โศกนาฏกรรมของ โกเว็กซ์ (GOWEX)/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

โศกนาฏกรรมของ โกเว็กซ์ (GOWEX)/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    บริษัทที่เคยมีมูลค่าตลาดถึง1,900 ล้านยูโร หรือประมาณ 82,000 ล้านบาท ล้มละลายได้อย่างไร ?

    ท่านที่สนใจติดตามหุ้นในตลาดต่างประเทศ อาจจะได้รับทราบข่าวบริษัทผู้ให้บริการไวไฟ (WiFi) ที่เพิ่งได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งใน“บริษัทเข้าใหม่ที่ดีที่สุด”ในกลุ่มของบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม จากสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์ยุโรปและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ยุโรป เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2556 ที่ผ่านมา ต้องถูกให้หยุดพักการซื้อขาย และยื่นขอรับการคุ้มครองจากเจ้าหนี้ภายใต้กฎหมายล้มละลายในเดือนกรกฎาคม ของปีนี้

    บริษัทที่มีชื่อเต็มว่า Let’s Gowex S.A. จดทะเบียนก่อตั้งในสเปนเมื่อปี 1999  ประกอบธุรกิจหลักสองด้านคือ พัฒนา บริหาร และหาช่องทางธุรกิจในตลาดโทรคมนาคม รวดถึงให้บริการบรอดแบนด์ บริการเน็ตเวอร์ค และจัดการ Voice Over IP กับอีกด้านหนึ่งคือการให้บริการไวไฟ (WiFi) แก่เมืองต่างๆ เช่น นิวยอร์ค ปารีส มาดริด ไมอามี

    บริษัทโกเว็กซ์ เสนอขายหุ้นต่อประชาชนและเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาด Mercado Alternative Bursatil (MAB) ซึ่งเป็นตลาดทางเลือกของสเปน(ที่มีหุ้นขนาดเล็กกว่าที่จดทะเบียนในตลาดหลัก) ในปี 2010 ใช้สัญลักษณ์ในการซื้อขายว่า GOW โดยในภายหลังก็เข้าไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาด EURONEXTของฝรั่งเศส ใช้สัญลักษณ์ ALGOW

    เรื่องที่เกิดขึ้น เกิดอย่างรวดเร็วมาก ภายหลังจากบริษัท ก็อตแทมซิตี้รีเสิร์ช ซึ่งเป็นบริษัทช็อตเซลล์ คือทำการวิเคราะห์เพื่อทำการขายช็อต (วิเคราะห์ว่าหุ้นของบริษัทไหนมีราคาที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อเห็นแล้วก็จะยืมหุ้นจากผู้ลงทุนอื่นมาขายก่อน เมื่อราคาตกลงไปจึงซื้อเพื่อนำมาส่งมอบคืนให้ โดยได้กำไรจากส่วนต่าง) ได้ออกมาฟันธงในวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 ว่า หุ้นของบริษัทเล็ตสโกเว็กซ์ (ขอเรียกสั้นๆว่าโกเว็กซ์) ควรจะมีมูลค่าเป็นศูนย์ เพราะบริษัทมีรายได้ปลอมถึง 90% ของที่รายงาน หรืออีกนัยหนึ่งคือ บริษัทรายงานรายได้สูงกว่ารายได้จริงถึง 10 เท่า 

    สองวันหลังจากเผยแพร่ข้อมูลนี้ออกไป ราคาหุ้นของบริษัทโกเว็กซ์ ตกลงไปถึง 60% 

    โดยเมื่อข่าวนี้แพร่ออกไป ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทคือนาย เฮนาโร กราเซีย มาร์ติน (Jenaro Gracia Martin) ได้เรียกประชุมพนักงานทั้งหมด และบอกว่ารายงานของบริษัทช็อตเซลล์ผิดพลาด เขารับประกันว่าบริษัทโกเว็กซ์จะไม่ล้มหายตายจากไป เขาโวยวายจนผู้กำกับตลาดหลักทรัพย์ของสเปนต้องสอบถามไปยัง กลต.ของสหรัฐและอังกฤษว่าก็อตแทม ซิตี้รีเสิร์ช มีที่มาเป็นอย่างไร

    หุ้นของบริษัทโกเว็กซ์ถูกห้ามซื้อขายตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม และ นาย กราเซีย มาติน วัย 46 ปี ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  ลาออกจากบริษัทในวันที่ 5 กรกฎาคม โดยคณะกรรมการของบริษัทแจ้งว่า นาย กราเซีย มาร์ติน เป็นผู้รับผิดชอบต่อเรื่องทุกๆเรื่องแต่เพียงผู้เดียว

    นายกราเซีย มาร์ติน ได้สารภาพความจริงในวันที่ 6 กรกฎาคม และบริษัทได้ยื่นขอขอรับการคุ้มครองจากเจ้าหนี้ภายใต้กฎหมายล้มละลายในวันเดียวกัน

    จากคำให้การที่นายกราเซีย มาร์ตินให้ต่อศาลนั้น เขาได้เริ่มทำบัญชีหลอกมาตั้งแต่ปี 2005 โดยใช้บริษัทที่บุคคลใกล้ชิด เช่น ภรรยา แม่บ้าน หรือ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน เป็นกรรมการ มาทำรายการเป็นลูกค้าของบริษัท เพื่อให้บริษัทมีรายได้สูงๆ  และก็อตแทมซิตี้รีเสิร์ช ก็ประมาณการถูกต้องค่ะ ว่า 90% ของลูกค้าและรายได้ที่บริษัทรายงานนั้น เป็นรายได้ที่สร้างขึ้นมาเอง

    เมื่อสอบถามเมืองต่างๆที่บริษัทอ้างว่าได้ว่าจ้างให้บริการ WiFi ในเมือง ก็พบว่า ในบางเมือง เช่น บัวโนส แอเรส ของอาร์เจนติน่า บริษัทโกเว็กซ์ได้ไปติดต่อจริง แต่ไม่ได้บรรลุข้อตกลงใดๆ แต่โกเว็กซ์ให้ข่าวว่า ได้เซ็นสัญญามูลค่า 12 ล้านยูโรกับเมืองบัวโนสแอเรสแล้ว 

    กรณีกรุงปารีสและแมดริด ก็พบว่า บริษัทจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับเมืองเหล่านั้น เพื่อขอโฆษณาชื่อบริษัทในรถไฟและรถบัสประจำทาง ทั้งสองเมืองไม่ได้ซื้อบริการไวไฟกับบริษัทแต่อย่างใด

    ส่วนเมือง Gerona และ Aviles ก็แจ้งว่า บริษัทจ่ายเงินให้กับเมืองเป็นค่าให้บริการไวไฟและจ่ายค่าโฆษณาบริการไวไฟด้วย

    ในเอกสารที่บริษัทโกเว็กซ์แจกให้กับผู้สื่อข่าวในการเปิดตัวไวไฟของเมืองไมอามี เมื่อเดือนเมษายน 2557 บริษัทแจ้งว่า ไมอามีเป็นเมืองที่สามในสหรัฐอเมริกาที่ใช้บริการไวไฟของบริษัท ถัดจาก นิวยอร์ค และซานฟรานซิสโก ซึ่งเมืองนิวยอร์คให้ข้อมูลกับ ก็อตแทมซิตี้รีเสิร์ช ว่าได้ทำสัญญาจ้างมูลค่า 245,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 7.8 ล้านบาท) เพื่อให้บริการในบางส่วนของเมืองเท่านั้น

    โกเว็กซ์ได้ใช้สัญญาจ้างบริการเหล่านี้ในการกู้เงินจากสถาบันการเงินมาจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงจ่ายภาษีจากกำไรที่ไม่มีจริงด้วยค่ะ โดยในปี 2556 บริษัทจ่ายภาษีเงินได้ไปถึง 10.6 ล้านยูโร (ประมาณ 456 ล้านบาท)

    ถามว่าทำไมบริษัท ก็อตแทมซิตี้รีเสิร์ช จึงกลายเป็นผู้ค้นพบความเท็จอันนี้ ตอบว่าเพราะบริษัทช็อตเซลล์ หากขายหุ้นไปแล้วราคาหุ้นไม่ตกลงไปตามที่คาด บริษัทก็ขาดทุน เพราะต้องไปซื้อหุ้นราคาสูงมาคืนให้กับผู้ที่ให้ยืมมาขาย ทีมงานวิเคราะห์จึงใช้เวลาถึง 8 เดือนในการวิเคราะห์หาข้อเท็จจริง รวมถึงเข้าพบและสัมภาษณ์ผู้บริหาร ไปพบลูกค้าของบริษัท รวมถึงพบคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน และสงสัยว่า ทำไมบริษัทโกเว็กซ์ จึงมีกำไรในธุรกิจ hotspot WiFi ในขณะที่คู่แข่งเช่น iPass และ Boingo ขาดทุน 

    ท่านที่สนใจสามารถหาอ่านรายงาน 93 หน้าของ ก็อตแทมซิตี้รีเสิร์ช ได้นะคะ เขาไม่ได้ทำรายงานขาย และไม่ได้มีใบอนุญาตที่ปรึกษาการลงทุนในประเทศใดๆ แต่ทำเพื่อใช้เองในการเข้าทำกำไรจากการซื้อขายและขายช็อตบริษัทต่างๆเมื่อมีมูลค่าไม่เหมาะสม ซึ่งคนทั่วๆไปมักจะมองว่าเป็นผู้ร้าย แต่ในความเป็นจริง การมีกลุ่มนักลงทุนเหล่านี้ ช่วยให้ตลาดเกิดสมดุลมากขึ้นค่ะ หากนักลงทุนเหล่านี้ทำอย่างมีจรรยาบรรณ 

    อย่างไรก็ดี งานนี้ ก็อตแทมซิตี้รีเสิร์ช กลายเป็นพระเอกในชั่วเวลาข้ามคืน เพราะแม้แต่กองทุนดังๆของโลกบางกองทุน ยังเข้าลงทุนในหุ้นของ โกเว็กซ์ เพราะเชื่อในเรื่องราวที่บริษัทเผยแพร่ ซึ่งก็อตแทมซิตี้รีเสิร์ช พบว่า ข่าวหลายอย่างที่เผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง แต่ข่าวที่เป็นภาษาสเปนไม่ค่อยมีกรณีเช่นนี้

    หากสนใจ ตอนนี้ยังพอหาอ่านข่าวและเอกสารของบริษัทโกเว็กซ์ได้ และถ้าคลิกหา GOWEX WIFI ก็จะเห็นภาพโฆษณาสวยงามให้ download แอพพลิเคชั่น น่าตื่นเต้นเลยทีเดียว

    คาดกันว่างานนี้ นายกราเซีย มาร์ติน คงจะต้องโทษจำคุกไม่น้อยกว่า 10 ปี ในฐาน ตกแต่งบัญชี และใช้ข้อมูลภายในในการซื้อขายค่ะ

    นำมาเล่าเอาไว้เป็นอุทาหรณ์ว่า “ความจริงย่อมไม่ตาย”
[/size]
ลูกหิน
Verified User
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 0

Re: โศกนาฏกรรมของ โกเว็กซ์ (GOWEX)/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
sci
Verified User
โพสต์: 678
ผู้ติดตาม: 0

Re: โศกนาฏกรรมของ โกเว็กซ์ (GOWEX)/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

หุ้นต่างประเทศ เห็นมีแบบนี้อยู่เรื่อยๆ แม้กระทั้ง กองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง
แท้จริงแล้วคือ แชร์ลูกโซ่ดีๆนี่เอง

บทความได้ข้อคิดที่ดีมากครับ
ขอบคุณครับ
twentyfour
Verified User
โพสต์: 297
ผู้ติดตาม: 0

Re: โศกนาฏกรรมของ โกเว็กซ์ (GOWEX)/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 4

โพสต์

Too good to be true ยังมีให้เห็นอยู่เยอะ
แต่ต้องแยกให้ออกว่า Scam หรือไม่ จุดนี้มี criteria หลายตัวให้ใช้เพื่อแยกของดีโดยเฉพาะ
เวบไซต์ thaivi คือจุดเริ่มต้นที่ดีครับ
miracle
Verified User
โพสต์: 18364
ผู้ติดตาม: 1

Re: โศกนาฏกรรมของ โกเว็กซ์ (GOWEX)/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ขอบคุณครับ
ลองไปเทียบกับเคสอื่นๆในอดีตอย่างเช่น เคสของ Enron ดู
มันมีความคล้ายคลึงกันอย่างมากๆๆ คือ
1. การได้งานจากต่างประเทศ ไม่ใช่ประเทศของตัวเอง
2. การสร้างบริษัท/คนใกล้ชิดเป็นผู้ซื้อสินค้าของบริษัทตัวเอง
3. ผู้ที่ออกมาชี้ประเด็นนั้น ของ Enron คือพนักงานภายในบริษัท แต่เคสนี้เป็นนักลงทุนที่สงสัยว่ามันจริงหรือ
เพราะดูเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นๆในอุตสาหกรรม
4. ทั้ง Enron และบริษัทนี้ เป็นบริษัทที่กองทุนมองดูว่าแล้ว น่าลงทุน

มันเหมือน ปัจจุบันย้อนรอยอดีต
ดังนั้นนักลงทุน อ่านประวัติศาสตร์ให้มากๆๆ มันจะได้เห็นว่า กลโกง หรือ จุดที่เราต้องตรวจสอบมีอะไรบ้างล่ะ
:)
:)
worrapong.n
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 38
ผู้ติดตาม: 0

Re: โศกนาฏกรรมของ โกเว็กซ์ (GOWEX)/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ประวัติศาสตร์มักซ้ำรอยเดิมๆเสมอครับ
CARPENTER
Verified User
โพสต์: 428
ผู้ติดตาม: 0

Re: โศกนาฏกรรมของ โกเว็กซ์ (GOWEX)/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 7

โพสต์

ขอบคุณ ทั้งผู้เขียน และผู้เผยแพร่ บทความนี้มากครับ
อ่านแล้ว ทำให้ผมต้องเตือนใจตัวเอง
1.กระจายความเสี่ยง
2.ลดความเชื่อถือพวกฝรั่ง ยุโรป และ usa
3.ถ้าจะลงทุน ตปท จะลงทุนเฉพาะในเอเซี่ยนเท่านั้น เวียตนาม พม่า ลาว
imerlot
Verified User
โพสต์: 2690
ผู้ติดตาม: 0

Re: โศกนาฏกรรมของ โกเว็กซ์ (GOWEX)/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 8

โพสต์

ขอบคุณ บทความครับ




..
"ท่านที่สนใจสามารถหาอ่านรายงาน 93 หน้าของ ก็อตแทมซิตี้รีเสิร์ช ได้นะคะ"

link to
http://gothamcityresearch.com/2014/07/0 ... n-charade/

http://www.scribd.com/document_download ... urce=embed

..
โพสต์โพสต์