หน้า 1 จากทั้งหมด 1

คาใจมาตลอด การทุบ และการไล่ราคา

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ต.ค. 11, 2012 8:07 pm
โดย CARPENTER
บางครั้งผมเห็นการทุบและการไล่ราคา
เอาการทุบหุ้นแล้วกัน ทั้งๆที่ผมเห็นว่า ถ้าคนขายตั้ง offer ก็ขายได้แต่กับเคาะซ้าย
ลงไปทีละหลายๆช่อง ทำเพื่ออะไรเงินก็ได้น้อยลง แล้วคนทุบหุ้นจะได้อะไรหุ้นมันก็จะลง
พร้อมๆกับที่เขาเสียหุ้นไป หรือว่าคนทุบหุ้นจะได้กำไรทุกครั้งถ้าทุบแล้วมันลง
เพราะเค้าจะไล่ขายจากราคาสูงไปหาต่ำ แต่ตอนซื้อกับเค้าก็จะซื้อจากต่ำไปหาสูง
เป็นไปได้ไม๊ทุกอย่างใช้ software คำนวณ ว่าหุ้นแข็งขนาดไหนจะต้องใช้หุ้น
ปริมาณเท่าไหร่ทุบลงไปให้ลึกกี่ช่อง เมื่อเริ่มขายจะมีคนขายตามมาเอง
เมื่อทุบไปถึงจุดที่ software กำหนดไว้แล้วค่อยๆซื้อกลับ จะได้กำไรเสมอ
เพราะถ้าทุบแบบไม่มีการคำนวณ ทุบแบบมั่วๆ ตอนซื้อกลับอาจจะขาดทุน
ผมอยากรู้จริงๆว่า มี software ในการเล่นแบบนี้ไม๊

Re: คาใจมาตลอด การทุบ และการไล่ราคา

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ต.ค. 11, 2012 8:39 pm
โดย prichar s.
เห็นว่าคาใจมากมายเลยลองถามอากู๋มาให้

ทุบหุ้นก็คือการสร้างราคาหุ้นแบบนึง ที่ราคาหุ้นไม่ได้เคลื่อนไหวตามกลไกตลาด
หรืออุปสงค์อุปทานแบบที่เรียนๆ กัน

คำว่าทุบหุ้น ก็คือการสร้างราคาหุ้นหรือกดราคาหุ้นให้ต่ำลง กระทำโดยรายใหญ่
หรือกองทุน ด้วยการขายหุ้นที่ถืออยู่ปริมาณมากออกมา ทำให้อุปทานมีมากเกิน
ที่อุปสงค์ความต้องการซื้อจะรับไหว หรือถ้าตามภาษาเทรดหุ้น ก็เหมือนกับ
ทุบฝั่ง bid (ฝั่งซ้าย) ไหลลงทีละหลายๆ ช่องนั่นล่ะคับ

วัตถุประสงค์ของการทุบหุ้น ส่วนมากจะเพื่อให้ตัวเจ้ามือหรือรายใหญ่เอง
สามารถซื้อคืนได้ในราคาที่ถูกกว่าเดิม เหมือนกินเปล่าฟรีๆ นั่นล่ะคับ
ขายที่ราคาสูงกว่า ทุบจนหุ้นราคาตกลงมา รอรายย่อยตกใจเทขายตาม
ก็ค่อยซื้อคืนราคาถูกๆ เป็นเช่นนี้แล


แถมนี่ให้อีกหน่อย

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่มีการขึ้นลงตลอดเวลานั้น สร้างความรู้สึกให้แก่นักลงทุนแต่ละประเภทแตกต่างกันไป กลุ่มที่เป็นนักเก็งกำไรในตลาดหุ้นอาจมีความเห็นว่าตลาดปีนี้เล่นยากเหลือเกิน เดาลำบาก ไม่รู้จะเก็งทางไหนดี ส่วนกลุ่มที่เน้น Fund Flow คืออาศัยการเข้าออกของเงินทุนเป็นสำคัญก็ต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจมหภาคอย่างใกล้ชิด ทั้งวิกฤติหนี้ในยุโรป และปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำเรื้อรังที่อเมริกา ส่วนกลุ่มที่เน้นการวิเคราะห์ธุรกิจแบบ Bottom Up คือเน้นวิเคราะห์เป็นรายบริษัทไปนั้น อาจไม่ได้สนใจภาวะตลาดโดยรวมเท่าไหร่ โดยสนใจเพียงประสิทธิภาพการทำกำไรและสุขภาพของบริษัทที่เราลงทุนเป็นสำคัญก็พอ

เมื่อการวิเคราะห์ต่างกัน การขึ้นๆลงๆของราคาหุ้นของแต่ละคนก็ย่อมมีเหตุผลที่ต่างกัน แต่แบบไหนที่มี "ความยั่งยืน" มากกว่ากัน?

(คำว่ายั่งยืนในที่นี้ มีความหมายว่าเป็นการขึ้นหรือลงของราคาหุ้นที่มีแนวโน้มค่อนข้างถาวร)

การขึ้นลงของราคาหุ้นในมุมมองของนักเก็งกำไรจะมีเรื่องของฝีมือของ "จ้าว" หรือ "เจ้ามือ" เป็นสำคัญ เช่นถ้าหากหุ้นขึ้น นักเก็งกำไรอาจบอกว่าวันนี้เจ้ากำลังไล่ราคา และเมื่อหุ้นลงก็จะระบุว่าหุ้นถูกเจ้า "ทุบ" ดังนั้นในความเห็นของผม การขึ้นลงของราคาหุ้นแบบนี้ไม่มีความยั่งยืนเลย เพราะไปผูกติดอยู่กับความประสงค์ของคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่เป็น "เจ้ามือ" เท่านั้น การลงทุนโดยหวังว่าหุ้นจะขึ้นด้วยเหตุผลเช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอันตราย หรือถ้าหากมองด้วยสายตาของนักลงทุนที่เน้นการเข้าออกของ Fund Flow หรือ "ฝรั่ง" ก็จะมองว่าหุ้นจะขึ้นหรือลงได้เมื่อมีการโยกย้ายเงินทุนไปมาในแต่ละตลาดเป็นสำคัญ การเข้าไปเล่นรอบแบบนี้อาจมีเหตุผลรองรับมากกว่าแบบเก็งกำไรล้วนๆ แต่นั่นก็ยังไม่ถือว่าเป็นการขึ้นลงของราคาหุ้นที่มีความยั่งยืนเพียงพอ เนื่องจากเราต้องไปกะเกณฑ์ว่าเมื่อไหร่เงินฝรั่งจะเข้าและเมื่อไหร่จะออก เป็นเช่นนี้อยู่ร่ำไป

การขึ้นลงของราคาหุ้นที่ผมเชื่อว่ามีความยั่งยืนมากกว่าก็คือการขึ้นลงที่มาจากเหตุผลภายในของตัวธุรกิจแต่ละธุรกิจเอง เช่นการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของกำไร หรือการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของเงินปันผล เป็นต้น เพราะการวิเคราะห์การขึ้นลงของหุ้นด้วยเหตุผลแบบนี้ อย่างน้อยที่สุดเราจะพอรู้ว่า "ก้นเหว" ของมันอยู่ที่ไหน เช่น ที่ราคาหุ้น 10 บาท หุ้น A มีการจ่ายเงินปันผลที่ 0.60 บาทต่อหุ้น คิดเป็น Dividend Yield = 6% หากหุ้น A โดนเจ้ามือทุบ, ฝรั่งเทขาย จนเหลือหุ้นละ 5 บาท คิดเป็น Dividend Yield = 12% ซึ่งถือว่ามากพอที่จะดึงดูดนักลงทุนระยะยาวที่เน้นเงินปันผล อาจรวมถึงกองทุนรวมต่างๆให้เข้ามาลงทุนที่ราคานี้ ดังนั้นเราน่าจะพออนุมานได้ว่าต่อให้ตลาดเลวร้ายอย่างไร หุ้น A ก็ไม่น่าตกเกินกว่า 5 บาทอันเป็นจุดที่ความไม่มีเหตุผลของ Dividend Yield เพิ่มมากเกินไป

ข้อแม้สำคัญของความยั่งยืนแบบนี้คือตัวธุรกิจของหุ้นนั้นต้องมีความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนด้วย เพื่อให้ตาข่ายรองรับราคาหุ้นอย่างเช่นเงินปันผลมีความแน่นอน และยิ่งหากมันมีอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็เหมือนเป็นการปรับระดับตาข่ายรองรับราคาหุ้นเหล่านี้ให้สูงขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ซึ่งผมเชื่อว่าไม่ว่าตลาดจะเป็นอย่างไร หุ้นเหล่านี้ก็จะยังอยู่รอดปลอดภัย และราคาหุ้นก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยอย่างยั่งยืนครับ

นี่ก็เซียนให้ความรู้ไว้

" การปั่นหุ้น (รู้ไว้ไม่เสียหายนะครับ)"

แมลงเม่า หมายถึง ปลวกในวัยเจริญพันธุ์ มีปีก ชอบบินเข้าเล่นแสงไฟในยามค่ำคืน และมักจบชีวิตในเปลวไฟ
นักลงทุนรายย่อย หมายถึง ผู้คนซึ่งพอจะมีสตางค์ ที่เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้น เพราะทนต่อความยั่วยวนของราคาหุ้นที่ขึ้นลงหวือหวาไม่ได้ สุดท้ายมักจะหมดตัวไปกับหุ้นปั่น
ส่วนนิยามโดยสรุปของการปั่นหุ้น คือ การล่อ และลวงนักลงทุนรายย่อยให้เข้าไปซื้อหรือขายหุ้น ที่มีราคาสูงหรือต่ำกว่าสภาวะปกติ โดยเจตนาไม่สุจริต การเปรียบนักลงทุนรายย่อยว่าเป็นแมลงเม่า จึงเหมาะสมด้วยประการฉะนี้
ลักษณะของหุ้นที่นิยมปั่น
มีมูลค่าทางตลาด ( MARKET CAPITALISATION ) ต่ำ จะได้ไม่ต้องใช้จำนวนเงินมากในการไล่ราคา
ปัจจัยพื้นฐานยังไม่ดี เพื่อที่นักลงทุนสถาบันจะไม่เข้ามาซื้อขายด้วย ซึ่งจะทำให้ยากต่อการควบคุมปริมาณ และราคาหุ้น
มีราคาต่อหุ้น ( MARKET PRICE ) ต่ำ ถ้าราคาต่ำกว่า 10 บาทยิ่งดี ด้วยเหตุผลสองประการ หนึ่งเป็นผลทางจิตวิทยา เช่น หุ้นถูกไล่ราคา จาก 3 บาท เป็น 6 บาท ถึงแม้ราคาจะปรับขึ้นมา 100% แล้ว แต่คนยังรู้สึกว่าไม่แพง เพราะยังถูกกว่าราคาพาร์ ( PAR ) สองผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นนักลงทุนสถาบัน มักมีต้นทุนที่ราคาพาร์ หรือสูงกว่า แม้หุ้นจะขึ้นมามาก แต่ถ้าเขาเชื่อว่าแนวโน้มของธุรกิจดี เขามักจะไม่ขาย ( ถ้าแนวโน้มธุรกิจไม่ดี เขาก็ขายทิ้งไปนานแล้ว ) ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลว่านักลงทุนสถาบันจะเข้ามาแทรกแซงในการซื้อขาย
4) มีจำนวนหุ้นหมุนเวียนน้อย เพื่อความมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมปริมาณหุ้นได้ตามที่ต้องการ
5) ผู้ถือหุ้นใหญ่รู้เห็นเป็นใจ หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ถือหุ้นเพื่อการลงทุนระยะยาว จึงไม่สนใจเมื่อราคาหุ้นขึ้น หรือลงหวือหวามีข่าวดีมารองรับ ระยะหลังเริ่มมีการใช้ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นมาเป็นตัวล่อใจนักลงทุนรายย่อย เพื่อให้ตายใจว่าราคาหุ้นถูกไล่ขึ้นมาสมเหตุสมผล เช่น ข่าวการปรับโครงสร้างหนี้ ,ข่าวการร่วมกิจการ , กำไรรายไตรมาสที่พุ่งขึ้นสูงเป็นต้น
ขั้นตอนในการปั่นหุ้น
1) การเลือกตัวหุ้น นอกจากจะต้องเลือกตัวหุ้นที่มีลักษณะตามที่กล่าวไว้เบื้องต้นแล้ว ยังต้องมีการนับหุ้นด้วยว่าหุ้นตัวนี้ตอนนี้มีใครถืออยู่ในสัดส่วนเท่าไร หากจะเข้ามาปั่นหุ้น ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือนักลงทุนสถาบันจะเข้ามาแทรกแซงหรือไม่ ถ้าผู้ถือหุ้นรายใหญ่ให้ความร่วมมือด้วยก็จะง่ายขึ้น
2)การกระจายเปิดพอร์ตการลงทุน จะเปิดพอร์ตกระจายไว้สัก 4 - 5 โบรกเกอร์ ในชื่อที่แตกต่างกัน มักจะใช้ชื่อคนอื่นที่ไว้ใจได้เช่น คนขับรถ , เสมียน , คนสวน เพื่อป้องกันไม่ให้โยงใยมาถึงตนได้
3)การเก็บสะสมหุ้น มีหลายวิธีทั้งวิธีสุจริต และผิดกฎหมายในลักษณะการลวงให้คนทั่วไปเข้าใจว่า ราคาหุ้นตัวนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยทั่วไปการเก็บสะสมหุ้น มีวิธีดังต่อไปนี้
การทยอยรับหุ้น เมื่อเห็นว่าราคาหุ้นลงมามากแล้ว ก็ใช้วิธีทยอยซื้อหุ้นแบบไม่รีบร้อนวันละหมื่น วันละแสนหุ้น ขึ้นกับว่าหุ้นตัวนั้นมีสภาพคล่องมากน้อยขนาดไหน วิธีนี้เป็นวิธีสุจริตไม่ผิดกฎหมาย จะใช้เวลาในการเก็บหุ้นตั้งแต่ 2 สัปดาห์ถึง 2 เดือน
การกดราคาหุ้น ถ้าระหว่างที่กำลังเก็บสะสมหุ้น ยังไม่ได้ปริมาณที่ต้องการ เกิดมีข่าวดีเข้ามาหรือตลาดหุ้นเปลี่ยนเป็นขาขึ้น เริ่มมีรายย่อยเข้ามาซื้อหุ้นตัวนี้ ก็จะใช้วิธีขายหุ้นล็อตใหญ่ๆ ออกมาเป็นการข่มขวัญนักลงทุนรายย่อย ถือเป็นการวัดใจ นักลงทุนรายย่อยมักมีอารมณ์อ่อนไหว เห็นว่าถือหุ้นตัวนี้อยู่ 2 - 3 วันแล้วหุ้นยังไม่ไปไหน แถมยังมีการขายหุ้นล็อตใหญ่ๆ ออกมา ก็จะขายหุ้นทิ้งแล้วเปลี่ยนไปเล่นตัวอื่นแทน สุดท้ายหุ้นก็ตกอยู่ในมือรายใหญ่หมด วิธีนี้จะใช้เวลา 5 - 10 วัน
การเก็บแล้วกด วิธีนี้มักใช้เมื่อมีข่าววงใน ( INSIDE NEWS ) ว่าหุ้นตัวนี้กำลังจะมีข่าวดีเข้ามาหนุน ถ้าหุ้นตัวนั้นไม่มีสภาพคล่อง จะใช้วิธีโยนหุ้นไปมาระหว่างพอร์ตของตนที่เปิดทิ้งไว้
รายย่อยเมื่อเห็นว่าเริ่มมีการซื้อขายคึกคัก ก็จะเข้าผสมโรงด้วย คนที่ถือหุ้นอยู่แล้ว ก่อนนี้ไม่มีสภาพคล่อง จะขายหุ้นก็ขายไม่ได้ไม่มีคนซื้อ พอมีปริมาณซื้อขายมากขึ้นก็รีบขายหุ้นออก บางคนถือหุ้นมาตั้งแต่บาทหุ้นตกลงมาถึง 5 บาท พอเห็นหุ้นตีกลับขึ้นไป 5.5 บาท ก็รีบขายออก คิดว่าอย่างน้อยตนก็ไม่ได้ขายที่ราคาต่ำสุด ช่วงนี้รายใหญ่จะเก็บสะสมหุ้นให้ได้มากที่สุด โดยใช้เวลาประมาณ 5 วันทำการ
ขณะเดียวกันต้องคอยดูแลไม่ให้หุ้นมีราคาขึ้นไปเกิน 10 % เพื่อไม่ให้ต้นทุนของตนสูงเกินไปถ้าเกิดราคาสูงขึ้นมากจะใช้วิธีโยนขายหุ้นล็อตใหญ่ๆ ออกมา โดยให้พวกเดียวกันที่ตั้งซื้อ ( BID ) อยู่แล้วเป็นคนรับเมื่อได้จำนวนหุ้นตามที่ต้องการแล้ว สุดท้ายจะกดราคาหุ้นให้ต่ำลงมายังจุดเดิม โดยใช้วิธีโยนขายหุ้นโดยให้พวกเดียวกันตั้งซื้อเหมือนเดิม แต่จะทำอย่างหนักหน่วง และรวดเร็วกว่า ทำให้ราคาหุ้นลดอย่างรวดเร็ว ช่วงนี้จะใช้เวลา 3 - 5 วัน รายย่อยบางคนคิดว่าหมดรอบแล้ว จะรีบขายหุ้นออกมาด้วย
รายใหญ่ก็จะมาตั้งรับที่ราคาต่ำอีกครั้ง ช่วงนี้จะตั้งรับอย่างเดียว ไม่มีการไล่ซื้อ หรือไม่ก็หยุดการซื้อขายไปเลยให้เรื่องเงียบสัก 4 - 5 วันเป็นการสร้างภาพว่าก่อนข่าวดีจะออกมา ไม่มีใครได้ข่าววงในมาก่อนเลย รอจนวันข่าวดีประกาศเป็นทางการ จึงค่อยเข้ามาไล่ราคาหุ้น
วิธีสังเกตว่าในขณะนั้นเริ่มมีการสะสมหุ้นแล้วคือ ปริมาณซื้อขายจะเริ่มมากขึ้นผิดปกติ จากวันละไม่กี่หมื่นหุ้น เป็นวันละหลายแสนหุ้น ราคาเริ่มจะขยับแต่ไปไม่ไกลประมาณ 5-10% มองดูเหมือนการโยนหุ้นกันมากกว่า กดราคาหุ้นจนกว่าจะเก็บได้มากพอ แล้วค่อยไล่ราคาหุ้น
ข้อระวังอย่างหนึ่ง คือ มีหุ้นบางตัวโดยเฉพาะหุ้นตัวเล็กๆ นักลงทุนรายใหญ่มีข่าวอินไซด์ว่า ผลประกอบการงวดใหม่ที่จะประกาศออกมาแย่มาก หากภาวะการซื้อขายหุ้นตอนนั้นซึมเซา เขาจะเข้ามาไล่ซื้อ โยนหุ้นกันระหว่าง 2-3 พอร์ตที่เขาเปิดไว้ ให้ดูเหมือนรายใหญ่เริ่มเข้ามาเก็บสะสมหุ้นรายย่อยจะแห่ตาม รุ่งขึ้นรายใหญ่จะเทขายหุ้นขนานใหญ่ รายย่อยเริ่มลังเลใจ ขอดูเหตุการณ์อีกวัน
พอผลประกอบการประกาศออกมา ราคาก็หุ้นดิ่งเหวแล้ว รายย่อยจึงถูกดึงเข้าติดหุ้นราคาสูงในที่สุด
4) การไล่ราคาหุ้น เมื่อได้ปริมาณหุ้นมากพอ ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการไล่ราคา แต่การไล่ราคาต้องหาจังหวะที่เหมาะสมเหมือนกัน หากจังหวะนั้น ไม่มีเหตุผลเพียงพอ รายย่อยก็จะขายหุ้นทิ้งเมื่อราคาหุ้นขึ้นไปสูงพอประมาณ แต่หากหาเหตุผลมารองรับได้ รายย่อยจะยังถือหุ้นไว้อยู่ เพราะเชื่อว่าราคาหุ้น น่าจะสูงกว่านี้อีก กว่าจะรู้สึกตัว ปรากฏว่ารายใหญ่ขายหุ้นทิ้งหมดแล้ว เหตุผลหรือจังหวะที่ใช้ในการไล่ราคา มักจะใช้ 3 เรื่องนี้
ภาวะตลาดรวมเริ่มเป็นขาขึ้น
กราฟทางเทคนิคของราคาหุ้นเริ่มดูดี
มีข่าวลือ ซึ่งปล่อยโดยนักปั่นหุ้นว่า หุ้นตัวนี้กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงทางพื้นฐานไปในทางที่ดีขึ้น
การไล่ราคา คือ การทำให้ราคาปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว วิธีการคือ จะมีการเคาะซื้อครั้งละมากๆ แบบยกแถว แล้วตามด้วยการเสนอซื้อ ( BID ) ยันครั้งละหลายๆ แสนหุ้นจนถึงล้านหุ้น เพื่อข่มขวัญไม่ให้รายย่อยขายสวนลงมา
รายย่อยเห็นว่าแรงซื้อแน่น จะถือหุ้นรอขายที่ราคาสูงกว่านี้ รายใหญ่บางคนอาจจะแหย่รายย่อยด้วยการเทขายหุ้นครั้งละหลายแสนหุ้น เหมือนแลกหมัดกับหุ้นที่ตนเองตั้งซื้อไว้เอง รายย่อยอาจเริ่มสับสนว่ามีคนเข้ามาซื้อแต่เจอรายใหญ่ขายสวน ราคาจึงไม่ไปไหน สู้ขายทิ้งไปเสียดีกว่า รายใหญ่จะโยนหุ้นแหย่รายย่อยอยู่สัก 1-2 ชั่วโมง จากนั้นจะตามมาด้วยการไล่ราคาอย่างจริงจังทีละขั้นราคา ( STEP )
ถ้าหุ้นที่ปั่นเป็นหุ้นตลาด คนชอบซื้อขายกัน การไล่ราคาจะไล่แบบช้าๆ แต่ปริมาณ ( VALUME ) จะสูง ราคาเป้าหมายมักจะสูงขึ้นประมาณ 20-25% หากภาวะตลาดกระทิง ราคาเป้าหมายอาจจะสูงถึง 50% แต่ถ้าหุ้นที่ปั่นเป็นหุ้นตัวเล็กพื้นฐานไม่ค่อยดี ปริมาณการซื้อในช่วงเวลาปกติมีไม่มาก การไล่ราคาจะทำอย่างรวดเร็ว ราคาเป้าหมายมักจะสูงถึง 40-50% ถ้าเป็นภาวะกระทิง ราคาเป้าหมายอาจขยับสูงถึง 100%
ช่วงไล่ราคานี้ อาจจะกินเวลา 3 วันถึง 1 เดือน ขึ้นกับว่าเป็นหุ้นอะไร ภาวะตลาดอย่างไร เช่น ถ้าเป็นหุ้นเก็งกำไรที่ไม่มีพื้นฐานจะกินเวลาสั้น แต่ถ้าเป็นหุ้นพื้นฐานดีจะใช้เวลานานกว่า และถ้าเป็นภาวะกระทิง นักปั่นหุ้นจะยิ่งทอดเวลาออกไป เพื่อให้ราคาหุ้นขึ้นไปสูงที่สุดเท่าที่ตั้งเป้าเอาไว้
ในช่วงต้นของการไล่ราคา นักลงทุนรายใหญ่อาจยังคงมีการสะสมหุ้นเพิ่มอยู่บ้าง แต่รวมกันต้องไม่เกิน 5% ของทุนจดทะเบียนในแต่ละพอร์ตที่ใช้ปั่นหุ้นอยู่ พอปลายๆ มือจะใช้วิธีไล่ราคาแบบไม่เก็บของ คือ ตั้งขายเอง เคาะซื้อเอง เมื่อซื้อได้ ก็จะนำหุ้นจำนวนนี้ย้อนไปตั้งขายอีกในราคาที่สูงขึ้น และเคาะซื้อตามอีก
ทำเช่นนี้หลายๆ รอบ สลับกันไปมาระหว่างพอร์ตต่างๆของตนเอง ค่อยๆ ดันราคาสูงขึ้นไปเรื่อยๆ หากมีหุ้นของรายย่อยถูกซื้อติดเข้ามาจนรู้สึกว่าเป็นภาระมากเกินไป ก็อาจมีการเทขายระบายของออกไปบ้าง แต่เป็นการขายไม้เล็กๆ ในลักษณะค่อยๆ รินออกไป เพื่อไม่ให้นักลงทุนรายย่อยตกใจเทขายตามมากเกินไป ตัวหุ้นเองจะได้มีการปรับฐานตามหลักเทคนิค เพื่อจูงใจนักลงทุนรายใหม่ที่ยังไม่ได้ซื้อ จะได้กล้าเข้ามาซื้อ
5) การปล่อยหุ้น เมื่อหุ้นขึ้นมาได้ 80% ของราคาเป้าหมายแล้ว ระยะทางที่เหลืออีก 20% ของราคาคือช่วงของการทยอยปล่อยหุ้น ช่วงนี้จะเป็นช่วงชี้เป็นชี้ตายการลงทุนของนักปั่นหุ้น ถ้าทำพลาด นักลงทุนรายย่อยรู้เท่าทัน หรือตลาดไม่เป็นใจ เช่น เกิดสงครามโดยไม่คาดฝัน นักปั่นหุ้นเองที่จะเป็นผู้ติดหุ้นอยู่บนยอดไม้ จะขายก็ไม่มีใครมารับซื้ออาจต้องรออีก 6 เดือนถึง 1 ปีกว่าจะมีภาวะกระทิงเป็นจังหวะให้ออกของได้อีกครั้ง อีกทั้งอาจจะไม่ได้ราคาดีเท่าเดิม หรือถึงกับขาดทุนก็ได้
วิธีการปล่อยหุ้น เริ่มจากการรอจังหวะที่ข่าวดีจะประกาศออกมาเป็นทางการ นักปั่นหุ้นซึ่งรู้มาก่อนแล้วจะเริ่มไล่ราคาอย่างรุนแรง 4-5 ช่วงราคา มีการโยนหุ้น เคาะซื้อเคาะขายกันเองครั้งละหลายแสนหุ้นปริมาณซื้อขายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพื่อดึงดูดความสนใจของรายย่อย
เมื่อรายย่อยเริ่มเข้าผสมโรง นักลงทุนรายใหญ่จะตั้งขายหุ้นในแต่ละช่วงราคาไว้หลายๆ แสนหุ้น และจะเริ่มเคาะนำ ส่งสัญญาณไล่ซื้อครั้งละ 100 หุ้นบ้าง 3,000 หุ้นบ้างหรือแม้แต่ครั้งละ 100,000 หุ้น หลายๆ ครั้ง เมื่อหุ้นที่ตั้งขายใกล้หมด เขาจะเคาะซื้อยกแถวพร้อมกับตั้งซื้อยันรับที่ราคานั้นทันที ครั้งละหลายแสนหุ้น ถามว่าเขาตั้งซื้อครั้งละหลายแสนหุ้น เขากลัวไหมว่าจะมีคน หรือนักลงทุนสถาบันขายสวนลงมา คำตอบคือ กลัว แต่เขาก็ต้องวัดใจดูเหมือนกัน หากมีการขายสวนก็ต้องใช้วิธีเคาะซื้อแต่ไม่ใช้วิธีตั้งซื้อ นักลงทุนรายย่อยเมื่อสังเกตว่ามีการไล่ซื้อ จะเข้ามาซื้อตาม นักลงทุนรายใหญ่ซึ่งคอยนับหุ้นอยู่ พอเห็นมีเหยื่อมาติด จะเคาะนำที่ราคาใหม่ที่สูงขึ้นอีก แต่เพื่อให้ไม่ต้องซื้อหุ้นเข้ามาเพิ่ม เขาจะเคาะซื้อไม้หนักๆ ก็ต่อเมื่อหุ้นที่ตั้งขายอยู่เป็นหุ้นในกลุ่มของตนเอง สมมติตนเองตั้งขายไว้ 500,000 หุ้น เมื่อได้รับการยืนยันจากเทรดเดอร์ว่า เริ่มมีการเคาะซื้อ จากนักลงทุนอื่น ถึงคิวหุ้นของตนแล้ว เช่นอาจมีคนเคาะซื้อเข้ามา 10,000 หุ้น เขาจะทำทีเคาะซื้อเองตามอีก 200,000 หุ้น เพื่อให้รายย่อยฮึกเหิม เมื่อซื้อแล้วเขาก็จะเอาหุ้น 200,000 หุ้นนี้มาตั้งขายใหม่ ยอมเสียค่านายหน้า ซื้อมาขายไปเพียง 0.5% แต่ถ้าสำเร็จจะได้กำไรตั้ง 50-100% เพราะฉะนั้น การไล่ซื้อช่วงนี้จึงเป็นการซื้อหนักก็ต่อเมื่อ ซื้อหุ้นตนเองตบตารายย่อยขณะที่ค่อยๆ เติมหุ้นขายไปทีละแสนสองแสนหุ้น
ส่วนการตั้งซื้อ ( BID ) ที่ตบตารายย่อยว่าแรงซื้อแน่นนั้น หากสังเกตดีๆ จะพบว่าเมื่อตั้งซื้อเข้ามาสองแสนหุ้น สามแสนหุ้น สักพักจะมีการถอนคำสั่งซื้อออก แล้วเติมเข้ามาใหม่เพื่อให้การซื้อนั้นไปเข้าคิวใหม่อยู่คิวสุดท้าย และจะทำอย่างนี้หลายๆ ครั้ง นักลงทุนรายย่อยที่ตั้งซื้อเข้ามา จะถูกดันไปอยู่คิวแรกๆ หมด และถ้าเขาเห็นว่านักลงทุนอื่น มีการตั้งซื้อเข้ามามากพอสมควรแล้ว นักลงทุนรายใหญ่ก็จะมีการเทขายสลับเป็นบางครั้ง เรียกได้ว่ามีทั้งการตั้งขายและเคาะขายพร้อนกันเลยทีเดียว
หากจะสรุปวิธีการที่ใช้ในช่วงปล่อยหุ้นนี้ สามารถแบ่งออกได้ 4 วิธีการย่อย
มีการตั้งขายหุ้น ( OFFER ) ไว้ล่วงหน้า หลายแสนหุ้นในแต่ละขั้นเวลา
เริ่มเคาะซื้อนำครั้งละ 100 หุ้น 2-3 ครั้ง และจะเคาะซื้อหนักๆ ก็ต่อเมื่อหุ้นที่ตั้งขาย ( OFFER ) เป็นหุ้นในกลุ่มของตน เมื่อซื้อได้จะรีบนำมาตั้งขายต่อ และจะมีการเติมขายหุ้นตลอดเวลา
เมื่อหุ้นที่เสนอขาย ( OFFER ) ใกล้หมด จะเคาะซื้อยกแถว แล้วตั้งเสนอขาย ( BID )เข้ามายันหลายแสนหุ้น แต่จะทยอยถอนออกแล้วเติมเข้าตลอดเวลา
4) เมื่อหุ้นของคนอื่นที่ตั้งซื้อ ( BID ) มีจำนวนมากพอจะมีการเทขายสวนลงมาเป็นจังหวะๆ
เขาจะทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ หุ้นในพอร์ตของตนเอง จะค่อยๆ ถูกระบายออกไป และในสุดท้ายเมื่อข่าวดีได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ในวันรุ่งขึ้น เขาจะทำทีเคาะไล่ซื้อหุ้นตนเองอย่างหนัก แต่จะไม่ตั้งซื้อแล้ว เพราะกลัวถูกขาย ดังนั้นจึงเป็นภาพเหมือนมีคนมาไล่ซื้ออย่างรุนแรง แล้วอยู่ๆ ก็หยุดไปเฉยๆ ถามว่าแล้วเขาปล่อยหุ้นไปตอนไหน คำตอบคือ เขาทยอยตั้งขายไปในระหว่างที่เขาทำทีซื้อนั่นเอง ผู้เคราะห์ร้าย คือ รายย่อยที่ไปเคาะซื้อตาม แต่รีรอที่จะขายเพราะเห็นว่ายังมีแรงซื้อแน่นอยู่ สุดท้ายต้องติดหุ้นในที่สุด
บทสรุป
ตลาดหลักทรัพย์ ถือเป็นแหล่งระดมทุนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจ และความเจริญของประเทศชาติ ประชาชนทุกคนได้รับโอกาสให้นำเงินออมเข้ามาลงทุนกับบริษัทชั้นดีในตลาดหลักทรัพย์ หากเขาเหล่านั้นลงทุนด้วยความรู้ ความเข้าใจ ย่อมสามารถสร้างผลกำไร และความมั่นคงให้กับตนเอง และครอบครัว แต่ถ้าเข้ามาลงทุนด้วยวิธีเก็งกำไรโดยปราศจากความรู้ ย่อมมีโอกาสตกเป็นเหยื่อของนักปั่นหุ้นที่มีอยู่มากมายในตลาดหุ้นได้
เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว เปรียบได้ดั่งสายฝนซู่ใหญ่ที่พัดสาดเข้ามาอีกครั้ง แสงระยิบระยับของกระดานหุ้นเร้าใจแมลงเม่าไม่แพ้แสงไฟในฤดูฝน เหล่าแมลงเม่าน้อยใหญ่พากันโบยบินเข้าตลาดหุ้น และแล้วตำนานเรื่องเดิมของเหล่าแมลงเม่าก็เริ่มต้นอีกครั้ง
หมายเหตุปั่นหุ้น
1) สมัยก่อนหุ้นปั่นจะเป็นหุ้นตัวเล็กที่พื้นฐานไม่ดี ปัจจุบันนี้ หุ้นปั่นจะเป็นหุ้นตัวเล็ก หรือหุ้นที่มีสภาพคล่องน้อยแต่พื้นฐานดี เนื่องจากนักลงทุนรายย่อยฉลาดขึ้น แต่สุดท้ายก็ถูกหลอกอยู่ดี
2) นักลงทุนรายย่อยจะไม่สนใจหุ้นพื้นฐานดี แต่ไม่มีสภาพคล่อง แต่จะชอบหุ้นปั่น (ทั้งๆ ที่รู้ว่าปั่น) เพราะราคาวิ่งทันใจดี ส่วนใครออกตัวไม่ทัน ติดหุ้น เขาจะโทษตัวเองว่า โชคไม่ดีไหวตัวไม่ทันเอง
3) นักลงทุนรายย่อยจะไม่ซื้อหุ้นที่ขาดสภาพคล่อง ถึงแม้จะมีพื้นฐานดี แต่จะรอจนมีคนไปไล่ซื้อหุ้นให้มีปริมาณซื้อขายคึกคักและราคาขยับสัก 5%-10% แล้วจึงเข้าไปผสมโรง เพราะทุกคนมีคติว่า "ขาดทุนไม่กลัว กลัวติดหุ้น" (หุ้นขาดสภาพคล่อง)
4) นักลงทุนรายย่อยจะภาคภูมิใจหากสามารถซื้อขายหุ้นในวันเดียวแล้วได้กำไรเล็กๆ น้อยๆ สัก 1-2% มากกว่าซื้อหุ้นไว้ 1 ปีแล้วกำไร 20%-30% เพราะคิดว่าการซื้อขายหุ้นในวันเดียว แล้วได้กำไรต้องใช้ฝีมือมากกว่า (ทั้งที่จากเฉลี่ยทั้งปีแล้วมักขาดทุน)
5) หุ้นหลายๆ ตัวในตลาดหลักทรัพย์ มีนักลงทุนรายใหญ่คอยดูแล เวลามีข่าวดีต่อหุ้นตัวนั้นเข้ามา ถ้าคนดูแลไม่ต้องการให้ราคาหุ้นปรับขึ้น หุ้นตัวนั้นก็จะถูกกดราคาไว้ แต่ถ้าคนดูแลเข้ามาไล่ราคาหุ้นเมื่อไร หุ้นก็จะเปลี่ยนทิศทางเป็นขาขึ้นทันที และข่าวหนังสือพิมพ์จะออกมาว่า นักลงทุนตอบรับข่าวดีของหุ้นตัวนั้น จึงได้เข้ามาซื้อเก็บเอาไว้ ทั้งๆ ที่ หลายๆ ครั้ง เป็นการทำราคาของรายใหญ่เพียงรายเดียว ที่เป็นผู้กำหนดทิศทางของหุ้นตัวนั้นว่าจะขึ้นหรือลง
6) นักปั่นหุ้นจะกลัวสภาวะตลาดมากกว่า ก.ล.ต. (คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) เนื่องจาก ก.ล.ต. ไม่เคยลงโทษนักปั่นหุ้นรายใหญ่ได้ แต่เขาจะกลัวว่า ถ้าคาดการณ์ภาวะตลาดผิด ตนเองจะติดหุ้นเอง
7) เหตุผลที่นักปั่นหุ้นต้องใช้ชื่อคนอื่น ตั้งแต่ 4 คนขึ้นไป เป็นตัวแทนในการถือหุ้น (NOMINEE) ช่วยซื้อขายหุ้นนั้น เพื่อไม่ต้องการให้ทางการสาวเรื่องมาถึงตนได้ ขณะเดียวกัน ก็ต้องการหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์การถือหุ้นเกินคนละ 5% ของทุนจดทะเบียน ที่ต้องแจ้งเรื่องนี้กับ ก.ล.ต.เพื่อเผยแพร่ต่อนักลงทุนทั่วไปด้วย
วิธีสังเกตเมื่อมีการปั่นหุ้น
1) มีข่าวดีมา แต่ราคาหุ้นไม่ไปทั้งๆ ที่มีปริมาณการซื้อขายมากขึ้น เหมือนมีคนกด ราคาอยู่ (เพื่อเก็บของ)
2) หลังจากนั้น มีการไล่ราคาอย่างรวดเร็วรุนแรง ปริมาณการซื้อขายพุ่งขึ้นอย่างเห็น ได้ชัด
3) จำนวนหุ้นที่ตั้งซื้อ (BID) มีการเติมเข้าถอนออกอยู่ตลอดเวลา
4) การเคาะซื้อไล่ราคาจะมีการเคาะนำครั้งละ 100 หุ้น 2-3 ครั้ง จากนั้นจะเป็น การไล่เคาะซื้อยกแถว
5) หลังจากหุ้นขึ้นมานานแล้ว พอมีข่าวดีมา จะเห็นการเคาะซื้อครั้งละมากๆ แต่การตั้งซื้อ (BID) ไม่หนาแน่น
จังหวะที่ใช้ในการปั่นหุ้น
1) เมื่อหุ้นตัวนั้นราคาตกลงมาจนราคาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานมาก ในภาวะตลาดขาลง นักลงทุนรายใหญ่จะทยอยสะสมหุ้นแบบไม่รีบร้อน เมื่อตลาดกลับเป็นขาขึ้น จะมีการไล่ราคาหุ้นอย่างรวดเร็ว แล้วทยอยขาย ปีหนึ่งทำได้สัก 2-3 รอบ ก็คุ้มค่าต่อการรอคอยแล้ว
2) เมื่อมีข่าวที่ส่งผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานของบริษัทนั้น โดยทั่วไป นักลงทุนรายใหญ่จะรู้เห็นข่าววงในก่อน (INSIDER) และซื้อหุ้นเก็บไว้ เมื่อข่าวดีออกมา จะมีการไล่ราคาแล้วขายหุ้นออกไป
หรือในทางตรงกันข้าม หากมีข่าวปัจจัยพื้นฐานของบริษัทนั้นแย่ลงมาก เช่น ใกล้หมดอายุการใช้สิทธิของ WARRANT, ข่าวขาดทุนรายไตรมาส, ข่าวบริษัทลูกขาดทุน จะเป็นการปั่นหุ้นรอบสั้นๆ เพื่อออกของ หรือหากได้ปล่อยขายไปเกือบหมดแล้ว จะใช้วิธีทุบหุ้นเพื่อเก็บของถูก แล้วรอปั่นในรอบถัดไป
3) ปลายตลาดขาขึ้น เมื่อหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี (BLUE CHIP) ทุกกลุ่มถูกนักลงทุนไล่ซื้อ จนราคาหุ้นขึ้นมาสูงหมดแล้ว โดยทั่วไปจะไล่เรียงจากหุ้นกลุ่มใหญ่ๆ เช่น กลุ่มธนาคาร ไฟแนนซ์ ที่ดิน วัสดุก่อสร้าง สื่อสาร และพลังงาน เมื่อนักลงทุนหมดตัวเล่น รายใหญ่จะเข้ามาปั่นหุ้นตัวเล็กๆ ที่ปัจจัยพื้นฐานไม่ดีราคาต่ำ รายย่อยจะเข้าผสมโรงเพราะเห็นว่าหุ้นกลุ่มนี้ยังขึ้นไม่มาก ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อหุ้นตัวเล็กๆ ถูกนำขึ้นมาเล่นไล่ราคา มักเป็นสัญญาณว่าหมดรอบของภาวะขาขึ้นแล้ว (เพราะถ้าหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี ราคายังต่ำกว่าความเป็นจริง นักลงทุนก็ยังพุ่งเป้าซื้อขายหุ้นกลุ่มนี้อยู่ จนกระทั่งราคาหุ้นขึ้นสูงเกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน



..................................................................................
ขออนุญาตและขอบคุณเจ้าของความคิดทั้งหลายที่คัดลอกมา

Re: คาใจมาตลอด การทุบ และการไล่ราคา

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ต.ค. 11, 2012 8:44 pm
โดย picatos
ไม่ว่าจะทุบ หรือไล่ราคา ถ้าเราเข้าใจกิจการจริงๆ และรู้ว่ามูลค่ากิจการที่ควรจะเป็นอยู่ตรงไหน

การทุบ ไล่ หรือ ทำราคา คือ โอกาสของนักลงทุนแนว vi ทั้งนั้น ดังนั้นถ้าเมื่อไหร่ที่เรารู้สึกหวั่นไหวกับราคา แสดงว่าเรายังไม่แม่น ยังไม่เข้าใจในตัวกิจการ รวมไปถึงหลักการลงทุนพอที่จะอยู่รอดในตลาดได้ในระยะยาว

Re: คาใจมาตลอด การทุบ และการไล่ราคา

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ต.ค. 11, 2012 9:19 pm
โดย ปรัชญา
การขายลงหลายช่อง มีหลายปัจจัยส่งเสริม

มีหุ้นเยอะขายไม่ทัน
มีคนแย่ขาย พอคนหนึ่งทิ้ง อีกคนก็ทิ้งราคาMP
ราคาMPจำนวนหุ้นเยอะ ก็อาจจะลงได้หลายช่อง
ขายหนีตาย พวกจับเสือมือเปล่า

มีหลายอย่างให้สังเกต
เวลาไม่ให้หุ้นขึ้น ก็เติมออฟเฟอร์ตลอด เติมจนบางครั้งสเต็บเดียวหลายล้านหุ้น

พวกนักลงทุนมาเรียกกันเองว่าทุบหุ้น น่าจะเรียก แย่งกันขายหุ้น

Re: คาใจมาตลอด การทุบ และการไล่ราคา

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ต.ค. 11, 2012 9:22 pm
โดย ปรัชญา
อยากรู้จริงๆว่า มี software ในการเล่นแบบนี้ไม๊

ถ้าถอยหลังไปสัก10กว่าปีก่อนมีพวกกองทุนเขาใช้กันที่ต่างประเทศ
เป็นโปรแกรมเทรดหุ้น เมื่อหุ้นลงระดับหนึ่งก็จะเทขาย

(เคยฟังเขาเล่าให้ฟังเมื่อสักประมาณยุคเสี่ยสองครับ)

Re: คาใจมาตลอด การทุบ และการไล่ราคา

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ต.ค. 11, 2012 10:00 pm
โดย tum_H
คห 2 รวบรวมรายละเอียดมาได้เยอะจริงๆครับ

:P

Re: คาใจมาตลอด การทุบ และการไล่ราคา

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ต.ค. 12, 2012 9:28 am
โดย David TON
คนขายทำไมไม่ตั้งขาย จะได้ราคาดีกว่าโยนขายเลย

ตอบ เพราะว่าถ้าตังขายแล้วมีคนอื่นมาซื้อไปของก็หลุดมือไปเลย ที่ตั้งซื้อไว้นั่นส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อของเจ้าเองแหละ แต่ต่างโปรค ก็แค่นั้น

มันเหมือนกับการเทน้ำแก้วหนึ่งไปใส่อีกหลายๆแก้วที่เราเตรียมไว้แล้ว

ยิ่งมีแก้วหลายใบที่เราเตรียมไว้ก็ย่อมมีคนที่หวาดกลัวคายหุ้นออกมาใส่แก้วเราด้วย

เมื่อได้จำนวนตรบตามที่คำนวนกันไว้แล้วก็ลากได้



การแก้ไขเมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้คือ เราศึกษาและรู้มูลค่าที่แท้จริง และที่สำคัญมากคือ ไม่ไหวหวั่น(อันนี้ยากมาก)

Re: คาใจมาตลอด การทุบ และการไล่ราคา

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ต.ค. 12, 2012 9:48 am
โดย Nevercry.boy
Mr.Market อารมณ์แปรปรวน เราทราบกันอยู่ จะ deal กับเค้า

เราจะทำยังไง

ถ้าเราเล่นตามเค้า เรามีโอกาสได้เงินเค้าและมีโอกาสเสียเงินให้เค้าในเกมส์ของเค้า

ถ้าเค้าเล่นตามเรา เค้ามีโอกาสได้เงินเราและมีโอกาสเสียเงินให้เราในเกมส์ของเรา

Re: คาใจมาตลอด การทุบ และการไล่ราคา

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ต.ค. 12, 2012 10:27 am
โดย chukieat30
ตามที่พี่ NVCB ว่าไว้ครับ

เล่นตามเค้า ทนเห็นการตบจูบไม่ไหว ก้ไม่น่ามาลงทุนครับ นอนอยู่บ้านดีกว่าแบบนั้น

พี่ GSสอนผมไว้

นักลงทุนต้องอดทนมากกว่าอาชีพอื่น คือ ต้องทนทุกข์อย่างอดทนได้

ยกตัวอย่าง สิริ สิริวอแรนท์1 ถ้าใครอึดไม่เกิน 1ปี ผมว่าขายคืนเค้าหมดตั้งแต่ตอนมันนิ่ง

ไป5-6เดือน

ผมว่า เกมในตลาดหุ้น อารมณ์ และความอดทน+การมองภาพใหญ่สำคัญมาก

ถ้าใจไม่เข้มแข็ง หมูได้แน่นอน


เพราะทุกคนมาเล่นบนเกมเดียวกัน แต่ใครจะอยู่จนตีแตก ได้นั่นก้อีกเรื่องนึง

Re: คาใจมาตลอด การทุบ และการไล่ราคา

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ต.ค. 12, 2012 10:44 am
โดย dorotee
เรื่องทุบหุ้นไม่รู้ครับ แต่ถ้าประเมินว่าบริษัทเค้าดีจริง มองดูปัจจัยที่จะกระทบบริษัท ก็ไม่มีอะไรผิดปกติ คงเป็นโอกาสในการซื้อเพิ่มแล้วครับ ของดีราคาถูกผมชอบ 555 :D

Re: คาใจมาตลอด การทุบ และการไล่ราคา

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ต.ค. 12, 2012 11:53 am
โดย CARPENTER
สมมติหุ้นตัวนั้นดีจริงๆ คนทุ๊บต้องการหุ้นตัวนั้น
จะมีระบบอะไรที่มั่นใจว่าทุ๊บแล้วจะต้องได้หุ้นคืนในราคาที่มีกำไร
มี soft ware อะไรไม๊ที่คำนวณเรื่องพวกนี้ มีใครได้ยินเรื่องเกี่ยวกับ soft ware พวกนี้ไม๊
ผมไม่เชื่อว่า ใช้ประสพการณ์+เท็คนิคต่างๆแล้วทุ๊บแล้วจะกำไร
เพราะต้องอาสัยความใจถึงมากๆ ในการทุ๊บ แล้วซื้อกลับ
ถ้าเกิดทุ๊บแล้วซื้อกลับไม่ได้ ก็แย่เลย
การปลั่นหุ้นขึ้นไปก็เหมือนกัน
ผมว่าต้องมี soft ware เพราะคนทุ๊บจะต้องหุ้นมากพอ และเงินมากพอ

Re: คาใจมาตลอด การทุบ และการไล่ราคา

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ต.ค. 12, 2012 12:17 pm
โดย prichar s.
เรื่องในตลาดหุ้น หลายส่วนเป็นเรื่องของมืออาชีพ ย้ำว่ามืออาชีพ
ผลประโยชน์เป็นตัวเงินสูงมาก ขาใหญ่จำนวนงานมีทีมงาน มีวอร์รูม มีเครื่องมือพร้อม
ไม่ควรเอาความเชื่อหรือไม่เชื่อส่วนตัวไปจับไปตัดสิน จะทำให้การอยู่ให้รอดในตลาดเพิ่มระดับ
ความยากขึ้นไปอีก
ย้ำว่าการอยู่ให้รอดนะ ไม่ใช่การประสบความสำเร็จ

โปรแกรมเทรดหุ้นมีใช้กันทั่วโลก ในไทยแว่วว่ามีโบรกหนึ่งกำลังทดลองใช้อยู่
..............................................................

ตลาดหุ้นมีเซียนจำนวนมาก แต่มีหมูมากยิ่งกว่า

Re: คาใจมาตลอด การทุบ และการไล่ราคา

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ต.ค. 12, 2012 12:56 pm
โดย pak
CARPENTER เขียน:เพราะต้องอาสัยความใจถึงมากๆ ในการทุ๊บ แล้วซื้อกลับ
ไม่ต้องอาศัย "ความใจถึง" ใดๆเลยครับ
ยกตัวอย่างเช่น...

วันนี้วันที่ 12 ต.ค. 55 ถ้าคุณรู้งบของ Q3/55 แล้ว!!!
แล้วถ้างบ Q3 นั้นมันขาดทุน เรายังต้องอาศัยความใจถึงอะไรอีกหรือครับ???

Re: คาใจมาตลอด การทุบ และการไล่ราคา

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ต.ค. 12, 2012 1:01 pm
โดย Nevercry.boy
chukieat30 เขียน:
นักลงทุนต้องอดทนมากกว่าอาชีพอื่น คือ ต้องทนทุกข์อย่างอดทนได้
ขอบคุณมากครับคุณชูเกียรติ

Re: คาใจมาตลอด การทุบ และการไล่ราคา

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ต.ค. 12, 2012 1:43 pm
โดย CARPENTER
ขอบคุณุกท่าน ที่ชี้แนะ

Re: คาใจมาตลอด การทุบ และการไล่ราคา

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ต.ค. 12, 2012 1:58 pm
โดย leky
อย่าไปสนใจมากเลยครับ ดูเอาสนุก ๆ ก็พอ

เค้าจะทุบมันก็ต้องมี story ให้ทุบถึงจะประสบความสำเร็จ

ในทางกลับกัน เค้าจะลาก ถ้าไม่มี story ให้ลากมันก็ลากไม่สำเร็จเช่นกัน

ดีไม่ดีลากแล้วไม่มีคนตาม ลากแล้วดอยเสียเอง ทุบแล้วไม่ลง เพราะโดยพื้นฐานหุ้นมันไม่ควรจะโดนทุบ

Re: คาใจมาตลอด การทุบ และการไล่ราคา

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ต.ค. 12, 2012 2:49 pm
โดย CARPENTER
เรื่องของเรื่อง ก็คือ ถ้าหุ้นของเราดีจริงถูกทุบเพื่อกดราคาผมก็ไม่กังวลแม้ไม่มีตังซื้อเพิ่ม
ที่หนักหนาคือเล่นทุบลง 20% ความมั่นใจก็เลยลดลง
ก็เลยอยากรู้ว่า มีขั้นตอนในการทุบหุ้น โดยใช้ soft ware ว่ามีหรือไม่
ซึ่ง ก็ยากที่จะหาคนที่มีประสพการณ์ที่ใช้ soft ware ตัวนั้น
ซึ่ง บางทีอาจจะไม่มีsoft ware ก็ได้ อาศัยเพียง ข่าว และ ทุบนำ

Re: คาใจมาตลอด การทุบ และการไล่ราคา

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ต.ค. 12, 2012 11:58 pm
โดย leky
CARPENTER เขียน:เรื่องของเรื่อง ก็คือ ถ้าหุ้นของเราดีจริงถูกทุบเพื่อกดราคาผมก็ไม่กังวลแม้ไม่มีตังซื้อเพิ่ม
ที่หนักหนาคือเล่นทุบลง 20% ความมั่นใจก็เลยลดลง
ก็เลยอยากรู้ว่า มีขั้นตอนในการทุบหุ้น โดยใช้ soft ware ว่ามีหรือไม่
ซึ่ง ก็ยากที่จะหาคนที่มีประสพการณ์ที่ใช้ soft ware ตัวนั้น
ซึ่ง บางทีอาจจะไม่มีsoft ware ก็ได้ อาศัยเพียง ข่าว และ ทุบนำ
ถ้าโดนขนาดนั้น ถ้าเป็นผม ๆ คงต้องประเมินแล้วว่าผมผิดพลาดหรือเปล่า

อย่างแรกถ้าเป็นหุ้นที่เพิ่งซื้อมาไม่นาน กำไรอาจจะยังไม่มากหรือยังไม่มีกำไรกับหุ้นตัวนี้ แล้วโดนแบบนี้ แสดงว่าผมวิเคราะห์ผิดหรือไม่ หรือ MOS น้อยเกินไป

อย่างที่สองถ้าเป็นหุ้นที่ซื้อมานานแล้ว ราคาอาจจะขึ้นไป มีกำไรกับหุ้นนั้นแล้ว ถ้าโดนแบบนี้ ผมจะกลับมาดูว่าราคามันโอเวอร์แวลูแล้วเราไม่รู้หรือไม่

Re: คาใจมาตลอด การทุบ และการไล่ราคา

โพสต์แล้ว: เสาร์ ต.ค. 13, 2012 3:23 am
โดย thaloengsak
ย้ายเข้าคลังกระทู้คุณค่าหน่อยครับMOD

Re: คาใจมาตลอด การทุบ และการไล่ราคา

โพสต์แล้ว: เสาร์ ต.ค. 13, 2012 7:29 am
โดย ปรัชญา
ไม่ทราบว่าคนอ่านแล้วไปทำกับโออิชิเมื่อวานนี้หรือเปล่า ลบ36บาทตอนปิดตลาดนะ

Re: คาใจมาตลอด การทุบ และการไล่ราคา

โพสต์แล้ว: เสาร์ ต.ค. 13, 2012 2:34 pm
โดย BeSmile
CARPENTER เขียน:เรื่องของเรื่อง ก็คือ ถ้าหุ้นของเราดีจริงถูกทุบเพื่อกดราคาผมก็ไม่กังวลแม้ไม่มีตังซื้อเพิ่ม
ที่หนักหนาคือเล่นทุบลง 20% ความมั่นใจก็เลยลดลง
ก็เลยอยากรู้ว่า มีขั้นตอนในการทุบหุ้น โดยใช้ soft ware ว่ามีหรือไม่
ซึ่ง ก็ยากที่จะหาคนที่มีประสพการณ์ที่ใช้ soft ware ตัวนั้น
ซึ่ง บางทีอาจจะไม่มีsoft ware ก็ได้ อาศัยเพียง ข่าว และ ทุบนำ
ราคาหุ้นลดลงไม่เกี่ยว มูลค่าบริษัทนะครับ

คุณ Picatos เขียนคำตอบไว้หมดแล้ว อยู่ที่เราเข้าใจกิจการ หรือประเมินมูลค่าถูกหรือไม่

แต่เข้าใจว่า ทำใจไม่ได้

ผมก็เป็นครับ

มีสติ รู้ตามสภาวะความเป็นจริง แล้วจะมีปัญญา ตรึกตรอง แล้วจะรู้ว่าควรจะทำอย่างไร (ตามปัญญาที่เรามีครับ)

ทำบ่อย ๆ เดี่ยวก็มีปัญญามากเองครับ

Re: คาใจมาตลอด การทุบ และการไล่ราคา

โพสต์แล้ว: จันทร์ ต.ค. 15, 2012 12:36 pm
โดย วรันศ์ บัฟเฟต
มีผู้เล่นอยู่คนนึงสำคัญมากเลยหละ เพราะเค้าไม่เสียค่าคอม แถมสามารถให้ราคาเป้าหมายที่ยังไงก็ไม่ผิดกฎด้วย

มีช่องขนาดนี้ :twisted:

Re: คาใจมาตลอด การทุบ และการไล่ราคา

โพสต์แล้ว: จันทร์ ต.ค. 15, 2012 12:38 pm
โดย Nevercry.boy