โค้ด: เลือกทั้งหมด
บทความ Value Way ฉบับวันที่ 4 มีนาคม 2556
โดย วิบูลย์ พึงประเสริฐ
ความสุขคืออะไร (3)
เรากล่าวถึงปัจจัยที่มีผลต่อ”ความสุข”ของผู้คนที่มีความสำคัญกว่าเงินไปแล้วในบทความครั้งก่อนนั่นคือ”สุขภาพ”และ”ครอบครัว” หลายคนมีเงินมากมายแต่สุขภาพย่ำแย่หรือเป็นเศรษฐีเงินล้านแต่ครอบครัวมีปัญหาบ้านแตกสาแหรกขาด มีคนกล่าวไว้ว่า”คนจนอยากรวย คนรวยอยากมีความสุข”อาจเป็นความจริงก็เป็นไปได้ ในช่วงที่ยังไม่มีเงิน เราอาจคิดว่าพอมีเงินแล้วจะมีความสุข แต่เมื่อมีเงินได้ดังที่ต้องการแล้ว เราอาจพบว่าความสุขนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคิดก็ได้โดยเฉพาะเมื่อต้องแลกบางสิ่งบางอย่างในชีวิตของเราไป เช่น ทำงานหนักเพื่อหาเงินจนไม่มีเวลาให้กับตนเองหรือครอบครัว คนมีชื่อเสียงหลายคนทำงานหนักเพื่อหาเงินมากๆเพื่อลูกหลานจะได้สบาย แต่สุดท้ายต้องเสียชีวิตไปก่อนวัยเพราะโรคมะเร็งหรือโรคอื่นๆอย่างเช่นพิธีกรรายการชื่อดังในเมืองไทยหรืออีกหลายๆคน
ในทางศาสนาโดยเฉพาะศานาพุทธมุ่งเน้นให้คนหันเข้าหาธรรมะเพื่อให้ชีวิตพ้นจากความทุกข์ เพราะพุทธศาสนามองว่าชีวิตเต็มไปด้วยความทุกข์ ถ้ากำจัดความทุกข์ออกไปเสียได้ ชีวิตจะพบกับความสุข แต่ความสุขที่เกิดขึ้นจากวัตถุสิ่งของนั้นดูเหมือนว่าจะทำให้เรามีความสุขได้ แต่ในทางพุทธศานามองว่าวัตถุเหล่านั้นทำให้เรามีความสุขเพียงแค่ชั่วคราว เมื่อได้สิ่งของมาใหม่ๆอาจมีความสุขสักประเดี๋ยวเช่น ได้กระเป๋าใบใหม่ เสื้อผ้าชุดใหม่ รถคันใหม่ บ้านหลังใหม่ หลังจากนั้นสักพักชีวิตเราจะเริ่มเคยชินกับสภาพแวดล้อมเหล่านั้นจากนั้นชีวิตก็กลับไปมีความทุกข์เช่นเดิมในเรื่องอื่นๆ เช่น คู่ครอง ลูกหลานเป็นต้น
ท่านพุทธทาสจึงกล่าวไว้ว่า “ความสุขที่ต้องใช้เงินนั้นเป็นเพียงความสุขชั่วคราว ความสุขที่แท้จริงนั้นไม่ต้องใช้เงิน เพียงทำใจให้สงบแล้วจะพบกับความสุขที่เยือกเย็น” หลายคนมองว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องล้าสมัย ล้าหลังไม่ทันกับเหตุการณ์ หนุ่มสาวสมัยใหม่จึงไม่สนใจในศาสนาเพราะมองว่าเป็นเรื่องของคนแก่ ชีวิตของหนุ่มสาวที่ยังสนุกสนานกับกิเลศตัณหาอยู่อาจยังไม่รู้สึกว่าธรรมะเป็นเรื่องจำเป็น แต่ถ้าสังเกตดูจะพบว่าชีวิตของวัยรุ่นกลับเต็มไปด้วยปัญหาและความทุกข์เหมือนกันแต่มาในรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากคนในวัยช่วงอื่นๆ คนสูงอายุอาจมีความทุกข์กับลูกหลานที่ไม่ได้ดังใจหรือไม่ก็ปัญหาสุขภาพของตนเอง ขณะที่เด็กอาจมีปัญหาเรื่องของพ่อแม่ทะเลาะกันหรือถูกเพื่อนรังแก ในส่วนของวัยหนุ่มสาวอาจมีเรื่องของความรัก ซึ่งเป็นเรื่องที่เราเห็นได้เสมอว่าคนที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะนั้นตัดสินใจชีวิตที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับคนที่เข้าถึงธรรม เช่น เวลาอกหักถูกแฟนทิ้งหลายคนอาจคิดฆ่าตัวตายหรือหลายคนเมื่อถูกบอกเลิกถึงกับลงมือทำร้ายคู่รัก หลายคนอาจพลั้งมือจนถึงกับเสียชีวิตไปก็มีมาก นักเรียนมัธยมหลายคนสอบมหาวิทยาลัยที่ตนเองต้องการไม่ได้ถึงกับทำร้ายตนเองหรือไม่ก็กลายเป็นโรคซึมเศร้า
จากตัวอย่างที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่าธรรมะไม่ได้เป็นเรื่องของคนแก่ แต่เป็นเรื่องของมนุษย์ทุกคนที่ต้องการค้นหา”ความสุข”ในชีวิต สังคมปัจจุบันทำให้เราคิดว่าศาสนาเป็นเรื่องไกลตัว โฆษณาและสื่อต่างๆมุ่งเน้นให้เราตอบสนองต่อกิเลสอย่างไม่มีวันจบสิ้น คนนั่งรถเมล์ก็อยากมีรถ พอมีรถญี่ปุ่นก็อยากขับรถยุโรปให้มันโก้ขึ้นหรูขึ้น มีบ้านหลังเล็กก็อยากมีบ้านหลังใหญ่ต่อไปอีกเป็นต้น ถ้าเราศึกษาธรรมะมากพอจะพบว่าสิ่งต่างๆเหล่านั้นล้วนเป็นอนิจจัง นั่นคือไม่เที่ยงแท้แน่นอน สิ่งต่างๆวัตถุสิ่งของนั้นไม่ได้ทำให้เรามีจิตใจที่สูงขึ้น การมีจิตใจที่สงบต่างหากที่อาจเป็นสิ่งที่เราค้นหามาตลอดชีวิตเพียงแต่เราไม่เข้าใจหรือลืมมันไป
ธรรมะสอนให้เราเข้าใจในความทุกข์ของมนุษย์ว่ามาจากไหน ความทุกข์ไม่ได้เกิดจากสิ่งแวดล้อม แต่มักเป็นเรื่องเกิดจากภายในจิตใจของเราเองเป็นส่วนมาก ในสถานการณ์เดียวกัน คนหนึ่งอาจมีความทุกข์แสนสาหัส แต่บางคนอาจไม่มีความทุกข์เลยสักนิดเดียวก็เป็นไปได้ ถ้าโยงถึงเรื่องการลงทุนจะเห็นว่าการที่ตลาดหุ้นตกลงอย่างรุนแรง หลายคนอาจถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับเพราะเสียดายเงินที่หายไป แต่บางคนอาจไม่ได้รู้สึกอะไรและดีใจที่จะได้ซื้อหุ้นดีราคาถูกเสียที
ดังนั้นแทนที่จะไขว่คว้าดิ้นรนหาเงินมามากๆเพื่อสนองความต้องการทางวัตถุของเราเพียงอย่างเดียว ลองศึกษาธรรมะของศาสนาดูไม่ว่าจะเป็นศานาไหน ไม่ว่าท่านจะอายุเท่าไหร่ แล้วอาจพบว่า”ความสุขที่แท้จริง”ไม่ได้อยู่ที่เงินแต่อยู่ภายในจิตใจของท่านเอง