คอลัมน์พลวัต :
เป้าหมายราคา
03-04-2013 04:07:16
http://itrading.bualuang.co.th/th/list- ... id=1595924
นักวิเคราะห์และนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย คุ้นเคยกับคำว่า “ราคาเป้าหมาย” กันมายาวนาน จนกระทั่งหลายคนไม่รู้เลยว่า ต้นเค้าของคำดังกล่าวคือ เป้าหมายราคา แต่ก็อนุโลมว่าไม่ได้ผิดความหมายแต่อย่างใด
เหตุผลก็คือว่า ทั้งสองความหมาย ต่างไม่เคยมีอยู่จริงในโลกนี้ มันเป็นเพียงแค่จินตนาการที่เกิดขึ้นมาของนักวิเคราะห์ และหลักสูตรการวิเคราะห์ เพื่อให้การเก็งกำไรเป็นวิทยาศาสตร์เชิงปริมาณเท่านั้นเอง
โดยภาพรวมๆ เป้าหมายราคา มีใช้กันใน 3 บริบทคือ
ในตลาดหุ้น หมายถึงราคาเป้าหมายที่นักลงทุนส่วนใหญ่ตั้งใจว่าจะขาย
ราคาที่นักการตลาดสินค้ากำหนดว่าผู้ซื้อต้องการจะซื้อ
ราคาที่กลุ่มธุรกิจบริการกำหนดว่าควรจะซื้อจากผู้ขายหรือซัพพลายเออร์
ในกรณีของตลาดหุ้น ข้อเท็จจริงของเป้าหมายราคา ไม่ได้ถูกกำหนดเหมือนกับทฤษฎี แต่ถูกกำหนดโดยนักวิเคราะห์ ซึ่งทำตัวเป็น “กูรู” ที่เชื่อว่าตำราที่เรียนมา ทำให้มองเห็นหรือกำหนดราคาเป้าหมายได้ดีกว่าคนกลุ่มอื่น ทั้งที่ความจริงแล้ว เป้าหมายราคาที่ว่า ก็เกิดขึ้นในลักษณะ “คิดเอาเอง” โดยนักวิเคราะห์นั่นเอง
โดยทั่วไปแล้ว เป้าหมายราคา หมายถึงราคาสูงสุดที่นักวิเคราะห์คาดว่าหุ้นของบริษัทนั้นจะไปถึงได้ภายในระยะเวลา 1 ปีข้างหน้า (บางกรณี 6 เดือนข้างหน้า) โดยกำหนดขึ้นมาจากองค์ประกอบสำคัญหลายประการได้แก่ การคาดเดาผลกำไรสุทธิ ศักยภาพในการทำกำไร ประวัติย้อนหลังการวิ่งของราคา และสัดส่วนราคาเปรียบเทียบ (โดยพิจารณาจากค่า พี/อี เป็นหลัก) แล้วก็กำหนดออกมาว่าเป็นราคาสูงสุดที่ต้องขายทิ้งออกไปสำหรับหุ้นที่ถือเอาไว้
ในทางปฏิบัติ เวลาที่ตลาดเป็นขาขึ้น หรือภาวะกระทิง เรามักจะพบว่า ราคาหุ้นบางตัวสามารถปรับตัวได้สูงเกินกว่าราคาเป้าหมาย แต่ราคาหุ้นก็ยังดันทุรังสามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทั้งที่ในทางทฤษฎีถือว่าหุ้นเหล่านี้ไม่น่าลงทุนอีกแล้ว ซึ่งอาจทำให้นักวิเคราะห์ต้องปรับเป้าหมายกันใหม่อีกรอบหรือหลายรอบ โดยอ้างว่า สถานการณ์และพื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนไป
ในทางกลับกัน หุ้นบางตัวมีเป้าหมายราคาเอาไว้งั้นๆ ไม่ได้มีความหมายอะไร เพราะราคานิ่งเงียบไร้คนสนใจ แม้นักวิเคราะห์บางรายจะขุดคุ้ยขึ้นมาเล่น ก็วิ่งไปได้แค่ “สงครามวันเดียว”
ความไม่ลงรอยกันเสมอไประหว่างเป้าหมายราคา กับราคาซื้อขายจริงในตลาด ก็ทำให้มักจะมีคำถามย้อนกลับมาบ่อยครั้งว่า เป้าหมายราคาสามารถ บอกอะไร ได้บ้าง และหากลงทุนตามนั้นไปแล้วจะให้ผลตอบแทนที่ดีหรือไม่
คำถามสุดท้ายที่สำคัญที่สุดก็คือ การตั้งเป้าหมายราคานั้น เกิดจากเหตุผลอะไรกันแน่ ระหว่างเหตุผลที่ปราศจากอคติ และเหตุผลแฝงเร้นของนักวิเคราะห์ เพื่อดันราคาหุ้นขึ้นไปให้สูงเกินจริงเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มที่ซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังการวิเคราะห์ดังกล่าว
การค้นหาคำตอบที่กระจ่างจึงต้องย้อนรอยกลับไปพิจารณาหาสาเหตุรากฐานว่าเหตุใด ชุดข้อมูลเดียวกัน จึงได้บทสรุปของนักวิเคราะห์ต่างกันในเป้าหมายราคา
แม้เป้าหมายราคาจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางจินตนาการที่ไม่มีอยู่จริง แต่ประโยชน์ของเป้าหมายเป็นสิ่งที่ชัดเจนว่า มีดีกว่าไม่มีอย่างแน่นอน เพราะมันได้ผ่านกระบวนการพิจารณาและประเมินตัวแปรต่างๆ เพื่อที่จะค้นหาความเป็นไปได้ของความเสี่ยงและผลตอบแทนของการลงทุนในหลักทรัพย์อย่างเป็นระบบ
จริงอยู่ นักลงทุนบางคน ไม่จำเป็นต้องรู้อะไรเลยเกี่ยวกับเป้าหมายราคา ก็สามารถทำกำไรจากการลงทุนได้ แต่นั่นไม่ใช่ข้อสรุปสำหรับกรณีทั่วไป เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาด ยังจำต้องพึ่งพาการวิเคราะห์ และเป้าหมายราคาต่อไป เพื่อให้รู้ว่าขีดจำกัดของความเสี่ยงนั้นอยู่ที่ตรงไหนบ้างของระดับราคา ไม่ใช่ปล่อยให้ตกอยู่ในสภาพ “ตาบอดคลำช้าง”
เข็มมุ่งของการวิเคราะห์เพื่อหาเป้าหมายราคา ตั้งบนรากฐานของหลักการประเมินกำไรสุทธิต่อหุ้น และสัดส่วนทางการเงินต่าง พร้อมกับสมมติฐานประกอบอย่างเป็นระบบ แต่รายละเอียดของการประเมินนั้น มีตัวแปรเชิงจิตวิทยาและภูมิปัญญาของนักวิเคราะห์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งมีข้อสังเกตว่า คุณภาพของการวิเคราะห์นั้น ขึ้นกับเงื่อนไขประจำตัวหรือบุคลิกภาพของนักวิเคราะห์แต่ละคนอย่างมีนัยสำคัญ
จุดเบี่ยงเบน หรือบกพร่องสำคัญที่นักลงทุนจะต้องรู้ว่า นักวิเคราะห์แต่ละคนมีข้อด้อยในการวิเคราะห์ประมาณ 5 อย่างที่พึงระวังเสมอประกอบด้วย
อคติส่วนตัวที่ไม่แยแสต่อข้อมูลและข้อเท็จจริง เช่นนักวิเคราะห์บางคนเชียร์แหลก บางคนก้าวร้าวเกินเหตุ บางคนเลือกผลประโยชน์เฉพาะตัว
นิสัยนักการพนันที่แฝงในตัวของนักวิเคราะห์ บางคนมองโลกเสมือนเกมพนัน ไม่ใช่เรื่องของส่วนได้เสียทางเศรษฐศาสตร์
การติดยึดกับผลประโยชน์ส่วนตัวและขององค์กรที่สังกัดเกินขนาด
จุดยืนของความคิด (รอบคอบหรือมักง่าย แห่ตามกระแส หรือชอบทวนกระแส)
เชื่อมั่นในตัวเองสูงเกินขนาด
สาระที่กล่าวมาข้างต้น สะท้อนข้อเท็จจริงว่า บทวิเคราะห์เกี่ยวกับเป้าหมายราคานั้น ไม่ใช่และไม่สามารถเป็นคัมภีร์ชี้ทางสวรรค์หรือทางหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ เพราะมูลค่าที่เหมาะสมและเป้าหมายราคา ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่ถูกต้อง มีวาระซ่อนเร้นแฝงอยู่เสมอ จึงใช้ในฐานะแนวทางหนึ่งในการชั่งน้ำหนักพิจารณาก่อนการลงทุนเท่านั้น ต้องการข้อมูลและความรู้ของนักลงทุนอีกส่วนหนึ่งประกอบด้วย
ท้ายที่สุด ความเสี่ยงและผลตอบแทนในการเชื่อเป้าหมายราคา ก็เป็นสัมภาระที่นักลงทุนต้องแบกรับเอง ไม่สามารถตีโพยตีพายอะไรได้