ขอบคุณครับพี่ NB ด้านการลงทุนผมนั้นไม่ค่อยโชคโชนเท่าไหรครับ เพราะผมนั้นลงทุนมาได้ไม่นานมาก การลงทุนปัจจุบันยังเป็นการลองผิดลองถูกมาตลอด
ตั้งแต่ช่วงแรกๆของการลงทุนนั้นผมลงทุนในใจธุรกิจที่
ราคาถูกเมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชี (P/B < 1) และมีปันผลสูง (DY > 5%) ถ้าเป็นไปได้ก็ควรเป็นบริษัทที่มีระยะเวลาคืนทุนสั้นกว่าสิบปี (P/E < 10, ROE > 10%) ซึ่งสมัยนั้นพอนำหุ้นทั้งหมดในตลาดมากรองก็จะได้หุ้นที่น่าสนใจอยู่หลายตัวครับ
ต่อมาสักพักผมเริ่มเห็นว่าหุ้นส่วนใหญ่ที่เข้าข่ายนี้ มักจะเป็นหุ้นโรงงานบ้าง หุ้นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บ้าง หุ้นธุรกิจการเงินบ้าง หุ้นโภคภัณท์บ้าง ซึ่งธุรกิจพวกนี้มักมีความอ่อนไหว โรงงานที่ทำเงินได้ดีก็อาจเจอปัญหาถ้าลูกค้าเลิกสั่งซื้อ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็มีความเสี่ยงถ้าสร้างเสร็จแล้วไม่มีคนซื้อ เลวร้ายกว่านั้นคือถ้าลูกค้าทิ้งเงินดาวน์ระหว่างก่อสร้าง ทำให้บริษัทไม่มีเงินพอที่จะสร้างให้เสร็จ ส่วนธุรกิจการเงินนั้นก็มีความเสี่ยงแฝงไว้เต็มไปหมดเพราะนักลงทุนนั้นมักไม่ค่อยรู้ว่าบริษัทนำเงินไปลงทุนอะไรไว้บ้าง ขณะที่มี leverage สูง ถ้าผิดพลาดอะไรมาก็เจ๊งได้ง่ายๆ ปันผลที่เราได้ในวันนี้ วันหน้าเราอาจจะได้น้อยลง มูลค่าในอนาคตนั้นมันลดลงเรื่อยๆ
ขณะที่เมื่อเทียบกับบางธุรกิจนั้น แม้ว่าวันนี้รายได้จะน้อย แต่ธุรกิจนั้นมีความได้เปรียบบางประการอยู่ ถ้ามองไปยาวๆแล้วธุรกิจพวกนี้น่าจะมีรายได้สูงขึ้น มีกำไรมากขึ้น และแน่นอนว่าปันผลก็น่าจะเพิ่มขึ้นตาม
ตอนนั้นผมเลยคิดได้ว่า Value Investment นั้นมองได้สองมุม คือเป็นทั้งการลงทุนเน้น
มูลค่า และการลงทุนเน้น
คุณค่า ที่ผ่านมาผมให้ความสำคัญกับมูลค่ามากเกินไป ไม่ได้มองที่คุณค่าที่ได้จากหุ้นนั้น
ผมจึงเปลี่ยนมาถือหุ้นโดยการมองที่ตัวธุรกิจมากขึ้น มองไปอีกห้าปีสิบปีว่าบริษัทไหนนั้นจะยิ่งใหญ่ขึ้นมาก แล้วก็ซื้อบริษัทนั้น แต่บริษัทพวกนี้มักซื้อขายกันในราคาที่ไม่ถูกนัก เช่นบริษัทค้าปลีก โรงพยาบาล พลังงานทางเลือก โดยส่วนตัวผมคิดว่าการที่ซื้อหุ้นคุณค่าที่ราคาสูงเกินไปนั้นอาจไม่ใช่การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดี บางทีอาจจะต้องรอจังหวะซื้อและระหว่างนั้นก็ไปศึกษาหุ้นตัวอื่น
พอศึกษาไปๆมาๆ ผมก็ไปพบว่าบางบริษัทนั้นคุณภาพก็ไม่ได้ดีมากมาย บางบริษัทถึงขั้นเละ กำไรปัจจุบันนั้นก็ไม่ได้สูงอะไร แต่ว่าลึกๆแล้วบริษัทมีศักยภาพสูงมาก เช่นที่ดินของบริษัทอยู่ในทำเลที่ราคาสูงมากแต่ผู้บริหารไม่ยอมขายทำกำไร หรือบริษัทโรงงานมีความสามารถในการผลิตสินค้าแต่ด้วยเหตุบางอย่างทำให้โรงงานใช้งานไม่ได้ บริษัทต่างประเทศมีเทคโนโลยีที่สามารถผลิตสินค้าได้ต้นทุนถูกกว่าคู่แข่งเป็นสิบเท่าแต่ยังไม่มีเงินทุนผลิต บริษัทอนิเมชันของโลกที่มัวแต่ไปโฟกัสธุรกิจถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์โดยไม่สนใจธุรกิจดั้งเดิม บริษัทประกันชีวิตที่ขาดทุนจากเงินลงทุนในพันธบัตรประเทศในยุโรปทำให้ฐานะทางการเงินอ่อนแอลงจนราคาซื้อขายนั้นต่ำกว่า Embedded Value และอีกหลายๆบริษัทที่ไม่ได้ดีพร้อมแต่มีคุณค่าแฝงอยู่ในราคาที่ล่อตาล่อใจ
บริษัทพวกนี้อาจไม่ได้ดีเลิศ แต่ราคาตลาดนั้นดูเหมือนจะต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็นเพราะการบริหารผิดพลาด หุ้นพวกนี้ถ้าเป็นสมัยก่อนผมจะไม่มองเลย เพราะไม่ค่อยมีปันผล แต่ภายหลังผมมาพบว่าบางทีมันให้ผลตอบแทนในระยะสั้นๆที่สูงมาก ถ้าเราซื้อได้ในจังหวะที่ดี
ซึ่งตรงนี้น่าจะเหมือนกับหุ้น Turnaround ที่พี่ NB พูดถึงครับ บางทีผมมองว่ามันคล้ายๆกับหุ้น Assets Play ในมุมที่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ทำให้มูลค่าบริษัทสูงขึ้น แต่สัดส่วนการลงทุนของผมในหุ้นพวกนี้น้อยมากครับ กลัวว่าจะได้ไม่คุ้มเสีย ที่ผ่านมามีแค่สามสี่ครั้งที่กล้าลงทุนจริงๆ ซึ่งมีทั้งกำไรและขาดทุนครับ
ส่วนที่เคยขาดทุนนั้นเป็นบริษัทโรงงานในไทย บริษัทเคยอยู่ในหมวดธุรกิจหนึ่งซึ่งมีมาร์จินสูงมาก แต่ด้วยการที่ลูกค้าเริ่มสั่งสินค้าลดลงทำให้บริษัทต้องหันไปบุกตลาดอื่นที่ตัวเองไม่ถนัด ถ้าดูตัวเลขขนาดตลาดและปริมาณยอดขายแล้วดูน่าสนใจมาก แต่สุดท้ายกำไรกลับไม่ได้อย่างที่คาดเพราะธุรกิจใหม่นั้นมีการแข่งขันสูงมาก แทนที่ยอดขายเพิ่มแล้วกำไรจะเพิ่มกลับเป็นขาดทุน ผมผิดพลาดที่ซื้อหุ้นบริษัทนี้ทั้งๆที่ความรู้ในธุรกิจของบริษัทยังไม่ดีพอ มัวแต่ไปดูข้อมูลตัวเลขทางบัญชีแบบครึ่งๆกลางๆเลยเจ็บตัวครับ
ที่เคยกำไรมากๆนั้นเป็นธุรกิจโรงงานที่อเมริกาครับ ธุรกิจเดิมของบริษัทนั้นผลิตแผง PV พลังงานแสงอาทิตย์ ตอนนั้นบริษัทมีตัวเลขทางบัญชีเน่ามากเพราะสู้ราคากับบริษัทในจีนไม่ไหว แต่ผุ้บริหารนั้นเก่งมากที่พลิกบริษัทมาพัฒนาการผลิตวัตถุดิบที่เรียกว่าแซฟไฟร์ (Sapphire) ซึ่งวัตถุดิบนี้เป็นสิ่งที่เทคโนโลยีในอนาคตต้องใช้ครับ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นกระจกบนนาฬิกาข้อมือราคาแพงและโทรศัพท์มือถือในอนาคต หรือแม้กระทั่งเป็นฐานรองหลองไฟ LED ซึ่งผมบังเอิญทำงานเกี่ยวกับตรงนี้พอดีจึงมองเห็นความแข็งแกร่งของผลิตภัณฑ์ครับ ถ้าไม่ได้ทำงานตรงนี้ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมั่นใจถึงขนาดจะซื้อหุ้นของบริษัทไหม
จากสองกรณีนี้ ทำให้ระยะหลังผมมักทิ้งข้อมูลบัญชีไปเลย
เพราะว่าตัวเลขในบัญชีมันจะมาช้ากว่าทิศทางของธุรกิจ ถ้าธุรกิจมันดีขึ้นตัวเลขมันก็จะดีขึ้น ไม่ใช่ตัวเลขดีแล้วธุรกิจถึงจะดี นอกจากนั้นความสามารถทางตัวเลขทางบัญชีของผมนั้นอ่อนด้อยมากครับ
ผมบ่นมายาวเลย สรุปทั้งผมที่ผมเขียนมา เป็นแผนภูมิสั้นๆคือ
มูลค่า \ คุณค่า ............ แย่หรือกลางๆ ............. ดีมาก
แพง .................................ไม่ซื้อ ...................รอจังหวะ
ถูก ............................... ดูรายกรณี ................. ซื้อ
สั้นๆแค่นี้แหละครับ