โค้ด: เลือกทั้งหมด
เป้าหมายของคนรุ่นใหม่มักวาดฝันถึง”ความมีอิสรภาพทางการเงิน”หมายถึงการมีเงินใช้จ่ายในแต่ละเดือนมากพอโดยไม่ต้องทำงาน ความคิดเช่นนี้จุดกระแสมาจากหนังสือ”พ่อรวยสอนลูก” (Rich Dad Poor Dad)ของโรเบิร์ต คิโยซากิที่โด่งดังในช่วงสิบปีที่ผ่านมา หนังสือซีรี่นี้กลายเป็นหนังสือขายดีระดับโลกรวมทั้งในประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน นอกจาก”พ่อรวยสอนลูกแล้ว” คิโยซากิยังออกหนังสือชื่อ”เกษียณรวยเกษียณเร็ว” (Retire Yong Retire Rich) อีกด้วย หนังสือทำนองนี้ทำให้คนรุ่นใหม่อยากรวยเร็วๆจะได้ไม่ต้องไปทำงาน
เป้าหมายการมีอิสรภาพทางการเงินตามแบบของคิโยซากินั้น เขากล่าวถึงการทำเงินด้วยวิธีการ 4 แบบ แบบแรกคือการทำงานกินเงินเดือน (Employee) ซึ่งเป็นเป้าหมายของคนเข้าเรียนหนังสือตามโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยต่างๆที่ถูกอบรมสั่งสอนว่าให้เรียนสูงๆจะได้มีงานที่มั่นคงและเงินเดือนดีๆทำ ความคิดเช่นนี้ยังคงมีอยู่จนปัจจุบันโดยพ่อแม่ผู้ปกครองต่างอยากให้ลูกเข้าโรงเรียนดังๆหรือได้เรียนในสาขาที่เป็นที่นิยมอย่างแพทย์ วิศวะหรืออื่นๆที่จบออกมาได้เงินเดือนสูงๆ โดยบางครั้งลูกหรือผู้เรียนไม่ได้อยากเข้าเรียนในสาขานั้นสักเท่าไหร่แต่ไม่อยากขัดใจพ่อแม่เป็นต้น
ส่วนวิธีการที่สองคือการทำงานด้วยตนเอง (Self Employed) ดูเหมือนเจ้าของกิจการบางคนอาจคิดว่าตนเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่คิโยซากิมองว่าตราบใดที่เจ้าของกิจการนั้นยังต้องบริหารงานด้วยตนเองโดยไม่สามารถละมือจากกิจการได้ถือได้ว่าเป็นการทำงานด้วยตนเอง เช่น ร้านขายของชำที่เจ้าของต้องนั่งเฝ้าร้านเองหรือร้านซ่อมเครื่องไฟฟ้าที่เจ้าของต้องลงมือเองเป็นต้น
การหาเงินด้วยวิธีการทั้งสองแบบนี้ถือว่าไม่ยั่งยืนเพราะตราบใดที่มีแรงทำงานอยู่ตราบนั้นก็สามารถทำเงินได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่หยุดทำงานก็ไม่ได้ค่าแรงหรือได้เงินเดือนอีกต่อไป หรือบางครั้งไม่ได้เฝ้ากิจการด้วยตนเองอาจทำให้กิจการนั้นเสียหายได้
คิโยซากิมองว่าถ้าอยากจะ”รวย”ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองจากสองวิธีการข้างต้นไปเป็น”นักลงทุน” (Investors) หรือ ”เจ้าของบริษัท” (Business Owners) เท่านั้นถึงจะรวยได้ เพราะหลักการทั้งสองแบบหลังนี้แทนที่จะ”ทำงานเพื่อเงิน”กลับ”ใช้เงินทำงาน”แทน การก่อตั้งบริษัทนั้นในช่วงแรกถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก เรามักเห็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและอยากทำได้เช่นนั้นบ้าง แต่ไม่มีใครรู้ว่ากว่าจะฝ่าฝันตั้งบริษัทมาจนเติบใหญ่ได้ขนาดนั้น เจ้าของบริษัทเหล่านั้นต้องเผชิญกับปัญหาสารพัดอะไรบ้าง เรามองดูเหมือนจะง่ายแต่เอาเข้าจริงแล้ว กิจการที่ตั้งขึ้นใหม่นั้นกว่าครึ่งมักจะปิดตัวลงในช่วงห้าปีแรก และมีเพียงไม่ถึงหนึ่งในสิบที่เอาตัวรอดมาได้จนเลยเวลาสิบปี
ส่วนการเป็นนักลงทุนนั้นหลายคนมองว่าถ้าไม่มีเงินแล้วจะเป็นนักลงทุนได้หรือ สำหรับคนที่ไม่มีมรดกตกทอด การเป็น”นักลงทุน”อาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการดำเนินชีวิต ถึงแม้พ่อแม่จะไม่ได้มีเงินมาให้เริ่มต้นลงทุน การทำงานกินเงินเดือนไปก็ไม่ได้เสียหายอะไร ขณะเดียวกันควรใช้จ่ายอย่างประหยัดเพื่อนำเงินที่เก็บได้ในแต่ละเดือนไปลงทุน ถ้าใครสนใจในตลาดหุ้นก็หาความรู้และลงทุนในตลาดหุ้น ใครสนใจในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อาจลงทุนในบ้านเช่า คอนโดหรือตึกแถวให้เช่าเป็นต้น การทำงานไปลงทุนไปเรื่อยๆจนวันหนึ่งผลตอบแทนจากการลงทุนมากพอที่จะใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องทำงานถือว่ามี”อิสรภาพทางการเงิน” คนทำงานประจำอาจมองว่าการมีอิสรภาพทางการเงินคือลาออกมาเล่นหุ้นเป็นอาชีพ แต่จริงๆแล้วการมีอิสรถาพทางการเงินไม่ได้หมายความว่าเราต้องลาออกจากงานที่ทำอยู่ เพียงแต่ทำให้เรามีทางเลือกในชีวิตมากขึ้นโดยไม่ต้องคิดเพียงแค่ว่าทำงานเพื่อหาเงินเท่านั้น ตราบใดที่เราทำงานในสิ่งที่เราชอบและรักที่จะทำถึงแม้จะมีอิสรภาพทางการเงินก็ยังสามารถทำงานต่อไปได้ คนรวยหลายคนยังทำงานโดยไม่เกษียณอย่างวอร์เรน บัฟเฟตเป็นเศรษฐีระดับโลกแต่ยังคงขับรถไปทำงานทุกวัน เขาบอกว่าจะออกมาอยู่บ้านดูแต่ทีวีทำไม ในเมื่อเขาชอบงานที่ทำอยู่และทำให้เขาได้พบปะกับผู้คนมากมายรวมทั้งมีความสุขที่ได้ไปทำงาน บัฟเฟตบอกว่าเขาเต้นแทปแดนซ์ไปทำงานทุกวัน ดังนั้นทำงานไปลงทุนไปเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้นก็เป็นไปได้