บทความ ชีวิตไม่มีทางตัน (ตัน ภาสกรนที)
โพสต์แล้ว: จันทร์ มี.ค. 10, 2014 11:41 pm
บทความลงต่อเนื่องในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ประมาณปี 2547
(คัดลอกมาจากเว็บกระทิงเขียว ห้องคุณค่าครับ http://bbznet.pukpik.com/scripts3/view. ... r=numtopic
(1) ผู้ให้-ผู้รับ
คอลัมน์ ชีวิตไม่มีทางตัน
โดย สรกล อดุลยานนท์
รู้ไหมครับว่าวันแรกที่เปิด "โออิชิ" ภัตตาคาร บุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น ที่ซอยทองหล่อ ผมอยู่ตรงส่วนไหนของร้าน
"ห้องน้ำ" ครับ
ผมกำลังซ่อมก๊อกน้ำที่รั่ว
คล้ายๆ กับวันแรกที่โรงงาน "โออิชิ กรีนที" เดินเครื่องการผลิตเพื่อส่งสินค้าให้กับร้าน 7-11 และดีทแฮล์ม
ผมก็ไม่ได้ใส่สูทและเปิดแชมเปญฉลอง
แต่ผมต้องวิ่งรอกระหว่างโรงงาน-ดีทแฮล์ม และศูนย์กระจายสินค้าของ 7-11 ทั้งคืน
ตอน 1 ทุ่ม ผมต้องไปอยู่ที่ดีทแฮล์มเพื่อใช้สถานะของเจ้าของ "โออิชิ" ขอร้องเจ้าหน้าที่ ดีทแฮล์มให้เปิดโกดังรอรับ "โออิชิ กรีนที" เพราะหมดเวลาทำงานแล้ว
จากนั้นก็กลับไปเฝ้าที่โรงงานเพื่อเร่งผลิต "โออิชิ กรีนที" บรรจุ 18 ตู้คอนเทนเนอร์ส่งให้ 7-11
ตี 1 วิ่งรถไปอยู่ที่โกดัง 7-11 เพื่อรอรับสินค้า
กว่าคืนแรกของการเปิดสายการผลิตของโรงงานโออิชิ กรีนทีจะจบสิ้น คือ ตี 5 ของวันรุ่งขึ้น
เมื่อรถคอนเทนเนอร์คันสุดท้ายวิ่งเข้าโกดังของ 7-11
บางทีผมก็นึกแปลกใจเหมือนกันว่า "วันแรก" ของการเริ่มต้นงานใหม่ทำไมผมต้อง "เหงื่อออก" อยู่เสมอ
ตั้งแต่เป็น "ลูกจ้าง" ที่ไม่มีทางเลือกจนเป็น "เจ้าของกิจการ" ที่สามารถเลือกตำแหน่งยืนได้
ผมก็ยังเลือกยืนในจุดที่มี "เหงื่อ" เป็นเพื่อนเช่นเดิม
อาจเป็นเพราะผมเชื่อว่าก้าวแรกคือก้าวที่สำคัญยิ่ง
และ "เหงื่อ" เป็นน้ำมนต์ที่ดีที่สุด ของคนทำงาน
........................
นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโสเคยบอกว่าความจนเป็นสิ่งมีค่า เพราะทำให้เราไม่กลัวงานหนัก
ไม่แปลกที่ผมไม่เคยกลัว "งานหนัก"
เพราะผมผ่าน "ความจน" มาแล้ว
ผมเคยบอกลูกเสมอว่าพ่อได้เงินลำบาก
"ได้เงินลำบาก" ไม่ใช่ว่า "หาเงินลำบาก"
สำหรับผม การหาเงินไม่ลำบากมากนัก แต่กว่าจะ "ได้มา" ต่างหากที่ลำบาก
ต้องแลกด้วย "เหงื่อ" และความอุตสาหะอย่างต่อเนื่อง
ผมไม่เคยอิจฉาใครที่เริ่มต้นการทำธุรกิจในสถานะ "ทายาท" ที่สืบทอดอาณาจักรธุรกิจของบิดา-มารดา หรือมีเงินทุนมหาศาลจากครอบครัว
ทุกคนมี "วาสนา" แตกต่างกัน
บางคนเริ่มต้นจาก 0 บางคนเริ่มจาก +5
แต่ผมอาจเรียกได้ว่าเริ่มต้นชีวิตการทำงานแบบ "ติดลบ" เมื่อเทียบกับคนทั่วไปในวันนี้
ผมเรียนจบแค่ ม.ศ. 3
เริ่มต้นการทำงานด้วยตำแหน่ง "พนักงานยกของ"
เงินเดือนเพียง 700 บาท
ถึงแม้จะเริ่มต้นอย่าง "ติดลบ" แต่ผมก็สามารถมีวันนี้ได้
นั่นคือ เหตุผลสำคัญที่ผมอยากถ่ายทอดเรื่องราวของผมและ "โออิชิ"
ไม่ใช่เพื่อคุยโม้โอ้อวดถึง "ความสำเร็จ"
แต่ต้องการให้เป็น "กำลังใจ" แก่คนส่วนใหญ่ในเมืองไทย
ทั้งคนที่เริ่มต้น "ติดลบ" เหมือนกับผม
และคนที่เริ่มต้นด้วย "วาสนา" ดีกว่าผม
"วาสนา" นั้นเป็นสิ่งที่คนอื่นให้มา แต่ความมุ่งมั่นและตั้งใจเป็นสิ่งที่เราต้องลงแรงด้วยตัวเอง
ตราบใดที่เรามีความมุ่งมั่น ความตั้งใจ และพยายามให้ถึงที่สุด
ทุกสิ่งทุกอย่างอาจเป็นจริงได้ตามที่เราใฝ่ฝัน
.......................
ชีวิตการทำธุรกิจของผมผ่านมาทั้งร้านกิฟต์ช็อป ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านเสริมสวย ร้านถ่ายรูป เวดดิ้ง เรียลเอสเตต ฯลฯ
ทุกครั้งที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่ที่ผมไม่เคยทำมาก่อน ผมจะหาความรู้ด้วยการตั้ง "คำถาม"
ผมได้ความรู้และกลยุทธ์ในการทำธุรกิจต่างๆ จากคนมากมายที่พร้อมถ่ายทอดประสบการณ์โดยไม่ปิดบัง
ดังนั้น เมื่อในอดีตผมเคยได้ประโยชน์จากการเป็น "ผู้รับ" วันหนึ่งเมื่อมีประสบการณ์มากพอ ผมก็ควรจะเป็น "ผู้ให้" บ้าง
ประสบการณ์ของคนๆ หนึ่งคงจะช่วยให้ระยะเวลาการเรียนรู้ของอีกคนหนึ่งลดลงได้มากทีเดียว
มีคนถามมากว่าทำไมผมจึงริเริ่มทำธุรกิจเวดดิ้ง ถ่ายรูปแต่งงานในเมืองไทย
ทำไมผมจึงคิดทำบุฟเฟ่ต์โออิชิขึ้นมา
ทั้ง 2 กองไฟที่ลุกโชนขึ้นมาในวันนี้ล้วนเกิดจากประกายไฟเพียงแวบเดียว
เชื่อหรือไม่ทั้ง 2 ธุรกิจนี้เกิดจากคำถามและการบอกเล่าเพียงไม่กี่ประโยค
หรือ "โออิชิกรีนที" ที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนก็ครองส่วนการตลาดถึง 30% และอาจขึ้นเป็นที่ 1 ภายในปีนี้
มันเป็นกรณีศึกษาที่น่ามหัศจรรย์มาก
บางคนอาจคิดว่าเป็นอุบัติเหตุ หรือเป็นเรื่อง ฟลุก
แต่เบื้องหลังความมหัศจรรย์ดังกล่าว มีเรื่องราวมากมายที่ผมได้ศึกษาและทำตลาดล่วงหน้าไว้แล้ว
ผมไม่เคยตีกรอบตลาดของ "โออิชิ กรีนที" อยู่แค่คนดื่ม "กรีนที" ในอดีต
แต่คนที่ดื่มอะไรก็ตามที่เป็นเครื่องดื่ม นั่นคือ "โอกาส" ของ "โออิชิกรีนที"
ผมไม่เคยคิดว่าช่องทางการขายของ "กรีนที" ต้องอยู่ในร้านค้าเดิมๆ
ที่ไหนที่คนอยากดื่ม ที่นั่นต้องมีขาย
ร้านค้าที่ขาย "โออิชิ กรีนที" ในตลาดนัดสวนจตุจักรอาจเป็นคำตอบที่เป็นรูปธรรมที่สุด
ทำไมผมคิดและทำเช่นนั้น
หรือเรื่อง "SPIDER MARKETING" หรือระบบเกื้อกูลการตลาดรวมทั้งเรื่องการแบ่งรายได้ ซึ่งเป็นเคล็ดลับในการขยายธุรกิจของผม
2 เรื่องนี้เป็นประเด็นที่มีคนขอให้ผมขยายความอยู่เป็นประจำ
SPIDER MARKETING คือ วิธีคิดแบบ "คนจน" ที่ต้องการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เป็นระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลปกติของสังคมไทยที่คนแข็งแรงกว่าต้องช่วยคนที่อ่อนแอกว่า
ธุรกิจที่แข็งแกร่งแล้วอย่าง "เวดดิ้ง" ก็ต้องช่วยเหลือ "โออิชิ" ในวันเริ่มต้น
ร้าน "โออิชิ" ไม่ว่าจะเป็นบุปเฟ่ต์หรือราเมน เมื่อแข็งแรงแล้วก็ต้องช่วยขาย "โออิชิ กรีนที" ในช่วงแรก
มันเป็นกลยุทธ์ธุรกิจที่ได้มาจากประสบการณ์ตั้งแต่ทำธุรกิจที่ชลบุรี
หรือเรื่องการแบ่งรายได้ ที่ผมใช้ระบบการแบ่งกำไรทุกเดือนเพื่อให้คนทำงานเกิดแรงจูงใจในการทำงาน ก็เป็นเคล็ดลับที่ทำให้ธุรกิจเวดดิ้งของผมขยายตัวอย่างรวดเร็ว
"ความสำเร็จ" เป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตของผมอยู่ที่ประสบการณ์ความล้มเหลว
ถ้าไม่เคยล้มเหลวมาก่อน ผมคงไม่มีวันนี้
ผมเคยเป็นหนี้ NPL 100 กว่าล้านบาทจากธุรกิจเรียลเอสเตตในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ
หลักคิดหนึ่งในการแก้ปัญหาของผม คือ พยายามให้เต็มที่ แต่อย่าดันทุรัง
เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง เราต้องยอมรับความจริง และรีบแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด
ผมอยู่กับ "ปัญหา" และ "การแก้ปัญหา" จนคุ้นเคย
และซาบซึ้งดีว่า "ปัญหา" ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น
บางทีวิธีคิดในตำรากับวิธีคิดจากประสบการณ์ก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
คิดแบบ "บัญชี" กับคิดแบบ "พ่อค้า" ก็ไม่เหมือนกัน
คิดที่จะทำ หรือคิดเพื่อจะไม่ทำ ก็มุ่งมั่นแตกต่างกัน
เรื่องราวที่จะเล่าต่อจากนี้ไป จึงไม่ใช่เรื่องทางวิชาการ
แต่เป็นประสบการณ์จริงที่ผ่านการทดสอบจากอุณหภูมิของความสำเร็จและล้มเหลวมาอย่างโชกโชน
.......................
วันนี้ถ้ามีใครถามผมว่า "โออิชิ" เริ่มต้นจากที่ไหน
ผมจะพาเขาไปจังหวัดชลบุรี ไปที่ร้านอาหารเทียบทองใกล้โรงแรมอิสเทิร์น
ตรงหน้าร้านมีแผงหนังสือพิมพ์เล็กๆ อยู่แผงหนึ่ง
วันนี้ที่แผงก็ยังคงมีหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ วางขายอยู่เช่นเดิมเหมือนเมื่อ 23 ปีก่อน
ถ้าไม่มีแผงหนังสือพิมพ์แผงนี้
ก็คงไม่มี "โออิชิ"
และไม่มีคนชื่อ "ตัน ภาสกรนที"
(2) คุณค่า "ความจน"
คอลัมน์ ชีวิตไม่มีทางตัน ตัน โออิชิ
โดย สรกล อดุลยานนท์
ผมโชคดีที่เกิดมาไม่หล่อและพ่อไม่รวย
เพราะถ้าผมหล่อหรือพ่อรวย ผมก็คงไม่มีวันนี้
การตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของผมเกิดขึ้นตอนอายุ 17 ปี
ตอนนั้นผมเพิ่งเรียนจบ ม.ศ.3 จากโรงเรียนเผจงที่ปีนัง
ผมเกิดเมื่อปี 2502 ในครอบครัวที่มีฐานะอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างจน คุณพ่อเป็นเสมียนทำงานด้านบัญชีอยู่ในบริษัทแถวสวนมะลิ ส่วนคุณแม่เป็นแม่บ้าน
ที่ผมได้เรียนปีนังก็เพราะคุณพ่อย้ายมาทำงานที่นี่หลังจากแยกกับคุณอาที่เป็นน้องชายเพื่อมาแสวงหาความก้าวหน้าของชีวิต
ทั้งคู่สัญญากันว่าถ้าใครประสบความสำเร็จก่อนก็จะดึงอีกคนหนึ่งกลับมา
จนเมื่อคุณอาประสบความสำเร็จในธุรกิจขายของโชห่วยอยู่ที่ชลบุรี เขาก็ขอให้คุณพ่อกลับเมืองไทย
คุณพ่อและคุณแม่จึงมาทำงานที่เมืองไทย โดยที่ผมกับพี่สาวยังเรียนต่ออยู่ที่ปีนังด้วยหวังว่าจะได้ภาษาจีน
แม้จะอยู่ห่างกันแต่ผมก็มาเมืองไทยเป็นประจำ และส่วนใหญ่ผมจะเลือกไปช่วยคุณอาขายของที่ชลบุรีทุกปิดเทอม
เวลาที่ทำงานกับคุณอา ไม่ว่างานจะหนักเพียงใดผมก็มีความสุข แต่ทุกครั้งที่กลับมาเข้าห้องเรียนผมกลับรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าเพื่อนมาก
ในวัยนั้น นึกอย่างเดียวว่าเพราะผมไม่หล่อ พ่อไม่รวย ผมจึงเป็นเช่นนี้
แม้ไม่มีใครดูถูกดูหมิ่น แต่ผมก็อดรู้สึกเช่นนั้นไม่ได้ แต่ยิ่งรู้สึกกดดันมากเท่าไรผมก็ยิ่งเกิดแรงฮึดมากเท่านั้น
ผมตั้งเป้าหมายอยู่ในใจคนเดียว
วันนี้ผมอาจจะสู้เพื่อนๆ ไม่ได้ แต่ขอเวลาอีก 10 ปี
ผมต้องสู้เพื่อนๆ ให้ได้
และถ้าจะสู้ให้ได้ เราต้องไม่สู้ในสมรภูมิที่ไม่เชี่ยวชาญ ผมเลือกเส้นทางชีวิตใหม่
ผมจะทำธุรกิจ
นั่นคือ คำตอบที่ผมให้กับตัวเอง
ทันทีที่ผลสอบ ม.ศ.3 ออกมา ผมซื้อตั๋วรถไฟจากปีนังมุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานครเพียงคนเดียวพร้อมกับการตัดสินใจครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของชีวิต
"พ่อครับ ผมไม่เรียนหนังสือแล้ว ผมจะทำงาน"
เพียงประโยคสั้นๆ แต่มุ่งมั่น ชีวิตผมก็พลิกเปลี่ยนไปทันที
ไม่รู้ว่าเพราะเคยแสดงท่าทีอยากทำงานมานาน หรือคุณพ่อเห็นความมุ่งมั่นและเด็ดเดี่ยวของผม
ท่านไม่ได้ยับยั้งการตัดสินใจของผมเลย และยังพาผมไปฝากงานอีกด้วย
ถึงผมจะเรียนน้อย แต่ถ้าคุณพ่อมีฐานะร่ำรวย ท่านคงพาผมไปทำงานดีๆ ได้ แต่เพราะบ้านเราจนงานที่คุณพ่อฝากให้ทำจึงได้แค่เพียงตำแหน่งพนักงานแบกของที่บริษัทราชธานีเมโทร ซึ่งขายฟิล์มสีซากุระและสินค้าต่างๆมากมาย
ผมยังจำภาพวันนั้นได้ติดตา
คุณพ่อพาผมไปที่โกดังขนาดใหญ่ตรงท่าน้ำราชวงศ์ ไปคุยกับ "กู๋ใหญ่" ที่เป็นหัวหน้าโดยตรง ก่อนจะพาผมเดินผ่านห้องๆ หนึ่ง
ในห้องนั้นมีโต๊ะขนาดใหญ่อยู่ด้านในสุด มีผู้ชายรูปร่างค่อนข้างสมบูรณ์นั่งสูบไปป์ ดื่มน้ำชา
เขาเป็นผู้จัดการบริษัทชื่อ "ปราโมทย์"
คุณพ่อบอกผมด้วยประโยคที่ยังจำขึ้นใจถึงทุกวันนี้
"ที่พาลูกมาวันนี้ ไม่ได้ให้เป็นคนแบกของตลอดชีวิต แต่พ่อพามาให้นั่งโต๊ะตัวนี้"
มันเหมือนภารกิจที่ได้รับมอบหมายจาก "สวรรค์"
ผมระลึกเสมอว่าตลอดชีวิตนี้ผมยังไม่เคยทำอะไรให้กับพ่อแม่เลย เรียนหนังสือก็ไม่ดี ดังนั้นเมื่อได้ยินประโยคนี้ของคุณพ่อ
เลือดของผมสูบฉีดแรง
พ่ออาจไม่ได้ตั้งใจ แต่คำพูดนี้ทำให้ผมคิด
"โต๊ะ" หรือตำแหน่ง "ผู้จัดการ" เป็นเพียงสัญลักษณ์ของการก้าวไปข้างหน้า
วินาทีนั้นผมเพ่งสายตาไปที่โต๊ะตัวนั้นแล้วบอกตัวเองอย่างมุ่งมั่น
"วันหนึ่งข้าจะต้องนั่งโต๊ะตัวนี้ให้ได้"
ผมเริ่มต้นการทำงานด้วยเงินเดือนเพียง 700 บาท
ผมรู้ตัวเองว่าเรียนน้อย หนทางเดียวที่จะประสบความสำเร็จได้ก็คือต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น
ผมไม่เคยเกี่ยงงาน ไม่เคยรองานเข้ามาหา แต่วิ่งเข้าหางานตลอด
หัวหน้าจะรักผมมาก เพราะไม่เคยเกี่ยงงาน
ผมไม่เคยเทียบ "เงินเดือน" กับความหนักของ "งาน"
ผมไม่เคยทำงานตามเงินเดือน แต่ผมทำงานเต็มที่ในทุกงาน
ที่ "ราชธานีเมโทร" ผมไปทำงานเช้ากว่าคนอื่น 7 โมงเช้าถึงที่ทำงาน กลับบ้านเที่ยงคืน
เสาร์-อาทิตย์ ก็อยู่ที่โรงงาน
ผมทำงานทุกอย่างโดยไม่เกี่ยงว่าเป็นงานในหน้าที่หรือเปล่า จนหัวหน้าทุกคนรู้ว่าถ้างานไหนยากหรือลำบาก ให้เรียก "ตัน"
รับรองไม่ผิดหวัง
ประสบการณ์ได้รับในช่วงนี้ทำให้ผมสอนลูกน้องหลายคนว่าถ้าคุณยังทำงานไม่เต็มที่ในวันนี้ ต่อไปเมื่อไปทำธุรกิจของตัวเอง ถึงจะคิดว่าเต็มที่ก็ไม่มีทางสำเร็จ
เพราะการทำงาน "เต็มที่" นั้นต้องสร้างสมจนเคยชินจึงจะกลายเป็น "นิสัย"
ต้องฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจึงจะทำได้
"ที่ผมประสบความสำเร็จในวันนี้เพราะตอนที่ผมทำงานให้กับคนอื่น ผมก็ทำเต็มที่ ทำจนเป็นนิสัย ถ้าคุณไม่เต็มที่ตอนเป็นลูกจ้าง วันที่คุณเป็นนายจ้าง คุณก็ไม่รู้หรอกว่าการทำงานเต็มที่ต้องทำอย่างไร"
นี่คือ ประโยคที่ผมสอนลูกน้องเป็นประจำ
ในช่วงที่ทำงานที่ "ราชธานีเมโทร" ผมเปลี่ยนแผนกบ่อยมาก และได้รับงานยากๆ อยู่เป็นประจำ ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่า
เหมือนลูกศิษย์ที่อาจารย์ให้งานเยอะๆ
ทุกงานที่รับมา ผมตั้งเป้าหมายเลยว่าห้ามล้มเหลว
สิ่งใดที่มนุษย์ทำได้ ผมต้องทำได้
ผมเชื่อว่าคนที่เก่งกว่าไม่ได้หมายความว่าชนะเสมอไป
ความมุ่งมั่นและเอาจริง บางทีก็เอาชนะความเก่งได้
ในใจผมยังคิดเสมอว่าเส้นทางนี้ผมเป็นคนตัดสินใจเลือกเอง ผมก็ต้องทำให้เต็มที่
ผมทิ้งการเรียนมาเพื่อประสบความสำเร็จ
ไม่ใช่ล้มเหลว
จากพนักงานแบกของ ก็เริ่มขยับขึ้นเป็นพนักงานส่งของ ช่วงนั้นทำให้ผมได้รู้จักร้านค้าแถบประตูน้ำ สะพานหัน ฯลฯ
และเมื่อหัวหน้าเห็นแวว "นักขาย" ผมก็ได้มาเป็นพนักงานขาย และเป็นซูเปอร์ไวเซอร์คุมทีมขาย
ครั้งหนึ่ง ทางห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ชิดลม จัดเทศกาลชุดชั้นใน ทางบริษัทได้ขอพื้นที่ขายที่ดีที่สุด ซึ่งทางเซ็นทรัลก็ตั้งเป้าหมายการขายค่อนข้างสูง
เย็นวันนั้นหัวหน้าโทรศัพท์บอกผมให้รับงานนี้ไปดำเนินการ
แม้จะนอนป่วยอยู่ที่บ้าน แต่เมื่อหัวหน้ามอบหมาย ผมไม่ได้โอดครวญเรื่องไม่สบายแม้แต่ประโยคเดียว
ถามหัวหน้าสั้นๆ เพียงว่า "เมื่อไหร่"
..พรุ่งนี้!
เมื่อได้คำตอบ ผมโยนยาลดไข้ 2 เม็ดเข้าปาก กรอกน้ำตาม แล้วโทรศัพท์ไปบอกลูกน้องว่าพรุ่งนี้ต้องออกศึกให้ทุกคนมาจัดของที่โรงงาน
ตลอดชีวิตของผมไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างหรือเป็นเจ้าของกิจการ สำหรับลูกน้องแล้วผมเต็มที่เสมอ
ผมทำงานดึกเท่าไรก็ไม่เคยเบิกโอที แต่สำหรับลูกน้องผมเบิกให้เต็มที่ และเลี้ยงลูกน้องเป็นประจำจนเงินเดือนบวกคอมมิสชั่นของผมทุกเดือนแทบไม่มีเหลือ
แต่เมื่อให้ "ใจ" เขา เขาก็ให้ "ใจ" ตอบ
หลังจากผมโทรศัพท์เรียก เพียงแค่ 3 ทุ่มลูกน้องทุกคนมาพร้อมกันหมดเพื่อจัดสินค้าไปขายในวันรุ่งขึ้น
การจัดสินค้าถือเป็นเคล็ดลับหนึ่งในการขายของผม
ตามปกติโรงงานจะจัดสินค้าตามออร์เดอร์ที่พนักงานขายส่งมา
แต่สำหรับผม ผมไม่ใช่พนักงานขายที่เน้นการขายเพียงอย่างเดียว แต่ทุกครั้งที่ว่างจากงานขาย ผมจะไปช่วยโรงงานจัดสินค้าเสมอแม้ไม่ใช่งานในหน้าที่
ไม่ใช่เฉพาะส่วนของผม แต่สำหรับทุกคน
การมีส่วนร่วมในการจัดของนอกจากทำให้ผมสนิทสนมกับพนักงานที่ดูแลด้านนี้ ผมยังมีโอกาสได้ดูแลสินค้าในส่วนที่ตัวเองรับผิดชอบด้วย
ออร์เดอร์ของร้านค้าที่ผมรับผิดชอบจึงไม่เคยขาด
และถ้าเป็นกิจกรรมเร่งด่วนอย่างครั้งนี้ การเข้าไปช่วยจัดของทำให้ผมมีสินค้าครบถ้วน
หลักการขายสินค้าประเภทชุดชั้นในหรือรองเท้าก็คือ สต๊อกสินค้าต้องครบทั้งสีและเบอร์
และถ้าไม่ครบหรือรุ่นไหนขาด ต้องจำให้ได้เพื่อให้เชียร์ได้ถูกต้อง
เพราะถ้าเชียร์รุ่นไหนดีจนลูกค้าสนใจ แต่พอถามถึงกลับไม่มีเบอร์หรือสีที่ต้องการ ลูกค้าจะอารมณ์เสีย และไม่ยอมซื้ออีก
สู้เชียร์ให้ตรงกับสินค้าที่มีอยู่จะได้ผลมากกว่า
เมื่อของพร้อมคนครบ งานนั้นผมก็ทำสำเร็จตามที่หัวหน้ามอบหมาย
เป็นความสำเร็จที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะผมเก่งกว่า แต่เพราะผมทำการบ้านมากกว่า และทำงานหนักกว่า
4 ปีผ่านไป จากพนักงานยกของ เงินเดือน 700 บาท ผมก้าวขึ้นมาเป็นซูเปอร์ไวเซอร์ เงินเดือน 18,000 บาท
บางเดือนเมื่อรวมค่าคอมมิสชั่นก็ตกประมาณ 40,000 กว่าบาท
แต่พอทำงานไปสักหนึ่ง ผมก็เริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับงาน
จะให้รอคอยไปนั่งโต๊ะผู้จัดการตามที่คุณพ่อบอกตั้งแต่วันแรกก็คงต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าผู้จัดการจะได้เลื่อนไปตำแหน่งอื่น
และถึงจะรอจนได้ตำแหน่ง แต่งานที่นี่ก็เริ่มไม่มีอะไรท้าทายสำหรับผมเสียแล้ว
ถ้าถามว่ารายได้ของผมวันนั้นสำหรับเด็กหนุ่มอายุเพียง 21 ปีเป็นอย่างไร
ตอบได้เลยว่า "ดีมาก"
ชีวิตช่วงนั้นน่าจะเป็นห้วงเวลาที่ดีเมื่อเทียบกับวันแรกที่เข้ามาทำงาน แต่ผมกลับรู้สึกไม่มีความสุข
แม้ท้องจะอิ่ม แต่ใจนั้นยังหิวกระหาย
มันยังมี "ความฝัน" บางอย่างที่ผมยังไม่ได้ทำ
แล้ววันหนึ่ง "โอกาส" ก็มาถึง
วันนั้น ผมเดินทางไปเยี่ยมพี่ชายและพี่สาวที่อยู่กับคุณอาที่ชลบุรีตามปกติ ลงรถทัวร์ที่หน้า โรงแรมอิสเทิร์น ซึ่งถือเป็นใจกลางเมืองชล
ตอนที่ลงจากรถ ผมเห็นป้าย "ให้เช่า" ที่หน้าตึกแถวตรงข้ามโรงแรมอิสเทิร์น
วินาทีนั้น เลือดแห่งความเป็น "ผู้ประกอบการ" ของผมสูบฉีดแรง
ผมเห็น "โอกาส" แห่ง "ความฝัน" อยู่เบื้องหน้า
ถ้าเป็นเด็กหนุ่มทั่วไป ระหว่าง "ความมั่นคง" ของหน้าที่การงานใน "ปัจจุบัน"
กับ "อนาคต" และ "โอกาส" ที่เป็นเพียงเงาลางๆ
ระหว่าง "ความจริง" กับ "ความฝัน"
คนส่วนใหญ่คงใช้เวลานานในการตัดสินใจ และบางทีก็อาจจะเลือก "ความจริง" ที่สัมผัสได้ในวันนี้
แต่สำหรับผม....
ผมไม่ลังเลใจเลยแม้แต่น้อย
เพราะ "โอกาส" ที่อยู่เบื้องหน้าคือ สะพานที่ต่อเชื่อมไปยัง "ความฝัน" เมื่อ 5 ปีก่อน
ผมตัดสินใจยื่นใบลาออกจาก "ราชธานีเมโทร" ทันที
(3) ฟ้าทดสอบคน
คอลัมน์ ชีวิตไม่มีทางตัน
โดย สรกล อดุลยานนท์
คุณแม่เคยบอกว่าผมเหมือนกับ "ลูกวัวไม่กลัวเสือ"
"ลูกวัว" นั้นต่างจาก "วัว" ที่โตแล้วตรงที่ "วัว" ที่โตแล้วประสบการณ์จะบอกให้รู้ว่า "เสือ" คือสัตว์ที่ไม่ควรเข้าใกล้
แต่ "ลูกวัว" นั้นเพิ่งเกิดใหม่ไม่เคยมีประสบการณ์รู้ว่า "เสือ" นั้นน่ากลัวเพียงใด
"ลูกวัว" ที่ไร้เดียงสาจึงไม่กลัว "เสือ"
พร้อมเดินเข้าหาอย่างไม่เกรงกลัว
ที่คุณแม่บอกว่าผมเป็น "ลูกวัวไม่กลัวเสือ" อาจเป็นเพราะท่านได้เห็น "ความกล้า" แบบ "ไม่กลัว" ของผมตั้งแต่เยาว์วัย
ตอนอายุได้เพียง 9 ขวบผมก็กล้านั่งรถไฟคนเดียวจากปีนังมาหาคุณพ่อที่ กทม.แล้ว
ยังจำได้ว่าทุกที่นั่งมีคนนั่งเต็มไปหมด อาศัยเป็นเด็กตัวเล็กๆ ผมเลยปีนขึ้นไปที่ตะกร้าใส่ของที่เป็นเหล็กยาวๆ ด้านบนและซุกตัวนอนหลับอยู่ตรงนั้น
ถามว่ากลัวไหมที่มา กทม.คนเดียว
ตอบได้เลยครับว่า "ไม่กลัว"
เพราะผมเชื่อว่าลงจากรถไฟมาก็เจอคุณพ่อ ถ้าไม่เจอก็มีนามบัตรของคุณพ่อ
ไม่เจอก็ถาม ถึงจะพูดไทยไม่ชัดแต่ก็พูดรู้เรื่อง
ไม่เห็นมีอะไรน่ากลัวเลย
ความรู้สึกเช่นนั้นยังอยู่ในตัวผมเสมอทุกครั้งที่ตัดสินใจ
แม้แต่วันที่ยื่นใบลาออกจาก "ราชเทวีเมโทร" ก็ตาม
สำหรับผม "เสือ" นั้นไม่ได้หมายถึง "คน"
แต่หมายถึง "ปัญหา" และ "ความยากลำบาก"
ซึ่ง "ลูกวัว" อย่างผมไม่เคยกลัว...
ด้วยสัญชาตญาณที่เป็นพนักงานขายมา 3-4 ปี ผมมองว่าทำเลที่เปิดให้เช่านี้คือทำเลทอง
ภาษาด้าน "ฮวงจุ้ย" จะมีคำอยู่ 2 คำ
คำแรกคือ "สีจุ้ย" ซึ่งหมายถึงทำเลที่มีคนหมุนเวียนแน่นอน เช่น ขายข้าวในโรงงานที่มีพนักงาน 1,000 คน
อย่างนี้คือ "สีจุ้ย"
แต่อีกคำหนึ่งคือ "อั๊วะจุ้ย" หมายถึงทำเลที่มีคนหมุนเวียนตลอดเวลา
วงการเซลส์เรียกว่า "ทำเลมังกร"
ตึกแถวที่ให้เช่าด้านหน้าขายของนั่นคือ "อั๊วะจุ้ย" หรือ "ทำเลมังกร" ในสายตาของผม
เพราะตรงนั้นเป็นทำเลใจกลางเมือง เป็นจุดที่รถทัวร์จอด ห้อมล้อมด้วยโรงหนัง-โรงแรม-ดิสโก้เธค-อาบอบนวด
เป็นทำเลที่มีคนหมุนเวียนตลอดทั้งวัน
ราคาค่าเช่าเมื่อปี 2523 เดือนละ 1,000 บาท ซึ่งถือว่าไม่น้อยสำหรับต่างจังหวัด
หลักคิดในการทำการค้าของผมอาจไม่เหมือนคนอื่นในหลายๆ เรื่อง
อย่างทำเลตรงนี้ถ้าคำนวณตามปกติแล้วค่าเช่าตกประมาณวันละ 34 บาท ถ้าค้าขายตามปกติหารด้วย 8 ชั่วโมง ตกชั่วโมงละ 4.20 บาท
แต่ผมมองตั้งแต่เริ่มต้นแล้วว่าทำเลนี้ค้าขายได้ตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึงตี 2
20 ชั่วโมงต่อวัน
ด้วยเวลาการขายที่มากกว่าทำเลอื่นทำให้ค่าเช่าเฉลี่ยเหลือเพียงชั่วโมงละไม่ถึง 1.70 บาท
ต้นทุนต่ำขนาดนี้ ทำอย่างไรก็ไม่ขาดทุน
...ถ้าไม่ขี้เกียจ
และบังเอิญว่าคำว่า "ขี้เกียจ" ผมไม่เคยรู้จักเสียด้วย
ปัญหาตอนนี้สำหรับผมมีเพียง 2 เรื่อง
เรื่องแรกจะเอาเงินจากที่ไหนมาลงทุน
แม้เงินเดือนและคอมมิสชั่นของผมจะสูงมาก แต่ด้วยความเป็นคนรักลูกน้องทำให้เงินที่มีอยู่ทั้งหมดใช้ไปกับการเลี้ยงลูกน้อง
ผมตัดสินใจขอเงินคุณพ่อและพี่สาวคนละ 25,000 บาท
รวมเป็น 50,000 บาทเป็นทุนก้อนแรกของผม
ตอนนี้ก็เหลือปัญหาเรื่องที่ 2
ผมจะขายอะไรดี ???
สินค้าที่เคยผ่านมือของผม ไม่ว่าจะเป็นปากกา นาฬิกา เสื้อผ้า ชุดชั้นใน ฯลฯ ก็ไม่เหมาะกับทำเลนี้
ด้วยทำเลแผงเล็กๆ หน้าตึกแถวมีสินค้าไม่กี่ประเภทนักที่จะขายได้
ในที่สุดผมก็เลือก "หนังสือ" เป็นสินค้าตัวแรกในชีวิตการเป็น "เถ้าแก่"
ประสบการณ์จากที่อยู่ กทม.มาหลายปีทำให้พอมองตลาดออกว่า "หนังสือ" เป็นสินค้าที่เหมาะสมกับทำเลนี้มากที่สุด
แม้ไม่เคยขายหนังสือมาก่อนแต่ "ลูกวัว" อย่างผมไม่เคยกลัว "เสือ"
ผมนำเงินที่ขอคุณพ่อและพี่สาวมาจ่ายค่าเช่าส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งนำไปซื้อหนังสือที่หัวลำโพงซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของหนังสือ ทั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ
ผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับหนังสือเลย แต่การหา "ความรู้" ไม่ใช่เรื่องยาก
เพียงแค่รู้จัก "ถาม"
ผมเริ่มต้นหาความรู้ด้วยการนั่งคุยกับเอเย่นต์หนังสือถึงหนังสือแต่ละเล่ม เล่มไหนขายดี ทำไมขายดี คนซื้อเป็นใคร
ถาม...ถาม และถาม
กลยุทธ์นี้ผมนำมาใช้เป็นประจำทุกครั้งที่สนใจธุรกิจไหน ทำธุรกิจเวดดิ้งผมก็นั่งถามเจ้าของร้านที่มาเลเซียและไต้หวันคนละ 2-3 ชั่วโมง
ทุกครั้งที่เราถาม เราจะได้ "ความรู้" เพิ่ม
หลังจากถามจนพอเข้าใจในตัวสินค้าและวงจรธุรกิจแล้ว ผมก็เลือกซื้อหนังสือเข้าร้านด้วยเงินที่ติดตัวมาเกือบทั้งหมดประมาณ 3-4 หมื่นบาท
ผมไม่มีรถยนต์ส่วนตัวจึงต้องนำกล่องหนังสือใส่ที่เก็บของใต้ท้องรถทัวร์ กทม.-ชลบุรีเที่ยวเย็น
วันนั้นฝนตกหนักมากและผมนั่งหลับตลอดทางเพราะความเหน็ดเหนื่อยจากการซักถามและเลือกซื้อหนังสือ
ตื่นขึ้นมาประมาณ 2 ทุ่มรถทัวร์ถึงจุดจอดที่หน้าโรงแรมอิสเทิร์น
ผมงัวเงียลงไปรับกล่องหนังสือจากที่เก็บของใต้ท้องรถ
ทันทีที่เห็นสภาพกล่องกระดาษ ผมแทบเข่าอ่อน ไม่เชื่อสายตาตัวเอง
กล่องทุกกล่องเปียกโชกจากน้ำฝนที่กระเซ็นเข้ามา หนังสือลอตแรกจากเงินทั้งหมดที่ผมมีชุ่มไปด้วยน้ำ
ผมรีบนำหนังสือที่บวมจากความชื้นมาตากที่ชั้นสองและชั้นสามของตึก แต่ก็ไม่เป็นผล หนังสือลอตแรกเสียหายหมด
อารมณ์ในตอนนั้นเหมือนกับคนที่บ้านถูกไฟไหม้
ผมยังไม่ได้ทำอะไรเลยแค่ซื้อหนังสือกลับมาก็เจ๊งแล้ว
หมดแรง หมดกำลังใจ
เหมือนฟ้ากลั่นแกล้ง
วันนั้นผมรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ แต่ในวันนี้เมื่อมองย้อนกลับไปอีกครั้ง ผมกลับเกิดความรู้สึกใหม่
บางทีเรื่องที่เกิดขึ้นอาจเป็นการทดสอบของฟ้าก็ได้
ฟ้าก็กำลังทดสอบคนอยู่
บางคนโดนอย่างที่ผมเจอในวันแรกของการค้าขายก็อาจถอดใจเลิกไปแล้ว
แต่สำหรับผม...ไม่มีทาง
วันรุ่งขึ้นผมยืมเงินเพื่อนอีกก้อนหนึ่งนั่งรถทัวร์ไปที่หัวลำโพง วันนี้ผมไม่ตั้งคำถามมากมายเหมือนเมื่อวาน แต่สั่งหนังสือและแพ็กใส่กล่องเลย
ผมยังใช้การขนส่งด้วยรถทัวร์เหมือนเดิม กล่องหนังสือก็ใส่ในที่เก็บของใต้รถทัวร์เหมือนเดิม
แต่ที่ไม่เหมือนเดิมก็คือ ผมไม่หลับ
ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าเจอฝนเหมือนวันแรกผมจะทำอย่างไร
รู้แต่เพียงว่าผมจะไม่มีวันยอมให้หนังสือลอตนี้เปียกฝนอีกเป็นอันขาด
อย่างไรก็ไม่ยอม
แต่คืนนั้นฝนไม่ตก หนังสือลอตแรกจึงได้ขายในวันรุ่งขึ้น
ผมขายหนังสืออย่างมีความสุขแม้ว่าบริเวณนั้นจะมีร้านหนังสืออยู่แล้ว 2 ร้าน แต่ผมไม่รู้สึกหวั่นเกรงเลย
ด้วยความรู้สึก "เต็มที่" กับทุกงานที่ทำ
ผมคิดอยู่ในใจว่าเมื่อตอนทำงานอยู่ที่ "ราชธานีเมโทร" ผมยังทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึงเที่ยงคืนได้
แล้วทำไมที่นี่ผมจะเปิดร้านตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึงตี 2 ไม่ได้
ยิ่งมีลูกน้องคนแรกชื่อ "หมวย" มาทำงานด้วย ผมก็ให้ "หมวย" เปิดร้านตอนเช้า ส่วนผมตื่นสายหน่อยเพื่อจะมารับช่วงต่อในตอนดึกจนปิดร้าน
วันหยุดประจำปีไม่ว่าปีใหม่ สงกรานต์ ตรุษจีน ผมไม่เคยปิดร้าน
ในขณะที่ร้านของผมเปิดยาวตลอด แต่ร้านคู่แข่งอีก 2 ร้านเปิด 8 โมงเช้า ปิด 2 ทุ่ม
ความได้เปรียบจากเวลาการขายที่มากกว่ากันถึง 8 ชั่วโมงทำให้ยอดขายของผมสูงกว่าร้านอื่นๆ
ประสบการณ์นักขายสอนผมว่าต้องจำคนเก่ง และที่ดีกว่านั้นคือจำให้ได้ว่าลูกค้ามีพฤติกรรมการซื้ออย่างไร
ซื้ออะไร ซื้อตอนไหน
ช่วงนั้นขนบนตัวของผมเหมือนเรดาร์ เวลาลูกค้าเดินมายังไม่ถึงร้านผมก็เตรียมหนังสือที่เขาต้องการห่อไว้เรียบร้อยแล้ว
ผมจำลูกค้าได้ดีว่าใครเป็นแฟนหนังสือเล่มไหน
นอกจากนั้น ผมยังขายแบบเปิดเกมรุกโดยเฉพาะบนรถทัวร์ ผมไม่เคยอายที่จะถือหนังสือ พิมพ์ขึ้นไปขายบนรถทัวร์
ผมจะสังเกตตั้งแต่ตอนซื้อตั๋วว่าใครยังไม่ได้ซื้อหนังสือพิมพ์บ้าง จากนั้นก็จะเดินขึ้นไปขายและจะเน้นคนที่ยังไม่ได้ซื้อเป็นพิเศษ
ผมถือหลักว่าถ้าคุณไม่ลงมาหา ผมก็จะขึ้นไปหาคุณเอง
หนังสือก็เหมือนสินค้าทั่วไป มันขายได้ด้วยตัวมันเอง แต่ถ้าอยากขายให้ได้มากขึ้นคุณต้องช่วยผลักดันการขายด้วย
แล้ววันหนึ่งผมได้เจอเพื่อนผมที่เป็นเซลส์รุ่นเดียวกันบนรถทัวร์ เขาก้มหน้าทำเป็นไม่เห็น ผมจึงเดินเข้าไปหาแล้วถามตรงๆ ว่าไม่เห็นผมหรือ
"เห็น" เพื่อนตอบ
"จำกูไม่ได้หรือ"
"จำได้"
"แล้วทำไมไม่ทัก"
"กูกลัวxxxอาย"
ประโยคนี้ของเพื่อนผมยังจำได้ถึงทุกวันนี้
ไม่ได้โกรธเพื่อน แต่ผมไม่เข้าใจว่าการทำมาหากินโดยสุจริตทำไมถึงต้องอาย
เขาอาจรู้สึกว่าจากที่เคยเป็นเซลส์ต้องมาเดินขายหนังสือพิมพ์คือความตกต่ำ
เหตุการณ์ครั้งนี้ผมนำมาสอนลูกน้องเป็นประจำว่า "อย่าอายทำกิน"
เพราะผมไม่อายทำกินผมจึงมีวันนี้
ส่วนเพื่อนคนนั้น "ความอาย" ของเขาทำให้วันนี้เขายังคงเป็นเซลส์อยู่เหมือนเดิม
ทั้งที่เขาควรจะเป็น "เถ้าแก่" ได้แล้ว
4) ขาดทุนคือกำไร
คอลัมน์ ชีวิตไม่มีทางตัน
โดย สรกล อดุลยานนท์
เช่าพื้นที่ด้านหน้าตึกแถวทำแผงหนังสือได้เพียง 6 เดือน ผมก็เริ่มคิดการใหญ่
เปลี่ยนจาก "เช่า" มาเป็น "ซื้อ"
.....ซื้อตึกแถวห้องนี้
ไม่ใช่เพราะมีเงินในกระเป๋าล้นเหลือ เวลาแค่ 6 เดือนกับธุรกิจหนังสือ ต่อให้ขายดีอย่างไร "กำไร" ที่ได้ก็ไม่เพียงพอที่จะซื้อตึกแถว
ตอนนั้นผมมีเงินอยู่ในกระเป๋าอยู่ประมาณ 40,000-50,000 บาท แต่ราคาตึกที่เจ้าของเสนอขายคือ 400,000 บาท
เขาเซ้งมา 250,000 บาท ขายได้ 400,000 บาท ถือว่ากำไรมหาศาล
พอตกลงราคาได้ ผมก็ตัดสินใจ "ซื้อ" ทันที
เหตุผลที่ผมตัดสินใจซื้อเพราะประสบการณ์การขาย 6 เดือนที่ผ่านมา มันชัดเจนว่าทำเลนี้ดีเยี่ยม และธุรกิจหนังสือก็มีอนาคต
เวลาที่เราลงแรงไปพักหนึ่ง เราจะเริ่มมองเห็นว่าธุรกิจไหนไปรอดหรือไม่รอด
ไม่ชัดเจนชนิดมั่นใจ 100% แต่พอมองเห็นปลายทางแห่งความสำเร็จ
เหมือนวันที่ผมลงทุนทำโรงงานผลิตชาเขียว โออิชิ
ผมใช้วิธีจ้างโรงงานอื่นผลิตและทดลองวางตลาดได้พักใหญ่ พอสัมผัสได้ถึง "อนาคต" ที่สดใส ผมจึงตัดสินใจลงทุน
เช่นเดียวกับการซื้อตึกแถวครั้งนี้ ประสบการณ์ขายหนังสือทุกวัน วันละ 20 ชั่วโมงมันเหมือนการวิจัยตลาดรูปแบบหนึ่ง
เห็นกลุ่มลูกค้า เห็นกำลังซื้อแบบ "ของจริง" ทำให้ผมมั่นใจว่า "ทำเล" นี้คือ ทำเลทองของจริง
เพราะที่นี่เป็นแหล่งการค้าที่หรูที่สุดของเมืองชล มีคนหมุนเวียนตลอดทั้งกลางคืนและกลางวัน
ตึกแถวราคาห้องละ 400,000 บาทไม่ถือว่าถูก
แต่หลักการค้า "ถูก" หรือ "แพง" ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเอาไปทำอะไร
เมื่อทำเลอื่นมีเวลาการขายเพียง 8 ชั่วโมง แต่ที่นี่ขายได้ 20 ชั่วโมง
ในเชิงบัญชี ต้นทุนค่าสถานที่ต้องเอา 20 หาร ไม่ใช่ 8 หาร
ที่สำคัญผมมี "ฝันใหม่" ที่ยิ่งใหญ่กว่าการขายหนังสือเพียงอย่างเดียว
ประสบการณ์ที่เคยทำงานอยู่กรุงเทพมหานคร เป็นพนักงานส่งของและพนักงานขายสินค้าต้องตระเวนไปทั่วกรุงทำให้ผมเห็นรูปแบบการค้าใหม่ๆ ที่ในเมืองชลยังไม่มี
การเห็นโลกกว้างทำให้เราได้เปรียบ
"ฝันใหม่" ของผม คือ การเปิดร้านขายหนังสือ-เทปและกิฟต์ช็อป
เป็นร้านที่ติดเครื่องปรับอากาศแห่งแรกในเมืองชล มีเครื่องเก็บเงินและขายสินค้าทุกอย่างแบบไม่มีลดราคา
สินค้าทุกชิ้นติดราคาขายเหมือนในห้าง สรรพสินค้า
ด้วยความเชื่อมั่นใน "ทำเล" และรูปแบบธุรกิจใหม่ ทำให้ผมตัดสินใจระดมเงินเพื่อซื้อตึกแถว
ผมตั้งวงแชร์กับคนที่เมืองชลและเพื่อนใน กทม. ได้เงินมาประมาณ 3 แสนบาท
กู้ "อาอี๊" อีก 3 แสนบาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน
รวมเงินที่ระดมมากับเงินในกระเป๋าและเงินหมุนเวียนในร้าน
ผมได้เงินมาทั้งหมด 7 แสนบาท จ่ายค่าตึก 4 แสน ตกแต่งอีก 3 แสน
ร้าน "ทีวายบุ้ค" จึงกำเนิดขึ้นที่ใจกลางเมืองชล
ความสำเร็จทางธุรกิจของผมส่วนหนึ่งมาจากการริเริ่มสิ่งใหม่
ไม่ว่าจะเป็น "ทีวายบุ้ค" ที่เมืองชลบุรี "เวดดิ้ง" หรือธุรกิจรับถ่ายรูปแต่งงาน
หรือ "โออิชิ" ภัตตาคารบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่นแห่งแรกในเมืองไทยที่ทำให้คนรู้จักผมมากที่สุด
ทั้งหมดล้วนเกิดจากริเริ่มสิ่งใหม่และทำ "ความแตกต่าง" ให้เด่นชัด
การทำธุรกิจที่ดี หากมี "จุดขาย" เรื่อง "ความแตกต่าง" ก็จะได้เปรียบคู่แข่ง
"ทีวายบุ๊ค" ประสบความสำเร็จอย่างสูง กลายเป็นศูนย์รวมเด็กวัยรุ่นของเมืองชล
ยุคนั้น ถ้าจะเท่ต้องถือถุงลายสนู้ปปี้ของร้าน ทีวายบุ๊ค
ถุงแบบนี้ฮิตจนอาจารย์ที่โรงเรียนต้องมาขอร้องให้เลิกขาย เพราะทั้งโรงเรียนหิ้วแต่ถุงสนู้ปปี้
เนื่องจากร้านทีวายบุ้คเป็นตึกแถวคูหาเดียว พอกิจการได้รับความนิยม คนก็แน่นร้านชนิดที่ลูกค้าที่จะเข้าร้านต้องรอคนออกก่อนจึงจะเข้าได้
แม้ว่าการค้าขายผมจะเปลี่ยนจากแผงหนังสือเป็นร้านติดแอร์อย่างดีแล้วก็ตาม แต่ถ้าว่างเมื่อไรผมก็จะโดดขึ้นรถทัวร์ขายหนังสือพิมพ์อยู่เป็นประจำ
ผมไม่เคย "อาย" ในการทำมาหากิน
และเนื่องจากร้านอยู่ในทำเลตรงจุดที่รถทัวร์จอด จึงมักมีผู้โดยสารใช้เวลาที่รอรถเดินเล่นในร้านรับแอร์เย็นๆ พลิกหนังสืออ่านหรือดูเทป ดูกิฟต์ช็อปในร้านเป็นการฆ่าเวลา
"มุ้ย" เป็นคนหนึ่งที่เดินทางมาเยี่ยมบ้านทุกวันหยุด และกลับ กทม.ในวันจันทร์
ทุกครั้งระหว่างรอรถทัวร์ "มุ้ย" จะเดินเข้ามาในร้าน "ทีวายบุ๊ค" พลิกหนังสืออ่านเล่น ดูปกเทป
แต่ไม่เคยซื้อ
แม้จะเป็น "นักขาย" โดยสัญชาติญาณ แต่ผมก็ไม่เคย "ตื้อ" จนลูกค้าเบื่อ
"มุ้ย" ไม่ซื้อก็ไม่เป็นไร
จนวันหนึ่งฝนตก "มุ้ย" เดินเข้ามาในร้านเหมือนเคย ผมเห็นถุงกระดาษที่เขาถืออยู่เจอฝนจนเปื่อยขาด
ผมก็เลยหยิบถุงใบหนึ่งส่งให้เขา
เป็นถุงอย่างดีที่ขายคนทั่วไปในราคา 2 บาทเท่ากับราคาโอเลี้ยง 1 แก้วในยุคนั้น
แต่ผมให้เขาฟรีๆ
"ให้" แม้ว่าเขาจะไม่เคยซื้อของในร้านผมเลยก็ตาม
ในใจผมไม่ได้คิดอะไร และไม่ได้หวังผลตอบแทน
แต่ผลที่กลับมานั้นมากกว่าสิ่งที่ให้ไป
เพราะนับแต่วันนั้นเป็นต้นมา "มุ้ย" ก็ซื้อเทปและหนังสือในร้านทุกสัปดาห์ และซื้อแต่ละครั้งเป็นเงินจำนวนไม่น้อย
เขากลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ของ "ทีวายบุ้ค"
ตอนหลังเมื่อเริ่มสนิทกัน "มุ้ย" ก็บอกว่าเหตุที่ซื้อหนังสือและเทปในร้านของผมก็เพราะ "ถุง" ใบนั้นใบเดียว
ตามปกติเขาจะซื้อเทปจากแผงใน กทม. ซึ่งขาย 3 ม้วน 100 แต่ที่ร้านผมขายม้วนละ 40 บาท
แต่ถึงราคาที่นี่จะแพงกว่าก็จะซื้อ เพราะเกรงใจและรักใน "น้ำใจ"
"กูยอมซื้อแพง เพราะถุงของxxxแท้ๆ"
หลักการทำธุรกิจนั้น ถ้าสามารถเอาชนะใจลูกค้าได้ บางที "ราคา" ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ
ไม่แปลกเมื่อผมได้ฟังพระราชดำรัสของในหลวงเรื่อง "ขาดทุนคือกำไร"
ผมจึงซาบซึ้งและเข้าใจความหมายของพระราชดำรัสนี้เป็นอย่างดี
เพราะตั้งแต่วันที่ผมทำงานที่ "ราชธานีเมโทร" ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับลูกน้องนั้นเป็นลักษณะ "ขาดทุน" มาโดยตลอด
ผม "ให้" กับลูกน้องอย่างเต็มที่
แต่เมื่อถึงเวลาที่ผมขอให้ลูกน้องช่วยอย่างตอนที่ไปขายชุดชั้นในที่ห้างเซ็นทรัล เขาก็ช่วยเต็มที่เช่นกัน
เป็น "กำไร" ที่ผมได้จากการ "ขาดทุน"
เช่นเดียวกับครั้งนี้ ผมให้ถุงกับ "มุ้ย" โดยไม่ได้หวังผลตอบแทน
แต่สิ่งที่ "มุ้ย" รู้สึกจากการ "ให้" ของผม
มันไม่ใช่ "ถุง"
แต่เป็น "ใจ"
เมื่อเขาได้ "น้ำใจ" จากผม เขาก็ให้ "น้ำใจ" กลับคืนมา
นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่ผมมักจะเล่าให้ลูกน้องฟังเป็นประจำ
หลังจากเปิดร้าน "ทีวายบุ๊ค" ได้ประมาณ 1 ปี ผมมีเงินสดในมือเป็นล้านบาท
มันไม่ใช่ "กำไร" ล้วนๆ
หากแต่เป็นเงินสดจากการค้าขายในระบบเครดิต
เป็นรายรับในวันนี้ ที่รอจ่ายในอนาคต
ธุรกิจหนังสือส่วนใหญ่ให้เครดิต 3 เดือน ธุรกิจเทป หรือกิฟต์ช็อปก็มีระยะเวลาที่ให้เครดิต
รายรับที่ได้จากการขายหนังสือในเดือนที่ 1-2-3 อยู่ในกระเป๋าของผม ยังไม่ต้องจ่ายเอเย่นต์
จนเดือนที่ 4 ผมจึงจ่ายเงินสำหรับหนังสือที่ขายได้ในเดือนที่ 1 ซึ่งผมสามารถนำรายรับจากเดือนที่ 4 มาจ่ายได้
ตราบใดที่ธุรกิจยังเดินไปได้ด้วยดี ยอดขายไม่ได้ลดลง ผมก็สามารถนำเงินสดในมือไปลงทุนธุรกิจใหม่ได้โดยที่ธุรกิจเก่าไม่ได้รับผลกระทบ
เพียงแต่ต้องมีเงินสำรองจำนวนหนึ่งป้องกันไม่ให้เกิดเงินชอต
ประมาณ 1 ปีหลังจากเปิด "ทีวายบุ๊ค" ผมก็เริ่มขยายธุรกิจ
คราวนี้ผมบุกขึ้นห้างสรรพสินค้า
เป็นร้านฟาสต์ฟู้ดแบบที่เคยเห็นในเมืองกรุง
(5) ธุรกิจ "เงินสด"
คอลัมน์ ชีวิตไม่มีทางตัน
โดย สรกล อดุลยานนท์
ห้างสรรพสินค้าโอเชี่ยนผุดขึ้นมาใจกลางเมืองชล ใกล้กับพื้นที่เดิมที่ผมเป็นร้าน "ทีวายบุ้ค"
ผมตัดสินใจเช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า
ไม่ได้เปิดร้านหนังสือหรือกิฟต์ช็อปแบบเดิม
แต่คราวนี้ผมหันมาทำธุรกิจฟาสต์ฟู้ดแบบที่ผมเคยเห็นในห้างสรรพสินค้าที่เมืองกรุง
เป็นร้านขายแฮมเบอร์เกอร์ รูทเบียร์ ไอศกรีมปั่น
หรูที่สุดในเมืองชลเช่นเดิม
มีบางคนบอกว่าคนทำอาหารไม่เป็น เปิดร้านอาหารไม่ได้ แต่ผมพิสูจน์แล้วว่าผมทำอาหารไม่เป็นแต่ก็สามารถทำธุรกิจอาหารได้
เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรยากเกินเรียนรู้
จากนั้นไม่นานผมก็ซื้อตึกแถวอีกแห่งหนึ่งเปิดเป็นร้านออดี้เบเกอรี่
ตามมาด้วยร้านกาแฟที่หรูที่สุดในเมืองชลตรงตึกแถวติดกับร้านทีวายบุ้คของผม
ความคิดนี้ผมได้จากตอนเป็นเซลส์ ผมเคยไปดื่มกาแฟกับลูกค้าที่ชั้น 23 โรงแรมดุสิตธานีบ่อยๆ
ยังจำรสชาติกาแฟที่แตกต่างจากกาแฟทั่วไปได้เป็นอย่างดี
ผสานกับภาพร้านกาแฟแห่งหนึ่งในหนังสือเกี่ยวกับการตกแต่ง
เป็นภาพโต๊ะหินอ่อนสีขาว กับเครื่องชงกาแฟหรูๆ
"ฝันใหม่" ของผมเริ่มต้นอีกครั้ง และครั้งนี้บ้าบิ่นกว่าเดิม
ธุรกิจร้านกาแฟของผมใช้ชื่อว่า "เอสเปรสโซ"
เป็นร้านกาแฟหรู ที่มีจุดเด่นคือเครื่องชงกาแฟด้วยระบบไอน้ำทำด้วยทองคำ 24 เค ขนาดใหญ่อยู่ตรงเคาน์เตอร์
ราคา 240,000 บาท
ในปี 2525 เงินจำนวนเท่ากันสามารถซื้อรถปิกอัพได้ 1 คัน
เครื่องชงกาแฟราคาแพงระยับเป็น "จุดขาย" สำคัญของร้าน เอสเปรสโซ่ พนักงานจะชงกาแฟสดจากเครื่องแบบแก้วต่อแก้ว
เสียงไอน้ำเดือด กลิ่นกาแฟ และการตกแต่งร้านอย่างหรูหรา สร้างบรรยากาศใหม่ของการดื่มกาแฟ
ผมตั้งราคาขายสูงถึงแก้วละ 15 บาท
พ.ศ.นั้น โอเลี้ยงแก้วละ 2 บาท
แต่ด้วยบรรยากาศหรู และ "จุดขาย" ที่แตกต่างร้านเอสเปรสโซก็ประสบความสำเร็จเช่นเดิม
ในช่วงนี้ผมเหมือน "พยัคฆ์เสียบปีก" ขยายธุรกิจแทบทุกปี
จากร้านกาแฟเอสเปรสโซ ผมขยายสาขาฟาสต์ฟู้ดจากห้างโอเชี่ยนไปยังห้างแหลมทอง
เปิดร้านสุกี้แมนดาริน
ร้านเสริมสวย "บิวตี้ฟูล"
ร้านแมนดารินซีฟู้ด
ร้านฟูจิเอ็กซ์เพรส
เรียกได้ว่ารัศมี 500 เมตร ต้องเจอร้านของผม
แม้เมืองชลจะเป็นจังหวัดใหญ่แต่ตลาดก็ยังแคบทำให้ผมไม่สามารถขยายสาขาจากธุรกิจเดิมได้
ต้องใช้วิธีการขยายตัวไปยังธุรกิจใหม่เพื่อไม่ให้แข่งกันเอง
แต่ไม่ว่าจะทำธุรกิจใหม่อะไรก็ตาม ผมเลือกทำธุรกิจ "เงินสด"
รายรับเป็น "เงินสด" แต่จ่ายเป็น "เครดิต"
รับเร็ว จ่ายช้า
ผมใช้ประโยชน์จากการซื้อด้วยระบบเครดิต เอาเงินที่ยังไม่ต้องจ่ายมาลงทุนทำธุรกิจใหม่
สาเหตุที่ผมเลือกทำธุรกิจ "เงินสด" มีอยู่ 2 ประการ
ประการแรก คุณพ่อซึ่งทำงานบัญชีมาตลอดชีวิตเป็นคนสอนผมเรื่องนี้ ท่านเห็นคนจำนวนมากที่ล้มละลายเพราะระบบการขายแบบเครดิต
พอไฟไหม้-น้ำท่วมทีไร คนซื้อไม่มีเงินจ่ายก็เจอวิกฤตทุกที
มีภาพภาพหนึ่งที่คุณพ่อชี้ให้ผมดู
เป็นภาพของคนผอมถือเช็ค คนอ้วนถือเงินสด
ภาพนี้อยู่ในความทรงจำของผมมาโดยตลอด
ประการที่สอง เป็นประสบการณ์ของผมตอนเป็นพนักงานขาย ต้องวางเช็คกับลูกค้า ทำให้เห็นปัญหาของระบบเงินเชื่ออย่างใกล้ชิด
ดังนั้น ทุกธุรกิจของผมจึงเป็นธุรกิจ "เงินสด"
รับสดทุกร้าน
และ "ความเชื่อ" นี้ก็ได้ช่วยให้ผมรอดจากวิกฤตในช่วงการลดค่าเงินบาท
แม้ธุรกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ผมก็ยังทำงานหนักเหมือนเดิม
"ติดดิน" เหมือนเดิม
ในวันแรกที่เปิดร้านที่เกี่ยวกับอาหาร ผมจะขัดห้องน้ำในร้าน
ถือเป็นกฎกติกาของผมเอง
งานขัดห้องน้ำเป็นงานที่คนทั่วไปรู้สึกว่าสกปรกเหม็น
ถ้าผมสั่งผู้จัดการร้านว่าอย่าปล่อยให้ห้องน้ำสกปรก จะต้องทำความสะอาดเป็นประจำ เขาก็อาจละเลยเพราะคิดว่าผมเป็นเจ้าของจะสั่งอะไรก็ได้
พอสั่งลูกน้องต่อ ลูกน้องก็จะคิดอย่างเดียวกัน
เพื่อไม่ให้มีใครคิดเช่นนั้น ผมก็จะขัดห้องน้ำโชว์ในวันแรกที่เปิดร้าน
ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
ผมแค่ขัดครั้งเดียว แต่สำหรับผู้จัดการและพนักงานร้านจะไม่มีใครกล้าปล่อยให้ห้องน้ำสกปรกอีกต่อไป
ประสบการณ์จากการเป็น "ลูกจ้าง" ที่ใช้แรงงานอย่างหนักมาก่อนทำให้เมื่อผมเป็น "นายจ้าง" ผมจะเข้าใจความรู้สึกของ "ลูกจ้าง" เป็นอย่างดี
ผมคิดว่ามนุษย์เราได้ "ประสบการณ์" มาจาก 3 ทาง
ทางแรก คือ การอ่านหนังสือ
ทางที่สอง คือ ฟังคำบอกเล่าจากคนอื่น
และทางที่สาม คือ ลงมือทำเอง
ผมดีใจที่ช่วงต้นของการทำงาน ผมได้ประสบการณ์จากลงแรงมากกว่าคนทั่วไป ยิ่งทำงานมากยิ่งได้ประสบการณ์มาก
คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยพอเริ่มทำงานก็คิดถึง "เงิน" เป็นหลัก
แต่สำหรับผม ช่วงต้นของการทำงาน "ประสบการณ์" สำคัญกว่า "เงิน"
และเมื่อเรามีประสบการณ์มากขึ้น เราก็จะสามารถใช้ "ประสบการณ์" ไปหา "เงิน" อีกต่อหนึ่ง
นอกจากการขัดห้องน้ำ ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมทำเป็นประจำ
ร้านอาหารใหม่วันแรกมักขายดี พอขายดีตอนกลางคืนจานชามที่ต้องล้างก็มีจำนวนมาก
พ่อครัว พนักงานในร้าน พอปิดร้านก็จะกลับเลย แต่คนล้างจานกลับหลังสุด
ดังนั้นงานหนึ่งที่ผมจะทำในวันแรกก็คือล้างจานร่วมกับเด็กล้างจาน
เมื่อผมล้างจาน ทุกคนในร้านก็จะมาช่วยล้างจานด้วย
งานก็เสร็จเร็ว
ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติ เด็กล้างจานจะเป็นพนักงานกลุ่มแรกที่ลาออก
เจอล้างจานชามกองใหญ่แค่ 3 วัน ก็ไม่ไหวแล้ว
แต่ถ้าวันแรกมีคนช่วย งานเสร็จเร็ว ช่วยสัก 2-3 วัน พอวันต่อมาเขาก็เริ่มชินกับงานล้างจาน
กองใหญ่แค่ไหนก็ไม่บ่น
ถึงวันนี้ผมไม่มีเวลาพอที่จะทำอย่างนั้นแล้ว แต่ก็ได้สอนผู้จัดการร้านทุกคนว่าการที่คุณจะสอนลูกน้องให้เชื่อถือและยอมรับ
ผู้จัดการทุกคนจะต้องทำเป็นตัวอย่างก่อน
เพราะถ้าเพียงแค่พูด เขาอาจจะฟัง
แต่ถ้าคุณลงมือทำ เขาจะเชื่อ
(6) ความมุ่งมั่น
คอลัมน์ ชีวิตนี้ไม่มีทางตัน
โดย สรกล อดุลยานนท์
จากวันแรกที่ผมเช่าพื้นที่หน้าตึกแถวเปิดแผงหนังสือพิมพ์ที่เมืองชลบุรี
10 ปีจากนั้นผมซื้อตึกแถวสูงสุดถึง 16 ห้อง ซึ่งขณะนี้ขายไปบางส่วนแล้ว
แม้ธุรกิจ "เงินสด" ของผมจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจกว่า
นั่นคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ในช่วงรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เข้าสู่ยุคเฟื่องฟูสุดขีด
ผมเริ่มก้าวเข้าสู่ธุรกิจนี้ทีละก้าวๆ
เริ่มต้นจากการเก็งกำไรตึกแถว ยุคนั้นแค่วางมัดจำ 50,000 บาท ภายในสัปดาห์เดียวผมก็สามารถขายต่อทำกำไรได้ 100,000 บาท
ผมเริ่มได้ใจเมื่อซื้อ 1 ห้องได้กำไร 1 แสน ผมจึงซื้อตึกแถวเก็งกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เงินทองยุคนั้นหาได้ง่ายดายจริงๆ และคงไม่มีธุรกิจไหนที่ทำกำไรได้ดีและเร็วเท่ากับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ผมสนุกสนานกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และเริ่มขยับตัวก้าวลึกเข้าไปอีก
จากเก็งกำไรตึกแถวแบบ "ซื้อมา-ขายไป" ผมเข้าไปถือหุ้นในโครงการตึกแถว 30 ห้องของคนอื่น 20%
และเพิ่มเป็น 30% ในโครงการที่ 2 ตึกแถว 40 ห้อง
ทุกโครงการได้กำไรดีมาก
ยิ่งขยับลึก ยิ่งลงทุนมากก็ยิ่งกำไรเพิ่ม ผมจึงเริ่มคิดการใหญ่
จาก "หุ้นเล็กโครงการใหญ่" มาเป็น "หุ้นใหญ่โครงการเล็ก"
ครับ...ผมคิดลงทุนทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ด้วยประสบการณ์ที่เห็นตัวอย่างการพัฒนาของเมืองที่กรุงเทพมหานครจะมีการขยายจากตัวเมืองไปสู่นอกเมือง
การขยายตัวของ "นอกเมือง" จะเริ่มจากตึกแถวและสวนอาหารเหมือนที่ถนนรัชดาภิเษก
ผมเริ่มเล็งหาทำเลนอกเมืองชลบุรีและทำเลที่ผมคาดว่าจะรองรับการขยายตัวของเมืองก็คือ บริเวณถนนพระยาสัจจา (ปัจจุบันเรียกว่าเมืองใหม่)
ตอนนั้นถนนเส้นนี้ยังเป็นถนนลูกรังและป่าแสม
มีที่ดินแปลงหนึ่งสวยมาก เป็นที่ดินว่างเปล่าที่ทิ้งไว้นานเป็นสิบปี ผมตรวจสอบข้อมูลแล้วรู้ว่าเจ้าของเป็นนายทหารที่เกษียณอายุคนหนึ่ง
ผมติดต่อขอซื้อที่ดินจากเขา แต่ได้รับการปฏิเสธ
ไม่ใช่เพราะตกลงราคาไม่ได้ แต่เพราะเขาไม่คิดจะขายที่ดินแปลงนี้
ถ้าเป็นบางคนเมื่อได้คำตอบเช่นนี้ก็คงจะเลิกราไป
แต่ผมไม่มีนิสัยที่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ
เมื่อครั้งที่ผมยังเป็นพนักงานอยู่ที่ "ราชธานีเมโทร" ผมเคยทำวีรกรรมที่หัวหน้ายังตกใจใน "ความมุ่งมั่น" ต่อภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
วันนั้นหัวหน้าอยากนัดคุยงานด่วนกับคนๆ หนึ่งในวันพรุ่งนี้ แต่ระบบการติดต่อสื่อสารในยุคนั้นยังไม่คล่องตัวเหมือนวันนี้ ไม่มีโทรศัพท์มือถือให้โทร.ตามตัวกันง่ายๆ
หัวหน้าจึงสั่งให้ผมไปบอกเขาเรื่องเวลาที่นัดหมาย
ตอนที่หัวหน้าสั่งงานเป็นช่วงเย็นแล้ว ผมรีบขับมอเตอร์ไซค์ไปที่บ้านเขาทันที
โชคร้ายที่เขาไม่อยู่บ้าน
ถ้าเป็นคนอื่นอาจจะกลับมารายงานหัวหน้าว่าคนที่จะให้ไปบอกไม่อยู่บ้าน เพราะถือว่าได้ปฏิบัติตามหน้าที่แล้ว
แต่ผมเลือกการนั่งคอยหน้าบ้านเพราะคิดว่าอีกสักพักหนึ่งเขาคงจะกลับมา
วันนั้นผมโชคร้ายซ้ำสองเพราะ "เป้าหมาย" ของผมไปเที่ยวกับเพื่อน กว่าจะกลับถึงบ้านก็ประมาณตีสาม
แต่ถึงจะดึกดื่นใกล้รุ่งเพียงใดผมก็ยังคงคอยอยู่หน้าบ้านเพื่อบอกเรื่องนัดหมายดังกล่าว
ในชีวิตของคนเรา "ความมุ่งมั่น" เป็นเรื่องสำคัญ
ถ้าเราคิดเสมอว่า "เราทำได้" พยายามกับทุกเรื่องให้ถึงที่สุด ไม่ยอมแพ้ต่ออะไรง่ายๆ แม้แต่เรื่องเล็กๆ
โอกาสที่ "ความสำเร็จ" จะเป็นของเราก็มีอยู่สูงยิ่ง
ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผมจะไม่ยอมแพ้ เมื่อได้รับคำปฏิเสธจากนายทหารท่านนั้น
ผมยังคงแวะเวียนไปหานายทหารผู้นี้อยู่เรื่อยๆ ไม่ขายไม่เป็นไร แต่ผ่านไปเมื่อไรก็เข้าไปพูดคุยด้วย
"ความมุ่งมั่น" ไม่ใช่คำพูด แต่เป็นการลงมือทำ
ผมมีบทเรียนความสำเร็จที่เกิดจากความมุ่งมั่นและไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ อยู่หลายครั้ง
และนี่คือหนึ่งในบทเรียนนี้
ผมแวะไปหานายทหารผู้นี้ 2 ครั้งจนครั้งที่ 3 ที่เจอกัน นายทหารคนนี้มีปัญหาด้านสุขภาพ เส้นโลหิตฝอยแตกทำให้จมูกของเขาเบี้ยว
อาการเช่นนี้คุณพ่อของผมเคยเป็นมาก่อน และไปรักษาที่วัดแขกตรงวงเวียนเล็กจนหายขาด
ผมจึงแนะนำท่านให้ลองไปรักษาที่นี่
ลูกของเขาก็พาไปรักษาตามคำแนะนำของผม จากนั้นอีกประมาณ 10 วันนายทหารคนนั้นก็โทรศัพท์มาเรียกให้ผมไปพบ
ครับ...เขาตัดสินใจขายที่ดินแปลงนั้นให้กับผมในราคา 3 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขเพียงข้อเดียวคือ "ห้ามต่อราคา"
โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ผมเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่โครงการแรกจึงเริ่มต้นขึ้น
แค่เสียเงินประมาณ 100,000 บาทเขียนแบบโครงการในกระดาษ ตึกแถว 12 ห้องก็ขายหมดเกลี้ยง
ผมทำกำไรจากโครงการนี้ 2-3 ล้านบาท
เมื่อกำไรดีขนาดนี้ ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรมาหยุดผมได้แล้ว
โครงการที่ 2 ผมเพิ่มขนาดโครงการเป็นตึกแถว 60 ห้อง ถือหุ้นประมาณ 60%
ขายดิบขายดีเช่นเดิม
ประสบความสำเร็จมา 2 โครงการ ผมเริ่มรู้สึกว่าโครงการตึกแถวเป็นเรื่องธรรมดาเกินไป
ผมอยากทำอะไรที่มันเป็นที่ฮือฮาบ้าง
ตอนนั้นที่กรุงเทพมหานครมีโครงการอสังหาริม ทรัพย์โครงการหนึ่งของ "เนเชอรัล ปาร์ก" เป็นทาวน์เฮาส์ 4 ชั้น แต่ปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งานใหม่
ชั้นล่างเป็นที่จอดรถ พื้นที่ส่วนกลางจะขยับมาอยู่ที่ชั้น 2 เป็นสระว่ายน้ำขนาดใหญ่กั้นกลางระหว่างทาวน์เฮาส์ 2 ด้านเป็นโครงการที่สวยมาก
ผมคิดจะทำโครงการแบบนี้ที่เมืองชลบ้าง
ผมซื้อที่ดินแปลงหนึ่งประมาณ 3 ไร่ริมถนนพระยาสัจจาในราคา 20 ล้านบาทจาก "เฮียกวง" ซึ่งเป็นลูกค้าประจำร้านกาแฟ "เอสเปรสโซ่" ของผม
โครงการ "ทีวาย โอเรียลเต็ล ปาร์ก" จึงเริ่มต้นขึ้น
เป็นโครงการที่สวยมาก และขายหมดในเวลาไม่นาน
แต่ผมขาดทุน...
เป็นการขาดทุนเพื่อรักษาเครดิตของตัวเอง
เพราะช่วงที่ "ทีวาย โอเรียลเต็ล ปาร์ก" เริ่มงานก่อสร้างเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก
วัสดุก่อสร้างต่างๆ โดยเฉพาะเหล็กและปูนซีเมนต์ขึ้นราคาและขาดตลาด
ผมต้องไปคุยกับเพื่อนที่ทำธุรกิจขายวัสดุก่อสร้างให้ปล่อยสินค้าให้กับผู้รับเหมาในโครงการของผม
แต่พอโครงการเสร็จผู้รับเหมากลับเบี้ยวไม่ยอมจ่ายเงินค่าวัสดุก่อสร้าง
ภาระจึงตกอยู่กับผมเพราะเป็นคนที่บอกให้เพื่อนปล่อยสินค้าให้ผู้รับเหมารายนี้
ผมตัดสินใจโอนทาวน์เฮาส์หลังหนึ่งให้กับเพื่อนแทนค่าวัสดุก่อสร้าง
ผมขาดทุนประมาณ 3-4 ล้านบาทจากโครงการนี้
แต่ผมยังไม่เข็ด....
ระหว่างที่รอขึ้นโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม ผมก็ได้ลงทุนในธุรกิจใหม่ที่ต่อมา กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักในชีวิตธุรกิจของผม "แผงขายหนังสือพิมพ์" เป็นธุรกิจเริ่มต้น
ส่วน "โออิชิ" เป็นธุรกิจที่สร้างชื่อให้ผมมากที่สุด
แต่ธุรกิจที่ทำเงินให้ผมมากที่สุดคือธุรกิจนี้
ผมคิดถึงธุรกิจดังกล่าวมานานแล้วจากประสบ การณ์ที่เดินทางไปปีนังและไต้หวันเป็นประจำ แต่มันเป็นเพียง "เชื้อเพลิง" ที่รอ "ประกายไฟ"
จนวันหนึ่ง "ประกายไฟ" นั้นก็แวบขึ้นมา
วันนั้นผมนั่งคุยกับเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ "ตุ๊กตา" ถึงความคิดของผู้หญิงกับงานแต่งงาน
ผมถามเธอว่า "อยากได้อะไรระหว่างแหวนเพชร 10 กะรัตกับรูปภาพงานแต่งงาน"
คำตอบของ "ตุ๊กตา" คือ จุดเริ่มต้นธุรกิจใหม่ของผม
ธุรกิจเวดดิ้งหรือถ่ายรูปแต่งงาน
(7) ประกายไฟ
คอลัมน์ ชีวิตนี้ไม่มีทางตัน
โดย สรกล อดุลยานนท์
ในห้องรับแขกที่บ้านของผมจะมีอัลบั้มรูปขนาด ใหญ่วางอยู่บนโต๊ะ
เป็นอัลบั้มรูปถ่ายพี่ชายและพี่สะใภ้ในอิริยาบถต่างๆ ในชุดแต่งงาน
ทั้งคู่บินไปถ่ายรูปที่ร้านรับถ่ายรูปแต่งงานในสิงคโปร์
อัลบั้มรูปดังกล่าวเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนๆ และมักถามเสมอว่าไปถ่ายรูปที่ไหน
ยิ่งคนชื่นชอบมากเท่าไร ผมก็เกิดความคิดอยากทำธุรกิจถ่ายรูปแต่งงานในเมืองไทยซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน
แต่ก็ได้แต่คิดเพราะไม่แน่ใจว่าคนไทยจะสนใจหรือไม่
ความคิดเรื่องธุรกิจถ่ายรูปแต่งงานจึงเป็นเพียงแค่ "เชื้อเพลิง" ที่สุมรอ "ประกายไฟ"
จนวันหนึ่งเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งมาเที่ยวที่บ้านและก็เหมือนคนที่มาบ้านทุกคน เธอพลิกดูอัลบั้ม รูปอย่างสนใจ
เพื่อนคนนี้ยังไม่ได้แต่งงาน ผมจึงตั้งคำถามขึ้นมาว่า "ถ้าเธอแต่งงาน ระหว่างเพชร 10 กะรัตกับรูปถ่ายในชุดแต่งงาน จะเลือกอะไร"
เธอนิ่งคิดนิดเดียวแล้วให้คำตอบ
"เพชรก็อยากได้ แต่ไม่ต้องเม็ดใหญ่นักก็ได้ ส่วนเรื่องรูปต้องมี เพราะแต่งงานเพียงแค่ครั้งเดียว"
ใช่แล้ว...สำหรับงานแต่งงานซึ่งเป็น "ครั้งหนึ่งในชีวิต" รูปถ่ายคือความทรงจำที่หวานชื่น ถ้าปล่อยให้ผ่านเลยไป ต่อให้มีเงินเท่าไรก็ไม่สามารถซื้อกลับมาได้
แต่ "เพชร" หรือสิ่งมีค่าอื่นใด แม้ว่าเวลาจะผ่านไปแล้วขอเพียงแค่มีเงินก็สามารถซื้อหามาได้
เพียงประโยคเดียวของเพื่อนคนนี้ "ประกายไฟ" ของธุรกิจถ่ายรูปแต่งงานก็แวบขึ้นมาปะทุกับ "เชื้อเพลิง" ทางความคิดที่สะสมมานาน
ผมเป็นคนตัดสินใจเร็ว แต่ศึกษาละเอียด
ทุกครั้งที่คิดจะทำธุรกิจใหม่โดยเฉพาะธุรกิจที่ไม่คุ้นเคยหรือเชี่ยวชาญ ผมจะยิ่งหาข้อมูลอย่างละเอียดทั้งจากการถามและการสังเกต
มีคนส่วนใหญ่คิดว่าต้องทำธุรกิจที่ตนเองเชี่ยวชาญ แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาผมไม่คิดว่าความเชื่อดังกล่าวถูกต้อง
ผมทำธุรกิจร้านอาหารทั้งที่ทำอาหารไม่เป็น แต่ก็สามารถประสบความสำเร็จได้เพราะศึกษาข้อมูลอย่างจริงจังทั้งจากการถามและการสังเกต
ตอนทำร้านสุกี้แมนดารินที่เมืองชล บางวันผมกินสุกี้ถึง 4 ร้านเพื่อให้รู้ทุกขั้นตอนธุรกิจ
เมื่อรู้ละเอียดและมั่นใจผมจึงลงมือทำ
ดังนั้น เมื่อผมคิดจะทำธุรกิจการถ่ายรูปแต่งงาน แม้จะมีความมั่นใจระดับหนึ่งจากคำตอบของ "ตุ๊กตา" แต่ผมก็ต้องศึกษารายละเอียดของธุรกิจอย่างจริงจัง
อย่างน้อยก็ต้องชัดว่าไม่ใช่ธุรกิจแฟชั่น
เคยมีคนเสนอให้ผมทำชานมไข่มุก หรือลานสเกต แต่ผมศึกษาแล้วว่าเป็นธุรกิจที่ไม่ยั่งยืน เป็นธุรกิจแฟชั่นที่หวือหวาสักพักก็จะเริ่มลดกระแสความนิยมลง
ผมเป็นคนไม่ชอบธุรกิจประเภทแฟชั่นที่วูบวาบสักพักแล้วหายไป
แต่ชอบทำธุรกิจที่มีอนาคตยาวไกล
ไม่กี่วันหลังจากที่คุยกับเพื่อน ผมเดินทางไปปีนัง กัวลาลัมเปอร์ และสิงคโปร์ทันที
เพราะเมืองไทยไม่เคยมีธุรกิจถ่ายรูปแต่งงาน ถ้าจะศึกษาข้อมูลก็ต้องศึกษาจากประเทศที่ทำธุรกิจนี้มานาน
ทุกธุรกิจจะมีเทคนิคและรายละเอียดเฉพาะของธุรกิจนั้น อย่างธุรกิจถ่ายรูปแต่งงาน เรื่องการเลือกชุดแต่งงาน การโพสต์ท่าถ่ายรูป จนถึงการเลือกกรอบรูปมีรายละเอียดบางอย่างที่ต้องเรียนรู้
เมื่อไปถึงผมตรงไปตามร้านถ่ายรูปแต่งงาน แล้วก็เริ่มต้นตั้งคำถามเกี่ยวกับธุรกิจถ่ายรูปแต่งงาน
ถาม...ถาม และถาม
ยิ่งถามก็ยิ่งรู้ ยิ่งคุยก็ยิ่งมั่นใจในอนาคตของธุรกิจนี้
เหลือเพียงปัญหาเดียว คือ ผมจะหาช่างภาพที่เชี่ยวชาญในธุรกิจนี้มาจากไหน
มีคนแนะนำให้ไปที่ไต้หวัน ไปหา "นายลู่" ซึ่งเป็นช่างภาพที่เชี่ยวชาญด้านการถ่ายรูปแต่งงาน
ผมก็บินตรงไปไต้หวันทันที หลังจากคุยกันผมก็ชวน "นายลู่" มาดูลู่ทางในเมืองไทย
แม้ "นายลู่" ยังไม่ตัดสินใจแต่ผมก็ซื้ออุปกรณ์ถ่ายภาพต่างๆ บินกลับมาเลย
ตอนที่กลับมาแม้แต่สถานที่ตั้งบริษัทยังไม่มีเลย
ผมปรึกษาเรื่องทำเลตั้งบริษัทกับ "คุณจู" ฐิติมา ศรีอุทัยศิริวงศ์ เพื่อนเก่าสมัยทำธุรกิจอยู่เมืองชลและย้ายเข้ามาดูแลโรงแรมของสามีใน กทม.
ซึ่งเวลาต่อมาเธอได้กลายเป็น "คู่หู" ทางธุรกิจของผม
"คุณจู" เสนอให้ผมเช่าตึกแถวที่ซอยทองหล่อ
พร้อมกับรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ
งานนี้ผมดึงเพื่อนของภรรยามาร่วมงานด้วย 2 คน คือ "คุณแมว" พิชชา ประกายเลิศลักษณ์ และ "คุณนุ" ภาณุพันธ์ วัฒนกุลวิวัฒน์
ปัจจุบันทั้ง "คุณแมว-คุณนุ" เป็นกำลังหลักของผม
วันที่ 26 สิงหาคม 2537 บริษัท ที.วาย.เมอริเอจ สตูดิโอ จำกัด จึงกำเนิดขึ้นโดยมี "คุณจู" ร่วมถือหุ้นอยู่ 30%
ปัญหาของการทำธุรกิจใหม่ ช่วงแรกๆ จะเต็มไปด้วยปัญหา และเมื่อเราแก้ไขปัญหาได้ลุล่วงมันก็จะกลายเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า
อย่างร้านถ่ายรูปแต่งงาน ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่คนไทยไม่คุ้นเคย การเริ่มต้นไม่ใช่เพียงแค่ตัวเรา แต่ยังรวมถึงลูกค้าด้วย
เพราะนอกจากเราจะเรียนรู้ธุรกิจแล้ว ลูกค้าก็ต้องเรียนรู้
ผมจำได้ว่าลูกค้าคนแรกที่เข้ามาในร้านคิดว่าการถ่ายรูปแต่งงาน คือมาถึงก็ถ่ายเลยและใช้เวลาไม่นาน
ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจถึงลำดับการทำงาน ตั้งแต่เลือกชุด จองคิวถ่ายรูป และต้องเสียเวลาถ่ายรูปทั้งวันเพื่อให้ได้รูปไปโชว์ในงานแต่งงาน
ธุรกิจถ่ายรูปแต่งงานถือเป็นธุรกิจที่ผมนำการบริหารธุรกิจรูปแบบใหม่มาใช้
เรื่องแรก คือ การแตกบริษัทใหม่ออกไปอย่างต่อเนื่อง
ด้านหนึ่ง เป็นการสร้างตลาด เพราะเป็นธุรกิจใหม่หากมีเพียงบริษัทเดียวก็จะไม่คึกคัก แต่ถ้าในทำเลเดียวกันมีธุรกิจถ่ายรูปแต่งงานหลายร้าน ลูกค้าก็จะรู้สึกคึกคักขึ้น
เหมือนศูนย์การค้าที่พยายามจัดโซนสินค้า เป็นโซนเฟอร์นิเจอร์ โซนเสื้อผ้า เพื่อให้เกิดบรรยากาศการซื้อ
ด้านหนึ่ง เป็นการเปิดทางให้พนักงานได้เติบโตเป็นเถ้าแก่ เพราะร้านใหม่ที่แตกตัวออกไปผมจะให้สิทธิ์พนักงานที่เป็นคนบริหารงานถือหุ้นด้วย
เขาจะมีแรงจูงใจนอกเหนือจากเงินเดือน เพราะยิ่งลงแรงทำมากเท่าไรเขาก็จะได้มากเท่านั้น
เรื่องที่ 2 คือ การแบ่งกำไรทุกเดือน
ผมได้แนวคิดนี้จากบทเรียนธุรกิจที่คุณอาเคยเล่าให้ผมฟัง คุณอาเคยลงหุ้นทำธุรกิจเป็นเงิน 200,000 บาท พอธุรกิจได้กำไรผู้ถือหุ้นใหญ่ก็นำกำไรไปขยายธุรกิจต่อ ไม่เคยปันผลเลย
ขยายโรงงานไปเรื่อยๆ จน 20 ปีต่อมาโรงงานใหญ่โตมาก แต่จากนั้นไม่นานก็เจอมรสุมเศรษฐกิจ บริษัทปิดกิจการ
เงิน 200,000 บาทที่ลงไปเมื่อ 20 ปีก่อนกลายเป็น 0
จากบทเรียนดังกล่าวของคุณอาร้านถ่ายรูปแต่งงานของผมจึงใช้แนวคิดใหม่
แบ่งกำไรให้ผู้ถือหุ้นทุกเดือน
เราจะปิดบัญชีกันทุกสิ้นเดือน กางบัญชีดูว่ารายได้เท่าไร ต้นทุนเท่าไร
หักลบแล้วเหลือกำไรเท่าไร
30% ของกำไรจะนำมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัท
ส่วนอีก 70% มาแบ่งกันตามสัดส่วนหุ้นของแต่ละคน
สิ้นเดือนปิดงบฯ วันที่ 5 แบ่งเงิน
ผมคิดง่ายๆ เพียงว่าตามปกติการทำธุรกิจจะต้องจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นกันทุกสิ้นปีอยู่แล้ว
ระหว่างสิ้นปีแบ่งครั้งเดียวกับแบ่งกันทุกสิ้นเดือน
เงินเท่ากันแต่ความรู้สึกต่างกัน
คิดแทนใจคนทำงาน ถ้าสิ้นปีค่อยได้แรงอัดฉีดกับได้แรงอัดฉีดทุกสิ้นเดือน
คนทำงานชอบแบบหลังมากกว่า
รอบที่สั้นกว่ามีผลต่อการกระตุ้นการทำงานอย่างต่อเนื่องมากกว่า
ยิ่งธุรกิจทำกำไรดี การปันผลทุกเดือนยิ่งช่วยกระตุ้นให้พนักงานทำงานเต็มที่มากขึ้น
ด้วยหลักการบริหารเช่นนี้เองทำให้ธุรกิจถ่ายรูปแต่งงานของผมขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นระดับบน
ลูกค้าระดับกลางยังไม่ค่อยกล้าเดินเข้ามาในร้านถ่ายรูปแต่งงาน
จนใกล้จะย่างเข้าปี 2000 ก็เกิดปรากฏการณ์หนึ่งที่ทำให้ธุรกิจถ่ายรูปแต่งงานของผมก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว
ผมเข้าไปเป็นตัวหลักในการจัดงานสมรสหมู่ 2,000 คู่ ต้อนรับปี 2000 หรือปี 2543
งานนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้สัจธรรม 2 ข้อ
ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้
และไม่มีอะไรเป็นไปอย่างที่เราคิด
(8) สัจธรรมที่ค้นพบ
คอลัมน์ ชีวิตนี้ไม่มีทางตัน
โดย สรกล อดุลยานนท์
จากปี 2537 ที่ผมริเริ่มธุรกิจเวดดิ้ง สตูดิโอ เพียงแค่ 5 ปีก็สามารถขยายได้ถึง 16 สาขาในปี 2542
ประกอบด้วย 1.แมริเอจ สตูดิโอ 2.คริสเตียน โฟโต้ 3.ฟิอานเซ่ สตูดิโอ 4.คิวปิด สตูดิโอ 5.ไอดู สตูดิโอ 6.เวดดิ้ง เบลล์ สตูดิโอ 7.เวดดิ้ง บิสซิเนส คอนซัลแทนท์ 8.โฟโต้ ทูเดย์ 9.โมเดิร์นเวดดิ้ง สตูดิโอ 10.คลาสสิค สตูดิโอ 11.ยัวร์ สตูดิโอ 12.อินเตอร์ ไบรด์ สตูดิโอ 13.ปิกาโซ่ เวดดิ้ง สตูดิโอ 14.มายเมมโมรี่ สตูดิโอ 15.บีเลิฟด์ สตูดิโอ และ 16.คลาสเทิล สตูดิโอ
กลยุทธ์หลักของผม คือ การแตกสาขาด้วยการให้พนักงานเก่าที่ชำนาญงานไปดูแลสาขาใหม่และให้สิทธิถือหุ้นในสาขาใหม่
กระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจด้วยการแบ่งกำไรให้กับผู้ถือหุ้นทุกเดือน
ลงแรงมากได้มาก และได้ทุกเดือน
ธุรกิจเวดดิ้ง สตูดิโอ คงมีอัตราการเติบโตอยู่ในระดับนี้ต่อไปหากไม่มีปรากฏการณ์หนึ่งเกิดขึ้น
นั่นคือ งานสมรสหมู่ 2,000 คู่ เพื่อต้อนรับปี ค.ศ.2000 หรือปี 2543
ผมเข้าไปรับผิดชอบงานนี้แบบตกกระไดพลอยโจน เพราะตอนแรกทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยต้องการจัดกิจกรรมสมรสหมู่ 999 คู่
แต่ผมเสนอว่าควรจะขยายเป็น 2,000 คู่ เพื่อให้มี "จุดขาย" สอดรับกับการต้อนรับปี 2000
และเมื่องานไม่เดินหน้าเท่าที่ควร ผมก็รับอาสา คุณเสรี วังส์ไพจิตร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับผิดชอบโครงการเอง
ตอนนั้นประเมินแล้วว่าด้วยสถิติลูกค้า "เวดดิ้ง สตูดิโอ" 16 สาขาของผมน่าจะหาลูกค้ามาร่วมในกิจกรรมนี้ได้
แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายก็ตาม
ถึงจะประเมินต่ำไว้แล้วแต่ในความเป็นจริงกลับสาหัสกว่าที่ผมประเมินไว้มากนัก
เพราะเมื่อเหลืออีก 3 เดือนจะถึงวันงาน ปรากฏว่ามีคู่สมรสเพียง 700 คู่เท่านั้นที่สมัครเข้ามา
และคู่สมรสต่างชาติที่ทางผู้ว่าการเสรีต้องการให้เข้าร่วมด้วยนั้นก็ถอนตัวออกไปมากเนื่องจากเกรงว่าการเดินทางด้วยเครื่องบินจะมีปัญหา Y2K
เป้าหมาย 2,000 คู่ ได้มาเพียง 700 ขาดอีก 1,300
ในเวลา 3 เดือนที่เหลืออยู่ กับเป้าหมายที่ต้องหาคู่สมรสเพิ่มอีก 1,300 คู่
คำนวณแล้วตกเดือนละ 433 คู่
หรือวันละ 14 คู่
สถานการณ์แบบนี้ไม่ว่าจะคุยกับใคร ทุกคนก็ส่ายหน้าและลงมติเหมือนกันว่า "เป็นไปไม่ได้"
ตอนนั้นผมมี 2 ทางเลือกอยู่ในใจ
ทางเลือกแรก คือ ตัดสินใจยกเลิกโครงการ ซึ่งผลที่ตามมาคงไม่พ้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบอย่างมาก
ทางเลือกที่สอง คือ เดินหน้าต่อไป โดยทุ่มงบประมาณเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้เพื่อดึงดูดให้คู่สมรสเข้ามาร่วมโครงการ
ประมาณคร่าวๆ ผมต้องขาดทุนกับงานนี้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท
และไม่ใช่ว่าขาดทุนแล้วก็จะประสบความสำเร็จ
ในที่สุด ผมก็ตัดสินใจเลือกแนวทางที่ 2 ด้วยความคิดว่า "ในชีวิตนี้ขอทำงานระดับชาติสักครั้งหนึ่ง"
เมื่อตัดสินใจแล้ว ผมก็เดินหน้าอย่างเต็มตัว
ผมขอความช่วยเหลือจาก คุณดำรง พุฒตาล แห่งนิตยสาร "คู่สร้างคู่สม"
คุยกับ "เจเอสแอล" ที่เคยผ่านการจัดงานเอเชี่ยนเกมส์ให้มาเป็นผู้รับผิดชอบการจัดงานสมรสหมู่ 2,000 คู่
ผมทุ่มเทแรงกายและแรงใจกับงานนี้อย่างมาก
แม้จะขาดทุนไปประมาณ 13-14 ล้านบาท แต่ก็ประสบความสำเร็จเพราะก่อนถึงวันงานผมมีรายชื่อคู่สมรส 2,000 คู่อยู่ในมือ
วินาทีนั้น ผมตระหนักในผลจากพลังแห่งความพยายามอย่างถึงที่สุด
"ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้"
สิ่งที่ไม่มีใครเชื่อว่าจะเป็นไปได้ก็เป็นไปแล้วเมื่อเรามุ่งมั่นอย่างเต็มกำลัง
ผมและ "เจเอสแอล" เริ่มวางแผนงานอย่างละเอียดทุกขั้นตอน เพราะทุกอย่างต้องเสร็จก่อนเที่ยงคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2542
เราเชิญคู่สมรส 20 คู่มาซ้อมล่วงหน้าในพิธีกรรมทุกขั้นตอน
แต่งหน้ากี่นาที เจิมหน้ากี่นาที ทุกขั้นตอนมีการจับเวลาไว้อย่างละเอียด
ได้สถิติแล้วก็นำจำนวนคู่สมรสทั้งหมดมาคำนวณเพื่อหาเวลาที่แท้จริง
เราทำงานอย่างละเอียดจนมั่นใจว่าจะไม่มีอะไรผิดพลาดเมื่อถึงเวลาจริง
แต่เมื่อถึงวันจริง เราก็พบว่ามีรายละเอียดอีกหลายเรื่องที่เราคาดไม่ถึง
ไม่น่าเชื่อว่าเพียงเวลาไม่กี่วันผมค้นพบสัจธรรมถึง 2 เรื่อง
จากความเชื่อที่ว่า "ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้"
เพียงแค่ไม่กี่วันจากนั้น ผมก็ค้นพบสัจธรรมใหม่
"ไม่มีอะไรเป็นไปอย่างที่เราคิด"
20 คู่ที่ซ้อมกันมาทำได้ตามเวลาที่เราวางแผนไว้ แต่อีก 1,980 คนที่เหลือกลับไม่เป็นไปอย่างที่เราคิด แม้จะมีการอธิบายทุกขั้นตอนอย่างละเอียดก่อนเริ่มงาน
การแต่งหน้าเจ้าสาวที่กำหนดไว้ 15 นาที พอถึงวันจริงบางคนไม่พอใจก็ต้องรื้อกันใหม่ แม้จะมีการเตรียมช่างแต่งหน้าสำรองไว้แต่ก็ไม่พอเพียง
คู่บ่าวสาวบางคนพอมีผู้ใหญ่เจิมหน้าผากเสร็จก็ขอพรจากผู้ใหญ่
บางคู่ขอลงไปถ่ายรูปคู่กับญาติด้านล่างเวที
ทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้
แม้จะเข้าใจดีว่างานนี้เป็น "ครั้งหนึ่งในชีวิต" ของคู่บ่าวสาวทุกคู่ ทุกคนต้องการถ่ายรูปกับญาติมิตร ต้องการพรจากผู้ใหญ่
แต่ถ้าปล่อยให้งานดำเนินต่อไปอย่างนี้ ผมประเมินแล้วว่าคงไม่ต่ำกว่าตีสาม พิธีการต่างๆ จึงจะเสร็จครบ 2,000 คู่
ผู้ใหญ่ 5 ท่านที่เราเชิญมาเป็นประธานในพิธี หลายท่านเริ่มมีอาการ "นิ้วแข็ง" จากการเจิมหน้าผากคู่บ่าวสาวเป็น 100 คู่
ผมตัดสินใจแก้ปัญหาแบบฉับพลันทันที
ผมขอให้แขกผู้ใหญ่ที่ผมเชิญมาเป็นสักขีพยานในงานช่วยขึ้นไปเป็นประธานเจิมหน้าผากคู่บ่าวสาว พร้อมกับโทรศัพท์ไปหาผู้ใหญ่ที่นับถือบางท่านให้ช่วยมาเป็นประธานเพิ่มเติม
จากประธาน 5 คน ก็เพิ่มเป็น 20 คน การลื่นไหลของงานจึงเริ่มเร็วขึ้น
ตอนนั้น ผมกระโดดเข้ามาเป็นผู้กำกับเวลาเอง ในที่สุดทุกอย่างก็เดินไปตามเวลาที่กำหนดไว้
ก่อนเที่ยงคืน พิธีการทั้งหมดก็เสร็จสิ้นและเริ่มต้นนับถอยหลังเข้าสู่ปี 2000 ก่อนจะจุดพลุเฉลิมฉลอง
จากสถานการณ์ "ไม่มีอะไรเป็นไปอย่างที่เราคิด" ผมก็สามารถแก้ไขให้กลายเป็น "ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้" อีกครั้งหนึ่ง
หลักคิดจากงานสมรสหมู่ 2,000 คู่ครั้งนี้เองที่ผมนำมาใช้ในการทำงาน
ทุกครั้งที่เริ่มคิดงาน ผมจะมีเข็มทิศของความเชื่อที่ว่า "ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้" นำทาง
ทุกอย่างเป็นไปได้หากเรามุ่งมั่น
แต่เมื่อถึงขั้นตอนของการทำงาน
แม้จะศึกษาและวางแผนทุกอย่างเป็นอย่างดี ผมก็ไม่เคยวางใจสถานการณ์
ผมจะถือหลักที่ว่า "ไม่มีอะไรเป็นไปอย่างที่เราคิด" เพื่อติดตามการทำงานในทุกขั้นตอน
ระมัดระวัง แต่ไม่หวาดระแวง
ด้วยความเชื่อที่ว่า "ปัญหา" ในโลกนี้มีไว้ "แก้ไข"
แม้จะไม่เป็นไปอย่างที่เราคิด แต่ถ้ามีสติและตั้งใจแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
เราก็สามารถหันเหเส้นทางของ "ปัญหา" ให้เข้าสู่ครรลองที่เราต้องการอีกครั้งได้
ครับ... ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้
แม้จะ "ขาดทุน" จากงานนี้ถึง 13-14 ล้านบาท แต่ผลพวงที่ตามมากลับส่งผลดีกับธุรกิจเวดดิ้ง สตูดิโอของผม
เพราะคนที่เข้าร่วมงานส่วนใหญ่เป็นคนที่มีกำลังซื้อปานกลาง
งานสมรสหมู่ 2,000 คู่จึงเป็นการขยายฐานเรื่องการถ่ายรูปแต่งงานไปสู่ลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ฐานใหญ่มาก จากเดิมที่มีแต่ลูกค้าระดับสูง
การปรับฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นครั้งนี้ทำให้ธุรกิจเวดดิ้ง สตูดิโอ ของผมอยู่ในภาวะก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2000 หรือ 2543 เป็นต้นมา
ในขณะที่ "โออิชิ" ภัตตาคารบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่น ธุรกิจใหม่ของผมก็เริ่มตั้งลำและขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ช่วงนั้นจึงถือเป็นปีทองทางธุรกิจของผมอย่างแท้จริง
แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากก่อนหน้านั้นไม่นานผมไม่สามารถทลาย "กับดักทางการเงิน" ซึ่งถือเป็นสถานการณ์เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต
ช่วงนั้นผมเป็นหนี้ถึง 100 ล้านบาท เป็นเงินกู้ทั้งในระบบและนอกระบบ
รายจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยเดือนละ 1.35 ล้านบาท
หนี้สินจำนวนมหาศาลนี้เกิดขึ้นจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ผมถลำลึกลงไปในช่วงปี 2538
และจมดิ่งสู่ห้วงเหวที่มืดมิดทันทีที่รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี 2540
นี่คือบทเรียนแห่งความล้มเหลวบทหนึ่งที่ผมอยากจะเล่าให้ฟัง
(คัดลอกมาจากเว็บกระทิงเขียว ห้องคุณค่าครับ http://bbznet.pukpik.com/scripts3/view. ... r=numtopic
(1) ผู้ให้-ผู้รับ
คอลัมน์ ชีวิตไม่มีทางตัน
โดย สรกล อดุลยานนท์
รู้ไหมครับว่าวันแรกที่เปิด "โออิชิ" ภัตตาคาร บุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น ที่ซอยทองหล่อ ผมอยู่ตรงส่วนไหนของร้าน
"ห้องน้ำ" ครับ
ผมกำลังซ่อมก๊อกน้ำที่รั่ว
คล้ายๆ กับวันแรกที่โรงงาน "โออิชิ กรีนที" เดินเครื่องการผลิตเพื่อส่งสินค้าให้กับร้าน 7-11 และดีทแฮล์ม
ผมก็ไม่ได้ใส่สูทและเปิดแชมเปญฉลอง
แต่ผมต้องวิ่งรอกระหว่างโรงงาน-ดีทแฮล์ม และศูนย์กระจายสินค้าของ 7-11 ทั้งคืน
ตอน 1 ทุ่ม ผมต้องไปอยู่ที่ดีทแฮล์มเพื่อใช้สถานะของเจ้าของ "โออิชิ" ขอร้องเจ้าหน้าที่ ดีทแฮล์มให้เปิดโกดังรอรับ "โออิชิ กรีนที" เพราะหมดเวลาทำงานแล้ว
จากนั้นก็กลับไปเฝ้าที่โรงงานเพื่อเร่งผลิต "โออิชิ กรีนที" บรรจุ 18 ตู้คอนเทนเนอร์ส่งให้ 7-11
ตี 1 วิ่งรถไปอยู่ที่โกดัง 7-11 เพื่อรอรับสินค้า
กว่าคืนแรกของการเปิดสายการผลิตของโรงงานโออิชิ กรีนทีจะจบสิ้น คือ ตี 5 ของวันรุ่งขึ้น
เมื่อรถคอนเทนเนอร์คันสุดท้ายวิ่งเข้าโกดังของ 7-11
บางทีผมก็นึกแปลกใจเหมือนกันว่า "วันแรก" ของการเริ่มต้นงานใหม่ทำไมผมต้อง "เหงื่อออก" อยู่เสมอ
ตั้งแต่เป็น "ลูกจ้าง" ที่ไม่มีทางเลือกจนเป็น "เจ้าของกิจการ" ที่สามารถเลือกตำแหน่งยืนได้
ผมก็ยังเลือกยืนในจุดที่มี "เหงื่อ" เป็นเพื่อนเช่นเดิม
อาจเป็นเพราะผมเชื่อว่าก้าวแรกคือก้าวที่สำคัญยิ่ง
และ "เหงื่อ" เป็นน้ำมนต์ที่ดีที่สุด ของคนทำงาน
........................
นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโสเคยบอกว่าความจนเป็นสิ่งมีค่า เพราะทำให้เราไม่กลัวงานหนัก
ไม่แปลกที่ผมไม่เคยกลัว "งานหนัก"
เพราะผมผ่าน "ความจน" มาแล้ว
ผมเคยบอกลูกเสมอว่าพ่อได้เงินลำบาก
"ได้เงินลำบาก" ไม่ใช่ว่า "หาเงินลำบาก"
สำหรับผม การหาเงินไม่ลำบากมากนัก แต่กว่าจะ "ได้มา" ต่างหากที่ลำบาก
ต้องแลกด้วย "เหงื่อ" และความอุตสาหะอย่างต่อเนื่อง
ผมไม่เคยอิจฉาใครที่เริ่มต้นการทำธุรกิจในสถานะ "ทายาท" ที่สืบทอดอาณาจักรธุรกิจของบิดา-มารดา หรือมีเงินทุนมหาศาลจากครอบครัว
ทุกคนมี "วาสนา" แตกต่างกัน
บางคนเริ่มต้นจาก 0 บางคนเริ่มจาก +5
แต่ผมอาจเรียกได้ว่าเริ่มต้นชีวิตการทำงานแบบ "ติดลบ" เมื่อเทียบกับคนทั่วไปในวันนี้
ผมเรียนจบแค่ ม.ศ. 3
เริ่มต้นการทำงานด้วยตำแหน่ง "พนักงานยกของ"
เงินเดือนเพียง 700 บาท
ถึงแม้จะเริ่มต้นอย่าง "ติดลบ" แต่ผมก็สามารถมีวันนี้ได้
นั่นคือ เหตุผลสำคัญที่ผมอยากถ่ายทอดเรื่องราวของผมและ "โออิชิ"
ไม่ใช่เพื่อคุยโม้โอ้อวดถึง "ความสำเร็จ"
แต่ต้องการให้เป็น "กำลังใจ" แก่คนส่วนใหญ่ในเมืองไทย
ทั้งคนที่เริ่มต้น "ติดลบ" เหมือนกับผม
และคนที่เริ่มต้นด้วย "วาสนา" ดีกว่าผม
"วาสนา" นั้นเป็นสิ่งที่คนอื่นให้มา แต่ความมุ่งมั่นและตั้งใจเป็นสิ่งที่เราต้องลงแรงด้วยตัวเอง
ตราบใดที่เรามีความมุ่งมั่น ความตั้งใจ และพยายามให้ถึงที่สุด
ทุกสิ่งทุกอย่างอาจเป็นจริงได้ตามที่เราใฝ่ฝัน
.......................
ชีวิตการทำธุรกิจของผมผ่านมาทั้งร้านกิฟต์ช็อป ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านเสริมสวย ร้านถ่ายรูป เวดดิ้ง เรียลเอสเตต ฯลฯ
ทุกครั้งที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่ที่ผมไม่เคยทำมาก่อน ผมจะหาความรู้ด้วยการตั้ง "คำถาม"
ผมได้ความรู้และกลยุทธ์ในการทำธุรกิจต่างๆ จากคนมากมายที่พร้อมถ่ายทอดประสบการณ์โดยไม่ปิดบัง
ดังนั้น เมื่อในอดีตผมเคยได้ประโยชน์จากการเป็น "ผู้รับ" วันหนึ่งเมื่อมีประสบการณ์มากพอ ผมก็ควรจะเป็น "ผู้ให้" บ้าง
ประสบการณ์ของคนๆ หนึ่งคงจะช่วยให้ระยะเวลาการเรียนรู้ของอีกคนหนึ่งลดลงได้มากทีเดียว
มีคนถามมากว่าทำไมผมจึงริเริ่มทำธุรกิจเวดดิ้ง ถ่ายรูปแต่งงานในเมืองไทย
ทำไมผมจึงคิดทำบุฟเฟ่ต์โออิชิขึ้นมา
ทั้ง 2 กองไฟที่ลุกโชนขึ้นมาในวันนี้ล้วนเกิดจากประกายไฟเพียงแวบเดียว
เชื่อหรือไม่ทั้ง 2 ธุรกิจนี้เกิดจากคำถามและการบอกเล่าเพียงไม่กี่ประโยค
หรือ "โออิชิกรีนที" ที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนก็ครองส่วนการตลาดถึง 30% และอาจขึ้นเป็นที่ 1 ภายในปีนี้
มันเป็นกรณีศึกษาที่น่ามหัศจรรย์มาก
บางคนอาจคิดว่าเป็นอุบัติเหตุ หรือเป็นเรื่อง ฟลุก
แต่เบื้องหลังความมหัศจรรย์ดังกล่าว มีเรื่องราวมากมายที่ผมได้ศึกษาและทำตลาดล่วงหน้าไว้แล้ว
ผมไม่เคยตีกรอบตลาดของ "โออิชิ กรีนที" อยู่แค่คนดื่ม "กรีนที" ในอดีต
แต่คนที่ดื่มอะไรก็ตามที่เป็นเครื่องดื่ม นั่นคือ "โอกาส" ของ "โออิชิกรีนที"
ผมไม่เคยคิดว่าช่องทางการขายของ "กรีนที" ต้องอยู่ในร้านค้าเดิมๆ
ที่ไหนที่คนอยากดื่ม ที่นั่นต้องมีขาย
ร้านค้าที่ขาย "โออิชิ กรีนที" ในตลาดนัดสวนจตุจักรอาจเป็นคำตอบที่เป็นรูปธรรมที่สุด
ทำไมผมคิดและทำเช่นนั้น
หรือเรื่อง "SPIDER MARKETING" หรือระบบเกื้อกูลการตลาดรวมทั้งเรื่องการแบ่งรายได้ ซึ่งเป็นเคล็ดลับในการขยายธุรกิจของผม
2 เรื่องนี้เป็นประเด็นที่มีคนขอให้ผมขยายความอยู่เป็นประจำ
SPIDER MARKETING คือ วิธีคิดแบบ "คนจน" ที่ต้องการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เป็นระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลปกติของสังคมไทยที่คนแข็งแรงกว่าต้องช่วยคนที่อ่อนแอกว่า
ธุรกิจที่แข็งแกร่งแล้วอย่าง "เวดดิ้ง" ก็ต้องช่วยเหลือ "โออิชิ" ในวันเริ่มต้น
ร้าน "โออิชิ" ไม่ว่าจะเป็นบุปเฟ่ต์หรือราเมน เมื่อแข็งแรงแล้วก็ต้องช่วยขาย "โออิชิ กรีนที" ในช่วงแรก
มันเป็นกลยุทธ์ธุรกิจที่ได้มาจากประสบการณ์ตั้งแต่ทำธุรกิจที่ชลบุรี
หรือเรื่องการแบ่งรายได้ ที่ผมใช้ระบบการแบ่งกำไรทุกเดือนเพื่อให้คนทำงานเกิดแรงจูงใจในการทำงาน ก็เป็นเคล็ดลับที่ทำให้ธุรกิจเวดดิ้งของผมขยายตัวอย่างรวดเร็ว
"ความสำเร็จ" เป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตของผมอยู่ที่ประสบการณ์ความล้มเหลว
ถ้าไม่เคยล้มเหลวมาก่อน ผมคงไม่มีวันนี้
ผมเคยเป็นหนี้ NPL 100 กว่าล้านบาทจากธุรกิจเรียลเอสเตตในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ
หลักคิดหนึ่งในการแก้ปัญหาของผม คือ พยายามให้เต็มที่ แต่อย่าดันทุรัง
เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง เราต้องยอมรับความจริง และรีบแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด
ผมอยู่กับ "ปัญหา" และ "การแก้ปัญหา" จนคุ้นเคย
และซาบซึ้งดีว่า "ปัญหา" ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น
บางทีวิธีคิดในตำรากับวิธีคิดจากประสบการณ์ก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
คิดแบบ "บัญชี" กับคิดแบบ "พ่อค้า" ก็ไม่เหมือนกัน
คิดที่จะทำ หรือคิดเพื่อจะไม่ทำ ก็มุ่งมั่นแตกต่างกัน
เรื่องราวที่จะเล่าต่อจากนี้ไป จึงไม่ใช่เรื่องทางวิชาการ
แต่เป็นประสบการณ์จริงที่ผ่านการทดสอบจากอุณหภูมิของความสำเร็จและล้มเหลวมาอย่างโชกโชน
.......................
วันนี้ถ้ามีใครถามผมว่า "โออิชิ" เริ่มต้นจากที่ไหน
ผมจะพาเขาไปจังหวัดชลบุรี ไปที่ร้านอาหารเทียบทองใกล้โรงแรมอิสเทิร์น
ตรงหน้าร้านมีแผงหนังสือพิมพ์เล็กๆ อยู่แผงหนึ่ง
วันนี้ที่แผงก็ยังคงมีหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ วางขายอยู่เช่นเดิมเหมือนเมื่อ 23 ปีก่อน
ถ้าไม่มีแผงหนังสือพิมพ์แผงนี้
ก็คงไม่มี "โออิชิ"
และไม่มีคนชื่อ "ตัน ภาสกรนที"
(2) คุณค่า "ความจน"
คอลัมน์ ชีวิตไม่มีทางตัน ตัน โออิชิ
โดย สรกล อดุลยานนท์
ผมโชคดีที่เกิดมาไม่หล่อและพ่อไม่รวย
เพราะถ้าผมหล่อหรือพ่อรวย ผมก็คงไม่มีวันนี้
การตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของผมเกิดขึ้นตอนอายุ 17 ปี
ตอนนั้นผมเพิ่งเรียนจบ ม.ศ.3 จากโรงเรียนเผจงที่ปีนัง
ผมเกิดเมื่อปี 2502 ในครอบครัวที่มีฐานะอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างจน คุณพ่อเป็นเสมียนทำงานด้านบัญชีอยู่ในบริษัทแถวสวนมะลิ ส่วนคุณแม่เป็นแม่บ้าน
ที่ผมได้เรียนปีนังก็เพราะคุณพ่อย้ายมาทำงานที่นี่หลังจากแยกกับคุณอาที่เป็นน้องชายเพื่อมาแสวงหาความก้าวหน้าของชีวิต
ทั้งคู่สัญญากันว่าถ้าใครประสบความสำเร็จก่อนก็จะดึงอีกคนหนึ่งกลับมา
จนเมื่อคุณอาประสบความสำเร็จในธุรกิจขายของโชห่วยอยู่ที่ชลบุรี เขาก็ขอให้คุณพ่อกลับเมืองไทย
คุณพ่อและคุณแม่จึงมาทำงานที่เมืองไทย โดยที่ผมกับพี่สาวยังเรียนต่ออยู่ที่ปีนังด้วยหวังว่าจะได้ภาษาจีน
แม้จะอยู่ห่างกันแต่ผมก็มาเมืองไทยเป็นประจำ และส่วนใหญ่ผมจะเลือกไปช่วยคุณอาขายของที่ชลบุรีทุกปิดเทอม
เวลาที่ทำงานกับคุณอา ไม่ว่างานจะหนักเพียงใดผมก็มีความสุข แต่ทุกครั้งที่กลับมาเข้าห้องเรียนผมกลับรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าเพื่อนมาก
ในวัยนั้น นึกอย่างเดียวว่าเพราะผมไม่หล่อ พ่อไม่รวย ผมจึงเป็นเช่นนี้
แม้ไม่มีใครดูถูกดูหมิ่น แต่ผมก็อดรู้สึกเช่นนั้นไม่ได้ แต่ยิ่งรู้สึกกดดันมากเท่าไรผมก็ยิ่งเกิดแรงฮึดมากเท่านั้น
ผมตั้งเป้าหมายอยู่ในใจคนเดียว
วันนี้ผมอาจจะสู้เพื่อนๆ ไม่ได้ แต่ขอเวลาอีก 10 ปี
ผมต้องสู้เพื่อนๆ ให้ได้
และถ้าจะสู้ให้ได้ เราต้องไม่สู้ในสมรภูมิที่ไม่เชี่ยวชาญ ผมเลือกเส้นทางชีวิตใหม่
ผมจะทำธุรกิจ
นั่นคือ คำตอบที่ผมให้กับตัวเอง
ทันทีที่ผลสอบ ม.ศ.3 ออกมา ผมซื้อตั๋วรถไฟจากปีนังมุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานครเพียงคนเดียวพร้อมกับการตัดสินใจครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของชีวิต
"พ่อครับ ผมไม่เรียนหนังสือแล้ว ผมจะทำงาน"
เพียงประโยคสั้นๆ แต่มุ่งมั่น ชีวิตผมก็พลิกเปลี่ยนไปทันที
ไม่รู้ว่าเพราะเคยแสดงท่าทีอยากทำงานมานาน หรือคุณพ่อเห็นความมุ่งมั่นและเด็ดเดี่ยวของผม
ท่านไม่ได้ยับยั้งการตัดสินใจของผมเลย และยังพาผมไปฝากงานอีกด้วย
ถึงผมจะเรียนน้อย แต่ถ้าคุณพ่อมีฐานะร่ำรวย ท่านคงพาผมไปทำงานดีๆ ได้ แต่เพราะบ้านเราจนงานที่คุณพ่อฝากให้ทำจึงได้แค่เพียงตำแหน่งพนักงานแบกของที่บริษัทราชธานีเมโทร ซึ่งขายฟิล์มสีซากุระและสินค้าต่างๆมากมาย
ผมยังจำภาพวันนั้นได้ติดตา
คุณพ่อพาผมไปที่โกดังขนาดใหญ่ตรงท่าน้ำราชวงศ์ ไปคุยกับ "กู๋ใหญ่" ที่เป็นหัวหน้าโดยตรง ก่อนจะพาผมเดินผ่านห้องๆ หนึ่ง
ในห้องนั้นมีโต๊ะขนาดใหญ่อยู่ด้านในสุด มีผู้ชายรูปร่างค่อนข้างสมบูรณ์นั่งสูบไปป์ ดื่มน้ำชา
เขาเป็นผู้จัดการบริษัทชื่อ "ปราโมทย์"
คุณพ่อบอกผมด้วยประโยคที่ยังจำขึ้นใจถึงทุกวันนี้
"ที่พาลูกมาวันนี้ ไม่ได้ให้เป็นคนแบกของตลอดชีวิต แต่พ่อพามาให้นั่งโต๊ะตัวนี้"
มันเหมือนภารกิจที่ได้รับมอบหมายจาก "สวรรค์"
ผมระลึกเสมอว่าตลอดชีวิตนี้ผมยังไม่เคยทำอะไรให้กับพ่อแม่เลย เรียนหนังสือก็ไม่ดี ดังนั้นเมื่อได้ยินประโยคนี้ของคุณพ่อ
เลือดของผมสูบฉีดแรง
พ่ออาจไม่ได้ตั้งใจ แต่คำพูดนี้ทำให้ผมคิด
"โต๊ะ" หรือตำแหน่ง "ผู้จัดการ" เป็นเพียงสัญลักษณ์ของการก้าวไปข้างหน้า
วินาทีนั้นผมเพ่งสายตาไปที่โต๊ะตัวนั้นแล้วบอกตัวเองอย่างมุ่งมั่น
"วันหนึ่งข้าจะต้องนั่งโต๊ะตัวนี้ให้ได้"
ผมเริ่มต้นการทำงานด้วยเงินเดือนเพียง 700 บาท
ผมรู้ตัวเองว่าเรียนน้อย หนทางเดียวที่จะประสบความสำเร็จได้ก็คือต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น
ผมไม่เคยเกี่ยงงาน ไม่เคยรองานเข้ามาหา แต่วิ่งเข้าหางานตลอด
หัวหน้าจะรักผมมาก เพราะไม่เคยเกี่ยงงาน
ผมไม่เคยเทียบ "เงินเดือน" กับความหนักของ "งาน"
ผมไม่เคยทำงานตามเงินเดือน แต่ผมทำงานเต็มที่ในทุกงาน
ที่ "ราชธานีเมโทร" ผมไปทำงานเช้ากว่าคนอื่น 7 โมงเช้าถึงที่ทำงาน กลับบ้านเที่ยงคืน
เสาร์-อาทิตย์ ก็อยู่ที่โรงงาน
ผมทำงานทุกอย่างโดยไม่เกี่ยงว่าเป็นงานในหน้าที่หรือเปล่า จนหัวหน้าทุกคนรู้ว่าถ้างานไหนยากหรือลำบาก ให้เรียก "ตัน"
รับรองไม่ผิดหวัง
ประสบการณ์ได้รับในช่วงนี้ทำให้ผมสอนลูกน้องหลายคนว่าถ้าคุณยังทำงานไม่เต็มที่ในวันนี้ ต่อไปเมื่อไปทำธุรกิจของตัวเอง ถึงจะคิดว่าเต็มที่ก็ไม่มีทางสำเร็จ
เพราะการทำงาน "เต็มที่" นั้นต้องสร้างสมจนเคยชินจึงจะกลายเป็น "นิสัย"
ต้องฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจึงจะทำได้
"ที่ผมประสบความสำเร็จในวันนี้เพราะตอนที่ผมทำงานให้กับคนอื่น ผมก็ทำเต็มที่ ทำจนเป็นนิสัย ถ้าคุณไม่เต็มที่ตอนเป็นลูกจ้าง วันที่คุณเป็นนายจ้าง คุณก็ไม่รู้หรอกว่าการทำงานเต็มที่ต้องทำอย่างไร"
นี่คือ ประโยคที่ผมสอนลูกน้องเป็นประจำ
ในช่วงที่ทำงานที่ "ราชธานีเมโทร" ผมเปลี่ยนแผนกบ่อยมาก และได้รับงานยากๆ อยู่เป็นประจำ ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่า
เหมือนลูกศิษย์ที่อาจารย์ให้งานเยอะๆ
ทุกงานที่รับมา ผมตั้งเป้าหมายเลยว่าห้ามล้มเหลว
สิ่งใดที่มนุษย์ทำได้ ผมต้องทำได้
ผมเชื่อว่าคนที่เก่งกว่าไม่ได้หมายความว่าชนะเสมอไป
ความมุ่งมั่นและเอาจริง บางทีก็เอาชนะความเก่งได้
ในใจผมยังคิดเสมอว่าเส้นทางนี้ผมเป็นคนตัดสินใจเลือกเอง ผมก็ต้องทำให้เต็มที่
ผมทิ้งการเรียนมาเพื่อประสบความสำเร็จ
ไม่ใช่ล้มเหลว
จากพนักงานแบกของ ก็เริ่มขยับขึ้นเป็นพนักงานส่งของ ช่วงนั้นทำให้ผมได้รู้จักร้านค้าแถบประตูน้ำ สะพานหัน ฯลฯ
และเมื่อหัวหน้าเห็นแวว "นักขาย" ผมก็ได้มาเป็นพนักงานขาย และเป็นซูเปอร์ไวเซอร์คุมทีมขาย
ครั้งหนึ่ง ทางห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ชิดลม จัดเทศกาลชุดชั้นใน ทางบริษัทได้ขอพื้นที่ขายที่ดีที่สุด ซึ่งทางเซ็นทรัลก็ตั้งเป้าหมายการขายค่อนข้างสูง
เย็นวันนั้นหัวหน้าโทรศัพท์บอกผมให้รับงานนี้ไปดำเนินการ
แม้จะนอนป่วยอยู่ที่บ้าน แต่เมื่อหัวหน้ามอบหมาย ผมไม่ได้โอดครวญเรื่องไม่สบายแม้แต่ประโยคเดียว
ถามหัวหน้าสั้นๆ เพียงว่า "เมื่อไหร่"
..พรุ่งนี้!
เมื่อได้คำตอบ ผมโยนยาลดไข้ 2 เม็ดเข้าปาก กรอกน้ำตาม แล้วโทรศัพท์ไปบอกลูกน้องว่าพรุ่งนี้ต้องออกศึกให้ทุกคนมาจัดของที่โรงงาน
ตลอดชีวิตของผมไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างหรือเป็นเจ้าของกิจการ สำหรับลูกน้องแล้วผมเต็มที่เสมอ
ผมทำงานดึกเท่าไรก็ไม่เคยเบิกโอที แต่สำหรับลูกน้องผมเบิกให้เต็มที่ และเลี้ยงลูกน้องเป็นประจำจนเงินเดือนบวกคอมมิสชั่นของผมทุกเดือนแทบไม่มีเหลือ
แต่เมื่อให้ "ใจ" เขา เขาก็ให้ "ใจ" ตอบ
หลังจากผมโทรศัพท์เรียก เพียงแค่ 3 ทุ่มลูกน้องทุกคนมาพร้อมกันหมดเพื่อจัดสินค้าไปขายในวันรุ่งขึ้น
การจัดสินค้าถือเป็นเคล็ดลับหนึ่งในการขายของผม
ตามปกติโรงงานจะจัดสินค้าตามออร์เดอร์ที่พนักงานขายส่งมา
แต่สำหรับผม ผมไม่ใช่พนักงานขายที่เน้นการขายเพียงอย่างเดียว แต่ทุกครั้งที่ว่างจากงานขาย ผมจะไปช่วยโรงงานจัดสินค้าเสมอแม้ไม่ใช่งานในหน้าที่
ไม่ใช่เฉพาะส่วนของผม แต่สำหรับทุกคน
การมีส่วนร่วมในการจัดของนอกจากทำให้ผมสนิทสนมกับพนักงานที่ดูแลด้านนี้ ผมยังมีโอกาสได้ดูแลสินค้าในส่วนที่ตัวเองรับผิดชอบด้วย
ออร์เดอร์ของร้านค้าที่ผมรับผิดชอบจึงไม่เคยขาด
และถ้าเป็นกิจกรรมเร่งด่วนอย่างครั้งนี้ การเข้าไปช่วยจัดของทำให้ผมมีสินค้าครบถ้วน
หลักการขายสินค้าประเภทชุดชั้นในหรือรองเท้าก็คือ สต๊อกสินค้าต้องครบทั้งสีและเบอร์
และถ้าไม่ครบหรือรุ่นไหนขาด ต้องจำให้ได้เพื่อให้เชียร์ได้ถูกต้อง
เพราะถ้าเชียร์รุ่นไหนดีจนลูกค้าสนใจ แต่พอถามถึงกลับไม่มีเบอร์หรือสีที่ต้องการ ลูกค้าจะอารมณ์เสีย และไม่ยอมซื้ออีก
สู้เชียร์ให้ตรงกับสินค้าที่มีอยู่จะได้ผลมากกว่า
เมื่อของพร้อมคนครบ งานนั้นผมก็ทำสำเร็จตามที่หัวหน้ามอบหมาย
เป็นความสำเร็จที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะผมเก่งกว่า แต่เพราะผมทำการบ้านมากกว่า และทำงานหนักกว่า
4 ปีผ่านไป จากพนักงานยกของ เงินเดือน 700 บาท ผมก้าวขึ้นมาเป็นซูเปอร์ไวเซอร์ เงินเดือน 18,000 บาท
บางเดือนเมื่อรวมค่าคอมมิสชั่นก็ตกประมาณ 40,000 กว่าบาท
แต่พอทำงานไปสักหนึ่ง ผมก็เริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับงาน
จะให้รอคอยไปนั่งโต๊ะผู้จัดการตามที่คุณพ่อบอกตั้งแต่วันแรกก็คงต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าผู้จัดการจะได้เลื่อนไปตำแหน่งอื่น
และถึงจะรอจนได้ตำแหน่ง แต่งานที่นี่ก็เริ่มไม่มีอะไรท้าทายสำหรับผมเสียแล้ว
ถ้าถามว่ารายได้ของผมวันนั้นสำหรับเด็กหนุ่มอายุเพียง 21 ปีเป็นอย่างไร
ตอบได้เลยว่า "ดีมาก"
ชีวิตช่วงนั้นน่าจะเป็นห้วงเวลาที่ดีเมื่อเทียบกับวันแรกที่เข้ามาทำงาน แต่ผมกลับรู้สึกไม่มีความสุข
แม้ท้องจะอิ่ม แต่ใจนั้นยังหิวกระหาย
มันยังมี "ความฝัน" บางอย่างที่ผมยังไม่ได้ทำ
แล้ววันหนึ่ง "โอกาส" ก็มาถึง
วันนั้น ผมเดินทางไปเยี่ยมพี่ชายและพี่สาวที่อยู่กับคุณอาที่ชลบุรีตามปกติ ลงรถทัวร์ที่หน้า โรงแรมอิสเทิร์น ซึ่งถือเป็นใจกลางเมืองชล
ตอนที่ลงจากรถ ผมเห็นป้าย "ให้เช่า" ที่หน้าตึกแถวตรงข้ามโรงแรมอิสเทิร์น
วินาทีนั้น เลือดแห่งความเป็น "ผู้ประกอบการ" ของผมสูบฉีดแรง
ผมเห็น "โอกาส" แห่ง "ความฝัน" อยู่เบื้องหน้า
ถ้าเป็นเด็กหนุ่มทั่วไป ระหว่าง "ความมั่นคง" ของหน้าที่การงานใน "ปัจจุบัน"
กับ "อนาคต" และ "โอกาส" ที่เป็นเพียงเงาลางๆ
ระหว่าง "ความจริง" กับ "ความฝัน"
คนส่วนใหญ่คงใช้เวลานานในการตัดสินใจ และบางทีก็อาจจะเลือก "ความจริง" ที่สัมผัสได้ในวันนี้
แต่สำหรับผม....
ผมไม่ลังเลใจเลยแม้แต่น้อย
เพราะ "โอกาส" ที่อยู่เบื้องหน้าคือ สะพานที่ต่อเชื่อมไปยัง "ความฝัน" เมื่อ 5 ปีก่อน
ผมตัดสินใจยื่นใบลาออกจาก "ราชธานีเมโทร" ทันที
(3) ฟ้าทดสอบคน
คอลัมน์ ชีวิตไม่มีทางตัน
โดย สรกล อดุลยานนท์
คุณแม่เคยบอกว่าผมเหมือนกับ "ลูกวัวไม่กลัวเสือ"
"ลูกวัว" นั้นต่างจาก "วัว" ที่โตแล้วตรงที่ "วัว" ที่โตแล้วประสบการณ์จะบอกให้รู้ว่า "เสือ" คือสัตว์ที่ไม่ควรเข้าใกล้
แต่ "ลูกวัว" นั้นเพิ่งเกิดใหม่ไม่เคยมีประสบการณ์รู้ว่า "เสือ" นั้นน่ากลัวเพียงใด
"ลูกวัว" ที่ไร้เดียงสาจึงไม่กลัว "เสือ"
พร้อมเดินเข้าหาอย่างไม่เกรงกลัว
ที่คุณแม่บอกว่าผมเป็น "ลูกวัวไม่กลัวเสือ" อาจเป็นเพราะท่านได้เห็น "ความกล้า" แบบ "ไม่กลัว" ของผมตั้งแต่เยาว์วัย
ตอนอายุได้เพียง 9 ขวบผมก็กล้านั่งรถไฟคนเดียวจากปีนังมาหาคุณพ่อที่ กทม.แล้ว
ยังจำได้ว่าทุกที่นั่งมีคนนั่งเต็มไปหมด อาศัยเป็นเด็กตัวเล็กๆ ผมเลยปีนขึ้นไปที่ตะกร้าใส่ของที่เป็นเหล็กยาวๆ ด้านบนและซุกตัวนอนหลับอยู่ตรงนั้น
ถามว่ากลัวไหมที่มา กทม.คนเดียว
ตอบได้เลยครับว่า "ไม่กลัว"
เพราะผมเชื่อว่าลงจากรถไฟมาก็เจอคุณพ่อ ถ้าไม่เจอก็มีนามบัตรของคุณพ่อ
ไม่เจอก็ถาม ถึงจะพูดไทยไม่ชัดแต่ก็พูดรู้เรื่อง
ไม่เห็นมีอะไรน่ากลัวเลย
ความรู้สึกเช่นนั้นยังอยู่ในตัวผมเสมอทุกครั้งที่ตัดสินใจ
แม้แต่วันที่ยื่นใบลาออกจาก "ราชเทวีเมโทร" ก็ตาม
สำหรับผม "เสือ" นั้นไม่ได้หมายถึง "คน"
แต่หมายถึง "ปัญหา" และ "ความยากลำบาก"
ซึ่ง "ลูกวัว" อย่างผมไม่เคยกลัว...
ด้วยสัญชาตญาณที่เป็นพนักงานขายมา 3-4 ปี ผมมองว่าทำเลที่เปิดให้เช่านี้คือทำเลทอง
ภาษาด้าน "ฮวงจุ้ย" จะมีคำอยู่ 2 คำ
คำแรกคือ "สีจุ้ย" ซึ่งหมายถึงทำเลที่มีคนหมุนเวียนแน่นอน เช่น ขายข้าวในโรงงานที่มีพนักงาน 1,000 คน
อย่างนี้คือ "สีจุ้ย"
แต่อีกคำหนึ่งคือ "อั๊วะจุ้ย" หมายถึงทำเลที่มีคนหมุนเวียนตลอดเวลา
วงการเซลส์เรียกว่า "ทำเลมังกร"
ตึกแถวที่ให้เช่าด้านหน้าขายของนั่นคือ "อั๊วะจุ้ย" หรือ "ทำเลมังกร" ในสายตาของผม
เพราะตรงนั้นเป็นทำเลใจกลางเมือง เป็นจุดที่รถทัวร์จอด ห้อมล้อมด้วยโรงหนัง-โรงแรม-ดิสโก้เธค-อาบอบนวด
เป็นทำเลที่มีคนหมุนเวียนตลอดทั้งวัน
ราคาค่าเช่าเมื่อปี 2523 เดือนละ 1,000 บาท ซึ่งถือว่าไม่น้อยสำหรับต่างจังหวัด
หลักคิดในการทำการค้าของผมอาจไม่เหมือนคนอื่นในหลายๆ เรื่อง
อย่างทำเลตรงนี้ถ้าคำนวณตามปกติแล้วค่าเช่าตกประมาณวันละ 34 บาท ถ้าค้าขายตามปกติหารด้วย 8 ชั่วโมง ตกชั่วโมงละ 4.20 บาท
แต่ผมมองตั้งแต่เริ่มต้นแล้วว่าทำเลนี้ค้าขายได้ตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึงตี 2
20 ชั่วโมงต่อวัน
ด้วยเวลาการขายที่มากกว่าทำเลอื่นทำให้ค่าเช่าเฉลี่ยเหลือเพียงชั่วโมงละไม่ถึง 1.70 บาท
ต้นทุนต่ำขนาดนี้ ทำอย่างไรก็ไม่ขาดทุน
...ถ้าไม่ขี้เกียจ
และบังเอิญว่าคำว่า "ขี้เกียจ" ผมไม่เคยรู้จักเสียด้วย
ปัญหาตอนนี้สำหรับผมมีเพียง 2 เรื่อง
เรื่องแรกจะเอาเงินจากที่ไหนมาลงทุน
แม้เงินเดือนและคอมมิสชั่นของผมจะสูงมาก แต่ด้วยความเป็นคนรักลูกน้องทำให้เงินที่มีอยู่ทั้งหมดใช้ไปกับการเลี้ยงลูกน้อง
ผมตัดสินใจขอเงินคุณพ่อและพี่สาวคนละ 25,000 บาท
รวมเป็น 50,000 บาทเป็นทุนก้อนแรกของผม
ตอนนี้ก็เหลือปัญหาเรื่องที่ 2
ผมจะขายอะไรดี ???
สินค้าที่เคยผ่านมือของผม ไม่ว่าจะเป็นปากกา นาฬิกา เสื้อผ้า ชุดชั้นใน ฯลฯ ก็ไม่เหมาะกับทำเลนี้
ด้วยทำเลแผงเล็กๆ หน้าตึกแถวมีสินค้าไม่กี่ประเภทนักที่จะขายได้
ในที่สุดผมก็เลือก "หนังสือ" เป็นสินค้าตัวแรกในชีวิตการเป็น "เถ้าแก่"
ประสบการณ์จากที่อยู่ กทม.มาหลายปีทำให้พอมองตลาดออกว่า "หนังสือ" เป็นสินค้าที่เหมาะสมกับทำเลนี้มากที่สุด
แม้ไม่เคยขายหนังสือมาก่อนแต่ "ลูกวัว" อย่างผมไม่เคยกลัว "เสือ"
ผมนำเงินที่ขอคุณพ่อและพี่สาวมาจ่ายค่าเช่าส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งนำไปซื้อหนังสือที่หัวลำโพงซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของหนังสือ ทั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ
ผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับหนังสือเลย แต่การหา "ความรู้" ไม่ใช่เรื่องยาก
เพียงแค่รู้จัก "ถาม"
ผมเริ่มต้นหาความรู้ด้วยการนั่งคุยกับเอเย่นต์หนังสือถึงหนังสือแต่ละเล่ม เล่มไหนขายดี ทำไมขายดี คนซื้อเป็นใคร
ถาม...ถาม และถาม
กลยุทธ์นี้ผมนำมาใช้เป็นประจำทุกครั้งที่สนใจธุรกิจไหน ทำธุรกิจเวดดิ้งผมก็นั่งถามเจ้าของร้านที่มาเลเซียและไต้หวันคนละ 2-3 ชั่วโมง
ทุกครั้งที่เราถาม เราจะได้ "ความรู้" เพิ่ม
หลังจากถามจนพอเข้าใจในตัวสินค้าและวงจรธุรกิจแล้ว ผมก็เลือกซื้อหนังสือเข้าร้านด้วยเงินที่ติดตัวมาเกือบทั้งหมดประมาณ 3-4 หมื่นบาท
ผมไม่มีรถยนต์ส่วนตัวจึงต้องนำกล่องหนังสือใส่ที่เก็บของใต้ท้องรถทัวร์ กทม.-ชลบุรีเที่ยวเย็น
วันนั้นฝนตกหนักมากและผมนั่งหลับตลอดทางเพราะความเหน็ดเหนื่อยจากการซักถามและเลือกซื้อหนังสือ
ตื่นขึ้นมาประมาณ 2 ทุ่มรถทัวร์ถึงจุดจอดที่หน้าโรงแรมอิสเทิร์น
ผมงัวเงียลงไปรับกล่องหนังสือจากที่เก็บของใต้ท้องรถ
ทันทีที่เห็นสภาพกล่องกระดาษ ผมแทบเข่าอ่อน ไม่เชื่อสายตาตัวเอง
กล่องทุกกล่องเปียกโชกจากน้ำฝนที่กระเซ็นเข้ามา หนังสือลอตแรกจากเงินทั้งหมดที่ผมมีชุ่มไปด้วยน้ำ
ผมรีบนำหนังสือที่บวมจากความชื้นมาตากที่ชั้นสองและชั้นสามของตึก แต่ก็ไม่เป็นผล หนังสือลอตแรกเสียหายหมด
อารมณ์ในตอนนั้นเหมือนกับคนที่บ้านถูกไฟไหม้
ผมยังไม่ได้ทำอะไรเลยแค่ซื้อหนังสือกลับมาก็เจ๊งแล้ว
หมดแรง หมดกำลังใจ
เหมือนฟ้ากลั่นแกล้ง
วันนั้นผมรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ แต่ในวันนี้เมื่อมองย้อนกลับไปอีกครั้ง ผมกลับเกิดความรู้สึกใหม่
บางทีเรื่องที่เกิดขึ้นอาจเป็นการทดสอบของฟ้าก็ได้
ฟ้าก็กำลังทดสอบคนอยู่
บางคนโดนอย่างที่ผมเจอในวันแรกของการค้าขายก็อาจถอดใจเลิกไปแล้ว
แต่สำหรับผม...ไม่มีทาง
วันรุ่งขึ้นผมยืมเงินเพื่อนอีกก้อนหนึ่งนั่งรถทัวร์ไปที่หัวลำโพง วันนี้ผมไม่ตั้งคำถามมากมายเหมือนเมื่อวาน แต่สั่งหนังสือและแพ็กใส่กล่องเลย
ผมยังใช้การขนส่งด้วยรถทัวร์เหมือนเดิม กล่องหนังสือก็ใส่ในที่เก็บของใต้รถทัวร์เหมือนเดิม
แต่ที่ไม่เหมือนเดิมก็คือ ผมไม่หลับ
ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าเจอฝนเหมือนวันแรกผมจะทำอย่างไร
รู้แต่เพียงว่าผมจะไม่มีวันยอมให้หนังสือลอตนี้เปียกฝนอีกเป็นอันขาด
อย่างไรก็ไม่ยอม
แต่คืนนั้นฝนไม่ตก หนังสือลอตแรกจึงได้ขายในวันรุ่งขึ้น
ผมขายหนังสืออย่างมีความสุขแม้ว่าบริเวณนั้นจะมีร้านหนังสืออยู่แล้ว 2 ร้าน แต่ผมไม่รู้สึกหวั่นเกรงเลย
ด้วยความรู้สึก "เต็มที่" กับทุกงานที่ทำ
ผมคิดอยู่ในใจว่าเมื่อตอนทำงานอยู่ที่ "ราชธานีเมโทร" ผมยังทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึงเที่ยงคืนได้
แล้วทำไมที่นี่ผมจะเปิดร้านตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึงตี 2 ไม่ได้
ยิ่งมีลูกน้องคนแรกชื่อ "หมวย" มาทำงานด้วย ผมก็ให้ "หมวย" เปิดร้านตอนเช้า ส่วนผมตื่นสายหน่อยเพื่อจะมารับช่วงต่อในตอนดึกจนปิดร้าน
วันหยุดประจำปีไม่ว่าปีใหม่ สงกรานต์ ตรุษจีน ผมไม่เคยปิดร้าน
ในขณะที่ร้านของผมเปิดยาวตลอด แต่ร้านคู่แข่งอีก 2 ร้านเปิด 8 โมงเช้า ปิด 2 ทุ่ม
ความได้เปรียบจากเวลาการขายที่มากกว่ากันถึง 8 ชั่วโมงทำให้ยอดขายของผมสูงกว่าร้านอื่นๆ
ประสบการณ์นักขายสอนผมว่าต้องจำคนเก่ง และที่ดีกว่านั้นคือจำให้ได้ว่าลูกค้ามีพฤติกรรมการซื้ออย่างไร
ซื้ออะไร ซื้อตอนไหน
ช่วงนั้นขนบนตัวของผมเหมือนเรดาร์ เวลาลูกค้าเดินมายังไม่ถึงร้านผมก็เตรียมหนังสือที่เขาต้องการห่อไว้เรียบร้อยแล้ว
ผมจำลูกค้าได้ดีว่าใครเป็นแฟนหนังสือเล่มไหน
นอกจากนั้น ผมยังขายแบบเปิดเกมรุกโดยเฉพาะบนรถทัวร์ ผมไม่เคยอายที่จะถือหนังสือ พิมพ์ขึ้นไปขายบนรถทัวร์
ผมจะสังเกตตั้งแต่ตอนซื้อตั๋วว่าใครยังไม่ได้ซื้อหนังสือพิมพ์บ้าง จากนั้นก็จะเดินขึ้นไปขายและจะเน้นคนที่ยังไม่ได้ซื้อเป็นพิเศษ
ผมถือหลักว่าถ้าคุณไม่ลงมาหา ผมก็จะขึ้นไปหาคุณเอง
หนังสือก็เหมือนสินค้าทั่วไป มันขายได้ด้วยตัวมันเอง แต่ถ้าอยากขายให้ได้มากขึ้นคุณต้องช่วยผลักดันการขายด้วย
แล้ววันหนึ่งผมได้เจอเพื่อนผมที่เป็นเซลส์รุ่นเดียวกันบนรถทัวร์ เขาก้มหน้าทำเป็นไม่เห็น ผมจึงเดินเข้าไปหาแล้วถามตรงๆ ว่าไม่เห็นผมหรือ
"เห็น" เพื่อนตอบ
"จำกูไม่ได้หรือ"
"จำได้"
"แล้วทำไมไม่ทัก"
"กูกลัวxxxอาย"
ประโยคนี้ของเพื่อนผมยังจำได้ถึงทุกวันนี้
ไม่ได้โกรธเพื่อน แต่ผมไม่เข้าใจว่าการทำมาหากินโดยสุจริตทำไมถึงต้องอาย
เขาอาจรู้สึกว่าจากที่เคยเป็นเซลส์ต้องมาเดินขายหนังสือพิมพ์คือความตกต่ำ
เหตุการณ์ครั้งนี้ผมนำมาสอนลูกน้องเป็นประจำว่า "อย่าอายทำกิน"
เพราะผมไม่อายทำกินผมจึงมีวันนี้
ส่วนเพื่อนคนนั้น "ความอาย" ของเขาทำให้วันนี้เขายังคงเป็นเซลส์อยู่เหมือนเดิม
ทั้งที่เขาควรจะเป็น "เถ้าแก่" ได้แล้ว
4) ขาดทุนคือกำไร
คอลัมน์ ชีวิตไม่มีทางตัน
โดย สรกล อดุลยานนท์
เช่าพื้นที่ด้านหน้าตึกแถวทำแผงหนังสือได้เพียง 6 เดือน ผมก็เริ่มคิดการใหญ่
เปลี่ยนจาก "เช่า" มาเป็น "ซื้อ"
.....ซื้อตึกแถวห้องนี้
ไม่ใช่เพราะมีเงินในกระเป๋าล้นเหลือ เวลาแค่ 6 เดือนกับธุรกิจหนังสือ ต่อให้ขายดีอย่างไร "กำไร" ที่ได้ก็ไม่เพียงพอที่จะซื้อตึกแถว
ตอนนั้นผมมีเงินอยู่ในกระเป๋าอยู่ประมาณ 40,000-50,000 บาท แต่ราคาตึกที่เจ้าของเสนอขายคือ 400,000 บาท
เขาเซ้งมา 250,000 บาท ขายได้ 400,000 บาท ถือว่ากำไรมหาศาล
พอตกลงราคาได้ ผมก็ตัดสินใจ "ซื้อ" ทันที
เหตุผลที่ผมตัดสินใจซื้อเพราะประสบการณ์การขาย 6 เดือนที่ผ่านมา มันชัดเจนว่าทำเลนี้ดีเยี่ยม และธุรกิจหนังสือก็มีอนาคต
เวลาที่เราลงแรงไปพักหนึ่ง เราจะเริ่มมองเห็นว่าธุรกิจไหนไปรอดหรือไม่รอด
ไม่ชัดเจนชนิดมั่นใจ 100% แต่พอมองเห็นปลายทางแห่งความสำเร็จ
เหมือนวันที่ผมลงทุนทำโรงงานผลิตชาเขียว โออิชิ
ผมใช้วิธีจ้างโรงงานอื่นผลิตและทดลองวางตลาดได้พักใหญ่ พอสัมผัสได้ถึง "อนาคต" ที่สดใส ผมจึงตัดสินใจลงทุน
เช่นเดียวกับการซื้อตึกแถวครั้งนี้ ประสบการณ์ขายหนังสือทุกวัน วันละ 20 ชั่วโมงมันเหมือนการวิจัยตลาดรูปแบบหนึ่ง
เห็นกลุ่มลูกค้า เห็นกำลังซื้อแบบ "ของจริง" ทำให้ผมมั่นใจว่า "ทำเล" นี้คือ ทำเลทองของจริง
เพราะที่นี่เป็นแหล่งการค้าที่หรูที่สุดของเมืองชล มีคนหมุนเวียนตลอดทั้งกลางคืนและกลางวัน
ตึกแถวราคาห้องละ 400,000 บาทไม่ถือว่าถูก
แต่หลักการค้า "ถูก" หรือ "แพง" ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเอาไปทำอะไร
เมื่อทำเลอื่นมีเวลาการขายเพียง 8 ชั่วโมง แต่ที่นี่ขายได้ 20 ชั่วโมง
ในเชิงบัญชี ต้นทุนค่าสถานที่ต้องเอา 20 หาร ไม่ใช่ 8 หาร
ที่สำคัญผมมี "ฝันใหม่" ที่ยิ่งใหญ่กว่าการขายหนังสือเพียงอย่างเดียว
ประสบการณ์ที่เคยทำงานอยู่กรุงเทพมหานคร เป็นพนักงานส่งของและพนักงานขายสินค้าต้องตระเวนไปทั่วกรุงทำให้ผมเห็นรูปแบบการค้าใหม่ๆ ที่ในเมืองชลยังไม่มี
การเห็นโลกกว้างทำให้เราได้เปรียบ
"ฝันใหม่" ของผม คือ การเปิดร้านขายหนังสือ-เทปและกิฟต์ช็อป
เป็นร้านที่ติดเครื่องปรับอากาศแห่งแรกในเมืองชล มีเครื่องเก็บเงินและขายสินค้าทุกอย่างแบบไม่มีลดราคา
สินค้าทุกชิ้นติดราคาขายเหมือนในห้าง สรรพสินค้า
ด้วยความเชื่อมั่นใน "ทำเล" และรูปแบบธุรกิจใหม่ ทำให้ผมตัดสินใจระดมเงินเพื่อซื้อตึกแถว
ผมตั้งวงแชร์กับคนที่เมืองชลและเพื่อนใน กทม. ได้เงินมาประมาณ 3 แสนบาท
กู้ "อาอี๊" อีก 3 แสนบาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน
รวมเงินที่ระดมมากับเงินในกระเป๋าและเงินหมุนเวียนในร้าน
ผมได้เงินมาทั้งหมด 7 แสนบาท จ่ายค่าตึก 4 แสน ตกแต่งอีก 3 แสน
ร้าน "ทีวายบุ้ค" จึงกำเนิดขึ้นที่ใจกลางเมืองชล
ความสำเร็จทางธุรกิจของผมส่วนหนึ่งมาจากการริเริ่มสิ่งใหม่
ไม่ว่าจะเป็น "ทีวายบุ้ค" ที่เมืองชลบุรี "เวดดิ้ง" หรือธุรกิจรับถ่ายรูปแต่งงาน
หรือ "โออิชิ" ภัตตาคารบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่นแห่งแรกในเมืองไทยที่ทำให้คนรู้จักผมมากที่สุด
ทั้งหมดล้วนเกิดจากริเริ่มสิ่งใหม่และทำ "ความแตกต่าง" ให้เด่นชัด
การทำธุรกิจที่ดี หากมี "จุดขาย" เรื่อง "ความแตกต่าง" ก็จะได้เปรียบคู่แข่ง
"ทีวายบุ๊ค" ประสบความสำเร็จอย่างสูง กลายเป็นศูนย์รวมเด็กวัยรุ่นของเมืองชล
ยุคนั้น ถ้าจะเท่ต้องถือถุงลายสนู้ปปี้ของร้าน ทีวายบุ๊ค
ถุงแบบนี้ฮิตจนอาจารย์ที่โรงเรียนต้องมาขอร้องให้เลิกขาย เพราะทั้งโรงเรียนหิ้วแต่ถุงสนู้ปปี้
เนื่องจากร้านทีวายบุ้คเป็นตึกแถวคูหาเดียว พอกิจการได้รับความนิยม คนก็แน่นร้านชนิดที่ลูกค้าที่จะเข้าร้านต้องรอคนออกก่อนจึงจะเข้าได้
แม้ว่าการค้าขายผมจะเปลี่ยนจากแผงหนังสือเป็นร้านติดแอร์อย่างดีแล้วก็ตาม แต่ถ้าว่างเมื่อไรผมก็จะโดดขึ้นรถทัวร์ขายหนังสือพิมพ์อยู่เป็นประจำ
ผมไม่เคย "อาย" ในการทำมาหากิน
และเนื่องจากร้านอยู่ในทำเลตรงจุดที่รถทัวร์จอด จึงมักมีผู้โดยสารใช้เวลาที่รอรถเดินเล่นในร้านรับแอร์เย็นๆ พลิกหนังสืออ่านหรือดูเทป ดูกิฟต์ช็อปในร้านเป็นการฆ่าเวลา
"มุ้ย" เป็นคนหนึ่งที่เดินทางมาเยี่ยมบ้านทุกวันหยุด และกลับ กทม.ในวันจันทร์
ทุกครั้งระหว่างรอรถทัวร์ "มุ้ย" จะเดินเข้ามาในร้าน "ทีวายบุ๊ค" พลิกหนังสืออ่านเล่น ดูปกเทป
แต่ไม่เคยซื้อ
แม้จะเป็น "นักขาย" โดยสัญชาติญาณ แต่ผมก็ไม่เคย "ตื้อ" จนลูกค้าเบื่อ
"มุ้ย" ไม่ซื้อก็ไม่เป็นไร
จนวันหนึ่งฝนตก "มุ้ย" เดินเข้ามาในร้านเหมือนเคย ผมเห็นถุงกระดาษที่เขาถืออยู่เจอฝนจนเปื่อยขาด
ผมก็เลยหยิบถุงใบหนึ่งส่งให้เขา
เป็นถุงอย่างดีที่ขายคนทั่วไปในราคา 2 บาทเท่ากับราคาโอเลี้ยง 1 แก้วในยุคนั้น
แต่ผมให้เขาฟรีๆ
"ให้" แม้ว่าเขาจะไม่เคยซื้อของในร้านผมเลยก็ตาม
ในใจผมไม่ได้คิดอะไร และไม่ได้หวังผลตอบแทน
แต่ผลที่กลับมานั้นมากกว่าสิ่งที่ให้ไป
เพราะนับแต่วันนั้นเป็นต้นมา "มุ้ย" ก็ซื้อเทปและหนังสือในร้านทุกสัปดาห์ และซื้อแต่ละครั้งเป็นเงินจำนวนไม่น้อย
เขากลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ของ "ทีวายบุ้ค"
ตอนหลังเมื่อเริ่มสนิทกัน "มุ้ย" ก็บอกว่าเหตุที่ซื้อหนังสือและเทปในร้านของผมก็เพราะ "ถุง" ใบนั้นใบเดียว
ตามปกติเขาจะซื้อเทปจากแผงใน กทม. ซึ่งขาย 3 ม้วน 100 แต่ที่ร้านผมขายม้วนละ 40 บาท
แต่ถึงราคาที่นี่จะแพงกว่าก็จะซื้อ เพราะเกรงใจและรักใน "น้ำใจ"
"กูยอมซื้อแพง เพราะถุงของxxxแท้ๆ"
หลักการทำธุรกิจนั้น ถ้าสามารถเอาชนะใจลูกค้าได้ บางที "ราคา" ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ
ไม่แปลกเมื่อผมได้ฟังพระราชดำรัสของในหลวงเรื่อง "ขาดทุนคือกำไร"
ผมจึงซาบซึ้งและเข้าใจความหมายของพระราชดำรัสนี้เป็นอย่างดี
เพราะตั้งแต่วันที่ผมทำงานที่ "ราชธานีเมโทร" ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับลูกน้องนั้นเป็นลักษณะ "ขาดทุน" มาโดยตลอด
ผม "ให้" กับลูกน้องอย่างเต็มที่
แต่เมื่อถึงเวลาที่ผมขอให้ลูกน้องช่วยอย่างตอนที่ไปขายชุดชั้นในที่ห้างเซ็นทรัล เขาก็ช่วยเต็มที่เช่นกัน
เป็น "กำไร" ที่ผมได้จากการ "ขาดทุน"
เช่นเดียวกับครั้งนี้ ผมให้ถุงกับ "มุ้ย" โดยไม่ได้หวังผลตอบแทน
แต่สิ่งที่ "มุ้ย" รู้สึกจากการ "ให้" ของผม
มันไม่ใช่ "ถุง"
แต่เป็น "ใจ"
เมื่อเขาได้ "น้ำใจ" จากผม เขาก็ให้ "น้ำใจ" กลับคืนมา
นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่ผมมักจะเล่าให้ลูกน้องฟังเป็นประจำ
หลังจากเปิดร้าน "ทีวายบุ๊ค" ได้ประมาณ 1 ปี ผมมีเงินสดในมือเป็นล้านบาท
มันไม่ใช่ "กำไร" ล้วนๆ
หากแต่เป็นเงินสดจากการค้าขายในระบบเครดิต
เป็นรายรับในวันนี้ ที่รอจ่ายในอนาคต
ธุรกิจหนังสือส่วนใหญ่ให้เครดิต 3 เดือน ธุรกิจเทป หรือกิฟต์ช็อปก็มีระยะเวลาที่ให้เครดิต
รายรับที่ได้จากการขายหนังสือในเดือนที่ 1-2-3 อยู่ในกระเป๋าของผม ยังไม่ต้องจ่ายเอเย่นต์
จนเดือนที่ 4 ผมจึงจ่ายเงินสำหรับหนังสือที่ขายได้ในเดือนที่ 1 ซึ่งผมสามารถนำรายรับจากเดือนที่ 4 มาจ่ายได้
ตราบใดที่ธุรกิจยังเดินไปได้ด้วยดี ยอดขายไม่ได้ลดลง ผมก็สามารถนำเงินสดในมือไปลงทุนธุรกิจใหม่ได้โดยที่ธุรกิจเก่าไม่ได้รับผลกระทบ
เพียงแต่ต้องมีเงินสำรองจำนวนหนึ่งป้องกันไม่ให้เกิดเงินชอต
ประมาณ 1 ปีหลังจากเปิด "ทีวายบุ๊ค" ผมก็เริ่มขยายธุรกิจ
คราวนี้ผมบุกขึ้นห้างสรรพสินค้า
เป็นร้านฟาสต์ฟู้ดแบบที่เคยเห็นในเมืองกรุง
(5) ธุรกิจ "เงินสด"
คอลัมน์ ชีวิตไม่มีทางตัน
โดย สรกล อดุลยานนท์
ห้างสรรพสินค้าโอเชี่ยนผุดขึ้นมาใจกลางเมืองชล ใกล้กับพื้นที่เดิมที่ผมเป็นร้าน "ทีวายบุ้ค"
ผมตัดสินใจเช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า
ไม่ได้เปิดร้านหนังสือหรือกิฟต์ช็อปแบบเดิม
แต่คราวนี้ผมหันมาทำธุรกิจฟาสต์ฟู้ดแบบที่ผมเคยเห็นในห้างสรรพสินค้าที่เมืองกรุง
เป็นร้านขายแฮมเบอร์เกอร์ รูทเบียร์ ไอศกรีมปั่น
หรูที่สุดในเมืองชลเช่นเดิม
มีบางคนบอกว่าคนทำอาหารไม่เป็น เปิดร้านอาหารไม่ได้ แต่ผมพิสูจน์แล้วว่าผมทำอาหารไม่เป็นแต่ก็สามารถทำธุรกิจอาหารได้
เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรยากเกินเรียนรู้
จากนั้นไม่นานผมก็ซื้อตึกแถวอีกแห่งหนึ่งเปิดเป็นร้านออดี้เบเกอรี่
ตามมาด้วยร้านกาแฟที่หรูที่สุดในเมืองชลตรงตึกแถวติดกับร้านทีวายบุ้คของผม
ความคิดนี้ผมได้จากตอนเป็นเซลส์ ผมเคยไปดื่มกาแฟกับลูกค้าที่ชั้น 23 โรงแรมดุสิตธานีบ่อยๆ
ยังจำรสชาติกาแฟที่แตกต่างจากกาแฟทั่วไปได้เป็นอย่างดี
ผสานกับภาพร้านกาแฟแห่งหนึ่งในหนังสือเกี่ยวกับการตกแต่ง
เป็นภาพโต๊ะหินอ่อนสีขาว กับเครื่องชงกาแฟหรูๆ
"ฝันใหม่" ของผมเริ่มต้นอีกครั้ง และครั้งนี้บ้าบิ่นกว่าเดิม
ธุรกิจร้านกาแฟของผมใช้ชื่อว่า "เอสเปรสโซ"
เป็นร้านกาแฟหรู ที่มีจุดเด่นคือเครื่องชงกาแฟด้วยระบบไอน้ำทำด้วยทองคำ 24 เค ขนาดใหญ่อยู่ตรงเคาน์เตอร์
ราคา 240,000 บาท
ในปี 2525 เงินจำนวนเท่ากันสามารถซื้อรถปิกอัพได้ 1 คัน
เครื่องชงกาแฟราคาแพงระยับเป็น "จุดขาย" สำคัญของร้าน เอสเปรสโซ่ พนักงานจะชงกาแฟสดจากเครื่องแบบแก้วต่อแก้ว
เสียงไอน้ำเดือด กลิ่นกาแฟ และการตกแต่งร้านอย่างหรูหรา สร้างบรรยากาศใหม่ของการดื่มกาแฟ
ผมตั้งราคาขายสูงถึงแก้วละ 15 บาท
พ.ศ.นั้น โอเลี้ยงแก้วละ 2 บาท
แต่ด้วยบรรยากาศหรู และ "จุดขาย" ที่แตกต่างร้านเอสเปรสโซก็ประสบความสำเร็จเช่นเดิม
ในช่วงนี้ผมเหมือน "พยัคฆ์เสียบปีก" ขยายธุรกิจแทบทุกปี
จากร้านกาแฟเอสเปรสโซ ผมขยายสาขาฟาสต์ฟู้ดจากห้างโอเชี่ยนไปยังห้างแหลมทอง
เปิดร้านสุกี้แมนดาริน
ร้านเสริมสวย "บิวตี้ฟูล"
ร้านแมนดารินซีฟู้ด
ร้านฟูจิเอ็กซ์เพรส
เรียกได้ว่ารัศมี 500 เมตร ต้องเจอร้านของผม
แม้เมืองชลจะเป็นจังหวัดใหญ่แต่ตลาดก็ยังแคบทำให้ผมไม่สามารถขยายสาขาจากธุรกิจเดิมได้
ต้องใช้วิธีการขยายตัวไปยังธุรกิจใหม่เพื่อไม่ให้แข่งกันเอง
แต่ไม่ว่าจะทำธุรกิจใหม่อะไรก็ตาม ผมเลือกทำธุรกิจ "เงินสด"
รายรับเป็น "เงินสด" แต่จ่ายเป็น "เครดิต"
รับเร็ว จ่ายช้า
ผมใช้ประโยชน์จากการซื้อด้วยระบบเครดิต เอาเงินที่ยังไม่ต้องจ่ายมาลงทุนทำธุรกิจใหม่
สาเหตุที่ผมเลือกทำธุรกิจ "เงินสด" มีอยู่ 2 ประการ
ประการแรก คุณพ่อซึ่งทำงานบัญชีมาตลอดชีวิตเป็นคนสอนผมเรื่องนี้ ท่านเห็นคนจำนวนมากที่ล้มละลายเพราะระบบการขายแบบเครดิต
พอไฟไหม้-น้ำท่วมทีไร คนซื้อไม่มีเงินจ่ายก็เจอวิกฤตทุกที
มีภาพภาพหนึ่งที่คุณพ่อชี้ให้ผมดู
เป็นภาพของคนผอมถือเช็ค คนอ้วนถือเงินสด
ภาพนี้อยู่ในความทรงจำของผมมาโดยตลอด
ประการที่สอง เป็นประสบการณ์ของผมตอนเป็นพนักงานขาย ต้องวางเช็คกับลูกค้า ทำให้เห็นปัญหาของระบบเงินเชื่ออย่างใกล้ชิด
ดังนั้น ทุกธุรกิจของผมจึงเป็นธุรกิจ "เงินสด"
รับสดทุกร้าน
และ "ความเชื่อ" นี้ก็ได้ช่วยให้ผมรอดจากวิกฤตในช่วงการลดค่าเงินบาท
แม้ธุรกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ผมก็ยังทำงานหนักเหมือนเดิม
"ติดดิน" เหมือนเดิม
ในวันแรกที่เปิดร้านที่เกี่ยวกับอาหาร ผมจะขัดห้องน้ำในร้าน
ถือเป็นกฎกติกาของผมเอง
งานขัดห้องน้ำเป็นงานที่คนทั่วไปรู้สึกว่าสกปรกเหม็น
ถ้าผมสั่งผู้จัดการร้านว่าอย่าปล่อยให้ห้องน้ำสกปรก จะต้องทำความสะอาดเป็นประจำ เขาก็อาจละเลยเพราะคิดว่าผมเป็นเจ้าของจะสั่งอะไรก็ได้
พอสั่งลูกน้องต่อ ลูกน้องก็จะคิดอย่างเดียวกัน
เพื่อไม่ให้มีใครคิดเช่นนั้น ผมก็จะขัดห้องน้ำโชว์ในวันแรกที่เปิดร้าน
ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
ผมแค่ขัดครั้งเดียว แต่สำหรับผู้จัดการและพนักงานร้านจะไม่มีใครกล้าปล่อยให้ห้องน้ำสกปรกอีกต่อไป
ประสบการณ์จากการเป็น "ลูกจ้าง" ที่ใช้แรงงานอย่างหนักมาก่อนทำให้เมื่อผมเป็น "นายจ้าง" ผมจะเข้าใจความรู้สึกของ "ลูกจ้าง" เป็นอย่างดี
ผมคิดว่ามนุษย์เราได้ "ประสบการณ์" มาจาก 3 ทาง
ทางแรก คือ การอ่านหนังสือ
ทางที่สอง คือ ฟังคำบอกเล่าจากคนอื่น
และทางที่สาม คือ ลงมือทำเอง
ผมดีใจที่ช่วงต้นของการทำงาน ผมได้ประสบการณ์จากลงแรงมากกว่าคนทั่วไป ยิ่งทำงานมากยิ่งได้ประสบการณ์มาก
คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยพอเริ่มทำงานก็คิดถึง "เงิน" เป็นหลัก
แต่สำหรับผม ช่วงต้นของการทำงาน "ประสบการณ์" สำคัญกว่า "เงิน"
และเมื่อเรามีประสบการณ์มากขึ้น เราก็จะสามารถใช้ "ประสบการณ์" ไปหา "เงิน" อีกต่อหนึ่ง
นอกจากการขัดห้องน้ำ ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมทำเป็นประจำ
ร้านอาหารใหม่วันแรกมักขายดี พอขายดีตอนกลางคืนจานชามที่ต้องล้างก็มีจำนวนมาก
พ่อครัว พนักงานในร้าน พอปิดร้านก็จะกลับเลย แต่คนล้างจานกลับหลังสุด
ดังนั้นงานหนึ่งที่ผมจะทำในวันแรกก็คือล้างจานร่วมกับเด็กล้างจาน
เมื่อผมล้างจาน ทุกคนในร้านก็จะมาช่วยล้างจานด้วย
งานก็เสร็จเร็ว
ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติ เด็กล้างจานจะเป็นพนักงานกลุ่มแรกที่ลาออก
เจอล้างจานชามกองใหญ่แค่ 3 วัน ก็ไม่ไหวแล้ว
แต่ถ้าวันแรกมีคนช่วย งานเสร็จเร็ว ช่วยสัก 2-3 วัน พอวันต่อมาเขาก็เริ่มชินกับงานล้างจาน
กองใหญ่แค่ไหนก็ไม่บ่น
ถึงวันนี้ผมไม่มีเวลาพอที่จะทำอย่างนั้นแล้ว แต่ก็ได้สอนผู้จัดการร้านทุกคนว่าการที่คุณจะสอนลูกน้องให้เชื่อถือและยอมรับ
ผู้จัดการทุกคนจะต้องทำเป็นตัวอย่างก่อน
เพราะถ้าเพียงแค่พูด เขาอาจจะฟัง
แต่ถ้าคุณลงมือทำ เขาจะเชื่อ
(6) ความมุ่งมั่น
คอลัมน์ ชีวิตนี้ไม่มีทางตัน
โดย สรกล อดุลยานนท์
จากวันแรกที่ผมเช่าพื้นที่หน้าตึกแถวเปิดแผงหนังสือพิมพ์ที่เมืองชลบุรี
10 ปีจากนั้นผมซื้อตึกแถวสูงสุดถึง 16 ห้อง ซึ่งขณะนี้ขายไปบางส่วนแล้ว
แม้ธุรกิจ "เงินสด" ของผมจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจกว่า
นั่นคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ในช่วงรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เข้าสู่ยุคเฟื่องฟูสุดขีด
ผมเริ่มก้าวเข้าสู่ธุรกิจนี้ทีละก้าวๆ
เริ่มต้นจากการเก็งกำไรตึกแถว ยุคนั้นแค่วางมัดจำ 50,000 บาท ภายในสัปดาห์เดียวผมก็สามารถขายต่อทำกำไรได้ 100,000 บาท
ผมเริ่มได้ใจเมื่อซื้อ 1 ห้องได้กำไร 1 แสน ผมจึงซื้อตึกแถวเก็งกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เงินทองยุคนั้นหาได้ง่ายดายจริงๆ และคงไม่มีธุรกิจไหนที่ทำกำไรได้ดีและเร็วเท่ากับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ผมสนุกสนานกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และเริ่มขยับตัวก้าวลึกเข้าไปอีก
จากเก็งกำไรตึกแถวแบบ "ซื้อมา-ขายไป" ผมเข้าไปถือหุ้นในโครงการตึกแถว 30 ห้องของคนอื่น 20%
และเพิ่มเป็น 30% ในโครงการที่ 2 ตึกแถว 40 ห้อง
ทุกโครงการได้กำไรดีมาก
ยิ่งขยับลึก ยิ่งลงทุนมากก็ยิ่งกำไรเพิ่ม ผมจึงเริ่มคิดการใหญ่
จาก "หุ้นเล็กโครงการใหญ่" มาเป็น "หุ้นใหญ่โครงการเล็ก"
ครับ...ผมคิดลงทุนทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ด้วยประสบการณ์ที่เห็นตัวอย่างการพัฒนาของเมืองที่กรุงเทพมหานครจะมีการขยายจากตัวเมืองไปสู่นอกเมือง
การขยายตัวของ "นอกเมือง" จะเริ่มจากตึกแถวและสวนอาหารเหมือนที่ถนนรัชดาภิเษก
ผมเริ่มเล็งหาทำเลนอกเมืองชลบุรีและทำเลที่ผมคาดว่าจะรองรับการขยายตัวของเมืองก็คือ บริเวณถนนพระยาสัจจา (ปัจจุบันเรียกว่าเมืองใหม่)
ตอนนั้นถนนเส้นนี้ยังเป็นถนนลูกรังและป่าแสม
มีที่ดินแปลงหนึ่งสวยมาก เป็นที่ดินว่างเปล่าที่ทิ้งไว้นานเป็นสิบปี ผมตรวจสอบข้อมูลแล้วรู้ว่าเจ้าของเป็นนายทหารที่เกษียณอายุคนหนึ่ง
ผมติดต่อขอซื้อที่ดินจากเขา แต่ได้รับการปฏิเสธ
ไม่ใช่เพราะตกลงราคาไม่ได้ แต่เพราะเขาไม่คิดจะขายที่ดินแปลงนี้
ถ้าเป็นบางคนเมื่อได้คำตอบเช่นนี้ก็คงจะเลิกราไป
แต่ผมไม่มีนิสัยที่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ
เมื่อครั้งที่ผมยังเป็นพนักงานอยู่ที่ "ราชธานีเมโทร" ผมเคยทำวีรกรรมที่หัวหน้ายังตกใจใน "ความมุ่งมั่น" ต่อภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
วันนั้นหัวหน้าอยากนัดคุยงานด่วนกับคนๆ หนึ่งในวันพรุ่งนี้ แต่ระบบการติดต่อสื่อสารในยุคนั้นยังไม่คล่องตัวเหมือนวันนี้ ไม่มีโทรศัพท์มือถือให้โทร.ตามตัวกันง่ายๆ
หัวหน้าจึงสั่งให้ผมไปบอกเขาเรื่องเวลาที่นัดหมาย
ตอนที่หัวหน้าสั่งงานเป็นช่วงเย็นแล้ว ผมรีบขับมอเตอร์ไซค์ไปที่บ้านเขาทันที
โชคร้ายที่เขาไม่อยู่บ้าน
ถ้าเป็นคนอื่นอาจจะกลับมารายงานหัวหน้าว่าคนที่จะให้ไปบอกไม่อยู่บ้าน เพราะถือว่าได้ปฏิบัติตามหน้าที่แล้ว
แต่ผมเลือกการนั่งคอยหน้าบ้านเพราะคิดว่าอีกสักพักหนึ่งเขาคงจะกลับมา
วันนั้นผมโชคร้ายซ้ำสองเพราะ "เป้าหมาย" ของผมไปเที่ยวกับเพื่อน กว่าจะกลับถึงบ้านก็ประมาณตีสาม
แต่ถึงจะดึกดื่นใกล้รุ่งเพียงใดผมก็ยังคงคอยอยู่หน้าบ้านเพื่อบอกเรื่องนัดหมายดังกล่าว
ในชีวิตของคนเรา "ความมุ่งมั่น" เป็นเรื่องสำคัญ
ถ้าเราคิดเสมอว่า "เราทำได้" พยายามกับทุกเรื่องให้ถึงที่สุด ไม่ยอมแพ้ต่ออะไรง่ายๆ แม้แต่เรื่องเล็กๆ
โอกาสที่ "ความสำเร็จ" จะเป็นของเราก็มีอยู่สูงยิ่ง
ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผมจะไม่ยอมแพ้ เมื่อได้รับคำปฏิเสธจากนายทหารท่านนั้น
ผมยังคงแวะเวียนไปหานายทหารผู้นี้อยู่เรื่อยๆ ไม่ขายไม่เป็นไร แต่ผ่านไปเมื่อไรก็เข้าไปพูดคุยด้วย
"ความมุ่งมั่น" ไม่ใช่คำพูด แต่เป็นการลงมือทำ
ผมมีบทเรียนความสำเร็จที่เกิดจากความมุ่งมั่นและไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ อยู่หลายครั้ง
และนี่คือหนึ่งในบทเรียนนี้
ผมแวะไปหานายทหารผู้นี้ 2 ครั้งจนครั้งที่ 3 ที่เจอกัน นายทหารคนนี้มีปัญหาด้านสุขภาพ เส้นโลหิตฝอยแตกทำให้จมูกของเขาเบี้ยว
อาการเช่นนี้คุณพ่อของผมเคยเป็นมาก่อน และไปรักษาที่วัดแขกตรงวงเวียนเล็กจนหายขาด
ผมจึงแนะนำท่านให้ลองไปรักษาที่นี่
ลูกของเขาก็พาไปรักษาตามคำแนะนำของผม จากนั้นอีกประมาณ 10 วันนายทหารคนนั้นก็โทรศัพท์มาเรียกให้ผมไปพบ
ครับ...เขาตัดสินใจขายที่ดินแปลงนั้นให้กับผมในราคา 3 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขเพียงข้อเดียวคือ "ห้ามต่อราคา"
โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ผมเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่โครงการแรกจึงเริ่มต้นขึ้น
แค่เสียเงินประมาณ 100,000 บาทเขียนแบบโครงการในกระดาษ ตึกแถว 12 ห้องก็ขายหมดเกลี้ยง
ผมทำกำไรจากโครงการนี้ 2-3 ล้านบาท
เมื่อกำไรดีขนาดนี้ ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรมาหยุดผมได้แล้ว
โครงการที่ 2 ผมเพิ่มขนาดโครงการเป็นตึกแถว 60 ห้อง ถือหุ้นประมาณ 60%
ขายดิบขายดีเช่นเดิม
ประสบความสำเร็จมา 2 โครงการ ผมเริ่มรู้สึกว่าโครงการตึกแถวเป็นเรื่องธรรมดาเกินไป
ผมอยากทำอะไรที่มันเป็นที่ฮือฮาบ้าง
ตอนนั้นที่กรุงเทพมหานครมีโครงการอสังหาริม ทรัพย์โครงการหนึ่งของ "เนเชอรัล ปาร์ก" เป็นทาวน์เฮาส์ 4 ชั้น แต่ปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งานใหม่
ชั้นล่างเป็นที่จอดรถ พื้นที่ส่วนกลางจะขยับมาอยู่ที่ชั้น 2 เป็นสระว่ายน้ำขนาดใหญ่กั้นกลางระหว่างทาวน์เฮาส์ 2 ด้านเป็นโครงการที่สวยมาก
ผมคิดจะทำโครงการแบบนี้ที่เมืองชลบ้าง
ผมซื้อที่ดินแปลงหนึ่งประมาณ 3 ไร่ริมถนนพระยาสัจจาในราคา 20 ล้านบาทจาก "เฮียกวง" ซึ่งเป็นลูกค้าประจำร้านกาแฟ "เอสเปรสโซ่" ของผม
โครงการ "ทีวาย โอเรียลเต็ล ปาร์ก" จึงเริ่มต้นขึ้น
เป็นโครงการที่สวยมาก และขายหมดในเวลาไม่นาน
แต่ผมขาดทุน...
เป็นการขาดทุนเพื่อรักษาเครดิตของตัวเอง
เพราะช่วงที่ "ทีวาย โอเรียลเต็ล ปาร์ก" เริ่มงานก่อสร้างเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก
วัสดุก่อสร้างต่างๆ โดยเฉพาะเหล็กและปูนซีเมนต์ขึ้นราคาและขาดตลาด
ผมต้องไปคุยกับเพื่อนที่ทำธุรกิจขายวัสดุก่อสร้างให้ปล่อยสินค้าให้กับผู้รับเหมาในโครงการของผม
แต่พอโครงการเสร็จผู้รับเหมากลับเบี้ยวไม่ยอมจ่ายเงินค่าวัสดุก่อสร้าง
ภาระจึงตกอยู่กับผมเพราะเป็นคนที่บอกให้เพื่อนปล่อยสินค้าให้ผู้รับเหมารายนี้
ผมตัดสินใจโอนทาวน์เฮาส์หลังหนึ่งให้กับเพื่อนแทนค่าวัสดุก่อสร้าง
ผมขาดทุนประมาณ 3-4 ล้านบาทจากโครงการนี้
แต่ผมยังไม่เข็ด....
ระหว่างที่รอขึ้นโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม ผมก็ได้ลงทุนในธุรกิจใหม่ที่ต่อมา กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักในชีวิตธุรกิจของผม "แผงขายหนังสือพิมพ์" เป็นธุรกิจเริ่มต้น
ส่วน "โออิชิ" เป็นธุรกิจที่สร้างชื่อให้ผมมากที่สุด
แต่ธุรกิจที่ทำเงินให้ผมมากที่สุดคือธุรกิจนี้
ผมคิดถึงธุรกิจดังกล่าวมานานแล้วจากประสบ การณ์ที่เดินทางไปปีนังและไต้หวันเป็นประจำ แต่มันเป็นเพียง "เชื้อเพลิง" ที่รอ "ประกายไฟ"
จนวันหนึ่ง "ประกายไฟ" นั้นก็แวบขึ้นมา
วันนั้นผมนั่งคุยกับเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ "ตุ๊กตา" ถึงความคิดของผู้หญิงกับงานแต่งงาน
ผมถามเธอว่า "อยากได้อะไรระหว่างแหวนเพชร 10 กะรัตกับรูปภาพงานแต่งงาน"
คำตอบของ "ตุ๊กตา" คือ จุดเริ่มต้นธุรกิจใหม่ของผม
ธุรกิจเวดดิ้งหรือถ่ายรูปแต่งงาน
(7) ประกายไฟ
คอลัมน์ ชีวิตนี้ไม่มีทางตัน
โดย สรกล อดุลยานนท์
ในห้องรับแขกที่บ้านของผมจะมีอัลบั้มรูปขนาด ใหญ่วางอยู่บนโต๊ะ
เป็นอัลบั้มรูปถ่ายพี่ชายและพี่สะใภ้ในอิริยาบถต่างๆ ในชุดแต่งงาน
ทั้งคู่บินไปถ่ายรูปที่ร้านรับถ่ายรูปแต่งงานในสิงคโปร์
อัลบั้มรูปดังกล่าวเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนๆ และมักถามเสมอว่าไปถ่ายรูปที่ไหน
ยิ่งคนชื่นชอบมากเท่าไร ผมก็เกิดความคิดอยากทำธุรกิจถ่ายรูปแต่งงานในเมืองไทยซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน
แต่ก็ได้แต่คิดเพราะไม่แน่ใจว่าคนไทยจะสนใจหรือไม่
ความคิดเรื่องธุรกิจถ่ายรูปแต่งงานจึงเป็นเพียงแค่ "เชื้อเพลิง" ที่สุมรอ "ประกายไฟ"
จนวันหนึ่งเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งมาเที่ยวที่บ้านและก็เหมือนคนที่มาบ้านทุกคน เธอพลิกดูอัลบั้ม รูปอย่างสนใจ
เพื่อนคนนี้ยังไม่ได้แต่งงาน ผมจึงตั้งคำถามขึ้นมาว่า "ถ้าเธอแต่งงาน ระหว่างเพชร 10 กะรัตกับรูปถ่ายในชุดแต่งงาน จะเลือกอะไร"
เธอนิ่งคิดนิดเดียวแล้วให้คำตอบ
"เพชรก็อยากได้ แต่ไม่ต้องเม็ดใหญ่นักก็ได้ ส่วนเรื่องรูปต้องมี เพราะแต่งงานเพียงแค่ครั้งเดียว"
ใช่แล้ว...สำหรับงานแต่งงานซึ่งเป็น "ครั้งหนึ่งในชีวิต" รูปถ่ายคือความทรงจำที่หวานชื่น ถ้าปล่อยให้ผ่านเลยไป ต่อให้มีเงินเท่าไรก็ไม่สามารถซื้อกลับมาได้
แต่ "เพชร" หรือสิ่งมีค่าอื่นใด แม้ว่าเวลาจะผ่านไปแล้วขอเพียงแค่มีเงินก็สามารถซื้อหามาได้
เพียงประโยคเดียวของเพื่อนคนนี้ "ประกายไฟ" ของธุรกิจถ่ายรูปแต่งงานก็แวบขึ้นมาปะทุกับ "เชื้อเพลิง" ทางความคิดที่สะสมมานาน
ผมเป็นคนตัดสินใจเร็ว แต่ศึกษาละเอียด
ทุกครั้งที่คิดจะทำธุรกิจใหม่โดยเฉพาะธุรกิจที่ไม่คุ้นเคยหรือเชี่ยวชาญ ผมจะยิ่งหาข้อมูลอย่างละเอียดทั้งจากการถามและการสังเกต
มีคนส่วนใหญ่คิดว่าต้องทำธุรกิจที่ตนเองเชี่ยวชาญ แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาผมไม่คิดว่าความเชื่อดังกล่าวถูกต้อง
ผมทำธุรกิจร้านอาหารทั้งที่ทำอาหารไม่เป็น แต่ก็สามารถประสบความสำเร็จได้เพราะศึกษาข้อมูลอย่างจริงจังทั้งจากการถามและการสังเกต
ตอนทำร้านสุกี้แมนดารินที่เมืองชล บางวันผมกินสุกี้ถึง 4 ร้านเพื่อให้รู้ทุกขั้นตอนธุรกิจ
เมื่อรู้ละเอียดและมั่นใจผมจึงลงมือทำ
ดังนั้น เมื่อผมคิดจะทำธุรกิจการถ่ายรูปแต่งงาน แม้จะมีความมั่นใจระดับหนึ่งจากคำตอบของ "ตุ๊กตา" แต่ผมก็ต้องศึกษารายละเอียดของธุรกิจอย่างจริงจัง
อย่างน้อยก็ต้องชัดว่าไม่ใช่ธุรกิจแฟชั่น
เคยมีคนเสนอให้ผมทำชานมไข่มุก หรือลานสเกต แต่ผมศึกษาแล้วว่าเป็นธุรกิจที่ไม่ยั่งยืน เป็นธุรกิจแฟชั่นที่หวือหวาสักพักก็จะเริ่มลดกระแสความนิยมลง
ผมเป็นคนไม่ชอบธุรกิจประเภทแฟชั่นที่วูบวาบสักพักแล้วหายไป
แต่ชอบทำธุรกิจที่มีอนาคตยาวไกล
ไม่กี่วันหลังจากที่คุยกับเพื่อน ผมเดินทางไปปีนัง กัวลาลัมเปอร์ และสิงคโปร์ทันที
เพราะเมืองไทยไม่เคยมีธุรกิจถ่ายรูปแต่งงาน ถ้าจะศึกษาข้อมูลก็ต้องศึกษาจากประเทศที่ทำธุรกิจนี้มานาน
ทุกธุรกิจจะมีเทคนิคและรายละเอียดเฉพาะของธุรกิจนั้น อย่างธุรกิจถ่ายรูปแต่งงาน เรื่องการเลือกชุดแต่งงาน การโพสต์ท่าถ่ายรูป จนถึงการเลือกกรอบรูปมีรายละเอียดบางอย่างที่ต้องเรียนรู้
เมื่อไปถึงผมตรงไปตามร้านถ่ายรูปแต่งงาน แล้วก็เริ่มต้นตั้งคำถามเกี่ยวกับธุรกิจถ่ายรูปแต่งงาน
ถาม...ถาม และถาม
ยิ่งถามก็ยิ่งรู้ ยิ่งคุยก็ยิ่งมั่นใจในอนาคตของธุรกิจนี้
เหลือเพียงปัญหาเดียว คือ ผมจะหาช่างภาพที่เชี่ยวชาญในธุรกิจนี้มาจากไหน
มีคนแนะนำให้ไปที่ไต้หวัน ไปหา "นายลู่" ซึ่งเป็นช่างภาพที่เชี่ยวชาญด้านการถ่ายรูปแต่งงาน
ผมก็บินตรงไปไต้หวันทันที หลังจากคุยกันผมก็ชวน "นายลู่" มาดูลู่ทางในเมืองไทย
แม้ "นายลู่" ยังไม่ตัดสินใจแต่ผมก็ซื้ออุปกรณ์ถ่ายภาพต่างๆ บินกลับมาเลย
ตอนที่กลับมาแม้แต่สถานที่ตั้งบริษัทยังไม่มีเลย
ผมปรึกษาเรื่องทำเลตั้งบริษัทกับ "คุณจู" ฐิติมา ศรีอุทัยศิริวงศ์ เพื่อนเก่าสมัยทำธุรกิจอยู่เมืองชลและย้ายเข้ามาดูแลโรงแรมของสามีใน กทม.
ซึ่งเวลาต่อมาเธอได้กลายเป็น "คู่หู" ทางธุรกิจของผม
"คุณจู" เสนอให้ผมเช่าตึกแถวที่ซอยทองหล่อ
พร้อมกับรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ
งานนี้ผมดึงเพื่อนของภรรยามาร่วมงานด้วย 2 คน คือ "คุณแมว" พิชชา ประกายเลิศลักษณ์ และ "คุณนุ" ภาณุพันธ์ วัฒนกุลวิวัฒน์
ปัจจุบันทั้ง "คุณแมว-คุณนุ" เป็นกำลังหลักของผม
วันที่ 26 สิงหาคม 2537 บริษัท ที.วาย.เมอริเอจ สตูดิโอ จำกัด จึงกำเนิดขึ้นโดยมี "คุณจู" ร่วมถือหุ้นอยู่ 30%
ปัญหาของการทำธุรกิจใหม่ ช่วงแรกๆ จะเต็มไปด้วยปัญหา และเมื่อเราแก้ไขปัญหาได้ลุล่วงมันก็จะกลายเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า
อย่างร้านถ่ายรูปแต่งงาน ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่คนไทยไม่คุ้นเคย การเริ่มต้นไม่ใช่เพียงแค่ตัวเรา แต่ยังรวมถึงลูกค้าด้วย
เพราะนอกจากเราจะเรียนรู้ธุรกิจแล้ว ลูกค้าก็ต้องเรียนรู้
ผมจำได้ว่าลูกค้าคนแรกที่เข้ามาในร้านคิดว่าการถ่ายรูปแต่งงาน คือมาถึงก็ถ่ายเลยและใช้เวลาไม่นาน
ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจถึงลำดับการทำงาน ตั้งแต่เลือกชุด จองคิวถ่ายรูป และต้องเสียเวลาถ่ายรูปทั้งวันเพื่อให้ได้รูปไปโชว์ในงานแต่งงาน
ธุรกิจถ่ายรูปแต่งงานถือเป็นธุรกิจที่ผมนำการบริหารธุรกิจรูปแบบใหม่มาใช้
เรื่องแรก คือ การแตกบริษัทใหม่ออกไปอย่างต่อเนื่อง
ด้านหนึ่ง เป็นการสร้างตลาด เพราะเป็นธุรกิจใหม่หากมีเพียงบริษัทเดียวก็จะไม่คึกคัก แต่ถ้าในทำเลเดียวกันมีธุรกิจถ่ายรูปแต่งงานหลายร้าน ลูกค้าก็จะรู้สึกคึกคักขึ้น
เหมือนศูนย์การค้าที่พยายามจัดโซนสินค้า เป็นโซนเฟอร์นิเจอร์ โซนเสื้อผ้า เพื่อให้เกิดบรรยากาศการซื้อ
ด้านหนึ่ง เป็นการเปิดทางให้พนักงานได้เติบโตเป็นเถ้าแก่ เพราะร้านใหม่ที่แตกตัวออกไปผมจะให้สิทธิ์พนักงานที่เป็นคนบริหารงานถือหุ้นด้วย
เขาจะมีแรงจูงใจนอกเหนือจากเงินเดือน เพราะยิ่งลงแรงทำมากเท่าไรเขาก็จะได้มากเท่านั้น
เรื่องที่ 2 คือ การแบ่งกำไรทุกเดือน
ผมได้แนวคิดนี้จากบทเรียนธุรกิจที่คุณอาเคยเล่าให้ผมฟัง คุณอาเคยลงหุ้นทำธุรกิจเป็นเงิน 200,000 บาท พอธุรกิจได้กำไรผู้ถือหุ้นใหญ่ก็นำกำไรไปขยายธุรกิจต่อ ไม่เคยปันผลเลย
ขยายโรงงานไปเรื่อยๆ จน 20 ปีต่อมาโรงงานใหญ่โตมาก แต่จากนั้นไม่นานก็เจอมรสุมเศรษฐกิจ บริษัทปิดกิจการ
เงิน 200,000 บาทที่ลงไปเมื่อ 20 ปีก่อนกลายเป็น 0
จากบทเรียนดังกล่าวของคุณอาร้านถ่ายรูปแต่งงานของผมจึงใช้แนวคิดใหม่
แบ่งกำไรให้ผู้ถือหุ้นทุกเดือน
เราจะปิดบัญชีกันทุกสิ้นเดือน กางบัญชีดูว่ารายได้เท่าไร ต้นทุนเท่าไร
หักลบแล้วเหลือกำไรเท่าไร
30% ของกำไรจะนำมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัท
ส่วนอีก 70% มาแบ่งกันตามสัดส่วนหุ้นของแต่ละคน
สิ้นเดือนปิดงบฯ วันที่ 5 แบ่งเงิน
ผมคิดง่ายๆ เพียงว่าตามปกติการทำธุรกิจจะต้องจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นกันทุกสิ้นปีอยู่แล้ว
ระหว่างสิ้นปีแบ่งครั้งเดียวกับแบ่งกันทุกสิ้นเดือน
เงินเท่ากันแต่ความรู้สึกต่างกัน
คิดแทนใจคนทำงาน ถ้าสิ้นปีค่อยได้แรงอัดฉีดกับได้แรงอัดฉีดทุกสิ้นเดือน
คนทำงานชอบแบบหลังมากกว่า
รอบที่สั้นกว่ามีผลต่อการกระตุ้นการทำงานอย่างต่อเนื่องมากกว่า
ยิ่งธุรกิจทำกำไรดี การปันผลทุกเดือนยิ่งช่วยกระตุ้นให้พนักงานทำงานเต็มที่มากขึ้น
ด้วยหลักการบริหารเช่นนี้เองทำให้ธุรกิจถ่ายรูปแต่งงานของผมขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นระดับบน
ลูกค้าระดับกลางยังไม่ค่อยกล้าเดินเข้ามาในร้านถ่ายรูปแต่งงาน
จนใกล้จะย่างเข้าปี 2000 ก็เกิดปรากฏการณ์หนึ่งที่ทำให้ธุรกิจถ่ายรูปแต่งงานของผมก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว
ผมเข้าไปเป็นตัวหลักในการจัดงานสมรสหมู่ 2,000 คู่ ต้อนรับปี 2000 หรือปี 2543
งานนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้สัจธรรม 2 ข้อ
ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้
และไม่มีอะไรเป็นไปอย่างที่เราคิด
(8) สัจธรรมที่ค้นพบ
คอลัมน์ ชีวิตนี้ไม่มีทางตัน
โดย สรกล อดุลยานนท์
จากปี 2537 ที่ผมริเริ่มธุรกิจเวดดิ้ง สตูดิโอ เพียงแค่ 5 ปีก็สามารถขยายได้ถึง 16 สาขาในปี 2542
ประกอบด้วย 1.แมริเอจ สตูดิโอ 2.คริสเตียน โฟโต้ 3.ฟิอานเซ่ สตูดิโอ 4.คิวปิด สตูดิโอ 5.ไอดู สตูดิโอ 6.เวดดิ้ง เบลล์ สตูดิโอ 7.เวดดิ้ง บิสซิเนส คอนซัลแทนท์ 8.โฟโต้ ทูเดย์ 9.โมเดิร์นเวดดิ้ง สตูดิโอ 10.คลาสสิค สตูดิโอ 11.ยัวร์ สตูดิโอ 12.อินเตอร์ ไบรด์ สตูดิโอ 13.ปิกาโซ่ เวดดิ้ง สตูดิโอ 14.มายเมมโมรี่ สตูดิโอ 15.บีเลิฟด์ สตูดิโอ และ 16.คลาสเทิล สตูดิโอ
กลยุทธ์หลักของผม คือ การแตกสาขาด้วยการให้พนักงานเก่าที่ชำนาญงานไปดูแลสาขาใหม่และให้สิทธิถือหุ้นในสาขาใหม่
กระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจด้วยการแบ่งกำไรให้กับผู้ถือหุ้นทุกเดือน
ลงแรงมากได้มาก และได้ทุกเดือน
ธุรกิจเวดดิ้ง สตูดิโอ คงมีอัตราการเติบโตอยู่ในระดับนี้ต่อไปหากไม่มีปรากฏการณ์หนึ่งเกิดขึ้น
นั่นคือ งานสมรสหมู่ 2,000 คู่ เพื่อต้อนรับปี ค.ศ.2000 หรือปี 2543
ผมเข้าไปรับผิดชอบงานนี้แบบตกกระไดพลอยโจน เพราะตอนแรกทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยต้องการจัดกิจกรรมสมรสหมู่ 999 คู่
แต่ผมเสนอว่าควรจะขยายเป็น 2,000 คู่ เพื่อให้มี "จุดขาย" สอดรับกับการต้อนรับปี 2000
และเมื่องานไม่เดินหน้าเท่าที่ควร ผมก็รับอาสา คุณเสรี วังส์ไพจิตร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับผิดชอบโครงการเอง
ตอนนั้นประเมินแล้วว่าด้วยสถิติลูกค้า "เวดดิ้ง สตูดิโอ" 16 สาขาของผมน่าจะหาลูกค้ามาร่วมในกิจกรรมนี้ได้
แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายก็ตาม
ถึงจะประเมินต่ำไว้แล้วแต่ในความเป็นจริงกลับสาหัสกว่าที่ผมประเมินไว้มากนัก
เพราะเมื่อเหลืออีก 3 เดือนจะถึงวันงาน ปรากฏว่ามีคู่สมรสเพียง 700 คู่เท่านั้นที่สมัครเข้ามา
และคู่สมรสต่างชาติที่ทางผู้ว่าการเสรีต้องการให้เข้าร่วมด้วยนั้นก็ถอนตัวออกไปมากเนื่องจากเกรงว่าการเดินทางด้วยเครื่องบินจะมีปัญหา Y2K
เป้าหมาย 2,000 คู่ ได้มาเพียง 700 ขาดอีก 1,300
ในเวลา 3 เดือนที่เหลืออยู่ กับเป้าหมายที่ต้องหาคู่สมรสเพิ่มอีก 1,300 คู่
คำนวณแล้วตกเดือนละ 433 คู่
หรือวันละ 14 คู่
สถานการณ์แบบนี้ไม่ว่าจะคุยกับใคร ทุกคนก็ส่ายหน้าและลงมติเหมือนกันว่า "เป็นไปไม่ได้"
ตอนนั้นผมมี 2 ทางเลือกอยู่ในใจ
ทางเลือกแรก คือ ตัดสินใจยกเลิกโครงการ ซึ่งผลที่ตามมาคงไม่พ้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบอย่างมาก
ทางเลือกที่สอง คือ เดินหน้าต่อไป โดยทุ่มงบประมาณเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้เพื่อดึงดูดให้คู่สมรสเข้ามาร่วมโครงการ
ประมาณคร่าวๆ ผมต้องขาดทุนกับงานนี้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท
และไม่ใช่ว่าขาดทุนแล้วก็จะประสบความสำเร็จ
ในที่สุด ผมก็ตัดสินใจเลือกแนวทางที่ 2 ด้วยความคิดว่า "ในชีวิตนี้ขอทำงานระดับชาติสักครั้งหนึ่ง"
เมื่อตัดสินใจแล้ว ผมก็เดินหน้าอย่างเต็มตัว
ผมขอความช่วยเหลือจาก คุณดำรง พุฒตาล แห่งนิตยสาร "คู่สร้างคู่สม"
คุยกับ "เจเอสแอล" ที่เคยผ่านการจัดงานเอเชี่ยนเกมส์ให้มาเป็นผู้รับผิดชอบการจัดงานสมรสหมู่ 2,000 คู่
ผมทุ่มเทแรงกายและแรงใจกับงานนี้อย่างมาก
แม้จะขาดทุนไปประมาณ 13-14 ล้านบาท แต่ก็ประสบความสำเร็จเพราะก่อนถึงวันงานผมมีรายชื่อคู่สมรส 2,000 คู่อยู่ในมือ
วินาทีนั้น ผมตระหนักในผลจากพลังแห่งความพยายามอย่างถึงที่สุด
"ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้"
สิ่งที่ไม่มีใครเชื่อว่าจะเป็นไปได้ก็เป็นไปแล้วเมื่อเรามุ่งมั่นอย่างเต็มกำลัง
ผมและ "เจเอสแอล" เริ่มวางแผนงานอย่างละเอียดทุกขั้นตอน เพราะทุกอย่างต้องเสร็จก่อนเที่ยงคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2542
เราเชิญคู่สมรส 20 คู่มาซ้อมล่วงหน้าในพิธีกรรมทุกขั้นตอน
แต่งหน้ากี่นาที เจิมหน้ากี่นาที ทุกขั้นตอนมีการจับเวลาไว้อย่างละเอียด
ได้สถิติแล้วก็นำจำนวนคู่สมรสทั้งหมดมาคำนวณเพื่อหาเวลาที่แท้จริง
เราทำงานอย่างละเอียดจนมั่นใจว่าจะไม่มีอะไรผิดพลาดเมื่อถึงเวลาจริง
แต่เมื่อถึงวันจริง เราก็พบว่ามีรายละเอียดอีกหลายเรื่องที่เราคาดไม่ถึง
ไม่น่าเชื่อว่าเพียงเวลาไม่กี่วันผมค้นพบสัจธรรมถึง 2 เรื่อง
จากความเชื่อที่ว่า "ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้"
เพียงแค่ไม่กี่วันจากนั้น ผมก็ค้นพบสัจธรรมใหม่
"ไม่มีอะไรเป็นไปอย่างที่เราคิด"
20 คู่ที่ซ้อมกันมาทำได้ตามเวลาที่เราวางแผนไว้ แต่อีก 1,980 คนที่เหลือกลับไม่เป็นไปอย่างที่เราคิด แม้จะมีการอธิบายทุกขั้นตอนอย่างละเอียดก่อนเริ่มงาน
การแต่งหน้าเจ้าสาวที่กำหนดไว้ 15 นาที พอถึงวันจริงบางคนไม่พอใจก็ต้องรื้อกันใหม่ แม้จะมีการเตรียมช่างแต่งหน้าสำรองไว้แต่ก็ไม่พอเพียง
คู่บ่าวสาวบางคนพอมีผู้ใหญ่เจิมหน้าผากเสร็จก็ขอพรจากผู้ใหญ่
บางคู่ขอลงไปถ่ายรูปคู่กับญาติด้านล่างเวที
ทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้
แม้จะเข้าใจดีว่างานนี้เป็น "ครั้งหนึ่งในชีวิต" ของคู่บ่าวสาวทุกคู่ ทุกคนต้องการถ่ายรูปกับญาติมิตร ต้องการพรจากผู้ใหญ่
แต่ถ้าปล่อยให้งานดำเนินต่อไปอย่างนี้ ผมประเมินแล้วว่าคงไม่ต่ำกว่าตีสาม พิธีการต่างๆ จึงจะเสร็จครบ 2,000 คู่
ผู้ใหญ่ 5 ท่านที่เราเชิญมาเป็นประธานในพิธี หลายท่านเริ่มมีอาการ "นิ้วแข็ง" จากการเจิมหน้าผากคู่บ่าวสาวเป็น 100 คู่
ผมตัดสินใจแก้ปัญหาแบบฉับพลันทันที
ผมขอให้แขกผู้ใหญ่ที่ผมเชิญมาเป็นสักขีพยานในงานช่วยขึ้นไปเป็นประธานเจิมหน้าผากคู่บ่าวสาว พร้อมกับโทรศัพท์ไปหาผู้ใหญ่ที่นับถือบางท่านให้ช่วยมาเป็นประธานเพิ่มเติม
จากประธาน 5 คน ก็เพิ่มเป็น 20 คน การลื่นไหลของงานจึงเริ่มเร็วขึ้น
ตอนนั้น ผมกระโดดเข้ามาเป็นผู้กำกับเวลาเอง ในที่สุดทุกอย่างก็เดินไปตามเวลาที่กำหนดไว้
ก่อนเที่ยงคืน พิธีการทั้งหมดก็เสร็จสิ้นและเริ่มต้นนับถอยหลังเข้าสู่ปี 2000 ก่อนจะจุดพลุเฉลิมฉลอง
จากสถานการณ์ "ไม่มีอะไรเป็นไปอย่างที่เราคิด" ผมก็สามารถแก้ไขให้กลายเป็น "ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้" อีกครั้งหนึ่ง
หลักคิดจากงานสมรสหมู่ 2,000 คู่ครั้งนี้เองที่ผมนำมาใช้ในการทำงาน
ทุกครั้งที่เริ่มคิดงาน ผมจะมีเข็มทิศของความเชื่อที่ว่า "ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้" นำทาง
ทุกอย่างเป็นไปได้หากเรามุ่งมั่น
แต่เมื่อถึงขั้นตอนของการทำงาน
แม้จะศึกษาและวางแผนทุกอย่างเป็นอย่างดี ผมก็ไม่เคยวางใจสถานการณ์
ผมจะถือหลักที่ว่า "ไม่มีอะไรเป็นไปอย่างที่เราคิด" เพื่อติดตามการทำงานในทุกขั้นตอน
ระมัดระวัง แต่ไม่หวาดระแวง
ด้วยความเชื่อที่ว่า "ปัญหา" ในโลกนี้มีไว้ "แก้ไข"
แม้จะไม่เป็นไปอย่างที่เราคิด แต่ถ้ามีสติและตั้งใจแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
เราก็สามารถหันเหเส้นทางของ "ปัญหา" ให้เข้าสู่ครรลองที่เราต้องการอีกครั้งได้
ครับ... ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้
แม้จะ "ขาดทุน" จากงานนี้ถึง 13-14 ล้านบาท แต่ผลพวงที่ตามมากลับส่งผลดีกับธุรกิจเวดดิ้ง สตูดิโอของผม
เพราะคนที่เข้าร่วมงานส่วนใหญ่เป็นคนที่มีกำลังซื้อปานกลาง
งานสมรสหมู่ 2,000 คู่จึงเป็นการขยายฐานเรื่องการถ่ายรูปแต่งงานไปสู่ลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ฐานใหญ่มาก จากเดิมที่มีแต่ลูกค้าระดับสูง
การปรับฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นครั้งนี้ทำให้ธุรกิจเวดดิ้ง สตูดิโอ ของผมอยู่ในภาวะก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2000 หรือ 2543 เป็นต้นมา
ในขณะที่ "โออิชิ" ภัตตาคารบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่น ธุรกิจใหม่ของผมก็เริ่มตั้งลำและขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ช่วงนั้นจึงถือเป็นปีทองทางธุรกิจของผมอย่างแท้จริง
แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากก่อนหน้านั้นไม่นานผมไม่สามารถทลาย "กับดักทางการเงิน" ซึ่งถือเป็นสถานการณ์เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต
ช่วงนั้นผมเป็นหนี้ถึง 100 ล้านบาท เป็นเงินกู้ทั้งในระบบและนอกระบบ
รายจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยเดือนละ 1.35 ล้านบาท
หนี้สินจำนวนมหาศาลนี้เกิดขึ้นจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ผมถลำลึกลงไปในช่วงปี 2538
และจมดิ่งสู่ห้วงเหวที่มืดมิดทันทีที่รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี 2540
นี่คือบทเรียนแห่งความล้มเหลวบทหนึ่งที่ผมอยากจะเล่าให้ฟัง