หน้า 1 จากทั้งหมด 1

10 วิกฤติเศรษฐกิจเขย่าโลก

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ มี.ค. 10, 2013 12:38 pm
โดย Tibular
วิกฤติต่างๆมาจากความโลภและความกลัวทั้งนั้นเลย
VI เราก็ต้องคอยตรวจสอบเหตุการณ์ต่างๆเสมอนะคับ
โอกาสในวิกฤติถึงจะมีขึ้นได้



10 วิกฤติเศรษฐกิจเขย่าโลก !!
จาก http://www.facebook.com/Stock2morrowFB

1. วิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ. 1929

ถือเป็นปฐมบทแห่งหายนะทางธุรกิจยุคบุกเบิกเลยทีเดียวสำหรับวิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริการยุคปี ค.ศ. 1929 หรือที่รู้จักกันในชื่อ Great Depression ที่หากกล่าวไปคงไม่มีใครเชื่ออย่างแน่นอนว่าจะมีภาพคนอเมริกันนับแสนเข้าคิวรอรับอาหารและของแจกฟรีจากหน่วยงานการกุศล ซึ่งวิกฤติทางการเงินในครั้งนั้นเกิดจากความตื่นตูมจนเกินเหตุของเหล่าบรรดาอเมริกันชนที่มีต่อตลาดหุ้นวอล สตรีท และพากันไปกู้เงินมาลงทุนในตลาดหุ้นจนหมดตัวเพื่อหวังรวยทางลัด จึงเป็นที่มาของการเกิดภาวะเก็งกำไรขึ้น ส่งผลให้ หุ้นของหลายๆบริษัทมีราคาทะยานขึ้นสูงเกินกว่าความเป็นจริงหลายเท่าตัว ทั้งที่เศรษฐกิจของอเมริกาช่วงนั้นกำลังถดถอย ทำให้เมื่อถึงเดือนกันยายนก็เริ่มมีข่าวลือว่าหลายๆบริษัทมีอาการขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง และวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1929 ตลาดหุ้นวอล สตรีท ก็เกิดความผันผวนอย่างหนัก หุ้นตกแบบทิ้งดิ่งจนถึงขีดสุด มีการระดมเทขายอย่างหนัก จนเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง หุ้นที่ประชาชนถืออยู่ในมือจึงกลายเป็นแค่กระดาษแผ่นหนึ่งไปในพริบตา ไม่เว้นแม้กระทั่งธนาคารก็พากันล้มละลายไปหลายสิบแห่งเพราะประชาชนไม่สามารถคืนเงินกู้ได้ วิกฤติการเงินในครั้งนี้จึงสอนให้เรารู้ว่าการลงทุนโดยขาดการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านคือหายนะอย่างแท้จริงไม่ต่างอะไรจากแมงเม่าบินเข้ากองไฟเลยแม้แต่น้อย


2. วิกฤติการเงินของอาร์เจนติน่า ค.ศ. 1999-2002

หายนะวิกฤติการเงินของอาร์เจนติน่าเกิดจากความผิดพลาดหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นสังคม วัฒนธรรม นโยบายการเงิน ไปจนถึงการคอร์รัปชัน ทั้งหมดสั่งสมมาตั้งแต่ยุครัฐบาลทหารจนถึงประชาธิปไตยซึ่งกดดันจากต่างประเทศ โดยอาร์เจนติน่ามีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศสูงมากจนเกิดภาวะการขาดดุลทางการเงินอย่างหนัก แถมมีปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรงซึ่งเพิ่มขึ้นเดือนละ 200% และเกือบจะ 3000% ในปี 1983 จนมีการเปลี่ยนรัฐบาลและนโยบายทางการเงินใหม่หมด มีการกำหนดค่าเงินแบบตายตัว แต่มันไม่ได้ให้ผลดีเลยกลับทำให้เกิดปัญหาด้านการส่งออกขึ้นอีก เพราะค่าเงินแข็งเกินไปทำให้สินค้าส่งออกขายได้ยากขึ้น หนี้เก่าก็มีเป็นจำนวนมหาศาลอยู่แล้ว เมื่อถึงเวลาต้องชำระหนี้สินคืนต่างประเทศก็ไม่สามารถใช้คืนได้ สุดท้าย IMF ต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือทางการเงินอย่างเร่งด่วน

วิกฤตินี้ทำให้เราเห็นได้ชัดว่าความสามารถของผู้นำและนโยบายทางการเงินของรัฐบาลมีผลต่อการอยู่รอดของระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมากขนาดไหน


3. ฟองสบู่แตกในสินทรัพย์ของญี่ปุ่น ปี ค.ศ. 1986-1990

ต้องเข้าใจว่าชาวญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่มีระเบียบวินัยในการออมเงินที่สูงมากมานับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ธนาคารและสถาบันทางการเงินมีเงินเป็นจำนวนมากอยู่ในระบบ ทำให้พวกเขาคิดจะขยายการเติบโตทางธุรกิจด้วยการส่งเสริมการลงทุนในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จากการปล่อยกู้ให้เอกชนและประชาชนได้นำเงินออกมาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งขณะนั้นดัชนีหุ้นนิเคอิพุ่งสูงติดกระดานตลาดหลักทรัพย์เลยทีเดียวแต่แล้วความจริงก็ปรากฎขึ้นเมื่อตลาดของญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยประชาชนมีเงินอยู่ในมือก็จริงแต่เมื่อพวกเขาไม่อยากจะเอาออกมาใช้รัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้ ถึงแม้จะพยายามลดดอกเบี้ยเงินฝากขนาดไหนเงินก็ยังไม่ออกมาจากระบบ เศรษฐกิจของญี่ปุ่นจึงเริ่มซบเซาตลาดหุ้นตกเงินทุนในภาคธุรกิจหายไปกว่าครึ่ง ซึ่งในเมื่อไม่มีอุปสงค์ในตลาดอุปทานก็จึงไม่เกิดเป็นเรื่องธรรมดา แล้วเงินทุนก็เริ่มโยกย้ายออกไปในต่างประเทศ การจ้างงานลดลงคนตกงานเป็นจำนวนมาก รัฐบาลญี่ปุ่นแก้ปัญหาแบบเลี้ยงไข้จึงทำให้ใช้ระยะเวลาสะสางปัญหานานถึง 12 ปี กว่าจะดึงอัตราการเติบโตของธุรกิจให้กลับมาอยู่ในแดนบวกได้จากกรณีนี้เองจึงจะเห็นได้ว่าการกระตุ้นการลงทุนนั้นจะต้องทำไปพร้อมๆกันการสร้างพฤติกรรมการบริโภคอย่างต่อเนื่องด้วย


4. วิกฤติทางการเงินที่ประเทศสวีเดน ค.ศ. 1990-1994

หลายคนค่อนข้างแปลกใจที่วิกฤติทางการเงินครั้งนี้มาเกิดขึ้นที่ประเทศสวีเดนดินแดนที่ถือเป็นรัฐสวัสดิการต้นแบบและธรรมาภิบาลดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ซึ่ง ณ จุดเด่นตรงนี้เองได้กลายสภาพมาเป็นหนี้สาธารณะที่สูงมากนานหลายสิบปี จนเมื่อประมาณปลายปี ค.ศ.1980 สวีเดนได้เริ่มคลายความเข้มงวดที่มีต่อสถาบันทางการเงินหลังจากคงอยู่มานานถึง 50 ปี ผลก็คือสถาบันทางการเงินปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจและประชาชนอย่างคะนองมือเนื่องจากไม่สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้ สินทรัพย์ต่างๆในช่วงนั้นราคาทะยานขึ้นสูงอย่างประวัติการณ์จนก่อให้เกิดเป็นการขยายตัวในลักษณะของฟองสบู่ แล้วในที่สุดฟองสบู่ที่ว่านั่นก็แตก สินทรัพย์ต่างๆลดมูลค่าลงกลับกลายเป็นของด้อยค่าไปในพริบตา เมื่อการเก็งกำไรไม่ได้ผลนักธุรกิจและประชาชนก็ต่างไม่มีเงินใช้หนี้ที่กู้มา ธนาคารก็เริ่มล้มลงเป็นแถบๆ และลุกลามกลายเป็นวิกฤติทางการเงินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนในที่สุด จึงเห็นได้ว่าการที่ฝ่ายบริหารให้อิสระกับภาคธุรกิจมากเกินไปโดยไม่มีการควบคุมมักจะทำให้การจัดการมวลรวมของระบบธุรกิจขาดประสิทธิภาพ ดังนั้นภาครัฐจะต้องเข้ามาควบคุมให้ระบบเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องโดยที่ไม่ผูกขาดเกินไปหรือปล่อยจนเกินไป


5. ฟองสบู่ธุรกิจดอทคอม ปี ค.ศ.1995 – 2000

อินเตอร์เน็ตและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคือความหวังในอนาคตของมนุษย์ และนักลงทุนเป็นจำนวนมากเชื่อในสิ่งที่ว่านั้น จึงแห่แหนกันไปลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องในส่วนเทคโนโลยีเป็นจำนวนมากเพราะมันเป็นอนาคตของการทำธุรกิจในขณะนั้น แต่แล้ววันเผด็จศึกก็มาถึงเมื่อความนิยมของอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีไม่ได้สูงเหมือนดั่งเป้าที่วางไว้ ความผิดหวังในเทคโนโลยีเริ่มมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆเพราะความก้าวหน้าในขณะนั้นยังไม่ถึงกับระดับความต้องการที่มนุษย์คาดหวังไว้จะให้มันมี ความถดถอยก็เริ่มเกิดขึ้นในตลาดทุนเมื่อราคาหุ้นเทคโนโลยีเริ่มตกลงถึงขีดที่ว่าไม่เหลืออะไรเลยและกลับกลายเป็นภาวะฟองสบู่แตกในที่สุด ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่สอนให้เรารู้ว่าการลงทุนแบบเก็งกำไรและแนวทางการทำธุรกิจที่เน้นการเติบโตมากกว่าผลกำไรคือหายนะที่น่ากลัวมากกับการทำธุรกิจโดยตลอดมา


6. วิกฤติต้มยำกุ้งในประเทศไทย ปี ค.ศ. 1997-1999

หายนะที่คนไทยหวังให้เป็นเพียงแค่ฝันร้าย เหตุการณ์เริ่มเมื่อ ค.ศ. 1997-1999 ประเทศในอาเซียนได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศจนอาจเรียกได้ว่าฮอตติดลมบน บวกกับนโยบายทางการเงินของไทยช่วงนั้นซึ่งส่งเสริมให้มีการลงทุนทั้งจากภายในและภายนอกด้วย เมื่อมีปัจจัยบวกจากภายในและภายนอกเช่นนี้จึงเกิดการปั่นราคาอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน และหุ้นจนสูงมากกว่าเงินที่มีอยู่ในระบบหลายสิบเท่าตัว เศรษฐกิจประเทศไทยจึงเข้าสู่ระบบการเก็งกำไร “โดยกู้มาลงทุน” ด้วยหวังกำไรส่วนต่าง

ฟังดูเหมือนจะไปได้ดี แต่สิ่งหนึ่งที่นักเก็งกำไรมองข้ามไปคือเมื่อเงินอยู่ในระบบมากเกินจะส่งผลให้เงินเฟ้อและค่าเงินบาทลดลงอย่างหนัก ทำให้หนี้ที่กู้ยืมจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นแบบเท่าตัว แถมยังมีปัจจัยความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเข้ามาอีก ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเทเงินเข้าระบบเพื่อรักษาและคงที่ค่าเงินบาทเอาไว้ แต่การเทเงินเข้าระบบแบบหมดหน้าตักกลับเป็นนโยบายการเงินที่ผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง เงินคงคลังของประเทศลดต่ำลงจนเกือบเรียกได้ว่าล้มละลาย ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไร้ความสามารถในการชำระหนี้ สุดท้ายรัฐบาลไทยจึงประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในที่สุด หนี้ของประเทศจึงเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว สถาบันทางการเงินปิดไปถึง 56 แห่ง ประเทศไทยรวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันต่างต้องขอรับความช่วยเหลือจาก IMF

บทเรียนหายนะวิกฤติต้มยำกุ้งในครั้งนี้สอนให้รู้ว่าไม่ควรคาดหวังกับเงินในอนาคตที่มาจากการเก็งกำไรมากเกินไปนัก เพราะธุรกิจเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ไม่มีความเสถียรพร้อมจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาด้วย


7. วิกฤติการเงินในรัสเซีย ปี ค.ศ. 1998

วิกฤติทางการเงินในดินแดนถิ่นหมีขาวและวอดก้าอร่อยในครั้งนี้สร้างความเจ็บปวดร้าวให้กับนักลงทุนเป็นอย่างมาก โดยเรื่องเริ่มจากรัสเซียในขณะนั้นเพิ่งจะหลุดพ้นจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเดิมและทำการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นทุนนิยมมากขึ้น สินค้าหลักๆในขณะนั้นก็คือพวกเหล็ก น้ำมัน และทองแดงเป็นสินค้าส่งออกหลัก โดยมีเอเชียเป็นลูกค้าอันดับหนึ่ง แต่พอเอเชียประสบกับวิกฤติทางเศรษฐกิจของตนเองเข้า การสั่งซื้อสินค้าจากรัสเซียก็น้อยลงในขณะที่ปริมาณการผลิตเท่าเดิม จึงเริ่มเป็นที่มาของราคาสินค้าตกต่ำถึงขีดสุด แต่เนื่องจากรัสเซียต้องการเงินมาพัฒนาโครงสร้างของประเทศจำนวนมหาศาลจึงออกพันธบัตรเงินกู้เป็นจำนวนมากนำออกขายให้นักลงทุนที่สนใจ โดยมี Yield (ผลผลิตสุทธิที่ได้จากกระบวนการผลิต ซึ่งหักการสูญเสียออกทั้งหมด)ถึง 20% ในหนึ่งปีซึ่งหาไม่ได้จากที่ไหน และนักลงทุนขณะนั้นก็มีความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจของรัสเซียพอสมควรเพราะพวกเขาเห็นว่ามี IMF คอยหนุนหลังอยู่คงไม่น่าจะมีอะไรผิดพลาด นักลงทุนจึงระดมกู้เงินจากทั่วโลกเพื่อมาซื้อพันธบัตรรัสเซียเก็บเอาไว้เพื่อเก็งกำไร แต่แล้วฝันร้ายก็เกิดขึ้นเมื่อรัสเซียสวมบทซามูไรชักดาบเบี้ยวหนี้ที่ต้องจ่ายทั้งหมดในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1998 แถมยังออกมาตรการห้ามประชาชนถอนเงินสดออกจากธนาคารอีกด้วย เศรษฐกิจจึงพังไปเกือบทั่วโลก อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความละโมบโลภมากของนักลงทุนนั่นเอง จึงเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสอนนักลงทุนว่าไม่มีอะไรได้มาฟรีๆเสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผลตอบแทนที่มากเกินความเป็นจริง แต่ดันจับต้องไม่ได้จริง


8. วิกฤติน้ำมันในยุค ค.ศ.1970

เพราะเครื่องจักรและยานพาหนะแทบทุกสิ่งบนโลกล้วนต้องใช้น้ำมัน และแหล่งน้ำมันส่วนใหญ่มักอยู่ในชาติมุสลิมซึ่งเป็นภาคีโอเปก การเกิดสงครามระหว่างอาหรับและอิสราเอลจึงเป็นเหตุการส่งออกน้ำมันจากชาติอาหรับหยุดชะงัก สร้างความแตกตื่นให้ประชาชนผู้บริโภคจนพากันแห่ซื้อน้ำมันมากักตุนไว้อย่างบ้าคลั่งราวกับเกิดกลียุคด้านพลังงานขึ้น จากนั้นกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันอย่างโอเปกสามารถชิงอำนาจการกำหนดราคามาจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในอเมริกาและสหภาพยุโรปได้อย่างถาวร อันเป็นการเปลี่ยนอำนาจชนิดสลับขั้วที่สำคัญมาก ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่จนเกือบล่มสลาย เพราะเมื่อน้ำมันราคาแพงขึ้น ต้นทุนการผลิตย่อมสูงขึ้นแน่นอน ส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้น ผู้บริโภคมีกำลังซื้อไม่พอ ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงตามๆ กัน แต่ที่หนักสุดคือประเทศด้อยพัฒนาที่ต่างชักหน้าไม่ถึงหลังด้วยกันทั้งสิ้น

วิกฤติครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และบางครั้งผู้เป็นเจ้าของตลาดก็มิอาจอยู่เหนือเจ้าของปัจจัยการผลิตอย่างที่เป็นมาในอดีตเสมอไป


9. วิกฤติเศรษฐกิจในประเทศกรีซ ปี ค.ศ. 2009

วิกฤติเศรษฐกิจของกรีซปะทุขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2009 ที่ผ่านมานี่เอง โดยสาเหตุหลักๆมีที่มาจากการขาดวินัยทางการเงินของผู้บริหารประเทศในการกำหนดนโยบายและทิศทางในการบริหารเงินคงคลังภายใน ผสมกับภาวะถดถอยทางการเงินของกระแสเศรษฐกิจโลกในขณะนั้นทำให้งบประมาณภาครัฐขาดดุลถึงร้อยละ 14.5 และยังมีหนี้สาธารณะขึ้นสูงถึงร้อยละ 113 ของ GDP ซึ่งยังไม่รวมรายจ่ายต่อปีจำนวนมากอีก นอกจากนี้โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยวมาช้านานยังกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนอีกด้วย ที่ร้ายกว่านั้นคือการที่มันส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังกลุ่มสหภาพยุโรป จนเหล่าบรรดาภาคี EU และ IMF ต้องเข้าให้การช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนเพื่อกอบกู้ประเทศนี้เอาไว้ไม่ให้ล้มละลายจากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศกรีซนั้นมีที่มาจากการขาดไร้ซึ่งระเบียบวินัยทางการเงินของผู้บริหารประเทศและการก่อหนี้สาธารณะขึ้นสูงจนเกินไปตามรูปแบบประชานิยมนั่นเอง


10. วิกฤติซับไพร์มในสหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ. 2008 – ปัจจุบัน

วิกฤติซับไพร์มหรือที่เรียกกันว่า “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” ตามประสาสื่อบ้านเรานั้นเป็นวิกฤติทางการเงินครั้งล่าสุดซึ่งมีที่มาจากสถาบันการเงินของอเมริกันได้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการปล่อยกู้สินเชื่อจำนวนมหาศาลให้กับบริษัทและประชาชนที่มีความน่าเชื่อถือน้อยมาก ซึ่งถ้าเป็นในอดีตบริษัทและประชาชนเหล่านี้ไม่มีทางจะขอกู้ผ่านแน่นอน โดยผู้กู้จะต้องยอมจ่ายเงินค่าดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าเพื่อเป็นการทดแทนการได้รับสินเชื่อมาแบบง่ายๆ ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้นของวิกฤติอย่างแท้จริงเพราะสถาบันทางการเงินที่ปล่อยสินเชื่อเหล่านั้นประเมินลูกค้าเอาไว้สูงกว่าความเป็นจริงมาก ทั้งๆที่ลูกค้าบางคนไม่มีคุณสมบัติในการผ่อนชำระเงินแม้แต่แค่ดอกเบี้ยเลยด้วยซ้ำ และเงินที่กู้ไปส่วนใหญ่ก็มักจะลงไปในระบบอสังหาริมทรัพย์เสียด้วย เพราะมีชาวอเมริกันเป็นจำนวนมากที่ต้องการที่อยู่อาศัยใหม่และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็สามารถสร้างงานสร้างรายได้เป็นจำนวนมหาศาลอีกด้วยสุดท้ายแล้วผลที่ตามมาก็คือเหล่าบรรดาลูกหนี้เหล่านี้ทั้งที่เป็นบริษัทเอกชนและประชาชนก็เริ่มขาดส่งเงินให้กับทางสถาบันการเงินจนนำไปสู่การขาดสภาพคล่องของธนาคารในที่สุด ธนาคารหลายๆแห่งต้องล้มลงอย่างไม่เป็นท่าและกลายเป็นคลื่นยักษ์พัดถล่มระบบเศรษฐกิจทั่วทั้งโลก วิกฤติครั้งนี้จึงทำให้เราเห็นได้ว่าการขาดความรอบคอบในการปล่อยสินเชื่อมักจะนำมาสู่หายนะที่โหดร้ายเสมอๆ

Credit : http://incquity.com/
Picture : http://srnels.people.wm.edu/