เปิด 10 อุตสาหกรรมอ่วมบาทแข็ง "ข้าว-ยางพารา" แจ็กพอต
updated: 27 ม.ค. 2556 เวลา 11:21:46 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
http://www.prachachat.net/news_detail.p ... catid=1900
"ยิ่งลักษณ์" ระดมทีมแก้บาทแข็งด่วนสัปดาห์นี้ ส่งออก-ภาคอุตสาหกรรม 10 กลุ่มอ่วมพิษค่าบาทแข็ง สินค้าเกษตร ทั้งข้าว ยางพาราแจ็กพอต พาณิชย์นัดผู้ส่งออกถกหาทางรับมือ ด้าน ส.อ.ท.กระทุ้งแบงก์ชาติเข็น 7 มาตรการรับมือ โฟกัสเก็งกำไร ดอกเบี้ย-ค่าเงิน ชี้เครื่องสำอาง รองเท้า สิ่งทอ อัญมณี เฟอร์นิเจอร์ ยานยนต์ น้ำตาล กระทบหนักบาทปีนี้เฉลี่ย 30.70 บาท/ดอลล์
แหล่ง ข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงนี้อาจจะดูแข็งค่าขึ้นเร็ว โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) วิเคราะห์ว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันที่ค่าเงินบาทอยู่ที่ 29.80 บาท/ดอลลาร์นั้น ได้ปรับแข็งค่าขึ้น 2.5% ซึ่งเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ปีนี้ สศค.คาดว่าอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยจะอยู่ที 30.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 29.7-31.7%)
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า นายกฯได้สั่งการให้กระทรวงการคลังให้เร่งหามาตรการในการเข้าไปรองรับ และบรรเทาผลกระทบจากค่าบาทที่มีความผันผวน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากภาคส่งออก หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากค่าแรง 300 บาท
"มาตรการที่คลังเร่งทำ อยู่ และถือว่าสอดคล้องกันกับการบริหารงานของ ธปท.เพื่อผลักดันให้เกิดการออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น จะเป็นแพ็กเกจด้านภาษีต่าง ๆ เช่น เว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีนำผลกำไรกลับมาไทย และจะเสนอ รมว.คลังภายในไตรมาส 2 นี้" นายสมชัยกล่าว
ปัจจุบันนิติบุคคลที่ออก ไปลงทุนต่างประเทศ แล้วส่งผลกำไรกลับเข้ามาในรูปเงินปันผลจะต้องนำมารวมเป็นเงินได้เพื่อเสีย ภาษีนิติบุคคลซึ่งเก็บอัตราที่ 20% ที่ผ่านมา สศค.เคยเสนอให้มีการยกเว้น แต่นายกิตติรัตน์ไม่เห็นด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเดือน ม.ค.นี้ มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาสูงมากกว่าปีที่แล้วเกือบ 1 เท่าตัว หรือ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วง 11 เดือน
ปี 2555 มีเงินทุนไหลเข้าไทย 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เฉลี่ยเดือนละ 1,090 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมีเงินต่างชาติไหลเข้ามาถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าเป็นปัญหาที่ท้าทายและจะหนักขึ้นตลอดปีนี้ และไม่ได้มีเพียงดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังมีเงินเยนของญี่ปุ่นอีก ดังนั้นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลก็ต้องบริหารจัดการให้ดี ซึ่งตนไม่เห็นด้วยหากจะสกัดเงินไหลเข้าด้วยการลดดอกเบี้ยนโยบาย
ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กังวลเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างมาก นอกจากได้หารือกับทีมงานส่วนตัวในตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลแล้ว ยังได้เรียกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเข้าหารือ พร้อมกำชับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง ให้สั่งการ 3 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ เช่น เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ปลัดกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้จับตามอนิเตอร์ความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อภาคเอกชน"
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานทั้ง 3 และทีมที่ปรึกษานายกฯต่างเตรียมการจัดทำข้อมูล ตัวเลขที่เกี่ยวข้อง และเป็นปัจจัยต่อค่าเงิน เช่น การลงทุนซื้อเครื่องจักร ตัวเลขหนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจ และภาวะการ
ส่งออกของธุรกิจ เรียลเซ็กเตอร์ทั้งหมด และนำเสนอมาตรการต่อนายกฯสัปดาห์หน้า แต่ฝ่ายการเมืองจะไม่พูดหรือสั่งการเป็นนโยบายต่อสาธารณะ เพราะเป็นประเด็นอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจ
10 กลุ่มอุตฯอ่วมพิษค่าบาทแข็ง
นาย เจน นำชัยศิริ รองประธาน ส.อ.ท. เปิดเผยว่า จากผลการสัมภาษณ์ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเกี่ยวกับผลกระทบค่าเงินบาทแข็งค่า 25 อุตฯ พบว่า
1) มี 10 อุตฯได้รับผลกระทบรุนแรง (40%) ได้แก่ กลุ่มอุตฯเครื่องสำอาง เซรามิก รองเท้า โรงเลื่อยและโรงอบไม้ หนังและผลิตภัณฑ์หนัง อาหาร อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์ น้ำตาล ที่ส่งออกเป็นหลัก
2) ผลกระทบปานกลาง 7 กลุ่ม (28%) กลุ่มอุตฯการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์ยาง เฟอร์นิเจอร์ เยื่อและกระดาษ เครื่องจักรกลการเกษตร ชิ้นส่วนรถยนต์ สมาคมเอสเอ็มอี 3.ไม่กระทบ 8 กลุ่ม (ร้อยละ 32) ได้แก่ กลุ่มอุตฯก๊าซ เครื่องจักรกลและโลหการ ซอฟต์แวร์ ต่อเรือและซ่อมเรือ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยา พลังงานทดแทน พลาสติก
ชง 7 มาตรการให้แบงก์ชาติอุ้ม
ทั้ง นี้ สำนักวิชาการ ส.อ.ท.ได้รวบรวมข้อมูลการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยระหว่าง 21 ธ.ค. 2555-17 ม.ค. 2556 พบว่าเงินบาทของไทยแข็งค่ามากที่สุด 3.13% รองลงมาคือ อินเดีย 2.40% เกาหลีใต้ 2.35% มาเลเซีย 2.20% ฟิลิปปินส์ 1.62% เวียดนาม 0.66% ไต้หวัน 0.45% จีน 0.40% และอินโดนีเซีย 0.05% ส.อ.ท.จะเสนอมาตรการแก้ไข 7 ข้อ ในการหารือ ผู้ว่าการ ธปท.สัปดาห์หน้า
1) ให้ ธปท.ช่วยดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนเกินไป
2) ดูแลไม่ให้ค่าบาทแข็งค่ากว่าคู่แข่ง อย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียเกินไป
3) ปลดล็อกถือครองค่าเงินดอลลาร์สหรัฐให้นานขึ้น
4) ลดค่าธรรมเนียมทำประกันความเสี่ยงการส่งออกให้เอสเอ็มอี
5) ให้ ธปท.แยกบัญชีเงินตราต่างประเทศ ที่เข้ามาเก็งกำไร กำหนดแยกรายการบัญชีที่เข้ามาลงทุน มีวัตถุประสงค์จะลงทุนรายการใดให้ชัดเจน เงินทุนที่เข้ามาเพื่อจะเก็งกำไรค่าบาท ให้กำหนดมาตรการควบคุม เช่น มาตรการตั้งสำรอง 30% ช่วง 6 เดือน-1 ปี หรือเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น เป็นต้น
6) เร่งส่งเสริมการลงทุน (BOI) นักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศ และ
7) ให้รัฐเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ช่วงที่เงินบาทแข็งค่า
ด้านนาย วัลลภ วิตนากร รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า จะหารือถึงนโยบายอัตราดอกเบี้ยกับผู้ว่าการ ธปท. ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.75% สูงมากเทียบกับดอกเบี้ยในภูมิภาคอื่น เงินทุนไหลเข้าไทยในขณะนี้ เป็น 3 สกุล คือเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโร และเงินเยน
ด้านนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้ นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หารือผู้ส่งออกถึงผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยน พร้อมสรุปมาตรการเสนอต่อนายกรัฐมนตรี
บาทแข็งดันสินค้าไอทีกำไรพุ่ง
นาย นิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบริหารการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่าค่าเงินบาทแข็งขึ้นในช่วงนี้ ไม่ได้ส่งผลต่อกำไรมากนัก เพราะการตั้งราคาสินค้าจะคาดการณ์ล่วงหน้า 3-6 เดือน จึงมีโอกาสที่บริษัทจะมีทั้งกำไรและขาดทุนสลับกันไป
ทั้งนี้ ค่าเงินแข็งมีประโยชน์ต่อวงการไอทีค่อนข้างมาก เพราะเป็นสินค้านำเข้า แต่คงไม่มีใครที่เอากำไรส่วนนี้มาทำส่วนลด เพราะเจ็บตัวมาเยอะจากค่าบาทอ่อน
ท่องเที่ยวกับค่าเงินบาท
นาย ชิดชัย สาครบดี อุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว หรือแอตต้า กล่าวว่า ระยะสั้นบาทแข็งจะไม่กระทบธุรกิจทัวร์ที่รับนักท่องเที่ยวขาเข้า (อินบาวนด์) เพราะไม่ได้สะวิงจนน่ากลัว และคงเกิดระยะสั้น ๆ ประกอบกับนักท่องเที่ยวจากตลาดอเมริกาและยุโรปได้ชำระค่าทัวร์ล่วงหน้า หากกระทบคงเป็นการใช้จ่ายส่วนตัวของนักท่องเที่ยว เพราะแลกเงินไทยได้น้อยลง
แต่ ถ้ายังแข็งค่าต่อเนื่อง ไปอยู่ที่ต่ำกว่า 28 บาท/ดอลลาร์ หรือ 37 บาท/ยูโร จะกระทบการซื้อขายทัวร์ในไตรมาส 2 ทำให้ทัวร์อินบาวนด์ขาดทุนได้ ผู้ประกอบการต้องปรับตัว โควตราคามาเป็นเงินบาทแทน
นายรณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายการเงินและบริหาร บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา กล่าวว่า ค่าเงินบาทแข็งค่า ไม่ส่งผลกระทบธุรกิจโรงแรมของ
เซ็นทารา เพราะอัตราค่าห้องพักเป็นเงินสกุลบาทมา 3-4 ปีแล้ว แต่ถ้าแข็งค่ามากกว่านี้ อาจมีบางรายเข้ามาพูดคุย อย่างไรก็ตาม บริษัทนำเที่ยวที่ดีลกับคู่ค้าต่างประเทศจะเชี่ยวชาญเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน จะชิงจังหวะทำธุรกรรมช่วงที่บาทอ่อนค่า หรือทำสวอปเงินตราต่างประเทศรับมือ
อิงค่าบาทซื้อสินค้าจาก รง.ผลิต
สำหรับ ความเคลื่อนไหวของผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า นายประพนธ์ โพธิวรคุณ กรรมการรองผู้จัดการ บจ.มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา กล่าวว่า ค่าเงินบาทตอนนี้ไม่เป็นผลดีต่อตลาดส่งออก โรงงานจึงต้องบริหารจัดการต้นทุนควบคู่กับหาตลาดส่งออกหลายรูปแบบมาเสริม แต่ดีต่อสินค้านำเข้ามาขาย เพราะต้นทุนลดลง ปัจจุบันเครื่องใช้ไฟฟ้ามิตซูบิชิ มีทั้งสินค้าที่ผลิตเองในประเทศและที่นำเข้ามาขาย นอกจากนี้ปัจจัยหนุนให้สามารถทำราคาในตลาดได้ดี คือ ซื้อสินค้าจากโรงงานมิตซูบิชิ อีเล็คทริคฯที่ผลิตในประเทศด้วยเงินบาท
ข้าว-ส่งทอ-อัญมณี เสี่ยงสูง
ศูนย์ วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกปี 2556 ว่า หากเศรษฐกิจโลกไม่ย่ำแย่ลง และเศรษฐกิจจีนและเอเชียยังเติบโต การส่งออกของไทยน่าจะขยายตัวได้ 10.0-15.0% ส่วนผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะกระทบการส่งออกสินค้าแต่ละชนิดแตก ต่างกัน
ทั้งนี้กลุ่มสินค้าที่ต้องเร่งปรับตัวเนื่องจากมีความ เสี่ยงสูง มีข้าว, อาหารสัตว์, ผ้าผืน สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, อัญมณีและเครื่องประดับ, ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และเฟอร์นิเจอร์
-จบ-