โค้ด: เลือกทั้งหมด
บทความ Value Way ฉบับวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556
โดย วิบูลย์ พึงประเสริฐ
ความสุขคืออะไร (2)
ฉบับที่แล้วกล่าวถึงสุขภาพเป็นปัจจัยสำคัญกว่าเงินที่มีผลต่อ”ความสุข”ของผู้คน บทความคราวนี้จะกล่าวถึง”ปัจจัย”ต่อไปที่มีค่ามากกว่าเงิน นั่นคือ”ครอบครัว” หลายๆครั้งที่เรามักเห็นความไม่ลงรอยกันระหว่างสามีภรรยาพ่อแม่ลูก หลายครอบครัวมีฐานะการเงินดีมากเข้าขั้นเศรษฐีแต่พี่น้องทะเลาะกันโดยเฉพาะเรื่องมรดกไม่ว่าจะเป็นมรดกระดับไม่กี่แสนบาทจนถึงระดับหลายหมื่นล้านเหมือนบางตระกูลที่มีเรื่องราวกันใหญ่โต
จากการวิจัยของนักเศรษฐศาตร์แห่งความสุขพบว่าถ้ารายได้ลดลงไปหนึ่งในสามหรือลดลง 33 เปอร์เซนต์ ความสุขจะลดลงไป 2 ระดับยังเหลือความสุข 8 คะแนน แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นในครอบครัวจะทำให้ดัชนีความสุขเหลืออยู่ดังต่อไปนี้
หนึ่ง เกิดการหย่าร้าง ดัชนีความสุขเหลือ 5 คะแนน
สอง คู่ครองแยกทางกัน ดัชนีความสุขเหลือ 2 คะแนน
สาม เป็นหม้ายสามีหรือภรรยาเสียชีวิต ดัชนีความสุขเหลือ 6 คะแนน
สี่ ไม่ได้แต่งงาน ดัชนีความสุขเหลือ 5.5 คะแนน
แสดงให้เห็นว่าการมีปัญหาในครอบครัวทำให้คนเรามีความสุขลดลงมากกว่าเงิน แต่สิ่งสำคัญคือเรามักมองไม่เห็นความสำคัญของครอบครัวจนกว่าจะเกิดมีปัญหาเช่นเดียวกับสุขภาพ พ่อแม่หรือสามีภรรยาหลายคนยังทำงานอย่างมุ่งมั่นเอาเป็นเอาตายเพื่อจะได้หาเงินเยอะๆโดยไม่ได้มีเวลาดูแลครอบครัว หลายคนไม่เคยเจอหน้าลูกในวันทำงานเพราะตื่นแต่เช้าเพื่อจะได้ไปเข้างานให้ทันและกลับดึกเพื่อทำงานให้หัวหน้างานเห็นว่าเป็นคนขยัน แต่เมื่อกลับถึงบ้านพบว่าลูกหลับกันหมดแล้ว รวมทั้งบางครั้งเสาร์อาทิตย์อาจต้องไปตีกอล์ฟกับเจ้านายหรือสังสรรค์กับลูกค้าเพื่อความก้าวหน้าในอาขีพการงานอีกด้วยเป็นต้น
ครอบครัวเศรษฐีหลายครอบครัวมีเงินมากมายแต่ไม่มีความสุขเพราะพ่อแม่ลูกต่างไปคนละทาง พ่อออกไปทำงาน แม่ออกไปสังคม ส่วนลูกมักอยู่กับพี่เลี้ยงหรือคนใช้เป็นส่วนมาก ลูกโตขึ้นไม่ได้รู้สึกสนิทชิดเชื้อกับพ่อแม่สักเท่าไหร่ หลายคนส่งลูกไปอยู่เมืองนอกตั้งแต่ยังเด็กเพื่อให้เรียนรู้การใช้ชีวิตด้วยตัวเองในต่างแดน เมื่อลูกกลับมาพบว่าลูกไม่เชื่อฟังพ่อแม่อีกต่อไปเพราะไม่ได้สั่งสอนหรืออบรมเด็กด้วยตนเอง
ครอบครัวที่มีปัญหาส่งผลให้ความสุขของชีวิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด สามีภรรยาที่ไม่เข้าใจกันเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดการหย่าร้างตามมา ปัจจุบันอัตราการหย่าร้างมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆทั่วโลก สาเหตุจากสามีหรือภรรยาไม่อดทนต่อกันมากเหมือนในอดีต ผู้หญิงสามารถทำงานเลี้ยงตนเองได้มากขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งพารายได้จากสามีแต่เพียงอย่างเดียว ครอบครัวที่แยกทางกันโดยไม่ได้หย่าร้างเป็นเรื่องเป็นราวยิ่งมีความสุขน้อยกว่าคนที่หย่าขาดจากกัน เศรษฐีหลายคนไม่สามารถหย่ากันได้เพราะเรื่องของหน้าตาในสังคม บางครอบครัวยังอยู่บ้านหลังเดียวกันแต่ดูเหมือนจะต่างคนต่างอยู่โดยไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกัน
สำหรับนักลงทุนการมีครอบครัวที่เข้าใจและเกื้อหนุนกันจะช่วยให้ฐานะทางการเงินดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป บางครอบครัวโดยเฉพาะนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่ดำเนินตามรอยวอร์เรน บัฟเฟตนั้น ภรรยาที่ไม่เข้าใจอาจบอกว่าเป็นคนขี้งก ไม่ชอบใช้เงิน จะใช้เงินแต่ละทีคิดแล้วคิดอีก เพราะบัฟเฟตนั้นมองว่าเงินทุกบาททุกสตางค์นั้นมีคุณค่า การทำผลตอบแทนได้ปีละ 20 เปอร์เซนต์ผ่านไปสิบปี เงินก้อนนั้นจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นสิบเท่า ดังนั้นถ้าเราใช้จ่ายเงินวันนี้เหมือนกับทำลายมูลค่าของเงินในอนาคต กระเป๋าถือใบละสองหมื่นในมุมมองของบัฟเฟตอาจมองว่ากระเป๋าใบนั้นมีมูลค่าถึงสองแสนบาทในอีกสิบปีข้างหน้าเลยทีเดียว หรืออาจมากถึงสองล้านบาทถ้าได้ผลตอบแทนระดับเดียวกันเป็นเวลา 20 ปี บัฟเฟตคิดว่าการลงทุนคือการเลื่อนการบริโภคในวันนี้เพื่อมูลค่าที่มากขึ้นในอนาคต
สำหรับนักลงทุนการมีครอบครัวที่ดีและเข้าใจจะช่วยให้ครอบครัวมีความสุขร่วมกันรวมทั้งมีเวลาในการทำให้เงินลงทุนให้งอกเงยตามระยะเวลาที่มากขึ้นอย่างมีสมาธิที่ดีอีกด้วยและที่สำคัญคือการมีครอบครัวที่ดีสำคัญกว่าเงิน