โค้ด: เลือกทั้งหมด
เนื่องจากบทความนี้เป็นบทความแรกที่ผมเขียนผ่านสื่อมวลชน ผมขอถือโอกาสนี้แนะนำตัว แก่ท่านผู้อ่านทั้งหลายก่อนนะครับ โดยปกติผมเขียนบทความลงในเว็ปไซด์ของ สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (www.thaivi.org) ใช้ login name ว่า “คนขายของ” ที่ใช้ชื่อว่า “คนขายของ” นั้นเป็นเพราะว่างานแรกที่ผมได้รับเข้าทำงานนั้นคือตำแหน่ง “วิศวกรขาย (Sales Engineer)” หลังจบจากมหาวิทยาลัยทางด้านวิศวกรรมศาสตร์เมื่อปี 2537 หน้าที่ของผม คือการดูแลตัวแทนจำหน่ายหลายราย ซึ่งโดยส่วนใหญ่ คนที่ผมต้องติดต่อด้วยจะเป็นเถ้าแก่ เจ้าของร้าน สมัยนั้นตำแหน่งงานวิศวกรขายมักไม่ค่อยมีใครนิยมสมัครกัน เพราะเห็นว่า เป็นงานที่ต้องถูกลูกค้าต่อว่า ต้องไปเที่ยวง้อลูกค้า ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่จบทางวิศวะมาเห็นว่าไม่ค่อย มีเกียรติเท่าไหร่ แต่สำหรับผม การเป็นพนักงานขายสินค้านี่แหละครับ ที่สอนพื้นฐานของการ ทำธุรกิจ ซึ่งต่อมาผมสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการลงทุนได้เป็นอย่างดี
ประเด็นหนึ่งที่ผมจำขึ้นใจ จากคำสอนของเถ้าแก่ท่านหนึ่งที่สอนผมคือ “ขายของได้ยังไม่เก่ง ถ้าเก่งต้องเก็บเงินให้ได้ด้วย”ตอนที่ผมทำอาชีพเซลส์แมนนั้น ผมได้เห็นเจ้าของร้านบางรายต้องปิดกิจการลง พร้อมด้วยหนี้สินรุงรังกับบริษัทในช่วงต้มยำกุ้ง ทั้งนี้เป็นเพราะว่าเขาเหล่านั้น ไม่สามารถเก็บเงินจากลูกค้าเขาได้ ทำให้เขาไม่มีเงินจ่ายซัพพลายเออร์ จากบทเรียนนี้เมื่อ ผมมาเป็นนักลงทุน ทำให้ผมให้ความสนใจ ต่อกิจการที่รับเงินสด เช่นพวกค้าปลีก, โรงพยาบาล และ ร้านอาหาร มากกว่าพวกกิจการ ที่ปล่อยสินเชื่อ เช่นกิจการธนาคารและลิซซิ่ง หรือ กิจการที่ต้องให้เครดิตยาวๆแก่ลูกค้าเช่น กิจการที่ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์บางชนิด
ความเชื่อมั่นในกิจการรับเงินสดของผมถูกตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ของอเมริกา ในช่วงวิกฤตนั้นดัชนี Dow Jones ได้ตกลงจากประมาณ 13,000 จุดในเดือนพฤษภาคม 2551 ลงมาเหลือ 6,626 จุดในไตรมาสแรกของปี 2552 หรือตกลงมาเกือบ 50% ในขณะที่หุ้น ของสถาบันการเงินสหรัฐเช่น CITIBANK ราคาหุ้นรูดลงจาก 230$ ลงมาเหลือแค่ประมาณ 10$ คือตกลงมา 95% แต่หุ้นค้าปลีกอย่างห้าง WALMART ตกลงมาแค่ 14% และ ร้านอาหารอย่าง McDonald’s ตกลงมา 13% ในช่วงเวลาเดียวกัน
แต่เท่าที่ผมสังเกตุ ใช่ว่าต้องเป็นกิจการที่รับเงินสดอย่างเดียวถึงมีความมั่นคงผ่านวิกฤตมาได้ บางกิจการที่ได้รับเครดิตจากซัพพลายเออร์อย่างยาวนาน แต่สามารถเก็บเงิน จากลูกค้า ได้อย่างรวดเร็ว ก็สามารถฝ่าวิกฤตการเงินมาได้ เช่น กิจการอย่าง APPLE ซึ่งมีระยะ เวลาเก็บเงินจากลูกค้า 42 วัน เก็บของในสต๊อกแค่ 5 วัน แต่มีระยะเวลาจ่ายซัพพลายเออร์ยาวถึง 74 วัน (ข้อมูลปี 2014) ในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ แม้หุ้น APPLE จะลงมาประมาณ 50% พอๆกับดัชนี Dow Jones แต่ก็ไม่ถึงกับสาหัสเหมือนกลุ่มสถาบันการเงินดังที่กล่าวมาข้างต้น และเมื่อวิกฤตผ่านไป หุ้น APPLE ก็สามารถทำราคาสูงสุดใหม่ได้อย่างไม่ยากเย็นอะไร
ถึงแม้กิจการที่รับเงินสดสามารถต้านทานวิกฤตการเงินได้ดีกว่ากิจการที่ต้องให้สินเชื่อ หรือ กิจการที่ต้องให้เครดิตยาวนานแก่คู่ค้า แต่การลงทุนในกิจการพวกนี้ตอนราคาสูงมากๆ ก็อาจไม่ใช่การลงทุนที่ดีเท่าไรนัก เช่นนักลงทุนที่ซื้อหุ้น WALMART ที่ราคา 69$ ตอนปลายปี 1999 เขาต้องรอถึง 12 ปีถึงจะได้เห็นราคานั้นอีก แต่ถ้าคุณซื้อหุ้น CITIBANK ตอนแย่สุดๆในปี 2009 ตอนนี้คุณคงได้กำไรเกือบหนึ่งเท่า ดังนั้นไม่ว่า ในแง่ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจะแข็งแกร่งขนาดไหน “ส่วนเผื่อความปลอดภัย” หรือที่เรียกว่า Margin of Safety ในภาษาอังกฤษ ก็ยังคงเป็นสิ่งที่นักลงทุน ต้องจำให้ขึ้นใจก่อนตัดสินใจลงทุน