http://www.bangkokbiznews.com/home/deta ... เรือน.html
ธุรกิจ
วันที่ 24 มิถุนายน 2556 10:09
ภาคธุรกิจรับศึกหนักครึ่งปีหลัง "ปัจจัยลบ" ฉุดกำลังซื้อหดตัว ผลพวง "รถคันแรก-หนี้ครัวเรือนพุ่ง" ชะลอการใช้จ่าย
สินค้าและบริการทุกแขนงธุรกิจเผชิญ "ปัจจัยลบ" รอบด้าน ทั้งภาวะเศรษฐกิจทั้งในและทั่วโลกชะลอตัว ปัญหาค่าเงิน ตลาดหุ้น ทองคำ ผันผวนอย่างหนัก พืชผลทางการเกษตรราคาตกต่ำ การส่งออกขยายตัวช้า นโยบายรถคันแรกส่งผลกระทบลามเป็นลูกโซ่ ส่งผลกระทบเชิงจิตวิทยาผู้บริโภค "ระมัดระวังการใช้จ่าย" มากขึ้น บางธุรกิจยอดขายเริ่มสะดุด ทำให้กำลังซื้อในระบบ "ชะลอตัว" อย่างต่อเนื่อง
นางสาวบุษบา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ปัจจัยเสี่ยงในตลาดขณะนี้กระทบธุรกิจค้าปลีกอยู่ในภาวะชะลอตัวทั้งด้านยอดขายและการลงทุน โดยภาพรวมคาดการณ์ขยายตัว 8-10% จากช่วงต้นปีตั้งเป้าหมายการเติบโต 10-12% ซึ่งช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาเห็นชัดเจนว่าตลาดค่อนข้าง "ซบเซา" ต่างจากไตรมาสแรกธุรกิจค้าปลีกเติบโตในเกณฑ์ที่ดี
ในปีนี้ ราคาพืชผลทางการเกษตรไม่ดีมากนัก ทั้งยาง ปาล์ม ข้าว มีราคาลดลง ผลไม้ต่างๆ มีผลผลิตออกมาทับซ้อนกัน และมีปริมาณมากทำให้ราคาต่ำ ทำให้เกษตรกร ชาวสวนมีรายได้น้อยลง อำนาจซื้อย่อมน้อยลงตามไปด้วย ขณะที่นโยบายรถคันแรกสร้างปัญหากระทบเป็นลูกโซ่ จะเห็นว่าปริมาณการขายรถที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการ "เร่งผลิต" เพื่อส่งมอบ พนักงานมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจาก "ค่าล่วงเวลา" ในช่วงเร่งผลิตดังกล่าว เมื่อกำลังผลิตทยอยกลับมาเข้าสู่ภาวะปกติ ภาคแรงงานไม่มีรายได้เพิ่มจากค่าล่วงเวลา ทำให้รายได้ลดน้อยลง อำนาจซื้อย่อมลดลง
"กำลังซื้อคนระดับล่างได้รับผลกระทบมากที่สุด ระดับกลางและบนชะลอ หรือ นิ่งขึ้น แต่เชื่อว่ายังไม่หยุดซื้อ เพียงแต่จะซื้อที่ไหนอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สะท้อนได้จากตัวเลขของโกลบอลบลูพบว่านักท่องเที่ยวจากไทยซื้อสินค้าปลอดภาษีเพิ่มขึ้น 38% โดยกลไกของธุรกิจค้าปลีกเมื่อมีปัจจัยลบผู้ประกอบการจะพยายามกระตุ้นตลาดมากขึ้น"
จี้รัฐกระตุ้นใช้จ่ายในประเทศ
นอกเหนือจากการกระตุ้นตลาดของภาคเอกชนในรูปแบบต่างๆ รัฐต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2556 ซึ่ง 8 เดือนที่ผ่านมา มีการเบิกจ่ายไปเพียงกว่า 50% เหลืออีก 40% ใน 4 เดือนสุดท้ายสิ้นสุดงบประมาณนั้น ต้องสร้างเงินสะพัดในประเทศให้เร็วที่สุด
"ไม่อยากให้เงินออกนอกประเทศ ในเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ จะมีกิจกรรมลดราคาครั้งใหญ่ของฟากยุโรป รัฐจะสกัดนักชอปไทยออกนอกประเทศได้อย่างไร ต้องกลับมาพิจารณาในเรื่องของภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ดึงต่างชาติมาไทย และสกัดคนไทยออกนอกประเทศ เชื่อว่ามาตรการด้านภาษีจะแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้เป็นอย่างดี" นางสาวบุษบากล่าวและว่า
การที่รัฐต้องการช่วยบางอุตสาหกรรมทำให้ละเลยที่จะพิจารณาในเรื่องนี้ เพราะเกรงว่าจะเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะเป็นเรื่อง "ไม่ถูกต้อง" ทั้งที่การส่งเสริมการชอปปิงทำได้หลากหลายรูปแบบ จะเห็นว่าประเทศโดยรอบไทยทั้งฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย มุ่งโปรโมทและขับเคลื่อนประเทศด้วยจุดขายด้านการ "ชอปปิง" ทั้งสิ้น
"ไทยมีโอกาสสูง แต่กลับปล่อยโอกาสหายไปเฉยๆ แล้วเลือกที่จะปกป้องเพียงบางกลุ่ม ทั้งที่ชอปปิงทำได้ง่าย ทำได้เร็ว และเห็นผลในทันที หากทำได้เชื่อว่าเศรษฐกิจจะสะพัดอีกมาก แต่รัฐกลับไม่แน่ใจและไม่กล้าที่จะทำหรือให้การสนับสนุนเพราะเกรงว่าจะเอื้อบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เวลานี้เราดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาได้มาก แต่คนไทยออกไปมากก็ไม่บาลานซ์ รัฐต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ให้มีการเดินทางทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ เพราะจะสร้างเม็ดเงินสะพัดได้ตั้งแต่ระดับรากหญ้า"
รัฐต้องสนับสนุนภาคเอกชนที่ "ลงทุน" ในโครงการต่างๆ โดยเฉพาะค้าปลีก เป็น 1 ใน 4 อุตสาหกรรมหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
วูบแสนล้านฉุดจีดีพี 0.5-1%
นักวิชาการในธุรกิจค้าปลีก ประเมินว่า การชะลอตัวของภาคธุรกิจค้าปลีกจากเป้าหมายการเติบโต 10-12% เหลือ 8-10% ทำให้ตัวเลขการบริโภคภายในประเทศมูลค่า 2.4 ล้านล้านบาท หายไปเกือบ "แสนล้านบาท" ในอัตราดังกล่าวจะมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) 0.5-1% รัฐต้องเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศมากขึ้น
ทั้งนี้ภาวการณ์เงินบาทอ่อนค่า หรือมาตรการลดดอกเบี้ย ไม่มีผลกับการบริโภคโดยตรง วงจรนี้กว่าจะหมุนกลับมาสร้างเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจใช้เวลาอย่างน้อย 8 เดือน แต่สถานการณ์ขณะนี้ต้องกระตุ้นโดยตรง เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวผลักดันให้มีการเดินทางในประเทศจะเกิดการใช้จ่ายในหลายแขนงธุรกิจเชื่อมโยงเป็นลูกโซ่
"ภาพรวมการเติบโตลดลง 4-5% ค่อนข้างสูงและน่าเป็นห่วงไม่น้อย ปีนี้ ผิดคาด พลิกล็อก จากต้นปีที่ยังมองกันว่าสวยหรู แต่หลังเดือน มี.ค.เป็นต้นมา เริ่มมีสัญญาณไม่ดี มีแนวโน้มลากยาวไปในครึ่งปีหลัง เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจค่อนข้างกังวล"
ผู้ประกอบการต้องกระตุ้นตลาดมากขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ภาครัฐจะมีมาตรการยกระดับราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้นได้อย่างไร ทั้งยาง ปาล์ม พร้อมกับการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ผ่านการขับเคลื่อนเมกะโปรเจคต่างๆ เพื่อเกิดการจ้างงาน
มอลล์-โรบินสัน อัดแคมเปญหนัก
นายชำนาญ เมธปรีชากุล รองประธานกรรมการบริหารการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า การทำตลาดในครึ่งปีหลังนี้ต้อง "ตั้งรับ" มากขึ้น เช่น ลงรายละเอียดในเรื่องของสินค้ามากขึ้น วิธีการนำเสนอสินค้าให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย การกระจายสินค้า รวมถึงการหาพื้นที่ขายใหม่ๆ โดยครึ่งปีแรกยอดขายเติบโต 4-5% ตั้งเป้าปีนี้เติบโต 5-6%
สำหรับห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ยอมรับว่ากังวลกับตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ประเมินว่าครึ่งปีหลังไม่ค่อยสดใส จากการที่ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม โรบินสัน จะใช้กลยุทธ์การตลาดเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาส 3 จัดสรรงบกว่า 100 ล้านบาททำกิจกรรมการตลาด ส่งเสริมการขายทุกสาขาอย่างหนักทั่วประเทศ โดยรวมปีนี้มีแคมเปญเพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนกระจายการจัดกิจกรรมครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้ากระตุ้นกำลังซื้อผลักดันยอดขายปีนี้เติบโต 18%
รถค้างจองดันยอดต้นปีพุ่ง
ทางด้าน ตลาดรถยนต์เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ยอดขายลดลง 3.5% เทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว ส่วนยอดรวมเดือน ม.ค.-พ.ค. เติบโต 30% อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการส่วนใหญ่คาดการณ์ว่ายอดขายในปีนี้ลดลงประมาณ 10% จาก 1.4 ล้านคัน เหลือ 1.2 ล้านคัน เนื่องจากหมดแรงกระตุ้นจากโครงการรถคันแรก
นายชาญวิทย์ เขียวนาวาวงศ์ษา ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ยอดขายเดือน พ.ค.ลดลง เป็นผลมาจากการส่งมอบรถคันแรกเกือบเสร็จสิ้น ทำให้ยอดที่เข้าไปรวมในตัวเลขรายงานการขายมีไม่มาก เชื่อว่าครึ่งปีหลังจะดีขึ้นหลังจากจากตลาดเข้าสู่ภาวะปกติ
"ตัวเลขการส่งมอบส่วนใหญ่มาจากยอดค้างจองรถคันแรก แต่การจองใหม่ มีน้อยมาก เพราะกำลังซื้อถูกดึงไปใช้ล่วงหน้า เชื่อว่าในครึ่งปีหลังจะมียอดซื้อใหม่ๆ เข้ามาจากผู้ที่ต้องการใช้รถจริง"
นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การที่ช่วงต้นปียอดจองใหม่หายไปเป็นเพราะคันแรกดึงกำลังซื้อล่วงหน้า เมื่อจบโครงการตลาดจึงอยู่ในภาวะ "ช็อก"
"บางคนปีที่แล้วไม่พร้อมซื้อรถ แต่ปีนี้อาจพร้อมหรือต้องการใช้ แต่ก็ทำใจยากเหมือนกันที่จะซื้อรถที่เคยได้ส่วนลดภาษีจากโครงการ และเพิ่งจะจบลงไป ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องของอารมณ์"
นายโนบุยูกิ มูราฮาชิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าช่วงต้นปี หรือสถานการณ์เศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะภาพรวมการส่งออกที่ลดลง ทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจและระมัดระวังการใช้เงินมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ดีลเลอร์หลอกโรงงานทำล้นสต็อก
กำลังซื้อที่ลดลง ยังส่งผลให้เกิดภาวะรถ "ล้นสต็อก" ในบางโชว์รูม ทำให้ผู้ผลิตต้องจัดแคมเปญรุนแรง เช่น ดอกเบี้ย 0% ยาว 4 ปี ชิงรางวัลท่องเที่ยวต่างประเทศ ขับก่อนผ่อนปีหน้า หรือผ่อนระยะยาว 84 เดือน เป็นต้น เพื่อเร่งการขายในช่วงนี้
นายชาญวิทย์ กล่าวว่า การที่รถล้นสต็อกเกิดจาก 2 ส่วนคือ การสั่งซื้อล่วงหน้าแต่ยกเลิกการรับรถ และการเกิดอุปทานหมู่ เนื่องจากหลายคนตัดสินใจซื้อรถคันแรกเพื่อให้ได้สิทธิ์ลดภาษีเหมือนคนอื่นๆ ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นใช้จริง ขณะที่บริษัทรถยนต์ก็ต้องรองรับคำสั่งซื้อแล้วก็ต้องผลิต
"ปีที่แล้วแม้กระทั่งรถตัวโชว์ก็ถูกขอซื้อ ผู้ค้าแทบไม่มีสต็อกครึ่งปีหลัง และคำสั่งซื้อที่มีเข้ามาทางโรงงานก็ต้องเดินหน้าผลิตทำให้เกิดภาวะล้นสต็อก แต่การมีแคมเปญส่งเสริมการขาย จะทำให้ปริมาณสต็อกลดลง และกลับสู่ภาวะปกติในเร็วๆนี้"
แหล่งข่าวจากบริษัทรถยนต์กล่าวว่า โรงงานจำเป็นต้องวางแผนผลิตล่วงหน้า ขณะที่ฝ่ายขายต้องการตัวเลขยอดจำหน่าย และมีไม่น้อยที่ต้องการส่งรถให้ลูกค้าได้เร็วเนื่องจากยอดค้างจองมาก ทำให้รายงานตัวเลขสูงกว่าจริงให้บริษัทแม่ ส่งผลให้โรงงานผลิตออกมามากกว่าปกติ และเมื่อปีนี้เกิดเหตุการณ์ยกเลิกการของ หรือขอเลื่อนรับรถไม่มีกำหนด ทำให้เกิดปัญหาล้นสต็อก
"เท่าที่รู้มา มีเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่น้อย เรียกว่าที่ดีลเลอร์หลอกบริษัทแม่"
หวั่นทำเลรถไฟฟ้าโอเวอร์ซัพพลาย
นายศุภชัย แจ่มมโนวงศ์ กรรมการบริหาร บริษัท เซ็นจูรี่ 21 เรียลตี้ แอฟฟิลิเอทส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์ไตรมาส 2 ชะลอตัว จากเดิมขายเฉลี่ยเดือนละ 30 ยูนิต เหลือ 20 ยูนิต รวมถึงทำเลสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสและส่วนต่อขยาย ที่ผู้ประกอบการเข้ามาพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมจำนวนมาก ทำให้เกิดภาวะ "เหลือขาย" โดยเฉพาะอ่อนนุช-แบริ่ง ที่มีหน่วยขาย 1 หมื่นยูนิตจาก 10 โครงการ เหลือขาย 5,000 ยูนิต คาดว่าไม่เกิน 2 ปี จะเกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลาย
นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต รองประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มพัฒนาธุรกิจ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค กล่าวว่า การขาดแคลนแรงงาน มีผลให้ตลาดชะลอตัวเพราะส่งมอบไม่ได้ ขณะที่ต้นทุนวัสดุ ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาคอนโดเพิ่มขึ้น 20% ในระยะ 12 เดือน แต่รายได้ผู้บริโภคตามไม่ทัน
นายกิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความสามารถในการขอกู้ซื้อบ้านของลูกค้าลดลง สัดส่วนกู้ไม่ผ่านเพิ่มขึ้นกว่า 10% จากปกติ 5% เพราะมีหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากรถคันแรก หนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อบุคคล ส่วนรายที่กู้ผ่านบางรายได้วงเงินลดลง
รายได้หด-ชูนวัตกรรมใหม่
นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัทอินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า รถคันแรกดึงกำลังซื้อคนวัยทำงานที่เป็นฐานใหญ่ของการซื้อสินค้าไอที หรือโน้ตบุ๊คในระดับราคา 1-2 หมื่นบาทที่นิยมเปลี่ยนเครื่องภายใน 6-18 เดือน ทำให้ตลาดชะลอตัวและอาจไม่มีการเติบโตในปีนี้ แต่ครึ่งปีหลังจะมีสินค้าใหม่เปิดตลาดจำนวนมากน่าจะกระตุ้นตลาดได้
นายถกล นิยมไทย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ กล่าวว่า สัดส่วนรายได้จากกลุ่มไอทีของโตชิบาในปีนี้คาดว่าจะลดเหลือ 20-25% จากเดิม 30-35% ของรายได้รวม 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากสินค้าโน้ตบุ๊คหดตัวลงมาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ซึ่งผู้ขายต้องปรับตัวตามสภาพ คือ เร่งออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ช่วยกระตุ้นตลาด
นายจีรวุฒิ วงศ์พิมลพร กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เลอโนโว (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาพรวมกำลังซื้อในตลาดอาจไม่ตกลงมาก แต่จะเริ่มแชร์ยอดขายกับผลิตภัณฑ์นอกเหนือจากพีซีและโน้ตบุ๊ค ที่เคยเป็นสินค้าหลักสร้างยอดขายให้ตลาดไอที โดยเฉพาะกระแสของสมาร์ทโฟนและแทบเล็ต
ขณะที่โครงการภาครัฐ ส่งผลกระทบต่อตลาด โดยเฉพาะโครงการประมูลคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊คสำหรับภาคการศึกษาที่หายไปกลายเป็นประมูลแทบเล็ตแทน ในไตรมาส 2 บริษัทจะเริ่มนำสินค้านวัตกรรมเข้ามากระตุ้นตลาดทั้งกลุ่มองค์กรและผู้ใช้งานทั่วไป
นายวงศ์สมรรถ สรรเพชุดาญาณ ผู้อำนวยการธุรกิจโมบาย บริษัท คอมพิวเตอร์ ซิสเต็ม คอนเน็คชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ซีเอสซี) กล่าวว่า ภาพรวมตลาดไอทีในครึ่งปีแรก โดยเฉพาะโน้ตบุ๊คตลาดหดตัว 10-20% เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่หันไปซื้อแทบเล็ต และสมาร์ทโฟนมากขึ้น ขณะที่อีกกลุ่มรอเทคโนโลยี ดีไวซ์ ชิพประมวลผลใหม่ คาดว่าจะออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
หนี้ครัวเรือนพุ่งกระทบกำลังซื้อครึ่งหลัง
นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี กล่าวว่า กำลังซื้อผู้บริโภคชะลอตัวลงตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา แม้เป็นฤดูกาลท่องเที่ยวแต่กลับพบว่าไม่มีเม็ดเงินกระจายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เป็นผลพวงจากประชาชนมีภาระต่างๆ เช่น การผ่อนชำระสินค้า เมื่อเงินหายไปแต่รายรับที่ไม่มากเช่นเดิม ทำให้กำลังซื้อชะลอตัว
กำลังซื้อที่ซบเซาเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่ภาพรวมไตรมาสแรกที่ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคเติบโตสูงถึง 23% เป็นผลจากการใช้จ่ายตั้งแต่ปลายปีก่อน แต่พอเข้าเดือนเม.ย. เงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจ แม้กระทั่งในต่างจังหวัด