาจขาดทุนในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้วไม่ขาดทุนอย่างถาวรแน่นอน ถ้าลงทุนอย่างรอบคอบและเผื่อความปลอดภัยเอาไว้เป็นอย่างดี
“อย่าขาดทุน” คือ กฎการลงทุนข้อที่ 1 ของ “บัฟเฟตต์” หลายคนคงอยากรู้ว่ากฎข้อที่ 2 คืออะไร
กฎข้อที่ 2 ของ “บัฟเฟตต์” ก็คือ “อย่าลืมกฎข้อที่ 1”
ถ้าลืม... กรุณาย้อนกลับไปอ่านใหม่อีกครั้ง !