หน้า 1 จากทั้งหมด 1

"วิกฤตเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ของจริงหรือแค่ชั่วคราว !"

โพสต์แล้ว: จันทร์ ก.ย. 16, 2013 1:09 am
โดย วรันศ์ บัฟเฟต
(คหสต.) ด้านล่างผม highlight ส่วนที่มองว่าน่านำเอาไปคิดเป็นพิเศษเพราะผมก็ระวังจุดนี้เช่นกันในหลายๆกรณีของทั้งภาพรวมประเทศไทยและกรณีการลงทุนรายบริษัท เราควรแยกแยะให้ออก อย่าหลงการที่นักเก็งกำไรและนักฉวยโอกาสจากสถานการณ์ต่างๆมาทำให้ภาพและความเห็นต่อหลายๆอย่างเพี้ยนไป (ทฤษฏี Asset price action confirmation ต่อเหตุการณ์ต่างๆในวงจร positive feedback loop)

นักลงทุนที่แยกแยะไม่ออกระหว่างของจริงและภาพลวงตาที่เหล่านักฉวยโอกาสสร้างขึ้นมาท้ายสุดจะถูกทิ้งไว้กับความจริงที่ขื่นขม เมื่อวันที่ความจริงออกมาไม่ได้สลวยสวยงามเหมือนภาพที่เหล่านักฉวยโอกาสหลอกล่อวาดเอาไว้ พวกนี้ไม่อยู่รอดูของจริงหรอกครับ มาเร็วเคลมเร็วไปเร็ว ดังนั้นนักลงทุนที่มีความตั้งใจสูงแต่ความสามารถในการพิจารณาต่ำถูกชักจูงง่ายจึงเป็นเหยื่อชั้นยอด

หรือที่แถวบ้านเค้าเรียกกันง่ายๆว่า "ตอนทุกอย่างดีก็จูบปากกัน แต่พอวงแตกตัวใครตัวมัน" และ "ลุกคนสุดท้ายจ่ายรอบวง" :mrgreen:

ชั่วคราว ลวงตา ถาวร ยั่งยืน เราเท่านั้นต้องมองให้ออกเอง
วิกฤตเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ของจริงหรือแค่ชั่วคราว ?

12 ก.ย. 2556

โดย สันติธาร เสถียรไทย

"ยามมีหานโยบายดียาก ยามยากสร้างนโยบายดี" (Good times make bad policies, bad times make good policies)

นี่คือสิ่งที่รัฐมนตรีคลังประเทศอินโดนีเซียคนปัจจุบัน ชาทีบ บาสรี (Chatib Basri) บอกผมและทีมของเครดิตสวิส ตอนที่เราเข้าพบท่านเมื่อปลายปีที่แล้ว ก่อนที่ท่านเข้ารับตำแหน่งไม่กี่เดือนมานี้ ซึ่งเป็นปรัชญาโดนใจผมมากข้อหนึ่ง

ที่จริงแล้ว ตอนที่เรานั่งอยู่ในห้องนั้น เราคิดว่าอินโดนีเซียกำลังอยู่ใน "ยามมี" ที่ทำให้รัฐบาลของเขา รวมทั้งนักลงทุนนั้นประมาท มองไม่เห็นปัญหาของนโยบายเศรษฐกิจในตอนนั้น และคอยผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ออกนโยบายและการปฏิรูปที่จำเป็น

หลังจากวันนั้น ผมเลยเขียนบทความชื่อ "เศรษฐกิจอินโดนีเซียของจริงหรือฟองสบู่" ลงในประชาชาติธุรกิจเมื่อต้นปี คาดการณ์ว่าอีกไม่นานเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะต้องพบกับปัญหา "ค่าเงิน" จากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง (Current account deficit) และสุดท้ายธนาคารกลางของเขาก็จะต้องปล่อยให้ อัตราแลกเปลี่ยนรูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐ ตกทะลุ 10,000 พร้อมถูก "มัดมือชก" ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดึงเงินเข้าประเทศ ป้องกันไม่ให้ค่าเงินอ่อนตัวเร็วเกินไป โดยการขึ้นดอกเบี้ยนี้จะมี ผลลบ ต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเขาอย่างแน่นอน

มาถึงตอนนี้ ทุกอย่างที่พูดไว้นี้เกิดขึ้นหมดแล้ว และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่เราคาดไว้เสียอีก

ที่เหมือนโชคชะตาเล่นตลก คือ คนที่ต้องมารับตำแหน่งขุนคลังช่วงที่เศรษฐกิจอินโดนีเซียกำลังจะเจอศึกหนัก ที่ต่างชาติกระหน่ำเทขายพันธบัตรรัฐบาลและเงินรูเปียห์ใน 2-3 เดือนนี้ ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นท่าน ชาทีบ นี้เอง โดยเข้ามารับตำแหน่งพร้อมกับการที่ขุนคลังเก่า นายอากุส มาโทวาร์โดโจ (Agus Martowardojo) สลับมารับตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติแทน

หลังการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งครั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียถูกแรงเทขายของนักลงทุน มัดมือชก ทำให้ต้องหักพวงมาลัยเปลี่ยนแนวนโยบายเศรษฐกิจ แต่สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ที่ติดตามเศรษฐกิจอินโดนีเซียมาอย่างใกล้ชิด ต้องยอมยกความดีความชอบให้กับทีมเศรษฐกิจชุดใหม่นี้ ที่กล้าหักพวงมาลัยได้เร็วและดำเนินนโยบายได้ "ถูกทางขึ้น" ราวกับจะแสดงให้เห็นว่าเมื่อยามยากมา เขาก็สามารถผลักดันนโยบายที่ถูก ถึงแม้จะไม่ดีสำหรับฐานเสียงทางการเมืองของเขาจริง ๆ

โดยนอกจากจะลดการชดเชยราคาน้ำมันปลีกจนทำให้ราคาน้ำมันเบนซินที่ปั๊มกระโดดขึ้นไป 44% เพื่อลดภาระการขาดดุลการคลังของรัฐบาลให้ต่ำลงกว่า 3% ของ GDP ที่เป็นข้อกำหนดภายใต้รัฐธรรมนูญแล้ว แบงก์ชาติเขาได้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% แล้วออกมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ในกรอบของ Macroprudential policy เพื่อลดภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาฯ โดยเฉพาะภาคคอนโดมิเนียม ที่มีบางแห่งราคากระโดดกว่า 50% ในปีสองปีที่ผ่านมา เรียกว่าเปลี่ยนไปจากนโยบายแนวเก่าอย่างชัดเจน

ปัญหาเกิดเพราะ "ยาที่ถูกต้อง" มาช้าเกินไป

น่าเสียดายที่ถึงแม้รัฐบาลจะจัด "ยาแรง" ชุดนี้ให้เศรษฐกิจไปแล้ว ปัญหาของเศรษฐกิจอินโดนีเซียนั้นคงยังไม่หายง่าย ๆ ค่าเงินรูเปียห์ยังตกลงเรื่อย ๆ แม้ว่าธนาคารกลางอินโดนีเซียจะใช้เงินสำรองต่างประเทศไปแล้วถึง 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาแค่สองเดือนที่ผ่านมา เพื่อพยุงค่าเงิน จนขณะที่เขียนบทความนี้ เงินรูเปียห์ดิ่งลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี จนผมกับทีมเครดิตสวิสต้องเกาะติดโทรศัพท์กับอีเมล์ทั้งวัน คอยตอบคำถามจากนักลงทุนว่าเกิดอะไรขึ้น ?

เหตุมาจากปัจจัยสำคัญสองข้อด้วยกัน ข้อแรก คือ การขาดดุลการค้าระหว่างประเทศที่ไม่ค่อยดีขึ้นเท่าไรนัก แม้เศรษฐกิจชะลอตัวลงจนการนำเข้าหดตัวลงแล้ว เพราะการส่งออกของอินโดนีเซียก็โดนฉุดจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำ เช่น ถ่านหิน น้ำมันปาล์ม และยางพารา ที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ

โดยเหตุหนึ่งเป็นผลกระทบมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนด้วย ในขณะเดียวกันการที่อินโดนีเซียไม่ได้มีฐานการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมากนัก ทำให้ไม่ค่อยได้รับอานิสงส์จากการที่เศรษฐกิจโลกตะวันตกฟื้นตัวขึ้น

ข้อสอง คือ เมื่อนักลงทุนต่างชาติกลัวว่า QE ของธนาคารกลางอเมริกาจะค่อย ๆ หมดไป ดอกเบี้ยพันธบัตรของอเมริกาก็สูงขึ้น ลดส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างอเมริกาและอินโดนีเซีย ทำให้เงินไหลเข้าประเทศน้อยลง เพราะฉะนั้นการจะดึงเงินเข้าประเทศเพื่อชดเชยการขาดดุลทางการค้าก็ยากขึ้น และเมื่อรัฐบาลไม่ยอมออกมาสื่อสารให้ชัดเจน ว่าพร้อมที่จะใช้ทุกนโยบายและมาตรการมาสร้างเสถียรภาพให้ค่าเงิน ก็ยิ่งมีทั้งพวกเก็งกำไรมาเล่นค่าเงิน บวกกับคนในประเทศอยากเอาเงินออกมาเก็บเป็นดอลลาร์ ทำให้สถานการณ์ยิ่งหนักลงไปอีกสุดท้าย รัฐบาลคงไม่มีทางเลือก นอกจากต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปอีก เพื่อดึงเงินเข้าประเทศและสร้างความมั่นใจในเงินรูเปียห์ ซึ่งจะเป็นข่าวร้ายสำหรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต เพราะลำพังแค่การขึ้นดอกเบี้ยและออกมาตรการควบคุมสินเชื่อที่มีมาแล้วนั้น ก็น่าจะชะลอเศรษฐกิจของอินโดนีเซียอย่างมากอยู่แล้ว เลยกลายเป็นว่ารัฐบาลถูกบีบให้เลือกระหว่าง เสถียรภาพของค่าเงิน หรือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดูไปก็คล้ายกับที่ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นอีกประเทศใหญ่ที่ขาดดุลการค้าในเอเชีย อินเดียกำลังประสบปัญหา (อินโดนีเซียยังไม่หนักหนาเท่า) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ยอมปรับนโยบายเศรษฐกิจมหภาค "ลดยากระตุ้น เหยียบเบรก" ตั้งแต่ตอนที่มีโอกาสปีที่แล้ว และเรื่องนี้เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับประเทศอาเซียนอื่นเช่นกัน

ผลกระทบทางลบจากการเหยียบเบรกตอนนี้ของอินโดนีเซียอาจมากกว่าและยาวนานกว่าที่นักลงทุนส่วนใหญ่คิด

ทั้งนี้ นักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์หลายคนมักคิดว่า เศรษฐกิจภายในประเทศของอินโดนีเซียเข้มแข็งมากที่ผ่านมา เพราะเหตุผลเชิงโครงสร้างระยะยาวทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น การขยายตัวของชนชั้นกลาง การที่มีประชากรวัยทำงานเป็นจำนวนมาก เป็นต้น

แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม้ปัจจัยพวกนี้มีความสำคัญอยู่บ้าง แต่เหตุผลที่เศรษฐกิจอินโดนีเซียโตอย่างเข้มแข็งจนเตะตานักลงทุนใน 4-5 ปีที่ผ่านมานั้น เป็นเหตุมาจากปัจจัยและนโยบายระยะสั้นมากกว่าเรื่องโครงสร้างระยะยาวอย่างที่หลายคนคิด

เมื่อวิเคราะห์ดูแล้วพบว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศของอินโดนีเซียใน 3-4 ปีที่ผ่านมา คือ
"ยาโด๊ป" สองอย่าง

หนึ่ง - คือการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งตัวขึ้นสูง (Commodity boom) ด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน โดยในช่วงที่ราคาถ่านหินพุ่งขึ้นสูง เศรษฐกิจอินโดนีเซียได้รับประโยชน์ทั้งโดยตรงจากการที่บริษัททั้งในประเทศและต่างชาติ เพิ่มการลงทุนในภาคเหมืองแร่ (Mining) และภาคเศรษฐกิจสนับสนุนต่าง ๆ และยังได้ประโยชน์ทางอ้อมเมื่อกำไรที่ได้
จากทรัพยากรเหล่านี้ถูกบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศนำไปใช้ลงทุนต่อในธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เพราะฉะนั้นราคาถ่านหินที่สูงจึงเป็นส่วนผสมสำคัญที่ขาดไม่ได้ของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย

สอง - คือการใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มในปี 2554 ด้วยการลดดอกเบี้ย ในขณะที่เศรษฐกิจและสินเชื่อนั้นโตได้ดีอยู่แล้ว ทำให้เกิดการบูมของสินเชื่อ (Credit boom)

มาตอนนี้ Commodity boom ผ่านไปแล้ว เพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและ Credit boom ก็กำลังจะถูกปิดฉากลง เมื่อนโยบายการเงินเปลี่ยนไปจาก ผ่อนคลาย เป็น ตึงตัว การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านการลงทุนในอินโดนีเซียจึงหมดยาโด๊ปที่เป็นแรงขับ กลับมาเจอการเหยียบเบรก และจะต้องชะลอตัวลงอย่างมากต่อไปข้างหน้า

การชะลอตัวทางเศรษฐกิจนี้น่าจะมีผลทางลบต่อภาคเศรษฐกิจที่เคยร้อนแรงต่อไป เช่น ภาคธนาคารก็จะต้องพบกับปัญหาการชะลอตัวของสินเชื่อและหนี้เสียที่สูงขึ้น ถึงแแม้อัตราส่วนของหนี้ทั้งหมดต่อ GDP จะยังค่อนข้างต่ำก็ตาม ในขณะเดียวกันปริมาณการซื้อขายและราคาอสังหาริมทรัพย์ทั้งบางส่วนในกรุงจาการ์ตา และเมืองใหญ่ เช่น สุราบายาจะค่อย ๆ ปรับตัวลดลงจนส่งผลกระทบต่อภาคการก่อสร้างต่อไป

ที่สำคัญ คือ นักลงทุนและพวกเรานักเศรษฐศาสตร์เองหลายคน ยังไม่ตระหนักถึงความหนักหน่วงของปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย โดยส่วนใหญ่คิดว่าเป็นปัญหาระยะสั้นแค่ไม่กี่ไตรมาส และจำกัดอยู่ในภาคเหมืองแร่เท่านั้น
เดี๋ยวเดียวอินโดนีเซียจะกลับไปโตเร็วปีละ 6-7% อีก ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เรามักเผลอเอาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เห็นในปีสองปีที่ผ่านมาเป็นบรรทัดฐาน ว่าเป็น "เทรนด์" การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจนั้น ๆ โดยลืม "ยาโด๊ป" ทั้งหลายที่เศรษฐกิจนั้นใช้อยู่

เหมือนที่เราเคยคิดว่า GDP ของอินเดียน่าจะโตได้เฉลี่ยปีละ 7-8% หรือเวียดนามปีละ 6-7% เมื่อไม่นานมานี้ จนตอนนี้ถึงมารู้ว่าทั้งสองประเทศนั้นไม่สามารถโตได้ในอัตรานั้นอย่างยั่งยืน

ที่จริงแล้วแม้ลักษณะโครงสร้างเศรษฐกิจจะต่างกันมาก แต่วัฏจักรของเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในปีสองปีข้างหน้าจะมีความคล้ายคลึงกับอินเดียในสองสามปีที่ผ่านมา คือ จะโตได้ต่ำกว่าศักยภาพของตัวเอง (Sub-trend growth) หลังจากที่โตเกินตัวมาหลายปี


วิกฤตเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ? พี่ใหญ่ของอาเซียนจะล้มหนักแค่ไหน

ในขณะที่เขียนบทความนี้ สถานการณ์ของเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะค่าเงินรูเปียห์ต่อดอลลาร์กำลังดิ่งทะลุ 11,000 (จากแค่ประมาณ 9,900 เมื่อปีที่แล้ว) และหลายคนเริ่มพูดถึงคำว่า วิกฤตต้มยำกุ้งอีกครั้ง

เมื่อวันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม รัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกมาตรการมาหลายชุดเพื่อลดปัญหาการขาดดุลเงินเฟ้อ และรองรับไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวมากเกินไป โดยผมต้องขอชื่นชมท่านชาทีบ รัฐมนตรีคลัง ที่สละเวลาเกินชั่วโมงกว่า พูดคุยอธิบายนโยบายชุดนี้ให้พวกเราและนักลงทุนกว่า 500 รายจากทั่วโลกฟัง ในการประชุมทางโทรศัพท์ระหว่างประเทศ (international conference call) ที่ทางทีมเครดิตสวิสจัดให้ โดยผมเองได้รับเกียรติเป็นผู้ดำเนินการประชุม (moderator) จึงได้เรียนรู้อะไรจากท่านมาก

แต่เสียดายที่สำหรับนักลงทุนแล้ว สิ่งที่จำเป็นที่สุดตอนนี้ คือ นโยบายการเงินไม่ใช่ การคลัง ที่ท่านเป็นผู้ดูแลโดยตรงอยู่ขณะนี้ และทุกคนที่หมายตาหวังใจจะเห็นธนาคารกลางอินโดนีเซียลดดอกเบี้ยนั้น ก็รอเก้อ เพราะยังไม่มีสัญญาณทางนโยบายออกมาอย่างชัดเจน แม้ว่านโยบายอื่น ๆ ของรัฐบาลน่าจะช่วยปัญหาในระยะกลางได้บ้าง ในระยะสั้น วิกฤตของอินโดนีเซียเป็นวิกฤตทางความมั่นใจ ไม่ใช่วิกฤตทางการเงินเต็มรูปแบบ เช่น ต้มยำกุ้ง

สิ่งที่จะบรรเทาลงได้ คือ ต้องให้แบงก์ชาติอินโดนีเซียขึ้นดอกเบี้ยและส่งสัญญาณว่าจะให้ความสำคัญต่อเสถียรภาพของค่าเงินเขาเป็นอันดับหนึ่งในตอนนี้

บทเรียนสำคัญสำหรับทุกประเทศในอาเซียน

กรณีของพี่ใหญ่เศรษฐกิจอาเซียนนี้เป็นบทเรียนหนึ่งของ"น้ำลดตอผุด" คือ ในยามดี อะไรก็ดูดี นักลงทุนเทเงินไม่สนใจ ผู้วางนโยบายก็ไม่คิดจะผลักดันนโยบายหรือการปฏิรูปใด ๆ จนมาใน ยามยากถึงจะเริ่มหานโยบายดีมาใช้ แต่ก็สายเสียแล้ว เพราะปัญหาที่สะสมไว้ บวกกับนักลงทุนที่เข้าโหมด "กระต่ายตื่นตูม" เห็นอะไรก็เป็นไม่ดีไปหมด ผมก็ได้แต่หวังว่าท่านชาทีบ และทีมจะสามารถฝ่าฟันพายุนี้ไปได้ และประธานาธิบดีคนใหม่ที่จะได้รับเลือกตั้งรับช่วงต่อจากท่าน Susilo Bambang Yudhoyono ในปีหน้า 2557 จะสามารถผลักการปฏิรูปสำคัญต่าง ๆ ที่ช่วยให้เศรษฐกิจอินโดนีเซียพลิกฟื้นได้ ที่สำคัญที่สุด คือ หวังว่าปัญหาในอินโดนีเซียนี้จะเป็นบทเรียนให้กับประเทศอื่นในอาเซียน รวมทั้งไทยเราด้วย ซึ่งยามลำบากของเศรษฐกิจไทยก็มาถึงแล้วเหมือนกันในปีนี้

หวังใจว่า "ยามยากจะสร้างนโยบายดี" ในประเทศไทยให้ได้เห็นกันบ้าง

Re: "วิกฤตเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ของจริงหรือแค่ชั่วคราว !"

โพสต์แล้ว: จันทร์ ก.ย. 16, 2013 1:14 am
โดย วรันศ์ บัฟเฟต
ส่วนเรื่องความถูกต้องของข้อมูลที่ผู้เขียนได้ยกขึ้นมาพูดไว้ ส่วนนี้ต้องตรวจสอบกันเองน้าครับ :P

Re: "วิกฤตเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ของจริงหรือแค่ชั่วคราว !"

โพสต์แล้ว: จันทร์ ก.ย. 16, 2013 12:44 pm
โดย PLUSLOVE
อินโดนิเซีย เริ่มเหมือนไทยในปี 1997 แล้วครับ ทุนสำรองเริ่มเหลือน้อยลงเรื่อยๆ

รอวันเฮดฟันด์ โจมตีครั้งสุดท้าย

เฮดฟันด์จะจุดไฟเผาที่เรือของอินโดนิเซียก่อน ไฟจะลามมาเรื่อยๆ เพราะเรือของ Asian

ผูกกันไว้ ยิ่งผูกกันแน่นจะแก้ไขก้ไม่ทัน อินโดให้รอดเกิน ปีนี้ก้ถือว่าเก่งมากแล้วนะครับ


หลังศึกสุดท้าย ผ่านไป คือเวลาที่ดีที่ ธงไทยจะโบกสะบัดไปไกล ไปเหนือกว่าแม่น้ำแยลู

ธงไทยจะไปปักที่ ปักกิ่ง มันเป็นเกมที่ เราต้องซื้อตอนที่เค้ากลัวๆกัน

Re: "วิกฤตเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ของจริงหรือแค่ชั่วคราว !"

โพสต์แล้ว: จันทร์ ก.ย. 16, 2013 2:31 pm
โดย แงซาย